Skip to content

หนีจากอนิจจัง

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ตั้งใจภาวนากันทุกคน การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสรู้ด้วยอะไรบ้าง และเพราะเหตุอะไรบ้างที่ให้พระองค์ได้ตรัสรู้ และก็เนื่องมาจากไหนที่จะให้พระองค์ได้ตรัสรู้ ก็เนื่องมาจากความเป็นอนิจจัง ความเป็นทุกขัง ความเป็นอนัตตา แม้พระองค์จะตรัสรู้ก็ธรรม ๓​ประการนี้หละ เป็นเครื่องหนุน หนุนให้พระองค์มีพลังในด้านการปฏิบัติ 

ก็เหมือนกับพวกเราชาวพุทธทั้งหลายเนี่ย ที่เราพากันมาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อะไรเป็นสาเหตุให้เราได้มาทำ มันเนื่องมาจากความเป็นอนิจจังนั่นน่ะ ความเป็นทุกขัง ความเป็นอนัตตาเนี่ย ถ้าไม่มีธรรมเนี้ย เราก็คงจะพากันอยู่แบบที่ไม่ได้สนอะไรกับเรื่องชีวิตและความเป็นอยู่ของตัวเอง 

ถ้าไม่มีอนิจจัง ก็ความเป็นอนิจจังนั่นน่ะ ที่จะนำพาให้พวกเราได้มากระทำ ถ้าไม่มีความอนิจจัง บังคับพวกเราน่ะ ต่างก็พากันมีความเมินเฉย แม้แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็อนิจจังนั่นหละ ทุกขัง อนัตตา บีบบังคับ และพระองค์ก็เป็นมาหลายภพ หลายชาติ เรื่องความเป็นอนิจจัง พวกเราก็มากันหลายภพหลายชาติเช่นเดียวกันจนตลอดถึงทุกวันนี้ เราก็อยู่ด้วยความเป็นอนิจจัง เรามาก็มาด้วยความเป็นอนิจจัง เราที่จะไปข้างหน้า เราก็ไปเพราะอนิจจัง 

เพราะฉะนั้น ธรรมะอนิจจัง เราควรจะมาพิจารณากันบ่อยๆ ได้แก่ความไม่เที่ยง มีความแก่ และก็มีความเจ็บ และก็มีความตาย นี่เรียกว่าอนิจจัง ทีนี้เรามาพิจารณาอยู่ธรรม ๓​ ประเด็นนี่หละ คืออนิจจัง คือความไม่เที่ยง มีความแก่แล้วก็มีความเจ็บความตาย พิจารณาความตายนั่นน่ะเป็นอารมณ์ เมื่อตายแล้ว มันจะพากันไปอยู่ไหน และที่ไหนหละเป็นที่อยู่ของผู้ตาย ตายนี่มันก็ตายกันไปมากน่ะ มันก็เหลือพวกเรานี่แหละ ตายแล้วก็หายหน้ากัน หน้าทั้งที่เจอกันและที่เคยคุยกัน มันก็หายไป ทีนี้ไม่รู้ว่าเขาไปอยู่ตรงไหน 

ทีนี้แม้แต่เราจะไปนี่ ไม่รู้จะไปตรงไหน ไม่รู้ที่จะไปนะ เราก็รู้แต่ว่าสุคติ ก็คือสวรรค์นั่นน่ะ ต้องการ สวรรค์น่ะ ก็อนิจจังน่ะไล่เรามาหาสวรรค์ ถ้ามันไม่มีอนิจจัง เราก็คงไม่มาหรอก เพราะความตายมันมีกันประจำทุกคน ความเจ็บก็มีประจำกันทุกคน ความแก่มันก็ประจำกันทุกคน คิดว่ามันหนีไม่พ้นแล้วน่ะ 

