Skip to content

วิธีแก้ไขใจให้มีความสงบด้วยทางสายกลาง

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ต่อนี้ไปต่างคนก็ต่างตั้งใจ ต่างคนก็ต่างรักษาใจ ต่างคนก็ต่างดูแลหัวใจตัวของตัวเอง ให้รู้จักการไปและการมา การอยู่ การออก การเข้าแห่งความคิด ซึ่งตัวเองมีความคิดประจำมาตั้งแต่เกิด หรือมาตั้งแต่แรกเกิด ให้เราพยายามตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อรักษาในความเป็นมาของเขา ซึ่งเขาเป็นมาโดยวิธีไหน เราจะหาอุบายธรรมคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านบอกให้หาความสงบ แต่เบื้องต้นเขาก็มีความคิดมา ความปรุงแต่งมา แต่เราจะมาทำความสงบที่จะให้สงบนั้น จะมีหนทางที่จะทำความสงบเหมือนอย่างคำสอนพระพุทธเจ้าหรือไม่

ข้อนี้เราก็ต้องพิจารณาด้วยตนของตนเอง แม้แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ไม่มีใครเสี้ยมสอน ไม่มีใครตักเตือนพระองค์ อันดับแรก แต่พระองค์ก็มาคิดเอาเอง และก็มาทำเอาเอง แต่พระองค์ก็ยังมีความสามารถทำความสงบนั้น ให้บังเกิดขึ้นในดวงหฤทัยใจของพระองค์ได้ จนถึงกับพระองค์นั้นได้ตรัสรู้เป็นอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ก็ยังทำได้ ทั้งที่ว่าไม่มีใครทำมาก่อน แต่พระองค์ก็ยังทำได้ 

ทีนี้เมื่อมีคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านได้ทำมาเป็นตัวอย่าง แล้วท่านก็บอกเล่าเก้าสิบมาให้แก่พวกเราฟัง เราก็ได้ยินได้ฟัง และเราก็ได้อ่านตามตำรับตำรา ก็เคยอ่านมามาก แต่พระองค์ก็ทรงทำได้ แม้กระทั่งถึงพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ได้ฟังจากพระโอษฐ์ของพระองค์ ท่านเหล่านั้นก็สามารถที่จะทำความสงบได้ และก็ยังความสำเร็จให้แก่ตัวเองได้ ท่านก็ทำมาเป็นตัวอย่าง เราก็ได้เอาตัวอย่างนั้นหละมา มาปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้หละ ทีนี้เราจะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และจะทำตามตัวอย่างของพระอริยเจ้าที่ท่านทำมา เมื่อเราจะทำตาม เราจะทำอย่างไร 

เราก็ตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อสังเกตในหัวใจตัวเอง ว่าใจตนเองมันเป็นอย่างไร มันคิด มันปรุง มันแต่ง มันนึกอะไรที่มันนึกมาก ตามสัญญาอารมณ์ เราหาหนทางที่จะแก้ไขตน ก็ด้วยสติและปัญญาของเรานั่นน่ะ ให้เอาความสงบนั้นน่ะ ให้แก่ดวงหัวใจของเรา ให้แก่จิตใจของเรา เราทำยังไงจึงจะสงบได้ ทีนี้เราก็เคยทำมาและเคยปฏิบัติมา และก็เคยฟังมา ทำอย่างไรจึงจะสงบได้ เราก็พากัน เข้าใจกันอยู่แล้ว ก็มีการกำหนดลมนั่นแหละในเบื้องต้น ลมเข้าและลมออก คือลมหายใจเข้าออกของตัวเองสำหรับเบื้องต้น แล้วก็มีการบริกรรมว่าพุทโธๆๆอยู่ในใจนั่นน่ะ นี่คือวิธีการที่จะทำให้มันสงบ 

เราเอาอันนี้หละสำหรับที่จะไปแก้ไข นำเอาพระคุณของพระพุทธเจ้าเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาคือคำบริกรรมน่ะ เรานำเข้าไป ตั้งองค์พุทโธเอาไว้ในหัวใจ ตั้งไว้ตรงนั้น แล้วก็แก้ไขตรงนั้นน่ะ และอย่านำเรื่องราวต่างๆ เข้ามาทับถมเขา และอย่าให้เขาไปนำเอาเรื่องมาทับถมตัวเอง คือให้เรากำหนดสะกัดความคิดของตัวเองด้วยสติ สติเราก็มีแล้ว สัมปะชัญญะเราก็มีแล้ว เราไม่ได้ไปเอาของใครมา เขามีก็มากับตัว เขาพร้อมหมดทุกอย่างแล้ว ไม่ได้ไปซื้อใคร และไม่ได้ไปขอใคร และไม่ได้ไปแย่งใครมา เป็นของธรรมชาติซึ่งมันเกิดขึ้นกับตัวเอง 

