Skip to content

อาการของจิตที่สงบ

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ บัดนี้ พากันตั้งจิตตั้งใจ การที่พวกเราท่านๆทั้งหลาย ทั้งภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกา ผู้มีการแสวงหาทางพ้นทุกข์ ใครๆก็อยากต้องการความสุขแต่เมื่อต้องการความสุขแล้ว ก็ต้องการเฉยๆ แต่ไม่มีความพากความเพียรแสวงหาในการเดินทางการประพฤติปฏิบัติ มันก็ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้ เหมือนบุคคลตกอยู่ในความเร่าร้อน ระงมทมทุกข์ แต่ไม่หาวิธีออกจากสิ่งที่ทำให้เกิดความรุ่มร้อนเหล่านั้น ไม่ตีตัวออกห่าง ความร้อนก็แผดเผาอยู่เท่าเดิม 

ฉะนั้นจิตใจของบุคคลที่มีกลัดกลุ้ม ความระทุกข์อยู่ในจิตใจ แต่ไม่ใฝ่ฝันหาวิธีจะแก้ไข จิตใจก็รุ่มร้อนอยู่ตลอด ก็เหมือนบุคคลที่มีความโกรธ ความเกลียดซึ่งกันและกัน ถ้าหากไม่ขยันหมั่นเพียรหาวิธีละ ความโกรธนั้นก็ชิงตามไปทุกภพทุกชาติไม่ขาดสาย เมื่อชาติใดภพใดก็จะมาโกรธอยู่อย่างเดิม ความโลภ โลภะทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าหากเราไม่พากันขยันหมั่นเพียรหาวิธีแก้ไข ความโลภ โลภะก็ติดอยู่ในจิตใจไปทุกภพทุกชาติดังเดิม ความลุ่มหลงก็เหมือนกัน หากเราลุ่มหลงอยู่ เราไม่พากันหาวิธีลดละปลดปล่อยวางออกไป จิตใจก็ย่อมลุ่มหลงอยู่อย่างเดิม 

เหตุฉะนั้นจึงเรียกว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เก็บข้อมูลต่างๆเอาไว้ในจิตใจของตนด้วยกันทุกคน พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนว่าเป็น อุปนิสฺสยปจฺจโย กับสัตว์ทั้งหลาย เป็นอุปนิสัยของสัตว์ทั้งหลาย ที่การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร วนเวียนอยู่เก็บข้อมูลทั้งหลายนั้นติดตามตนเองไป เรียกว่ากรรมนั้นติดตามให้ผลแก่บุคคลผู้กระทำเอาไว้ กรรมนั้นเป็นเผ่าพันธุ์อยู่ในกลุ่มไหนหมู่ไหน คนทั้งหลายอยู่ในหมู่ที่ไม่ดีก็ไม่ดีไปด้วยกัน อยู่ในหมู่ที่ดีก็ดีไปด้วยกัน และด้วยอำนาจของกรรม ถ้าหากพวกเรามาพินิจพิจารณาดูแล้ว คนทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ก็เป็นด้วยอำนาจของกรรม และด้วยอุปนิสัยที่สัตว์โลกทั้งหลายทำกรรมอันนั้นเอาไว้ เหตุฉะนั้นพวกเราจึงมีความตั้งใจที่จะพากันศึกษาเพื่อให้รู้ ถ้ารู้ว่ากรรมต่างๆทั้งหลายเหล่านั้น ที่ติดตามตัวของพวกเรามา หรือตามจิตของพวกเรามา จิตของพวกเรานั้นไม่มีตาย เก็บข้อมูลไปทุกภพทุกชาติ 

แต่รูปร่างกายนี้เกิดมาแล้วก็ตาย เกิดมาแล้วก็ตายทุกภพทุกชาติกันอยู่ การเวียนว่ายในวัฏสงสารนี้ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ ก็คือพวกเราท่านทั้งหลายนี้ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขความโลภและความโกรธความหลงให้หมดจากดวงใจของตน มันก็เวียนว่ายตายเกิด เวียนวนอยู่ในวัฏสงสาร เหมือนพวกเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ และอนาคตที่จะเป็นไป ถ้าหากเราแก้ไขไม่หมด ปัดเปลื้องออกไม่หมด ลดละออกไปไม่หมดแล้ว ก็ต้องเกิดอีกแน่นอน เราอย่าไปคิดว่าตายแล้วสูญ ไม่มีทาง เหตุฉะนั้นตายแล้วจึงเป็นเรื่องของความเกิด เรื่องความเกิดจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว นักปฏิบัติความเกิดนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ส่วนความตายนั้นเอากันแน่นอนที่สุด เราอย่าไปคิดว่าเราเกิดขึ้นมาแล้วไม่ตาย ต้องตายแน่นอน เหตุฉะนั้นความเป็นอยู่เป็นของที่ไม่เที่ยงแท้ ความตายเป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอนที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ 

ถ้าหากเรามานึกดูเช่นนี้แล้ว ความเกิดความตายของคนนั้น แล้วแต่อำนาจของกรรม บางบุคคลก็เกิดมาอายุนิดหน่อยเท่านั้น เล็กๆน้อยๆก็ไปกันเรื่อยๆอยู่ บางคนก็มาเป็นหนุ่มเป็นสาว บางคนก็ท่ามกลางคน บางคนก็มาเฒ่ามาแก่ บางคนก็อายุถึง ๙๐ ปี ๑๐๐ ปีก็มี แล้วแต่อำนาจของกรรมหมด เมื่อเรามาคิดอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องพากันตั้งใจที่จะศึกษาหาวิธีลดละความชั่วทั้งหลายคือความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มันติดอยู่ในจิตใจของพวกเรา จึงได้พากันตั้งใจเพื่อจะเจริญเมตตาภาวนา ฝึกฝนอบรมจิตใจ ให้จิตใจของเรานี่แหละสงบ 

