หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
การนั่งสมาธิภาวนาให้ถือว่าเป็นข้อวัตรปฏิบัติของตนเอง ไม่ใช่ว่าผู้อื่นบอกให้นั่งจึงนั่ง ให้ถือว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งให้มีการอย่างน้อยนั่งสมาธิภาวนาคืนละสองครั้ง หัวค่ำหนึ่ง ตอนเช้าหนึ่ง ถ้าอย่างมากก็เรียกว่าให้ได้มากกว่านั้น เพราะว่าการนั่งสมาธิภาวนานี้เป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจของตน ใจคนเรานั้นมันไม่เหมือนกัน มีความคิดความเห็นปรุงแต่งมากมายหลายอย่าง ถ้าเราไม่ภาวนา ไม่พิจารณา ก็ว่ามันเหมือนๆกัน คนเรามันไม่เหมือนกัน บางคนนั้นทำไปโดยทำไปโดยความไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงมีการฝึกฝนอบรม โดยเฉพาะคือว่าหัดนั่งขัดสมาธิเพชรให้ได้ เป็นข้อที่หนึ่ง ถ้าหากว่านั่งขัดสมาธิเพชร เอาขาซ้ายขึ้นมาทับขาขวา เอาขาขวาขึ้นมาทับขาซ้าย เอามือข้างขวาวางทับมือข้างซ้ายก็ไม่ได้ ก็แล้วว่ายากอยู่ เราต้องทำให้ได้ เว้นเสียแต่คนแก่คนชราเกินไป คนเรายังเด็กยังหนุ่มยังแข็งแรงอยู่ ให้ทำให้ได้ หัด เป็นการฝึกหัด
กายแม้จะไม่เอาไปสวรรค์นิพพานก็ตาม เวลาเราฝึกกาย มันก็เกี่ยวกับการฝึกใจเหมือนกัน เพราะใจของคนเรามันมาอยู่ในกาย ในรูปร่างกายนี้ เมื่อกายของเรานั่งสมาธิภาวนา ไม่ได้ไปที่ไหน อยู่ในท่าสงบหลับตา ทีนี้จิตใจมันก็คล้อยตาม เรานึกพุทโธอยู่ ใจเราเพ่งอยู่ในองค์พุทโธ จิตมันก็มาอยู่ในองค์พุทโธนั่นแหละ คืออยู่ที่เราฝึกฝนอบรม ฝึกอย่างใดอบรมอย่างใดมันก็ไปอย่างนั้น กายกับใจมันอยู่ด้วยกัน เมื่อกายทำภาวนาอยู่ จิตมันก็ต้องภาวนา รวมกันเข้า กาย วาจา จิต จะรักษาศีลก็กาย วาจา จิต จะนั่งสมาธิภาวนาได้ ก็กาย วาจา จิต มันเกี่ยวโยงกัน จะเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ก็เพราะด้วยกาย วาจา จิตนี่เอง จึงจะรู้ได้ เข้าใจ พร้อมด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ากายจะดีเท่าไร ใจเสียก็ใช้ไม่ได้ ใจก็ต้องดีมีศรัทธาเลื่อมใสในการปฏิบัติบูชานั่งสมาธิภาวนา ดูใจบางคนว่า เกิดเป็นใจใบ้ใจบ้า เสียจริตผิดมนุษย์ ร้องไห้น้ำตาไหล ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว คือว่าใจมันเสีย ใจบาป เรียกว่าใจบ้าใจใบ้ ถึงขั้นนั้นก็ทำไม่ได้อีกเหมือนกัน
