Skip to content

ภาวนาทำไมใจถึงไม่สงบ

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การแสดงธรรมวันนี้คิดว่าจะไม่พูดอะไรให้มาก เพราะการแสดงธรรมก็คือการนำเรื่องของธรรมะมาเล่าสู่กันฟัง ตามความรู้และความสามารถของผู้ที่จะพูดได้มากน้อยเพียงใดแค่ไหน และได้ผ่านการปฏิบัติมีความรู้สึกเข้าใจในหลักการปฏิบัติเพียงใดแค่ไหนตามชั้นภูมิของตัวเอง ดังนั้นการเรียนปริยัติหรือการฟังเทศน์นี่ เข้าใจว่าท่านทั้งหลายก็ฟังกันมามาก และการปฏิบัติตามธรรมะที่เราฟังและเรียนรู้แล้วนั้น ก็เข้าใจว่าจะมากพอๆกัน 

ดังนั้น ณ โอกาสนี้จึงใคร่ที่จะขอเชิญชวนบรรดาท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายจงกำหนดจิตตั้งใจว่าฉันจะตั้งใจสมาธิให้ดวงจิตของฉันเป็นสมาธิ สติภวังค์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็รวมเอาความรู้สึกทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ดวงจิต นึกถึงพระบรมครูคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยภาษาบาลีว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วก็นึกรวมลงที่จิตของเราว่า พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่จิต พระธรรมก็อยู่ที่จิต พระสงฆ์ก็อยู่ที่จิต จิตตัวรู้นึกคำว่าพุทโธ นั่นก็คือพุทธะ รวมความแล้วว่าใครก็ตามที่มีความรู้สึกผิดชอบ หรืออยู่ในจิตของตัวเอง ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีพุทธะคือผู้รู้อยู่ในจิตของเรา 

แต่โดยธรรมชาติของพุทธะที่ยังมีสิ่งมืด มันยังปิดบังอยู่คือกิเลส ตัวผู้รู้ของแต่ละบุคคลจึงยังไม่เห็นชัด เพราะฉะนั้นเพื่อให้ตัวผู้รู้ของแต่ละท่านเด่นชัดขึ้น จึงมีอุบายวิธีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ภาวนาคือการทำสมาธิ การทำสมาธิก็คืออุบายที่พยายามที่จะทราบความคิดที่มันแผ่ซ่านอยู่ทั่วทุกทิศ ให้ไปรวมจุดอยู่กับสิ่งสิ่งหนึ่งในเบื้องต้นก่อน โดยที่สุดแม้ความคิดถึงคำพูดเพียงคำสองคำคือพุทโธเป็นต้น หรือเพ่งจดจ้องอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งตามแบบแห่งการเพ่งกสิณ อุบายดังกล่าวนี้เป็นอุบายที่ทราบความรู้สึกของจิตที่มันแผ่ไปทั่วทุกทิศต่างๆ ในอารมณ์ต่างๆให้พรากจากสิ่งนั้นๆให้มารวมอยู่ในจุดเดียว คือพุทโธหรือจุดที่เพ่งนั้น และไม่เฉพาะแต่พุทโธหรือจุดที่เพ่ง แม้คำอื่นเช่นยุบหนอพองหนอ หรือเกิดดับอะไรก็แล้วแต่ ล้วนแต่เป็นอุบายทำจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบ คือให้เพ่งอยู่ในจุดนั้น หรือรู้สึกเฉพาะในคำพูดคำนั้นเท่านั้น 

อันนี้คืออุบายในเบื้องต้น ถึงแม้ว่าหลายๆท่านอาจจะผ่านการบำเพ็ญภาวนามา มีภูมิจิตภูมิใจสูงยิ่งขึ้นไปกว่าระดับขั้นดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม ที่นำมากล่าวอีกก็เผื่อเป็นการเตือน เตือนจิตเตือนใจ เตือนความรู้สึกของนักปฏิบัติทั้งหลายให้มีความรู้สึกความมั่นคงต่อการปฏิบัตินั้นๆ บริกรรมภาวนาก็ดี หรือการพิจารณาธรรมอันใดอันหนึ่งก็ดี แม้ว่าเราจะทำผ่านมาแล้ว เราจะถือว่าเราผ่านขั้นนั้นมาแล้วไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำซ้ำๆซากๆอยู่ในระดับนั้นหรือขั้นนั้นๆ ซึ่งเริ่มจากจุดเบื้องต้นจนกระทั่งถึงจุดเบื้องปลายคือขั้นภูมิจิตละเอียดที่สุด ตั้งแต่เบื้องต้น และเบื้องกลาง แล้วก็เบื้องสูงสุดนั้น เราจะไปปล่อยทิ้งไม่ได้ วิถีจิตที่เคยเดินๆๆมา ในลักษณะอย่างไร เรามีความรู้ความเห็นอย่างไร เราจะต้องทบทวนสิ่งที่เราเคยผ่านนั้นบ่อยๆ เพื่อให้มีความชำนิชำนาญ เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลงผิดเข้าใจผิด 

บางท่านอาจจะสามารถทำภูมิจิตภูมิใจให้มีความรู้ในธรรมะขั้นละเอียด เราอาจจะมีความรู้ เราอาจจะมีความเห็น แต่ถ้าเรายังไม่รู้แจ้งเห็นจริงกันจริงๆ เราอาจจะไปยึดเอาแต่เพียงความรู้และความเห็นเท่านั้น ที่เราได้เราถึงว่าเป็นสิ่งที่เราสำเร็จแล้ว แต่เรายังขาดการนึกถึงอีกสิ่งหนึ่งคือความเป็น ความบรรลุธรรมของผู้ปฏิบัติต้องประกอบพร้อมด้วยลักษณะสามอย่าง คือหนึ่ง ความรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิต สองความเห็น คือเห็นด้วยกับความรู้นั้น สามสภาพจิตที่เป็น หมายถึงการปล่อยวาง ประกอบด้วยสภาพสามอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่าเรามีทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งเป็น ทีนี้สิ่งที่เรารู้เราเห็นเราเป็น แม้จะเป็นสิ่งเก่าสิ่งเดิมที่เราพิจารณาซ้ำๆซากๆอยู่นั้น มันก็เป็นอุบายที่จะทำให้สภาพจิตของเราเปลี่ยนแปลงขึ้นตามลำดับขั้นแห่งความสามารถ เพราะฉะนั้นในหลักที่ครูบาอาจารย์ท่านเคยกล่าวแนะนำสั่งสอน หรือหลักในพระสูตรต่างๆซึ่งท่านทั้งหลายอาจจะได้เรียนมาแล้ว เช่นอย่างในหลักของโพชฌงค์ มีปรากฏว่า ภาวิตา พาหุลีกตา อบรมให้มากๆ กระทำให้มากๆ ทำให้ชำนิชำนาญ 