ถ้าจิตใจไม่สงบ ไม่ค้นคว้าหาที่นี้ ยากแสนยากแสนลำบากที่จะมองเข้าไปดูนั้น กิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น มองเข้าไปดูยาก เห็นยากเหลือเกิน ก็กิเลสนั้นเค้าอยู่ในจิตใจของพวกเรา เราไม่ฝึกจิตใจให้จิตใจของเราสงบนิ่งเป็นสมาธิ เราก็ไม่เห็นตัวของกิเลส ว่าเป็นอย่างไร จึงได้พยายามจะฝึกฝนอบรมจิตใจของพวกเราให้สงบให้ได้ เราจึงจะได้พินิจพิจารณาแก้ไขได้ 

การฝึกฝนอบรมจิตใจจึงเป็นเรื่องใหญ่ พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้มากมายหลายที่ สรุปลงมาหาทั้งจิตใจหมด ถ้าบุคคลนั้นจะคิดแต่เรื่องวาจา หรือเรื่องกายเฉยๆ เหมือนบุคคลทั้งหลายบางคนนั้นเค้าบอกว่า หรือสอนเอาไว้ว่ากายวาจาปกตินั้นมันเป็นศีล หรือกายวาจาปกติเป็นศีลเพียงแค่นั้น แต่ไม่นึกถึงว่ากายวาจาใจนั้นปกติจึงจะเป็นคนที่ได้ศีลที่แน่นอน ก็รักษาศีลก็ดี อันนี้กลั่นออกมาจากจิตใจทั้งนั้นเลย เพราะเราจะมองเข้าไปเห็นชัดเจนเลยว่า คนจะมีศีลได้ก็ต้องจิตใจคนมีศีล ต้องมีจิตใจที่งดเว้นเท่านั้นเอง แต่ศีลทั้งหลายของญาติโยม ศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี ศีลสามเณร ๑๐ ก็ดี ศีลพระภิกษุสงฆ์ก็ดี ๒๒๗ ข้อนั้นก็ดี ก็คือมีตัวเจตนาตัวเดียวที่พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้ว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตตรัสว่าเจตนาเป็นตัวศีล ตัวเจตนานั้นมาจากไหน มาจากจิตใจเท่านั้นเอง ไม่ใช่มาจากวาจาหรือมาจากร่างกาย 

พวกเราทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติต้องพยายามที่จะสอดส่องมองเข้าไปลึกๆ แล้วจะเห็นได้ชัดเจน โอ้ มาจากที่โน่นเอง คนจะมีศีลได้ ถ้าใจไม่มีศีลแล้วมันก็จะโผล่ออกมาเรื่องปากเรื่องกาย โลกเค้าวุ่นวายกันอยู่ทั้งโลก ขาดจากหลักศีลธรรมจึงทำให้ความวุ่นวายเกิดขึ้นในทั่วโลก พวกเราท่านทั้งหลายเข้ามาฝึกฝนอบรมที่ใจของเรานี่แหละ เพื่อจะให้เข้าใจว่า เออ ศีลอยู่ที่ไหน สมาธิ ความสงบอยู่ที่ไหน ความสุขนั้นก็อยู่ที่ไหน เราก็จะมองเข้าไปหาที่จิตใจ จึงได้พากันฝึกฝนอบรมจิตใจ 

การฝึกฝนอบรมจิตใจจึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นงานภายใน งานละเอียด ถ้าหากพูดตามทางโลกของเราแล้ว เรียกว่างานหนัก งานหนัก งานละเอียด งานปราณีต ถ้าหากเราไปคิดว่ามันหนักมากเกินไป เราก็จะพากันฝึกหัดไม่ได้ เราควรที่จะระลึกถึงว่า การฝึกฝนอบรมจิตใจนี้ มันก็จะค่อยเป็นค่อยไป ฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ มันฝึกได้เหมือนกัน แต่คนมีความโกรธ ถ้าคนรู้จักการฝึกก็ยังจะละได้ ความทุกข์ใจก็เหมือนกัน คนฝึกที่จิตใจก็จะหาวิธีละทุกข์จากใจได้เหมือนกัน นั้นแหละก็ฝึกได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ของที่จะฝึกไม่ได้ 

ครูบาอาจารย์ก็ดี พระสาวกทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ฝึกฝนอบรมที่จิตใจ เหตุฉะนั้นจึงฝึกได้ พระองค์ฝึกได้ พระองค์ก็หลุดพ้นไป พระสาวกทั้งหลายก็ฝึกได้ ก็หลุดพ้นไปตามๆกัน มาถึงครูบาอาจารย์ในสมัยปัจจุบันนี่ก็เหมือนกัน องค์ไหนท่านฝึกอบรมจิตใจของท่านได้ ท่านก็ต้องหลุดพ้นไปเหมือนกัน ในปัจจุบันนี้กำลังบำเพ็ญอยู่ พระภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกาก็เหมือนกัน ก็สามารถจะเข้าใจในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ สามารถลดละความชั่วออกจากกาย วาจา ใจของตนเองได้ มันจะเป็นเรื่องที่พวกเราจะฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้มันสงบจนได้ 

เพราะเราจะไปดูตรงนี้ เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง มันอยู่ในที่ใจของเรา ไม่ใช่มันไปอยู่ที่ป่า ที่เขา ที่ถ้ำ ที่ใด มันไม่มาอยู่ที่ต่างๆที่อื่น บ้านใดเมืองใดประเทศไหน มันอยู่ที่ใจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเราจะมาดูอยู่ตรงนี้ การฝึกฝนอบรมจิตใจทำให้จิตใจสงบนั้น เมื่อพวกเราพากันนั่งทำสมาธิอยู่นี่แหละ นั่งอยู่ดีๆ วางกายให้ดีๆ หายใจให้สบาย ดีๆ ถ้าใช้สติคือความระลึกได้ สัมปะชัญญะคือความรู้ตัว จิตคือความคิด โอ้ ตรงนี้เองเรียกว่าจิต คือความคิด หากใครเค้ามีความคิดเหมือนกัน ความระลึกมันก็มี สติมันก็มี ความรู้ตัวมันก็มีเหมือนกันหมด แต่ว่าใครจะระลึกเร็ว รู้เร็วเท่านั้นเอง จะเท่าทันจิตของตนเองคิด นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ 