มันน่าสังเวชนะ ความสังเวชเราน่ะ ทั้งที่ว่าเราอยู่ๆเนี่ย อยู่กันแบบดีๆเนี่ย แล้วมันก็จากกันไปแบบซึ่งๆหน้า โดยไม่มีการปราณีปราศรัยใคร โดยที่ไม่มีการที่จะยกเว้นและปรารถนาดีกับใครเลย เมื่อถึงคราวของเขามาแล้ว เราจะมีอะไรอยู่ก็ตาม จะมีงานหรือมีสมบัติพัสถานอะไร กำลังที่จะต้องรักษาอยู่ก็ตาม ไอ้เรื่องความตายนั่นน่ะ เวลามันมาแล้ว มันไม่ได้ห่วงใยอะไรกับเราเลย มันไม่ได้คิดอะไรเลย มันจัดการของมันไปตามหน้าที่ คิดแล้วมันก็น่าสังเวช 

แต่ว่าความเป็นอยู่ของเรานั่นน่ะ เราก็ต้องการความเป็นอยู่ อยากจะให้อยู่ไปอย่างนี้ตลอด แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงมันมี จึงได้เรียกว่า อนิจจัง แต่เมื่อความสิ้นสุดแห่งชีวิตมาถึงหละ จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องกัน จะเอาอะไรมาป้องกัน มันไม่มีอะไรจะป้องกัน และเขาก็ไม่ได้รับสินบนอะไรกับใคร เราจะมีเงินทองมากมายเท่าไหร่ก็ตาม เราจะเอาสินบนนี้ไปให้เขา ก็ไม่รู้จะไปให้ใครแล้วใครจะไปรับ แล้วจะให้ชีวิตของเรายืนยงมั่นคงตลอดไปด้วยสินบน มันก็เป็นไปไม่ได้ มันไม่มีใครรับรอง 

เพราะฉะนั้นชีวิตของเรามันจึงตกอยู่ในความเป็นอนิจจัง เมื่อเราพิจารณาถึงความเป็นอนิจจังนั้น มันจึงเป็นเหตุให้เรานั้นได้ทำดี ถ้าไม่มีอนิจจังน่ะ เราไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะฉะนั้นการที่เรามากำหนดพิจารณาธรรมะ ก็ให้นึกถึงความเป็นอนิจจัง อันดับแรกก็มีความเกิด และก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันนี้มันเป็นของแน่นอน เมื่อเราพิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามันเป็นความแน่นอน ความสังเวชตัวเองแล้วมันจะเกิดขึ้น เมื่อความสังเวชมันเกิดขึ้น เราจะทำยังไง มันจำเป็นเราจะต้องหาความดีให้ตัวเอง ก่อนที่เราจะจากไป ก่อนที่ว่าอนิจจังสุดท้ายที่จะมาถึงเรา เราจะต้องสะสมเอาความดีให้มันมากเสียก่อน ก่อนที่เราจะไป 

ทีนี้ไอ้ความดีที่มันจะเกิดขึ้นเพื่อจะเป็นคุณสมบัติสำหรับการเดินทางของเรา ในเมื่ออนิจจังมาถึงแล้ว จำเป็นเราจะต้องไปข้างหน้า ความดีน่ะมันอยู่ตรงไหนหละ แล้วมันดียังไง สิ่งที่จะเป็นคุณสมบัติของเราอันเลิศ ความดีมันอยู่ตรงไหน และใครจะเป็นผู้เอาไป มันก็ใจของเรานั่นน่ะ 

ทีนี้ใครเป็นผู้รู้อนิจจัง มันก็ใจนั่นน่ะเป็นผู้รู้ รู้แก่ รู้เจ็บ รู้ตาย ใครเป็นผู้รู้ ก็ตัวเขานั่นหละ ทั้งที่เขารู้อยู่มันแก่ รู้อยู่มันเจ็บ รู้อยู่มันตาย แต่เขาก็ยังแก้ไม่ได้ จำเป็นเขาก็ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง เมื่อยอมรับตามสภาพความจริงแล้ว ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เอาสมบัติมาให้พวกเราแล้ว 

สมบัติคืออะไร สมบัติก็คือศีล สมาธิ และปัญญา นี่สมบัติพระพุทธเจ้าเอาไว้แล้ว แม้แต่พระองค์จะตรัสรู้ก็ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เช่นเดียวกันน่ะ แต่ท่านทรงบำเพ็ญมามาก มากจนเหลือวิสัยที่เราจะทำได้ แต่พระองค์ก็ได้ตรัสรู้มาแล้วด้วยคุณธรรม แต่พระองค์ก็เอาคุณธรรมนั้นอันเป็นคุณสมบัติอันสูงสุด แล้วมอบให้เป็นมรดกแก่พวกเราทั้งหลาย 