นี่คือหลักการของท่าน สำหรับวันนี้อาตมาจะกล่าวถึงหลักการปฏิบัติเพียงแค่ขั้นอนสุติ อนุสติคือการระลึก ในขั้นนี้จะยกเอาตัวอย่างแห่งการระลึกถึงพระพุทธเจ้าคือพุทธานุสติมาพูดพอเป็นตัวอย่าง การนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธานุสติ ซึ่งเป็นอนุสติข้อ ๑ ในอนุสติ ๑๐ ทีนี้เรามานึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยคำว่าพุทโธเป็นต้น ได้ชื่อว่าพุทธานุสติ ทีนี้ถ้าเรานึกคำว่าพุทโธๆซ้ำๆอยู่อย่างนั้น กลายเป็นการภาวนา หรือการอบรมจิตเพื่อจะให้จิตของเรามาติดอยู่กับคำพูดคือคำว่าพุทโธเพียงคำเดียว อันนี้เป็นอุบายในเบื้องต้น 

ทีนี้ขอให้ท่านลองสังเกตดูว่า เมื่อท่านนึกถึงคำว่าพุทโธๆๆๆๆติดๆกัน โดยไม่ปล่อยให้มีช่องว่าง จิตของท่านสามารถที่จะคิดถึงสิ่งอื่นได้มั้ย ในเมื่อท่านนึกพุทโธติดๆกันให้ถี่ยิบ เข้าใจว่าคงไม่มีโอกาสที่จะส่งกระแสไปในทางอื่นได้ เว้นเสียแต่ว่าท่านจะเผลอไปซักพักหนึ่ง แล้วจิตของท่านอาจจะลืมคำว่าพุทโธแล้วส่งกระแสไปในทางอื่น เมื่อท่านรู้สึกตัวแล้วก็เอามานึกไว้ที่พุทโธตามเดิม เมื่อจิตของท่านเผลอไปนึกถึงสิ่งอื่นเมื่อไหร่ ท่านก็เอามานึกไว้ที่พุทโธ พุทโธๆ ตามเดิม และพุทโธนี่ ท่านสามารถที่จะนึกได้ ไม่เฉพาะแต่ที่ท่านมานั่งหลับตาอยู่ในขณะนี้เท่านั้น แม้ท่านจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด อะไรอยู่ ท่านนึกได้ 

บางท่านอาจจะยึดว่า เดินนึกพุทโธกลัวจะเป็นบาป นอนนึกพุทโธกลัวจะเป็นบาป อย่าไปเข้าไปใจผิด เราสามารถที่จะนึกพุทโธได้ ทุกกาลทุกเวลาทุกสถานที่ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนๆ เรานึกได้ทั้งนั้น เรียกว่านึกได้ตลอดเวลาก็แล้วกัน ถ้าท่านตั้งใจที่จะนึก นึกพุทโธๆๆๆเอาไว้อย่างนั้น ในเมื่อนึกพุทโธอยู่ตลอดเวลา จิตมันไม่สงบเป็นสมาธิ ไม่นิ่ง ไม่สว่างอย่างที่แบบแผนตำรับตำราท่านกล่าวไว้ มันจะได้ประโยชน์อะไร มันได้ประโยชน์ที่ว่าท่านสามารถที่จะเอาพุทโธ สะกัดกั้นความคิดเอาไว้ ไม่ให้ปล่อยความรู้สึกนึกคิดไปสร้างบาปสร้างกรรมอย่างอื่น หรือให้ความคิดที่เราเรียกว่าความคิดชั่ว ความคิดไม่ดีนั้นมันน้อยลงแม้จะโดยความตั้งใจก็ตาม นี่เราเอาผลกันเพียงแค่นี้ก่อน 

ทีนี้ถ้าหากว่าเรามาภาวนาแต่พุทโธๆๆอย่างเดียวเท่านั้น เราสามารถที่จะทำจิตให้ดำเนินไปสู่ขั้นวิปัสสนากรรมฐานได้หรือไม่ อันนี้เป็นปัญหาที่นักปฏิบัติทั้งหลายมีความสงสัยกันมากเหลือกัน อาตมาขอบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า บริกรรมภาวนาทุกอย่าง จิตจะสงบลงได้เพียงแค่ขั้นอุปจาระสมาธิเท่านั้น เช่นคำบริกรรมภาวนาว่าพุทโธๆ หรือยุบหนอพองหนอก็ตาม เมื่อท่านนึกซ้ำๆซากๆอยู่อย่างนั้น เมื่อจิตสงบลงไปจริงๆ คือมันมีอาการวูบวาบแล้วก็สงบลงไปสว่างขึ้น คำบริกรรมภาวนาที่ท่านนึกอยู่นั้นมันจะหายไปทันที ในเมื่อคำว่ายุบหนอพองหนอก็ดี พุทโธก็ดีหายไปในขณะที่ท่านมีอาการรู้สึกเคลิ้มๆลงไปคล้ายกับจะนอนหลับ ในตอนนี้จิตมันยังไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นแต่เพียงเริ่มจะเป็นอุปจาระสมาธิเท่านั้น 

