Skip to content

สติรักษาจิต

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

| PDF | YouTube | AnyFlip |

…ครั้นเห็นจิตของตนแล้ว จึงกำหนดจิตของตนไว้ จึงจะรู้เรื่องในการเทศน์ให้ฟัง จิตเท่านั้นแหละที่เราจะต้องรักษา นอกจากจิตแล้วไม่มีอะไรหรอก อวัยวะทั้งหมดทุกชิ้นส่วนของร่างกายอันนี้มีจิตนั่นน่ะเป็นใหญ่ จิตนั่นน่ะพาวิ่ง พาว่อน พาท่องเที่ยวไปมา พาให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ก็เพราะจิตนั้นน่ะ ถ้าเรารักษาสำรวมจิต เห็นว่าเป็นทุกข์ เดือดร้อน วุ่นวาย แล้วก็หยุดเสีย มันก็ได้ความสุขเท่านั้นเอง ที่เราไม่รู้จักเรื่องของจิต เราไม่มีสติรักษา มันจึงส่งส่ายหาเรื่องทุกข์ต่างๆ จนกระทั่งมาทุกข์แล้วยังค่อยรู้เรื่อง มันสุขแล้วค่อยรู้เรื่องของจิต ในเวลาที่มันส่งส่ายอยู่น่ะไม่รู้เรื่องของมันเลย

จึงว่าจิตอันเดียวเท่านั้นหละที่ต้องรักษ การภาวนาทั้งหมดก็มารวมที่จิตนี้แห่งเดียว รักษาอันเดียวเท่านั้นน่ะ ให้รักษาจริงๆจังๆ ในเวลานี้เราจะนั่งสมาธิ ในเวลานี้เราจะฟังเทศน์ ในเวลานี้เราจะสำรวมจิตให้อยู่ในขอบข่ายของสติ สติเป็นคนคุม เมื่ออยู่ในขอบข่ายของสติแล้วก็หมดเรื่องกัน 

สติคือผู้ระลึกถึงจิตอยู่เสมอๆ ท่านเรียกว่าสติ ความระลึกได้ จิตคือผู้คิดผู้นึก ผู้ส่งส่าย อาการมันเป็นอย่างนั้นเรียกว่าจิต อาการมันเป็นอย่างนั้นเรียกว่าสติ แต่แท้ที่จริงก็อันเดียวกันเท่านั้นหละ ถ้าไม่มีจิต มันก็ไม่มีสติ ถ้าไม่มีสติ มันก็ไม่มีจิต แต่มันเป็นอาการคนละอย่างกัน หน้าที่คนละอันกัน 

สติเหมือนกับพี่เลี้ยง จิตเหมือนกับลูกอ่อน ควบคุมรักษาอยู่ตลอดเวลา ลูกอ่อนที่มันซุกซน พี่เลี้ยงต้องระวังอย่างเข้มแข็ง ถ้าไม่งั้นก็จะหลุดพลัดโผไปตก ไปถูกของแข็งแล้วไปตกในที่หล่มทำให้เจ็บได้ ถึงอย่างไรก็ต้องรักษาสติตัวเดียวนั่นน่ะ พี่เลี้ยงจะต้องรักษาอยู่ตลอดเวลา กว่าที่จะพ้นอันตรายได้ มันใช้เวลานานหน่อย เราเลี้ยงเด็กก็ต้องหลายปีกว่าจะเติบโตขึ้นมาได้ ถึงเติบโตขึ้นมาแล้วก็ต้องระมัดระวังสิ่งอื่น เช่นมันซุกซนวิ่งเล่นอะไรต่างๆ ต้องระมัดระวัง แต่ไม่จำเจเหมือนกับยังเป็นเด็กอยู่ ระวังตลอดถึงมันใหญ่โตขึ้นมา จนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็ต้องระวังอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำชั่วประพฤติผิด  สตินั้นใช้ตลอดเวลา ใช้ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโต ใช้ตั้งแต่สติผู้คิดทีแรกน่ะ ผู้คิดผู้นึกทีแรกน่ะ ตลอดถึงมันส่งส่ายไปรับกับทุกเรื่องทุกอย่าง สติต้องตามรักษาอยู่ตลอดเวลา ส่วนเด็กนั่นน่ะ เรียกว่าเป็นตนเป็นตัว อันนี้เป็นของมีตัว มันของยากหน่อย แต่เมื่อเราคุมอยู่แล้ว จิตกายเป็นของมีตัว ตาก็เห็นชัดเลย จิตอยู่หรือจิตไม่อยู่ จิตวิ่งว่อนเที่ยวไปในที่ต่างๆ เห็นชัดเลยทีเดียว เป็นตัวตนแท้ทีเดียว 