ไอ้เรื่องสติกับสัมปะชัญญะ แล้วเราก็เอามาใช้ตามธรรมชาติ แม้แต่เราอยู่ในปัจจุบัน เราก็ใช้สติของเรานั่นน่ะ ถ้าไม่มีสติ งานการของเราน่ะจะเป็นไปเพื่อความเรียบร้อยเหรอ และมันจะดีขึ้นได้อย่างไรถ้าเราไม่มีสติ แม้แต่การทำ การพูด ถ้าทำไม่มีสติ มันก็เป็นประโยชน์ไม่ได้ ถ้าพูดไม่มีสติ แล้วมันจะไปรู้เรื่องอะไร แล้วมันจะไปน่าฟังอะไร สติมันมีพร้อมอยู่แล้วหละ คือมันเป็นของธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว แต่เราก็จะต้องฝึก ฝึกตัวเขานั่นน่ะ เอาตัวของเขานั่นฝึกเขา ฝึกตัวของตัวเองน่ะให้มันดี ฝึกให้เขานั่นดีขึ้น สติมันก็มีอยู่แล้ว แล้วก็ฝีกสติให้มันดีขึ้นมาในตัวเขานั่นน่ะ แล้วก็เพื่ออะไร เพื่อจะแก้เขานั่นน่ะ ก็เพื่อจะรู้เท่าทันเขานั่นน่ะ เพื่อจะแก้ปัญหาเขาน่ะ 

ทำไมถึงแก้เขา เขาเป็นอะไร…ก็เขามันคิดมาก ก็มันคิดมาก มันเป็นอะไรถึงคิดมาก เมื่อมันคิดมากมันมีอะไรเกิดขึ้นจากเขา เมื่อเขาคิดมาก มันก็มีเรื่องมาก มันก็มีตัวทุกข์เกิดขึ้นจากเขา แล้วก็ทำให้ตัวเขาฟุ้งซ่าน แล้วก็ทำให้ตัวเขานั่นหละวุ่นวาย ก็เราจะเอาตัวสตินั่นน่ะ เข้าไปแก้ แก้ความฟุ้งซ่าน แล้วก็แก้ความรำคาญ แก้ความวุ่นวาย เราเอาสติสัมปะชัญญะนั่นน่ะเข้าไปแก้มัน แล้วก็นำเอาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า คือพุทโธ เอาพระคุณของท่านคือพระนามของท่านนั่นน่ะ เอาไปตั้งไว้เถอะ ให้มันพร้อมไปด้วยสติ สติก็ให้มีพร้อม พุทโธกับสติก็ให้มันพร้อมกัน พุทโธกับสัมปะชัญญะก็ให้มันพร้อมกัน ให้ตั้งไว้เถอะ ให้ตั้งไว้ภายในน่ะ 

เมื่อพุทโธเข้าไปแล้ว สภาพของจิตของเราจะเป็นยังไง เราก็ค่อยดูเอาสิว่ามันจะเป็นยังไง มันจะมีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง ลักษณะของความสงบนั่นน่ะมันจะมีมาก่อน ถ้าพุทโธเข้าไปถึง ถ้าถึงพุทโธ ความวุ่นวายน่ะ และความฟุ้งซ่าน และความกระวนกระวาย ความลุกลี้ลุกลน ความรำคาญในตัวเอง ถ้าสติของเราพร้อมไปด้วยพุทโธ ถ้าพุทโธเราพร้อมไปด้วยสติและสัมปะชัญญะ ก็มีเท่านั้นหละที่จะนำความสงบเข้าไปให้ ความสงบนั้นมันก็จะเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นจากตรงนั้นน่ะ 

เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วมันจะเป็นยังไงไอ้ความสงบนั้นน่ะ ถ้าไม่มีความสุขหละ และความสงบมันก็ไม่มีความหมายสิ พระพุทธเจ้าก็คงจะไม่สอนให้พวกเราทำความสงบ ที่พระองค์ต้องการให้พุทธบริษัททำความสงบก็เพราะมันมีความสุขนั่นน่ะ มันหายจากความวุ่นวาย แต่สำหรับความสำเร็จเราก็เอาอันนั้นก่อน ก็อย่าเพิ่งว่าสำเร็จอย่างนั้นสำเร็จอย่างนี้ ก็อย่าเพิ่งว่า ให้เราเอาเฉพาะความสงบนั้นไว้เป็นฐานรองรับจิตของเราเพื่ออยู่ประจำวันกันไปก่อน เพื่อใจของเราที่จะได้ปฎิบัตินั่นน่ะให้มันได้ก้าวหน้าขึ้นไปโดยลำดับๆบ้าง แต่สำหรับความสำเร็จนั้นน่ะเอาไว้เมื่อภายหลัง มันจะไปถึงความสำเร็จหรือไม่อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราเอาความสงบเอาไว้ก่อน ตั้งฐานแห่งความสงบเอาไว้ภายในจิตของเราสงบก่อน เอาจิตของเราให้อยู่ด้วยความสงบซะก่อน 

