Skip to content

รู้ได้อย่างไรว่าสมาธิที่ฝึกได้ผลถูกต้อง

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

| PDF | YouTube | AnyFlip |

เราได้เรียนสมาธิกันมาแล้ว ได้ปฏิบัติสมาธิกันมาแล้วทั้งนั้น แต่บางทีเราอาจจะไปหลงเชื่อคำบอกเล่าของคนบางคนว่าเรายังไม่ได้ทำสมาธิ อาตมาจะขอให้เรื่องไปคิดเป็นการบ้าน ถ้าเราไม่มีสมาธิ เรียนจบปริญญามาได้อย่างไร ไม่มีสมาธิ เป็นครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์ได้อย่างไร เมื่อไม่มีสมาธิทำงานใหญ่โตได้อย่างไร ไม่มีสมาธิ วิจัยงานละเอียดได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในคณะวิทยาศาสตร์นี่เป็นงานที่ละเอียดยิ่งนัก ล้วนแต่อาศัยกำลังของสมาธิทั้งนั้นจึงจะวิจัยวิจารณ์ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับวัตถุออกมาเป็นผลงานได้ ขณะใดที่เราตั้งใจวิจัยงานของเราอยู่นั้น เราใช้สติ ใช้ปัญญาอย่างละเอียด ใช้ความพินิจพิเคราะห์ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ นั่น เราได้ปฏิบัติสมาธิแล้ว และผลงานที่เราวิจัยเป็นผลออกมาได้ข้อมูลต่างๆนั้น เป็นผลซึ่งเกิดจากสมาธิ 

เพราะฉะนั้นจึงกล้ายืนยันได้ว่าท่านทั้งหลายได้ทำสมาธิกันมาแล้ว แต่สมาธิที่ท่านทำมาแล้วนั้นมันเป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อสาธารณะ เพราะยังไม่ได้มีข้อปฏิบัติที่จะพึงงดเว้น เมื่อท่านมีศีล ๕ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ดี มันจะเสริมสมาธิที่ท่านทำอยู่นั้นให้ดียิ่งขึ้น ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการปฏิบัติสมาธิโดยตรง อาตมาจะขอเล่าเรื่องอดีต อดีตซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งเคยปฏิบัติมาแล้ว

ในสมัยที่เป็นนักเรียนนักศึกษา พระก็มีการศึกษาเหมือนกัน เรียนนักธรรมตรี โท เอก เรียนเป็นมหาเปรียญ เดี๋ยวนี้เค้าเรียนกันถึงระดับมหาวิทยาลัย ในครั้งนั้นยังเป็นสามเณรอยู่ แล้วใจก็อยากจะเรียนหนังสือบ้าง อยากจะปฏิบัติกรรมฐานบ้าง ทีนี้มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า “เณร ถ้าจะเรียนก็ตั้งใจเรียน จะปฏิบัติก็ตั้งใจปฏิบัติ ทั้งเรียนทั้งปฏิบัติ จับปลาสองมือมันไม่สำเร็จหรอก” ทีนี้พอเสร็จแล้ว อาตมาก็ไปค้นตำรา ตำราการปฏิบัติกรรมฐาน ไปพบข้อปฏิบัติอยู่บทหนึ่งคือการเพ่งกสิณ ทีนี้ก็มาฉุกคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราไปอยู่ในห้องเรียนเนี่ย เรามีทางจะปฏิบัติสมาธิกรรมฐานได้มั้ย ก็มาได้ความคิดว่า เราจะเอาตัวครูของเรานั่นแหละเป็นเป้าหมายของการเพ่งกสิณ 

พออาจารย์ผู้สอนเข้าไปนั่งหน้าห้อง ก็สำรวมจิตสำรวมใจส่งกระแสความรู้สึกไปรวมอยู่ที่ตัวอาจารย์ สายตาก็เพ่งที่ตัวอาจารย์ไม่ลดละ เมื่อเราเพ่งอยู่ที่ตัวอาจารย์ ความรู้สึกไปรวมอยู่ที่ตัวอาจารย์ อาจารย์ทำอะไรเราก็รู้หมด ท่านยกมือเราก็รู้ เอามือลงเราก็รู้ เขียนหนังสือให้ดูเราก็รู้ อธิบายอะไรให้ฟังเราก็เข้าใจ เพราะเราสนใจในตัวอาจารย์ ทีนี้พอฝึกหนักๆเข้า ฝึกต่อเนื่องกันประมาณ ๗ วัน พอเสร็จแล้วเผลอๆก็โดนอาจารย์ตวาด ท่านตวาดว่า “เธอจะมามองฉันทำไมนักหนา” ก็เลยเรียนท่านว่า “ผมทำสมาธิโดยเอาตัวอาจารย์เป็นอารมณ์จิต” “เอ้อ ถ้าหากว่าเธอเรียนสมาธิก็เชิญตามสบาย จะเพ่งฉันแหลกละเอียดเป็นจุลไม่จุลไปก็เชิญ” อาจารย์ท่านบอกอย่างนี้

