Skip to content

อุบายรักษาจิต รู้เท่า รู้ตามจิต

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

| PDF | YouTube | AnyFlip |

คำบาลีว่า จิตตัง รักเขถะ เมธาวี ท่านว่าผู้มีปัญญาควรรักษาจิต ท่านว่าอย่างนี้ จะอธิบายถึงเรื่องหัวข้อการรักษาจิต เพราะการปฏิบัติกรรมฐาน ท่านกล่าวเรื่องจิตเป็นส่วนใหญ่เป็นหลักสำคัญ คำว่าจิตในที่นี้โดยมากคนจับไม่ค่อยถูก ผู้ไม่ได้ภาวนา หรือภาวนายังไม่ทันเป็น ไม่รู้จักจิต จับจิตไม่ถูก จิตอาจจะเข้าใจเป็นหัวใจไปก็ได้ คือใจกับจิตน่ะมีชื่อคล้ายๆกัน ถ้าเราพูดเรื่องใจเราก็พูดเรื่องหัวใจ คือหทัยวัตถุ ก็เข้าใจว่าใจนั้นเป็นหัวใจเอาเสียเลย คือจิตหรือใจอันเดียวกัน ถ้าพูดตามศัพท์บาลี จิตคือผู้คิดนึก ใจคือว่า ใจนั่นเป็นภาษาบ้านเราที่เราพูดกัน เข้าใจว่าเป็นของกลาง ถ้าพูดตามบาลีเรียกว่า มโน ลักษณะอาการที่น้อมไป ยังไม่ทันถึงจิต ที่มันน้อมไปทีแรกเรียกว่าใจ มโนคือน้อม อันนั้นเรียกว่าใจ น้อมไปแล้วก็ไปหาการคิด การนึก การปรุง การแต่ง มันจึงเรียกว่าจิต  

เพราะฉะนั้นพึงให้เข้าใจเสียว่า จิตหมายถึงเรื่องผู้รู้สึกนึกคิด เรียกว่าจิต ถ้าหากเราจะอบรมจิต แต่ยังไม่ทันรู้จักตัวจิตก็อบรมไม่ถูก ก็ไม่ทราบว่าจะไปอบรมกันตรงไหน ถ้าหากว่าผู้อบรมฝึกฝนจิตของตนได้แล้ว จึงจะรู้จักว่าจิตคืออะไร ผู้ที่เห็นจิตและรู้จักจิต รักษาจิตของตนได้ ท่านเรียกว่า เมธี สมกับบาลีที่ว่า จิตตัง รักเขถะ เมธาวี ที่ว่านี้ เมธาวีคือผู้มีปัญญา ควรรักษาจิตของตน อันนี้อธิบายถึงเรื่องจิตให้เข้าใจจิตเสียก่อนซึ่งเราจะต้องพากันฝึกฝนอบรม คราวนี้จิต มันเป็นตัวยังไงกัน 

ตัวจิตอันนั้น ไม่มีตนมีตัวหรอก ถ้าเราฝึกหัดจิตได้ดีแล้วนั่น เราจะเอาจิตไปตั้งไว้ตรงศีรษะ มันก็อยู่ที่ศีรษะ เอาไปตั้งบนจมูก มันก็อยู่ตรงจมูก เอาไว้ตรงหน้าอก หรือไหล่ซ้าย ไหล่ขวา มันก็อยู่ได้ทั้งนั้น หรือเราจะไปตั้งไว้ตรงปลายเท้าปลายมือได้ทั้งหมด จิต เราน้อมไปตรงไหนมันอยู่ตรงนั้นแหละ ที่เรารู้สึก เราอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบว่า เรารู้สึกตามประสาท อย่างว่าเจ็บที่ปลายเท้า ปลายมือ หรือว่าที่หน้าอก หรือที่บนศีรษะ ตรงไหนก็ตามเถอะ ประสาทของคนเรามันมีเส้นประสาทเหนี่ยวโยงตลอดหมดทั้งอวัยวะร่างกาย แต่ไม่ชุมสาย ประชุมอยู่ที่หทัยวัตถุ ที่ตรงหัวใจ ก็ชอบอยู่ที่ว่าใจอยู่ตรงหัวใจนั้นชอบอยู่ เพราะประชุมที่นั้นแล้วไปเกิดความรู้สึกกันตรงนั้น 

