หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร
ธัมมสวนมัยคือการฟังธรรมเป็นทางให้เกิดบุญชนิดหนึ่ง คำว่าได้ปัญญาคือได้สิ่งที่เรายังไม่ทันรู้ ยังไม่เข้าใจ เราก็เข้าใจ สิ่งใดที่เข้าใจแล้วก็แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น อันนี้คือเรื่องของการฟังเทศน์ เราสวดลักขีกันมา ก็ฟังเทศน์กันมาหลายกัณฑ์แล้ว กัณฑ์นี้ก็คงเป็นกัณฑ์สำคัญที่จะได้ตอกย้ำให้เราได้เข้าใจข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น
ณ บัดนี้อาตมาจะได้แสดงธรรมีกถา พรรณนาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะได้เป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนบุญกุศลความรู้ความฉลาดของท่านทั้งหลายที่ได้พากันยอมเสียสละในความสุขที่บ้านเรือน มาพากันบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี ได้พากันมาบวชชีที่วัดธรรมมงคลในวันนี้ พร้อมกันนี้ในวันนี้เราก็จะได้ดำเนินตามรายการเริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๘ เป็นต้นมา มาถึงวันนี้เราก็อาจสามารถที่จะลำดับเหตุการณ์ต่างๆจากที่วันแรกมาจนกระทั่งถึงวันนี้ว่าเราได้กระทำอันใดไว้บ้าง อันใดเป็นบุญกุศล อันใดเป็นความดี นับตั้งแต่วินาทีของการเหยียบย่ำเข้ามาถึงวัดธรรมมงคลนี้แล้ว
ท่านทั้งหลายอันดับแรกที่ได้มองเห็นก็คือสภาพสถานที่ต่างๆซึ่งทุกคนก็มีความพอใจที่จะจับจองสถานที่เหล่านั้น ด้วยความพอใจ อันนั้นเค้าเรียกว่า ฉันทะ คือความพอใจ และฉันทะอันดับสองต่อมาก็คือ การเราเปลี่ยนผ้าจากสีต่างๆให้เหลือเพียงสีขาวเท่านั้น แสดงถึงฉันทะ ความพอใจอันดับสองต่อมา เมื่อได้พากันนุ่งขาวห่มขาวเรียบร้อย เข้าประจำที่ ณ เวลานั้นก็ได้มีการเตรียมที่จะกล่าวคำบวชชีเป็นอันดับแรก ที่หลวงพ่อเป็นผู้นำให้ท่านทั้งหลายได้พากันว่าตาม เมื่อมาถึงขั้นนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นฉันทะอันดับสาม คือความพอใจ พอใจมาถึงเรียกว่า ๓ อันดับ เรียกว่า ๓ ขั้นอันดับ ความพอใจอันนี้ในทางพุทธศาสนาเรียกความพอใจนี้ว่า อิทธิบาท
อิทธิบาทนั้นเป็นคุณเครื่องให้เกิดความสำเร็จ ก็เรียกว่าอิทธิบาท เพราะฉะนั้นต่อไปจะเล่าเรื่องว่าอิทธิบาทนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีเรื่องอะไรเป็นหลักฐาน จะได้อธิบายต่อไปในข้างหน้า ณ ที่นี้จะได้อธิบายอิทธิบาท
ข้อที่สองต่อไป อิทธิบาทนั้นมี ๔ ประการ ข้อที่๒ คือ วิริยะ วิริยะหมายถึงความพากเพียร ความพากเพียรนั้นเราท่านทั้งหลายได้สวดลักขีแล้วใช่มั้ย ต่างคนก็พากันได้สวดกันแล้วทุกคน และสวดครั้งเดียวหรือเปล่า ก็เปล่า แต่ว่าสวดหลายครั้ง การที่ทำแล้วและทำอีก ทำแล้วและทำอีก โดยจุดมุ่งหมายต้องการให้เป็นการกุศล อันนั้นเรียกว่า วิริยะ คือความเพียร
นอกเหนือจากนั้น เราก็มาดูแลศีล ว่าเวลานี้เรามีศีลใช่มั้ย ถามตัวของเรา อ๋อ เรามีศีล เมื่อมีศีล ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ขโมยของใคร ไม่ประพฤติอสัทธรรม ไม่โกหกหลอกลวง ไม่กินเหล้าเมาสุรายาเสพติด ไม่รับประทานอาหารในเวลาวิกาลคือตอนบ่าย ตลอดจนถึงกระทั่งไม่ฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี ดีดสีตีเป่า จนถึงไม่นั่งนอนในที่นั่งอันสูงใหญ่ ไม่ใช่ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่หรอก อันนี้ก็คือหินที่เรานอนอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นในเมื่อเราได้กระทำเช่นนี้แล้ว เป็นสิ่งที่เราได้มีความเพียรเป็นการต่อเนื่อง