ครั้นเรารักษาจิตได้แล้ว ควบคุมจิตได้แล้ว สติตัวนั้นตั้งมั่นแล้ว มันจะรวมเข้ามาเป็นใจ คือตกตรงกลางๆนั้นน่ะ ไม่มีสถานที่หรอก กลางตรงไหนก็อันนั้นน่ะ เป็นใจตรงนั้นน่ะ ไม่ใช่อยู่นอกอยู่ใน ไม่ใช่อยู่ข้างล่างข้างบน ใจจะเป็นกลางๆอยู่ตรงไหนก็นั่นน่ะ ตัวใจตัวนั้นน่ะ หัดสตินี่แหละควบคุมจิตให้เอาถึงกลางอยู่เสมอ ตรงกลางเสมอ มันค่อยมีพลัง สามารถที่จะคิดค้นในสิ่งต่างๆ สามารถที่ระงับดับทุกข์สิ่งทั้งปวง มันเดือดร้อน ละได้ทิ้งได้ เดี๋ยวนี้เราไม่เข้าถึงตรงกลาง ตรงนั้นจึงคอยละทุกข์ไม่ได้ สิ่งที่ทุกข์ก็เดือดร้อนวุ่นวาย สิ่งที่เป็นสุขก็เพลิดเพลินลุ่มหลง  ไม่เป็นกลางลงไปได้ซักที ถ้าถึงตรงกลางแล้วนั้น มันเป็นทุกข์ก็รู้จักทุกข์ ก็ปล่อยวางทุกข์ได้ มันสุขสบายก็ไม่หลงเพลิดเพลินมัวเมา มันก็เป็นกลางๆอยู่นั่น มันไม่สุข ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่เป็นทุกข์ 

สติตัวหนึ่ง จิตตัวหนึ่ง สติควบคุมจิต เมื่อควบคุมได้แล้ว มาเข้าเป็นใจ เข้าเป็นใจตัวเดียวคราวนี้ ตัวใจนี่เป็นของสำคัญที่สุด จิตมันออกไปจากใจ ถ้ามีใจมันก็ไม่มีจิต จิตอันใดใจอันนั้น ใจอันใดจิตอันนั้น ท่านก็เทศนาอยู่ แต่จิตก็หมายความถึงอันเดียวกันนั่นแหละ แต่ว่าทำไมท่านจึงเรียกว่าใจ ทำไมถึงเรียกว่าจิต อธิบายให้ฟังว่าใจคือตรงกลาง ไม่มีส่งส่าย ไม่มีคิดไปหาบาปอกุศล ไม่คิดถึงบุญถึงอะไรทั้งหมด ใจที่ตรงกลางๆนั้นน่ะ ไม่มีอะไรหรอก ไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง แล้วก็ไม่เกิดปัญญา ตรงนั้นเอาไว้เสียก่อน ให้มันอยู่ตรงกลางเสียก่อน เกิดไม่เกิดก็ช่างปัญญา

ที่จะถึงตรงกลางได้มันใช้ปัญญาไม่ใช่น้อย คิดค้นต่างๆทุกอย่างทุกเรื่อง คิดค้นเอาพอแรงแล้วน่ะ มันตัวปัญญาเท่านั้นใช้มามากมายแล้ว คราวนี้เมื่อใช้มันหมดทางแล้ว ไม่มีที่ไปแล้ว มันได้เข้าเป็นกลาง ตัวกลางๆน่ะ แต่คนเข้าใจว่า หาว่าไม่มีปัญญา แท้ที่จริงปัญญาใช้มามากมายแล้ว ให้เข้าถึงตรงกลางแล้วก็เฉยอยู่นั้น เราอยากจะรู้จักว่าตรงกลางคืออะไร หัดอย่างนี้ก็ได้ ทดสอบทดลองดู กลั้นลมหายใจซักพักนึง ไม่มีอะไรหรอก อยู่เฉยๆรู้เฉยๆน่ะ ไม่คิด ไม่นึก แต่รู้สึกว่ามันไม่คิดไม่นึก มันไม่ส่งไป ส่งส่ายไปมาหน้าหลัง ไม่คิดถึงบาปถึงบุญอะไรหมด ผู้รู้สึกนั่นน่ะ รู้สึกว่าเฉยๆนั่นน่ะ ตัวนั้นน่ะตัวกลาง ตัวใจ แต่มันได้ชั่วขณะเดียว ในเมื่อเรากลั้นลมหายใจ พอจับตัวมันได้คือตัวใจคือตรงนี้

