Skip to content

หนทางเข้าสู่อริยมรรค

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

…(วีดีโอเริ่ม)ให้ไปในสิ่งต่างๆ มีความโกรธบ้าง ความรักบ้าง ความไม่ชอบใจต่างๆนานา ความโศกะปริเทวะบ้างอย่างนี้ เพราะใจนั้นน้อมไปตามอารมณ์ที่ใจของกิเลสระลึกขึ้นอย่างนั้น เมื่อสิ่งใดที่เป็นที่ชอบอกชอบใจ ก็ปลื้มปีติยินดีเพลิดเพลินกับสิ่งนั้น สิ่งใดที่ไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจ ใจนั้นก็เคียดแค้นเกิดอาฆาตคิดพยาบาทจองเวรสร้างเวรสร้างกรรมของใจเกิดขึ้น นี่อำนาจของกิเลสก็เพราะความหลง ความไม่รู้เท่าของใจคือเรียกว่าไม่มีสติกำกับ เพราะฉะนั้นการมีสติกำกับใจอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่าการที่จะปฏิบัติให้มีสติบริบูรณ์นั้นจะต้องอาศัยการอบรมนี่เอง 

อย่างที่เราฝึกหัดกระทำสมาธิกรรมฐานอย่างนี้เป็นต้น แต่ทีนี้ถ้าพูดนัยหนึ่ง การฝึกหัดอย่างนี้ก็มีมาตั้งแต่โบราณกาล แม้แต่พวกฤาษี หรือพวกอินเดียที่บำเพ็ญพรตเค้าก็ได้กระทำกันอยู่เหมือนอย่างเราทำสมาธิเหมือนกัน แต่นี้ถ้าสังเกตดูอย่างหนึ่งโดยมากพวกนั้นอาศัยเพ่งวัตถุภายนอก เล่นกสิณ เล่นลม เล่นสิ่งต่างๆอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเล่นอย่างนี้เป็นเล่นข้างนอก จิตใจนั้นก็เข้มแข็งเหมือนกันแต่เข้มแข็งเพ่งอยู่ภายนอก ครั้งหนึ่งได้ยินท่านอาจารย์ท่านพูดว่า ไปอินเดียแล้วก็ปรากฏว่ามีฝรั่งมา มีแขกคนหนึ่งนั่งเพ่งตบะนี่ เอาใบไม้มารวมๆกองเข้าแล้ว สามารถจะเพ่งให้ใบไม้นั้นลุกขึ้นมา ฝรั่งมาดูกันเห็นท่านว่าอย่างนั้น นี่ อำนาจของใจของเค้าก็มีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเหมือนกัน 

แต่พระพุทธเจ้าของเรานั้นไม่ทรงสรรเสริญในสิ่งเหล่านั้น ทรงสรรเสริญในอาสวักขยญาณ คือทำใจให้หมดไปจากกิเลส ตัวนี้เป็นสิ่งประเสริฐ พระองค์ทรงยกย่องอันนี้ เพราะสิ่งเหล่านั้นเมื่อบุคคลกระทำได้แล้ว ไปเพลิดเพลินกับงานการ กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือคลุกคลีกับหมู่คณะมากเข้า โดยไม่ได้บำเะญแล้ว ฌาณนั้นก็จะเสื่อมลง เสื่อมลงก็เหมือนอย่างคนธรรมดาเรานี่เหมือนกันอย่างนั้น ส่วนพระพุทธเจ้าของเราหรืออริยเจ้าผู้ที่สำเร็จทำอาสวักของตนให้สิ้นไปอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมจึงว่าไม่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะใจของท่านมันมีสติ มีความสังวรณ์ในเรื่องสติและก็สังวรณ์ในอารมณ์ของใจอยู่ได้ตลอด สิ่งใดจะเกิดขึ้น ความรู้สึกตัวนั้นมันก็มาทับของความที่เกิดขึ้นกับใจนั้น เมื่อรู้สึกอย่างนั้น มีสติระลึกอยู่อย่างนั้นแล้ว อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็ย่อมดับไป นี่เปรียบเทียบอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่างเรานี่เหมือนกัน เวลาภาวนานั้นก็ต้องอาศัยความสังเกตสังกาลำดับของใจลงไป เมื่อใจนั้นตั้งมั่นแข็งแรงมีสมาธิดีแล้วอย่างนั้นเป็นต้นก็ควรจะต้องพินิจพิจารณา อันนี้เป็นหลักสำคัญที่สุด 

