สมเด็จญาณสังวร สกลมหาปริญายก
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็พึงตั้งใจนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตตภาวนาอบรมจิตนั้นเป็นข้อสำคัญในการปฏิบัติธรรม และเมื่อพูดว่าจิตตภาวนา ก็ย่อมนำให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงแสดงจิตตภาวนา ระลึกถึงพระธรรมที่ทรงสั่งสอน เช่นจิตตภาวนา และระลึกถึงพระสงฆ์ซึ่งได้ปฏิบัติดีแล้ว คือได้อบรมจิตดีแล้วตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็เรียกว่าเป็น พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นพระผู้ที่ตรัสรู้ถูกชอบเองแล้วสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ด้วย เป็น ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมว่าย่อมรักษาผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็จะทำให้เกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ตั้งมั่นในคุณของพระพุทธเจ้า ในคุณของพระธรรม ในคุณของพระสงฆ์ ยิ่งขึ้น
ฉะนั้น เพื่อแสดงนำสติปัฏฐานการตั้งสติ พิจารณากำหนด กาย เวทนา จิต ธรรม ก็จะได้นำความในพระสูตรที่ตรัสสอนพระราหุลพุทธชิโนรสเมื่อก่อนทรงผนวช
มาแสดงเป็นวิธีปฏิบัติจิตตภาวนาอย่างหนึ่ง สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าได้โปรดให้พระราหุลพุทธชิโนรสผนวชเป็นเณรแล้ว ก็ได้เสด็จไปยังที่อยู่ของพระราหุล ได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดถวาย และก็ได้ทรงล้างพระบาทด้วยน้ำล้างพระบาทซึ่งใส่ไว้ในภาชนะใส่น้ำ ซึ่งตั้งเตรียมไว้ถวาย ครั้นประทับนั่งแล้วก็ตรัสสั่งให้พระราหุลมองดูภาชนะน้ำที่ทรงเทล้างพระบาทแล้ว ว่ามีน้ำเหลืออยู่ในภาชนะนั้นเท่าไร พระราหุลก็กราบทูลว่าเหลือติดอยู่น้อย พระพุทธเจ้าก็ตรัสอบรมว่า การพูดเท็จทั้งรู้ ย่อมทำให้ไม่มีความเป็นสมณะ ที่แปลว่าผู้สงบ หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่าไม่มีความเป็นพระเป็นเณร หรือคฤหัสถ์ก็ไม่มีความเป็นสาธุชน
ครั้นแล้วก็ทรงเทน้ำและภาชนะใส่น้ำนั้นจนหมดสิ้น แล้วก็ตรัสถามพระราหุลว่าในภาชนะน้ำนั้นมีน้ำเหลืออยู่หรือไม่ พระราหุลก็กราบทูลว่าไม่มี พระพุทธเจ้าก็ตรัสอบรมว่า ไม่มีความเป็นสมณะคือความเป็นพระเป็นเณร หรือความเป็นสาธุชน (ในบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่)เหมือนอย่างในภาชนะน้ำไม่มีน้ำเหลืออยู่ ครั้นแล้วก็ทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น ก็ตรัสถามพระราหุลอีกว่าในภาชนะน้ำนั้นที่คว่ำแล้วมีน้ำหรือไม่ พระราหุลก็กราบทูลว่าไม่มี และเมื่อคว่ำลงแล้วก็ไม่อาจจะเติมน้ำได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสอบรมว่า ไม่มีความเป็นสมณะ คือความเป็นพระเป็นเณร เป็นสาธุชน (ในบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่) เหมือนอย่างไม่มีน้ำในภาชนะน้ำที่คว่ำนั้น
ครั้นแล้วก็ทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น ก็ตรัสถามพระราหุลว่ามีน้ำอยู่ในภาชนะที่หงายขึ้นแล้วนั้นหรือไม่ พระราหุลก็กราบทูลว่าไม่มี พระองค์ก็ตรัสอบรมว่าไม่มีความเป็นสมณะ คือความเป็นพระเป็นเณรหรือเป็นสาธุชน แก่ผู้ที่พูดเท็จทั้งรู้ แม้ว่าภาชนะน้ำนั้นจะหงายก็เป็นภาชนะเปล่า เพราะฉะนั้น ผู้ที่พูดเท็จทั้งรู้จึงไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพระเป็นเณร ไม่มีความเป็นสาธุชน ดั่งนี้