ทีนี้ตอนต้นๆนี่รู้สึกว่าสายตาและความรู้สึกไปรวมอยู่ที่ตัวอาจารย์ไม่ยอมส่งไปไหน ทีนี้หนักๆเข้าความรู้สึกนั้นกลับย้อนมารวมอยู่ที่ตัวของตัวเอง มาเตรียมพร้อมอยู่ที่จิต ในเมื่อความรู้สึกย้อนมาเตรียมพร้อมอยู่ที่จิต ความแปลกมันก็บังเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นอย่างไร คือในขณะที่อาจารย์ท่านอธิบายอะไรให้ฟัง พอท่านพูดจบลงปั๊บ จิตของเรานี่คาดคะเนล่วงหน้าได้ว่าต่อไปเค้าจะพูดอะไร แล้วมันเป็นอย่างนั้นตลอดเวลาตลอดชั่วโมงที่เราอยู่ในห้องเรียน พออาจารย์พูดจบประโยคนี้ปั๊บ ต่อไปมันรู้แล้วว่าอาจารย์จะพูดอะไร ทีนี้เวลาไปสอบ พออ่านคำถามจบ จิตมันก็วูบวาบไป คำตอบมันก็ผุดขึ้นๆ เราก็เขียนเอาๆ เวลาจะไปสอบจริงๆก็นั่งสมาธิคิดทบทวนหาบทเรียนว่าพรุ่งนี้เค้าจะออกอะไรมาเป็นข้อสอบ มันก็ไปรู้ล่วงหน้า 

ทีนี้เสร็จแล้วที่มันรู้ขึ้นมานั้น พอไปเข้าห้องเรียนจริงๆก็ออกมาจริงๆ เขาสอบมหากัน เขาสอบประโยคแปล แปลโดยพยัญชนะ แปลโดยอรรถ แล้วก็มีสัมพันธ์ มีบาลีไวยกรณ์ แล้วก็มีการเขียนตามคำบอก รวมทั้งหมด ๔ วิชา ทีนี้เสร็จแล้ว ๔ วิชานี้เรารู้ล่วงหน้าหมด ทีนี้เมื่อรู้แล้ว ก็ไปสอบไปซ้อมซะจนคล่องตัว จนจะจำได้ติดปาก พอไปเข้าห้องสอบก็ไปเขียนเอา เขียนเอา เขียนเอา จนได้พูดตลกๆกับลูกศิษย์ทุกวันนี้ว่าผมนี่เป็นมหาเพราะฝัน คือว่ามันฝันไปว่าเค้าจะออกที่ตรงนั้นตรงนี้ 

อันนี้ท่านที่กำลังเป็นนักศึกษาอยู่ ลองจดจำเอาไปปฏิบัติดู พออาจารย์เดินเข้ามาหน้าห้อง เพ่งสายตาส่งความรู้สึกไปที่ตัวอาจารย์ อย่าเอาใจไปอื่น อย่าเอาสายตาไปอื่น เมื่ออาจารย์สอนอะไร เราตั้งใจฟัง ตั้งใจกำหนดรู้ตาม ท่านจะเคลื่อนไหวไปมาอย่างไรอยู่ ให้อยู่ในความสนใจของเราตลอดเวลา แล้วเราจะได้สมาธิ ได้สติปัญญาสนับสนุนการศึกษา สมาธิอันนี้เราจะนำไปใช้ประโยชน์เมื่อเรียนจบไปแล้วไปทำงานทำการ เราสามารถที่จะนำสมาธิอันนี้ไปใช้ประโยชน์ได้

ดังนั้นหลักการของการปฏิบัติสมาธินี้ เราจึงแบ่งได้เป็นสองหลัก หลักสาธารณะทั่วไป หลักสาธารณะทั่วไปเนี่ยเราสามารถที่จะปฏิบัติได้ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ โดยเรายึดเอา การยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต ให้ฝึกสติรู้อยู่กับเรื่องปัจจุบันโดยเฉพาะ ยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต เพราะว่าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ได้เพราะจิตเป็นผู้สั่ง หลักธรรมะบอกว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นผู้ถึงก่อน สำเร็จแล้วแต่ใจ ดังนั้นสิ่งใดที่ใจมันคิดว่าจะทำ คิดว่าจะเดิน มีสติรู้ คิดว่าจะนั่ง มีสติรู้ คิดว่าจะนอน มีสติรู้ คิดว่าจะเดิน มีสติรู้ ทำ ดื่ม พูด คิด อะไรต่างๆ มีสติรู้อยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราวิจัยงานวิจัยการอะไรต่างๆ ให้นึกว่าเวลานี้เรากำลังพิจารณากรรมฐาน เราเขียนหนังสือเราก็นึกว่า เวลานี้เรากำลังปฏิบัติกรรมฐาน ไม่ว่าเราจะทำอะไรทั้งนั้นให้มีสติอย่างเดียว 