การค้นคว้าพินิจพิจารณานั้นเมื่อยกจิตไปนึกถึงส่วนใดก็แล้วแต่ เมื่อวาระของจิตที่มันสมบูรณ์เต็มไปด้วยสมาธิอย่างนั้น สมมุติว่านึกไปถึงส่วนกายอย่างนี้ตั้งแต่หัวลงมาปลายจมูก ลงมาริมฝีปาก ลงมาคาง ลงมาลูกกระเดือก ลงไปไหล่ขวาไหล่ซ้าย เมื่อระลึกไปอย่างนั้น แต่ว่าลักษณะหนึ่ง ในการปฏิบัติเบื้องต้น นึกไปอย่างนี้ยังไม่มีทัศนะตัวนั้นเกิดขึ้น จะเห็นใจของเราที่วิ่งไปตามมีความรู้สึกวิ่งไปตามส่วนนั้น ยังไม่ค่อยจะปรากฏ เพราะอะไรจึงว่าเช่นนั้น เพราะความสมบูรณ์ของสติหรือปัญญายังไม่คุมกันเต็มที่ เมื่อตราบใดเราเร่งพินิจพิจารณาลงไปอย่างนั้น จนมีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญพิจารณาอยู่ได้ตลอดเวลา เป็นเวลาตั้งชั่วโมง สองชั่วโมงอย่างนี้ ใจนั้นไม่คิดไปในอดีต ไม่คิดไปอนาคต มีจำเพาะกายของเราลงไปอันเดียว ตั้งแต่เบื้องบนลงไปปลายตีน นับจากปลายตีนขึ้นมาอย่างนี้ก็เคยบรรยายอยู่บ่อยๆ แต่ว่าหลวงพ่อหลวงตาไม่ค่อยจะมีเรื่องเทศน์ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาเทศน์ มันเป็นอย่างนั้น ก็ต้องว่าซ้ำว่าซากอย่างนี้

นับตั้งแต่เล็บหัวนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อยของขาขวาลงไปเรื่อยๆอย่างนี้ ใจนั้นจะเบิกบานชุ่มชื่นแจ่มใสปลอดโปร่ง สติแจ่มใสบริบูรณ์อย่างนั้น มีความร่าเริงคล่องแคล่ว ใจนั้นอาจหาญ มีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวลงไปทุกประการ เมื่อใจลงเป็นอย่างนั้นแล้ว มันน้อมไปส่วนตามที่ข้อของนิ้วหัว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย มีกี่ข้อ มันก็ตามรู้สึกไปอย่างนั้น สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งขึ้นมาถึงตาตุ่มเบื้องขวา ตาตุ่มเบื้องซ้าย ขึ้นมาตลอดถึงน่อง ถึงหัวเข่า ถึงสะโพก ถึงบั้นเอว เมื่อเสร็จจากบั้นเอวก็ลงไปปลายตีนอย่างนั้นอีก ตั้งแต่นิ้วหัว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย ตัดไปตามลำดับอย่างนั้นตลอดไปอย่างนี้ ใจนั้นก็ไม่วอกแวกไปในที่ใด อยู่จำเพาะเรื่องของกาย 