ศีลเราก็สมาทานไปแล้ว ส่วนศีลสมาทาน แต่ศีลภายในหละ ศีลที่รักษาหัวใจ ที่ใจเอามารักษากายไม่ให้ฆ่าสัตว์ ไม่ให้ลักทรัพย์ ไม่ให้ประพฤติผิด ไม่ให้มุสา ดื่มสุรา อันนี้มันเกี่ยวกับศีลใน เป็นผู้บอกเราที่ไม่ให้กระทำ อันนั้นมันศีลแท้ อันนั้นของแท้นะ ศีลที่เราสมาทานไปนั้นก็เรียกว่าตามองค์ ตามพุทธบัญญัติ ตามหัวข้อ ตามสิกขาบท แต่คุณภาพของศีล หรือคุณค่าของศีลคือศีลภายใน ก็มันอยู่ข้างใน มันก็อยู่ที่ใจนั่นน่ะ 

ทีนี้ไอ้ส่วนสมาธิน่ะ ก็เมื่อศีลของเราดี เรารักษากายวาจาของเราเรียบร้อยดี ทีนี้เราก็มาเจริญสมถะหรือว่าเจริญกรรมฐาน เจริญใจของเราให้มันสงบ เจริญใจของเราให้เป็นสมาธิ ก่อนที่มันจะเป็นสมาธิได้ มันผ่านอะไรมาบ้าง ศีลมันก็อยู่ในตัวแล้วหละ สมาธิก็คือความตั้งใจมั่น อันนี้มันยังอยู่น่ะ 

ทีนี้ก่อนที่มันจะตั้งมั่น เราจะทำกันอย่างไร ทีนี้เราก็ศึกษากันในตำรับตำราอ่านกันมาจนพอแล้ว ฟังพระเทศน์ เราก็ฟังมาพอแล้ว เทศน์ก็ไม่รู้ว่ากี่พระองค์ก็ฟังมาจนเกือบจะครบทุกองค์ แต่ความเป็นสมาธิมันอยู่ตรงไหน จิตของเราที่จะเป็นสมาธิเพราะการฟัง จิตของเราที่เป็นสมาธิเพราะความรู้ ที่เราได้รู้มาที่เราได้ศึกษามา แล้วมันอยู่ตรงไหน ความเป็นสมาธิมันไม่ได้อยู่กับการที่เราได้ศึกษามาและได้ฟังมา มันอยู่กับการกระทำน่ะ การที่เรามาปฏิบัติ แม้แต่เราฟังอยู่ขณะนี้ก็ตาม หรือที่เราจะฟังต่อไปก็ตาม จะเป็นองค์ไหนก็ตาม เราจะต้องรักษาและกำหนดจิตของเราเอาไว้ ก็เรียกว่าภาวนาไปด้วย พร้อมกับการฟัง จะเป็นใครก็ตาม เราก็กำหนดนั่นน่ะ 

กำหนดไหนหละ ก็ไม่ได้กำหนดนอกไปจากตัวเอง ก็กำหนดของของตัวเองที่เราสมมุติว่าเป็นลม ก็ลมเข้าและลมออกนั่นน่ะ ลมเข้าลมออกมันก็เป็นของธรรมชาติ มันไม่ใช่ว่าเราจะมาอัดฉีดให้มันเข้ามันออก มันเข้ามันออกของมันโดยธรรมชาติ มันเข้าตรงไหนหละ มันออกตรงไหนหละ ที่ออกที่เข้าของเขาก็นอกจากจมูกแล้ว มันก็ไม่มีน่ะสิที่จะเอาชีวิตของเราไว้ได้ มันเข้าไปทางจมูกแล้วก็ออกไปทางจมูก ทีนี้เราก็กำหนดไปตรงนั้นน่ะสิ 