ความเพียรนั้นน่ะ ถ้าหากเป็นความเพียรเพียงแป๊บเดียว เค้าเรียกว่าเป็นความเพียรที่ยังไม่บรรลุ แต่ความเพียรนั้นถ้าหากว่าได้ทำเป็นการต่อเนื่องก็เรียกว่าบรรลุ เมื่อเราได้สวดลักขีวันที่หนึ่ง สวดวันที่สอง สวดวันที่สาม เรามีศีล๘ ตลอดวันที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม เมื่อบังเกิดความเป็นการต่อเนื่องเช่นนี้เรียกว่าเป็นวิริยะ คือความเพียร เราได้แล้ว อิทธิบาทข้อที่ ๒ ฉันทะ วิริยะ
มาข้อที่สามเรียกว่า จิตตะ จิตตะนั้นแปลใจความว่า การเอาใจใส่ การเอาใจใส่นับมาตั้งแต่วินาทีแรก ที่เราเหยียบย่ำเข้ามาสู่วัดธรรมมงคล ใจของเราได้จดจ่อแล้ว จอจ่อที่ตรงไหน เขาประกาศใช่ไหมว่าวัดธรรมมงคลจะทำพิธีบวชชี ใจได้จ่อลงไปที่นั่นแล้ว เค้าเรียกว่าจิตตะ เพราะใจเนี่ยไม่ได้จ่อมาตรงที่เหยียบวัดธรรมมงคลนี้หรอก แต่ว่าได้บังเกิดขึ้นมาตั้งแต่เค้าประกาศแล้ว ตั้งแต่อยู่ที่บ้านก็ได้มีจิตใจที่จะใส่ลงไปในตรงนี้อย่างแน่วแน่ มิฉะนั้นเราจะมาถึงนี่ไม่ได้ เพราะว่าการที่เราจะมาทำความดีนั้นมีมารผจญ อาจจะเป็นสามี อาจจะเป็นลูก อาจจะเป็นการงานอะไรก็สุดแล้วแต่ มันจะคอยมาผจญเรา
เพราะฉะนั้นจิตตะคือความใส่ใจอันนี้ ไม่ย่นย่อท้อถอย ไม่ลืมว่าจะบวชวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๒ นี่เราก็ใส่ใจเอาไว้อย่างแน่วแน่แล้ว แล้วก็ใส่ใจ ถ้าไม่ใส่ใจ ลืมแน่ แต่เพราะใส่ใจก็ไม่ลืม อันนี้เราจะได้อิทธิบาทข้อที่สาม ก็เรียกว่าจิตตะ และนอกเหนือจากนั้นเมื่อเวลาที่เราจะสวดลักขี ใจเราก็จ่อจดนะ จดว่านี่ได้เวลาแล้ว เอ้า นี่ได้เวลาแล้ว ตั้งแต่สวดถึงนี่มาถึงนี่ เรียกว่าเราไม่ย่นย่อและท้อถอยแม้แต่นิดเดียว ต่อสู้อย่างเต็มที่ เค้าเรียกว่าจิตตะ คืออิทธิบาทข้อที่สาม
เอาหละในต่อไปที่นี้ ในข้อที่สี่นั้น วิมังสา เค้าชื่อวิมังสา อิทธิบาทข้อที่สี่วิมังสานั้นแปลว่าการไตร่ตรอง อันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับในอิทธิบาททั้งหลายนั้นในทั้งหมดสี่ข้อ ข้อที่สี่มีความสำคัญยิ่งกว่าทุกๆข้อไป เพราะอะไรจึงสำคัญ เพราะว่าการไตร่ตรองนั้นหมายถึงปัญญา ไม่ใช่ว่าการบวชชีนี่มาทำเล่น แต่ว่ามาทำเพื่อให้เกิดการกุศลจริงๆ เพราะฉะนั้นความไตร่ตรองในจิตใจ ก็ไตร่ตรองว่าไม่ใช่เรื่องมาทำเล่น ไม่ใช่เรื่องมาเสียเงินเสียทองโดยเปล่าประโยชน์ หรือไม่ใช่ว่ามาทำแล้วก็มันหายไปเหมือนกันกับมาเล่น มันไม่ใช่อย่างนั้น
แต่ว่าความไตร่ตรองอันนี้ได้บังเกิดขึ้นซึ่งหมายความว่า ได้บังเกิดซึ่งสติและปัญญาในตัวของเราว่า การมาบวชชีนั้นมีประโยชน์อันยิ่งใหญ่ มีความที่จะทำให้เกิดบุญ เรามาคิดว่าคนเรานี่เกิดมาแล้วก็ต้องตาย ตายก็ร่างกายตายไปก็จริง แต่ว่าใจไม่ได้ตายตามร่างกายนี้ไปด้วย
เมื่อเราจะทำอะไรที่จะเป็นสมบัติให้แก่ใจของเรา จะเป็นวิธีใดก็ได้แต่วิธีนั้นก็ต้องเป็นบุญเป็นกุศล อย่างแน่วแน่อย่างนี้เป็นต้น ใจนั้นก็ได้มีความคิดใช้สติปัญญาแล้วก็สติปัญญานั้นการเดินทางจากบ้านมาถึงที่วัดธรรมมงคล ถ้าไม่มีปัญญาไม่รู้ว่าจะมายังไง ใช้อาศัยปัญญาว่าวัดธรรมมงคลอยู่ซอย ๑๐๑ สุขุมวิท พระโขนง กรุงเทพมหานคร อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เรียกว่าปัญญาทั้งสิ้น ถ้าไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะบวชขึ้นมาเป็นองค์ที่เราเรียกว่าเนกขัมมะหรือที่บวชเป็นชีอย่างนี้ อันนี้เกิดขึ้นมาด้วยสติและปัญญาโดยแท้
เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลาย อิทธิบาททั้ง ๔ นี้มีความสำคัญมาก เพราะว่าอิทธิบาททั้ง ๔ คือคุณเครื่องให้สำเร็จ การที่จะทำงานทุกอย่างสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากอิทธิบาททั้ง ๔ ทีนี้ก็จะต้องอธิบายในเรื่องของอิทธิบาททั้ง ๔ นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องยกเรื่องขึ้นมาเรื่องหนึ่ง
ในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ประมาณ ๓๐๐ ปี ในคราวครั้งนั้นก็ได้มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งที่ทรงศักดานุภาพชื่อว่าพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชนั้นได้ตีเมืองต่างๆในชมพูทวีปให้เป็นเมืองขึ้นของพระองค์ทั้งหมด คล้ายๆกับว่าเป็นเจ้าทวีป คือพระเจ้าอโศกมหาราช ทีนี้พระเจ้าอโศกมหาราชนั้นยังไม่ได้เลื่อมใสพระพุทธศาสนาในอันดับแรก ท่านก็เลยจัดการทำคุกขึ้นมา เพื่อที่จะเอามาให้นักโทษไปอยู่ในคุกนั้น แล้วก็ให้อำนาจแก่ผู้คุมคุกนั้น อยากจะประหารใคร ถ้าเข้าไปก็ประหารได้ตามความชอบใจ
ทีนี้อยู่มาวันหนึ่ง มีสามเณรองค์หนึ่งเดินบิณฑบาตเข้าไปในคุก ไอ้นายคุกนั่น มันก็ได้จิตแล้วว่า ถ้าใครเข้าไปในคุกเรียกว่าฆ่าได้ทุกคน เพราะฉะนั้นเมื่อเณรเดินเข้าไปบิณฑบาตในคุกแล้ว นายคุกมันก็เลยจับเอาเณรขัง เอาเณรขังไว้ในกรงขัง
ในขณะนั้นก็พอดีมีชายชู้กับผู้หญิงคู่หนึ่งถูกจับมา เมื่อถูกจับมาแล้ว นายเพชฌฆาตคนนั้นก็จับทั้งสอง ชายชู้กับผู้หญิง เอามาหั่นคอ แล้วก็เอาใส่ครกตำ เลือดกระจายเต็มไปหมด สามเณรที่อยู่ในกรงขัง มองดูเห็นภาพอุจาดตาเช่นนั้น ท่านก็ทำสมาธิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์อยู่ในกรงขังนั้น
เมื่อได้เวลานายเพชฌฆาตก็จัดการที่จะเอาเณรเข้ามาประหารชีวิต เมื่อจะจับเณรเข้ามาประหารชีวิต เมื่อจะจับเณรประหารชีวิต ก็เปิดกรงขัง เณรก็เหาะขึ้นไปบนอากาศ ทำให้นายเพชฌฆาตไม่สามารถจับเณรนั้นได้ แต่พอเวลาที่นายเพชฌฆาตไม่ทำอะไร เณรก็เหาะเข้ากรงขังตามเดิม
ข่าวก็ได้ยินไปถึงพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชก็ เอ๊ะ พระสมัยนี้เหาะได้ก็มีเหรอ นายเพชฌฆาตก็บอกว่า มี แล้วพระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้พาบริวารเข้าไปในคุก พอเข้าไปในคุก ไอ้เพชฌฆาตนั่นมันก็จะจับพระเจ้าอโศกประหารชีวิต พระเจ้าอโศกก็บอกว่า “เฮ้ย แกจะจับฉันได้ยังไง” นายเพชฌฆาตเค้าบอกว่า “ก็พระองค์รับสั่งนี่ว่าใครเข้ามานี่ ฆ่าได้ทุกคน”
“เฮ้ย นี่มันข้านะ แกไม่ต้องพูดมาก วันนี้ฉันมานี่ ฉันต้องการอยากจะดูพระเหาะได้ เห็นว่าบอกว่าพระเหาะได้จริงๆมั้ย” บอกว่า “มี เนี่ยองค์เนี้ยอยู่ในกรงขังเนี่ย ผมขังไว้นี่แหละ” ว่างั้น และทีนี้ทำยังไงหละ ให้ท่านเหาะให้ดู
ทีนี้ตามธรรมดานี่พระภิกษุและสามเณร เขาจะไม่ทำปาฏิหาริย์ เพราะการทำปาฏิหาริย์นั้นจะต้องทำในเวลาคับขันเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าไม่คับขัน ไปทำปาฏิหาริย์อวดใครก็เป็นอาบัติ เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าอโศกจึงได้ไปหาสามเณร บอกว่า “เนี่ย เหาะให้ฉันดูหน่อยสิ” ท่านก็ไม่เหาะ เพราะว่าจะไปบอกให้ท่านเหาะไม่ได้เพราะเป็นอาบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จึงได้ถามเพชฌฆาตว่า “เอายังไงหละ ถึงจะเหาะให้เราดูได้” เพชฌฆาตก็บอกว่า “ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าหากไม่เหาะก็จับประหารชีวิตซะเลย”