อันนี้ถ้าลำดับของจิตบุคคลเพลินไปอย่างนั้นแล้ว ก็ยังมีบาลีอันหนึ่งว่า เอกายโน อยังมัคโค แต่ว่าจะผิดถูกอย่างไรนี้ อาตมาก็ไม่เข้าใจบาลี เพราะฉะนั้นพวกท่านก็จงใคร่ครวญดู เมื่อใจเป็นหนึ่งอยู่อย่างนั้นกับการค้นคว้าพินิจพิจารณาอยู่ในกายของเราอย่างนี้โดยจำเพาะอย่างนี้ เข้าใจว่าจะเป็นหนทางเข้าไปสู่อริยมรรค เข้าใจอย่างนั้น แต่ก็ต้องวินิจฉัยดู พินิจพิจารณาดูด้วยกำลังของเราเองที่เราประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นไปอย่างไร แล้วเมื่อกำหนดพิจารณาไต่ขึ้นไปตามลำดับอย่างนั้น จนมาถึงบั้นเอวขึ้นไปอีก จากบั้นเอวขึ้นมาก็นับจากกระดูกสันหลังขึ้นมาตลอดถึงคอ จากคอลงไปก็นับตับไตไส้พุงไส้น้อยไส้ใหญ่ เอ็น จนกระทั่งถึงน้ำดีแล้วก็ตับไตมาถึงหัวใจ แล้วก็ซี่โครงเบื้องขวามีกี่ซี่ แต่การทำอย่างนี้ก็เรียกต้องประมาณ การใช้ปัญญานั้นเราอย่าเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นเอง ต้องเข้าใจว่าต้องนึกอย่างนี้แต่จะผิดถูกอย่างไรขอให้ท่านทั้งหลายจงใช้ปัญญาใคร่ครวญดู การภาวนาที่เรียกว่าใช้วิปัสสนาก็จะต้องคิดอย่างนี้ ดำเนินอย่างนี้เอง ไม่ใช่ว่าเมื่อใจเป็นสมาธิแล้วเกิดมีธรรมะผุดขึ้นอย่างนั้น มันอีกส่วนหนึ่ง แล้วเรียกว่ามีปัญญา นั่นมันส่วนหยาบ ไม่ใช่ส่วนละเอียด 

ถ้าส่วนละเอียดจำเป็นจะต้องอบรมในสิ่งเหล่านี้ขึ้นไปเบื้องต้นก่อน เมื่อเราไต่ไปตามลำดับอย่างนั้นถึงซี่โครงเบื้องขวาเสร็จแล้ว ก็เอาซี่โครงเบื้องซ้ายฟันออกเป็นชิ้นส่วนๆเล็กๆน้อยๆไปตามลำดับของใจอย่างนั้น ใจนั้นไม่แยกไปในที่ใดเลยอยู่ตามลำดับโดยที่เราบังคับให้ค้นคว้าพินิจพิจารณาอยู่อย่างนั้นอยู่ตลอด จนกระทั่งขึ้นมาบนถึงศีรษะ เจาะตาขวาตาซ้ายจมูกขวาจมูกซ้าย คิ้วเบื้องขวาคิ้วเบื้องซ้าย เปลือกตาเบื้องขวาเปลือกตาเบื้องซ้าย ตลอดหมดถึงฟันเฟินลิ้นแก้มที่คางนับไปได้ตลอดอย่างนั้นเสร็จแล้ว ก็ต้องเอาเดินอย่างนั้นลงไปอีก เอาตั้งแต่หูขวาหูซ้าย ตาขวาตาซ้ายเดินไปอย่างนี้ แต่ลักษณะของการเดินอย่างนี้ ใจนั้นไม่ได้หยุดนิ่ง แต่หยุดนิ่งเหมือนกันแต่นิ่งอยู่ในสภาวะที่คิด คิดนึกอยู่อย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่นิ่งอย่างอุเบกขา นิ่งอย่างนี้ นิ่งอยู่ในการค้นคว้าพินิจพิจารณานึกไปอยู่ตามลำดับของใจอย่างนั้น อย่างนี้จึงเรียกว่าปัญญาประกอบไปด้วยสมาธิ 