การฝึกจิตใจ พวกเราท่านทั้งหลาย การฝึกจิตใจนี้อาศัยซึ่งสติความระลึกว่าจิตคิด ลองดูซิ เราระลึกว่าจิตคิด ให้จิตของตนเองคิด สัมปะชัญญะคือความรู้ตัวว่าจิตของเราคิดอยู่ที่ไหนเดี๋ยวนี้ คิดอยู่กับตนกับตัวมั้ย หรือคิดอยู่ที่อื่น ดูเข้าไปตรงนี้ ถ้าหากว่าเรารู้จักว่า เออ จิตของเรานี่มันไม่คิด มันคิดไม่อยู่กับตัวเรา เราจะให้อยู่กับตัวกับข้อธรรมกัมมัฏฐาน กับลมหายใจเข้าออก แต่มันเกิดไปคิดอยู่ที่อื่น บัดนี้เราจะฝึกจิตใจของเราให้มันสงบเร็วนั้นก็คืออะไร เราอย่าไปคิดอะไรในระหว่างกำลังทำความเพียรอยู่นี้ อย่าไปคิดถึงกิจการงานอะไรทุกสิ่งทุกอย่างที่มันจะได้ทำไปข้างหน้า เรื่องอนาคตนี่อย่าไปคิด เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้ว เก็บมาคิด วางออกไป ปลงออกไปเสีย เรื่องอดีตผ่านมาแล้วก็ให้แล้วไป เรื่องอนาคตสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็อย่าไปคำนึงถึงมัน มันจะเป็นเรื่องอะไรก็ช่างมัน เราอย่าไปคำนึงถึงมัน สิ่งนั้นมันยังไม่มีไม่เกิดขึ้น เราก็ควรที่จะวาง เราวางอดีตอนาคตแล้ว 

บัดนี้เราจะมาดูว่า เราไปคิดไปติดกับอะไร การวางจากกิจการงานหมดทุกอย่างแล้ว แล้วเดี๋ยวนี้เรามานั่งอยู่ในพระวิหารแล้ว นั่งเจริญเมตตาภาวนาแล้ว ละออกจากเคหะสถานบ้านช่อง ปล่อยไว้นั่นแหละ อย่าไปคิดถึงมันบ้านช่องก็ดี ของใช้สอยทุกสิ่งทุกอย่างก็ปล่อยวางไปให้มันหมด ไปคิดกับอะไร การวุ่นวายกับบุคคลทั้งหลายก็เหมือนกัน ก็วางบุคคลทั้งหลายนั้นไว้ก่อน แม้ญาติโยมก็ดี สามีภรรยาอะไรก็อยู่ใครอยู่มันก่อน ระยะปฏิบัติ ลูกเต้าหลานเหลนอะไรก็ทิ้งไปหมดเสียก่อน อย่าเพิ่งคิดไปยุ่งกับเค้า เวลาเรากำลังนั่งทำสมาธิ เหตุฉะนั้นเราก็ควรที่จะรู้จักพักปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นออกให้หมดจากดวงใจของเราเสียก่อน อันนี้แล้วจึงจะนำจิตใจความคิดของตนมาไว้กับข้อธรรมกัมมัฏฐานคือลมหายใจเข้าออก เอามาไว้ทางนี้ 

จิตที่ความคิดน่ะนำมาคิดดูลมดู ลองดู อย่าให้ไปยุ่งกับอะไร เรียกว่าคิดอยู่ในปัจจุบันว่าจิตของเรานั้นอยู่กับลมหายใจเข้าออกในปัจจุบัน หายใจเข้า หายใจออก ทีนี้ดูอยู่ เอาความคิดมาคิดดูอยู่นั่น อย่าให้มันไปคิดถึงอะไร ทำให้เหมือนอยู่คนเดียว เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้หลายๆคนจะทำให้เหมือนอยู่คนเดียว อย่าให้ไปคิดถึงใครกำลังนั่งอยู่ใกล้ๆกัน อย่าไปคิดถึงใครทั้งนั้น ปล่อยวางหมดให้เหมือนเราอยู่คนเดียว ลองดูซิ 

อันนี้ถ้ามันรู้สึกว่าเจ็บแข้งเจ็บขา ก็อย่าไปยุ่งมันเรื่องแข้งเรื่องขา เรื่องตนเรื่องตัวอะไรต่างๆ ปล่อยให้มันสบายๆ หายใจสบายๆ นั่งกายให้ตรงๆให้อยู่ ที่ไหนมันนั่งสบายที่สุด มันนั่งแบบไหน เรานั่งสบายที่สุด ให้นั่งแบบนั้น ทั้งโยมผู้หญิงผู้ชายก็ดี ภิกษุสามเณรก็ดี นั่งแบบไหนที่มันสบาย อย่าไปบังคับร่างกายว่าให้นั่งขัดสมาธิเพชร ให้นั่งขัดสมาธิเรียบร้อย อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ต้องคิด เพราะสังขารร่างกายของคนเรานี่มันไม่เหมือนกัน บางคนมันก็ขัดข้องหัวเข่า บางคนก็ขัดข้องโคนขา บางคนก็ขาแข็ง บางคนก็ขาคด มันเอามาทำแบบเดียวกันได้ยังไง เราจะไปฝึกที่จิตใจของพวกเราโน้น ไม่ได้มาฝึกที่ขา ไม่ใช่มาทำสมาธิที่ขาที่แขน 

เราวางไว้ให้เป็นท่าสำรวมเฉยๆ วางมือขวาทับมือซ้าย ขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น มันก็แล้วแต่ร่างกายของคน บางคนจะนั่งตรงได้ยังไง บางคนมันหลังคดๆ บางคนมันก็หลังแอ่นๆ บางคนก็เอียงๆบ้าง ขาก็ไม่เท่ากัน เหตุฉะนั้นเราไม่ได้ควบคุมอยู่ที่ขา เรามาควบคุมอยู่ที่จิตใจ อยากให้จิตใจของเราสงบ ถ้าอย่างนั้นคนพิการต่างๆนั้นเราไปบังคับเขาได้ยังไง คนขาขาด แขนขาดบ้าง คนที่ขาสั้นขายาวบ้าง ขาลีบ ขาใหญ่บ้างอย่างนี้เค้าจะนั่งได้ยังไง 

เราจะมาฝึกที่จิตใจนี่ ก็จะให้จิตใจของเรานี่สงบอยู่กับลมหายใจเข้าออก ให้จิตของเรามันนิ่ง มันตั้งอยู่กับลมหายใจเข้าออก ประสานงานก็เลยให้จิตใจมันตั้งมันนิ่ง มันนิ่งอยู่กับข้อธรรมกรรมฐาน ไม่ให้มันล้นไปทางโน้นทางนี้ ให้มันอยู่กับตนกับตัว อยู่กับลมหายใจเข้าออก พิจารณาอยู่ เมื่อจิตใจของเรามันออกไป ไปคิดข้างนอกก็คอยดึงเข้ามา ถ้าจิตของเรากลับคืนมาดูลมหายใจเข้าออก ทำไปเรื่อยๆอย่างนี้แหละ 

เมื่อเราพยายามประคับประคองจิตใจของตนเองอยู่ มันเข้ามันออก มันเข้ามันออกอยู่อย่างนี้ เราก็จะสามารถเห็นว่า โอ้ จิตใจมันเป็นอย่างนี้เอง ตัวจิต ถ้ามันออกมันไม่สงบนี่ มันมีความทุกข์ ถ้าเกิดมันเข้ามาสงบ ดูลมหายใจเข้าออกสบายๆ พอมันนิ่งดูลมอยู่เท่านั้นเราก็จะเห็นมันวางสิ่งต่างๆที่รบกวนเข้าทางนอกมันออกไปหมด เราก็จะเห็นความสุขขึ้นมาบ้าง โอ้ จิตนี้ไม่คิดมาก ไม่ยุ่งเหยิงอะไรนี่มันมีความสุข จิตไม่วุ่นวาย เราก็จะเห็นว่าถ้ามันสงบนิดๆหน่อย ซักห้านาทีอยู่ หรือเลยห้านาทีไปบ้าง หรือได้จิตสงบๆนิดหน่อย มันจะเห็นน้อยๆ เห็นความสุขน้อยๆ 

ถ้าเราใช้สติสัมปะชัญญะ มีความระลึกเร็ว รู้ประคับประคองจิตใจของเรา งดได้ ให้มันอยู่กับลมหายใจเข้าออก ละเอียดสบายๆ หายใจสบาย อย่างนี้จิตมันก็จะอยู่นาน คือจิตของเรามันพักอยู่นานกับลมหายใจเข้าออก มันไม่ไปไหนแล้ว ถึงอุปจาระสมาธิ ๓๐ ๔๐ นาที มันจะเห็นชัดเจนขึ้นมา โอ้ จิตนี่มันไม่ยุ่งกับอะไรนี่ ไม่ไปกังวลกับอะไร ไม่ไปพัวพันกับอะไรนี่ มาอยู่กับลมหายใจเข้าออก ดูสบายๆ มันมีความสุข เราก็จะเห็น โอ้ ในจิตนี่มันมีความสุข จิตมันมานิ่งอยู่ มันมีความสุข เราก็จะเข้าใจดีเกิดขึ้น เรียกว่าจิตใจสงบเป็นอุปจาระสมาธิ 

แต่บางคนนั้นมาถึงที่นี่มันจะมีแสงสว่างเกิดขึ้น แสงสว่างเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีอะไร น้ำเงิน สีอะไรต่างๆ สีขาวปนกัน วิบวับๆๆเกิดขึ้น บางทีสว่างมาก บางทีสว่างน้อย นี่บางบุคคลจะมีอย่างนี้ จิตใจมันจะตื่นเต้น เอ้อ ไม่เคยเห็นแสงสว่างอย่างนี้ อันนี้บุคคลที่จะสามารถเห็นนิมิตต่างๆได้ มันมีแสงสว่าง แต่เราอย่าไปหลงกับแสงสว่างนั้น ถ้าแสงสว่างเกิดขึ้น อย่าไปดูแสงสว่าง ให้หลบมาดูที่จิต ว่าจิตของเรานี้อยู่อารมณ์อะไร จิตของเราอยู่ในอารมณ์อะไรแสงสว่างนี้จึงเกิดขึ้นมาได้ เอามาดูที่จิตนี้ มีสติสัมปะชัญญะมองดูจิต เอ้อ จิตอยู่ในอารมณ์อย่างนี้ ปล่อยวางอารมณ์ลงมาสงบอย่างนี้ อยู่สบายอย่างนี้ แสงสว่างมันเกิดขึ้น 