อานุภาพของความสงบในจิตนั่นน่ะ จิตที่ได้รับความสงบนั้นมันจะมีอะไรบ้าง ความดีของเขาซึ่งเขามีมา ที่เราเรียกว่าบุญเก่า หรือว่าของเก่า ที่เรียกว่าบุญญาบารมี แล้วเขาจะมีมั้ย เขาจะแสดงออกมั้ย คุณค่าของเขาน่ะ เขาจะมีในตัวของเขามั้ย ถ้าเขามีความสงบแล้วน่ะ ความดีของเขามีนั่นน่ะ เขาจะต้องแสดงแสนยานุภาพของเขาเองหรอก เราไม่ต้องไปแต่งเขา แต่งว่าให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ ให้ดีอย่างนั้น ให้ดีอย่างนี้ เราไม่ต้องแต่ง มีแต่เพียงว่าเราสงบอยู่เฉยๆ เมื่อเราสงบแล้วความสงบนั้นหละ มันจะแสดงอะไรให้ตัวของตัวเอง ที่ตัวเองจะมีความดีที่มันเป็นคุณสมบัติของเก่า ที่มันมีมาแต่ดั้งเดิม ที่เราได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมา คุณสมบัติในตัวของจิตนั้นมันจะมีอะไรบ้าง ก็ให้เขาแสดงเอง 

แต่เราก็อย่าไปคิดเอา ถ้าเราไปคิดเอาน่ะ มันกลบไปหมดหละ มันปกปิดความดีหมด ความดีแทนที่มันจะเกิดขึ้นเอง ที่มันจะแสดงออกมาให้เราเห็นเอง พอความคิดของเราไปคิดไว้เท่านั้นหละ มันงอกมาไม่ได้ มันแสดงออกมาไม่ได้ ตกลงมันก็เลยไม่เห็นความดีของตัวเอง ก็เพราะความคิดของตัวเองนั่นหละมันไปกลบเอาไว้ ฌาณ แทนที่มันจะเกิดขึ้นมา สมาธิก็แทนที่มันจะเกิดขึ้นมา มันก็ไม่เกิด ในสมาธินั้นมันจะมีอะไรเกิดขึ้น แทนที่มันจะเกิดขึ้นให้เราเห็นในสมาธินั้น มันก็ไม่มีมาให้เราเห็นอีก ก็เพราะอะไร ก็เพราะเรามันมีแต่ความคิดนั่นน่ะ อะไรก็ไปคิดเอาหมด อนิจจังเราก็คิดเอาเอง ทุกขังเราก็คิดเอาเอง อนัตตาเราก็คิดเอาเอง เขาจะเป็นหรือไม่เป็น เราจะคิดก็ตามไม่คิดก็ตาม เรื่องอนิจจังน่ะมันเป็นของที่แน่นอน เรื่องทุกขังมันก็เป็นเรื่องที่แน่นอน เรื่องของการหาเจ้าของไม่ได้มันก็เป็นเรื่องที่แน่นอน คืออนัตตา เขามันเป็นประจำโดยธรรมชาติอยู่อย่างนี้ เราจะคิดหรือไม่คิด เขาก็มีอย่างนี้ 

ทีนี้เราก็รู้ว่าเขามันมีแล้วน่ะ เรื่องของอนิจจัง ทีนี้ส่วนอนิจจังปีเก่าน่ะ ก็อีกไม่กี่วันมันก็จะหมดแล้ว เหลืออีกกี่วันจากนี้ไป ประมาณสี่หรือห้าวันที่มันจะหมดแล้วเรื่องอนิจจัง ความไม่แน่นอน ความไม่คงที่ของวันเดือนปี มันก็จะหมดไปแล้ว ทีนี้ส่วนความเป็นอยู่ของเรามันเจริญหรือมันเสื่อมหละ คำว่าเจริญมันเป็นไปได้ยาก มันก็มีแต่จะเสื่อมนั่นหละ แต่เราก็ถือว่าเราได้ของใหม่ แต่ความเป็นจริงมันก็เป็นไปในความเสื่อมนั่นหละ เพราะมันหาความเจริญไม่ได้หรอก เจริญอะไร มันเจริญมาแล้วในเรื่องความเป็นอยู่ของอายุ แต่ความเป็นอยู่ของธรรมชาติที่เราได้ฝ่าฟันอุปสรรค ๖๕ วันมาน่ะ เราก็ถือว่าเราดีแล้ว ก็ถือว่าเป็นบุญกุศลอันมหาศาล เราก็พลอยดีใจกับความเป็นบุญเป็นกุศลของตัวเองซึ่งได้ฝ่าฟันอุปสรรค หรือฝ่าฟันอันตรายมาได้ เราก็ทำความดีใจก็เพราะสิ่งเหล่านั้นเท่านั้นหละ อย่าไปคิดว่าจะดีใจเพื่อความเจริญไปข้างหน้า มันมีแต่ความเสื่อม นั้นมันเป็นเรื่องของอนิจจัง เราจะคิดก็ตาม ไม่คิดก็ตาม อนิจจังมันเป็นอย่างนั้น เราก็รับทราบกันไว้แล้ว และรับทราบกันอยู่แล้ว 