เมื่อพิจารณามากเข้าๆ น้อมไปตามอย่างนี้เรื่อยลงไปถึงเบื้องล่างอีก จากเบื้องล่างขึ้นมาอีกอย่างนี้สองตลบอย่างนี้ ใจนั้นจะยิ่งปลอดโปร่งแช่มชื่นผ่องใสหาที่จะประมาณไม่ได้ เต็มไปด้วยความร่าเริงของใจอันนั้นชุ่มชื่นที่สุด เมื่อพิจารณาอย่างนั้นแล้วเราเห็นพอสมควรก็มาพัก ลำดับพักใจอย่างนั้นก็เป็นชั่วโมงหนึ่งก็ได้ ลำดับพิจารณาอย่างนั้นก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณาอย่างนั้นก็ต้องกินเวลาเป็นชั่วโมง นี่ เมื่อสมาธิอย่างนั้นแหละเรียกว่าเป็นสมาธิที่สมควร 

เพราะฉะนั้นการค้นคว้าพินิจพิจารณานี่เป็นสิ่งสำคัญของนักปฏิบัติเรา ถ้ามัวแต่จะกดใจให้เป็นสมาธิอันเดียวอยู่อย่างนั้น มันก็ดี ดีส่วนนั้น แต่ไม่ดีส่วนสูง เสียส่วนสูง เพราะว่าความก้าวหน้าเข้าไปที่จะไปสู่ปัญญาไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะเกิดขึ้นอย่างนั้นก็อย่างที่แสดงนี่แหละ ก็ต้องอาศัยการคิดนึก การปรุงของใจไปตามอวัยวะร่างกายของเรา อย่าให้ไปนอกรีตนอกราว ไปเอาธรรมะข้อนั้นมาคิด เป็นอย่างนั้นใจลำดับนี้จะเป็นธรรมะข้อนั้นอย่างนี้ นั่นอย่างนั้น เมื่อหมดจากข้อนั้นก็ไปเอาข้อนี้มาคิด มันเวียนแยกแยะไปอย่างนั้น ก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่ก็ต้องดูอีกทีหนึ่ง ในลำดับที่เราคิดอย่างนั้น พิจารณาธรรมะอย่างนั้น ยังมีใจแยกแยะไปคิดในอารมณ์อันใดบ้าง นี่ เพราะว่ายังมีใจที่แยกแยะไปคิดในอารมณ์ต่างๆอย่างนั้นแล้ว ต้องทวนกลับมาใหม่ มาทำใจให้สงบแล้วจึงค่อยไปค้นใหม่ นี่ก็ได้เหมือนกัน นี่ ต้องสังเกตอย่างนี้

เนี่ยนักปฏิบัติจำเป็นจะต้องสังเกตสังกาว่าใจของเรานั้นมีกำลังเพียงพอขนาดไหน การจะค้นคว้าก็เหมือนกัน แต่ว่าเมื่อกำลังของสมาธิมีแล้วก็สมควรที่จะค้นคว้าพินิจพิจารณาร่างกายตัวนี้เอง เป็นของที่หวง เป็นของที่สงวน รักยิ่งกว่าอะไรๆที่สุดในโลกแล้ว เพราะฉะนั้นเราค้นคว้าลงไป เมื่อค้นคว้าลงไปอย่างนั้น บางครั้งบางคราวก็เกิดปฏิภาคขึ้น เรานึกส่วนใดให้หลุด อย่างสมมุติว่าหัวของเราให้หลุดไปอย่างนี้ มันก็ปรากฏขึ้นมา หัวหลุดไป หลุดไปมีเลือด นึกเป็นเลือด มันก็เป็นเลือดออกมา เมื่อนึกให้กะโหลกนั้นขาวอย่างนั้นก็ขาว เป็นครั้งเป็นคราวอย่างนี้ นี่เรียกว่าสมาธิของเราดี แล้วอย่างนั้นก็แสดงว่าเป็นปฏิภาคได้ ลำดับอย่างนี้เมื่อได้ค้นคว้าพินิจพิจารณาลงไปมากๆเข้าแล้ว มันจะเกิดธรรมสังเวช เกิดความสังเวชสลดใจว่าชีวิตของเรานี้มันจะต้องตายแน่อย่างภาพที่ปรากฏ โดยน้ำหูน้ำตาที่ไหลเกิดขึ้นนั้น ท่านเรียกว่าปีติชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ได้ไปใจนึกคิด แต่ว่าลักษณะนั้นเป็นขึ้นเองโดยธรรมชาติของใจที่ได้อบรมเป็นสมาธิแล้ว เมื่อถึงจุดอย่างนั้นเข้า ก็จะต้องเป็นถึงจุดนั้นในแบบแผนตำราท่านแสดงไว้ก็มีอยู่ นี่ 