ครั้นแล้วก็ตรัสเป็นข้ออุปมาว่า ช้างศึกของพระราชาที่ฝึกหัดให้เป็นผู้ที่เสียสละร่างกาย ในเวลาเป็นราชพาหนะเข้าสู่สงคราม เพื่อพระราชา ช้างที่ฝึกหัดแล้วนั้น ฝึกหัดจนถึงว่าสละกายเบื้องหน้าเบื้องหลังได้ สละเท้าหน้าทั้งสองได้ สละเท้าหลังทั้งสองได้ สละศีรษะ หูทั้งสอง งาทั้งสองได้ สละหางได้ แต่ยังรักษางวงไว้อยู่ ยังไม่ยอมสละงวง ก็ยังไม่ชื่อว่าได้สละชีวิตเพื่อพระราชา ต่อเมื่อฝึกจนถึงช้างศึกนั้นสละได้ทุกอย่าง จนถึงสละงวงได้ จึงจะชื่อว่าได้สละชีวิตได้เพื่อพระราชา ได้ตรัสอุปมาไว้ดั่งนี้
ก็พิจารณาดูว่าควรจะมีความหมายว่าเมื่อเข้ามาปฏิบัติธรรมในพระธรรมวินัยนี้ จะเป็นพระก็ดี เป็นเณรก็ดี เป็นสาธุชนผู้ปฏิบัติก็ดี ก็พึงสละเพื่อปฏิบัติธรรมได้ทุกอย่าง แม้แต่ว่าพูดเท็จทั้งรู้ แม้ว่าเพื่อที่จะเป็นการขบขันยิ้มหวัว ก็ไม่ควรทำ และก็เท่ากับว่าการที่ยังพอใจสนุกสนานเฮฮา พูดยั่วกันเล่น พูดหัวเราะเล่นด้วยการพูดเท็จ ก็เหมือนอย่างว่ารักษาศีลข้ออื่นได้แล้วแต่ว่ายังรักษาวาจาให้เป็นสัจจะวาจาไว้ไม่ได้ ดั่งนี้ก็เป็นอันว่ายังไม่ชื่อว่าได้สละทั้งหมดเพื่อปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นจึงต้องรักษาวาจา ไม่พูดพล่อยๆ เมื่อพูดอะไรออกไป หรือว่าจะรับคำอย่างไรออกไป ก็ต้องให้เป็นวาจาจริง ให้เป็นพูดจริง ไม่พูดเท็จแม้เพื่อที่จะยิ้มหวัวขบขันกัน เพราะว่าเมื่อยังพูดเท็จอยู่ก็ยังไม่ตรัสว่าจะปฏิบัติกรณียะคือกิจที่ควรทำ อันเรียกว่าปฏิบัติธรรมได้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระเป็นเณรหรือเป็นฆราวาส จึงต้องรักษาสัจจะคือความจริง ความจริงใจแก่ตัวเอง ในการที่จะพูดอะไรออกไปก็ให้พูดจริง หรือเมื่อไม่ควรพูดก็นิ่งเสีย และเมื่อจะรับอะไร ว่าอย่างไร ก็รักษาวาจา รักษาสัญญาที่รับไว้นั้น ปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมา
พระพุทธเจ้าครั้นทรงโอวาทดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสถามพระราหุลว่า แว่นส่อง ซึ่งในครั้งนั่นกระจกเงาสำหรับส่องเหมือนอย่างบัดนี้คงไม่มี เมื่อต้องการจะใช้ส่องดูเงาหน้าของตัวเอง ก็ต้องใช้แว่นส่อง คือใช้โลหะหล่อเป็นแผ่น ขัดให้เป็นเงาสำหรับที่จะส่องดู จึงได้ตรัสถามว่าแว่นส่องนั้นมีไว้ทำไม พระราหุลก็กราบทูลว่ามีไว้เพื่อดู พิจารณา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ฉะนั้นก็ให้ดูให้พิจารณา กายกรรม การที่กระทำทางกายของตน วจีกรรม การที่กระทำทางวาจาคือพูดของตน มโนกรรม การที่กระทำทางใจคือคิดของตน
ดูให้เห็นว่าเป็นอกุศลหรือไม่ ถ้าเป็นอกุศลคือไม่ดี มีโทษ ก็ให้รู้ว่าเป็นอกุศลไม่ดี มีโทษ แต่ว่าได้ตรัสจำแนกไว้อย่างพิสดาร คือว่าให้ดู พิจารณาตั้งแต่ก่อนจะทำ ในขณะที่ทำ และทำแล้ว ว่าการที่ทำนั้นๆ คือที่จะทำ หรือที่กำลังทำ หรือที่ทำแล้วทางกายทางวาจาทางใจ เป็นอกุศลมีโทษ เป็นอกุศลไม่ดีมีโทษ เมื่อดูพิจารณาก็ย่อมจะรู้ และเมื่อรู้แม้ว่ายังไม่ทำ และอาจจะทำได้ ก็งดเว้นเสียไม่ทำ เมื่อกำลังทำอยู่ก็เลิกไม่ทำต่อไป ถ้าทำไปแล้วก็อย่าปกปิด ให้แจ้งแก่ครูบาอาจารย์เพื่อนปฏิบัติธรรมด้วยกันทราบ และแสดงความตั้งใจที่จะสำรวมระวังต่อไป