เหตุนั้นจึงว่าใจนั่นน่ะคือความรู้สึกนั่นเอง ไม่มีตนมีตัวหรอก ถ้ารู้สึกตรงไหนก็ใจตรงนั้น .ใจนั้นของเร็ว ยากที่ใครจะจับได้ คนที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตเสียเลย ตั้งแต่วันเกิดถึงวันตาย จับจิตของตนไม่ได้ ฝึกฝนอบรมจิตตนไม่ได้ ไม่ทราบว่ามันไปวิ่งว่อนไปตรงไหนก็ไม่ทราบ จิตน่ะเป็นของวิ่งเร็ว บางคนนั้นว่าตามรู้จิต ไม่ใช่รู้เท่าจิต คือตามรู้จิต รู้ตามจิต ไม่ใช่รู้เท่า ไม่ใช่รู้ทัน คำว่าตามรู้จิตน่ะ จิตไปเกิดความรู้สึก เจ็บบนศีรษะ ก็ไปตามรู้ว่า อ้อ ไปเจ็บตรงนั้น ไปเจ็บตรงเท้าก็ไปรู้ตามตรงนั้น หรือว่าไปรู้โน่นข้างนอกโน่น มันไปเห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะข้างนอก เช่นไปเห็นรูปไกลๆโน่น ข้างหน้า ไกลแสนไกล ไปมองเห็น ตามไปรู้ว่าจิตไปรู้อันนั้น อันนั้นเรียกว่าตามรู้จิต แต่ไม่ใช่รู้ตัวจิต ถ้ารู้ตัวจิตนั่น รู้เท่าตัวจิต ทันตัวจิต จิตไม่ทันออกไป อันนี้มันออกไปแล้วค่อยๆไปตามรู้ รู้แต่หาได้รู้ตัวมันไม่ ไปรู้แต่อาการของจิต 

ถ้าหากคนฝึกฝนอบรมจิตของตนได้แล้ว จิตจะเป็นตัว แต่ว่าไม่ใช่ปรากฏด้วยสายตา หากจะปรากฏด้วยใจ จิตกับใจมาเข้ากันอีกแล้ว ให้พูดยังไงก็แล้วกัน ใจรู้ใจ ใจเห็นใจ ใจทันใจ หรือจิตรู้จิต จิตทันจิต จิตเห็นจิต นี่ตามรู้ตามเท่า รู้เท่า คำว่ารู้เท่าในที่นี้ เนื้อความก็ตรงนั้นอยู่แล้ว คือความรู้มันเท่ากันกับจิต มันไม่เกินกัน มันไม่หย่อนกว่ากัน ไม่เกินกัน พ๊อพอดีกับจิต เท่าๆกับจิต รู้ว่าจิตอยู่ตรงไหนรู้สึกตรงนั้น รู้ตัวนี่ตรงนั้น ท่านจึงว่ารู้เท่า ไม่ใช่รู้ตาม รู้เท่าๆพอดีกัน ท่านว่ารู้เท่ารู้พอดีกันอย่างนี้แล้ว จะเห็นจิตเป็นตัวเลยทีเดียว เมื่อเห็นจิตเป็นตัวก็เรียกว่า เรารู้เท่าทันจิต คราวนี้จิตก็ไม่มีอาการ ถึงจะมีอาการเราก็รู้ จะอยู่หรือไปก็รู้ เราก็รู้ จะให้ไปหรืออยู่ เราก็รู้ เราก็ทำได้ อันนี้เรียกว่ารู้เท่า รู้ทันจิต 

คราวนี้ว่าถึงเรื่องการที่จะอบรม ว่าถึงเรื่องที่จะต้องฝึกฝนจิต จิตนั้นมันจำเป็นยังไงที่จะต้องรู้เท่า จำเป็นอย่างไรจึงจะรู้ทัน หรือจำเป็นอย่างไรที่ต้องมาฝึกฝนอบรม ไม่อบรมไม่ได้รึ จิต ถ้าผู้ไม่มีปัญญาก็ได้อยู่ ถ้าหากผู้มีปัญญาดังบทบาลีที่ยกมาเบื้องต้นนั้น จิตตัง รักเขถะ เมธาวี ผู้มีปัญญาเท่านั้นแหละ จึงจะรักษาจิต จึงควรรักษาจิต คำว่า ควรรักษาจิตในที่นี้ คือมันสมควรจริงๆที่ต้องรักษา ผู้มีปัญญาต้องเห็นเป็นของสมควรจริงๆ เมื่อของมีอยู่ไม่รู้จักรักษา มันจะได้ประโยชน์อะไร ของมีอยู่แล้วเราไม่รู้ของมีอยู่ แล้วจะมีคุณค่าอะไร เหตุนั้นปัญญาชนจึงควรรักษาจิต ควรรักษาด้วยเหตุนี้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาชนแล้วก็ปล่อยตามยถากรรม แล้วแต่มันจะเป็นไปตามยถากรรมยังไง เหตุนั้นจึงว่าเป็นของควรรักษา อันนี้พูดถึงเรื่องปัญญาชน ผู้มีปัญญา เราพูดกันในฐานะผู้มีปัญญา ควรตั้งใจที่จะรักษาจิตและอบรมฝึกฝนจิต จิตนั้นถ้าหากว่าเราไม่เห็นโทษของการไม่รักษาจิต หรืออาการที่จิตไม่อยู่ มันเป็นโทษคือนำทุกข์มาให้ แล้วเราถึงจะรักษาจิต เราจึงจะอบรมจิต 