เพราะฉะนั้นบริกรรมภาวนานี่เป็นแต่เพียงสื่อยังจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบ เพียงขั้นรู้สึกเคลิ้มๆเหมือนจะนอนหลับ แล้วคำภาวนานั้นก็หายไป ใครจะบริกรรมภาวนาอะไรก็ตาม ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น 

ทีนี้มีปัญหาว่า เมื่อคำบริกรรมภาวนานั้นหายไปแล้ว ต่อไปนั้นท่านควรจะทำอย่างไร อันนี้ท่านพึงสังเกตจิตของท่านให้ดี ถ้าหากว่าจิตท่านลงไปนิ่งว่างสว่างอยู่เฉยๆ หรือไม่สว่างก็ตาม ในตอนนี้ถ้าหากท่านสามารถน้อมจิตไปสู่ลมหายใจได้ ก็รีบน้อมจิตไปสู่ลมหายใจทันที คือกำหนดรู้ลมเข้าลมออก ดูลมหายใจเข้า หายใจออก เฉยอยู่ เพียงแต่รู้ว่ามีลมหายใจเท่านั้น 

อย่าไปนึกว่า นี่ลมหายใจเข้าสั้น นี่ลมหายใจออกสั้น นี่ลมหายใจเข้ายาว นี่ลมหายใจออกยาว เป็นแต่เพียงทำความรู้อยู่ในที เมื่อลมหายใจเกี่ยวข้องกับร่างกาย จิตก็ยังรู้อยู่ที่กาย รู้อยู่ที่ลมหายใจ แม้เราจะไม่ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาว่าลมหายใจสั้นยาว จิตก็ย่อมรู้อยู่ในทีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปสร้างความคิดขึ้นมาอย่างนั้น 

ทีนี้ถ้าหากสมมุติว่าเมื่อจิตนิ่งลงไปสู่ความว่าง ถ้าจิตมันทรงอยู่ในความสว่างแล้วรู้สึกมีปีติ ก็ให้กำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่าจิตมันอาจจะถอนหรือส่งกระแสไปในทางอื่น ถ้าท่านไม่รีบบริกรรมภาวนาอีก ก็กำหนดจิตน้อมไปสู่ลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ หรือในช่วงนี้บางท่านอาจจะน้อมจิตไปเพ่งพิจารณาอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้น เพ่งไปในแง่แห่งอสุภะกรรมฐาน คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นของปฏิกูลโสโครก ไม่สวย ไม่งาม พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น 

ในเมื่อท่านมายึดเอาลมหายใจหรืออาการ ๓๒ ซึ่งเรียกว่า กายคตาสติ มาเป็นเครื่องรู้ของจิต มาเป็นเครื่องระลึกของสติ กรรมฐานทั้งสองอย่างนี้จะเป็นอุบายนำจิตของท่านให้ดำเนินเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ หรือถึงขั้นสมถกรรมฐาน 

แต่บางท่านอาจจะมีลักษณะเป็นอย่างนี้ ในเมื่อบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆเป็นต้น เมื่อมีอาการเคลิ้มๆลงไปแล้วจิตก็เริ่มสงบวูบๆๆลงไปแล้วก็ไปนิ่งสว่าง เรียกว่าจิตวิ่งเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิเร็วจนเกินไป ถึงขนาดที่เราไม่สามารถที่จะกำหนดรู้ปีติและความสุขได้ จิตวิ่งเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิเร็วเกินไป มันก็ไปนิ่งว่างอยู่เฉยๆ อันนี้ต้องพยายามทำบ่อยๆ จนกว่าเราจะสามารถกำหนดเริ่มต้นตั้งแต่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฝึกหัดจิตให้ดำเนินตามวิถีองค์ฌาณทั้ง ๕ จนชำนิชำนาญ 

แม้ว่าเราจะสามารถที่จะทำจิตให้นิ่งเป็นสมาธิถึงขึ้นสมถะหรือเรียกว่าอัปปนาสมาธิได้บ่อยๆเข้า ความจริง ความเข้าใจที่ว่าสมถกรรมฐานหรืออัปปนาสมาธิไม่สามารถที่จะทำผู้บริกรรมภาวนาให้มีภูมิจิตดำเนินไปสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐานได้ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายจึงทำความเข้าใจอย่างนี้ เราจะบริกรรมภาวนาก็ดี หรือจะพิจารณาอะไรก็ดี ในเมื่อจิตไปสงบนิ่งว่างอยู่เฉยๆ แม้จิตจะสงบละเอียดถึงขนาดที่ว่ากายหายไปหมด ยังเหลือแต่สภาพจิตที่สงบนิ่งว่างสว่างอยู่อย่างเดียวเท่านั้น จิตที่เป็นอย่างนี้ส่วนมากย่อมจะไม่เกิดความรู้ ย่อมจะไม่เกิดสติปัญญาขึ้นมา ในขณะที่จิตมีสภาพเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้องอีก ทีนี้ในเมื่อเป็นเช่นนั้นเพียงแค่การบริกรรมภาวนา จิตจะสามารถดำเนินไปสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐานได้อย่างไร 

เอาหละ สมมุติว่า เราเพียงแต่บริกรรมภาวนาให้จิตสงบนิ่ง ให้จิตสงบนิ่งทุกๆครั้ง จิตสงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธินี่ บางท่านก็ว่าจิตอยู่ในฌาณขึ้นที่ ๔ บางท่านก็เรียกว่าอัปปนาสมาธิเฉยๆ บางท่านก็เรียกว่าอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาณ อัปปนาจิต โดยธรรมชาติแล้วจิตไม่เกิดความรู้ในขณะนั้น เพราะจิตไร้สมรรถภาพในการที่จะคิดโดยประการทั้งปวง อันนี้ขอให้ท่านผู้ปฏิบัติพึงสังเกตให้ดีในตอนนี้ 