อันนี้เป็นบทการฝึกสมาธิโดยสาธารณะทั่วไป ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา และไม่มีอุปสรรคอันใดที่จะมาขัดข้อง อย่างสมมุติว่าท่านเป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักธุรกิจ เป็นนักทำงาน บางทีบางท่าน บ้านอาจจะอยู่ไกลที่ทำงาน บังเอิญวันไหนนอนตื่นสายอยากจะนั่งสมาธิก็เป็นห่วงเวลาทำงาน จะไปทำงานก็เสียดาย อยากนั่งสมาธิ ระหว่างสมาธิกับการทำงานของเรามันก็เลยกลายเป็นอุปสรรคขัดคอกัน ทีนี้ในฐานะที่เราเป็นชนชั้นปัญญาชน เรามาช่วยกันคิดหาวิธีการทำสมาธิโดยไม่มีอุปสรรคขัดข้อง จริงอยู่บางท่านอาจจะคิดว่าการฝึกสมาธิแบบนี้ มันเป็นเรื่องง่ายเกินไป แต่ความจริงอย่าไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องยากทีเดียว แต่ว่าถ้าเราฝึกได้แล้วมันจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล 

เราไปนั่งหลับตาภาวนาพุทโธหรือนะ มะ พะ ทะ ประเดี๋ยวเดียวก็เห็นนรก เห็นสวรรค์ขึ้นมาได้ บางทีไม่ถึงชั่วโมง แต่ว่าการทำแบบนั้นก็เป็นเรื่องของสมาธิ แม้ว่าเราจะปฏิบัติโดยวิธีอื่น จิตสงบมากมายสักปานใดก็ตาม อย่างบางทีสมัยก่อนนี่ อาตมานี่เคยนั่งสมาธิจิตสงบตั้งแต่เที่ยงคืนจนกระทั่งถึงสองโมงเช้า ทีนี้พอเสร็จแล้ว มันก็ยังแก้ไขปัญญาด้านจิตใจยังไม่ได้ จิตไปสงบนิ่ง มันเป็นฐานที่สร้างพลังงาน ไปอัดพลังงานเอาไว้ แต่มันยังไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่รู้จักอุบายแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ได้แต่การสร้างพลังงานทางจิตเท่านั้น 

เราอาศัยความสงบเช่นนั้น เวลาออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว พออารมณ์อันใดมากระทบ ถ้ารั้งอยู่มันก็อยู่ ถ้ารั้งไม่อยู่แล้วมันจะไปอย่างแรง บางทีโมโหขึ้นมา ทะเลาะกับเพื่อนฝูงนี่ ฝาไม้กระดานกุฏินี่ฟัดทีเดียวพังเป็นแถบๆ ไม่ทราบว่ามันเอาพลังงานมาจากไหน เวลามันฟุ้งมันฟุ้งใหญ่ แต่ถ้ายับยั้งไว้ได้มันก็ดีไป แต่ถ้าเอาไว้ไม่ได้ มันไปแรง ไปแรงจนกระทั่งบ้านเรือนพัง เช่นอย่างบางทีเพื่อนๆเค้านั่งสมาธิกำหนดจิตแพล็บเดียว ไม่ถึงห้านาที เอาไฟธูปจี้ ก็ไม่รู้สึกเจ็บ เพราะจิตมันเข้าสมาธิอย่างละเอียด แต่เมื่อออกมาจากสมาธิมาแล้ว กระโถนบินเอย กาน้ำบินเอย เพราะสมาธิคือความสงบนิ่งของจิตนี้ มันไม่มีการผ่อนคลาย เพราะว่าพอนั่งสมาธิจิตสงบแล้ว พอจิตถอนจากสมาธิ ก็รีบออกจากที่นั่งสมาธิทันที แล้วไม่คอยปล่อยให้จิตมันมีการผ่อนคลาย 

ดังนั้นถ้าหากสมมุติว่าท่านผู้ใดทำสมาธิจิตสงบนิ่งเป็นสมาธิอย่างดีแล้ว พอออกจากสมาธิมาอย่าเพิ่งดีใจ ให้นั่งอยู่ก่อน อย่าเพิ่งออกจากที่นั่งสมาธิ เมื่อจิตถอนจากสมาธิมาแล้ว มันเกิดความคิดอันใดขึ้นมา ปล่อยให้มันคิดไปเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดไปซักพักหนึ่ง จึงค่อยหยุดนั่งสมาธิ อันนี้คือวิธีปฏิบัติ 