นายเพชฌฆาตก็เปิดกรงออกมา จับเณร เอามีดมา เอาดาบมาแล้วจะประหารชีวิต เมื่อจับเณรมัดเสร็จแล้ว เตรียมจะประหารชีวิต เณรก็เหาะขึ้นไปบนอากาศ พระเจ้าอโศกเห็นเข้า ตบพระหัตถ์ บอกว่า “ขออาราธนาลงมาเถิดพะเจ้าค่า” แล้วสามเณก็ลงมา พระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าอโศกก็อาราธนาให้สามเณรนั้นเข้าไปในวัง แล้วก็ให้สามเณรแสดงธรรม สามเณรก็แสดงธรรมให้แก่พระเจ้าอโศก จนกระทั่งมีความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างสูง
เมื่อเป็นเช่นนั้นพระเจ้าอโศกก็กลับใจ ได้ทรงวางดาบ ไม่ต้องการที่จะฆ่าใคร และได้ทรงถือคัมภีร์เป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา วัดวาอารามต่างๆก็ร่ำรวยกันมากขึ้น เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินเลื่อมใส ประชาชนก็เลื่อมใสด้วย เมื่อประชาชนเลื่อมใสมากเข้า วัดก็ร่ำรวยกันมากขึ้น อาหารการฉันก็สมบูรณ์บริบูรณ์
มันก็เดือดร้อนไปถึงคนนอกจากพุทธศาสนา พวกนั้นจะอดๆอยากๆ ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ก็เลยพากันปลอมบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา เมื่อปลอมบวชเข้ามาก็ไม่รู้ว่าองค์ไหนดี องค์ไหนเก๊ เพราะว่าพวกเหล่านั้นมันไม่มีอุปัชฌาย์แล้วก็เข้ามาครองผ้าเหลืองแล้วก็กลายเป็นพระไปอย่างนั้น
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเลื่อมใสแล้ว ได้ทำบุญ ๙ ล้าน ๙ โกฏิ ที่ท่านว่าไว้ในคัมภีร์ว่าได้ทำบุญ ๙ ล้าน ๙ โกฏิ ก็หมายความว่านับไม่ถ้วน จึงทำให้เกิดลาภสักการะเกิดขึ้นทั่วไปในวัดพระพุทธศาสนา พวกเดียรถีย์หรือพวกต่างศาสนาก็พากันเข้ามาบวชกันจนกระทั่งไม่รู้ใครเป็นใคร และในขณะนั้นนั่นเอง พระเจ้าอโศกมหาราชด้วยความเลื่อมใส ท่านก็ให้ราชโอรสของท่านออกบวช เพื่อที่จะเป็นการว่าได้เป็นญาติกับพระพุทธศาสนา ทั้งลูกหญิงลูกชาย ท่านก็ให้บวชในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ทีนี้พระสงฆ์ท่านก็ไม่ลงโบสถ์กับพวกที่ปลอมเข้ามาบวช มันก็เกิดการแตกแยกขึ้น พระเจ้าอโศกจึงได้มาคิดว่า เราก็เลื่อมใสพระพุทธศาสนา แล้วทำไมเค้ามาทะเลาะกันได้นะ ทีนี้พระเจ้าอโศกจึงได้ใช้ให้พวกเสนาอำมาตย์ต่างๆเนี่ย พากันไประงับ บอกให้พระท่านลงโบสถ์ด้วยกันซะ อย่าไปแตกแยก ในที่สุดพวกเสนาอำมาตย์ก็ได้ไปบังคับให้พระนั้นน่ะลงโบสถ์ด้วยกัน แต่พระอรหันต์ท่านไม่ลงหรอก เพราะว่าลงไปกับพวกนอกศาสนาท่านก็ไม่ทำ เมื่อไม่ยอมลง
พวกทหารที่พระเจ้าอโศกส่งไปก็จึงได้มาปรึกษากันว่า ถ้าหากว่าพระไม่ยอมเราจะทำยังไง ก็ปรึกษากันว่าก็เหมือนเราไปปราบโจร ถ้าโจรไม่ยอมก็ฆ่าโจร นี่ถ้าพระไม่ยอมก็ฆ่าพระ ในที่สุดทหารพระเจ้าอโศกฆ่าพระมาซะนับร้อย ฆ่าไปฆ่าไปจนกระทั่งถึงลูกชายของพระเจ้าอโศกพอดี ก็ตกใจ แกมาทำยังไงจึงมาฆ่าพระถึงขั้นนี้ พวกทหารพระเจ้าอโศกก็เลยกลับคืนมาทูลพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกก็เสียพระทัยอย่างยิ่ง เมื่อเสียพระทัยอย่างยิ่งก็ไม่รู้ว่าจะให้ใครนะเป็นผู้ที่จะมาช่วยแก้ความสงสัยว่า ไอ้บาปที่ไปฆ่าพระนั้นเป็นร้อยๆนี่ เราต้องได้แน่นอน เราทำบุญมาตั้งเยอะ คราวนี้คงบาปแน่ ท่านก็สงสัย