ทีนี้ให้เราคอยสังเกตดู แม้ว่าจิตในอัปปนาสมาธิจะไม่มีความรู้เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่โดยธรรมชาติของจิตที่สงบแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะถอนจากความสงบ คือถอนจากสมาธิ ในเมื่อถอนจากสมาธิในขั้นนี้ ก้าวถอยขึ้นมาสู่ภูมิแห่งอุปจาระสมาธิ จิตอยู่ในภูมิอุปจาระสมาธินี่ จิตย่อมมีความคิด ในเมื่อจิตเกิดมีความคิดขึ้นมาในขั้นนี้ ผู้ภาวนาย่อมจะสามารถน้อมจิตได้ พอจิตถอนจากอัปปนาสมาธิ มีความคิดเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้ตามความคิดนั้น เราคิดอะไรขึ้นก็กำหนดรู้ คิดอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้ อย่าปล่อยโอกาส จิตมันจะคิดเรื่องดีก็ตาม คิดเรื่องชั่วก็ตาม เราต้องกำหนดทำสติรู้ตามความคิดนั้นไปเรื่อยๆ อย่าไปละโอกาส ตามรู้ความคิดของเราไปเรื่อย จนกว่าจิตของเราจะรู้ สติของเราจะรู้ทันความคิดที่มันคิดขึ้น เพราะความคิดนั้นเป็นสภาวะธรรม เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ความคิดเป็นธรรมารมณ์ก็ย่อมเป็นอารมณ์ของจิต เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ในเมื่อจิตมีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก แม้จะเป็นนามธรรมก็ตาม ก็สามารถที่จะทำให้สติกลายเป็นมหาสติขึ้นมาได้ 

ในเมื่อสติตัวนี้ตามทันความคิดจนกระทั่งสามารถรู้เท่าทันความคิด รู้สึกว่าคิดสักแต่ว่าคิด รู้สักแต่ว่ารู้ จิตเราก็ปล่อยวางไป รู้แล้วก็ปล่อยวางไป เมื่อจิตตามรู้ตามเห็นความคิดไปอย่างนี้ จิตเอาความรู้ความคิดเป็นเครื่องรู้ สติเอาความรู้ความคิดเป็นเครื่องระลึก ในเมื่อจิตกับสตินี่ตามทันกันเข้า สติกลายเป็นมหาสติ สติกลายเป็นสติพละ ก็สามารถที่จะยังจิตให้สงบลงไปอีก กลายเป็นสมาธิ แล้วก็กลายเป็นสมาธิพละ ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว พละ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อาจจะไปรวมพร้อมอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งมีประสิทธิภาพที่จะทำให้จิตของเราสงบนิ่งเด่นเป็นสมาธิขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หรือบางทีอาจจะมีภูมิความรู้หรือภูมิปัญญาเกิดขึ้นมา 

ยกตัวอย่างเช่นอย่างบางท่านที่ภาวนาพุทโธๆๆแล้ว ในขั้นต้นเขาสามารถทำจิตให้สงบนิ่งลงเป็นอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถอนจากอัปปนาสมาธิแล้วก็ไม่มีความรู้อะไร เพราะจิตมันถอนออกจากสมาธิมาเลย ในเมื่อทำหลายครั้งหลายหนเข้า จิตก็สงบเป็นอัปปนาสมาธิบ่อยเข้าๆ ในเมื่อจิตสงบบ่อยๆเข้า จิตก็มีกำลัง มีสติ แล้วก็มีสัมปะชัญญะดีขึ้น เมื่อสมาธิถอนออกมาจากอัปปนาสมาธิ จิตถอนออกมาจากอัปปนาสมาธิ พอเกิดมีความรู้สึกมีความคิดขึ้นมาเท่านั้น จิตสามารถเกิดภูมิความรู้ เกิดปัญญารู้อะไรแปลกๆขึ้นมา ความรู้พรั่งพรูออกมาจนที่ไม่สามารถจะกำหนดตามความรู้ได้ก็มี ทีนี้ในเมื่อภูมิความรู้มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าสติกับจิตมันตามทันกัน ตามทันความรู้ที่เกิดขึ้นมาภายในจิต มันก็กลายเป็นภูมิวิปัสสนา ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นในจิต 

การอธิบายนี้ การใช้คำพูดอาจจะไม่ตรงตามความเป็นจริง อาจจะกระท่อนกระแท่นหรือบางทีก็อาจจะสับสน จึงขอฝากไว้สำหรับท่านผู้ฟังได้พิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง จึงอยากใคร่ที่จะขอให้บรรดาท่านทั้งหลายที่ยังสงสัยอยู่ว่า บริกรรมภาวนานี่ จิตเป็นได้เพียงแค่สมถกรรมฐานเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการภาวนาพุทโธนี่ มีผู้กล่าวนักหนาว่า ภาวนาพุทโธอย่างดี จิตก็ได้เพียงแค่ขั้นสมถกรรมฐาน จึงใคร่ที่จะขอร้องให้บรรดาท่านนักปฏิบัติทั้งหลายได้ช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริง ให้มันรู้แจ้งเห็นจริงประจักษ์ว่าบริกรรมภาวนาเนี่ย จิตมันจะเป็นเพียงแค่ขั้นสมถกรรมฐานเท่านั้นหรือ 

แต่อาตมาขอให้นัยเอาไว้ว่านักบริกรรมภาวนาทั้งหลาย ถ้าหากเราจะพากันโง่หมดทุกคน บริกรรมภาวนาแล้วจิตมันก็เป็นเพียงแค่สมถกรรมฐานเท่านั้น ถ้าในหลักวิชาการท่านก็ว่า อนุสติ ๑๐ มันก็เป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน ในเมื่อเรามาบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือคำว่าพุทโธๆเป็นต้น มันก็เป็นการปฏิบัติตามอารมณ์ของสมถกรรมฐาน ไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนา เพราะฉะนั้นเรามาช่วยกันพิสูจน์ดูว่า บริกรรมทุกอย่างเท่าที่มีในตำรับตำรานั่น ในเมื่อเราทำอย่างจริงจังลงไปแล้ว จิตของเราจะเป็นเพียงแค่สมถกรรมฐานเท่านั้นหรือ จะไม่มีโอกาสที่จะเข้าสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐานได้เองหรืออย่างไร 