ทีนี้เมื่อจิตสงบ บางทีจิตสงบนิ่ง นิ่งๆ เข้าไปจุดสงบ สงบถึงขนาดที่บางครั้งร่างกายตัวตนมันหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว สว่างไสวอยู่เหมือนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ แล้วทำทีไรมันก็เข้าไปสู่ความสงบอย่างนั้น แต่เมื่อมันสงบหนักๆเข้า ภายหลังมันไม่ยอมเข้าไปสู่ความสงบ มันมาป้วนเปี้ยนอยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ บางทีรู้สึกรำคาญ นึกว่าภูมิจิตของตัวเองเสื่อมแล้ว มัวแต่จะไปบังคับให้มันเข้าไปสู่ความสงบนิ่งอย่างเดิม พอเกิดมีการบังคับมันก็ยิ่งดิ้นรนใหญ่ ลองผลสุดท้ายในเมื่อหมดความสามารถที่จะบังคับให้มันหยุดนิ่ง ภายหลังก็มาลองปล่อยดู “เอ้า แกจะคิดไปถึงไหน ฉันจะตามดูแก” ปล่อยให้มันคิดไป คิดไป คิดไป กำหนดสติตามรู้ รู้ๆๆๆไป หนักๆเข้ามันรู้สึกเพลิดเพลินกับความคิด พอคิดไป คิดไปๆ ปีติมันบังเกิดขึ้น ความสุขมันก็เกิดขึ้น แล้วจิตมันก็ไปจดจ้องอยู่กับอารมณ์จิตที่เกิดดับอยู่ภายในจิตตลอดเวลา  ตกลงผลสุดท้ายพอคิดไปสุดช่วงมันหยุดคิด เข้าไปสู่ความสงบนิ่ง ร่างกายหาย ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวลอยเด่นสว่างไสวอยู่ 

จึงมาจับเคล็ดมันได้ว่า อ้อ นี่หลักทางเดินของมันอยู่ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำจิตสงบเป็นสมาธิดีแล้วภายหลัง เราอาจจะเกิดความคิดมากขึ้นมา ควรจะได้ปล่อยให้มันคิดไปบ้าง แต่ให้สติตามรู้ไป มันจะคิดอะไร ไปเหนือไปใต้ก็ปล่อยให้มันคิดไปเลย แต่ว่ามีสติตามดูไป ในเมื่อปล่อยให้มันคิดไปอย่างนั้น สติกำหนดตามรู้ไปแล้วมันก็เกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่งคือจดจ้องอยู่กับอารมณ์จิตที่เกิดดับทุกขณะจิต จึงมาได้ความรู้ตามหลักวิชชาขึ้นมาบ้าง ตัวที่จิตมันคิดมันคิดไม่หยุดนั้นคือวิตก สติที่รู้พร้อมอยู่นั่นคือตัววิจาร ในเมื่อจิตมีวิตกวิจาร ปีติและความสุขมันก็บังเกิดขึ้นได้ แล้วความเป็นหนึ่งคือจิตกำหนดรู้อารมณ์จิตอยู่เองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ มันก็เรียกว่าความเป็นหนึ่ง เมื่อมันคิดไปสุดช่วงมันแล้ว มันหยุดคิด มันก็เข้าไปสู่ความสงบนิ่ง ว่างสว่าง รู้ตื่นเบิกบานเหมือนกับที่เราบริกรรมภาวนามา อันนี้คือความเป็นจริง เป็นประสบการณ์ที่นักปฏิบัติทั้งหลายท่านผ่านมาแล้ว 

เพราะฉะนั้นหลักการปฏิบัติก็คือว่า เอาหละ สำเร็จผู้ที่ตั้งต้นจะปฏิบัติใหม่ ผู้ที่ยังไม่เข้าใจหลักการ เราอาจจะยึดคำพูดคำใดคำหนึ่งมาท่องไว้ในใจเช่น พุทโธเป็นต้น หรือจะท่องพุทโธ พุทพร้อมกับลมเข้า โธพร้อมกับลมออก นี่หลักปฏิบัติเบื้องต้นอยู่ที่ตรงนี้ ในขณะที่เราปฏิบัตินั้น หน้าที่ของเรากำหนดรู้ลมหายใจกับนึกพุทโธ ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปคิดอย่างอื่น อย่าไปให้มีอาการข่มจิตบังคับจิตให้สงบ แต่เราประคับประคองจิตให้นึกอยู่ที่พุทโธกับรู้ที่ลมหายใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ความสงบหรือไม่สงบให้เป็นหน้าที่ของจิต แต่หน้าที่การประคองจิตให้อยู่กับอารมณ์เป็นหน้าที่ของเรา 