มาคราวนี้มันออกไป ถ้ามันส่งส่ายเป็นจิตคิดนึกแล้วต้องเอาสติควบคุมดูแลรักษา ต้องชำระสะสางสิ่งที่เป็นบาปละอกุศล ปล่อยวางลงไป สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล อันนั้นก็ทิ้งวางปล่อยวางลงไป ไม่เอา บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา มันถึงเข้าถึงกลางได้ เอาบุญก็ไม่เข้าถึงกลาง เอาบาปก็ไม่เข้าถึงกลาง เมื่อละทั้งสองอย่างแล้ว ตกลงเป็นกลางได้ นั่นหละใช้ปัญญาอุบายมากมายจนกระทั่งมาเป็นใจ 

ธรรมดาจิตกับใจนี้มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เข้ามาเป็นใจพักหนึ่งแล้วมันก็อยู่ไม่นาน มันก็ออกไปอีก วิ่งว่อนตามเรื่องของมัน แต่เราตั้งสติกำหนด รู้ใจรู้จิตของมัน เรื่องมันวิ่งว่อนไปตามประการต่างๆ มันซุกมันซน มันวิ่งมันว่อน รู้เรื่องของมัน คำว่ารู้นั่นหมายความว่า ละทิ้งในสิ่งที่มันไม่ดี เมื่อละไปหมดแล้ว มันก็กลับมาตรงกลางนั้นอีก 

การหัดสมาธิภาวนาถ้าหัดอย่างนี้ได้บ่อยๆ หัดอย่างนี้ได้เสมอๆ ไม่เตลิดเปิดเปิง หลงไปตามจิต ไม่มีสถานี ไม่หยุดไม่หย่อน อันนั้นใช้ไม่ได้ พิจารณาจนหมดเรื่องหมดราวแล้ว ถ้ามันถูก มันกลับมาเองหรอก มาเป็นใจเองหรอกถ้ามันถูก ถ้าไม่ถูกก็เลยเตลิดเปิดเปิงไป ถึงอย่างไรขอให้ทำให้เข้าถึงใจอยู่เสมอๆ ความสงบความที่เข้าถึงใจที่เป็นหนึ่งน่ะ เป็นการดีมาก ถึงไม่ได้ปัญญาก็เอาเถอะ เอาเพียงแค่นี้ก็เอาซะก่อนเถอะ เอาที่ความสงบให้มั่นคงถาวรแล้ว มันจะเกิดให้มันเกิดเองหรอก อย่ากลัวเล้ย กลัวว่าจิตมันจะไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง มันคิดมันนึกมันปรุงมันแต่งก็รู้เท่า รู้เรื่องมันอยู่ถ้าหากว่ามันเข้าถึงใจแล้ว 

นี่การภาวนาต้องหัดอย่างนี้ เราหัดพิจารณาอานาปานสติก็ดี หัดมรณานุสติก็ดี พุทโธก็เจริญตามหมด ก็เพื่ออันเดียวนี่แหละ เพื่อให้เข้าถึงใจ เพื่อให้คุมสติให้เข้าถึงใจ ถ้าหากคุมใจไม่ได้ คุมใจไม่อยู่ อะไรก็เอาเถ๊อะไม่เป็นผลประโยชน์อะไรเล้ย ตัวของเราทั้งหมดน่ะเพราะอะไรมีจิตอันเดียว มันของสำคัญอยู่ในตัวของเรา คนมากมายหมดทั้งโลกเลย ก็จิตตัวเดียว จิตคนละดวงๆเท่านั้นน่ะ มันวุ่นวายอยู่ แต่ละคนๆรักษาจิตของเราได้แล้ว มันจะวุ่นอะไร๊ มันก็สงบหมดเท่านั้นน่ะสิ ต่างคนต่างรักษาใจของตน ต่างคนต่างมีสติรักษาใจเท่านั้นก็เป็นพอแล้ว 