อาตมาอยากจะขอให้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายได้ช่วยกันพิจารณาแก้ปัญหาในตอนนี้ ถ้าหากหลายๆท่านช่วยกันพิสูจน์ ช่วยกันพิจารณา ช่วยกันค้นคว้าหาหลักความเป็นจริงโดยธรรมชาติ โดยสลัดความยึดถือในตำรับตำราออกไปเสีย เอาแต่ความจริงซึ่งมันเกิดภายในจิตของผู้ภาวนานั้นมาเทียบเคียงกัน มาเปรียบเทียบกัน มาวัดกันดู ว่ามันจะสามารถเป็นวิปัสสนาไปได้หรือไม่ เผื่อเราจะได้หายข้อสงสัย หายแคลงใจ หายขัดแย้งซึ่งกันและกัน 

อาตมาขอให้คติไว้ให้พิจารณาอย่างหนึ่งว่า บรรดานักปฏิบัติทั้งหลายที่เรายังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ เพราะว่า หนึ่ง ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็น ก็เป็นเหตุให้ขัดแย้งกัน สอง ฝ่ายหนึ่งรู้เห็นเป็น อีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็นจริง ก็เป็นเหตุให้ขัดแย้งกัน แต่ถ้าหากว่าต่างฝ่ายต่างรู้ ต่างเห็น ต่างเป็นด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยเอาความเป็นจริงที่เกิดภายในจิตอย่างจริงจังมาเปรียบเทียบกัน เราจะไม่เกิดขัดแย้งกันในเรื่องการปฏิบัติ หรือความรู้ความเห็นในภูมิปฏิบัติเลย เช่น พระอรหัตอรหันต์ทั้งหลายไม่เคยเถียงกัน เพราะเรื่องการปฏิบัติ ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาไม่มี มีแต่ปุถุชนเท่านั้นเค้าเถียงกัน แต่พระอรหัตอรหันต์ไม่เถียงกัน อันนี้ขอฝากบรรดาท่านทั้งหลายไว้พิจารณา เอาหละการกล่าวธรรมะก็เป็นคติเตือนใจ ก็เห็นว่าสมควรแก่กาละเวลา

(ตอบปัญหาหลังเทศน์)

นี่ขอตอบปัญหาข้อแรก ที่มีคำถามว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง หมายความว่าอย่างไร ต่างกับ นิพพานัง ปรมัง สุญญังอย่างไร นี่เป็นปัญหาที่นึกขึ้นมาแล้วก็ถาม นิพพาน ปรมัง สุขัง เป็นภาษาบาลีเมื่อตอบออกมาก็คือว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง แปลว่าพระนิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง หรือสูญอย่างยิ่ง ความหมายของคำพูดก็ต่างกันอยู่แล้ว อันหนึ่งหมายถึงความสุข อันหนึ่งหมายถึงความสูญ คือสูญเปล่าไม่มีอะไร ทีนี้ปัญหาที่น่าจะสงสัยก็อยู่ตรงที่ว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง เราเข้าใจว่าพระนิพพานนี้สูญ เพราะว่านิพพานะก็แปลว่าดับ พึงทำความเข้าใจว่าคำว่าดับนี่ เป็นการอาการดับของกิเลส กิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิ อวิชชาดับหมด แต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่การดับนั้น อาตมาได้ขอกราบท่านผู้ฟังทั้งหลายให้ไว้ช่วยพิจารณาในการเทศน์คราวก่อน ว่าสิ่งที่เหนือการดับนั่น พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกเราไว้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร อาตมาก็เลยขอฝากท่านผู้ฟังไว้ให้ช่วยกันพิจารณา ทีนี้คำถามที่ว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระนิพพานสุขอย่างยิ่ง กับ นิพพานนัง ปรมัง สุญญัง พระนิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง อันนี้คำแปลมันก็มีความหมายส่อความต่างกันอยู่แล้ว อันหนึ่งหมายถึงความสุข อันหนึ่งหมายถึงความสูญ สูญเปล่า คือมันสูญจากกิเลส ตัณหา มานะ ทิฐินั่นเอง ความสูญจากกิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิก็หมายถึงว่า ความดับ ดับกิเลส ทีนี้เมื่อกิเลสดับแล้ว สิ่งที่อยู่เหนือการดับกิเลสนั้นคืออะไร อันนี้ขอฝากไว้ให้นักธรรมะทั้งหลายช่วยพิจารณา

ขอให้อธิบายเรื่องของฌาณต่างๆโดยละเอียด เรื่องของฌาณนี้จะขอพูดเฉพาะ ฌาณ ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นฌาณที่ภูมิจิตของนักปฏิบัติจะต้องผ่าน และจะต้องศึกษาให้รู้ให้มีความเข้าใจบ้างพอสมควร ฌาณอันเป็นปฐมบาทแห่งวิปัสสนามีอยู่ ๔ ขั้น เรียกว่า ปฐมฌาณ ทุติยฌาณ ตติยฌาณ จตุตฌาณ แปลออกมาเป็นภาษาไทยว่า ฌาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่๔ 

ฌาณที่ ๑ มีวิตก นึกถึงอารมณ์ มีวิจาร จิตกับอารมณ์แนบสนิทกัน จนเกิดความซึมซาบ เกิดปีติแล้วก็มีความสุข ในเมื่อจิตของผู้ดำเนินฌาณมีปีติและความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิต จิตก็ไม่กระวนกระวาย เข้าไปสู่ความสงบ แล้วก็มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาอยู่พร้อม นี่เป็นฌาณขั้นที่ ๑ 

ฌาณขั้นที่ ๒ ปล่อยวิตก วิจาร ยังเหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา 