เมื่อเรารู้อย่างนั้น เราก็ไม่สนใจในแสงสว่าง อย่าเพิ่งไปยุ่งกับมันแสงสว่าง เรามาใช้สติสัมปะชัญญะอย่างเดิม ประคองจิตให้มันสงบนานๆหน่อย มันสงบไปถึงชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง เราก็จะเห็นว่าร่างกายก็เบา นั่งได้สบาย เค้าเรียกเบากาย ทุกขเวทนาทั้งหลายมันจะสงบระงับไปเอง การเจริญภาวนาเอาลมหายใจเข้าออกเรียกว่าอานาปานสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่สามารถคลี่คลายทุกขเวทนาจากร่างกาย มันเจ็บตามที่ต่างๆ เมื่อลมหายใจเข้าออกละเอียดจนเหมือนไม่มีลม มันจะสงบของมันเอง มันจะไม่เจ็บไม่ปวดที่ไหน มันก็เรียกว่ามันเบาร่างกาย เค้าเรียกเบากาย เมื่อเบากายแล้วก็เห็นความสุข สามารถที่จะนั่งนานแล้วบัดนี้ สามารถที่จะนั่งได้นาน 

ถ้าหากเรามามองดูลม คิดว่าไม่มีลมแล้ว ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออกก็ขอเตือนไว้อย่าไปกลัวตนเองตายมาถึงที่นี่ มันไม่ตายหรอก มันหายใจละเอียดเฉยๆ ไม่สามารถที่จะจับลมมันได้ ลมละเอียด จึงมาดูที่ใจของเรานี่ เอ้อ ใจของเรานี่อยู่ที่ไหน ความคิดว่ามันไม่มีลม ตรงนั้นจะเรียกว่าจิตใจของเรา เอามาวางไว้ตรงท้องน้อย หรือตรงหน้าอก ที่ใดที่หนึ่ง เมื่อเราจะเอามาวางนี้เราเหมือนไม่มีร่างกาย เราจะวางได้ยังไงเมื่อเรามาวาง ก็เราสมมุติว่า เออ อยู่ในระหว่างนี้แหละ เรานั่งอยู่ เดี๋ยวมันสติมันมาเห็นนี่หรอก มาเห็นร่างกายนี้ เออ มันนั่งอยู่อย่างนี้ แล้วก็มาวาง จิตของเราที่มันว่าสบายๆตัวนั้นแหละ เราประคองไว้ให้มันนิ่งสงบอยู่ มันนิ่งสงบเป็นสมาธิ 

เสียงอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อดังขึ้นก็ตาม มันจะได้ยินนิดเดียวเท่านั้น มันก็จะวางตลอด บัดนี้มันจะวางทั้งร้อน ทั้งหนาว ทั้งหิว ทั้งกระหาย ทั้งอะไร มันจะวางได้หมด ไม่มี ไม่ต้องการ ไม่ต้องการ มันอยากอยู่สงบ มันเห็นความสุข ความสุขอยู่ในจิตสงบ จิตสงบเป็นอัปปนาสมาธินี่มีความสุขมาก เหตุฉะนั้นจิตใจมันได้รับความสุข ตรงนี้มันจะมีปีติเกิดขึ้น คนมาเข้าพบใหม่ๆ โห ทำไมความสุขเราไม่เคยเห็นซักทีความสุขอย่างนี้ มันก็จะขนลุกขนพองบ้าง บางคนก็อาจจะเย็นเข้าไปในจิตใจ น้ำตาไหลตกปุปะๆเลยบางคน ญาติโยมอย่าไปกลัวนะ มันมีความสุขมาก มันก็น้ำตาร่วง 

บางคนก็เย็นเข้าไปในจิตในใจ บางคนก็เบาแต่เหมือนไม่มีร่างกาย แต่อยู่สบ๊าย สบาย มันไม่มีร่างกายเลยเบาสบาย บางคนก็ เอ้อ เหมือนกับตัวเองนี่ขึ้นไปบนฟ้าบนอากาศ มันจะเป็นไป มันเบามาก บางคนก็เหมือนตกลงไปอยู่ในเหวนี่ อันนั้นเหมือนกับยืนอยู่ในเหว มันมองดูกันอยู่ แต่แท้ที่จริงนั้นคือมันวางนิวรณธรรม เครื่องรบกวนทั้งหลายออกจากจิต จากจิตใจแล้ว มันก็เลยมีความสงบสุขเกิดขึ้น มีความสงบเกิดขึ้น พอเรามาดูจิตของเราที่มันเห็นอยู่ลึกๆในเหว เดี๋ยวกลับขึ้นมา มาอยู่ที่เบาๆสบาย ที่เราต้องตั้งไว้ที่หน้าอกหรือท้องน้อยจุดใดจุดหนึ่งไว้จุดเดียว แล้วประคองอยู่ที่ไหนมันสงบ เราก็ประคองไว้อย่างนั้นให้มันสงบนานๆ อยากเห็น ไอ้เห็นไว้ที่อยู่ในอารมณ์ที่มีความสงบอย่างนี้ มีความสุขอย่างนี้ ตรงที่มันไม่อยากพูดกับใครเลย ไม่อยากได้อะไรเลย ไม่อยากเกี่ยวข้องกับอะไรเลย ในระหว่างนั้น เค้าเห็นความสุข เห็นความสุขความสงบเกิดขึ้น 

นี่แหละจิตใจของบุคคลที่ควรฝึกง่ายๆก็สงบได้ง่ายๆ แต่เราต้องมีใจกล้าหาญในการฝึกอบรม ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวตาย ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหลง มีครูบาอาจารย์สอนอยู่ เราจะได้เข้าปรึกษาท่านว่าเราไปถึงไหน ว่าได้รับความสงบอย่างไร เราก็เข้าไปใกล้ครูบาอาจารย์ แล้วอธิบายให้ท่านฟัง ท่านก็จะแก้ไขให้ได้ ถ้าเราสงบอยู่ที่บ้านก็ดี ญาติโยมหรือพระเณรไปในป่า สงบแล้วต้องพยายามที่จะเข้าหาครูบาอาจารย์ผู้ท่านมีหลักคิด คือมีจิตสงบดี ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีพลัง มีจิตสงบดีแล้ว มีหลักจิตเข้ามา คือมีหลักจิตคือหลักสงบดีแล้ว ท่านจะรู้ รู้กันได้ทุกองค์ ท่านจะหาวิธีแก้ไขให้ เพราะท่านจะต้องประสบมาก่อน ท่านเดินมาก่อนปฏิบัติก่อน ท่านจะตอบข้อธรรมกรรมฐานให้เรา ให้เราปฏิบัติไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร เราไม่ต้องหวั่นไหวในการประพฤติปฏิบัติ 