กำหนดไปเพื่ออะไร ก็เพื่อความสงบนั่นน่ะ ทีนี้เรากำหนดลมเข้าและลมออก เราก็กำหนดคำบริกรรมไปด้วย คือเวลาหายใจเราก็ว่าพุท หายใจออกเราก็ว่าโธ ก็โดยลักษณะนี้เราก็ฟังมามากแล้ว ทีนี้เราก็ต้องทำตามดูซิ พุทโธๆ ก็เพื่ออะไร เพื่อความสงบกับของธรรมชาติ เพราะชีวิตของเราจะมีอยู่ก็เพราะของธรรมชาติคือลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่มีลม พวกเราก็จะไม่ได้มาฟัง จะมานั่งฟังอยู่อย่างนี้ก็ไม่ได้ แล้วจะมาเทศน์ให้พวกเราทั้งหลายฟังนี้ก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีลม ที่เรามาฟังได้ ที่เรามาเทศน์ได้ก็เพราะมันมีลม นี่ชีวิตมันยังอยู่ ถึงจะมีลมเข้าลมออกอยู่ก็ตาม 

แต่ความเป็นอนิจจัง มันไม่มีการที่จะอภัยให้เราเลย หรือว่าไม่อภัยให้ใครทั้งนั้น ท่านก็ให้กำหนดนี่หละ แม้จะมีลมเข้าลมออกอะไรก็ตาม แต่ความอนิจจังมันก็เป็นอนิจจัง เราก็รู้ดีแล้ว เราจะมากำหนดตามลมเพื่อยังความสงบนั้นให้เกิดขึ้น แล้วยังความมั่นคงในจิตของตัวเองให้อยู่ด้วยความสงบนั้น ซึ่งเรียกว่าสมาธิ ก็สมาธิแปลว่าความตั้งใจมั่น เราก็ให้มั่นอยู่ในความสงบสิ ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ 

แต่ครั้งแรกก็เอาลมซะก่อน ก็ตามลมของเรา เอาอะไรมาดูลม เอาอะไรมาตามลม ก็เอาความรู้นั่นน่ะ ความรู้ของใจนั่นหละ แล้วก็เอาใจของเรามาตามลมเข้าลมออก ลมมันก็ไม่มีตัวมีตน ใจมันก็ไม่มีตัวมีตน มันก็เลยเข้ากันได้ ถ้าใจมันมีตัวมีตน หรือลมมีตัวมีตน มันก็คงเข้าไปไม่ได้หรอก ของที่ไม่มีตัวมีตนนั่นหละเค้าให้บวกใส่กัน ให้รวมใส่กัน ลมหายใจก็ดี ความรู้ของใจก็ดี ตลอดถึงความเป็นพุทโธของใจก็ดี พุทโธก็ไม่มีตัวตน ใจก็ไม่มีตัวตน ลมหายใจก็ไม่มีตัวตน นั่นหละเอาเข้ากัน เข้ากันให้ได้ 

ถ้าอันใดอันหนึ่งมีตัวตนก็เข้ากันไม่ได้ ของทั้งสามอย่างนี่หละ เรียกว่าไม่มีตัวมีตน เอาให้มันเข้ากัน ถ้าเข้ากันได้ ก็ของสามอย่างนั่นหละมันจะไปตั้งมั่น ก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ พอจิตของเราเป็นสมาธิ พอสมาธิมันมีความตั้งมั่นด้วยจิตของเรา มีความมั่นคงอยู่ในตัวเองด้วยความสงบแล้ว ทีนี้มันจะมีประโยชน์อะไร สมาธินี่ ทำไมถึงอยากได้ ทำไมถึงทำกัน 

ประโยชน์ของสมาธิน่ะ ธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็จะเกิดขึ้น สิ่งใดที่จะเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นก็จะเจริญยิ่งๆขึ้น แล้วมันจะได้รวบรวมคุณสมบัติอันล้ำค่า สมบัติทั้งที่มันอยู่ใกล้ก็ตาม อยู่ไกลก็ตาม แล้วมันจะรวมกันเข้ามาบวกกันอยู่ตรงนี้หละ อยู่ตรงความเป็นสมาธินี่ เมื่อมารวมกันแล้ว ความดีทั้งหลายที่เราเรียกว่าบุญและกุศล ทั้งบุญทั้งกุศล ทั้งคุณธรรม มันก็รวมกันอยู่ตรงนี้ ก็เมื่อบุญกุศลและคุณธรรม มันมีประจำตัวแล้วเป็นคุณสมบัติอันล้ำค่า 