เมื่อเรารับทราบอย่างนั้น ที่อันชีวิตของเรามันจะสั้นเข้าไป ความสั้นของชีวิตมันก็คือความจะหมดของชีวิต คือความหมดของความเป็นอยู่ เมื่อมันหมดความเป็นอยู่ มันอยู่ไม่ได้ แล้วมันก็จะไป เมื่อมันไปนั่นหละ ก็ขอให้มันไปด้วยความดีบ้าง ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ศีลก็ให้มันสมบูรณ์บ้าง สมาธิก็ให้มันสมบูรณ์บ้าง ปัญญาพอที่จะให้สมบูรณ์ก็ให้มันสมบูรณ์บ้าง เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อจะได้เป็นคุณสมบัติ ถ้าพอจะพ้นได้มันก็พ้นได้เพราะธรรม ๓ ประการนั่นน่ะ ก็เพราะศีลสมบูรณ์ ก็สมาธิของเราก็สมบูรณ์ ปัญญาของเราก็สมบูรณ์ สิ่งที่จะหลุดพ้นในข้างหน้ามันก็จึงจะสมบูรณ์ 

สิ่งที่จะหลุดพ้นก็คืออะไร ก็คือวิมุตติ มันก็ต้องสมบูรณ์ไปด้วยศีล สมาธิก่อน แต่เราก็ไม่ถึงหรอก เอาแค่ว่าความสงบไว้ก่อน เอาพอเป็นที่พึ่งไว้ก่อน ยังไงๆก็เอาเป็นที่พึ่งไว้ก่อน เอาพอเป็นบุญไปก่อน เอาความสุขพอเป็นฐานสำหรับรองรับจิตของเราไว้ก่อน ก่อนที่ว่าอนิจจังมันจะมาถึง อนิจจังมันมีอยู่ข้างหน้า มันก็หน้าเรื่อยไปน่ะ ข้างหลังมันก็หมดไป ข้างหน้ามันก็ค่อยมาถึง แล้วมันก็หมดไป ก่อนที่มันจะหมดนี่แหละ แต่เรื่องความหมดของชีวิตมันไม่มีอะไรเป็นนิมิตเครื่องหมายที่จะบอกว่า วัน เดือน ปี พ.ศ. มันไม่มีนิมิตเครื่องหมายบอก แต่มันก็ต้องไปแน่ ความแน่นอนคือการไปของเขา นั่นหละเขาไปแน่ เมื่อเขาไปแน่ ทำอย่างไรศีลเราจะสมบูรณ์ สมาธิเราจะสมบูรณ์ ปัญญาของเราจะสมบูรณ์ เราจะทำยังไง 

ก่อนที่มันจะสมบูรณ์ได้ เราจะทำยังไง ทำความสงบไว้ก่อนเนี่ยหละ เอาความสงบก่อน สงบในอะไรหละ สงบในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าคือพุทโธ เอาพระพุทธเจ้านั่นหละเป็นหลัก เป็นที่พึ่ง ที่จะนำมาซึ่งความสงบ แล้วความสงบมันจะให้ประโยชน์อะไร เราก็ค่อยดูเอาสิ ดูความสงบน่ะสิ แล้วมีอะไรจะเกิดขึ้นในตัวเอง ธรรมชาติของความดีมันมีอยู่แล้วนะ แต่ละจิตละจิต แต่ละหัวใจธรรมชาติเค้ามีอยู่แล้ว แต่เรามันหาไม่พบเท่านั้นหละ หาเค้าไม่เจอเท่านั้นหละ 

คือหาตัวของตัวเองมันหาเจอยาก หาจิตของตัวเองรู้สึกมันหายากแสนที่จะยาก หาอะไรในโลกนี้มันไม่ยากเท่าหาใจตัวเองหรอก หาอย่างอื่นมันก็ยังพอหา มันก็ยังพอได้ ไอ้เรื่องหาใจเนี่ย พากันไปทุกที่ ที่ไหนเค้าว่าดีๆไปหมด กลับมาก็มันก็อยู่เท่าเดิม ก็ทั้งๆที่มันมีอยู่นี่ ก็อยากได้มัน ก็อยากเห็นมัน ก็อยากรู้มัน แล้วอยากรู้ว่าความดีของเขามันเป็นยังไง เราก็ต้องการ ต้องการที่อยากรู้เขา หาเท่าไหร่มันก็หาไม่เจอ ก็ทั้งๆที่รู้อยู่นี่แหละ แล้วมันเป็นอะไร มันทำไมจึงหายาก แล้วมันมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ แล้วมันมาจากชาติไหนบ้าง แล้วมันมาอยู่อย่างนี้นี่ แล้วออกจากนี้มันไปข้างหน้า มันจะไปยังไง มันทำไมมันจึงหายากเหลือเกิน และมันทำไมจึงแก้ยากเหลือเกิน 