เมื่อเราประคองจิตให้อยู่กับอารมณ์บางทีลมหายใจอาจจะเร็วขึ้น หรือปรากฏว่าลมหายใจมันแรงขึ้น  ถี่ขึ้น เรากำหนดรู้จิตของเราอยู่เฉยๆ อย่าไปตื่นใจ อย่าไปเอะใจ มันจะเป็นอย่างไร ปล่อยให้มันเป็นไป บางทีลมหายใจอาจจะแผ่วลง แผ่วลงๆ ผู้ภาวนาจะรู้สึกตกใจว่าใจมันจะขาด เดี๋ยวจะไม่มีการหายใจ ความที่ลมหายใจมันแรงขึ้นหรือถี่ขึ้น เป็นกิริยาที่จิตเอาใจใส่ต่อลมหายใจ ความที่จิตแผ่วลง ความที่ลมหายใจเบาลง แผ่วลง แผ่วลงๆๆ เป็นอาการที่จิตค่อยสงบลงไปทีละน้อยๆ ละเอียดลงไป เมื่อจิตสงบละเอียด อารมณ์ก็ละเอียด หนักๆเข้าลมหายใจแผ่วลง แผ่วลง จนกระทั่งรู้สึกว่าไม่หายใจ เมื่อไม่หายใจ จิตไปนิ่งอยู่เฉยๆ ร่างกายค่อยจางไป จางไป ในที่สุดลมหายใจหายขาดไป ร่างกายก็หายไปด้วย ยังเหลือแต่จิตนิ่งรู้ตื่นเบิกบานสว่างไสวอยู่ ร่างกายตัวตนหายไปหมดแล้ว 

นี่วิถีทางความเป็นไปของสมาธิ มันจะเป็นอย่างนั้น ทีนี้ในขณะที่เรากำลังนึกบริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธเป็นต้น หรืออะไรก็ได้ที่ท่านนึกเอา ยึดเอามาเป็นอารมณ์จิต ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง พุทโธ สวากขาโต หรือมรณังอะไรก็แล้วแต่ ที่ท่านมานึกซ้ำๆๆ อยู่ในจิตของท่าน ในขณะที่จิตมันนึกซ้ำๆๆ นึกอยู่นั่น ปล่อยให้มันนึกไป แต่ถ้าหากว่าจิตมันปล่อยวางทิ้งคำที่มันนึกอยู่นั่นไปคิดอย่างอื่นขึ้นมา มันเกิดความคิดของมันขึ้นมาเอง แล้วปล่อยให้มันคิดไปเหมือนกัน แต่ให้มีสติกำหนดตามรู้ไป คำบริกรรมภาวนาที่เราตั้งใจนึกอยู่เป็นสิ่งที่เราหาอารมณ์มาป้อนให้จิต เราจะต้องทำงานถึงสองอย่างพร้อมกันไป คือหนึ่งหาอารมณ์มาป้อนให้จิต ประการที่สองมีสติควบคุมจิตให้นึกอยู่ที่บริกรรมภาวนานั้น เราทำงานสองอย่างพร้อมกันไป 

แต่ถ้าหากว่าจิตทิ้งอารมณ์ที่เรามาป้อนให้เค้า เค้าไปคิดอย่างอื่นขึ้นมาสุดแท้แต่เค้าจะคิดเรื่องอะไร เราปล่อยให้เค้าคิดไป หน้าที่เหลืออยู่อย่างเดียวคือให้มีสติตามรู้ไปเท่านั้น ในเมื่อเราตามรู้ความคิดไป เค้าจะคิดไปแบบไหนอย่างไรก็ตาม คิดเรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องอกุศล เรื่องโลก เรื่องธรรม ปล่อยให้คิดไปเลย ไม่ต้องไปห้ามแต่ให้สติตามรู้ๆๆไป พอไปสุดช่วง เค้าหยุดคิดปั๊บ จิตจะสงบนิ่งสว่างไสว มีปีติมีความสุขเกิดขึ้น 

อันนี้เราลองไปทำดู แต่เราจะได้ยินว่า เมื่อบริกรรมภาวนาพุทโธเป็นต้นอยู่ ถ้าจิตทิ้งพุทโธปั๊บ ให้ดึงมาหาพุทโธอีก เมื่อจิตทิ้งพุทโธไปคิดิย่างอื่นให้ดึงมาหาพุทโธอีก ทีนี้อันนี้เราไม่ต้อง ในเมื่อจิตทิ้งพุทโธปั๊บ ถ้าจิตว่างอยู่เฉยๆ ปล่อยให้ว่างอยู่ ไม่ต้องนึกอะไร แต่ถ้าจิตเกิดมีความคิดขึ้นมา ปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติกำหนดตามรู้ คือว่าให้รู้อยู่ในจิต ถ้าหากว่าจิตคิดขึ้นมาปั๊บ เราตั้งใจกำหนดดูปั๊บ เค้าจะหยุดนิ่งทันที ทีนี้พอเค้าหยุดนิ่ง เราก็ปล่อยให้นิ่งอยู่อย่างนั้น พอเค้าคิดขึ้นมา รู้ทันที พอว่างรู้ว่าง พอคิดรู้คิด ว่างรู้ว่างคิด รู้คิด สลับกันไปอย่างนี้ จนกระทั่งรู้สึกว่าตัวคิดก็คิดไม่หยุด ตัวตามรู้คือสติก็ตามจดจ้องกันไปไม่ลดละ 