ทีนี้เมื่ออนิจจังมันมาถึงหละ อนิจจังแท้มาถึงหละ คือความตายมันมาถึง ที่ในเมื่อมันมีในตัวของเขาหละ หรือเขามันพร้อมแล้ว แล้วมันก็จะไม่ไปด้วยกันเหรอ ก็มันอยู่ด้วยกันแล้วมันก็ต้องไปด้วยกัน แต่มันอยู่กันคนละที่สิน่า มันจึงพิจารณายาก 

ใครก็หวังแต่ว่าอนาคตกาลข้างหน้า อนาคตกาลข้างหน้า ก็หวังกันอยู่นั่นน่ะ ทั้งที่มันเป็นของปัจจุบัน เอาปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้ มันก็ไม่มีใครว่า มีแต่ว่าอนาคต ทีนี้ส่วนที่เป็นอนาคต ถ้าคุณสมบัติเรายังไม่พร้อมหละ คุณสมบัติของเรายังไม่มีหละ ทีนี้ความเชื่อมั่นของเรา ความมั่นใจของเรา จะมั่นใจได้อย่างไร สิ่งที่เราจะพึ่งได้พึ่งถึง ทีนี้เราจะไปรู้ได้ยังไง ไปทราบได้ยังไง ต่อเมื่อในปัจจุบันยังไม่ประสบการณ์ 

เมื่อจิตของเรามันเป็นสมาธิรวบรวมเอาซึ่งคุณธรรมทั้งหลาย รวบรวมเอาซึ่งบุญทั้งหลาย รวบรวมเอาซึ่งบุญทั้งหลาย ให้มันเต็มซะแล้ว ให้มันสมบูรณ์แล้วในใจของเรา เมื่อมันสมบูรณ์และมันมีอยู่แล้วทั้งที่เรามีชีวิตอยู่เนี่ย ทีนี้เราก็จะต้องถึงพร้อม ถึงพร้อมไปด้วยสมบัติอันที่ล้ำค่าแม้มันจะแตกดับ ก็แตกดับไปสิ ก็มันพร้อมแล้ว แล้วมันก็ไปพร้อมกันได้ ก็เพราะมันมีแล้ว 

อันนี้หละคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ต้องการให้พุทธบริษัทได้ประสบการณ์ อยากให้ได้อย่างนั้น ทีนี้พุทธบริษัทของท่านก็หากมีแต่ว่าอนาคตกาล ทีนี้ปัจจุบันกาลเรามันอยู่ตรงไหนสิ เราท่านทั้งหลายพิจารณาเอาหน่อยเถอะ 

ชีวิตของเราก็คิดแล้วก็คงจะไม่นานหรอก คงจะไม่อยู่กันเท่าไหร่หรอก คงจะจากกัน ต่างคนก็คิดว่าจะต่างไป จะไปไหนก็ไม่รู้นะ ขอให้พิจารณากันเถอะ เรื่องของตัวเองนี่หละ มันเป็นปัญหาอันสำคัญที่สุด แต่เรื่องทำมาหากินมันก็ของธรรมดาอยู่แล้วหละ เราก็ต้องทำอยู่แล้วหละ แต่ปัญหาสำหรับสิ่งที่เราจะต้องการน่ะ คือภายในน่ะมันไม่ได้เกี่ยวกับวัตถุหรอก มันเรื่องภายใน 

เหมือนกับเราจะปรุงยา เราก็ต้องหาสิ่งทั้งหลายมาประกอบกันเป็นตัวยาขึ้นมา ตัวยาก็เป็นอันเดียวถึงจะเป็นของหลายอย่าง แต่เอามารวมกันก็เป็นเม็ดเดียว เป็นก้อนเดียว เป็นชนิดเดียวแต่มันก็แก้ได้หลายอย่าง ทีนี้ส่วนใจของเราก็ใจอันเดียว เราก็มาปรุงให้มันเป็นอันเดียว ปรุงให้มันเป็นสุข ปรุงให้มันสงบ ปรุงให้มันเป็นสมาธิ ปรุงให้มันมีปัญญา ปรุงให้มันฉลาด ปรุงให้มันได้สมบัติอันล้ำค่า อันที่มีอยู่ในตัวเอง 