บทต่อไปก็เรียกว่าจิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง จิตที่ฝึกฝนอบรมดีแล้ว นำสุขมาให้ จึงจะสมกับบทนี้ เราเห็นโทษในจิตที่ว่าเรารักษาฝึกฝนไม่ได้ มันส่ายวิ่งวอน มันพาให้เกิดทุกข์ คิดอย่างนี้ก็แล้วกัน คิดอย่างง่ายๆ เราเป็นทุกข์เศร้าโศกเพราะจิตรักษาไม่ได้ เพราะเรารักษาจิตไม่ได้ คิดอาลัยอาวรณ์ ห่วงใย ในสิ่งที่ตนรัก ตนใคร่ ตนพอใจ จนตนติดพันผูกพันในสิ่งนั้นๆ จิตไปกังวลอย่างนั้น เรารักษาจิตไม่อยู่ จึงค่อยเป็นอย่างนั้น จึงค่อยเป็นทุกข์ ถ้าจิตรักษาได้แล้ว ห้ามไม่ให้กังวล ไม่ให้ห่วงใย ไม่ให้อาลัย ไม่ให้อาวรณ์ ไม่ให้ส่งไปในที่นั้นๆ จิตถอนเสียจากเรื่องเหล่านั้นแล้ว มาอยู่ในที่เดียว เรียกว่าจิตฝกฝนอบรม เราสบาย ไม่ต้องไปทุกข์ ไม่ต้องเป็นโศก ไม่ต้องเดือดร้อน เราเห็นโทษอย่างนี้และเห็นคุณอย่างนี้ จึงค่อยพยายามรักษจิต 

ถ้าหากยังไม่เห็นโทษเห็นคุณแล้ว ไม่สามารถที่จะรักษาจิต ไม่เห็นโทษของการที่จิตวุ่นวาย หรือจิตตกแล้วก็ไม่สามารถทำสมาธิต่างๆไม่ได้ สิ่งใดๆทั้งปวงหมดแหละ ถ้าเราไม่เห็นโทษในสิ่งนั้น ทิ้งไม่ได้ เอาอะไรทั้งหมด นี่ข้อใหญ่เลย ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ การที่เราจะฝึกฝนจิต มันมีข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ สิ่งที่เราเห็นโทษนั้นแหละ เราละสิ่งที่เราเห็นโทษ ให้พยายามสิ่งที่เป็นโทษ ละจริงๆ ถ้าเห็นโทษจริงๆ ก็ละจริงๆ เห็นโทษเห็นคุณที่ว่าแล้วก็ไม่มีหนทางที่จะละได้ มันเข้าทำนองที่ว่า ทิ้งเสียดาย จะเอาไว้ก็น่าเกลียด ทิ้งก็เสียดาย เอาไว้ก็น่าเกลียด ครั้นทำแบบนี้ก็ลังเล กถังกถี ทำอะไรก็ไม่ดีซักอย่าง ทำสมาธิจนวันตายก็ไม่เป็นให้ ผู้ที่ทำสมาธิภาวนาเป็นเร็วหรือว่าได้ง่าย เพราะเห็นโทษในเรื่องจิตวุ่นวายจริงๆ มันนำมาซึ่งกองทุกข์ จึงจะปล่อยได้สนิท จิตถึงจะเป็นสมาธิได้เร็ว คนที่จะหัดสมาธิเป็นเร็วและเป็นช้าอยู่ที่ตรงนี้ 

นอกจากเรื่องนี้โดยเฉพาะแล้ว เรื่องฝึกฝนอบรมภาวนา จะใช้อุบายอันใดก็เสียดาย จะนึก จะบริกรรมพุทโธก็เสียดายมรณัง คือความตาย จะกำหนดพิจารณาความตายหรือลมหายใจเข้าออก ก็ไปเสียดายพุทโธ หรือจะพิจารณากายคตาหรือพิจารณาอสุภะปฏิกูลหรือธาตุขันธ์ ก็เสียดายอานาปานสติอะไรทำนองนั้น เลยเอาอะไรไม่ได้ซักอย่างเดียว แบบนี้ก็ภาวนาไม่ได้เหมือนกัน 