ที่มันยุ่งมันวุ่นเพราะเหตุที่ไม่รู้ใจของตนนั่นเอง รักษาใจของตนไม่ได้นั่นเอง มีโลภโมโทสันสารพัดทุกอย่าง วุ่นวี่วุ่นวาย เกิดจากใจนี้ทั้งนั้น แล้วใจมันได้อะไรหละ โลภมันได้อะไรก็แต่ใจ โลภมันไปกองอยู่ที่ใจมันได้อะไรหละ โทสะไปไว้ที่ไหนหละ ไปไว้ที่ใจดีมั้ยหละ โมหะเอาไปไว้ที่ใจมีมั้ย ใจไม่เห็นมียุ้งมีฉางใส่ ใจไม่เห็นมีตนมีตัว มันได้อะไร๊ มีแต่เปล่ามีแต่ของว่าง ไม่มีอะไรเล้ย ผู้ที่ว่าได้นั่นน่ะ ผู้ที่ว่าดีนั่นน่ะ มันดีตรงไหนหละ มันได้มาว่าดีแล้ว โลภโมโทสันได้มาแล้วว่าดีแล้วหละ โลภ โกรธ หลง คนนั้นคนนี้ เห็นว่าตนวิเศษวิโส เห็นว่าตนดี มันดีอะไร๊ วิเศษอะไร มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย 

อย่างว่าเราได้ของเขามาอย่างนี้ โลภอยากได้ของเขา ได้มาอะไรหละ ได้แล้วมีอะไรในที่นั้น ได้มาอยู่มากิน ได้มาบริโภคใช้สอย ใช้อะไรหละ กะตัวนี่หละใช้ มันใหญ่มันโตมันอ้วนมันพีขึ้นมั้ยหละตัวนี้ มันก็ไม่เห็นมีอะไร มีแต่แก่เฒ่าทรุดโทรมไปทุกวัน ไม่เห็นมี อย่างว่าโทสะ มานะทิฐิเกิดเข้ามาถือตนถือตัว ถือเราถือเขา ไม่ยอมมานะทิฐิ เกิดขึ้นไม่ยอมกระทั่งถือตัวน่ะ มันได้อะไร ไม่เห็นมีอะไร ตัวนั้นมันพองขึ้นมันโตขึ้นมั้ย ตัวนั้นมันดีวิเศษกว่าเก่ารึ มันเป็นคนสดคนสวยขึ้นกว่าเก่าหรือว่าเป็นอะไร ไม่เห็นมีสดสวยอะไร มีแต่หน้าบึ้งหน้าเบี้ยว มีแต่เห็นหน้ายักษ์หน้ามาร อยู่ดีๆซะไม่ดีกว่าหรือ 

โมหะความลุ่มหลงก็เช่นเดียวกัน โมหะนั้นคือว่ามันจะเกิดความโลภ ความหลง มันก็โมหะไปก่อน มีโมหะก็เกิดโลภ โกรธ หลงขึ้นมา พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วว่า มันหมดเรื่องน่ะ จะไปเกิดโมหะ โทสะ มานะทิฐิไม่มีเลย เป็นของว่างเปล่าหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เราอยู่เฉยๆจะไม่ดีกว่าหรือ ทำให้เข้าถึงใจเท่านั้น ใจตัวกลางเท่านั้น เบิกบาน สุขภาพก็ดี แล้วก็ไม่มีเวรมีภัย ไปไหนก็ไม่คับแคบ ไม่รกโลกของเขา คนโทสะมานะทิฐิไปไหนมันรกหมด ไม่ยอมตนไม่ยอมตัว ไปอยู่ที่ไหนมันคับบ้านคับเมืองหมด ให้พิจารณาอย่างนี้หละ ถ้าพิจารณาอย่างนี้ถูกทางแล้ว มันจะรวมเข้าเป็นใจ เอาหละพิจารณาเท่านั้นนะ 