ทีนี้เราจะเอาไปไหนหละ มันก็เอาไปได้สิ มันก็ไม่มีการที่จะวิตกวิจารอะไรต่อเมื่อที่มันได้แล้ว ที่มันยังไม่ได้เราก็หากันอยู่อย่างนั้นหละ ต่างคนก็ต่างหา หาที่นี้แล้วมันก็ยังไม่แล้วนะ จะคิดว่ามันจะแล้วหรือ ก็จะไปหาที่อื่นอีก แล้วก็ทำอีก ทางอื่นอีกต่อไป ทีนี้เราจะไปสิ้นสุดที่ไหน 

การกระทำมันก็ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมันยังไม่พร้อม คิดให้ดีน่ะ ทำให้มันพร้อมซะ ก็ทำที่ไหน ก็ทำที่ตัวเอง อันดับแรกก็ปลายจมูก ลมเข้าลมออก ก็อยู่แค่นี้หละ ลมก็ไม่มีตัวมีตน ใจก็ไม่มีตัวมีตน พุทโธก็ไม่มีตัวมีตน ก็ปรุงใส่กันซะสิ 

พอปรุงเข้ามาแล้ว มันก็มีฤทธาศักดานุภาพสิ พวกอภิญญาก็เกิดจากนั้นไม่ใช่หรือ พวกญาณก็เกิดในนั้น พวกฌานก็เกิดในนั้น พวกปัญญาก็เกิดในนั้นไม่ใช่หรือ ก็ปรุงใจของเราหน่อยนะ อะไรๆเราก็ผ่านมาจนพอแล้ว เราก็รู้มาจนหมดแล้ว มันยังเหลืออยู่อันเดียวนั่นน่ะ คือปรุงจิตปรุงใจของเรานี่หละ 

เช่นเอาไปประโยชน์อะไร ก็จะหนีจากอนิจจังนี่หละ ก็พูดถึงความหมายน่ะ ก็จะหนีจากอนิจจังเหมือนพระพุทธเจ้าท่านหนี เหมือนพระอริยเจ้าท่านหนี ไม่ใช่ว่าอนิจจังจะหนีจากเรา เรานะจะหนีจากอนิจจัง ไม่ใช่ว่าอนิจจังจะหนีจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านะเป็นผู้หนีจากอนิจจัง พระสังฆเจ้านะเป็นผู้หนีจากอนิจจัง อนิจจังจะหนีจากพระอริยเจ้า…ไม่ใช่ 

พิจารณาให้ดีนะ ถ้าไม่มีอนิจจังก็คงจะไม่ตรัสรู้หรอก จะตรัสรู้ทำไมหละ จะอยู่ตลอดเท่าไหร่มันก็อยู่ได้ มันก็ไม่มีปัญหาสิ ก็เพราะอนิจจังนั่นหละ พระองค์ก็พิจารณาแล้วมันอยู่ไม่ได้ เพราะว่าอนิจจังมันไม่ได้เลือกหน้าซะแล้ว เราไม่อยู่ เราจะหนี ทีนี้อนิจจังจะหนีจากเรา มันเป็นไปไม่ได้ จะเป็นเราจะต้องหนี หนี พระองค์ก็หนีทางใจ หนีภายใน 

เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายให้พิจารณากันบ้าง ย้ำความคิดของตัวเองนั่นน่ะ ให้มันเกิดสติปัญญาขึ้นมาบ้าง ถ้าอย่างนั้นชีวิตของเราจะร่วงหล่นไปโดยไม่รู้ตัวนะ ทุกคนมันใกล้กันทั้งนั้น ใกล้ความเป็นอนิจจัง แล้วอนิจจังก็อยู่กับเราตลอดนะ ไม่ได้หนีนะ นั่นแหละเราคิดให้ดีนะ 