มนุสสปติลาโภ การเกิดมาเป็นคนเป็นมนุษย์ มีกายดี มีใจดี พร้อมด้วยมีศรัทธาความเชื่อในคุณพระพุทธเจ้า มีศรัทธาความเชื่อในคุณพระธรรม มีศรัทธาความเชื่อในคุณพระอริยสงฆ์สาวก ว่าพระสาวกของพระพุทธเจ้านั้น ล้วนแล้วแต่ท่านภาวนาทำความเพียรละกิเลส ไม่ใช่มรรคผลนิพพาน ศีล ทานมันเป็นไปเอง ไม่ใช่มันไหลไปเองเหมือนน้ำ จิตใจคนเรานั้นจะดีขึ้นมาต้องทำดี เรียกว่าบำเพ็ญทาน รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ พร้อมด้วยการสดับรับฟังพระธรรมคำสั่งสอน ประพฤติตัวให้ดี ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตทั้งใจ จึงรวมลงไปว่าพุทโธอยู่ในดวงใจ บริกรรมพุทโธ เมื่อบริกรรมพุทโธ จิตก็รวมลงในพุทโธนั้น คือจิตไม่วุ่นวายภายนอก จิตภาวนาได้ทุกลมหายใจ จิตสร้างคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นอยู่ทุกวันทุกคืน ไม่ได้ทอดธุระ ถ้าจิตของผู้ใดไม่ภาวนา มองไม่เห็นคุณงามความดีที่ตัวประพฤติมาและประพฤติอยู่ เป็นต้นว่าออกพรรษาแล้วจิตก็ฟุ้งซ่านรำคาญ ภาวนาอยู่ไม่ได้ จะต้องหอบถุงใหญ่ หอบบาตร หอบไม้ไผ่ไปทำกลดอยู่โน่น เมืองอีสาน อันนี้คือว่าจิตฟุ้งซ่าน บ่ภาวนา
ดังนั้นเราต้องตั้งใจ อย่าไปให้มันฟุ้งซ่านออกไปตามอำนาจของตัณหา อันตัณหาท่านแปลว่าความอยาก ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากมี เกินที่มันเป็นมันมี เกินบุญบารมีที่ตนจะได้จะถึงเป็นทุกข์ มันจะนำความทุกข์มาให้ จะมีความร้อนไหม้ในหัวใจไม่จบ จิตไม่ภาวนา บางอาจารย์ท่านว่า จิตใจคนเรานั้นถ้ามันไม่สงบระงับไม่ภาวนา เปรียบเหมือนสุนัข สุนัขเป็นบาดเป็นแผลในหัวของมัน ไปนอนที่ไหนก็ไม่สบาย คือมันมีหนอนอยู่ใน ไชกินเนื้อหนัง กินเนื้อของสุนัขอยู่ นอนที่นี้มันก็ที่นี้ไม่ดี ลุกจากที่นี่ไปนอนที่โน้น ก็ไม่สบายอยู่นั่น มันมีหนอน มันมีหนอนไชกินเนื้อหนังของสุนัขนั้น เขาให้ชื่อเรียกว่าหมาหัวบาตร หมาหัวบาตร หมาที่มันเป็นบาดเป็นแผล ไปนอนที่ไหนก็ทุกข์เท่าเก่า ที่ความนึกความคิดของเราทุกคน ถ้าคิดไปในทางที่ไม่ดี มันเปรียบเหมือนอย่างว่าสุนัขหัวบาตร หมาหัวบาตร มันร้อน อยู่ที่ไหนก็ร้อน มันมีเหตุปัจจัยอยู่ในนั้น ถ้าบาดแผลมันหายดี หมาตัวนั้นก็นอนที่ไหนก็สบาย หลับได้
คนเราถ้าตั้งอยู่ในทาน ในศีล ในภาวนาพุทโธ ไม่ประมาท อยู่ที่นี่ก็ภาวนา ไปที่อื่นก็ภาวนา ร่างกายสังขารที่เรามายึดมาถือว่าตัวเราของเรา จะกำหนดอันใดมันมีอยู่เต็มตัวด้วยกันทุกคน เราจะกำหนดว่าร่างกายนี้เป็นก้อนอสุภะคือไม่งาม ก็ดูเถิด ที่ไหนมันสวยมันงาม ร่างกายที่มีหนังหุ้มอยู่ ถ้ามีบาดแผลถูกมีดบาดเข้าไป เอาหละ มีเลือดไหลออกมา ในร่างกายของคนเรามันไม่ใช่ที่เหมือนเราตาดูผิวเผินไม่พิจารณา น้ำเลือดน้ำเหลืองอยู่เต็มตัวตลอดทุกคน ยังมีชีวิตอยู่ก็แสดงถึงอสุภกรรมฐาน มีอยู่นั้น ถ้าเราตายเมื่อใดละ ยิ่งเน่าใหญ่