และต่อจากนั้นก็ได้ตรัสสอนให้พระราหุลดู พิจารณา ว่ากรรมทางกายทางวาจาทางใจ คือการที่ทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก่อนจะทำก็ดี กำลังทำก็ดี ทำแล้วก็ดี ก็ให้ดูพิจารณา เมื่อดูพิจารณาก็ย่อมจะเห็นว่าเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าเป็นกุศลคือเป็นความดี และมีประโยชน์ ก็ให้ทำ และเมื่อทำก็ทำต่อไปให้สำเร็จ และเมื่อทำแล้วก็ตั้งใจว่าจะทำกรรม คือการที่ทำทางกายทางวาจาทางใจที่เป็นกุศลคือเป็นความดีเป็นส่วนดี และที่มีคุณมีประโยชน์ต่อไปอีก ดั่งนี้
ก็ตรัสว่าสมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติธรรม ในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี ในอนาคตต่อไปข้างหน้าก็ดี ก็ย่อมจะต้องดูพิจารณาเหมือนอย่างนี้ เหมือนอย่างส่องดูเงาหน้าในกระจกเงา เมื่อเห็นหน้าของตนในกระจกเงาในบัดนี้หรือในแว่นส่องในครั้งโน้น ไม่สะอาดต่างๆ ก็ชำระให้สะอาด และรักษาความสะอาดไว้ต่อไป เพราะฉะนั้น ก็ต้องดูพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม คือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจของตนอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน ให้ละส่วนที่ชั่ว ที่เป็นโทษ ให้ทำแต่ส่วนที่ดีที่เป็นคุณประโยชน์ต่างๆ
หากจะถามว่าสำหรับการที่จะดูเงาหน้าของตัวเองนั้น ใช้แว่นส่อง แต่การที่จะดูพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของตน จะใช้อะไรส่องดู ก็ตอบว่าใช้จิตใจนี้เองดู และจิตใจนี้ที่จะดูพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงได้ ก็ต้องเป็นจิตใจที่ประกอบด้วยสติ คือความระลึกได้ ความกำหนด และปัญญาคือความรู้จัก สติและปัญญาทั้งคู่นี้เป็นธรรมะสำคัญที่ทุกคนจะต้องมี
สติท่านแปลว่าความระลึกได้ มีลักษณะเป็นตัวความกำหนด กำหนดดู กำหนดใจดู พิจารณาดู ในสิ่งที่ต้องการจะรู้ และเมื่อดูพิจารณาด้วยสติดั่งนี้ ก็ย่อมจะเกิดปัญญาคือรู้ได้ เหมือนอย่างว่าในการฟังธรรมะที่อบรมนี้ ที่ผู้อบรมก็แสดงเป็นเสียงเป็นภาษาออกไป และผู้ฟังทั้งหลายก็ฟังด้วยหู เพราะเสียงก็ย่อมจะกระทบโสตประสาทคือหู แต่ว่าจิตใจต้องฟังด้วย คือจิตใจต้องตั้งใจฟังในคำที่พูดนี้ทุกคำ ไม่ส่งใจไปคิดในเรื่องอื่น ถ้าส่งใจไปคิดในเรื่องอื่นเมื่อใด หูก็ดับ ไม่ได้ยินคำที่พูดนี้ ต่อเมื่อไม่ส่งใจไปในเรื่องอื่น ตั้งใจฟัง และกำหนดใจฟังอยู่ที่เสียงที่พูด เสียงที่พูดนี้เมื่อกระทบโสตประสาทแล้ว ก็จะเข้าไปถึงจิตใจ จิตใจก็จะได้ยินไปพร้อมกับหูว่าพูดว่ากระไร เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะได้ความรู้ รู้ว่ากำลังพูดเรื่องอะไร พูดว่าอย่างไร