เหตุฉะนั้นญาติโยมก็เหมือนกัน ฝึกๆอยู่ที่บ้าน เอาหนังสือไปอ่านก็ดีหรือฟังเทศน์แล้วไปปฏิบัติก็ดี แล้วมันเกิดประสบพบเห็นเรื่องอย่างนี้แล้วเราก็ต้องเข้าหาครูบาอาจารย์ เพื่อจะฝึกฝนอบรมต่อ เพื่อจะให้จิตใจของเราเจริญก้าวหน้าและรุ่งเรือง อันนี้เรียกการฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิได้ง่าย 

ส่วนบุคคลที่ฝึกยาก บุคคลที่ฝึกยากนี่ ฝึกยากนะบุคคล จิตใจฟุ้งซ่านรำคาญ ฝึกจนเหน็ดจนเหนื่อยมันก็คิดไปโน่นไปนี่อยู่ ตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญที่สุด มันก็หลีกเลี่ยงไปจากสติสัมปะชัญญะไม่ได้ ก็อาศัยสติสัมปะชัญญะนี่เองจะติดตามควบคุมดูแลจิตใจของเรา แต่ค่อยควบคุมเอาไว้กับข้อธรรมกรรมฐาน อันนี้คนจิตใจฟุ้งซ่านชนิดนี้ก็ฝึกยากกว่าคนที่ฝึกง่ายด้วย เพราะมันจิตใจมันไม่ได้ฝึก มันจะคิดมาก บางบุคคลก็คิดไปเรื่องนานาต่างๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว ก็หาแต่เรื่องคิด ทำให้จิตใจของตนเองมีความทุกข์ตลอดเลยทีเดียว แต่ยังไม่รู้ว่าจิตมันเป็นทุกข์ ที่มันคิดอยู่ มันไม่สงบ มันทุกข์แน่นอนเลยทีเดียว 

เหตุฉะนั้นเราจึงจะฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สงบ มันจึงจะมีความสุข ถ้าเราเปรียบเทียบจิตใจไม่สงบ ก็เหมือนมาเปรียบเทียบกับร่างกายของคนเรา ร่างกายของคนเราตอนเช้าทำงานหนึ่ง สายขึ้นมาทำงานหนึ่ง เที่ยงทำงานหนึ่ง บ่ายทำงานหนึ่ง กลางคืนทำงานอย่างหนึ่ง ร่างกายก็จะอ่อนเพลีย จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ เพราะทำงานมากเกินไป เกินกำลัง ฉันใดก็ดี จิตใจของพวกเราก็เหมือนกัน ถ้ามันคิดเรื่องนี้ แล้วก็คิดเรื่องโน้น คิดเรื่องโน่น คิดไปเรื่องใหม่เรื่อยๆ คิดอยู่ไม่หยุดวนไปวนมานี่ จิตก็ทุกข์สิ มันทำงานหนัก มันคิดหนัก มืดมนอนธการไปหมด ปวดหัวเวียนเกล้าไป ไม่สบายเกิดขึ้นเลยทีเดียว จิตมันมีความทุกข์ มันคิดมาก 

บัดนี้การฝึกฝนอบรมจิตใจนี่เพื่อจะไม่ให้ใจของเราคิดมากเท่านั้นเอง ให้คิดแต่ทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหลักพระพุทธศาสนา ไปในทางที่ชอบนั่นเอง เราจะฝึกไม่ให้จิตของเราคิดมาก เราคิดมากมันทุกข์มาก เราจะเข้าใจ เราให้จิตของเราได้พักผ่อน คือไม่ต้องคิดมาก ไม่ทำงานมากนั่นเอง ถ้าเปรียบเทียบว่าร่างกายของคนเรานี้ถ้าทำงานสองงานเท่านั้นเองแหละ ทำแล้วเรามาอาบน้ำ มากินข้าวพักผ่อน ร่างกายจะอยู่สบาย ไม่ค่อยเจ็บค่อยป่วย ฉันใดก็ดี จิตใจก็เหมือนกัน ถ้าหากเค้าทำงานน้อย ทำงานที่ทำให้ตนเองมีความสุขได้ งานในทางที่ชอบ ก็คิดซักเรื่องหนึ่งสองเรื่องเท่านั้น ไปคิดสบายๆ มันก็ไม่เป็นทุกข์จิตใจ 

แต่มันต้องเลือกคิด คิดในสิ่งที่ไม่ให้เกิดทุกข์ ที่มันจะมีความฉลาดอย่างนี้เราคุมไว้ให้ก่อน มันยังไม่ฉลาด จิตใจน่ะมันคิดไปหลายอย่าง เพื่อจะคุมให้จิตใจได้รับความสงบ ต้องควบคุมดูแลจิตใจ เราปล่อยปละละเลยมาตั้งแต่เล็กมาจนใหญ่ จนเฒ่าจนแก่จึงมาฝึกฝนอบรม จิตน่ะมันคิดรู้ร้อยแปดพันประการแล้ว รู้ทั้งทุกข์ทั้งสุขมันคิดมานาน บัดนี้เราจะมาค่อยแก้ไข มาฝึกหัดให้จิตใจของเราได้พักผ่อนให้ได้สงบ ถึงว่ามาเจริญภาวนาทำสมาธิ ให้จิตใจของเราได้สงบ 