บางทีในทำนองนี้ ตัวคิดก็คิดไป ตัวตามรู้ก็รู้ไป บางทีอาจจะมีอีกตัวหนึ่งมาสงบนิ่งอยู่ภายในตัวภายในร่างกายของเรา มันกลายเป็นสามมิติ มิติหนึ่งคิดอยู่ไม่หยุด อีกมิติหนึ่งทำหน้าที่ควบคุม อีกมิติหนึ่งมานิ่งอยู่ภายในใจกลางตัว อันนี้เป็นไปได้มั้ย ได้หรือไม่ได้ ก็รับฟังเอาไว้ แต่เมื่อท่านปฏิบัติไป ปฏิบัติไป จะรู้เอง 

การปฏิบัติธรรมะเนี่ย มันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต เช่นเดียวกันกับพวกท่านวิจัยงานเกี่ยวกับเรื่องวัตถุนั่นน่ะ ในเมื่อผสมแร่ธาตุเคมีต่างๆ มันสมดุลย์กันขึ้นมา มันจะแสดงปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา จิตกับกายของเรากับอารมณ์ของเรานี่ในเมื่อมันสัมผัสกันหนักๆเข้า เมื่อมันได้ที่มันก็จะแสดงปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาเอง ซึ่งมันเป็นผลงาน ดังนั้นในขณะที่เราตั้งใจปฏิบัติอยู่นี่ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปบังคับจิตให้หยุดนิ่ง และไม่จำเป็นที่จะต้องไปบังคับจิตให้เกิดความรู้ หน้าที่ของเราเพียงแต่ว่าทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก ในเมื่อจิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก ผลงานมันจะเกิดขึ้นมาเอง ถ้าหากว่าอาการของสมาธิที่จิตสงบวูบวาบสว่างดังที่กล่าวยังไม่เกิดขึ้น เราจะได้พลังงานทางสติ 

แต่เมื่อเราฝึกอบรมไปบ่อยๆจนคล่องตัวชำนิชำนาญ ในบางครั้งจิตของเราจะสงบวูบวาบลงไปแล้วสว่างขึ้นมา บางทีพอสงบปั๊บ แล้วความคิดมันจะเกิดฟุ้งๆๆขึ้นมา อย่างพวกท่านทั้งหลาย เป็นนักวิชาการ เป็นนักเรียนที่มีความรู้มากๆเนี่ย พอจิตสงบปั๊บลงไป มันจะไปค้นคิดอยู่ในหลักวิชาการหรืองานในหน้าที่ที่ท่านรับผิดชอบอยู่นั่นแหละ มันไม่ไปที่อื่น แต่นักปฏิบัติทั้งหลายหาว่าจิตของเราคิดออกไปนอกลู่นอกทาง แต่ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะมันอาศัยความคล่องตัวอยู่ในทางใด มันจะวิ่งไปในทางนั้น อย่างสมมุติว่าจิตสงบแล้ว มันมาวิจัยงานทางวิทยาศาสตร์อยู่ งานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นอารมณ์ จิตที่วิจัยอยู่นั้นใช่ธรรมะหรือไม่ ในเมื่อจิตไปวิจัยอยู่กับงานวิทยาศาสตร์มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทางหรือ 

อันนี้ต้องทำความเข้าใจ ในกายของเรานี่มีตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตามีหน้าที่ดู หูมีหน้าที่ฟัง ลิ้นมีหน้าที่รู้รส กายมีหน้าที่สัมผัส ใจมีหน้าที่นึกคิด สิ่งใดที่เป็นความคิด สิ่งนั้นคือธรรมารมณ์ เรื่องโลก เรื่องธรรม เรื่องวิชาการ เรื่องวิชาธรรมะ เรื่องวิชาวิทยาศาสตร์ ธรรมศาสตร์อะไรก็แล้วแต่ที่จิตมันเอามาเป็นอารมณ์คิด ถือว่าเป็นเรื่องของธรรมะทั้งนั้น เป็นธรรมารมณ์ ทีนี้ถ้าหากสมมุติว่าในขณะที่จิตของเรามันคิด เราปล่อยให้มันคิดไป แต่มันไม่มีความสงบ มันจะได้ประโยชน์อะไร อย่าลืมว่าความคิดคืออาหารของจิต ความคิดเป็นการบริหารจิต เมื่อจิตของเรามีความคิด เราปล่อยให้คิดไปแต่มีสติกำหนดตามรู้ รู้ๆๆ ไป ในเมื่อสติสัมปะชัญญะมีพลังแก่กล้าขึ้น กลายเป็นปัญญา สามารถที่จะกำหนดรู้ความคิดว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าความคิดอันใดมันเกิดขัดข้องขึ้นมา เกิดความดีใจ เสียใจ เกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นมา ก็มองเห็นทุกข์อริยสัจ 

