หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
ณ วันนี้อาตมาภาพจะได้แสดงธรรมีกถาอันเป็นธรรมคำสั่งสอนพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาพุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกา ศรัทธาทั้งหลาย และบรรพชิตได้มานั่งอยู่ ณ สถานที่นี้
การแสดงธรรมในวันนี้นั้นถือว่าเป็นการอันหนึ่งที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้แสดงปฐมเทศนาเนื่องในวันนี้เป็นวันอาสาฬหปูรณมี ดิถี ๑๕ ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงที่พระศาสดาทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ สามเณรเข้าจำพรรษาตามกาลตามเวลาที่พุทธานุญาต เหตุฉะนั้นในเบื้องต้นพวกเราเหล่าท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์หรือบรรพชิตได้ทำการบูชา คือได้สักการะบูชา ได้เวียนเทียนประทักษิณ ๓ รอบ เพื่อจะได้ระลึกถึงพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อเสร็จแล้วก็มาไหว้พระและทำวัดสวดมนต์เสร็จแล้ว มาบัดนี้ก็อยากฟังพระธรรมเทศนาอบรมสมาธิภาวนา ทำจิตใจของตนให้สงบระงับเป็นสมาธิ
อันนี้การแสดงธรรมวันนี้เนื่องถึงการพระพุทธเจ้าของเราแสดงปฐมเทศนานั้น พวกเราเหล่าท่านทั้งหลายให้พากันตั้งจิตตั้งใจว่าเราจะฟังธรรมตามกาลตามสมัย เช่นวันนี้เป็นวันคล้ายพระพุทธเจ้าของเราแสดงในที่ต้นเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆได้แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือการเนื้อหาของธรรมะในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น พระบรมศาสดาได้ชี้จำนงจงเฉพาะแสดงซึ่งอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นหัวใจของการธรรมจักรนี้ เหตุฉะนั้นได้แสดงให้ปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ ที่เป็นฤาษีอยู่ ให้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้ได้ปัญญารู้ซึ่งธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้รู้เห็นแจ้งชัดเจนมาแล้ว นั้นพระพุทธเจ้าของเราเลยแสดงธรรมในวันนี้ คือว่าเป็นวันอาสาฬหปูรณมี แสดงถึงความทุกข์และแสดงถึงเหตุให้ทุกข์เกิด และแสดงวิธีดับทุกข์นั้น และแสดงปฏิปทาการดำเนินไปสู่การดับทุกข์คือมรรค
เหตุฉะนั้นการแสดงธรรมในวันนี้นั้น ก็กล่าวถึงว่าการที่เราจะรู้ทุกข์นั้นในแสดงในธรรมจักรในองค์มรรคนี้ คือสัมมาทิฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ แสดงถึงปัญญาที่จะรู้จริงรู้ชอบในสมุทัย นิโรธ มรรคนี้ คือรู้ชอบอย่างไร มารู้ซึ้งอะไรว่าเป็นทุกข์ ก็มารู้ซึ้งร่างกายของเราเหล่าท่านทั้งหลาย ที่นั่งอยู่นี้นั้นเกิดขึ้นมาแล้วมันเป็นทุกข์ ตั้งแต่ชาติเกิดตั้งอยู่ในครรภ์ก็ดี เกิดอยู่ในครรภ์นอนอยู่ในครรภ์ก็มีความทุกข์อยู่ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว นี้ออกจากครรภ์มาก็มาถูกร้อนถูกหนาว ถูกลมถูกแดดอย่างนี้ มามีโรคภัยไข้เจ็บ เบียดเบียนย่ำยีวีทา จนมาถึงหนุ่มถึงสาวก็ดี มาถึงเฒ่าถึงแก่ก็ดี ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บ ผ่านมาไม่รู้จักกี่ร้อยห้อยครั้งแล้ว มันแสดงถึงความทุกข์
เหตุฉะนั้นปัญญาที่จะรู้ชอบ รู้จักว่าร่างกายนี้แหละเป็นทุกข์ มีตาก็ย่อมมีโรคตา มีหูก็ย่อมมีโรคหู มีจมูกก็ย่อมมีโรคจมูก มีหัวใจก็ย่อมมีโรคหัวใจอ่อน หัวใจวาย หัวใจโตอย่างนี้ มีไตก็ย่อมมีโรคไต มีโรคนิ่วในไตอย่างนั้นอย่างนี้ โรคตับก็ย่อมมีโรคตับ มีโรคตับแข็ง ตับบวม ตับโตอย่างนี้ มีปอดก็ย่อมมีโรคปอด เป็นวัณโรค ปอดแข็ง ปอดบวม มีลำไส้ก็ย่อมเป็นโรคลำไส้ มีกระเพาะอาหารก็เป็นโรคกระเพาะอาหาร มีอะไรอยู่ในร่างกายก็ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ละสิ่งละอย่าง แต่จะมีมากมีน้อย บางบุคคลก็มีโรคมาก บางบุคคลก็มีโรคน้อยเป็นธรรมดาของร่างกาย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมแสดงซึ่งความทุกข์อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน
การที่ปัญญาจะรู้ชอบอย่างนี้ จะเห็นชอบอย่างนี้นั้น มันก็ยากก็ลำบาก พวกเราเหล่าท่านทั้งหลายส่วนมากมันไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้ว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์เวลามีโรคภัยไข้เจ็บ จึงบ่นว่าทุกข์ๆ ส่วนเวลามีร่างกาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นแล้ว ก็ว่ามันมีความสุขความสบาย ก็มาหลงอยู่เป็นธรรมดา มันจึงไม่รู้ทุกข์ เหตุฉะนั้นปัญญาจะรู้ชอบย่อมรู้จักทุกข์นี่เกิดขึ้นในสรรพางค์ร่างกายของบุคคล ตั้งแต่ชาติมาเลย เกิดมาแล้วย่อมมีทุกข์ มีความชราถึงความแก่ ความแก่ของบุคคลนี้จะลุกก็โอย จะนั่งลงก็โอย เดินไปที่ไหนก็ลำบาก ตั้งแต่หนุ่มแต่แน่น ก็เดินสามศอกออกสามวา วิ่งไปที่ไหนก็สะดวกสบาย ถือของหนักๆก็ได้ ทำกิจการงานก็แข็งแรง ส่วนมาถึงเฒ่าถึงแก่แล้วอันนี้แหละ ใช้ไม้เท้าไปก็มี ถือของอะไรก็ว่าหนัก เดินไปแต่เปล่าก็ทุกข์ก็ลำบาก นั่งลงก็โอย ยืนขึ้นก็โอย นอนลงก็โอยอย่างนี้ แสดงตั้งแต่ความทุกข์ บางทีก็มีความร้อน บางทีก็มีความหนาว บางทีก็มีความหิวความกระหาย แสดงตั้งแต่ความทุกข์อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน เหตุฉะนั้นเมื่อปัญญาเห็นชอบจะรู้ทุกข์อย่างนี้
ถ้าเมื่อไหร่ปัญญาไม่เห็นชอบ ไม่เห็นจริง ย่อมไม่รู้ทุกข์ เหตุฉะนั้นบุคคลไม่รู้ทุกข์ย่อมไม่อยากหนีจากทุกข์ แล้วเมื่อคนมารู้ว่าร่างกายนี้แหละเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็จะเข้าใจถึงทุกข์นี้อย่างแน่นอน เมื่อบุคคลเห็นความทุกข์ว่ามีความเดือดร้อนอยู่เหมือนไฟไหม้ตนเองอยู่ทั้งวันทั้งคืนมีความทุกข์ ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ จึงอยากหาวิธีดับทุกข์ เหตุฉะนั้นแหละพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแสดงชี้แจงให้เรารู้จักชาติเกิดก็เป็นทุกข์ ชราก็เป็นทุกข์ มรณะคือความตายก็เป็นทุกข์ โสกะปริเทวะคือความโศกเศร้าโศกาอาดูร หม่นหมองร้องห่มร้องไห้ น้ำตาเป็นฟองนองเนตรอันนี้ การประสบในสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจก็ย่อมเป็นทุกข์ เหตุฉะนั้นของเหล่านี้จึงจึดว่ามันเป็นทุกข์เป็นธรรมดาเมื่อเราเกิดมา
ให้มีสติ ตั้งสติปัญญารู้ชอบให้เรียนรู้ดูให้เข้าใจซึ่งทุกข์นี้เสีย เมื่อไหร่ปัญญาของเรารู้ซึ่งทุกข์ เราอยากหนีทุกข์เราจะทำอย่างไร ก็คนควรซึ้งร่างกายนี้ว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ บ่อเกิดแห่งความทุกข์นี้เกิดมาจากที่ไหน ร่างกายเกิดมาอย่างไร เกิดมาจากเหตุอะไรแล้ว เราก็ค้นคว้าเข้าไปหากระแสซึ่งตัณหา ตามกระแสของบิดามารดา ว่าบิดามารดาของเราก่อให้เกิด ให้เราเกิดขึ้นมาได้ สร้างให้เราเกิดขึ้นมาได้ เมื่อเรามาเกิดขึ้นมาเรามาอาศัยซึ่งอะไร เราจึงเกิดขึ้นมา ค้นคว้าเข้าไปตามกระแสของตัณหา เรียกว่าสมุทัยที่เป็นบ่อเกิดให้กองทุกข์ ที่ทำให้ทุกข์เกิดนี้คือสมุทัยคือตัณหา คือความอยาก
บัดนี้เราอยาก เรายินดีอยู่อย่างไร เราสร้างอะไร เราหลงอะไร อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมนำให้สัตว์เกิดเวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่รู้จักจบจักสิ้น เราก็มาพินิจพิจารณาอย่างนี้ ด้วยสติปัญญาของเรา เราจึงจะรู้ รู้ว่าตัณหานี้แหละเป็นบ่อเกิดแห่งกองทุกข์ ทำให้ทุกข์เกิด เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดก็เพราะตัณหาอย่างนี้ เหตุฉะนั้นอวิชชาคือเราหลงอยู่ เราว่าคือเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดาก็ดี มีความสุขความสบาย โลกนี้วิจิตรพิสดารอย่างนั้นอย่างนี้ น่าดู น่าแช่มชื่นรื่นรมย์อยู่สะดวกสบาย อันนี้แหละนี่เรามาพิจารณาอยู่อย่างนี้ เรารู้จักว่า โอ๋ ความที่เราหลงอยู่อย่างนี้แหละ เรามาเกิดนี่อย่างหนึ่ง เราอยาก เรายึดมั่น จึงว่าอวิชชาตัณหาเราอยากมาเกิดอีก มาเกิดเป็นมนุษย์นี่แหละสะดวกสบาย เพลิดเพลินรื่นเริง โลกที่วิจิตรพิสดาร สนุกสนานจริงๆ เราก็อยากมาเกิด เรายึดมั่นถือมั่นเอาว่า มาเกิดเป็นมนุษย์นี่แหละดี สุขสบาย
เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ย่อมสร้างกรรม บางบุคคลสร้างกรรม สร้างกรรมดีก็ย่อมมาเกิดเป็นคนบริสุทธิ์บริบูรณ์ บางบุคคลสร้างกรรมไม่ดี เมื่อมาเกิดมาเป็นมนุษย์ก็แข้งขาด ขาขาด หูหนวก ตาบอด เป็นบ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์อย่างนี้ บางบุคคลนั้นสร้างกรรมที่เป็นบาปหยาบช้ามาก ก็ไปตกนรกอเวจี หรือมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เหล่านี้เมื่อมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ตาม ก็ย่อมมีความทุกข์เหมือนกัน
อันนี้แหละ เมื่อเราสร้างกรรมแต่ละกรรมต่างๆนี้ อาศัยซึ่งว่าจิตของเราก็ยึดมั่นถือมั่นในกรรมนั้น เราอยากสร้างกรรมให้มาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดาก็ดี เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ดี บางคนทำมากบาปมากอย่างนี้ ไปเกิดนรกอเวจีอย่างนี้ก็ดี เหตุฉะนั้นท่านว่าเกิดมาแล้วก็ย่อมมีความทุกข์เป็นธรรมดา อันนี้แหละเรามายึดมั่นถือมั่น เรามาหลงอยู่ เมื่อเราหลงแล้วย่อมมีตัณหา มีตัณหาความอยากอยู่แล้ว ย่อมมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นแล้วก็สร้างกรรมดังที่กล่าวมานี้แหละ ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วนี้ย่อมตกแต่งให้เราเกิด เวียนว่ายตายเกิดวนเวียนอยู่ตลอด อันนี้แหละ กระแสของตัณหานี้แหละคือความยินดีความพอใจ ว่าความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้แหละ ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ไม่รู้จักจบจักสิ้นเป็นธรรมดา
นี่แหละเมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุเกิดอย่างนี้ เมื่อเรามาตรึกตรอง มาพินิจพิจารณาเรียนให้รู้ดูให้เข้าใจว่า การที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่รู้จักจบจักสิ้นนี้ เรามาเกิด มาทุกข์อยู่เดี๋ยวนี้ก็อาศัยเพราะเหตุนี้คือสมุทัย คือตัณหานี้แหละ ทำให้ทุกข์เกิด เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดอยู่ เหตุฉะนั้นเมื่อปัญญามารู้ซึ่งทุกข์แล้วก็มารู้ซึ่งสมุทัยทำให้เกิดทุกข์ เราจะเบื่อหน่ายมั้ย หรือเราจะพอใจที่จะมาเกิดอีก หลายๆภพหลายๆชาติต่อไปอย่างนี้ เรามาพินิจพิจารณาอย่างนี้ให้เข้าใจ แล้วเมื่อไหร่เรามีความปรารถนาอยู่ เราอยากมาเกิดกันอยู่ ถือว่าบุคคลนั้นยังไม่รู้ทุกข์ ยังไม่เข้าใจในร่างกายนี้เป็นทุกข์เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ แม้เราจะมาเกิดในชาติใดภพใดก็ดี มาเกิดร้อยชาติพันชาติก็ดี หมื่นชาติแสนชาติล้านชาติก็ดี ก็ย่อมมาเอาแข้งเอาขา เอาหูเอาตา เอาร่างกายของเรานี้เกิดมาอีก ก็ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บ เบียดเบียนย่ำยำวีทาอยู่อีกเป็นธรรมดา แล้วก็จะบ่นว่าทุกข์ๆอยู่อย่างนี้ นี้แหละมันเป็นธรรมดาที่เรายังไม่รู้
เหตุฉะนั้นพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมาล่วงรู้ รู้ต้นเหตุ ต้นเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิด ทำให้ร่างกายเกิด หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่ไม่รู้จักจบจักสิ้นอย่างนี้แหละ เรียกว่าปัญญาเห็นชอบ ปัญญารู้ชอบ รู้วิธี รู้วิธีว่าร่างกายเกิดมาเพราะเหตุอย่างนี้ เราก็จะดับคือความไม่ยินดี ความไม่ยินดีว่าร่างกายนี้มีความทุกข์ ย่อมมีความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด ไม่อยากมาเกิดอีก ถ้าบุคคลใดรู้ทุกข์จริงๆ บุคคลนั้นย่อมไม่อยากมาเกิดอีก เพราะมาเกิดอีกมันก็จะทุกข์อีก เหตุฉะนั้นหละ เรามาพินิจพิจารณาไปตามที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้แสดงให้ปัญจวัคคีย์ฟัง