นี่แหละเราใช้สติสัมปะชัญญะเอง คำว่าสติก็คือความระลึก ความสัมปะชัญญะคือความรู้ตัว จิตคือความคิด จับให้ได้ ให้รู้หลัก มันจริงๆให้เป็นอย่างนี้ เมื่อรู้เป็นอย่างนี้ เราก็สามารถจะควบคุมดูแลจิตใจของตนเองให้สงบได้ มันจะคิดไปอะไรในโลกนี้ คิดไปอยู่แค่เดิมแล้วก็กลับขึ้นมาอยู่อย่างเดิม อย่างนี้จิตมันไม่ต้องการความทุกข์ มันต้องการความสุข มันต้องการความสุข มันไปคิดเรื่องทุกข์ มันไม่อยากไปคิดแหละ มันหลง มันหลงไปคิด มันยังไม่ฉลาดนั่นเอง 

แล้วนี้เราจะหัดจิตใจของเราให้สงบ จะให้จิตใจของเรามีความฉลาด ให้มีสติปัญญารักษาตน เหตุฉะนั้นการฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนเรา เพราะรูปร่างกายของพวกเรานี้อาศัยเรื่องจิตใจเป็นตัวอยู่ด้วยกัน ควบคุมอยู่ด้วยกัน แต่เขามีอำนาจ เหตุฉะนั้นองค์สมเด็จพระศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงตรัสเป็นภาษิตว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ใจเป็นประธาน ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยจิตใจ 

นี่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นประธาน จึงเป็นใหญ่ จึงเป็นหัวหน้า จึงเป็นประธานในรูปร่างกายของพวกเรา เป็นใหญ่ในการควบคุมรูปร่างกายเป็นไปตามอำนาจของเค้า ทั้งๆที่เค้าไม่มีตัวเป็นนามธรรม นามธรรมจับต้องไม่ได้ แล้วก็มาอยู่อาศัยรูปร่างกายของพวกเรา แต่มีอำนาจ ไอ้ตรงนี้แหละ เหตุฉะนั้นมันรวบลงมาอยู่ในจิตใจนี่เอง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ลงมาอยู่ที่นี่ แล้วมันมาอยู่ที่นี่เราก็ต้องมาแก้ไขในที่นี่ มาฝึกที่นี่ มาฝึกที่ใจของเรานี่ ก็อยากให้มันสงบให้ได้ เราถึงจะค้นคว้าหารากเหง้าเค้ามูลที่จิตใจของเราหลงใหลมาหลายภพหลายชาติ ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่สิ้นสุดลงได้ เราก็ดึงมาค้นคว้าลงมาตรงนี้เอง จึงจะเห็น เห็นของจริงและเห็นธรรมะ เห็นธรรมะอยู่ในใจของเรานี่เอง 

ธรรมะทั้งดีทั้งไม่ดีนี่แหละ เราเรียกว่าธรรมะทั้งนั้น ทั้งดีทั้งไม่ดี ทั้งหยาบ ทั้งละเอียดก็ดี เป็นธรรมะ เหตุฉะนั้นจึงเรียกว่าสรุปลงมาเป็นกรรม อกุศลกรรมก็คือ กรรมมันเป็นบาปก็เป็นธรรมะ กุศลธรรม กรรมเป็นบุญก็เป็นธรรมะ ก็จะศึกษาให้รู้ ให้รู้ทั้งดีทั้งไม่ดีนั่นเองเดี๋ยวนี้ โลกสมมุติว่าอันนี้ดี เราก็จะเรียนให้เข้าใจว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ดี อันนี้โลกเค้าสมมุติว่าอันนี้ไม่ดี เราก็จะศึกษาให้รู้ว่าอันนี้มันไม่ดี มันคิดว่ามันไม่ดี แล้วสิ่งไม่ดีนั้นมันเป็นอย่างไรจึงว่ามันไม่ดี คือมันทุกข์ และทำด้วยกาย วาจา ใจลงไปมันทุกข์ มันเป็นอย่างนี้ 

ตัวกรรมนั้นก็คือมาจากไหนจึงจะสร้างตัวกรรมนั้นมา ก็มาจากจิตใจที่มีเจตนาจะสร้างความดีหรือความชั่ว เจตนามันไปทางไม่ดีมันก็เลยไปในทางที่เป็นบาป ทุกข์ก็เลยเกิดขึ้นสิ มันก็เป็นกันอยู่ในโลก แหมก็เป็นกัน เจตนาเค้าอยู่ด้วยกัน ไม่เป็นเหรอ ยังรบราฆ่าฟันเบียดเบียนกัน ทุบตีกันวุ่นวายกันอยู่ในโลก มาจากจิตใจเค้าทั้งนั้นแหละ เค้าเรียกตัวเจตนามันไม่ดี เป็นตัวกรรมตัวนี้ ถ้าคนจะอยู่ด้วยกันเป็นหมู่เป็นกลุ่มสามัคคีรักใคร่ปรองดอง ไม่ถกเถียงไม่ทะเลาะวิวาท ไม่รบราฆ่าฟันกัน อยู่ด้วยกันสนิทสนมกลมเกลียวเป็นปึกแผ่นแน่นหนาอย่างนี้ ไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวายเกิดขึ้น ก็มาจากตัวเจตนานี่อยู่ในความสงบคือความสามัคคีหรือความดี เป็นคนที่มีความฉลาดออกมาจากจิตใจ คิดอ่านมาจากจิตใจนั่นเอง 