ในที่สุดท่านก็ไปขอให้พระนี่มาเทศน์ให้ฟัง เทศน์ให้ฟังเท่าไร ท่านก็ไม่หายสงสัย จึงได้ไปอาราธนาให้พระโมคคัลลีบุตร พระโมคคัลลีบุตรท่านเป็นพระอรหันต์ ทางพระเจ้าอโศกก็ขอเชิญท่านพระโมคคัลลีบุตรให้มาช่วยแก้การสงสัย ทีนี้พระโมคคัลลีบุตรท่านก็ไม่มา เพราะว่าเหตุการณ์เล็กน้อยท่านจะไม่ออกจากถ้ำ และท่านก็บอกว่าถ้าหากว่าไปช่วยงานพระพุทธศาสนาแล้วและท่านถึงจะมา ถ้าหากว่าให้ไปแก้สงสัยพระเจ้าแผ่นดิน ท่านจะไม่มา พระเจ้าอโศกก็ตกลงว่าท่านจะทำยังไงก็ได้ แต่ขอให้ท่านมาก็แล้วกัน พระโมคคัลลีบุตรท่านก็ออกจากถ้ำเข้ามาที่เมืองปาฏลีบุตร เพื่อที่จะได้มาเข้าเฝ้าพระเจ้าอโศก
เมื่อมาถึงพระเจ้าอโศกก็มาคิดว่า เอ๊ะ พระโมคคัลลีบุตรนี่จะมีฤทธิ์จริงมั้ย ในที่สุดพระโมคคัลลีบุตรท่านก็ไม่ได้แสดงฤทธิ์อะไรหรอก แต่ท่านไปแก้ความสงสัยของพระเจ้าแผ่นดินว่าการที่เราใช้นั้นน่ะ เราไม่ได้ใช้เขาไปฆ่า แต่เขาไปฆ่าเอง ท่านจึงได้ให้เอานกขุนทองมาตัวหนึ่งแล้วก็ให้นกขุนทองนั้นหัดพูดว่า “ฉันฆ่าคน” นกขุนทองมาถึงมันก็บอกว่า “ฉันฆ่าคนๆ” พระเจ้าอโศกว่านกเนี่ยมันเป็นบาปมั้ยที่มันพูดว่า ฉันฆ่าคน มันก็ไม่ได้เป็นบาปเพราะว่ามันไม่ได้เจตนา พระเจ้าอโศกก็หายสงสัย
ในที่สุดพระโมคคัลลีบุตรก็ได้พระเจ้าอโศกเป็นลูกศิษย์แล้ว ก็ทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ได้กำจัดพวกอลัชชีที่ปลอมเข้ามาบวชจนหมดสิ้น เพราะว่าโมคคัลลีบุตรท่านมีตาทิพย์ ท่านก็รู้ว่าคนไหนมันปลอมบวชมา ท่านก็ให้พระเจ้าอโศกจับสึกๆ เนรเทศออกไป พระพุทธศาสนาก็ผ่องใสขึ้นในคราวครั้งนั้น
ต่อมาพระเจ้าอโศกจึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นทั่วสากลชมพูทวีป เมืองขึ้นอยู่ที่ไหน ท่านก็ให้สร้างพระเจดีย์ที่นั่น รวมกันแล้วได้ ๘๔๐๐๐ องค์พระเจดีย์ เมื่อสร้างพระเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะต้องทำการฉลอง ในการที่จะฉลองในคราวครั้งนั้น พญามารมันรู้เข้าว่าพระเจ้าอโศกนี่จะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญอย่างยิ่ง เราเป็นมาร เราต้องไปผจญ พระเจ้าอโศกให้พ่ายแพ้ให้จงได้ มารจึงได้ประกาศก้องว่าเมื่อพระเจ้าอโศกจะฉลองพระเจดีย์๘๔๐๐๐ องค์ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วันนั้น เราจะเข้าทำลายพิธีนี้ให้ย่อยยับ
เสียงประกาศออกมาทำให้พระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าอโศกตกพระทัยอย่างยิ่ง ท่านไม่มีที่พึ่ง ท่านจึงไปที่อโรเคนะ อโรเคนะคือมีวัดหนึ่ง ในเมืองปาฏลีบุตรนี่มีวัดหนึ่งชื่อว่าวัดอโรเคนะ อโรเคนะก็เป็นที่อยู่ของพระอรหันต์เยอะ ทีนี้พระเจ้าอโศกก็จึงไปบอกกับพระเถระว่าเวลานี้พญามารมันจะเข้ามาผจญและทำลายการฉลองพระเจดีย์ทั้ง ๘๔๐๐๐องค์นี้ พระองค์ไหนที่จะอาสาช่วยผมได้บ้าง พระเถระก็ได้เรียกประชุมกันมา พระอรหันต์ทั้งหลายมาประชุมกันว่าพระอรหันต์องค์ไหนที่จะต่อสู้กับพญามารได้บ้าง ก็ไม่มีใคร เงียบชิบเลย พระเถระท่านก็ร้อนใจ เราจะหาพระช่วยพระเจ้าอโศกไม่ได้แล้วกระมัง
ในขณะนั้นก็มีพญานาคมาฟัง คือมาประชุมด้วย และในขณะเดียวกันนั้น พญาครุฑบินมาจากไหนไม่รู้ มาแหวกอากาศลงมา กำลังจะเข้ากัดพญานาค ทำร้ายพญานาค พญานาคหนีก็ไม่ทัน ก็รีบบอกให้พระว่า “ช่วยผมด้วยๆ พญาครุฑจะมากินผมแล้ว”