ปัญจวัคคีย์ฟังก็มาพินิจพิจารณา พระอัญญาโกณฑัญญะมาตรึกมาตรอง โอ๋ มันเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา อันนี้แหละ มาพินิจพิจารณาของอันใดเกิดขึ้น ของนั้นก็ย่อมดับ มาพิจารณาอย่างนี้ ก็ย่อมได้รับกระแสธรรม คือเป็นพระโสดา อันนี้เรียกว่าพระอัญญาโกณฑัญญะได้รับก่อน ได้รับกระแสธรรมก่อนกว่าทุกองค์ที่อยู่ด้วย ๕ องค์นั้น เหตุฉะนั้นพวกเราเหล่าท่านทั้งหลายนี้คงเหมือนกัน มาพินิจพิจารณาตรอง ตรึกตรอง ไตร่ตรองให้มีปัญญาเกิดขึ้น ว่าเรานั่งอยู่นี้แหละ หรือเราเดินไปเดินมาที่ไหน หรือวันต่อไป หรือเราตั้งแต่เกิดมา มันทุกข์มั้ย หรือมันมีความสุขสบายอยู่ตลอด มันไม่มีความทุกข์เลยร่างกายอันนี้ เป็นอย่างพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดมั้ย มีความทุกข์อย่างนั้นมั้ย ถ้าบุคคลใดมารู้ทุกข์ บุคคลนั้นจึงอยากจะหนีทุกข์ อันนี้หละเรามาเข้าใจ มาพิจารณาให้เข้าใจ
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงชี้แจงแสดงให้ฟังในวันนี้ คล้ายๆว่าวันอาสาฬหปูรณมี ดิถี ๑๕ ค่ำ ก็แสดงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือธรรมจักร ถ้าบุคคลใดมีความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด สิ้นอาลัยอาวรณ์กับร่างกายอันนี้ ไม่พอใจในร่างกาย ไม่อยากได้ ไม่อยากมาเกิดอีก อย่างนี้มาเรียนรู้ มาดูเข้าให้เข้าใจอย่างนี้ ถือว่าร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง ของเป็นทุกข์ ของย่อมเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของบุคคลผู้ใด เมื่อมาเข้าใจอย่างนี้ ก็ย่อมมีความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด สิ้นราคะ จึงจะดับหนทางที่ไม่มีทุกข์จะเกิดขึ้นมาอีก ก็เป็นนิโรธความดับทุกข์ เหตุฉะนั้นนิโรธความดับทุกข์นี้จะรู้แจ้งแทงตลอด ก็ต้องเรียนร่างกายนี้เรียนรู้ ดูให้เข้าใจว่าร่างกายนี้เกิดมาอย่างไร แปรปรวนไปอย่างไร แตกดับหักพังไปอย่างไร ตามสภาพเดิมของเขา
เหตุฉะนั้นจักขุจึงได้เกิดขึ้น จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราที่พระบรมศาสดาว่าอย่างนี้ ให้เรามาเรียนรู้ มารู้จัก ปะริญเญยันติเม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอให้เรียนรู้ทุกข์ ปะริญญาตันติเม เรารู้ทุกข์แล้วนั่นพระพุทธเจ้าท่านรู้ก่อน ปะหาตัพพันติเม ให้เสียสละให้ปล่อยวางซึ่งตัณหาที่มีความอยาก ความยึดมั่นนั่นอยู่ ปะหีนันติเม อันเราเสียสละได้แล้ว เหตุฉะนั้นเมื่อเสียสละตัณหาคือความอยาก ความเพลิดเพลิน ความมัวเมาลุ่มหลงอยู่ในโลกอันนี้ ในสมมุติที่ร่างกายอันนี้ เราจึงจะสิ้นตัณหาได้ อันนี้แหละ
สัจฉิกาตัพพันติเม ทำให้แจ้ง ทำให้ชัดเจน ทำให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งร่างกายอันนี้แหละ รูปธรรม นามธรรมอันนี้ นี่แหละจึงจะเป็นหนทางที่ดับทุกข์ได้ การปฏิปทาคือมรรค มรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น ปัญญาเห็นชอบ รู้ชอบอย่างนี้แหละ รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค รู้สิ่งที่ทำให้ทุกข์เกิด แล้วรู้วิธีดับทุกข์นั้นด้วยวิธีอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งแทงตลอดอย่างนี้ เหตุฉะนั้นพวกเราเหล่าท่านทั้งหลายที่มานั่งอยู่ พวกเราทุกคนก็ย่อมหลงอยู่จึงได้มาเกิดเช่นนี้ แต่ตัวผู้เทศน์นี้ก็หลงเหมือนกัน จึงได้มาเกิดกับโลกเขา ถ้าไม่หลงแล้วคงจะไม่มาเกิดอีก อยู่ในโลกนี้กับเขา ให้มีความทุกข์ความเดือดร้อน ให้มีเจ็บมีป่วย มีโรคภัยไข้เจ็บอย่างนี้ ให้มีเกิดมีตายอย่างนี้ ถ้ารู้ อันนี้ไม่รู้จึงมาเกิดกับคนอื่น มาเกิดกับเขา มาทุกข์กับเขาอย่างนี้เอง เหตุฉะนั้นพวกเราเหล่าท่านทั้งหลายให้มากำหนดรู้ให้เข้าใจอย่างนี้แหละ เรียกว่าการปฏิบัติอยู่ เรียกว่าการปฏิปทาการปฏิบัติ
ส่วน สัมมาสังกัปโปนั้นเราออกมาอย่างนี้ จะให้เป็นสัมมาสังกัปโปนั้นอย่างไร ในองค์มรรคนี้ คือเนกขัมมะสังกัปโป เหมือนเราออกจากบ้านของเรา เรามาถือศีลก็ดี มาเอาศีลก็ดี มานั่งเจริญเมตตาเสียสละจากบ้านจากช่อง ออกมาบวชก็ดี เป็นชีก็ดี เป็นผ้าขาวก็ดี เป็นสามเณร เป็นภิกษุก็ดี เรียกว่าเนกขัมมะ เนกขัมมะการออก ออกจากบ้านจากช่อง ออกจากญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ออกมาเจริญภาวนา มาทำคุณงามความดี มารักษาศีล อย่างนี้ก็อาศัยที่ว่าเป็นเนกขัมมะอย่างหนึ่ง อพยาปาทะสังกัปโป การที่ทำจิตใจของตนเองไม่มีความโกรธ ไม่พยาบาทบุคคลใดเอาไว้ ไม่มีโทสะที่จะคิดอย่างนั้นอย่างนี้ อยากไปทุบไปตีคนนั้นคนนี้ อยากไปฆ่าคนนั้นคนนี้อย่างนี้ อยากไปโกรธคนนั้นคนนี้อย่างนี้ เว้นจากการที่คิดอย่างนั้น อย่างว่า อพยาปาทะสังกัปโป คือว่าเราไม่พยาบาทใคร อวิหิงสาสังกัปโป นั้นกล่าวถึงว่าอยู่ในองค์มรรคคือไม่คิดจะเบียดเบียนใคร ไม่คิดใคร่ เกิดขึ้นมาในดวงจิตดวงใจ ไม่คิดอยากเบียดเบียนคนนั้นคนนี้ เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย แม้เป็นสัตว์ตัวเล็กตัวใหญ่ มีแข้งมีขาก็ดี ไม่มีก็ดีอย่างนี้ เป็นมนุษย์ด้วยกันก็ดี ไม่คิดอยากไปเบียดเบียนใคร เรียกว่าเป็นคนที่เสียสละจากการเบียดเบียนคนอื่น เรียกว่าสัมมาสังกัปโปในสามอย่างนี้ เนกขัมมะสังกัปโป อพยาปาทะสังกัปโป อวิหิงสาสังกัปโป ก็อยู่ในมรรค
เหตุฉะนั้นสัมมาวาจานั้นอย่างไรอยู่ในองค์มรรค คือว่าเราเว้นจากการพูดคำโกหกพกลม หรือพูดส่อเสียด พูดอย่างนี้ พูดส่อเสียดนั้นอย่างหนึ่ง การผรุสวาท การที่เราไม่พูดคำหยาบ ด่าชาติด่าตระกูลนั้น ไม่คิดขึ้นมาในจิตในใจ เราอยากไปพูดอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้พูดจาปราศรัยให้เป็นสาระแก่นสารอย่างนี้ นี้แหละก็เป็นสัมมาวาจา
สัมมากัมมันโตนั้นอย่างไร ไม่คิดอยากฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งหลาย ทั้งมนุษย์ก็ดี ทั้งสัตว์เดรัจฉานก็ดี ไม่คิดฆ่าสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ ไม่คิดอยากจะลักทรัพย์ของบุคคลผู้ใด ไม่คิดอยากประพฤติล่วงสามีภรรยาของบุคคลใดอยู่ในภายในดวงจิตดวงใจ ใจของบุคคลนั้นก็เป็นสัมมากัมมันโต การงานที่ชอบอยู่ภายใจกายของตนเอง
สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตโดยชอบนี้อย่างไร คือว่าเราเลี้ยงชีวิตของตนเองให้ชอบธรรม คือไม่กล่าวอำพรางก็ดี กล่าวเลียบเคียงนั้นก็ดี ไหนอะไรสิ่งใดไปหาอะไรได้มา ได้มาความบริสุทธิ์ หรือมีเงินมีทองมาซื้อเอาสิ่งของมาบริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือไปรับประทานอะไรก็ดี หาอันใดได้ก็ดี ขอให้เป็นสัมมาอาชีโว ไม่ได้ลัก ไม่ได้เป็นโจรเป็นขโมย ลักเอาสิ่งเอาของของบุคคลใด หาได้ด้วยความบริสุทธิ์ จึงว่าเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม เพราะเลี้ยงชีพไม่เบียดเบียนคน อื่นนี้ก็เป็นสัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ
สัมมาวายาโมนั้น ความเพียรชอบนั้นอย่างไร คือว่าความเพียรชอบหนึ่ง เราเพียรระวัง ไม่ให้บาปเกิดขึ้นในดวงจิตดวงใจของตัวเองนี้อย่างหนึ่ง เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วคือเคยทำมาก่อน เคยคิดมาก่อนแล้วภายในดวงจิตดวงใจของตนเอง คิดจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ดี คิดจะลักทรัพย์ก็ดี คิดจะล่วงกามก็ดีอย่างนี้ การที่เราคิดเป็นบาป คิดตัดรอนคนอื่นอย่างนี้ คิดจะฆ่าฟันรันแทงคนอื่นอย่างนี้ เราเคยคิดที่ไม่ดีอย่างนั้น เราละ เราปล่อย เราวางได้ เราไม่คิดอย่างนั้น เว้นเสียจากการคิดอย่างนั้นนี่อย่างหนึ่ง บัดนี้เราก็ยังกุศลให้เกิดขึ้นคือว่า เรายังไม่ได้ทำความดีอันใด สิ่งใดที่จะเป็นคุณงามความดี เราก็พยายามทำซึ่งคุณงามความดี หรือเราไม่เคยมีศีล เราก็พยายามรักษาศีลให้ได้ เราไม่มีการเจริญเมตตาภาวนา จิตใจไม่สงบระงับก็พยายาม นี้เรียกว่ายังกุศลให้เกิดขึ้น เมื่อเราเจริญเมตตาภาวนาจิตใจให้สงบเป็นสมาธิอย่างนี้ หรือได้ขั้นสูงๆไปกว่านั้น เราก็ให้พยายามให้มันตั้งอยู่หรือพะยุงยิ่งๆขึ้นไป เจริญยิ่งๆขึ้นไปในกุศล นี่เรียกว่าเป็นความเพียรที่อยู่ในองค์มรรค