เพราะฉะนั้นเราจำเป็นอย่างยิ่งอย่าให้ใจที่สงบอยู่แล้ว นิ่งปล่อยเฉย เพ่งอยู่อย่างนั้น มันก็ได้ประโยชน์อยู่ชั่วระงับดับอารมณ์ไปชั่วครั้งชั่วคราวในขณะที่นั่งเท่านั้น ส่วนเวลาเลิกแล้ว อารมณ์ก็เข้ามาหนุนใจของเราอีก บางทีก็ต่อไปคืนรุ่ง รุ่งขึ้นก็ทำไม่ได้เสีย อย่างนี้ ขาดความชำนิชำนาญ เมื่อบุคคลใดมาค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างที่บรรยายเบื้องต้นอย่างนั้นแล้วนั่นแหละ ต่อไปเมื่อความชำนิชำนาญมีขึ้นแล้ว เมื่อยกจิตขึ้นไปค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างของท่านผู้ที่ชำนาญอย่างนี้ จะนึกไปถึงตา ความรู้สึกตัวนั้นคล้ายๆสัมปะชัญญะ สติระลึก จิตระลึกไปอย่างนั้น สัมปะชัญญะมันจะครอบตามไปเหมือนอย่างเงาที่ตามเราไปเดินไปอย่างนั้น ไปที่ไหนก็คล้ายๆมีอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา นึกไปอย่างนั้น สติบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นหลวงตาก็นึกขึ้นได้อันหนึ่ง ในโอวาทปาฏิโมกข์ท่านแสดงว่า สติ วินโย ทาตพฺโพ นี่ให้สติเป็นวินัย นี่ ศีล ๒๒๗ ที่แสดงในพระปาฏิโมกข์นั้น ให้มีสติเป็นวินัย ท่านแสดงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนี่แหละการที่เราบำเพ็ญทุกชนิดหรือจะทำสมาธิต่างๆนานาเหล่านี้ ทำแต่พิธีใดให้เกิดใจสงบ ก็ต้องการเข้าไปสู่จุดศูนย์กลางของความที่จะให้เกิดสติปัญญาตัวนี้เป็นหลักสำคัญ เรื่องของพระพุทธศาสนาก็มีจุดใหญ่ที่เราอย่างนี้เอง เพราะฉะนั้นเมื่อเราเน้นค้นคว้าลงไปมากเท่าไหร่ ใจนั้นไม่ส่ายไปในอดีตไม่อนาคต มีจำเพาะความคิดนึกที่เป็นปัจจุบันตัวเดียวอยู่จำเพาะใจอย่างนั้น 

เมื่อมันพอของมันลงไปอย่างนั้นแล้ว ถึงธรรมชาติเต็มที่คือเรียกว่าอิ่มตัว ใจนั้นจะดีดออก คือเรียกว่าอารมณ์นั้นขาดไปบางครั้งบางคราวก็ไม่รู้สึกตัว ขนาดขาดขนาดนั้นโดยที่คิดๆอยู่มันก็วูบ ดับไปอย่างนี้ เหลือใจที่บริสุทธิ์ เที่ยงตรงนั่งเฉยแจ่มใส จะว่าแจ่มใสก็แจ่มใส จะว่าเบาก็ว่าเบา จะว่าสบายก็สบาย จะว่าอะไรก็แล้วแต่ในที่นั้นมันเป็นอย่างนั้น นี่ เมื่อเราได้กระทำอย่างนี้มากเข้าๆ วันรุ่งขึ้นเราก็เข้าไปกำหนดพินิจพิจารณาอย่างบรรยายเบื้องต้นนั่นแหละ เอาอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา 