ในทันใดนั้น ในขณะที่พญาครุฑกำลังจะกินพญานาค มีสามเณรองค์หนึ่งอายุได้ประมาณ ๗ ขวบ เป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์มาก เมื่อเป็นเช่นนั้นเห็นพญานาคจวนที่จะได้รับอันตราย สามเณรจึงเข้าฌานสมาบัติให้เป็นลมพัดเอาพญาครุฑปลิวออกไปนอกจักรวาล พญานาคก็เลยรอดพ้นจากอันตราย
เมื่อพระเถระเห็นสามเณรมีฤทธิ์เช่นนั้น จึงได้มอบให้สามเณรเป็นผู้ที่ไปต่อสู้กับพญามาร เพื่อที่จะให้พระเจ้าอโศกได้ฉลองพระเจดีย์ ๘๔๐๐๐ องค์ให้สำเร็จลุล่วงไป สามเณรจึงได้ตอบแก่ท่านพระเถระว่า ผมนั้นมีฤทธิ์ยังน้อย เป็นสามเณรด้วย แล้วก็มีฤทธิ์ยังน้อย แต่อาจารย์ของผมสิ ท่านเก่งมาก และเวลานี้ท่านกำลังเข้าอิทธิบาท ๔ อยู่ เพราะฉะนั้นก็ต้องขอให้ท่านแหละมาช่วย พระเถระจึงถามว่าเวลานี้ท่านองค์นั้นชื่ออะไร อยู่ที่ไหน สามเณรก็บอกว่าท่านชื่ออุปคุตอยู่ใต้ท้องทะเล ท่านสำเร็จอิทธิบาท ๔ ท่านยังมีชีวิตอยู่ใต้ท้องทะเลโน่น
พระเถระจึงได้เชิญอาราธนาพระอรหันต์สององค์ ให้พระอรหันต์สององค์นี้เข้าฌาน ดำน้ำไปอาราธนาให้พระอุปคุตนั้นมาช่วยงานพระเจ้าอโศก พระสององค์ได้เข้าไปถึง พระอุปคุตกำลังเข้าฌานก็ลืมตาว่า ทั้งสององค์มีอะไร เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจึงได้มาหาเรา ท่านก็บอกว่าเวลานี้พระเจ้าอโศกกำลังจะฉลองพระเจดีย์ ขอท่านไปช่วยเถอะ พระอุปคุตก็รับ ทั้งสององค์ก็รีบเหาะ เดินทางกลับมาที่เมืองปาฏลีบุตร แต่พอมาถึงพระอุปคุตมานั่งรออยู่แล้ว สององค์ก็ยังมาถึงทีหลัง
เพราะฉะนั้นพระอุปคุตจึงมีฤทธิ์มาก แต่ว่าท่านไม่ได้ฉันน่ะ ร่างกายท่านก็ผอม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เดินไปไหนมาไหน เหมือนกับคางคกตายซากอย่างนั้น ร่างกายของท่านดูไม่ได้ แต่เมื่อมาถึงแล้วพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าอโศกก็อยากจะเห็นท่านพระอุปคุต พอมาเห็นผอมกะแหร่งอย่างนี้ ไฉนเลยจะสู้พญามารได้ เพราะฉะนั้นพระเจ้าอโศกก็จึงได้คิดทดลองว่าพระอุปคุตนี้เก่งจริงมั้ย
พอตื่นเช้าขึ้นมา พระอุปคุตก็ถือบาตรบิณฑบาต เดินบิณฑบาตไปจนกระทั่งจะถึงวัง พระเจ้าอโศกจึงได้ปล่อยช้างกลัดมัน คือช้างตัวนั้นมันกำลังตกมัน มันเห็นใคร มันจะต้องเหยียบตาย เรียกว่าทำร้ายให้ตาย พอเสร็จแล้ว พอช้างวิ่งแปร๊ดมา ท่านก็เอานิ้วก้อยของท่านจับงวงช้าง ไม่ต้องเอาหมดมือหรอก เอานิ้วก้อยกับนิ้วนาง นิ้งกลาง นิ้วก้อยอะไรอย่างเนี้ย จับ เท่านั้นเองช้างก็ดิ้นไม่ได้แล้ว แล้วทีนี้ท่านก็บอกว่า “โอ้ย ช้างนี่มันหินนี่” ทีเดียวเท่านั้นช้างก็เลยเป็นหิน
พระเจ้าอโศกมหาราชเห็นดังนั้นแล้ว เกิดความเลื่อมใส จึงได้ลงมาจากวังแล้วก็มากราบแทบเท้าขอขมาโทษต่อท่านพระอุปคุต ว่า “ที่ได้กระทำเช่นนี้ไป โยมก็ไม่ได้คิดว่าจะดูถูกหรอก แต่ว่ายังสงสัยว่าท่านน่ะผอมๆอย่างนี้ ท่านจะสู้พญามารไหวเรอะ” อย่างนี้เป็นต้น
ต่อมาพระเจ้าอโศกก็สั่งให้จุดเทียนพร้อมกันเพื่อที่จะฉลองพระเจดีย์ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ในทันทีที่พระเจ้าอโศกสั่งให้กษัตริย์ทุกๆพระองค์และประชาชนจุดเทียนขึ้นมาเพื่อเป็นการฉลองพระเจดีย์ ๘๔๐๐๐ องค์นั้น พญามารก็ได้แปลงตัวเป็นโคอุสุภราช หมายความว่าแปลงเป็นวัว กระโจนเข้ามาเพื่อที่จะทำลายดวงเทียนทั้งหลายเหล่านั้นให้มันมอดไป แต่ว่าพระอุปคุตก็แปลงตัวของท่านเป็นเสือโคร่ง ไล่กัดวัว วัวก็วิ่งหนี พอวัววิ่งหนีแล้ว พญามารมันก็แปลงจากวัวมาเป็นราชสีห์ ก็ไล่อุปคุต อุปคุตท่านก็แปลงตัวจากเสือโคร่งมาเป็นเหมือนกันกับคนมีกำลัง เค้าเรียกว่ายักษ์ เข้ามาถึงก็จะมาจับพญาราชสีห์กินซะเลย พญาราชสีห์ก็เลยแปลงเป็นยักษ์ ต่อยักษ์ก็สู้กัน