แต่ส่วนธรรมะเราทั้งหลายเราก็รู้กันมาหมดแล้วหละ ทั้งที่เราดูตำรับตำรากับครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เราก็ดูมาหม๊ด แต่ความเป็นอนิจจังน่ะมันยกเว้นเราหรือเปล่า ไม่มีการยกเว้นนะ ความแก่มันก็ไม่ยกเว้นนะ อย่างนี้เราก็พอที่จะเข้าใจแล้ว ทำอย่างไรใจของเราจะมีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วจะได้รวบรวมเอาซึ่งคุณธรรมอันธรรมะอันประเสริฐ อันเป็นของที่มีคุณค่าอันมหาศาล สามารถที่จะคุ้มกันเราที่จะไม่ให้เราไปสู่อบายภูมิได้ 

ธรรมะภายใน อย่าคิดว่าเราท่องได้แล้ว รู้แล้วจะไปคุ้มกันเลย อย่าไปคิดนะ ถ้าเรายังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ และลงมือกระทำที่จะให้มันเกิดผลอะไรขึ้นจากตัวเอง เราอย่าไปคิดง่ายๆนะ ถ้าความรู้อย่างนั้นมันป้องกันได้ หลักของการปฏิบัติก็คงจะไม่มี ก่อนจะมีหลักของการปฏิบัติ ก็เพื่อจะได้เอาหลักปฏิบัติ เอาคุณสมบัติอันเกิดจากการปฏิบัติเพื่อจะไปคุ้มกัน ก็คุ้มกันอบายภูมินั่นน่ะ 

เมื่อมันหมดอนิจจังนี่แล้ว มันก็ไปข้างหน้า มันมีสิ่งที่จะต้อนรับเราอยู่แล้ว คอยรับเราน่ะ ถ้าไม่อบายภูมิมันก็สุคติ ถ้าไม่สุคติมันก็อบายภูมิ มันก็มีอยู่สองทางเท่านั้น เรียกว่ากุศลธรรมกับอกุศลกรรม ถ้าเราจะพูดตามหลักธรรม อันนี้ให้เราพากันพิจารณากันบ้าง คิดแล้วมันก็คงจะไม่พ้นจากความเป็นอนิจจังหรอก อนิจจังแท้น่ะ วันสุดท้ายน่ะ คิดให้ดีเถอะ 

รีบเอาซะ คนไหนเอาได้ก็เอาซะ คนไหนได้แล้วก็รีบเร่งตัวเองซะ ที่ยังไม่ได้ก็ทำให้มันได้ซะ มันจะได้หมดปัญหากันเสียที ถ้าอย่างนั้นเราก็จะทำกันอยู่อย่างนี้ตลอดชาติ ชาตินี้ยังไม่แล้ว ชาติก็ยังจะมาทำอีก แล้วชาติไหนมันจะหมดกันหละ ถ้าเราไปชาติหน้า เราก็ไม่รู้อีกหละ ว่าเราจะได้ทำอย่างนี้หรือว่าการทำอย่างนี้อยู่ตรงนี้แล้วจะให้ผลงานเราอยู่ตรงโน้น จะไปรายงานเราอยู่ที่โน้นที่เราจะไปเกิด ก็ไม่รู้อีก ไม่รู้จะไปทำยังไง 

คิดแล้วมันมืด มันตื้นตันหมดหละ มันตันทางเราหมดหละมันมืดหละ ธรรมะก็ธรรมะไปเถอะ ใจมันมืด แต่ธรรมะน่ะมันดีแต่ใจมันมืด มันไม่รู้จักทางไป ไม่รู้มันจะไปไหนนะเดี๋ยวนี้นะ พูดกันตรงๆ ไม่ต้องไปพูดกันอ้อมค้อม แต่ว่าคนมันดีกันทุกคนหละ ที่ว่าไม่ดีมันก็ไม่มีหรอก เพราะได้เกิดมาเป็นคน มันก็ต้องดีกันทุกคน แต่ว่าจากคนไปน่ะ มันจะไปดีที่ไหน จะไปเป็นคนดีที่ไหน จะไปเป็นอะไรข้างหน้า เราก็หาทราบไม่ มันมืดไปหมดนะ มีอย่างเดียวก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น 