ธรรมทั้งหลายน่ะ มีมากก็จริง อุบายภาวนาทั้งหลายก็มีมากจริง ใครจะทำอะไรก็ทำเถอะ ขอให้ทำจริงลงไปแล้วก็แล้วกัน ทำสิ่งนั้นให้จริงลงไปแล้วก็แล้วกัน ผิดหรือถูกก็ขอให้มันเห็นจริงด้วยตนเองซะ ถ้าทำได้อย่างนี้จะได้เกิดปัญญา เข้าตำราโบราณท่านว่า ผิดเป็นครู ถูกเป็นอาจารย์ ถ้าไม่ผิดก็ไม่มีครู ไม่มีความรู้อาจารย์ยังค่อยสอน ถ้ารู้แล้วไม่ต้องมีคนสอน คือมันผิดนั่นแหละจะเป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นครูสอนเรา เมื่อผิดแล้วเราจัดว่ามันผิด นั่นแหละจึงจะเป็นอาจารย์ จึงจะมีอาจารย์ขึ้นมา ครูสอนแล้วจึงค่อยมีอาจารย์ ครูสอนให้รู้แล้วยังค่อยมีอาจารย์ อาจารย์คือผู้ฝึกฝน ครูคือผู้สอนให้รู้ ให้เกิดความรู้ อาจารย์คือผู้ฝึกฝนให้ดีต่อไป เหตุนั้นเรียกว่าถ้าจะฝึกฝนอบรมภาวนาทำสมาธิ ให้เป็นสมาธิกันจริงๆจังๆแล้วนั้น อย่าให้มีการลังเล ทำอะไรให้ทำลงไปทีเดียวจริงๆจัง ให้จำไว้ 

ในที่นี้ซึ่งจะอธิบายถึงเรื่องอุบายจะฝึกฝนอบรมต่อไปนั้น จะอธิบายถึงเรื่องกายคตาสติ เพราะกายคตาสติเป็นของกว้าง แต่จะไม่ให้มันกว้าง คือจะให้เอาอันเดียว อย่างว่าในตัวของเรานี่แหละ มีอวัยวะทั้งปวงมากทีเดียว ตา ๒ จมูก ๒ ลิ้น กาย ก็นับไม่ถ้วน แต่อวัยวะในตัวกายนี่ นับแต่มือแต่เท้าขึ้นมาทุกสิ่งทุกส่วนอยู่ในกายทั้งนั้น สิ่งทั้งหมดนี่อยู่ในกายทั้งนั้นมากทีเดียว แต่ว่าจะไม่ให้เอามาก ให้เอาซักอย่างหนึ่ง ตัวของเราเนี่ย ให้เอาซักอย่างหนึ่ง จับเอาซักอย่างหนึ่งเช่นว่าเราจะจับเอาเคียงว่า ตาซักลูกหนึ่งเอาหละ ตาลูกเดียวเท่านั้นในตัวของเรา 

เมื่อตามีแล้ว เราได้ตาอันเดียวน่ะจะรักษาอันเดียว จะดูตาอันเดียว ไม่ต้องไปดูที่หู ไม่ต้องไปรักษาที่หูแล้ว รักษาเฉพาะตา ให้รักษาตาได้เสียก่อน ตาลูกหนึ่งได้ก่อน รักษาอะไร คือรักษาสำรวม สำรวมมันให้อยู่ที่ตาแห่งเดียว ตาจะดูอะไร ให้ดู ให้จิตดูอยู่ที่ตา รักษาตา มันจะดูใกล้ดูไกล ดูหยาบดูละเอียด ให้เห็นตาดูอยู่ทุกขณะ รู้สึกว่าตาดูอยู่ทุกขณะ รู้สึกว่าตาดูอยุ่ทุกขณะ ทันแล้ว ตาข้างที่สอง จมูกทั้งปวง หูทั้งปวงไม่ต้องรักษา อย่างนี้เป็นต้นในการที่ว่าจะเอาอันเดียวในตัวของเราที่เรียกว่ากายคตา 

ในกายคตานี่แหละ ไม่ให้เอาทั้งหมดหรอก พิจารณาถึงความตายอันเดียวก็พอ ถ้าตายแล้วตาก็ตายหมด หู จมูกก็ตายหมด แข้งขาอวัยวะทั้งปวงตายหมด ตายแล้ว ถ้าไม่ตายแล้ว สิ่งทั้งหลายนั้นดีหมด เหตุนั้นจึงว่ารวม กายคตามารวมกันอยู่ตรงที่ ตาย พิจารณาถึงความตาย ถ้าเรามาจับความตายของเรา เพ่งพิจารณาเฉพาะความตายอันเดียว คนเรามันกลัวตาย ถ้าพิจารณาความตายมันก็วางหมด ถ้าเห็นตายแล้วมันวางหมดเลย ถ้ายังไม่เห็นความตายมันก็ปรุงแล้วคราวนี้ ยืดยาวกว้างขวางทีเดียว พอเรามาพิจารณาถึงความตาย ดูตา ก็ตาเป็นของตาย ดูหู ดูจมูก เป็นของตาย อวัยวะแข้งขา เท้ามือต่างๆ เป็นของตาย มันยังไกล 

การพิจารณาความตายโดยเฉพาะเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ความตายมันตายแต่วินาที วินาทีหนึ่งก็ตาย วินาทีหนึ่งร่วงไปก็ตายไป นาทีหนึ่งร่วงไปก็ตายไป ชั่วโมงหนึ่งตีเป๊ง นี่มันก็ตายไปแล้ว สองสามชั่วโมงก็ตายไป ๒๔ ชั่วโมงตาย นาฬิกาเค้าทำไว้สำหรับเป็นเครื่องวัดความตาย ความหมายเค้าพูดมันไกลเกินไป คือวัดชั่วโมง นาที วินาที เค้าพูดถึงโน่นเพราะเขาไม่ได้ภาวนา ถ้าหากว่านักภาวนาไม่ได้พูดไปถึงโน้น พิจารณาถึงตัวของเรา วินาที นาที ชั่วโมง (เทปขาดตอน) ของความตาย หมดไปเลย หมดไปๆ เรานั่งมองอยู่นี่หมดไปทุกขณะ พอเรามาเพ่งพิจารณาความตายเฉพาะเท่านี้ เห็นเฉพาะเท่านี้ จิตมันจะได้หดตัวเข้ามา จิตมันจะไม่ได้ปรุงส่งออกไปภายนอก 

ถ้าเห็นชัดในความตายแล้วนั่น สิ่งทั้งหลายไม่ต้องไปละทิ้งมัน มันทิ้งมันปล่อยไปเองหมด เมื่อมันทิ้ง มันปล่อยไป มันก็ยังเหลืออันเดียว คือความรู้สึก ผู้ที่รู้สึกคือผู้ที่เห็น ผู้ที่เห็นความตายคือผู้ที่รู้สึกว่ามันตายอยู่ในสถานที่เดียว จิตถ้าหากเข้าไปอยู่ที่เดียวแล้วจะมีพลัง อันกล้าหาญ สามารถที่จะรวบรวมกำลังจิตอันมีพลังอันกล้าหาญนั้น พิจารณาที่อื่นได้ชัดหมดคราวนี้ เปรียบเหมือนกับไฟ เปรียบเหมือนกับน้ำ น้ำถ้าเรามีหลายแคว หรือมีหลายช่องหลายทางมันไหลไป มันก็กำลังน้อย ถ้าปิดทุกช่อง ถ้ายังเหลือสามสี่ช่องหรือหลายแคว ปิดซะมันยังเหลือแควเดียว น้ำมันก็มีกำลังแรง ไฟฟ้าเค้าก็เช่นเดียวกัน ถ้ามันหลายหลอด มันหลายหลอดมันก็สว่างน้อยไป ถ้าหลอดเดียวก็สว่างจ้าเต็มที พลังของใจก็เหมือนกัน ทางหูก็ปิดซะ มันปิดเอง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ปิด อยู่ ถ้าไปเห็นชัดในความตายอันเดียว มันจะพุ่งลงมาสู่ความตายชัดเลย 

อันนี้มันไม่มีกำลังน่ะนี่ เรื่องมัน พลังของจิตมันน้อย เห็นแว้บเดียวแล้วหายไป เห็นแว้บเดียวแล้วหายไป ส่งไปตามหู จมูก ส่งไปทางลิ้นทางกาย ไปทั่วทุกแห่งทุกหน เลยไม่ชัดซักอย่างเดียว ธรรมทั้งหลายนั้นของชัด จริงอยู่ทุกประการ เป็นของจริงของแท้ทุกประการ แต่ว่าใจของเราไม่มีพลังเพียงพอที่จะไปดูธรรมะ ธรรมะจึงไม่เป็นของชัด เมื่อไม่เป็นของชัด มันก็ไม่มีความรู้อันที่จะแจ่มแจ้งขึ้นมา ปีติ ปัสสัทธิ เมื่อไม่มีความชัดเจนแจ่มแจ้ง ทำไปเดี๋ยวก็เหน็ดเหนื่อย ทำไปเดี๋ยวก็ขี้เกียจรำคาญ ก็ทำไปทำมาก็หาว่าธรรมทั้งหลายไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน ธรรมทั้งหลายไม่สามารถที่จะนำความสุขมาให้ เลยขี้เกียจขี้คร้าน ก็เลยสักแต่ว่าทำ ทำไปเพราะสักแต่ว่าทำ นานๆเลยไม่ทำอะไรเลยสักครั้ง ความขี้เกียจขี้คร้านเข้ามาครอบงำ กิเลสควบฉับหมด ตกลงคนทำหรือไม่ทำก็เท่าๆกัน คนผู้ที่ทำหรือไม่ทำก็เท่าๆกัน 