ก็ไม่ว่าใครนะ มันมักจะเป็นทุกคน ในโลกนี้หละมันเป็นทุกคน เว้นไว้แต่คนที่เค้าได้แล้วเท่านั้น ถ้าเค้าได้แล้ว เค้าก็มีหนทางที่จะแก้เขาได้ เหมือนอย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านไปอยู่ในป่าในดงพงลึกบางท่านบางองค์ แต่ก็เป็นบางท่านบางองค์นะ ก็ไม่ใช่จะเป็นทุกองค์ ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ง่ายๆนะ แต่ท่านก็ต่อสู้ ก็เอาชีวิตเข้าแลก แต่บางท่านก็สู้ไม่ไหว แต่บางท่านก็ได้ชัยชนะมา ก็คือได้ใจนั่นหละ ก็ไม่ได้อะไรหละ ท่านเอาชีวิตเข้าแลกถึงขนาดนั้น ไอ้หัวใจนี่มันเป็นของที่หายาก หาได้ยาก ก็ทั้งที่มันมีอยู่นี่หละ ใครไม่มีหละ นั่งอยู่นี่หละมีมั้ย มันมีทุกคนนะ ถึงไม่มานั่งอยู่นี่ มันก็มีทุกคนนะ เค้ามีกันทั้งนั้น แต่มีใครเล่าหละเป็นผู้ที่หาได้ เป็นผู้ที่หาเห็น เป็นผู้ที่เจอหัวใจตัวเอง แล้วมันเป็นยังไง มันไม่มีใครนะ ไม่มีใครรู้นะ แล้วก็ไม่มีใครเห็น ว่าใจนั่นน่ะมันเป็นยังไง มันมาอย่างไร มันจะไปที่ไหน ความดีของตัวเองนั้นจะไม่มีบ้างเชียวหรือ 

ทีนี้มันก็ไม่ได้รู้เลย มันก็มีแต่เหมาว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย ถือว่ามีแต่บาปมีแต่กรรมอย่างเดียว ก็ว่าดีก็ถือว่าตัวเองดีอย่างเดียวก็ดีไปเลย แต่ในความดีของตัวดีนั้นน่ะ ที่มันอยู่ดีน่ะมันอยู่ตรงไหน แล้วความดีอันที่มันแสดงขึ้นในตัวเองนั้นน่ะมันอยู่ตรงไหน แล้วมันก็หาได้พบไม่ ผู้ที่จะพาให้เราไปสู่ความสุข ผู้ที่จะนำความสุขมาให้ มันหามันไม่เจอ เราก็มีแต่หาบุญและหากุศล หากันอยู่อย่างนี้หละ เรื่องหาบุญ ก็ไม่มีที่จบ คือว่าไม่มีที่สิ้นสุด ก็ทำกันอยู่อย่างนี้หละ นี่เรียกว่าเราหาบุญ 

แต่ว่าไ้อ้บุญนั้นน่ะ เค้าไปบรรจุกันไหนแน่ เค้าไปบรรจุกันที่ไหนแน่ ทีนี้ก็ไม่มีใครพบมันอีกน่ะ แล้วก็ไม่มีใครเจอมันอีกน่ะ อย่างพระพุทธเจ้าว่า ที่สุดแห่งทุกข์นั่นน่ะ มันอยู่ตรงไหน พระพุทธเจ้าก็ว่าบุญนั่นน่ะมันต้องส่งถึงที่สุดแห่งทุกข์ ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงไหน ทีนี้เมื่อไหร่เราจะพากันเจอ เมื่อไหร่เราจะพากันพบที่สุดแห่งทุกข์ มันก็มีแต่หากันอยู่อย่างนี้หละ 

ทีนี้เราก็หาแต่ข้างนอก แต่ภายในคือหัวใจของตัวเองเล่า ให้พากันเข้าไปกันเสียบ้าง นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี นั่นหละควรจะเข้าไปหากันบ้าง ควรที่จะไปดูกันบ้าง ความสงบมันอยู่ตรงไหน ความสงบมันอยู่ภายใน อยู่ตรงที่หัวใจเรา ที่มันคิดอยู่นั่นน่ะ มันคิดอยู่ตรงไหน สถานที่แห่งความสงบมันก็อยู่ตรงนั้น และมันวุ่นวายตรงไหน สถานที่แห่งความสงบมันก็อยู่ตรงนั้น ความฟุ้งซ่านมันอยู่ตรงไหน สถานที่แห่งความสงบมันก็อยู่ตรงนั้น เราก็หาตรงนั้นสิ 