ดั่งที่ได้พูดมาโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น เล่าถึงพระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุล ตั้งต้นแต่ให้พระราหุลดูภาชนะน้ำล้างพระบาท ว่ามีน้ำเหลือไม๊ ตามที่ได้แสดงมาแล้ว แล้วก็ตรัสอบรมว่าน้ำไม่มีเหลือ ก็เหมือนอย่างไม่มีความเป็นสมณะเหลืออยู่แก่ทั้งพระ ทั้งเณร และแก่ทั้งสาธุชนผู้ปฏิบัติธรรมที่พูดเท็จทั้งรู้ แม้ว่าจะพูดเล่นก็ตาม ก็ย่อมจะได้ฟังและรู้เรื่องมาโดยตลอดว่า พระพุทธเจ้าท่านอบรมว่าอย่างงี้ๆ จนถึงอบรมว่าพระราหุลรู้จักแว่นส่องไม๊ มีประโยชน์อะไร พระราหุลก็ตอบได้ว่ามีประโยชน์สำหรับส่องพิจารณา พระองค์ก็ตรัสเข้ามาว่าให้พิจารณาดูการที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจอยู่เสมอ ตามที่แสดงแล้ว ไม่ดีก็งดเว้นเสียไม่ทำ ที่ดีก็ทำต่อไป เมื่อมีความตั้งใจฟัง กำหนดฟังเสียงที่แสดงนี้อยู่ตลอด ก็ย่อมจะได้ปัญญาคือตัวความรู้ คือรู้เรื่องนั่นเองว่าสอนว่าอย่างไร อบรมว่าอย่างไร
เพราะฉะนั้น จึงให้รู้จักหน้าตาของธรรมะดั่งนี้ ตั้งใจฟังนั่นเป็นสมาธิ กำหนดใจฟังนั่นเป็นตัวสติ รู้เรื่องนี่เป็นตัวปัญญา เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงต้องมีสติ มีปัญญา และก็ประกอบด้วยสมาธิดังที่กล่าวนั้น แต่พูดสั้นๆ ก็มีสติมีปัญญา ซึ่งมีสมาธิรวมอยู่ด้วย และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้ชื่อว่าการปฏิบัติธรรม
และในการปฏิบัติธรรมนั้นก็ชื่อว่าเป็นการสละเพื่อพระพุทธเจ้า คือสละความชั่วนั่นเอง และกระทำความดี และก็ต้องมีความสำรวมที่จะไม่ประพฤติผิดแม้เพื่อเล่น เพื่อหัวเราะ เช่นพูดเล่นพูดเท็จเพื่อยั่วกันหัวเราะกัน เหมือนอย่างที่ทรงเปรียบด้วยช้างศึกของพระราชา ต้องสละเพื่อพระราชาได้ทุกอย่างแม้แต่งวง แต่อื่นๆ สละได้หมด แต่ยังรักษางวงเอาไว้ เหมือนอย่างว่ายังพูดเท็จเพื่อหัวเราะยั่วเย้ากันอยู่ ขาดความสำรวมดั่งนี้ก็เป็นอันว่ายังสละได้ไม่หมด คือสละความชั่วได้ไม่หมด
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นก็ต้องปฏิบัติเพื่อสละความชั่วได้ทั้งหมด จะไม่ทำความชั่วแม้ว่าเพื่อเล่น เพื่อยั่วเย้ากันเป็นการสนุก และการกระทำความชั่วเพื่อความสนุกสนานของคนเราก็มีอยู่เป็นอันมาก เช่นว่าไม่ได้มีความโกรธแค้นอะไร แต่ว่าเที่ยวยิงสัตว์เล่นเป็นการกีฬา เบียดเบียนสัตว์เล่นเป็นการกีฬา เหล่านี้เป็นต้น ก็เช่นเดียวกับการที่พูดเท็จเพื่อที่จะหัวเราะเล่นกัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติธรรมะนั้นจึงต้องอาศัยปฏิบัติให้เป็นผู้มีสติมีปัญญาดั่งนี้
และการมีสติมีปัญญานั้น ในการปฏิบัติธรรมนั้นก็คือการมีสติมีปัญญาเข้ามาดู เหมือนอย่างเป็นแว่นส่องสำหรับส่องดูการที่ทำของตัวเอง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ หัดส่องแว่นดูตัวเองคือความประพฤติที่เป็นไปทางกายทางวาจาทางใจนี้ อาศัยจิตนี้เองที่ประกอบด้วยสติปัญญา พร้อมทั้งความตั้งใจซึ่งเป็นตัวสมาธินั้น ดูเข้ามา ก็ย่อมจะเห็นได้ทุกคน ว่านี่ดีควรทำ นี่ชั่วไม่ควรทำ และเมื่อดูเห็นซึ่งเป็นตัวปัญญาว่าชั่วก็ละเสีย เมื่อดูเห็นว่าดีก็กระทำ
การปฏิบัติดั่งนี้แหละ ก็เป็นการปฏิบัติเข้าหลักสติปัฏฐานคือตั้งสติ ซึ่งจะต้องมีการตั้งสติดูกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของตัวเองดังกล่าวนี้ เป็นหลักทั่วๆ ไป เป็นพื้นฐาน แล้วก็ตั้งสติในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ที่ประณีตยิ่งขึ้นไป อันเป็นไปเพื่อสำหรับ เพื่อศีล เพื่อสมาธิ เพื่อปัญญา อันยิ่งๆ ขึ้นไป
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
(ถอดเสียงธรรมโดย คุณ อณิศร โพธิทองคำ)