ผู้ที่หัดอบรมภาวนากรรมฐานทั้งหลาย ถ้าหากไม่เข้าถึงธรรมะ จะเป็นการเบื่อหน่ายและขี้เกียจขี้คร้านในการประกอบภาวนาทำความเพียร และอยากได้ความรู้กว้างขวาง และอยากได้มีวิชาสามารถทุกด้านทุกทาง มีแต่ความอยากอย่างเดียว แต่กำลังจิตส่งไปตามความอยากนั่นก็เลยไม่มีพลังเพียงพอที่จะรวมกำลังเข้ามาเพ่งพิจารณาธรรมโดยเฉพาะ หรือเข้าใจว่าการอยากพุ่งโน้น พุ่งนี้ไป หากว้างหาความรู้หาความฉลาด พุ่งไปหาทำโน่นทำนี่ ในผลที่สุดก็เละเหลวหมด 

คนผู้ปฏิบัติปัญญาชนสมัยนี้อบรมภาวนากรรมฐานต้องการวิชาความรู้กว้างขวาง ถ้าจะหัดภาวนาทำสมาธิให้จิตเป็นหนึ่ง กลัวจะเป็นคนโง่เขลา หาว่าเป็นการโง่เขลา จิตเป็นหนึ่งมันจะไปมีความรู้อะไร ก็โง่เขลาเท่านั้นสิ ไปท่านี้ซะแล้ว 

คนเราทำเป็นคนโง่น่ะได้ยาก ถ้าเป็นคนฉลาดน่ะง่าย ฉลาดเฉียบแหลมโน่นนี่ ทั้งปฏิภาณโวหารคิดนึกตรึกตรอง โอ้ย ฉลาดเฉลียว เรื่องฉลาดนั้นง่ายสบายที่สุด ไม่ต้องอบรมอะไรกันมากมาย แต่เราจะมาแกล้งทำให้มันเกิดความโง่ดังที่ว่านี้ยากที่สุด คนเราถ้าหากไม่แกล้งทำตนให้เป็นคนโง่เสียก่อนน่ะ ไม่รู้จักความโง่เลยทีเดียว ความโง่แบบความฉลาดนั้นไม่มีขอบเขต โง่แบบนั้น โง่แบบเราหัดให้เป็นโง่ที่มีขอบเขต 

โง่ที่สุดของผู้หัดภาวนาก็คืออัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิคือไม่มีความคิดความนึก มีแต่ความรู้สึกเฉพาะตัวของมันเอง อารมณ์ภายนอกหายสูญหมด ไม่มีเลยในที่นั้นอัปปนาสมาธิ หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า เอกัคคตาจิต จิตมีอารมณ์อันเดียว อารมณ์อันเดียวที่นี้นั้นหมายถึงอารมณ์ของจิตเฉพาะเท่านั้น ไม่ได้ส่งไปตามอารมณ์ภายนอกคืออายตนะทั้ง ๖ จึงเรียกว่าเอกัคคตาจิต หรือมิฉะนั้นเรียกว่า ภวังคจิต จิตที่เข้าถึงซึ่งภวังค์ ไม่มีความรู้สึกภายนอก นี่ความโง่ของผู้ปฏิบัติของผู้ฝึกหัด ฝึกหัดให้เป็นคนโง่ ถ้าหัดให้เป็นคนฉลาดละก็ กลุ้มใหญ่เลย ถ้าหากมาหัดให้ถึงความโง่ ถึงที่สุดดังที่ว่ามานี้แล้ว เรารู้จักความโง่ อาการที่หัดให้ถึงความโง่นั่นน่ะ มันมีความฉลาดอยู่ในตัว จึงค่อยเป็นคนโง่ได้ คนไม่ฉลาดหัดให้เป็นคนโง่ไม่ได้ พูดกันง่ายๆอย่างนี้ 

หรือจะพูดตามศัพท์บาลี ท่านว่า ผู้ไม่มีฌาณ ไม่มีปัญญา ผู้ไม่มีปัญญา ไม่มีฌาณ จริงอย่างท่านว่า ฌาณสมาธิสมาบัติที่จะเข้าถึงอัปปนาฌาณ หรือว่าเอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์ เรียกว่าที่สุดของฌาณ หรือเรียกว่าภวังค์ที่สุดของฌาณ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่ถึง ปัญญาคืออะไร คือพิจารณาให้เห็นโทษของความวุ่นวาย ให้เห็นอารมณ์ที่ส่งส่ายวุ่นวายทั้งปวงหมด มันจะส่งไปยึดไปถืออะไรเห็นเป็นโทษทุกข์ภัย เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นเป็นสภาวะธรรม มันจะไปติดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เห็นเป็นตัวสมุทัย เห็นเป็นไปเพื่อ(เทปขาดตอน)กองทุกข์อันนั้นแหละปัญญา 