เราก็มุดเข้าไปบ้างสิ มีแต่ว่ายน้ำหนี ไม่ได้ดำน้ำเข้าไป ดำเข้าไปข้างในบ้างซี่ ดำเข้าไปข้างในก็คือยังไง ก็คือโอปนิยิโก น้อมเข้าไปข้างใน น้อมเข้าไปไหน น้อมเข้าไปทรวงอก ก็น้อมเข้าไปบ้างสิ อันนี้มีแต่ว่ายน้ำหนี มีแต่ไปตามกระแสโลก กระแสโลกเค้าพากันไปตามกิริยาของความวุ่นวายไปหมด นั้นมันกระแสโลก อย่างโลกที่เขาเป็นอยู่ทุกวันนี้ จิตมันไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัวนะ มันไปอยู่กับเรื่องของคนอื่นกันซะหมด มันเรื่องของตัวเองมันไม่ได้สน แล้วมันไปสนแต่เรื่องของคนอื่น ก็โดยมากมันไปกันทำนองนั้น 

ทีนี้มันไม่ได้โอปนยิโกน่ะ น้อมเข้าไปหาตัวเอง มันไม่มีนะ ทีนี้มันจะเอา นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง ที่ไหนหละ ความสุขมันจะอยู่ที่ไหน มันก็ไม่มี ความสุขที่มันจะแสดงออกในตัวของมัน มันก็ไม่มีให้เห็นอีกหละ ตัวเขาที่เขาจะแสดงออกซึ่งความดีนั่นน่ะ มันก็ไม่เห็น ก็เพราะอะไร เพราะเขาไม่อยู่ เราก็คิดแต่ว่าเขาไม่มี คิดว่าแต่เขาจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเขาอยู่แล้วมันจะมีอะไรเกิด แล้วมันจะได้อะไรถ้าเราไม่คิด ก็โดยมากก็มักจะพูดกันไปทำนองนั้น มักจะมีความเห็นกันไปทำนองนั้นน่ะ มีไม่มีก็ช่างมันสิน่ะ ก็ให้มันอยู่ซะก่อน อยู่ไปเป็นเดือนๆ ไปเป็นปีๆ ลองดูซิมันจะเป็นยังไง 

แล้วจะให้มันดีขึ้นไปทุกวันก็อย่าให้มันอยู่เฉยๆ แล้วมันจะเป็นยังไง เขาจะแสดงความดีของเขาออกในตัวของเขาหรือไม่ อันนี้เราก็ไม่ได้รู้เลย เลยปฏิเสธตัวเองทั้งหมด ว่าตัวเองนั้นน่ะ ไม่มีอะไร ไปๆมาๆก็เลยเบื่อ ก็ช่างหัวมัน ก็คิดไปอย่างนั้น ได้หรือไม่ได้ แล้วความตั้งใจที่จะต่อสู้กับเหตุการณ์อันที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองเลยไม่มี อันนี้ก็เพราะอะไร ก็เพราะความสงบมันไม่พร้อม สงบไม่พร้อมก็ปัญญาก็ไม่พร้อมอีก ความรู้ก็ไม่กว้างขวางอีก ความดีก็ไม่แสดงออก สงบก็ได้แต่แค่สงบ ความดีที่มันแสดงออกจากความสงบนั้นเพื่อเป็นเครื่องจูงศรัทธา เพื่อความเจริญก้าวหน้าของคุณธรรม ก็มันก็ไม่มีอีกน่ะ มันก็ได้แต่สงบ แต่สงบอยู่เฉยๆก็มี ความดีที่มันจะแสดงออกก็มันมีอะไรบ้าง 

ทีนี้เราก็ยังเป็นห่วง เรียกว่าก้ำกึ่ง ก็จะไปก็เสียดาย เอ้า จะอยู่ ก็อยากไป นี่มันคาราคาซังคือมันยังไม่ตัดสินใจ ทีนี้มันก็เลยไม่ข้ามเส้นไปได้ มันอยู่ในระหว่างกึ่งกลาง จิตก็เลยเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ จะข้ามไปเสียเลยมันก็ไม่ข้าม จะหลุดมาเสียเลยมันก็ไม่หลุด ก็เรียกว่ามันอยู่ก้ำกึ่ง ถึงมันจะสงบแต่มันก็ไม่ก้าวหน้า ปัญญามันก็ไม่เกิด เกิดแต่มันเกิดเฉพาะ คือมันมีเท่าไหร่มันก็เกิดเท่านั้น แต่ปัญญาอันที่มีข้างหน้า ความดีอันที่มันจะมีข้างหน้า หรือความก้าวหน้าของปัญญา มันก็ไม่ได้พร้อม ก็เพราะตัวเองไม่รู้จักสนับสนุนและปรับปรุงจิตของตัวเองให้ก้าวหน้า มันก็เลยจะทรงตัวอยู่หรือว่ามันจะทรุด หรือว่ามันจะทรง เท่านั้นหละ 