ได้อ่านหนังสือของสามเณรประมัย สามเณรประมัยองค์นี้ มีคนรู้สึกว่าชื่นชมกันมาก แล้วท่านบรรยายไว้ทีหนึ่งว่า นักปฏิบัติคนใดถ้าเป็นนักปฏิบัติที่เป็นนักกายวิภาคแล้ว จะเป็นนักปฏิบัติที่ใช้ได้คนหนึ่งท่านบรรยายใจความที่หลวงตาจำมาได้ข้อย่ออันนี้ แต่มันกินใจความลึกถึงใจจริงๆ ไม่รู้ติดอกติดใจยังไงก็ไม่รู้ มันถูกนิสัยกันยังไงก็ไม่รู้ นี่เป็นอย่างนั้น แล้วก็โดยมาก ผ่านมาหรือได้ยินกับหูเอง ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติกันก็โดยมากมาเน้นในเรื่องกายเนี่ยมากที่สุด อย่างหลวงพ่อบัวที่เสียไปอยู่ที่ถ้ำหนองแซง สมัยหนึ่งอาตมาขึ้นไปทำศพครูอาจารย์มั่นท่านแล้วก็ท่านอาจารย์มหาบัวท่านมากระซิบบอกว่าหลวงพ่อนี่กำลังเป็นปฏิภาคเก่งเจี๊ยะเอ๊ยหวะ นี่เป็นอย่างนั้น แล้วก็มาสังเกตดูโดยมากก็แทบทุกองค์ไปอย่างนั้น หนักไปในการค้นคว้าพินิจพิจารณาร่างกายนี่เป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนสำคัญ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ถือเป็นคติของพวกเราเพราะท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่มีกิตติศัพท์กิตติคุณเลื่องลือ จนกระทั่งที่พวกเรานับถือกันนั้นน่ะ อย่างครูบาอาจารย์ขาว หลวงพ่อบัวนี่ ผู้ที่ล่วงแล้วไปอย่างเนี้ย เพราะฉะนั้นก็ถึงว่านี่เป็นคติของพวกเรา ก็หยิบยกมาชี้แจงแสดงให้ฟังพอเป็นคติแนวทางของการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเมื่อเราปฏิบัติใจรวมลงไปแล้ว ก็ขอให้ค้นคว้าพินิจพิจารณานี่แหละเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อย่าได้นิ่งนอนใจ อย่าเสวยอยู่แค่สมาธิเท่านั้น เมื่อสมาธิเสื่อมก็ต้องไปเจริญใหม่ นี่มันเป็นอย่างนั้น