ในที่สุดก็สู้พระอุปคุตไม่ได้ พระอุปคุตก็เลยเอาผ้าอาบน้ำเนี่ยมัดแขนของมาร ตัวมารก็เลยกลายเป็นตัวมานพน้อยนั่งอยู่ ทีนี้มานพน้อยเค้าก็คิดในใจว่าถ้าอุปคุตเผลอเมื่อไร เราจะจับขาทั้งสองข้าง เขวี้ยงพระอุปคุตออกไปนอกจักรวาล พระอุปคุตก็รู้ใจของมาร ว่ามารนี้มันเป็นตัวการ ใจของมันไม่ได้ยอมแพ้ ท่านก็รู้ ท่านก็ไม่เผลอ พอเวลาท่านนั่งกำลังจะเทศน์อยู่ มารมันก็กระโจนไปจับขาท่าน ท่านก็เลยเอารัดประคตมัดไปอีก แล้วท่านก็ได้ไปเอาหนังหมาเน่ามามัดคอพญามาร
หนังหมาเน่านั้นไม่ใช่หมาเน่าธรรมดา แต่เป็นหมาเน่าที่ท่านได้อธิษฐานขึ้น เรียกว่าเหม็นกว่าหมาเน่าธรรมดานี่ร้อยเท่า แล้วมันก็มีแมลงวันตอมเหม็นเข้าจมูกพญามาร พญามารแกะเท่าไหร่ก็ไม่ออก มันเหาะออกไปถึงชั้นสวรรค์ไปขอให้พวกเทวดาช่วยแก้ให้ เทวดาถามว่า
“ใครมัดหละเนี่ย”
“พระอุปคุตมัด”
“อู้ว พระอุปคุตมัด…แก้ไม่ได้หรอก ไปหาใครก็ไม่ได้ โอ้โห เหม็นไม่ไหวแล้ว”
ก็จำเป็นจำใจต้องเหาะกลับมาหาพระอุปคุตอีก พระอุปคุตก็จึงได้เอามาจับ จับแล้วทีนี้ก็มัด ไม่ใช่มัดธรรมดาทีนี้ มัดติดภูเขาไว้ แล้วแกะหนังหมาเน่าออก แล้วเอาสายรัดประคตมัดพญามารติดภูเขาไป ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ถ้ายังไม่ถึงเวลา แกก็ไม่ได้หลุดไปจากที่นี่ มารมันก็ร้องไห้เลยว่า “พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ได้ทรมานผมขนาดนี้นะ นี่สาวกพระพุทธเจ้าทรมานผมขนาดนี้ ผมขอปรารถนาโพธิญาณต่อไป”
เมื่อพระอุปคุตได้ยินอย่างนั้นก็รู้แล้วว่ามารกลับใจได้แล้ว ก็จึงได้แก้พญามารออกมา เมื่อแก้เสร็จแล้วนั่น พระอุปคุตก็เลยพูดกันกับพญามารบอกว่า “นี่ แกเกิดทันพระพุทธเจ้า เราเกิดไม่ทันนะ พระรูปพระโฉมของพระพุทธเจ้าเป็นยังไง แกลองเนรมิตให้เราดูหน่อยสิ”
พญามารมันก็เลยบอกว่า “เนรมิตได้ แต่ว่าอาจารย์น่ะ อย่าไปกราบเชียวนะ เพราะว่าผมเนี่ยเป็นลูกศิษย์แล้ว ผมต้องกราบอาจารย์เท่านั้น อาจารย์จะกราบผมไม่ได้”
“อ้ะ ไม่เป็นไร เราไม่กราบก็ได้” พญามารก็เลยอธิษฐานตัวของพญามารเป็นพระพุทธเจ้าเต็มตัวอย่างสวยงาม พระอุปคุตก็กราบ พอกราบเสร็จแล้ว พญามารก็เลยแปลงตัวกลับมาต่อว่าพระอุปคุต บอกว่า “อ้าว ไหนบอกว่าจะไม่กราบผม แล้วนี่มากราบผมได้ยังไง”
“เฮ้ย กูไม่ได้กราบมึงเว้ย ฉันกราบพระพุทธเจ้าต่างหาก” อย่างนี้เรื่องมันก็จบ แต่จบลงไปไม่ได้ เพราะว่าทำไมพระอุปคุตนั้นจึงได้ไปอยู่ใต้สะดือทะเล อยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เพราะว่าพระอุปคุตนั้นได้สำเร็จอิทธิบาท ๔ ที่ได้อธิบายไว้ในการข้างต้น อันนี้คือที่มาของอิทธิบาท ๔ แต่ที่เล่านี้ก็เล่าตามคันถรจนาจาร คือท่านได้รจนาไว้ในปฐมสมโพธิพิสดาร ที่หลวงพ่อนำเอามาเล่านี้ เล่าเพียงเล็กน้อย ที่จริงแล้วเรื่องจะยาวกว่านี้อีกเยอะ เพราะฉะนั้นก็จะยกมาเพื่อที่จะให้เข้าใจถึงว่า ทำอย่างไรเราถึงจะทำอิทธิบาทนี้ให้เกิดขึ้นแก่เราได้