เทศน์ฟังอุบายแล้วต้องนั่งสมาธิภาวนา มันจึงจะเห็นผล ฟังเทศน์เฉยๆ ไม่ได้ทำ ไม่ได้เป็นไปตามนั้น มันก็ไม่เห็นผลประโยชน์ ศาสนาสอนให้ทำ ไม่ได้สอนให้ฟัง ตั้งใจทำ ทำเล็กทำน้อยก็ได้ชื่อว่าเป็นประโยชน์ ได้ชื่อว่าถึงพุทธศาสนา การฟังเทศน์หรือไม่ได้ฟังก็ตาม เห็นคนอื่นทำ อยากจะทำตาม อันนั้นก็เป็นผลประโยชน์ 

อย่างครั้งพุทธกาล แม่บ้านคนหนึ่งเห็นพระเดินมา ถามพระท่านบอกว่าพระคุณเจ้าจะไปไหนกัน โอ้ย พวกอาตมาหาที่จำพรรษาหรอก ถ้างั้นก็เอา ดิฉันจะสร้างกุฏิถวาย ท่านก็เลยสร้างกุฏิให้ทั้ง ๓๐ รูป กุฏิองค์ละหลังๆ สร้างกุฏิแล้วอยู่จำพรรษาแล้ว หายเงียบไปเลย ไปปฏิบัติพระ มาระลึกได้ เอ้อ นิมนต์พระอยู่ อยู่จำพรรษา เราไม่ได้ไปเยี่ยมไปเยือน ท่านเป็นยังไง สุขทุกข์ยังไงก็ไม่ทราบ ไปเยี่ยมดูก่อนนะ ไปเห็นพระไปเยี่ยมท่านคราวนี้ ไม่เห็นพระอยู่ศาลาซักองค์เดียว จึงถามบุรุษคนหนึ่งที่เฝ้าศาลาอยู่ ท่านไปไหนอ้ะ ท่านอยากจะเห็นท่าน ท่านอยากเกลียทางให้ท่านออกมาแล้ว ท่านก็ออกมารวมแล้ว เกลียทางเอง ท่านก็เลยมารวมกัน มาจากทิศต่างๆ แกแปลกใจ เอ๊ พระคุณเจ้ามาอยู่ด้วยกัน ทะเลาะกันหรือ จึงมาคนละทิศละทาง หัวหน้าบอก ไม่ใช่ทะเลาะกันหรอก อาตมาไปทำความเพียรอยู่คนละทิศละทาง คนละแห่งกัน 

แกเห็นอย่างนั้นเลยแปลกใจ การที่ว่าทำภาวนากรรมฐาน อย่างตัวอิฉันทำได้มั้ย ได้ไม่เป็นไร ก็พิจารณาความสิ้นความเสื่อมของสังขารร่างกาย คราวนี้หละเรียกว่าภาวนากรรมฐาน ท่านไม่ได้ให้คำบริกรรม ให้พิจารณาตนเองว่าเสื่อม เท่านั้นแหละ เค้าก็ตั้งใจทำ จะอยู่บ้านอยู่ช่องก็จะทำ ตั้งใจทำจริงๆจังๆ เลยเป็นไป เกิดความรู้ความเข้าใจ รู้เรื่องของพระทั้งหมด ทั้ง ๓๐ องค์ ท่านประสงค์อะไร ท่านต้องการอะไร ท่านนึกคิดอะไร แกไปตามรู้หมด แกจัดอาหาร จัดยาให้ ตอนเย็นก็จัดยาให้ ตอนเช้าก็จัดอาหารให้ถูกต้องตามความต้องการของท่านหมดทุกองค์ 

พระแปลกใจ เอ ยายคนนี้ทำยังไง ก็เลยคิดกลัวแก บางทีเราคิดไม่ดี ไม่ได้อะไรต่างๆ แกจะไปรู้เรื่อง กลัวแก ออกพรรษาแล้วหนีหมด ไปหาพระพุทธเจ้ากราบทูลพระองค์ พระองค์บอกมาทำไม๊กัน ไปทำความเพียรอยู่นั่นแล้วทำไมจึงมา โอ้ย อยู่ไม่ได้หรอก ละอายยายคนนั้น คิดโน้นคิดนี้อะไรต่างๆ ต้องการอะไรแกรู้เรื่องรู้ราวหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เลยกลัว หนีมาเฉยๆ ก็ว่านั้นแล้ว มันเป็นความรู้ดี มันจะวิเศษวิโส ให้กลับไปอีก ไปอยู่ต่อเถอะ ไป๊ กลับไปคราวนี้ ตั้งสติรักษาจิตของเราแล้วคราวนี้ จิตแน่วแน่อยู่คงที่ ในผลที่สุดก็ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานหมดทั้ง ๓๐ องค์