นี่เราจะเห็นชัดเจนอย่างนี้ โอ้ มันเป็นอย่างนี้เอง แล้วก็มองโลกได้ชัดเจนเลย โลกวุ่นวาย โอ้ มันจิตมันหลง จิตมันโง่ ไม่ฉลาด เอ้ เราก็จะเข้าใจ พวกที่เค้าอยู่มีความสงบสุข เอ้อ พวกนี้มันมีความฉลาด รู้จักทางมันสุข มันต้องการความสุข เค้าเลยมีความฉลาด ตอนนี้เราจะมาฝึกฝนอบรมจิตใจของพวกเราให้จิตใจที่มีความฉลาดนั่นเอง เราจะอยู่กับบ้านกับช่อง ญาติโยมกับครอบครัวก็ดี กับหมู่กับฝูง ในหน่วยงานต่างๆ มันจะไม่ถกเถียงไม่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่ทุบตีฆ่าฟันรันแทงกัน คือด้วยความสงบ 

ภิกษุสามเณรอยู่ในวัดในวาก็ดี อยู่ในประเทศ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ร่วมกันแล้วนี่ มีความสามัคคีปรองดองกัน อยากอยู่ความสงบหมด มันจะมีความรุงรังยุ่งเหยิงอะไรเกิดขึ้น มันไม่มีแหละ คณะสงฆ์ก็ไม่มี นี้มันตรงนี้แหละมันออกมาจากจิตใจ ว่าจะให้มันดี มันต้องมาฝึกที่ใจว่าอะไรมันถูกมันผิด มันเดินทางอย่างไร ปฏิบัติอย่างไรที่มันถูกมันผิดจริง ศึกษาเรื่องสัจธรรมมันเป็นของจริงอย่างนี้ มันจึงจะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นมาได้ นี่อยู่ด้วยกันเป็นหมู่ก็ดี เพราะอะไร ใครก็อยากสงบเหมือนกัน ใครก็อยากสุขเหมือนกัน มันก็ต้องรู้จักสิ รู้จักทางถูกต้องที่จะเดินทางเข้าไปถูกทาง 

แต่ที่ว่าการเดินทาง การปฏิบัติฝึกหัดอบรมจิตใจให้สงบ แล้วจะรู้ จะรู้เรื่องเอง จิตใจเค้าจะมีสติปัญญาเกิดขึ้นของเค้าเอง โอ้ ทั้งๆตนเองอยากมีความสงบสุข แล้วเมื่อมันสงบ ทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิแล้ว เค้าก็เห็นแล้วความสุข อันนี้เค้าจะคิดต่อ คิดต่ออยากให้มันสงบกว่านี้ มันดีกว่านี้ มันจะคิดยังไง มันจะคิดอ่านขึ้นมา คิดอ่านขึ้นมาในตัวของเค้า เค้าจะสร้างพัฒนาขึ้นมา เค้าเรียกว่าสร้างสติปัญญาให้เกิดขึ้นมาในตัวเค้า เพราะเค้าอยากสงบ ตรงนี้แหละมันจะเกิดขึ้นจากการฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดไม่ว่าภิกษุสามเณรและญาติโยมศรัทธา

ท่านสาธุชนทั้งหลาย ถ้าอยากมีความสงบสุข เราจึงพากันตั้งใจฝึกฝนอบรมจิตใจ และจะให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิให้ได้ แต่อย่าไปวุ่นวาย ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยปฏิบัติทุกวันๆอยู่ อยู่บ้านอยู่ช่องก็ดี ผู้ที่อยู่วัดภิกษุสามเณรก็มีความตั้งจิตตั้งใจอยู่ตลอด ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ก็พิจารณาตรวจตราดูจิตใจไปเรื่อยๆ แม้จะปัดกวาดวัดก็ดี ภิกษุ สามเณร ญาติโยมปัดกวาดบ้านก็ดี ทำการงาน ดูจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จะให้รู้จักว่าตนเองต้องการความสุข อะไรมันจะถูกต้องจริงๆปฏิบัติในชีวิตนี่ 

พิจารณาในจิต ความคิดความอ่านของจิตตนเองด้วยเป็นผู้มีสติปัญญา พินิจพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรอง พินิจพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ชัดเจนทีเดียว โอ้ ตั้งแต่ก่อนเราไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตใจ แหม ทั้งโกรธ ทั้งเกลียด ทั้งหงุดหงิด เพราะมันหลงไปหลายอย่างเกินไป ลุ่มหลง เมื่อจิตใจสงบ แล้วมีความฉลาดเกิดขึ้น โอ้ สิ่งนั้นเคยหลงไปโกรธ​ เคยเกลียด เคยหงุดหงิดอะไรต่างๆ มันลดละลงไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ว่ามันไม่ถูก มันไม่ดี มันก็จะละของมันเองในใจ มันก็ละไปเรื่อยๆ ไปทำสิ่งนี้ โอ้ มันไม่ดี พูดสิ่งนี้มันถกมันเถียง มันไม่ดี คิดอย่างนี้มันไม่ดีน้อ มันจะรู้จักเอง อย่างนั้นแหละจึงว่าฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบแล้วจะมีความฉลาดเกิดขึ้น แก้ปัญหาของตนเอง เราไม่ได้คอยให้ผู้อื่นแก้ปัญหา เมื่อปัญหาเกิดขึ้น เราก็จะแก้ปัญหาเรา เรียกว่าเราเป็นผู้เสียสละละความชั่ว สิ่งไม่ดีออกจากใจของตนเอง อยากให้ใจของเราสะอาด อยากให้ใจของเราดี 

เหตุฉะนั้นการบรรยายธรรมเรื่องการฝึกฝนอบรมจิตใจเพื่อจะให้จิตใจสงบเป็นสมาธิ เพื่อจะให้จิตใจของเรามีสติปัญญารักษาตน เพื่อจะให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย มาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ก็ขออำนวยพรให้ภิกษุสามเณรหรืออุบาสก อุบาสิกา จงเป็นผู้ได้รับความสงบ และมีสติปัญญาปลดเปลื้องแก้ไขความทุกข์ออกจากตนให้พ้นไป ได้รับซึ่งความสุขตามความมุ่งมาดปรารถนา แต่นี้ต่อไปก็ขอให้ทำความสงบจนถึงเวลา