ขอให้ท่านทุกคนคณะชีทั้งหลายจงเข้าใจเถิดว่า ที่ท่านได้มาปฏิบัติ และได้มาสวดลักขี และก็ได้ทำการบวชตั้งแต่วันต้นจนกระทั่งจบ นั่นคืออิทธิบาท อิทธิบาทนั้นแม้ท่านอุปคุตก็ตาม ท่านสร้างอิทธิบาทมาหลายกัปป์ หลายกัลป์ คือไม่ใช่ว่าสร้างชาติเดียวแล้วจะสำเร็จอิทธิบาทอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ได้
เราก็เช่นเดียวกัน เรามาสร้างอิทธิบาทกันนี้ด้วยการที่มาบวชชีครั้งแล้วและครั้งเล่า อิทธิบาทเหล่านี้ก็จะต้องกลับคืนไปเป็นสมบัติในใจของเรา เพราะใจของเรานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เมื่อเราบำเพ็ญกุศลคืออิทธิบาททั้ง ๔ นั้นแล้ว ก็จะติดอยู่ในใจของเราอย่างนั้น ชาตินี้เราทำ ชาติก่อนเราทำ ชาติต่อไปเราทำ เดือนนี้เราทำ ปีนี้เราทำ ปีหน้าเราทำ คือต้องทำจนกระทั่งกว่าที่จะเกิดความสมบูรณ์ขึ้นมา แต่เมื่อเราไม่เอาถึงพระอุปคุต เราก็เอาแค่สำเร็จฌาน สำเร็จญาณอย่างนี้ ก็พอใช้ได้
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ผู้ประพฤติธรรม พระธรรมย่อมรักษา
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ บุคคลผู้ประพฤติธรรมนำความสุขมาให้
ธมฺเม สุจิณฺเณ น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี บุคคลผู้ที่มีธรรมะไม่ไปถึงที่ทุกข์
ธมฺโม อธมฺโม จะ อุโภ สมวิปากิโน อธมฺโม นิยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ ธรรมและอธรรมมีผลเป็นสองอย่าง ธรรมนั้นพาบุคคลไปนรก เมื่อบุคคลใดไม่ประพฤติธรรม เมื่อใครประพฤติก็ไปเที่ยวขัดขวางเขา นอกจากไปขัดขวางเขาแล้ว ตัวเองก็ไม่ประพฤติธรรม ทำแต่บาปกรรมสารพัดที่จะสร้างบาปอกุศลให้แก่ตน บุคคลผู้นั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะต้องไปสู่นรก นรกก็คืออบายภูมิ เมื่อพ้นจากนรกมาแล้ว แทนที่จะมาเป็นคน ก็กลับมาเป็นหมาเสียอีก นอกจากเป็นหมาแล้วก็เป็นหมูเสียอีก นอกจากเป็นหมูก็ยังอาจจะเป็นควายเป็นวัวอะไรไป กว่าจะกลับมาเกิดเป็นคนได้ก็อีกนานนัก นั่นคือพวกทำความชั่วทั้งร้าย
ส่วนพวกคนที่กระทำความดี สะสมบุญกุศลนั้น และพากันมีศีลมีธรรม อย่างที่เราพากันปฏิบัติบวชชีกันนี้ เรียกว่าปฏิบัติศีลธรรมแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ถือว่า ขาพวกเราไม่ให้ตกไปสู่ในทางที่ต่ำ ทางที่ต่ำนั้นหมายถึงว่าเป็นบุคคลผู้ที่ไปทำความชั่วทั้งหลายแหล่ มีพวกโจรกรรมบ้าง พวกฆาตกรรมบ้าง พวกข่มขืนอนาจารบ้าง พวกที่ทำบาปสารพัด ลักเล็กขโมยน้อย อะไรก็มีเยอะแยะไปหมด ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกนั้นก็จะต้องไปแน่นอน อบายภูมิเป็นที่แน่นอน
เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่ได้พากันมาบำเพ็ญคุณงามความดีที่เราได้กระทำกันนี้ จึงเป็นเรื่องที่สวยงามที่สุด เรียกว่า อาทิกัลยาณัง งามในเบื้องต้นคือศีล มัชเฌกัลยาณัง งามในท่ามกลางคือสมาธิ ปะริโยสานะกัลยาณัง งามในที่สุดคือปัญญา
เราเป็นคนงาม การที่บุคคลมาแต่งเครื่องงามต่างๆ จะเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายหรือว่าจะเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์มีค่าอย่างไรก็ตาม การประดับเหล่านั้น เป็นการประดับเพียงภายนอก ไม่ใช่เป็นการประดับที่ถาวร ส่วนผู้ที่มีธรรมะเป็นเครื่องประดับ มีศีลเป็นเครื่องประดับ มีสมาธิเป็นเครื่องประดับ มีปัญญาเป็นเครื่องประดับ ถือว่าเป็นผู้ที่มีเครื่องประดับที่ถาวร ทั้งชาตินี้และชาติหน้า