เมื่อเห็นเช่นนั้นมันจึงค่อยถอนจากความส่ง จากความวุ่นวาย จากการปรุงแต่งทั้งปวงหมด ปัญญานั่นแหละไปกำจัดอาการจิตทั้งหลายเหล่านั้น มันถึงจะปล่อยวางและรวมเข้ามาเป็นอัปปนาสมาธิ หรืออัปปนาฌาณ หรือเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ หรือเรียกว่า ภวังค์อย่างที่ว่ามานี้ ท่านจึงว่าผู้ไม่มีปัญญา ไม่มีฌาณ ผู้ไม่มีฌาณ ไม่มีปัญญา อันนั้นก็ถ้าหากว่าจิตเข้าถึงอัปปนาก็ดี หรือเข้าถึง เอกัคคตาก็ดี หรือเข้าถึง ภวังคจิตก็ดี อันนี้เรียกว่าฌาณ หรือเรียกว่าสมาธิ เพราะจิตถอนออกมาจากนั้นแล้ว ก็จะเหมือนกันกับว่า เราเข้าไปสู่ห้องอับแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่เห็นสิ่งภายนอก เรามองแต่เห็นของภายใน ตรวจตราภายในในสิ่งที่อยู่ภายในนั้น พอเปิดห้องเปิดหับเปิดหน้าต่างออกมา มาดูของภายนอก จิตใจจะกว้างขวางและเบิกบาน นอกจากนั้นอีก จะเห็นของภายนอกแปลกประหลาดขึ้นมาทันที เช่นเมื่อจิตเข้าไปเป็นเอกัคคตาจิต จิตเป็นหนึ่ง พอออกมาจิตไม่ใช่หนึ่งซะแล้ว มามองดูเอาของที่ไม่เป็นหนึ่งนั่นแหละ จะชัดขึ้นมาทันทีว่า อ้อ หนึ่งกับไอ้ที่ไม่เป็นหนึ่งเป็นอย่างนี้ ผิดกันอย่างนี้ ที่หนึ่งน่ะมีความสุขสงบแค่ไหน มีความเยือกเย็นปานใด ที่ไม่เป็นหนึ่งนี้มีความเดือดร้อนวุ่นวายซักแค่ไหนปานใด อันนี้เรียกว่าปัญญาเกิดจากสมาธิ เกิดจากฌาณ

นั่นแหละจึงเรียกว่าปัญญาเกิดขึ้นมาทีหลังจากความโง่ ความโง่แล้วคราวนี้เกิดปัญญาทีเดียว มีคุณประโยชน์อย่างนี้ ทำให้เป็นคนโง่ ถ้าเป็นคนฉลาดอยู่ตลอดเวลาแล้ว ทุกสิ่งทุกประการ จะไม่มีของแปลกประหลาดเล้ย ดั่งคนธรรมดาสามัญที่ยังไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตให้เข้าถึงเป็นคนโง่อย่างที่อธิบายมานั้น จะฟุ้งอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสถานีเลย แล้วในผลที่สุดจะเอาอะไรมาเป็นแก่นสารไม่ได้ซักอย่าง ปัญญาแบบนี้นั้น ได้กลายเป็นความโง่ไปในตัว คือตัวเองก็ไม่รู้เรื่องของตัว ว่าตนคิดนึกอะไร ก็เลยกลายเป็นคนโง่ไปในตัว เหตุนั้นจึงว่าหัดให้เป็นคนโง่เสียก่อน ให้รู้จักความโง่เสียก่อน การรู้จักความโง่เท่านั้นหละได้ชื่อว่าได้เกิดปัญญาขึ้นมาแล้ว เอาปัญญาตรงนี้เสียก่อน 

พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระบรมครูฝีกฝนอบรมมาแล้วในแนวนี้ จึงได้สอนพวกเรา แต่พวกเราน่ะอยากจะเป็นบรมครูเลยทีเดียว เห็นพระองค์เจ้าปัญญากว้างขวางฉลาดเฉียบแหลม ก็เลยอยากได้อย่างพระองค์ คำว่าพระองค์ฉลาดเฉียบแหลมนั่นน่ะ จะอยู่ในขั้นไหนภูมิไหนก็ไม่ทราบ ฉลาดด้วยวิธีไหนก็ไม่ทราบ เราก็เลยอยากฉลาดอย่างพระองค์ พระองค์ฉลาดแปลกจากปุถุชนฉลาด คือพระองค์ควบคุมจิตของพระองค์ได้ จะให้อยู่ในฐานะใดๆได้หมด อริยวงศ์ อริยวาสของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านแสดงไว้อย่างนี้ พิจารณาของไม่ดีให้เป็นของดีก็ได้ พิจารณาของดีให้เป็นของไม่ดีก็ได้ พิจารณางามให้เป็นของไม่งามก็ได้ พิจารณาของไม่งามให้เป็นของงามก็ได้ ทั้งของงามและของไม่งามให้เป็นของไม่งามก็ได้ หรือให้เป็นของไม่งามก็ได้ 