ความก้าวหน้ามันจะเป็นยังไงหละ ที่จะให้มันเป็นประโยชน์แก่โลก อรรถประโยชน์ อรรถประโยชน์คือประโยชน์ตน โลกัตถประโยชน์คือประโยชน์แก่โลก ปรมัตถประโยชน์ คือประโยชน์อย่างสูง ที่นี้มันก็ไม่ไปสิน่ะ ก็ให้ชาวโลกมันเลื่องลืออยู่นี่หละมันจะเป็นยังไงหละ ถ้ามันจะเป็นจริงได้ก็จริงสิ ถ้าจะลือก็ให้มันลือ ถ้าประโยชน์มันสูงสุดหละ มันถึงขั้นปรมัตถประโยชน์คือประโยชน์อันชั้นยอด ประโยชน์อันปรมัตถ์ คือประโยชน์อันสูงสุดหละ เรียกว่าปรมัตถประโยชน์ ครั้งแรกมันก็อรรถประโยชน์เสียก่อน อรรถประโยชน์คือประโยชน์ในเบื้องต้น คือประโยชน์ตนเสียก่อน ทำประโยชน์ตนนี่ให้มันเกิดขึ้นเสียก่อน คือทำความสงบนี่หละ ให้มันเกิดขึ้นแก่พวกเรา 

รีบระงับกันเสียในระยะนี้ ข้างหน้าไปนี่นะมันก็มีแต่ความวุ่นวายนะ อย่าจะไปคิดว่ามันจะสันตินะ บ้านเมืองมันจะวุ่นวายอยู่นะ ไม่รู้ว่าเราจะเอียนเอียงไปทางไหนแล้วจะไปตกลงทางไหน จะเอาทางก็เสียทาง จะเอาอย่างก็เสียอย่าง มันจะวุ่นในตัวอยู่แล้วนะ ให้รีบระงับตัวเองและก็รีบตัดสินใจตัวเองเอาไว้ ความวุ่นวายนั่นน่ะ ปีใหม่เราก็รู้ว่าปีใหม่หรอก แต่อะไรมันจะเกิดในปีใหม่ มันก็คือความวุ่นวายนั่นหละ มันก็เริ่มวุ่นวายไปแล้วหละ นั่นหละให้เรารีบทำความสงบแล้วให้รู้จักตัดสินใจตัวของตัวเอง อย่าไปเที่ยวโฆษณาอะไรให้มันมากนั้น ให้มันอยู่ภายในตัวของตัวเอง นั้นก็เรียกว่าอยู่ภายใน แล้วเราค่อยตัดสินใจด้วยตนเอง ถึงเวลาเค้าหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตามเค้าหละ บ้านเมืองมันเป็นอย่างนั้น อันนั้นเป็นส่วนโลก 

ส่วนตนของตนเนี่ยหละเราต้องเตรียมพร้อมเพราะศีลธรรมมันเป็นสมบัติของพวกเราอยู่แล้ว คนอื่นจะเอาหรือไม่เอามันก็เรื่องเขา เขาก็เอาไปอีกอย่างหนึ่ง เค้าก็ว่าเขาเอา แต่เขาก็เอาศีลธรรมนั้นน่ะไปก่อกวนเพื่อความวุ่นวายก็หากมี ทีนี้เราเอาศีลธรรมของเรานั้นเป็นไปเพื่อความสงบ สงบในตัวเรานั้นหละ เล็ดรอดไปเอง ทำยังไงให้เราสุขได้ ให้สุขไปเถอะ เรื่องอนิจจังมันไม่ได้ยกเว้นใครหรอก มันจะวุ่นวายอยู่มันก็เป็นอนิจจัง มันจะทำอะไรอยู่มันก็เป็นอนิจจัง มันจะนั่งภาวนาสันติคือความสงบอยู่มันก็เป็นอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลงมันเป็นไปเรื่อยหรอก คือความแก่น่ะ มันก็ต้องแก่ตามหน้าที่ของเขา ความเจ็บมันก็เจ็บตามหน้าที่ของเขา ความตายมันก็ตายตามหน้าที่เขา มันไม่ได้ยกเว้นใคร เรารีบซะ ทำยังไงหละ เราจึงจะสงบได้ 

อย่าไปตามกระแสโลกให้มากนัก อิฏฐารมณณ์ และ อนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ในทางที่ดีและอารมณ์ในทางที่ร้าย หรือความยินดีหรือความยินร้ายนั่นหละเรียกว่าอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ความยินดีกับความยินร้ายมันก็ไปอยู่ทั้งสองนี่หละ ถ้าเค้าว่าดีตรงไหนมันก็ไปยินดีตรงนั้นน่ะ ถ้าเค้าว่าร้ายตรงไหนก็ไปยินร้ายตรงนั้นหละ หรือในตัวเองทั้งที่มันเป็นอดีต ทั้งที่มันเป็นอนาคต ส่วนที่มันเป็นอดีตในทางที่ดี ในทางที่เป็นอิฏฐารมณ์คือความยินดีน่าปรารถนา ก็อย่าให้มันมารบกวน อนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา คืออารมณ์ร้าย ทั้งที่เป็นอดีตก็อย่าให้มันมารบกวน ทั้งสองอย่างหละ ทั้งอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต เราก็อย่าให้มันมารบกวนหัวใจ อย่าให้ใจของเราไปรบกวนเขา 