อ้างแค่นั้นหละว่าพระพุทธเจ้าว่าต้องไปดี ทำดีต้องไปดี ไปสู่สุคติ สวรรค์ สุคติก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน อยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ และจะไปด้วยวิธีไหน มียวดยานพาหนะหรือเปล่า ก็ไม่รู้อีกหละ ได้แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้เท่านั้น ในตำราเท่านั้น แต่ใจของเรามันยังไม่เห็นเหมือนพระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ มันจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า 

ถ้าใจของเราสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว สิ่งเหล่านี้นะไม่ต้องไปหายากหรอก มันจะต้องปรากฏในตัวเองนั่นหละ สุขัง สุปะฏิปันนัง ความเป็นสุขมันมีอยู่ในตัวเองนั้นน่ะ ถ้ามีความสุขก็คืออะไร นั่นหละสุคติ สุขมันสุขผิดปกตินะ ไม่ใช่ว่าสุขเหมือนกับเรากินข้าวอิ่มเนี่ยนะ ไม่ใช่อย่างนี้นะ มันสุข มันผิดปกติ สุขเอาจนมันจะละโลกนี้ได้ จนมันจะทิ้งบ้านทิ้งช่องหนีก็มีนะ ถ้ามันสุขจริงๆน่ะ ไอ้สุคติมันเป็นของมันในตัว แต่มันก็ไม่ไปหรอก แต่ลักษณะมันบอกเฉยๆหรอก มันก็ไปไม่ได้หรอก แต่ลักษณะมันบอกว่าสุขจริงๆ ไอ้ที่มันสุขจริงๆอย่างนั้นเรียกว่าสุคติ แล้วมันก็เห็นด้วยนะ 

อย่าไปพูดว่าตาใน เขาไม่มี อันนี้หละเรามันไม่มีตาใน มันจึงยาก ก็เลยไม่ได้เห็นอะไรเลย แม้อบายภูมิ พวกเดียวกันที่มันอยู่ตามสถานที่ต่างๆทั่วๆไป ก็ยังไม่เห็นกัน พอจะเห็นกันก็กลัวหละทีนี้ นั่น อันนี้มันพวกเดียวกันนะ เราก็ยังไม่เห็นกัน แล้วก็ยังกลัวกัน 

เพราะฉะนั้นทำจิตของเราให้มีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิซะ มันจะเป็นฌาน หรือจะเป็นญาณหรืออะไรก็ตาม ขอให้มันสงบเท่านั้นหละ แล้วมันจะเป็นไปยังไงในข้างหน้า เราจึงว่ากันในภายหลัง แต่ตอนนี้เรายังมืดมนอนธการอยู่ ยังหาหนทางที่จะไปไม่ได้ ฌานก็ฌานแต่ในหนังสือ ญาณก็ญาณเฉพาะหนังสือที่เราอ่านมา ฌานจิตฌานใจอยู่ตรงไหน ญาณจิตญาณใจอยู่ตรงไหน อภิญญามันอยู่ตรงไหน สมาธิมันอยู่ตรงไหน ความสงบมันอยู่ตรงไหน ปัญญาอยู่ตรงไหน อยู่กับจิตกับใจเรา ใจเราอยู่ตรงไหนน่ะ เราก็ยังหาได้เห็นไม่ เอามันลงตรงนี้หละ 

ถ้าได้ตรงนี้แล้ว การดำเนินจิตของเรานั้นก็จะเป็นไปด้วยความสะดวกและความสบาย และเราก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่เราจะต้องประสบ ถ้าไม่ถึงพระพุทธองค์ แต่ขอให้ได้ไปสู่สุคติ เหมือนพระพุทธองค์พูดเอาไว้เท่านั้น เราก็ยังพอสบายใจกันบ้าง และผลของการกระทำก็ยังมีที่จะรับรองได้บ้าง ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่มีอะไรที่จะมารับรองเราเล้ย ก็มีแต่ทำกับทำ เราก็ไม่รู้ว่าอะไรรับรอง ก็มีแต่เหมาให้กันว่าได้ก็ได้ทั้งนั้นหละ แต่ได้มันได้อยู่ แต่ได้น้อยหรือมากยังไงเราก็หาได้ทราบไม่ 

เพราะฉะนั้นการที่เราได้ชี้แจงแสดงมาก็จะสมควรแก่สมควรแก่กาละเวลา จึงขอยุติการแสดงเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้