นี่ความฉลาดของท่าน ไม่เหมือนกับความฉลาดของคนธรรมดาที่ว่าฉลาดเฉียบแหลม คนฉลาดมีแต่มองเอาแง่ดีทั้งหมด พิจารณาไม่ให้มันมีเลวทราม ถ้าเลวทรามจะเหยียดหยามดูถูก ถ้าดีก็ชมเชยยกยอ จะกลับเอาของไม่ดีนั่นหรือของดีนั่นให้มันไม่ดีไม่ได้ หรือให้ดีก็ไม่ได้ มันยังผิดแผกจากอริยวาส อริยวงศ์ เหตุนั้นจึงค่อยมีแต่การสะสมของกิเลส อันเป็นเหตุให้เหยียดหยามดูถูกซึ่งกันและกัน เดือดร้อนวุ่นวาย เหยียดหยามดูถูกก็เป็นการเดือดร้อนวุ่นวาย ทั้งตนและคนอื่น จึงไม่เป็นไปเพื่อสันติ คือความสุขสงบ

เพราะฉะนั้นจึงว่าให้พากันพิจารณาความตายอันเดียวเนี่ย ให้เห็นชัดลงความตายเมื่อไหร่แล้ว จิตจะปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวงหมด จึงหัดมาเป็นคนโง่อย่างที่ว่า เข้ามาอยู่ในเอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์ พอเรามาพิจารณาถึงความตาย เห็นเราเป็นคนตายทุกขณะลมหายใจเข้าออกแล้ว ทุกสิ้นทุกส่วนในตัวของเราเป็นของแตกตายสลายทั้งหมดแล้ว เรามองสิ่งอื่นนอกจากตัวของเรา หรือคนอื่นนอกจากเราแล้ว จะมีสภาพเช่นเดียวกัน การเห็นเช่นนั้นจะเป็นเหตุไม่ให้ติดข้องพัวพันในสิ่งใดๆ เช่นเราชอบรักในสิ่งใด หรือผูกมั่นผูกพันในสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะมาชัดในใจของตนแล้วว่าเป็นเรื่องเปล่า หาประโยชน์ไม่ได้ หาสาระไม่ได้ เรารักหรือเราชอบหรือเราผูกพันในสิ่งทั้งหลายนั้น แท้ที่จริงก็คือว่าผูกพันในสิ่งที่ไม่มี คือสิ่งที่มันตายแตกดับ ในผลที่สุดก็จะรู้สึกตนเองว่าตนงมงาย และเกิดความละอายขึ้นมาในตัวทันทีทันใด ก็แสดงว่าเราคลาย ลดถอนเสียแล้วจากเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น นี่การฝึกฝนตัวของเราให้เป็นคนโง่ มีคุณวิเศษอย่างนี้ ทำให้ละกิเลสอกุศลคือสิ่งที่ทำใจให้มัวหมองด้วยประการต่างๆอย่างที่อธิบายมานี้อุบายธรรมะที่แสดงมาในวันนี้ว่าถึงเรื่อง จิตตัง รักเขถะ เมธาวี ถ้าผู้ไม่มีปัญญาแล้ว ไม่สามารถจะรักษาจิตใจได้ ที่ท่านว่าเมธาวี ผู้มีปัญญาควรรักษาจิต คือเป็นสิ่งที่ควรจริงๆ เห็นเป็นของควรจริงๆ ถ้าคนไม่มีปัญญา ไม่เห็นเป็นของที่ควรเล้ย เลยปล่อยวางการปฏิบัติ จึงไม่ได้ถึงซึ่งสันติสุข ผู้มีปัญญาควรรักษาจิต เมื่อรักษาจิตได้แล้ว จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง ก็จะนำความสุขมาให้ ใครจะไปปรารถนาความสุข คนในโลกนี้ทุกคนอย่าว่าแต่มนุษย์เลย สัตว์ก็ปรารถนาความสุขทั้งนั้น แต่ความสุขนอกจากความสงบแล้วหาที่ไหนได้ นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง ความสุขนอกจากความสงบแล้วไม่มีหรอก สงบอย่างที่หัดตนเป็นคนโง่เท่านี้ก็เป็นสุขโขอยู่แล้ว ถ้าหากว่าสุขเกิดจากความฉลาดอันเกิดความโง่ จะสุขซักแค่ไหน อันนั้นยังเป็นส่วนสุขข้างหน้า พอยกไว้อีกส่วนหนึ่ง ขอให้หัดตอนนี้ให้มันได้ซักก่อน อธิบายมาในข้อธรรมที่ยกขึ้นมาก็มีเนื้อความพอที่จะจับได้เพียงแค่นี้ เอาหละ วันนี้แสดงเท่านี้