ฉะนั้นธุดงค์ข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอนสาวกในครั้งพุทธกาลว่า โส สานิกังคะ อยู่ป่าช้า เยี่ยมป่าช้า ไปภาวนาในป่าช้า การไปป่าช้านั้นเพื่อจะได้รู้ว่าคนเราที่เกิดมานี้ต้องตาย ถ้าตามธรรมดาถ้าไม่ไปป่าช้ามันเห็นได้ยาก ถ้าไปป่าช้าธรรมดาโลก บ่แม่นป่าช้าเตาเผาเหมือนสมัยนี้ เวลาคนตายที่บ้านที่เมือง เค้าจะหามกันมา ลากกันมา ใส่รถใส่ล้อมา มาเผาในป่าช้า ทีนี้ถ้ามันเกิดโรคระบาด ตายมาก เผาก็บ่ทัน ฝังก็บ่ทัน เขาก็เอามาทิ้งไว้เฉยๆ มาถึงป่าช้าแล้วก็ทิ้งไว้นั้น สมัยก่อนมีอีแร้งอีกาเยอะ บ่เหมือนสมัยนี้ อีแร้งอีกาก็มาจิกกินซากศพ ถ้าพระภาวนา พระกรรมฐานไปอยู่ป่าช้า ก็จะได้เห็นบ้างว่า เอ…ร่างกายของมนุษย์นี้ ตายแล้วก็เป็นอาหารของหมาของสุนัขบ้าน สุนัขป่า เป็นอาหารของอีแร้งอีกามากิน แล้วก็นอกนั้นจะมีกลิ่นเหม็น กลิ่นเหม็นกลิ่นคาวให้เรารู้ว่า ตัวคนเราทุกคน ตัวเราเนี่ยแหละ ก็เหมือนกันที่เค้าที่ตายไป คือคนในโลกมันตายอยู่ตลอดเวลา ต้องนึก ต้องเจริญให้เห็นว่าอะไรทั้งหมดมันไม่ใช่ว่า มันจะมั่นคงถาวรยั่งยืน หรือว่าไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีไข้ ไม่มีตาย ไม่มี ตายแล้วเป็นอย่างใด ท่านจึงให้กำหนดว่าร่างกายของตัวเองนั้น ยังมีชีวิตอยู่เป็นยังไง เวลามันตายแล้วเป็นยังไง เราจะได้เห็น ถ้าอยู่ป่าช้า ภาวนาในป่าช้าจะเห็น ซากศพที่ขึ้นอืด เขียวหมดตัวก็จะได้เห็น ถ้าเห็นเข้าแล้วก็เรียกว่าจิตใจเกิดความสลดสังเวช ในร่างกายของมนุษย์ ว่าไม่ใช่ของมั่นคงถาวรยั่งยืนประการใด เป็นก้อนอสุภกรรมฐาน
บางคราวบางสมัยเวลาตาย บางคนก็เป็นโรควัณโรค คราวหนึ่งอยู่โคราช สามีภรรยาคู่หนึ่ง ภรรยาของแกเป็นโรควัณโรค กินยาอะไรๆก็ไม่หาย จนตาย ตายแล้วก็หามไปป่าช้า ก่อนจะฝังจะเผานั้น เค้าก็นิมนต์พระไปบังสกุล แล้วสามีก็ขออนุญาตพวกญาติพี่น้องว่า โรคอันนี้มันเป็นยังใด เยียวยาพยาบาลหลายปีก็ไม่หาย แกก็จะผ่าหละผ่าดู ทั้งพระเณรเต็มดู มันผ่าหน้าท้อง ปาดลงไปทั้งสองข้าง ตามดูกข้างลงไปทั้งซ้ายขวา แล้วก็ถลกลงไปแล้วก็ดูปอด จนถึงวันตายนั้นปอดมันหมดไปครึ่งนึงมันจึงตาย มันเปื่อยมันเน่าเป็นเลือดยาง มีหมดหละ หลวงพี่หลวงเณรไปเห็นก็นิพพิททาญาณ เบื่อ กลับมาวัดก็ว่าจะไม่สึกหาลาเพศ ไปเห็นกรรมฐาน แต่มันเห็นภายนอก บ่เห็นตัวตัวเอง ไม่กี่วันมันก็คืนมาอย่างเก่า ฟุ้งซ่านรำคาญอย่างเก่า นี่อานิสงส์ไปเที่ยวป่าช้า หรือไปประสบการณ์ที่เขาผ่าตัด