ฌาณขั้นที่ ๓ ปล่อยปีติ คือวางปีติ คือยังเหลือแต่สุขกับเอกัคคตา

ฌาณขั้นที่ ๔ สุขหายไป ยังเหลือแต่เอกัคคตาคือความเป็นหนึ่ง กับอุเบกขาคือความวางเฉยของจิต 

ที่นี้จิตของท่านผู้อยู่ในฌาณขั้นที่๔เนี่ย เป็นคำตอบของปัญหาข้อหนึ่งที่ว่าจิตอัปปนาสมาธิคืออะไร เป็นอย่างไร จิตของผู้ที่อยู่ในฌาณขั้นที่ ๔ นี่คือจิตของผู้อยู่ในอัปปนาสมาธินั้นเอง ลักษณะของจิตอยู่ในอัปปนาสมาธิกับฌาณขั้นที่ ๔ ผู้ภาวนาจะปรากฏว่ามีความรู้สึกในจิต มีแต่จิตดวงเดียวนิ่งสว่างไสวอยู่ กายไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในความรู้สึก อันนี้จิตอยู่ในฌาณขั้นที่ ๔ 

ปัญหาที่ว่านิมิตกับความรู้แจ้งเห็นจริงต่างกันอย่างไร นิมิตแปลว่าเครื่องหมาย ถ้าผู้บริกรรมภาวนาพุทโธ จิตติดกับพุทโธอยู่กันอย่างเหนียวแน่น เรียกว่าจิตเอาพุทโธเป็นนิมิต เรียกว่าบริกรรมนิมิต ทีนี้นิมิตตามความเข้าใจของผู้ถามนี่ เข้าใจว่าคงจะหมายถึงนิมิตที่เราบริกรรมภาวนาหรือภาวนาอันใดก็ตาม ในเมื่อจิตมีลักษณะมีเคลิ้มๆลงไปแล้ว กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก แล้วก็มีภาพต่างๆเกิดขึ้นในความรู้สึก จะเป็นภาพคนภาพสัตว์หรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้เรียกว่านิมิต ทีนี้ส่วนความรู้แจ้งนั้น ความรู้แจ้งเห็นจริง อย่าเข้าใจว่าจิตสงบลงแล้วมีแสงสว่างเป็นความรู้แจ้งเห็นจริง ขอให้กำหนดเอาอย่างนี้ดีกว่า ง่ายดี สมมุติว่าท่านมีความสงสัยอยู่ว่าสมาธิคืออะไร และสมาธิมีลักษณะเป็นอย่างไร ในเมื่อท่านสามารถทำจิตให้สงบนิ่งลงเป็นสมาธิได้แล้ว ท่านก็รู้สึกว่าจิตของท่านสงบนิ่งเป็นสมาธิ แต่องค์ประกอบของความที่จิตเป็นสมาธิอย่างแท้จริงนั้นจิตจะต้องนิ่ง และมีความสว่างเป็นเครื่องหมาย ทีนี้เมื่อจิตของท่านสงบนิ่งลงไปแล้ว ท่านก็เห็นจริงว่าสมาธิคืออะไร และจิตเป็นสมาธิคืออะไร อันนี้เรียกว่าความรู้แจ้งเห็นจริง รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ แล้วก็รู้ว่าสมาธิเป็นอย่างนี้ เรียกว่าความรู้แจ้งเห็นจริง กำหนดเอาง่ายๆอย่างนี้ดีกว่า

ข้อแตกต่างระหว่างสมถะกัยวิปัสสนา อันแรกก็องค์ภาวนาเป็นพุทโธ พองหนอยุบหนอที่เข้าใจว่าเป็นหนทาง เกล้าตกถาจารย์สั่งสอนมา ทำไมจึงไม่นำพุทธพจน์นั้นมาเป็นองค์ภาวนาบ้าง เช่น นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง, นิพพานัง ปรมัง สุญญัง เป็นต้น อันนี้มีความสงสัยเรื่องสมถะกับวิปัสสนา อันได้แก่องค์ภาวนาเช่น พุทโธ ยุบหนอพองหนอเป็นต้น พุทโธก็ดี ยุบหนอพองหนอก็ดี ทั้งสองอย่างนี้เป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐานตามหลักสูตร ทีนี้ผู้มาภาวนาพุทโธๆก็ดี ยุบหนอพองหนอก็ดี เป็นการปรับปรุงจิตในขั้นสมถะ การนึกอยู่ในสิ่งๆเดียวเพื่อให้จิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ เป็นปฏิปทาหรือข้อปฏิบัติ เป็นความตั้งใจที่จะให้จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ ตั้งแต่อุปจาระจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ ในขั้นนี้เรียกว่าจิตเดินอยู่ในขั้นสมถะ ทีนี้ความที่จิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ อันนี้เรียกว่าสมถะ จิตรู้ว่าสมาธิเป็นอย่างไร หรือรู้ว่านี่เป็นสมาธิ เป็นความเห็นแจ้ง หายสงสัย รู้แจ้งเห็นจริงหายสงสัยในเรื่องสมาธิ อันนี้เรียกว่าวิปัสสนา เข้าใจเอาอย่างนี้ง่ายดี 