ให้อยู่ระหว่างท่ามกลาง กลางโลกธรรม คือความยินดีและความยินร้ายน่ะ อย่าไปเกาะ เกาะทั้งสองทาง นั้นเรียกว่ามัชฌิมาคือความเป็นกลาง ใครจะทำได้ ก็ทำไป ลองดุซิ นั้นหละ สงบหละ ถ้าอยู่ในระหว่างท่ามกลางทั้งสองอย่าง สงบได้ คืออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ไม่เกาะอะไรทั้งสองอย่าง อยู่ในระหว่างความเป็นกลางนั้นเรียกว่ามัชฌิมา คือความเป็นกลาง ตั้งอยู่ในท่ามกลาง ถ้าจิตอยู่เป็นกลางหละ ความทุกข์มันจะมาจากไหนน่ะ มันก็ไม่มา มันก็มีแต่ความผาสุกเท่านั้นน่ะ 

แต่เราอยู่ภายนอก เราอยู่กับโลก เราก็ช่วยได้ ช่วยโลกได้ ในเมื่อมันยังมีชีวิตอยู่มันก็ช่วยได้ มันไม่ใช่ว่าถึงอยู่เป็นกลางมันจะไม่เอาอะไร มันก็ไม่ใช่ มันช่วย ช่วยด้วยความเป็นกลางเนี่ยหละ แล้วมันก็ให้พึ่งด้วยความเป็นกลาง เราให้พึ่งได้ พึ่งได้ทั้งสอง คนเราก็จะคิดว่า อยู่เป็นกลางแล้วไม่ทำอะไร จะไม่เอาอะไร มันก็เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อมีชีวิตอยู่มันก็ต้องช่วยกันเป็นธรรมดา เพราะหลักเมตตาธรรมน่ะมันมีตลอด ยิ่งอยู่ด้วยความเป็นกลางยิ่งมีเมตตามาก แม้แต่เราไม่ได้อยู่ความเป็นกลาง เมตตาของพวกเราก็ยังมีกันอยู่ ความสงสาร ความเมตตามันก็ยังมี ก็พวกเราก็ยังมี ก็ยังใช้กันอยู่ เมื่อเราไปอยู่ด้วยความเป็นกลางน่ะ เมตตาของเราก็จะสมบูรณ์ กรุณาเราก็สมบูรณ์ นั้นมันช่วยได้นะ นี่เรียกว่าความสมบูรณ์ในภายใน 

ถ้าเราสมบูรณ์ได้แล้ว ศีล สมาธิของเราสมบูรณ์ นั้นหละเราจะอยู่กันด้วยความผาสุก ความสุขนั้นก็จะปรากฏแก่บรรดาพวกเราท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายก็จะได้ประสบพบเห็นซึ่งคุณสมบัติอันที่มีในตัวเอง ที่เราได้สร้างสรรค์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์หรือว่าอดีตชาติ หรือว่าคุณสมบัติของเขาซึ่งมันมีอยู่ในตัวเขาเองนั่นน่ะ ความร้ายก็อยู่ในตัวเองเขาเองนั่นน่ะ มันจะแสดงออก เมื่อมันแสดงออกนั่นน่ะ เราจะได้เห็นความร้ายในตัวเองและเห็นความดีตัวเอง เห็นอยู่ในจิตตัวเองว่าความร้ายกาจมันมาจากไหน ความดีมันมาจากไหน ความดีมันมาจากไหน มันจะเห็นในตัวมัน เมื่อมันเห็นแล้วมันจะหาหนทางปล่อย และหาหนทางวาง ทั้งปล่อยทั้งวาง แล้วมันก็อยู่ด้วยความเป็นกลาง 

เมื่อเขาอยู่ด้วยความเป็นกลางได้ จะไปไหนก็ไปเถอะทีนี้ อยู่ที่ไหนมันก็มีแต่ความผาสุก อันนี้หละเป็นยอดธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ก็อยู่ด้วยความเป็นกลาง คือมัชฌิมา อยู่กลางโลกธรรม ไม่ยินดีและก็ไม่ยินร้ายในโลกธรรม พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าก็เช่นเดียวกัน เราก็มุ่งประเด็นอย่างนั้นหละ แต่จะถึงหรือไม่ถึง อันนี้ก็ให้เป็นเรื่องของเราแต่ละคน แต่เราก็มุ่งที่สุดอย่างนั้นเช่นเดียวกัน แต่จะไปได้เมื่อไร อันนั้นก็ขอเอาไว้ก่อน ไปได้เมื่อไหร่เราก็ต้องไปเมื่อนั้น ถ้ายังไปไม่ได้ เราก็ค่อยปฏิบัติไปเหมือนอย่างที่เรากำลังปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้ เราก็ต้องคิดอย่างนั้น อย่าไปใจร้อน แล้วก็อย่าไปนอนใจจนเกินไป แล้วก็ให้ค่อยๆทำ ค่อยๆปฏิบัติกันไป แล้วผลมันก็จะปรากฏขึ้นมา ภายในตัวเองที่ได้กระทำนั้น 

ดังนั้นหละที่ได้แสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้