แต่ว่าไม่แน่เพราะว่ามันดูข้างนอก เหมือนกระดูกในโรงพยาบาล หรือตับไตไส้พุงเอามาไว้ที่ใดที่นึงเพื่อได้ดู แต่มันไม่แน่เท่ากันกับว่าเราดูของเราเอง ผมเป็นอย่างไร ขนเป็นอย่างไร เล็บเป็นอย่างไร หนังเป็นอย่างไร เนื้อเป็นอย่างไร เอ็นเป็นอย่างไร กระดูก ๓๐๐ท่อนเป็นอย่างไร ถ้าเราดูในตัวของเราน่ะ มันเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะมันมันอยู่ในตัวของคนตลอด พระพุทธเจ้าท่านให้กำหนดกายคตาสติกรรมฐาน อย่าไปหลงรักชอบพอใจกับรูปหญิงรูปชาย ดูให้มันเห็น เห็นของตัวเอง ร่างกายตัวเองว่าโสโครกปฏิกูลขนาดไหน แล้วจิตใจมันก็จะได้เห็นทั่วๆไป ที่เราสำคัญผิดคิดว่ามันเป็นของมั่นคงถาวรจะหายไป จะเห็นแจ้งขึ้นมาในใจของตนได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ที่แท้ก็ไม่ใช่ของดิบของดี ของมั่นคงถาวรประการใด
ชีวิตของคนเราก็ไม่นาน เดี๋ยวก็ข่าวว่าผู้นั้นตาย ผู้นี้ตาย ถ้าไปอยู่ป่าช้าป่าเหี่ยวภาวนาเขาก็จะหามศพมาให้เห็น ว่านี้มันตายจริงนะท่านนะ ถ้าเขาไม่มีเวลาเผา เวลาฝัง เขาก็ทิ้งเมื่อนั้น ถ้าเราเป็นภาวนาอยู่สามสี่วัน มันจะเหม็นเน่าขับป่าช้า แมลงวันจะมาตอมหึ่งๆอยู่นั่น ฉะนั้นเราอย่าสำคัญผิดว่าร่างกายเป็นของสวยของงาม ให้เห็นว่าร่างกายของเราก็ตาม ของเขาได้แก่คนอื่นก็เป็น เป็นก้อนอสุภะดีๆนั่นแหละ แต่เราไม่ภาวนา ไม่สงบจิตสงบใจก็เลยเห็นไปอีกแง่หนึ่ง แง่อสุภกรรมฐาน แง่ธาตุกรรมฐาน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันไม่เห็น มันเห็นไปอีกเรื่องหนึ่ง เหตุนั้นเราต้องให้เห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ แม้ร่างกายสังขารของเราทุกคน ตั้งแต่เกิดมา มันมีความแก่ความชราคือว่าเจริญขึ้น เมื่อเจริญขึ้นหมดเขตแล้วก็ชำรุดทรุดโทรม ไปมาลำบาก ผลที่สุดก็ไปถึงความตาย เมื่อตายแล้วก็ทิ้งหละ มันเอาไปไม่ได้ เพราะมันลุกไม่ได้ อะไรไม่ได้ ถ้าไม่มีคนอื่นเขาไปรู้ไปเห็น สมมุติว่าไปตายในกลางป่า ก็จะเปื่อยเน่าผุพังไปเฉยๆ เราให้มากำหนดว่าร่างกายสังขารนี้มันไม่นาน อนิจจา คือว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ วันนี้คืนนี้สบาย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย วันหน้าเวลาหน้ามันเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ได้ หรือว่าถึงขั้นแตกขั้นตายก็ได้ เพราะว่าไม่แน่ ไม่มีอะไรแน่นอน เอาจริงเอาจังกับรูปนามกายใจไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เจริญให้นึกภาวนา ให้เห็น มันมีอยู่ แต่เมื่อไม่นึกไม่ภาวนาให้จิตใจสงบระงับนี่มันไม่เห็น เพลินไปตามรูป ตามเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เพลิดเพลินไปด้วยการกิน การนอน สนุกเฮฮา ออกพรรษาก็หาเที่ยว หาเตร่ไปทั่ว นี่คือมันบ่ได้พิจารณา บ่ได้ภาวนาดู เมื่อไม่ภาวนาดู มันไม่ใช่มันจะอยู่ มันพาไป เอาก้อนกรรมฐานไปโน่นไปนี่ วุ่นวายไปหมด จิตใจหลงมันพาไป ก็ได้แต่ความหลง ความรู้ไม่ได้ ทุกครั้งที่ภาวนาท่านจึงให้รวมจิตรวมใจ สงบระงับต้ังมั่นลงไปในจิตใจนี้ให้ได้ คือร่างกายสังขารนี้ มันแสดงบทบาทอยู่ตลอดกาล มันแสดงความเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ทุกเวลา แต่เรามองไม่เห็น อย่างว่าวันๆหนึ่งจะต้องมีอาหารหล่อเลี้ยง ถ้าไม่มีอาหารหล่อเลี้ยงก็กระวนกระวาย นั่นมันก็แสดงว่า พยาธิโรคามันมีอยู่ทุกเวลา ถ้าร่างกายไม่ได้อาหาร เกิดอดอยากปากหมองขึ้นมาละก็ตายได้ ชีวิตไม่ยืน ไม่ได้บริโภคอาหาร ไม่มีอาหารเลี้ยงก็ตายคนเรา อย่าไปว่าเราจะได้นั้นได้นี้ ไปตามความคิดความนึก ไม่มีอะไรมั่นคงถาวร คนมั่งมีที่สุด เมื่อตายแล้วก็ทิ้ง คนมียศใหญ่ ยศสูงสุด ถ้าตายแล้วมันก็เท่าๆกันน่ะ เป็นท้าวพญา มหากษัตริย์ รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ทหารสูงสุด ตายแล้วก็เท่ากันหมด ไม่มีใครดีกว่ากัน เน่าเหม็นเหมือนกันหมด เอาอะไรไปไม่ได้
ต้องนึกต้องเจริญหลายอย่างหลายประการ เพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตเตือนใจของแต่ละบุคคล ไม่เหมือนกัน บางคนนึกอย่างหนึ่งเจริญอย่างหนึ่งมันไม่รู้ไม่เห็น บางคนนั้นนึกไป อย่างใดอย่างหนึ่งมันได้ความรู้ขึ้นมา จิตใจก็ตั้งขึ้นมาในทางสมาธิภาวนา เห็นคนเกิดเป็นทุกข์ก็เอามาภาวนา จิตใจก็ตั้งใจขึ้นมา เห็นคนแก่คนชราเอามาพิจารณา เมื่อเราแก่ชราก็ลำบากอย่างนี้ พาให้จิตใจลุกขึ้นภาวนาได้เหมือนกัน ยิ่งมาเห็นคนตาย เอามาพินิจพิจารณา เอ…เรานี่ก็ต้องตายนะ เมื่อยังไม่ตาย ไม่ควรวุ่นวาย รีบเร่งภาวนาทุกลมหายใจเข้าออกเหมือนพระพุทธเจ้าบอกสอน ว่าการภาวนานั้นถ้านึกถึงอะไรเป็นบริกรรมภาวนาก็เอาให้มันได้ทุกลมหายใจ จนใจมีสติ ใจมีสมาธิ ใจมีปัญญา ใจมีวิชาความรู้เกิดขึ้นในใจของตัวเอง แล้วความรู้แจ้งเห็นจริงในหลักพุทธศาสนามันก็เกิดที่ใจสงบระงับตั้งมั่นนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไปเรื่อยหละ หลงไปเรื่อย เมื่อมันหลงไปมากมาย ก็โดนภัยอันตรายต่างๆได้ ไปรถ ก็รถคว่ำไป ไปเครื่องบิน ก็เครื่องบินตก ไปรถไฟก็รถไฟตกราง รถไฟคว่ำ ตายเหมือนกัน มรณกรรมฐานในที่จะเกิดขึ้นให้แก่คนเรานั้น ทุกๆคนเราต้องนึกเจริญไว้ให้ดี เมื่อมันมาถึงตัวเรา อย่าได้ไปหลงลืมภาวนา ถ้าเราบ่น้อมเข้ามาหละไม่รู้สึก ว่าแต้เป็นคนอื่นโน้น ไม่ใช่เรา เครื่องบินตกคนตาย ก็โอ้… เป็นเรื่องของเครื่องบินโน้น เราไม่ตกเครื่องบิน ไม่ตาย มันจะมาถึงเราเมื่อใดเวลาใดได้ทุกเมื่ออันความตาย นั่งอยู่ดีๆเกิดลมเกิดแล้งขึ้นมา เอ้ออ้าก็ตายไปเลย เอาไม่ทัน ก็เพราะเกิดมาแล้วมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องไข้ ต้องตายอย่างนี้
จงเอาสิ่งเหล่านี้แหละมาภาวนาไว้ก่อนจนเห็น ให้มันเห็นแจ้งในจิต จิตก็สงบหละ จิตก็สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ประการใด เพราะว่าจิตมันรู้ จิตมันเข้าใจ แต่ไม่ทำ ไม่ปฏิบัติ มันไม่เกิดความรู้หรอก มันมีแต่ความหลง จิตมันตกต่ำ มันต่ำไป ไม่สูงขึ้น ทั้งๆที่ตัวเองก็รู้ว่ามันต่ำลงไป แก้ไม่ได้ เหตุนั้นเราต้องแก้แต่เมื่อยังอยู่ดีสบายอย่างนี้แหละ ด้วยการปฏิบัติบูชาภาวนา ตั้งใจนึก ตั้งใจเจริญอยู่ จะจดจำอะไรไม่ได้มากก็พุทโธๆในใจให้มันต่อเนื่องอยู่ในใจ จนจิตใจเย็นสบายลงไป ถ้าไม่อย่างนั้นก็เตือนใจของตัวเองว่าตายนะ เกิดมาแล้วต้องตาย เราต้องตายแน่ๆ เอาความตายมาเตือนก็ได้ เอาความเจ็บไข้ได้ป่วยมาเตือนก็ได้ ถ้านึกบ่อยๆเจริญบ่อยๆ จิตมันก็สงบตั้งมั่น ก็ได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นมา
สิ่งเหล่านี้ต้องทำ ต้องประกอบ จึงจะเกิดขึ้นมาได้ จึงให้ทุกๆคน น้อมนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านตักเตือนสั่งสอนไว้มานึกมาเจริญ จนให้จิตใจนี้มันซาบซึ้งตรึงใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า จิตใจจะได้เย็นเป็นสุข ไม่ทุกข์ร้อนประการใด ต้องทำ ต้องปฏิบัติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ให้มีสติสังวร ให้มีสมาธิจิตตั้งมั่น ไม่ให้ใจง่อนแง่นคลอนแคลน ด้วยอำนาจพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ทุกลมหายใจเข้าออก เอาใจของตนให้สงบระงับให้ได้ นี่เป็นอุบายธรรมอันหนึ่ง ได้ตักเตือนเราท่านทั้งหลาย ก็ให้พากันนำไปประพฤติปฏิบัติ ก็คงได้รับความสุขความเจริญ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้