พระอีกพวกหนึ่งได้ยินข่าว เอ ยายคนนั้นจะดี ไปอยู่นั่น ไปสำเร็จมรรคผลนิพพานตั้ง ๓๐ องค์ อยากจะไปอีก ไปก็คิดนึกอะไรต่างๆ แกก็รู้อีก พระอาย ละอาย เลยกลับมาอีก ไปหาพระองค์ พระองค์ก็ว่า ไปอีกที่นั้นแล้ว ไปอยู่นั่นแหละมันจะดีตรงนั้นแหละ เราตั้งสติรักษาจิตของเราที่มีความละอายนั่นน่ะ มันจะดี กลับไปอีก สมเด็จท่านตรัส 

ท่านไม่ได้บริกรรมอะไรหรอก ท่านพิจารณาความเสื่อม ความสิ้นของสังขารร่างกาย เกิดมาก็เสื่อมลงทุกวันๆ จนกระทั่งแก่จนเฒ่ากระทั่งตาย เรียกว่าเสื่อมสิ้นไป เสื่อมไปสิ้นไป คนเราไม่เจริญ ที่ว่าเจริญๆนั่นเข้าใจผิดของสมมุติของคน ที่ว่าเจริญน่ะไม่เจริญหรอก มันแก่แล้วหาตายทั้งนั้นแหละ จะอยู่ครรภ์มันก็แก่อยู่ในครรภ์ มาแก่มันก็มาคลอด คลอดออกมาแล้วมันก็แก่ทุกวันๆ ระยะของเป็นการหนุ่มเป็นสาว ระยะของคนมีครอบครัวผัวเมีย มันเป็นทั้งนั้นหละ เป็นธรรมดาของมัน ความเป็นจริงมันแก่ มันแก่ไปหาความตาย นี่ไม่ใช่เป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่ใช่มันเจริญขึ้นมา มันเสื่อมไปทั้งนั้นแหละ 

ท่านไม่พิจารณาอย่างนี้ ท่านพิจารณาความเสื่อมตลอดเวลา มันไม่ประมาทคนเรา จะเรียนหนังเสี้ยนหนังสือ จะศึกษาเล่าเรียน จะทำความเพียรภาวนา จะทำมาหากินเลี้ยงชีพอะไรทั้งปวงหมด เพียงแต่สักแต่ว่าบำรุงร่างกายให้อยู่ไปมื้อวันเดียวเท่านั้นน่ะ ไม่มีอะไรหรอก ถ้าค้นหาได้มากๆก็เหลือไว้ใช้สอย หากค้นหาได้น้อยก็พออยู่พอกิน หมดวันๆ หากินไปวันหนึ่งๆ ก็เท่ากันนั่นแหละ ค้นหามามากก็กินวันเดียวนั่นแหละ กินสองมื้อ สามมื้อเท่าเก่าน่ะแหละ ไอ้คนที่ค้นให้ปากท้องของเก่าน่ะ ก็อิ่มแล้วก็หยุด ไม่ไปเหลือหลายหรอก 

อันนี้พิจารณาความเสื่อม พิจารณาความเสื่อมของจิตใจของร่างกาย ท่านได้ความรู้ความฉลาดขึ้นมา เป็นเพราะนิสัยวาสนาของท่านต่างหาก เราอยากได้ความรู้อย่างนั้นแต่เราไม่ทำ มันจะรู้ยังไง๊ อยากรู้อย่างท่าน อยากรู้อย่างยายคนนั้นน่ะ แต่เราไม่ทำ ทำก็ทำไม่ถูก มีแต่อยากอย่างเดียว ทำก็เลยแต่อยากอย่างเดียว ความอยากน่ะปกปิดได้หมด หุ้มห่อไว้ไม่เห็นของจริง