เมื่อมันค้นคว้ามีความชำนิคล่องแคล่วชำนิชำนาญจนได้ความจริงเกิดขึ้นกับใจของตัวเราเองแล้ว อันนั้นประจักษ์ใจแท้เลยเพราะใจนั้นขาดจากนิวรณธรรม ขาดจากความปรุงความแต่งอะไรทั้งหมดเหลือใจที่เป็นบริสุทธิ์เที่ยงตรงอยู่อย่างนั้น แยกตัวออกจากกัน ท่านจึงจัดว่าได้สำเร็จ พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัต อรหันต์ ก็คงจะเป็นอย่างนี้ประมาณเอาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนี่แหละ…เพราะฉะนั้นบางคนเมื่อปฏิบัติไปๆแล้วยิ่งเกิดความเลื่อมใสสนิทสนมขึ้นตลอดเวลา ไม่มีการจืดการจางก็เพราะคงจะเป็นอย่างนี้เอง คือให้หนักแน่นอยู่ในธรรมวินัยธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้อย่างครูบาอาจารย์ของเรา ก็คงจะเป็นอย่างนั้น นี่ จึงมีความหนักแน่นจึงทรงไว้ซึ่งธรรมวินัย มาสอนกุลบุตรกุลธิดาทั้งหลายจนสืบเนื่องมาจนถึงพวกเรา อย่างท่านอาจารย์นี่เป็นต้น แล้วก็ครูบาอาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์อย่างนี้ เป็นบุพพาจารย์ที่ได้แนะนำพร่ำสอนกันก็มาสืบเนื่องกันจนมาถึงพวกเรา เพราะฉะนั้นขอให้อุตส่าห์ตั้งใจ เมื่อใจนั้นสงบแล้วต้องค้นคว้าพินิจพิจารณาให้มากๆลงไป อย่าได้นอนใจ อันนั้นเป็นหลักสำคัญ

เมื่อค้นลงไปแล้วอย่างนั้นเราก็ต้องสังเกตอีกเหมือนกัน การค้นคว้าถ้าไม่ถนัดทางกายก็มาค้นเรียกว่าค้นอารมณ์ นึกอารมณ์อันใดที่เราติดอกติดใจที่เกิดความรักใคร่ ความเคยเคียดแค้นอันใดอันหนึ่งเข้ามาค้นคว้าพินิจพิจารณาหาความจริง แต่ว่าอีกนัยหนึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นอดีต ถ้าเมื่อเรามีสติปัจจุบันธรรมแล้วมันย่อมฆ่า ปหานะ ย่อมประหารสิ่งเหล่านั้นไม่ให้เข้ามาอยู่ในหัวใจของเราได้ นี่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเมื่อมันได้ถึงที่ถึงฐานมีความรู้ความฉลาดเกิดขึ้นกับใจของบุคคลผู้นั้นแล้วจึงเป็นผู้ที่มีความหนักแน่น มีความที่เลื่อมใสไม่เสื่อมคลายจากพระพุทธศาสนาอย่างครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติกันมานี่แหละเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นให้พวกเราได้ตั้งอกตั้งใจ ก็เข้าพรรษามาได้ครึ่งเดือนแล้ว ก็ต้องพากันขมักเขม้นหน่อย อย่าท้อถอย 

แล้วกำไรถ้าคิดดูในเรื่องโลกแล้ว เกิดมาก็ต้องมีครอบมีครัวมีลูกมีหลานเต็มไปด้วยความกังวล ทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีเวลาหยุดเวลาหย่อน เหนื่อยแสนใจแทบขาด ยิ่งขายดียิ่งเหน็ดยิ่งเหนื่อย เหงื่อไหลไคลย้อยเต็มไปทั้งตัว ตัวเหม็นสาปเหม็นแสง หน้าตางี้เหงื่อไคลเต็มที่หมดก็ยังมัวเมาอยู่ ไม่เห็นภัยเลย มัวแต่สนุกสนานจะได้เงินอย่างเดียวเอาเงินอย่างเดียวอย่างนี่แหละ เพราะฉะนั้นนี่ว่าถ้ามองดู มองดูในขณะที่เราพิจารณาแล้วหรือมองดูในขณะที่เราภาวนาอย่างนี้แล้ว โดยที่คิดลงไปที่ใจอันเดียวนั้นว่า เราตายแล้วมันมีอะไร ในชีวิตมันมีอะไรตรงไหน แม้แต่ร่างกายที่ของที่เรารักเราสงวนเขาก็ต้องเอาไปเผาไฟ นี่ ไม่มีอะไรเลย ชีวิต เพราะฉะนั้นเมื่อตายแล้วมันก็หมดห่วงหมดอาลัย แต่ทีนี้เมื่อใจนั้นยังไม่ขาด มันก็ห่วงอาลัย มันก็ต้องไปเกิดอีก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเอาสิ่งนั้นแหละ ถ้าเราพิจารณากายไม่ได้ก็ต้องเอาสิ่งที่เราติดที่เราข้องเรื่องโลกเรื่องสงสารอันใดที่เป็นจุดใหญ่ที่ทำหัวใจให้ลุ่มหลงเพลิดเพลิน อันนั้นก็ต้องเอามาคิด เอามาพิจารณา มันดีมันเอร็ดอร่อยอะไรการบริโภคเข้าไปอย่างนั้น แล้วมีอะไรที่เป็นคุณเป็นประโยชน์กับเราในขณะที่เรามาพิจารณาอย่างนี้แล้ว นั่นหละ