นี่ลองๆกำหนดดูให้ดี ถ้าหากเราจะไปยึดแต่เพียงตำรา บางทีเราอาจจะมีความสับสนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาตมาไปเทศน์ที่กรุงเทพเนี่ย มีใครเค้าถามบ่อยๆ บางอาจารย์มาสอนยุบหนอพองหนอ บางอาจารย์มาสอนสัมมาอรหัง บางอาจารย์มาสอนพุทโธ แต่ละอาจารย์ก็มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน คือความเห็นไม่ลงรอยกัน ถ้าท่านได้คิดว่าปัญหานี่เพราะอะไร คำตอบก็คือว่า คนที่ทำสมาธิไม่เป็นมาเจอกันเข้าก็เกิดมีปัญหาขัดคอกัน คนหนึ่งทำเป็น อีกคนหนึ่งไม่เป็น มาเจอกันเข้าก็มีปัญหาขัดคอกัน ถ้าต่างคนต่างเป็น ไม่เถียงกัน เช่นอย่างพระอรหันต์ทั้งหลายท่านทำสมาธิเป็น สมาธินี่ใครทำแบบไหนอย่างไรก็ตาม เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้วมันมีแนวโน้มเป็นอย่างเดียวกันหมด อย่าไปเข้าใจผิดว่าเป็นคนละอย่าง เป็นคนละตำรา ภาวนาพุทโธ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิลงไปแล้วมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาเหมือนกันหมด ทีนี้พอจิตละปีติสุข ยังเหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา จิตมันก็นิ่งว่างสว่าง ร่างกายตัวตนหายไปหมดเหมือนกัน เป็นแบบเดียวกันหมด อย่าไปข้องใจ 

เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติสมาธินี่ต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง หลักเบื้องต้นบริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธๆๆ เป็นต้นเอาไว้ก่อน ถ้าใครยังไม่เข้าใจ วิธีการกำหนดอารมณ์จิตของตนเอง ก็ท่อง พุทโธๆเป็นต้น หรือสัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอก็แล้วแต่ที่ท่านถนัด ท่องมันทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ ท่องได้ตลอดเวลา แม้แต่เข้าห้องน้ำห้องส้วมก็ท่องได้ ไม่บาป บางท่านบอกว่าไปภาวนาอยู่ในห้องน้ำเดี๋ยวบาป ขี้กลากจะกินอะไรทำนองนี้ อย่าไปเข้าใจผิด ธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ทำความเข้าใจกว้างๆ ได้กล่าวแล้วว่า ยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิดเป็นอารมณ์จิต เมื่อท่านมาฝึกสติให้รู้พร้อมอยู่กับอารมณ์จิตในปัจจุบันนี่คือการฝึกสมาธิ สำคัญตรงเวลาที่ท่านอยู่ว่างๆคนเดียว หรือเวลานอน พอนอนลงไป คนทำงานต้องคิดโน่นคิดนี่ แต่คนทั้งหลายชักจะรำคาญความคิด ไม่อยากจะให้มันคิด หรือความอยู่นิ่งเฉยๆนี่มันสบาย ในเมื่อนอนลงไป เกิดความคิดขึ้นมา ปล่อยให้มันคิดไปเถอะ มันจะคิดไปเหนือไปใต้ ปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติกำหนดตามรู้เรื่อยไป จนกระทั่งเรานอนหลับ 

ถ้าหากว่าจิตของเรายังไม่มีพลังพอ พอหลับปุ๊บลงไปก็นอนหลับมืดธรรมดา แต่ถ้าเราปฏิบัติต่อเนื่องกันไปทุกวัน ทุกวัน พอหลับปุ๊บลงไป เราจะรู้สึกว่านอนไม่หลับทั้งคืน บางทีก็ไปรู้สึกตัวอยู่แต่จิตยังไม่สว่าง ทีนี้เมื่อฝึกหนักๆเข้า พอหลับปุ๊บลงไป จิตมันจะสว่างโพล่งขึ้นมา แล้วมีงานการอันใดที่ขัดข้อง ที่เราแก้ปัญหาไม่ตก มันจะวิ่งเข้าไปเป็นอารมณ์แล้วจะไปค้นคว้าพิจารณาแก้ไขปัญหาในขณะที่นอนหลับ แล้วจะแก้ปัญหานั้นตกไป มันเหมือนกับนอนหลับแล้วฝันไป ในลักษณะอย่างนี้แม้ว่านั่งสมาธิอยู่ ถ้ามันเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นมา มันก็คือฝันนั่นเอง เช่นอย่างผู้นั่งสมาธิแล้ว จิตสงบสว่าง ส่งกระแสจิตออกไปนอก มันก็มองเห็นรูปภาพต่างๆ นั่นก็คือฝัน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่นั่งสมาธิเราเรียกว่า นิมิต 