เหตุนั้นสัมมาสติอย่างนี้ สัมมาสติอย่างนี้มันอย่างไร การว่าสัมมาสติ ตั้งสติพิจารณาอยู่ในกายของตนเอง กายของตนเองให้ตั้งอยู่ในกาย พิจารณาให้ทั่วสรรพางค์ร่างกายอย่างนี้ นี้เรียกว่าสัมมาสติ มีอีกอย่างหนึ่ง ตั้งอยู่ในการเวทนามีความสุขหรือมีความทุกข์ ที่จิตเสวยอยู่ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น ก็ตั้งสติอยู่ในเวทนาที่เกิดขึ้นอยู่ภายในกายของตนเองก็ดี หรือพิจารณาอยู่ในจิตของตนเองนี่ก็ดี เรียกว่าสัมมาสติอีกอย่างหนึ่ง การที่เราตั้งจิตพิจารณาจิตในจิตตนเองอยู่ จิตของเราคิดอย่างไร คิดบุญหรือคิดบาป คิดดีหรือคิดชั่ว คิดได้หรือคิดไม่ได้ คิดความสุขหรือคิดความทุกข์อย่างนี้ เรามาตั้งสติพิจารณาอยู่ เรียกว่าสัมมาสติ อันนี้พิจารณาธรรมในธรรมนั้น พิจารณายกธรรมขึ้นมาข้อใดข้อหนึ่งในส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งสังขารภายในและภายนอก นำยกขึ้นมาพินิจพิจารณาไตร่ตรองอยู่นั่นเรียกว่าพิจารณาธรรมในธรรม ทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของธรรม ให้ทั้งความเกิดขึ้นแล้วความเสื่อมอันนี้ของธรรมนี้ เรามาพิจารณาอยู่นี่เรียกว่าสัมมาสติ
สัมมาสมาธินั้น เรามาพินิจพิจารณาแล้ว เราอบรมจิตใจของตนเองให้เป็นสมาธิ ในตั้งแต่ขั้นต้น ตั้งแต่ขณิกสมาธิก็ดี จิตสงบสุขชั่วครู่ชั่วคราวก็เฉียดๆ ต่อถึงไปแล้วจิตของเราสงบซัก ๒๐ นาที ๓๐ นาที มั่นคงกว่าเดิมนั้นลงไปเรียกว่าอุปจาระสมาธิ อุปจาระสมาธิก็เปรียบเทียบเหมือนกับศิลาทับหญ้า เมื่อสงบไปชั่วครู่นานพอสมควร บัดนี้เมื่อเราเอาศิลาออก หญ้าย่อมงอกเกิดขึ้น อันนี้เราถอนออก ถ้าเราไม่เจริญบ่อยๆมันก็ย่อมไม่สงบอย่างนั้น
สัมมาสมาธินั้นกล่าวถึงว่าเป็นอัปปนาสมาธิอย่างนี้ จิตของเราสงบแน่วแน่ ยืนหยัดมั่นคงไม่รั่วไหลไปตามสัญญาอารมณ์ภายนอก ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวเป็นเอกัคตารมณ์อย่างนี้ เรียกว่าอัปปนาสมาธิ เหตุฉะนั้นจิตของเราตั้งอยู่ในอัปปนา อัปปนาสมาธินี้ตั้งมั่นอยู่ เราจึงจะได้ตรึกตรองซึ่งวิปัสสนากรรมฐานต่อไป มันเรียนปัญญาให้แจ้งชัดอย่างนี้ นี่แหละจิตของเรามาตั้งอยู่ในอัปปนาสมาธิ การที่ว่าไม่รู้ทั้งความสุขและความทุกข์ มันปล่อยวางเป็นอุเบกขาและเอกัคตาอยู่ตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเป็นอัปปนาสมาธิในองค์มรรค
เหตุฉะนั้นพวกเราเหล่าท่านทั้งหลายเรามาพิจารณาดูแล้วว่าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านี้แสดงถึงมรรค ๘ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันนี้ นั้นเรามาพินิจพิจารณาให้รู้ด้วยปัญญาด้วยสัมมาทิฐิปัญญาเห็นชอบ เห็นชอบให้รู้ว่าทุกข์จริงที่มีเกิดขึ้นในร่างกายนี้ จะทุกข์จริง สิ่งที่ทำให้ทุกข์เกิดนั้นคือความอยาก คือตัณหามีความอยากไม่รู้จักจบจักสิ้นนั้น อยากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักจบจักพอ อยากมากก็ย่อมทุกข์มาก อยากน้อยก็ย่อมทุกข์น้อย เรามาพิจารณาดูเรา บุคคลใดที่มีความอยากมาก โลภมากไปเป็นโจรเป็นขโมยอย่างนี้ หรือว่ามีความคิดอยู่ มีความอยากมากอยู่ แม้จะอยากอะไรก็ตาม ถ้าอยากมากเกินไปไม่ได้ตั้งสติพิจารณาอยู่ย่อมมีความทุกข์มาก ดิ้นรนมากเท่าไรก็ยิ่งทุกข์มาก เหตุฉะนั้นคนมีความอยากน้อยก็ย่อมมีทุกข์น้อย
แต่ความอยากในทางที่ดีเราก็เอาให้ตั้งสติไว้ พอควรได้ก็จึงเอา ไม่ควรได้ก็ไม่เอา อย่างนี้เหมือนเราจะทำบุญทำทานการกุศลหรือเราจะนั่งเจริญเมตตาภาวนาก็ดี เราต้องการความสุขอย่างนี้ ความอยากชนิดนี้ ถึงแม้เรากำลังอยากอยู่ เราก็มุ่งหวังหาความสุข แต่อย่าไปดิ้นรนเกินไป ให้ค่อยทำค่อยไป ให้ค่อยเจริญเมตตาภาวนา ให้ค่อยทำไปอย่างนี้ ถ้าบุคคลใดทำมากเกินไปหรือทรมานมากเกินไปย่อมมีความทุกข์มาก หรืออยากมากเกินไปก็ย่อมยิ่งไม่สงบระงับเป็นสมาธิ อย่างนี้แหละมันจะมีความทุกข์
ส่วนบุคคลบางคนอยากไม่ถูกหนทางอย่างนี้ อยากมากเกินไป โลภมากเกินไปก็ย่อมมีความทุกข์มาก เหตุฉะนั้นกเหมือนกับบุคคลที่ว่ามีสร้างอะไรไว้ต่างๆ สร้างโรงงานไว้หลายๆสถานที่ หลายจังหวัดอย่างนี้ จิตของเราก็ไปคิดกับโรงงานนั่น คิดกับโรงงานนี้ คิดกับการค้าขายในสิ่งนั้นสิ่งนี้ จิตก็ออกไปที่นั่นบ้างออกไปที่นี่บ้าง จิตก็ย่อมเบา ย่อมไม่เป็นสมาธิ จิตก็วุ่นวายไปตามสัญญาอารมณ์อย่างนั้นก็ย่อมมีทุกข์มาก