อีกปัญหานี้ การกำหนดจิตจำเป็นต้องกำหนดให้อยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของกายหรือไม่ การกำหนดจิต เรามีความจำเป็นจะต้องกำหนดให้อยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่นอย่างการกำหนดรู้ลมหายใจพร้อมกับพุทเข้า โธออก ลมหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ทีนี้การกำหนดจิตเกี่ยวกับการบริกรรมภาวนาเนี่ย ถ้าหากสมมุติว่า เรากำหนดภาวนาคำใดคำหนึ่งโดยไม่กำหนดหมายที่ใดที่หนึ่งภายในกายเช่นลมหายใจเป็นต้น เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว พอจิตมีความเคลิ้มๆสงบสว่างลงไป เพราะเราไม่มีที่กำหนดหมายภายในกาย เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว กระแสจิตมักจะส่งออกไปข้างนอก แล้วก็ไปเห็นนิมิตต่างๆ เช่นภาพคนสัตว์หรือเทวดา บางทีอาจจะหลงไปเที่ยวนรกสวรรค์อยู่ก็ได้ ทีนี้ถ้าหากเรากำหนดส่วนใดส่วนหนึ่งภายในร่างกาย เช่นจะกำหนดรู้ลงที่ลมหายใจ ในที่นี้ขอแนะนำให้กำหนดลงที่ลมหายใจ เป็นส่วนที่สำคัญยิ่ง เพราะลมหายใจนี่เป็นกรรมฐานที่ไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน ถ้าจิตดวงใดภาวนาแล้วกำหนดรู้ลงที่ลมหายใจ เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จิตปล่อยคำภาวนา แล้วจิตจะยึดเอาลมหายใจเป็นสื่อนำจิตเข้าไปสู่ความสงบละเอียดยิ่งขึ้นไป เมื่อจิตสงบยิ่งลงไปแล้ว ในขณะที่กายยังปรากฏอยู่ จิตจะวิ่งเข้าไปรู้ภายในกายได้ดี ในบางครั้งจิตอาจจะไปสงบนิ่งอยู่ในส่วนกลางของกาย แล้วก็ส่งกระแสส่องทะลุออกมาข้างนอก ทำให้ผู้ภาวนานั้นเห็นส่วนต่างๆของร่างกายได้ง่ายขึ้น ในแง่ของอสุภกรรมฐาน 

จะทราบได้อย่างไรว่าทำสมถะถึงขั้นอัปปนาแล้ว อันนี้ได้ตอบแล้วว่า สมาธิขั้นอัปปนาเรียกว่าสมถะ วิธีสังเกตก็คือว่าเมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว นิวรณ์ ๕ หายไปหมด กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา ความลังเลหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตนิ่งสว่างอยู่อย่างเดียว อันนี้เรียกว่าจิตถึงอัปปนาสมาธิแล้ว หรือเรียกว่าขั้นสมถะ

เมื่อพบว่ามีสิ่งที่ไม่ถูกต้องแล้ว ไม่สัมมนาจะแก้ไข อันนี้เป็นอันว่าเมื่อเห็นปัญหาข้อนี้ เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องมติต่อความเห็นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตรงกัน คือหมายความว่าในเมื่อมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องแล้ว ไม่สัมมนา จะแก้ไขอย่างไร ปัญหาข้อนี้ มีความประสงค์อยากให้สัมมนา หมายถึงการประชุมศึกษาหารือแล้วทำความเห็นให้ถูกต้องตรงกัน อันนี้เอาไว้เป็นภาระหน้าที่ของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ถ้าหากว่าพวกเราจะสัมมนากันเองก็สัมมนาได้ คือสัมมนาที่ตัวของเราเอง ใครจะมีความเห็นถูกต้องหรือผิดแผกแตกต่างอย่างไรก็ตาม เราไม่ไปคิดที่จะแก้ไขเรื่องภายนอก เราพยายามที่จะแก้ไขปัญหาภายในใจของเรา คือการปฏิบัติธรรมนั้นเราพิสูจน์ได้ตรงที่ว่า ธรรมอันใดซึ่งเกิดขึ้นกับจิตใจของเราแล้ว ทำให้จิตใจมีความสงบสว่างเยือกเย็น ทำให้เราหมดทิฐิ มานะ หมดกิเลส หมดความถือตนถือตัว สามารถที่จะปรับปรุงตัวให้อยู่ได้สบายในสังคม ไอ้ความเห็นและผลของการปฏิบัตินั้นเป็นการถูกต้อง

ปัญหาข้อนี้เกี่ยวกับเรื่องอดีตกาล หมายถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ ถามว่าความเห็นอันนี้เป็นความเห็นที่ถูกต้องหรือไม่ อันนี้ข้อให้คติเตือนเอาไว้ว่า เรื่องบุพเพนิวาสนานุสติญาณนี้ ได้โปรดกรุณาระมัดระวังและก็อย่าเพิ่งไปเชื่อ ส่วนมากบุพเพนิวาสนานุสติญาณนี้บางทีมันโกหกหรือมันเก๊ก็ได้ ซึ่งบางครั้งท่านผู้ที่เคยไปวัดป่าสาละวันเคยยกตัวอย่าง เล่าตัวอย่างให้ฟังบ่อยๆ เพราะฉะนั้นความเห็นและความรู้ในเรื่องอดีตชาตินี่ เอาไว้รู้ๆแล้วพิจารณาให้มันถี่ถ้วน ความรู้อันใดที่เรายังมีความสงสัยข้องใจอยู่ พึงสันนิษฐานเถิดว่าความรู้อันนั้นยังไม่แน่ และยังไม่จริงเท่าที่ควร ความรู้แจ้งเห็นจริงจะต้องทำให้ผู้รู้หายสงสัย 

ปัญหาข้อนี้ การฝึกนั่งสมาธิโดยการเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นั่งอยู่ประมาณ ๑๐ นาที เกิดอาการชาที่เท้าทั้งสองข้าง ควรจะปฏิบัติอย่างไร อันนี้ถ้าทนไม่ไหวก็เปลี่ยนอิริยาบถได้ การทำสมาธินี้เป็นกิริยาของใจ การนั่ง ยืน เดิน นอน อันนั้นเป็นท่าแสดงประกอบ เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถหรือเป็นการบริหารร่างกาย เปรียบเหมือนนักศึกษา นักเรียน หรือข้าราชการที่ท่านมีการเล่นกีฬาเป็นการออกกำลังกาย ทีนี้กีฬาของผู้ปฏิบัตินั้นก็มีการเดินจงกรม การยืน การนั่งสมาธิ การนอน การเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าหากนั่งอยู่ซัก๑๐นาที มันปวดแข้งปวดขาเหน็บกินจนทนไม่ไหว ก็พลิกได้เปลี่ยนได้ เพราะการทำสมาธิเป็นกิริยาของใจ ให้ถือเอาเรื่องของใจเป็นใหญ่ ใจกำหนดบริกรรมภาวนาหรือพิจารณาธรรมอยู่ แม้เราจะอยู่ในท่าไหนก็ทำได้ทั้งนั้น 