มันมีวินัยข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ว่า ภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของสมาธินี่ อาตมาชอบใช้คำว่าฝันไป ฝันนี่คนธรรมดาสามัญก็ฝันได้ ถ้าเราไปบอกว่า เอ้อ นี่เป็นความรู้ เป็นญาณ เป็นฌาณซึ่งเกิดในสมาธิ แต่หากว่ามันไม่เป็นจริง เผลอไปต้องอาบัติปาราชิกไม่รู้ตัว แต่ใช้คำว่าฝันไปนี่มันป้องกันอาบัติได้ ปลอดภัย เพราะคนธรรมดาก็ฝันได้ 

เพราะฉะนั้นในขณะที่เราทำสมาธินี่ จะทำด้วยวิธีใดก็ตาม ให้ระวังอย่างหนึ่ง เมื่อทำสมาธิจิตสว่าง กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก บางทีไปเห็นภาพนิมิตต่างๆ บางทีก็เห็นพระสงฆ์ที่ทรงจีวรสวยงามอร่าม ไปเข้าใจว่าเป็นผู้วิเศษ แล้วแต่จิตมันจะโกหกเราขึ้นมา นี่คือพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดเรา นี่คือโมคคัลลา สารีบุตรมาโปรดเรา แล้วเราเผลอไปน้อมเอานิมิตที่เราฝันขึ้นมานั้นเข้ามาในตัว พอนิมิตนั้นเข้ามาถึงตัวปั๊บ มันจะกลายเป็นการประทับทรงวิญญาณ พอเสร็จแล้วเราจะเปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาอื่นอย่างไม่รู้สึกตัว เช่นอย่างบางท่านที่เข้าใจผิด ทำสมาธิแล้ว พอเห็นภาพท่านโมคคัลลาเข้ามา ก็ เอ้า เอาเข้ามาในจิตในใจ ฉันเป็นพระโมคคัลลา พระสารีบุตรเข้ามาก็ เอ้า ฉันเป็นพระสารีบุตร พระพุทธเจ้าเข้ามา เอ้า ฉันเป็นพระพุทธเจ้า บางทีเห็นผู้ยิ่งใหญ่ พระศิวะ พระอะไรออกมา ก็เข้าใจว่าท่านผู้วิเศษจะมาช่วยญาณช่วยฌาณให้เราแก่กล้าขึ้น แล้วเสร็จแล้วก็เข้าใจผิด น้อมเอาเข้ามาในตัว ก็กลายเป็นการทรงวิญญาณเปลี่ยนศาสนาไม่รู้ตัว 

เพราะฉะนั้นหลักที่เราจะควรสังเกต การทำสมาธินี้เพื่อทำจิตให้สงบ ให้รู้ความจริงของกายของใจของเราเองว่าสภาพจิตของเรามีแนวโน้มไปในทางไหน ทางเป็นบาปหรือทางบุญ ทางดีหรือทางชั่ว ทางผิดหรือทางถูก ในเมื่อมันมีแนวโน้มไปในทางไหน เราจะแก้ไขหรือไม่ ถ้าเราจะแก้ไขก็อาศัยหลัก ๕ ประการ คือศีล ๕ งดเว้นตามนั้น แล้วก็สร้างสมรรถภาพทางจิตให้มีความมั่นคง ให้มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา รวมประชุมพร้อมที่จิต ทำจิตให้เป็นปกติตลอดเวลา แล้วเราจะได้ผลเกิดจากการปฏิบัติ 

การปฏิบัติสมาธินี่ถ้ารู้สึกว่าปฏิบัติไปแล้วมันรู้สึกเบื่องาน ใช้ไม่ได้ ปฏิบัติไปแล้วต้องรักงาน มีครอบครัว รักครอบครัวยิ่งขึ้น มีเพื่อนมีฝูงรักเพื่อนฝูงยิ่งขึ้น แต่ความรักมันจะกลายเป็นความเมตตาปราณี มีความหมั่นขยันในหน้าที่การงาน มีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาดียิ่งขึ้น นี่จึงจะถือว่าปฏิบัติสมาธิแล้วได้ผล ทีนี้เมื่อปฏิบัติสมาธิแล้วเบื่องานเบื่อการ อยากจะลาออกไปบวชนั้นใช้ไม่ได้ยังไม่ถูก