เหตุฉะนั้นน่ะความอยากนี่หละเป็นกระแสของตัณหา เป็นความอยากที่ไม่รู้จักจบจักสิ้นนั่นแหละ เราไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักพอเหมาะพอสมอย่างนี้แหละ มันทำให้มีความทุกข์เกิด อันนี้แหละเราเหล่าท่านทั้งหลายให้มาตรึกตรองดูตนเองว่า เมื่อตนเองมีความอยากมามากเกินไป จะอยากอะไรก็ดี ถึงแม้จะอยากทางฝ่ายดีหรืออยากเบียดเบียนคนอื่น อยากฆ่าคนอื่น โกรธคนอื่นนั่นก็ดี ก็ย่อมมีทุกข์แค่ไหน มีทุกข์มากอย่างไร หรือมีความอยากทางราคะของที่พอใจ ของที่ชอบใจ แม้อยากมากอยู่ภายในจิตใจก็ย่อมมีทุกข์มาก อันนี้หละเรามาพิจารณาว่ากระแสของตัณหานี่แหละเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด
นี่เรามาพินิจพิจารณาให้เข้าใจ ให้ตั้งสติ ให้รู้จักพอประมาณในของสิ่งเหล่านี้ มันจึงจะไม่มีความทุกข์ ถ้าเรามาเรียนรู้มาดูให้เข้าใจอย่างนี้แล้ว จึงจะรู้จัก ถ้ารู้จักแล้ว เรารู้จักทุกข์แล้ว เราก็ย่อมเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด ย่อมตัดกระแสของตัณหา ที่มันมีจะทำให้ทุกข์เกิดอย่างนี้ นี้แหละพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้นฟัง ว่าร่างกายอันนี้แหละเป็นของที่ไม่เที่ยง ร่างกายอันนี้แหละเป็นของที่มีทุกข์ ร่างกายอันนี้แหละเป็นของเป็นอนัตตา ถ้าหากว่ารวบรวมปัญญา ปัญญาอัญญาโกณฑัญญะมาพินิจพิจารณามาว่า โอ๋ ร่างกายอันนี้ตั้งแต่เกิดมาแล้วย่อมมีทุกข์ ทั้งเป็นของที่ไม่เที่ยง ถ้าของนี้ไม่เที่ยงแล้วเกิดมาตั้งแต่เล็กๆน้อยๆโน่น มันก็ไม่เล็กอยู่อย่างเดิม มันก็ใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างนี้มาเป็นหนุ่มเป็นสาวมาถึงท่ามกลางคน มาถึงเฒ่าถึงแก่ มาถึงหัวขาวหัวหงอกๆ ฟันหลุดฟันกร่อน หนังเหี่ยวหนังแห้งหนังย่น แก้มตอบอย่างนี้ นี่แหละมันแสดงถึงความชราด้วย ความไม่เที่ยงก็ย่อมมีชรา มันเป็นธรรมดา บัดนี้ความเป็นทุกข์ในร่างกายเกิดขึ้นมาย่อมเป็นโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ย่ำยีวีทามาตั้งแต่ต้น ทั้งหิวทั้งกระหาย ทั้งมีความร้อนและความหนาว แสดงถึงแต่ความทุกข์ทั้งกลางวันกลางคืน
เหตุฉะนั้นเมื่อร่างกายของบุคคลมีความทุกข์อยู่อย่างนี้ เราก็มาพินิจพิจารณาให้เข้าใจนี่แหละ นี่เรียกว่ามันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตานั้นคือมันบอกไม่ได้ ใช้ไม่ฟัง ไม่สมปรารถนา สมความหวังของเราของท่านทั้งหลาย ที่สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ที่เราปรารถนาอยู่ เราต้องการว่าอยากให้มันตั้งอยู่สมใจหวังแล้วย่อมไม่มีความสมใจหวังนั่นเอง คือร่างกายตั้งแต่เล็กๆอยู่ ก็ย่อมไม่เล็ก บอกให้เล็กอยู่อย่างเดิมมันก็ย่อมไม่เล็ก มาถึงเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ดี อยากให้เป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ มันก็ไม่อยู่เป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็เดินขึ้นไปเรื่อยๆ
มาถึงเฒ่าถึงแก่ถึงหัวขาวหัวหงอกอย่างนี้ ผมของเราดำๆ ว่าเป็นของเรา เราไม่อยากให้มันขาว มันก็ขืนขาว ดื้อดังไม่ฟังเรา ถ้าเป็นของเรามันย่อมไม่ขาวอย่างนั้น นี่แหละมันลักษณะแสดงให้เราเข้าใจ ฟันของเราก็ดี ถ้าเราถือว่าเป็นของเรา บอกไม่ให้มันหล่น มันก็ย่อมไม่หล่น อันนี้มันดื้อดึงขืนร่วงหล่นไปได้ หนังของเราก็ดี ให้มันตึงอยู่อย่างเดิม ไม่เหี่ยว ไม่แห้ง มันก็ขืนดื้อดึงเหี่ยวแห้งไปได้ อย่างนี้แหละ ตาก็ดี มันฝ้าฟางอย่างนี้ แต่ก่อนมันดี บัดนี้มันฝ้าฟาง เราอยากให้มันดีเหมือนอย่างเดิม มันก็ไม่ดีอยู่อย่างเดิมสมความหวังความปรารถนาของบุคคล
การที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บปวดก็ดี ปวดสรรพางค์ร่างกายก็ดีอย่างนี้ แล้วไม่เจ็บปวดสรรพางค์ร่างกายของเราอย่างนี้ ถ้าเรากินยาไม่หาย ฉีดยาไม่หาย นี่มันก็ปวดอยู่ ถ้าเป็นกายของเรามันก็ย่อมไม่เจ็บไม่ปวด เราก็บอกได้ใช้ฟังว่าร่างกายของเรานะ อย่าเจ็บอย่าปวดนะ มันก็ย่อมไม่เจ็บไม่ปวดอย่างนี้ นี่แหละถ้าเป็นของเรา อันนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้ากินยาหรือฉีดยาไม่ถูกแล้ว มันก็ย่อมเจ็บปวด ป่วยไข้ไปเรื่อยๆ อย่างบอกไม่ให้เจ็บ มันก็ขืนดื้อดึงเจ็บ