ปัญหาอีกข้อหนึ่ง อันนี้ปัญหาข้อนี้เกี่ยวกับการที่จะไปพักผ่อนบำเพ็ญภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดป่าสาละวัน ขอปวารณาต่อที่ประชุมนี้ว่า เผื่อว่าท่านผู้ใดมีความประสงค์ที่จะไปพักผ่อนบำเพ็ญภาวนาเพื่อจะไปดูป่าธรรมชาติซึ่งยังเหลืออยู่แห่งเดียวในบริเวณนครราชสีมา จะไปพักภาวนาอยู่ที่นั่น จะไปพักภาวนาอยู่ที่นั่น จะไปกี่วันกี่คืนเป็นเดือนก็ได้ จะบอกล่วงหน้าหรือจะไม่บอกล่วงหน้าก็ไม่เป็นไร เรามีที่พักพอจะให้พึ่งพาอาศัยได้

สรุปยุบหนอพองหนอ ความจริงการกำหนดยุบหนอพองหนอเป็นการกำหนดรู้อาการของลม ในเมื่อหายใจเข้าไป สูดลมเข้าไปทำให้ท้องมันพอง เวลาปล่อยลมออกทำให้ท้องมันยุบ ก็เป็นการเข้าออกของลม ทีนี้ในเมื่อจิตสงบลงไปบ้างแล้ว จิตก็ไปรู้อยู่ที่ลมหายใจ การทำอย่างนี้ ไม่เป็นความว้าวุ่นหรือว่าเป็นความยุ่งเหยิงในการปฏิบัติ ในธรรมชาติแล้วนักบริกรรมภาวนานี่ ถ้าเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว ถ้าจิตดวงใดวิ่งเข้าหาลมหายใจเข้าออก เข้าออก เป็นดวงจิตที่ค่อนข้างจะเดินทางที่ถูกต้อง เพราะการที่จิตรู้ลมหายใจนั้นคือการเจริญ กายคตาสติ เพราะลมเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบกาย

ท่อนที่สองของปัญหานี้ เมื่อทำจิตให้รวมลงมาแล้ว มาตามรู้ความคิด การทำเช่นนี้เป็นการถูกต้อง ถ้าหากเมื่อเราทำจิตให้สงบลงไป พอที่จะคุมอยู่ให้จิตให้รู้อยู่เรื่องเดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปสู่เรื่องอื่นได้ เมื่อความคิดเกิดขึ้นมา เราตามรู้ความคิดนั้น หรือตามรู้ความรู้ที่มันเกิดขึ้นในจิตนั้นเรื่อยไป อันนี้เป็นการใช้ได้ ซึ่งมันอาจจะเป็นจังหวะในขณะที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมจิตให้นิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวได้ เมื่อจิตมันต้องการคิด ปล่อยให้มันคิดไป แต่เราทำสติตามรู้ความคิดนั้น ในเมื่อตามรู้ความคิดไปแล้ว ถ้าจิตมันจะหยุดนิ่งเข้าสู่ความสงบ ปล่อยให้มันสงบ อย่าไปฝืนมัน ในเมื่อถอนจากความสงบแล้ว มันอยากมีความรู้เดิดขึ้นเรื่อยไป ก็ปล่อยให้มันเป็นไป อย่าไปฝืนมัน หน้าที่ของเรามีแต่ทำสติตามรู้เท่านั้น อาการของจิตที่มันต้องการความสงบ เราไปฝืนมัน มันจะไม่ค่อยดี ต้องปล่อยให้มันสงบ มันจะสงบเวลาไหนก็ปล่อยให้มันสงบ มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาเมื่อไร ก็ปล่อยให้มันมีความรู้ไป อย่าไปฝืนมัน เมื่อเราอบรมมามันเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาโดยธรรมชาติแล้ว จิตมันกำลังจะปฏิวัติไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรม ถ้าเราไปฝืนมันแล้วมันจะเกิดโทษ ถ้ามันจะต้องการสงบ เราฝืนไม่ให้มันสงบ มันจะเกิดโรคปวดศีรษะ ทีนี้ถ้ามันอยากจะรู้ เราฝืนไม่ให้มันรู้ จะเกิดโรคฟุ้งซ่าน เดี๋ยวจะคุมไม่อยู่ 

ปัญหาต่อไป การบริกรรมภาวนาโดยทั่วๆไป พูดถึงคำบริกรรมภาวนาโดยทั่วไปไม่ว่าคำไหนทั้งนั้น เป็นแต่เพียงเครื่องล่อให้จิตเข้าไปยึดอยู่ในคำๆนั้น ดังที่ได้อธิบายให้ฟังแล้วในตอนเทศน์ จะเป็นคำพูดคำไหนก็ได้ ทีนี้เราจะมาพุทโธๆๆ แล้วมาเปลี่ยนเป็นยุบหนอพองหนอก็แล้วแต่จังหวะ หรือเราอาจจะหาคำอื่นที่เรานึกว่าดีกว่านี้มาว่าก็ได้ ขอให้เป็นคำบริกรรมภาวนาก็แล้วกัน ไม่เป็นการที่หรือท่านจะตำหนิว่าเปลี่ยนบ่อยๆนัก มันทำให้เปลี่ยนความรู้สึกอยู่เรื่อย จิตมันจะไม่สงบ ถ้าท่านสงสัยว่ามันจะเป็นอย่างนั้น ก็เอามันซักอย่างเดียว จะเป็นคำไหนก็ได้ ทำอย่างจริงจังโดยปราศจากความสงสัย นึกว่าคำบริกรรมนี่แหละจะช่วยให้จิตของเราสงบ แล้วก็ว่ากันไป จะเอาพุทโธๆก็ได้ ยุบหนอพองหนอก็ได้ทั้งนั้น