ใจมันก็จะได้ถอดถอนเห็นโทษกับสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เมื่อเห็นโทษสิ่งเหล่านั้นแล้ว มันก็เกิดความเบื่อหน่าย ท่านจึงว่า นิพพินทัง วิรัชชะติ เกิดความเบื่อหน่ายในความคิดความนึกความปรุงกับเหตุการณ์ที่ได้ผ่านมาอย่างนั้น ใจนั้นมันก็เกิดความเบื่อความหน่าย เมื่อเกิดความเบื่อความหน่ายในแบบนั้นก็ว่าคลายความกำหนัด ไม่ยินดีกับสิ่งเหล่านั้นขึ้นอีก อย่างติดรูป เมื่อได้พิจารณาอย่างนั้นแล้วมันก็ไม่ติดรูป นี่ เป็นอย่างนั้น เมื่อใจได้เป็นอย่างนั้นแล้ว แล้วท่านก็บอกว่า วิราคา วิมุจจติ ก็เป็นวิราคะธรรม คายถึงซึ่งความกำหนัดยินดีในรูปในเสียงในกลิ่นในรสสัมผัสธรรมารมณ์อย่างเมื่อกี๊พระท่านบรรยายนั่นแหละ จนกระทั่งถึงที่สุดจิตนั้นก็หลุดพ้น นี่ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนี่เราทุกคนที่เข้ามาประพฤติปฏิบัติ มีความหวังก็ต้องการจะหลุดพ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องอุตสาหะ พากเพียรพยายาม คนอื่นทำไมเค้าทำได้ เราทำไมทำไม่ได้ เราต้องคิดอย่างนั้น มีมานะของใจ ต่อสู้ของใจ บังคับใจอย่าให้ไปเที่ยวเหลาะแหละ โลเลเอาอ้างอันนั้นอ้างอันนี้มา มากีดกันความดีของเรา ตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ 

เราเมื่อมีกำลังดีแล้ว จะหยุดซักสามปีสี่ปีก็ไม่เป็นไร เพราะกายไม่กระทำแต่ใจมันกระทำอยู่ตลอดเวลา ใจนั้นมันกระทำเป็นสำคัญกว่าทางกาย ทำงานทำการมันก็ทำอยู่ ใจตัวนั้นมันก็คอยปราบเหมือนยามที่เฝ้าถือปืนกลอยู่อย่างนี้ หันซ้ายหันขวาอยู่ตลอดเวลา โจรผู้ร้ายไม่สามารถเข้ามา เหมือนสติเมื่อมันฝึกหัดพอสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว มันรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ใจจะคิดไปในที่ใดมันก็บังคับได้ นี่เป็นอย่างนั้น นี่ของท่านเหล่านั้น ท่านก็คงเป็นอย่างนั้น นี่แหละเพราะฉะนั้นศาสนธรรมคำสั่งสอนที่หยิบยกมาแสดงก็ซ้ำๆซากๆเพราะหลวงตามันไม่ค่อยมีปฏิภาณ ก็ต้องว่าซ้ำๆอย่างนี้เอง เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายเมื่อได้สดับตับฟังแล้วจงโอปนยิโก น้อมนำไปพินิจพิจารณา เห็นสิ่งใดดี สิ่งใดสมควร… (วีดีโอจบ)