เอาแล้วบัดนี้บอกไม่ให้ตาย มันก็ดื้อดึงตาย ถ้าเป็นร่างกายของเราแล้ว เราบอกไม่ให้ตาย มันย่อมไม่ตาย อันนี้มันขืนดื้อดึงตายไปได้ เหตุฉะนั้นหละเราก็เห็นอยู่คนตายทั้งญาติพี่น้องพ่อแม่ก็ดี อย่างนี้ปู่ย่าตายายของเราก็ดี เค้าล่วงลับดับไปแสดงให้เราเห็น ทุกคนก็ไม่อยากให้ล่วงลับดับไปจากซึ่งกันและกัน แต่ของเหล่านี้มันตั้งอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดา เหตุฉะนั้นให้เรามาพินิจพิจารณาอย่างนี้แหละ
อัญญาโกณฑัญญะรู้จักอย่างนี้แล้ว จิตใจก็ตกกระแสธรรมว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนตํ นิโรธธมฺมนฺติ โถ! สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา จิตก็ตกกระแสธรรมได้เป็นพระโสดาอย่างนี้ เหตุฉะนั้นพวกเราเหล่าท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตได้มาพินิจพิจารณาให้ปลงปัญญาตรึกตรองใคร่ครวญให้รู้แจ้งแทงตลอด ตามสติกำลังของตนเองออกไปใคร่ครวญดูว่ามันจะเป็นอย่างนั้นมั้ย ร่างกายของเรานี้ให้มาพินิจพิจารณาอย่างนี้ อันนี้แสดงถึงโทษของร่างกาย แต่ร่างกายนี้มันก็เป็นคุณ ของที่มีคุณก็ย่อมมีโทษ ของที่มีโทษก็ย่อมมีคุณเหมือนกัน บัดนี้จะแสดงถึงคุณของร่างกาย
เมื่อเราได้ร่างกายเกิดขึ้นมาแล้ว ร่างกายมีคุณอย่างไร คือว่าร่างกายนี้เรามีแล้วเราจะเอาไปทำบุญทำทานการกุศลเช่นมาเวียนเทียนก็ดี มาไหว้พระก็ดี มาสวดมนต์นั่นก็ดี ทำวัตรนั่งสวดมนต์นี่ก็ดี นั่งฟังเทศน์ฟังธรรม รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนาก็ดี ก็อาศัยซึ่งกายนี่แหละ เราจะเอาที่ไหนมาทำ เราจะรักษาศีลก็อาศัยกาย เราจะเจริญเมตตาภาวนาให้รู้แจ้งแทงตลอด ก็อาศัยซึ่งกายนั่นแหละ นี่เรียกว่ากายมีคุณ เป็นบุญเป็นกุศล เป็นของที่มีคุณอย่างนี้ เรามาเรียนรู้ มาดูให้เข้าใจซึ่งร่างกาย รูปธรรม นามธรรมนี่แหละ รู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ปัญญาของเราก็เกิดขึ้นอย่างนี้ ก็ถือว่ากายนี้เป็นของที่มีคุณทีหลัง แต่ในเบื้องต้นให้แสดงถึงว่าร่างกายนี้เป็นของที่มีโทษ บัดนี้เมื่อปัญญาของเรารู้ร่างกายให้เข้าใจแล้ว เรียกว่ากายนี้เป็นของที่มีคุณ ถ้าไม่มีร่างกายอันนี้ เราจะไปรู้ที่ไหน ไปรู้รูปธรรม นามธรรมได้ที่ไหน รู้ขันธ์ห้าได้ที่ไหน ก็เพราะมีร่างกายนี่แหละเราจึงจะพ้นทุกข์ได้ เหตุฉะนั้นจึงถือว่าร่างกายนี้เป็นของที่มีบุญมีคุณต่อบุคคลที่มาพินิจพิจารณาก้าวล่วงทุกข์ไปอยู่ที่สุขเกษมสันต์
เหตุฉะนั้นพวกเราเหล่าท่านทั้งหลาย เมื่อบุคคลใดมาเรียนรู้ มาดูให้เข้าใจตามพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็อย่าไปอวดตนเองว่าเป็นผู้เรียนรู้ รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ให้มาเรียนรู้ มาดูให้เข้าใจเท่านั้น เมื่อบุคคลใดมาเข้าใจแล้ว บุคคลนั้นย่อมมีความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด สิ้นความกำหนัด ไม่ปรารถนาอยากมาเกิดอีกอยู่ในโลกนี้ ว่ามาเกิดอีกย่อมมีความทุกข์อย่างนี้แหละ เหมือนพวกเราเหล่าท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่นี้นี่แหละ ก็ย่อมมีความทุกข์เหมือนกัน
เหตุฉะนั้นการแสดงธรรมมาแต่ต้นจนอวสานนี้ สิ่งใดที่ควรนำเอาไปประพฤติปฏิบัติหัดกายวาจาจิตของตนเองแล้ว ก็ให้นำเอาไปประพฤติปฏิบัติกาย วาจา จิตของตนเองไปตามทำนองคลองธรรมคำสอน ส่วนสิ่งใดแล้วควรเสียสละปล่อยวางเหมือนตัณหา อันนั้นควรเสียสละ ควรปล่อย ควรวางเสีย อย่างนี้ก็ให้ควรปล่อย ควรวางไปตามสติกำลังของตนเอง ให้มาตั้งอยู่ในสิ่งที่เราควรประพฤติปฏิบัติให้เข้าใจนั้น เมื่อเข้าใจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วอย่างนี้ เมื่อบุคคลนั้นมารู้แจ้งแทงตลอดตามสติกำลังของตนเอง บุคคลนั้นจะไปอยู่ที่ใดก็ดี จะไปยืนอยู่ที่ใดก็ดี เดินไปที่ไหนก็ดี นั่งอยู่ที่ใดก็ดี นอนอยู่ที่ใดก็ดี ย่อมมีความรู้อยู่และตั้งอยู่ ย่อมเป็นผู้มีความสุขอยู่ เพราะมาเรียนรู้มาดูให้เข้าใจนั่นเอง
การเทศนามาแต่ต้นจนอวสานแสดงเรื่องธัมมจักกัปวัตตนสูตรโดยย่อๆ พอให้เอาไปพินิจพิจารณาก็เห็นพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติธรรมเพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการะฉะนี้