Skip to content

ฝึกจิตให้ภาวนาพุทโธ

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

| PDF | YouTube | AnyFlip |

เป็นเวลาที่เราจะได้นั่งสมาธิ เพื่อปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ให้ทุกคนเตรียมนั่งสมาธิ ตามแบบที่ได้แนะนำไปแล้ว อันนี้เป็นการนั่งสมาธิ ฝึกสมาธิในเวลาเฉพาะกาล หรือฝึกสมาธิตามวิธีการ 

ดังนั้นให้ทุกคนอธิษฐานจิตว่าเราจะนั่งสมาธิเพื่อปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อให้จิตของข้าพเจ้าสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในธรรม คำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเป็นจริง แล้วสำรวมจิตนึกว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ (๓ ครั้ง) แล้วทำความรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าก็อยู่ในจิตของเรา พระธรรมก็อยู่ในจิตของเรา พระสงฆ์ก็อยู่ในจิตของเรา เพราะพระพุทธเจ้าเป็นคุณธรรม คุณธรรมที่ทำจิตของเราให้มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี และบรรลุถึงสภาวะผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน นี่เป็นคุณธรรมที่ทำจิตของคนเราให้เป็นจิตพุทธะ ให้ถึงพระพุทธเจ้า 

ลักษณะของจิตที่ถึงพระพุทธเจ้า จิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ตื่น เบิกบาน เป็นจิตที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เกาะเกี่ยวพึ่งพาอาศัยสิ่งใด เป็นอิสระโดยแท้จริง จิตที่เป็นอิสระโดยแท้จริงมีลักษณะสงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน เป็น อตฺตทีปา มีตัวเป็นเกาะ เป็น อตฺตสรณา มีตนเป็นที่ระลึกคือรู้ในจิตอย่างเดียว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ มีตนเป็นที่พึ่งของตน เรียกว่าไปยืนโดดเด่น อยู่โดยลำพังตัวเอง ไม่ได้พึ่งพาอาศัยอะไร 

ความนึกความคิดอันเป็นกิริยาของจิตไม่มี จิตสงบนิ่งตั้งเด่นอยู่ ร่างกายตัวตนหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวเท่านั้น สว่างไสวอยู่ อันนี้เป็นจิตพุทธะ และจิตพุทธะนี้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม คือรู้ตื่นเบิกบาน คุณธรรมอันนี้คือธรรมะอันเป็นสรณะ ที่เราปฏิญาณตนถึงว่าพุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่ระลึก นี่คือจุดนี้ เพื่อผู้ทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้ได้ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งธรรม คือพระธรรมมีอยู่ในจิต จิตของผู้นั้นก็เป็นธรรม ธรรมก็เป็นจิตของผู้นั้น 

เมื่อผู้นั้นมีพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น เป็นจิตพุทธะและทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนั้น ย่อมเป็นผู้มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี มีความตั้งใจเสมอว่า เราจะละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ความรู้สึกเช่นนี้เป็นกิริยาของความมีพระสงฆ์อยู่ในจิต เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี มารวมอยู่ที่จิตของผู้ปฏิบัติ 

ดังนั้นอุบายวิธีที่จะทำจิตให้ก้าวเดินไปสู่จุดนี้ ที่เรากำลังปฏิบัติอยู่เวลานี้ จงกำหนดรู้จิตของตนเอง ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น ให้มีสติกำหนดรู้ที่นั่น เพื่อเป็นการจูงใจให้จิตดำเนินเข้าไปสู่จุดแห่งความสงบ คือรู้ตื่นเบิกบาน ขอให้ทุกคนจงยึดเอาคำว่า พุทโธ อันเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า มานึกบริกรรมภาวนาอยู่ในจิต พุทพร้อมลมหายใจเข้า โธพร้อมลมหายใจออก ให้กำหนดรู้อยู่ที่ตรงนี้ แล้วก็นึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนั้น จนกว่าจิตจะสงบลงเป็นสมาธิ คือจิตรวมอยู่ที่พุทโธกับลมหายใจ พุทโธกับลมหายใจกับจิตไม่แยกจากกัน จิตรู้ที่พุทโธกับลมหายใจ สติรู้พร้อมอยู่ในขณะจิตนั้น 

เมื่อจิตอยู่กับพุทโธ พุทโธอยู่กับจิต มีสติคอยควบคุมอยู่ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะควบคุม แต่ว่าจิตเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ แสดงว่าสมาธิของเรากำลังเริ่ม เริ่มได้วิตก กับ วิจาร วิตกก็คือจิตนึกพุทโธกับลมหายใจอยู่ไม่หยุด วิจารก็คือมีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะจิตนั้น แล้วจิตจะค่อยสงบลงไป ทีละน้อยๆ ไม่ต้องไปบังคับจิตให้สงบ ไม่ต้องไปข่มจิต ไม่ต้องไปแต่งลมหายใจ หายใจตามปกติ พุท ลมเข้า โธ ลมออก หายใจให้สบาย หายใจให้โล่ง นึกพุทโธเพียงเบาๆ เพียงแต่นึกพุทโธกับรู้ลมหายใจอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นี่เป็นการทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก จิตรู้สิ่งใด สติก็ระลึกตามสิ่งนั้น เวลานี้จิตรู้พุทโธกับลมหายใจ สติก็ระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจกับพุทโธ 

จิต สิ่งรู้ สติ สามอย่างนี้มีความสัมพันธ์กัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่แยกจากกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ภาวนาพุทโธๆๆ เรื่อยไป เมื่อภาวนาพุทโธๆ ถ้าจิตหยุดนึกพุทโธ แต่ไปรู้อยู่ที่ลมหายใจ ให้รู้ที่ลมหายใจ ไม่ต้องนึกพุทโธอีก ถ้าหากจิตปล่อยวางลมหายใจ ไปรู้ที่พุทโธ ก็ปล่อยให้รู้อยู่ที่พุทโธ ไม่ต้องนึกถึงลมหายใจอีก ถ้าจิตทิ้งพุทโธลมหายใจ ไปนิ่งว่างอยู่เฉยๆ ก็ปล่อยให้นิ่งว่างอยู่อย่างนั้น อย่าไปรบกวน หน้าที่ของเราเพียงแต่ให้มีสติรู้ความเป็นไปของจิต 

ในขณะปฏิบัติอยู่เท่านั้น จิตจะมีอันเป็นไปอย่างไร ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเราตั้งใจปฏิบัติอบรมมากๆ กระทำมากๆ จนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ เราจะรู้สึกว่ามีอาการเคลิ้มๆ เกิดขึ้นในจิต มีลักษณะเหมือนกับจะง่วงนอน ให้กำหนดจิตรู้เฉยอยู่ อย่าไปเอะใจ ตกใจ ปล่อยใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าหากจิตมีอาการวูบๆลงไป ปล่อย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของจิต บางทีจิตมีอาการวูบลงไป เหมือนกระโดดลงจากที่สูงลงไปสู่ที่ต่ำ ก็ปล่อยให้เป็นไป บางทีหลังจากที่จิตมีความว่าง ว่างแล้วก็เกิดความคิดขึ้นมา ปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติกำหนดตามรู้ รู้อะไร รู้ความคิดของเราเอง 

ถ้าหากจิตสงบว่างลงไปแล้ว ไปเกิดความคิดขึ้นมา ความคิดที่เกิดขึ้นมานั้น ก็เป็นวิตกปล่อยให้คิดไป สติที่กำหนดตามรู้ความคิดเป็นวิจาร ปล่อยให้คิดไป กำหนดหมายรู้ความคิดสักแต่ว่าเป็นสิ่งรู้ สักแต่ว่าเป็นที่ระลึกของสติ 

จิต ความคิด สติ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของเค้า แล้วถ้าเมื่อเราปล่อยให้เป็นไปธรรมชาติ ถ้าความคิดเร็วขึ้น ปล่อยให้เป็นไป แล้วเราจะรู้สึกว่าเพลิดเพลินไปกับความคิดของตนเอง แล้วจะรู้สึกกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ 

ถ้ากายเบา กายสงบ ผู้ภาวนาก็ได้กายวิเวก คือความสงัดกาย สงัดจากทุกขเวทนาต่างๆ สบายเบา เหมือนกับกายลอยอยู่บนอากาศ ให้กำหนดรู้เฉยอยู่เท่านั้น จิตเบา จิตสงบ ก็ได้จิตวิเวก เมื่อจิตเบาจิตสงบ ปีติและความสุขเกิดขึ้น ช่วงระยะที่ปีติบังเกิดขึ้นนั้น ปีติบางอย่างทำให้กายสั่น ปีติบางอย่างทำให้กายโยก ปีติบางอย่างทำให้รู้สึกน้ำตาไหล ปีติบางอย่างทำให้รู้สึกเหมือนจะหัวเราะ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ หน้าที่ของเรากำหนดรู้จิตอย่างเดียว อย่าไปเอะใจ อย่าไปตกใจ อย่าหวาดกลัว การปฏิบัติสมาธิภาวนาไม่มีอันตรายอันใดที่น่าหวาดกลัว ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของจิต สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลงานในการปฏิบัติภาวนา เกิดจากการภาวนาพุทโธหรือกำหนดรู้ลมหายใจ เมื่อผลงานบังเกิดขึ้นแล้วเราไม่ต้องหวาดกลัว ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องเอะใจทั้งนั้น 

นอกจากนั้นเมื่อจิตสงบลงไปแล้วเกิดความสว่าง บางทีรู้สึกว่ากระแสความสว่างส่งออกไปข้างนอก ย่อมเกิดภาพนิมิตต่างๆขึ้นมา เช่นภาพคน ภาพสัตว์ ภาพภูติผีปีศาจ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ซึ่งเป็นมโนภาพที่จิตของเราสร้างขึ้นมาเอง เมื่อมีนิมิตภาพต่างๆเกิดขึ้นมา ผู้ปฏิบัติให้กำหนดรู้จิตของตนเองเท่านั้น อย่าไปสนใจกับภาพนิมิตนั้นๆ ถ้าจิตจะหลงในภาพนิมิตก็ให้นึกว่าสิ่งนี้คือจิตของเราสร้างขึ้นมาเอง ไม่ใช่สิ่งอื่นมาแสดงตัวให้เรามองเห็น จิตของเราสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น 

เมื่อเรามีสติกำหนดรู้พร้อมอยู่ เราจะได้ความรู้จากนิมิตนั้นๆ ถ้านิมิตภาพที่มองเห็นเป็นภาพนิ่ง เมื่อออกจากสมาธิมาแล้วก็ยังนึกเห็นอยู่ ติดหูติดตา เป็นอุคหนิมิต อุคหนิมิตคือจิตมองเห็นภาพนิ่งไม่หวั่นไหว ทีนี้ถ้าภาพนั้นขยายตัวใหญ่ขึ้น เล็กลง แสดงอาการต่างๆ แล้วก็สลายตัวไป หายสาบสูญไป แล้วก็ตั้งตัวเป็นภาพขึ้นมาใหม่ แล้วก็สลายไปอีก หรือบางทีภาพนิมิตที่มองเห็นนั้น เมื่อเรามีสติกำหนดดูอยู่ เนื้อหนังของนิมิตนั้นจะพังลงไป ยังเหลือแต่โครงกระดูก แล้วโครงกระดูกก็จะทรุดลงไป หักเป็นท่อนๆ แหลกละเอียด หายสาบสูญไป แล้วก็ตั้งขึ้นมาใหม่สลับซับซ้อนกันให้เราดูอยู่อย่างนั้น มีลักษณะเหมือนๆกับเราดูหนัง และดูจอโทรทัศน์ เมื่อเรามีสติกำหนดรู้อยู่สิ่งนั้นๆ คือกำหนดรู้อยู่ที่จิตของเรานั้นเอง ในเมื่อเราเห็นนิมิตภาพที่มีความยักย้ายไม่คงที่ ก็เรียกว่าจิตของเรารู้ ปฏิภาคนิมิต คือความเปลี่ยนแปลงของสภาวะนั้นๆ คือความเปลี่ยนแปลงของนิมิตภาพที่เรามองเห็นนั่นเอง 

เมื่อเรามีสติกำหนดหมายรู้อยู่ตลอดเวลา สติสัมปะชัญญะดีขึ้น เกิดเป็นปัญญา สามารถที่จะกำหนดหมายรู้ได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง คือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์คือทนอยู่ตามปกติไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วต้องสลายไป ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา คือไม่เป็นตัวของตัว ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ตลอดไป เมื่อนักปฏิบัติมากำหนดจิตดูความเป็นไปของนิมิต ตั้งแต่อุคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ถ้าจิตกำหนดรู้อุคหนิมิตคือภาพนิ่ง สมาธิของผู้นั้นก็เป็นสมถกรรมฐาน หรือเป็นสมาธิขั้นสมถะ 

แต่ถ้าจิตไปกำหนดหมายรู้ความเปลี่ยนแปลงยักย้ายของนิมิต ซึ่งจะเป็นไปต่างๆ เรียกว่าปฏิภาคนิมิต จิตกำลังก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา เพราะความเปลี่ยนแปลงยักย้ายเป็นเครื่องหมายของพระไตรลักษณ์ ซึ่งที่มองเห็นเป็นสภาวะธรรม ความเปลี่ยนแปลงยักย้ายเป็นกฏของพระไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือจะว่าอย่างภาษาไทยๆก็ว่า มีความเปลี่ยนแปลง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สลายตัว นี่คือกฏธรรมชาติของสภาวะธรรม สิ่งที่เรามองเห็นนั้น เป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ เป็นสภาวะธรรม กฏธรรมชาติของสภาวะธรรมย่อมมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เมื่อเรามามีสติกำหนดหมายรู้อยู่ เราก็จะรู้ธรรม รู้ธรรมเห็นธรรม ตามภูมิแห่งความสามารถของสมาธิและจิต 

ถ้าหากว่าในขณะใดที่จิตส่งกระแสออกไปข้างนอก มีความสว่างไสว บางครั้งเราจะรู้สึกว่า เรามีตัวเดินเที่ยวไป ไปพบคนพบสัตว์ ได้พูดจาสนทนากัน หรือบางทีก็เที่ยวไปในที่ต่างๆ ไปในป่าในเขา ในวัดในวาหรือที่ไหนๆ ซึ่งสุดแท้แต่จิตจะปรุงแต่งไป อันนี้เมื่อจิตเป็นไปเช่นนั้น จิตก็เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ บางทีอาจจะไปรู้เห็นเรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เห็นเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เช่นเดียวกันกับในตอนต้นๆ ก็ปล่อยให้เป็นไป อย่าไปฝืน 

ในเมื่อจิตไปสุดช่วงแล้วก็จะย้อนกลับมาที่ตัว เมื่อย้อนกลับมาที่ตัวบางทีก็มีความรู้สึกตื่นจากสมาธิ บางครั้งถ้าไม่มีรู้สึกตื่นตัวจากสมาธิ ภาพที่มีร่างกายเดินไปจะหายไป แล้วจิตดวงนี้จะกลายเป็นดวงกลมสว่างไสว แล้วก็มองลงมาดูร่างกายเดิม จะเห็นร่างกายเดิมนอนตาย ขึ้นอืด เน่าเปื่อยผุพัง มีน้ำเหลืองไหล เนื้อหนังพังลงไปทีละชิ้นสองชิ้น แล้วลงผลสุดท้ายยังเหลือแต่โครงกระดูก โครงกระดูกก็ยุบลงไปแล้วก็แหลกละเอียด หายตัวไปในผืนแผ่นดิน แล้วก็ตั้งตัวขึ้นมาใหม่ เป็นรูปเป็นร่าง เป็นโครงสร้าง เป็นโครงกระดูก แล้วเนื้อหนังก็งอกออกมาจนครบบริบูรณ์ บริบูรณ์เป็นรูปเป็นร่างอย่างเดิม แล้วก็สลายตัวลงไปอีก กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ อันนี้เป็นภูมิรู้ของจิตซึ่งจิตจะปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อเป็นอุบายสั่งสอนตนเอง เพื่อให้รู้ความจริงแห่งธรรมะตามกฏของธรรมชาติ 

เมื่อจิตมากำหนดหมายความเปลี่ยนแปลงของร่าง จิตก็มีความรู้ในแง่พระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาดังที่กล่าวแล้ว ในขณะนั้นจิตของเราจะมีแต่ความรู้เฉยอยู่ แต่ไม่มีความคิดอ่านอันใดโดยเจตนา จิตจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ปฏิวัติตัวเองให้มองเห็นร่างกายตาย ปฏิวัติให้มองเห็นตัวเองร่างกายขึ้นอืด ปฏิวัติตัวเองให้เห็นเนื้อหนังหลุดลงไป ปฏิวัติตัวเองให้มองเห็นโครงกระดูก ปฏิวัติตัวเองให้มองเห็นโครงกระดูกทรุดลงไป ปฏิวัติตัวเองให้มองเห็นโครงกระดูกแหลกละเอียดหายสาบสูญไปในผืนแผ่นดิน แล้วก็ปฏิวัติตัวเองให้ก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอีก 

ทีนี้ถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติจะได้ความรู้ มองเห็นว่าเราเองจะมีความตายเป็นธรรมดา จะรู้เห็นความตายของตัวเอง แล้วก็รู้เห็นความเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวของร่างกาย ก็ได้รู้อสุภกรรมฐานเพราะร่างกายเน่าเปื่อยเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก 

เมื่อมองเห็นโครงกระดูกก็ได้ อัฐิกรรมฐาน มองเห็นโครงกระดูกสลายไปไม่มีอะไรเหลือ เมื่อถอนสมาธิออกมาก็ได้ธาตุกรรมฐาน แล้วจิตจะเกิดความรู้ขึ้นมาว่านี่แหละคือการตาย ตายแล้วมันก็เน่าเปื่อยผุพัง เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เมื่อร่างกายนี้มันสลายตัวไป ก็ได้ความรู้ว่ากายสักแต่ว่า สิ่งที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ แล้วมีจิตวิญญาณเข้ามาปฏิสนธิสิงสถิตอยู่ในร่างอันนี้ ช่วงระยะเวลาอายุของใครของเรา แล้วร่างกายนี้มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไหนเล่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน อะไรเป็นเรามองไม่เห็น อะไรเป็นท่านก็มองไม่เห็น อะไรเป็นพุทธะผู้รู้ มองไม่เห็น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่ไม่มี ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเราไม่มีเขา ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเราเขา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแต่เพียงสภาวะ เป็นสภาวะธรรม ซึ่งมีกฏตายตัวว่าต้องเกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไป ผู้ปฏิบัติก็จะได้รู้ธรรมเห็นธรรม ได้ทั้งสมถกรรมฐาน ได้ทั้งวิปัสสนากรรมฐานไปในตัว 

นี่ถ้าความเป็นไปของจิตในสมาธิที่เราฝึกฝนอบรม ให้มีความคล่องตัวชำนิชำนาญ ได้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิเป็นการสร้างพลังทางสติสัมปะชัญญะ เมื่อสติสัมปะชัญญะมีพลังแก่กล้าขึ้น จะกลายเป็นปัญญา สามารถกำหนดหมายรู้สิ่งต่างๆ ทั้งภายในจิต ทั้งภายในกาย ทั้งนอกจิต ทั้งนอกกาย ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา คนก็สักแต่ว่าสมมุติบัญญัติ สัตว์ก็สักแต่ว่าสมมุติบัญญัติ ไม่มีอะไรเป็นอัตตาตัวตน เกิดภูมิความรู้ต่างๆขึ้นมา 

บางทีเราท่องภาวนาพุทโธๆ แต่จิตหนึ่งมันไปค้นคว้าเกิดความคิดผุดขึ้น เป็นอย่างนั้นก็มี บางทีบางท่านทำจิตให้สงบเป็นสมาธิแล้วเป็นอย่างดี เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิมา ก็เกิดความรู้ความคิดฟุ้งๆๆๆขึ้นมา อย่างนี้ก็มี บางทีบางท่านจิตยังไม่สงบถึงอัปปนาสมาธิ พอสงบลงไปนิดหน่อยก็เกิดภูมิความรู้ความคิดขึ้นมาอย่างรั้งไม่อยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นบางทีก็เข้าใจว่าจิตฟุ้งซ่าน แต่ความจริงมันไม่ใช่จิตฟุ้งซ่าน เป็นจิตที่เกิดปัญญาจากสมาธิ 

ถ้าจิตของท่านผู้ใดเป็นอย่างนั้น ปล่อยให้มันปรุงไป ปล่อยให้มันแต่งไป หน้าที่ของเราก็กำหนดสติไล่ตามรู้มันไป อ้าว! แกจะคิดไปถึงไหน จะปรุงไปถึงไหน ฉันจะตามดูแก แล้วในเมื่อเราปล่อยให้คิดไปปรุงไป สติกำหนดตามรู้ไป ก็จะรู้สึกว่ากายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ เกิดปีติเกิดความสุข แล้วจิตก็ยิ่งคิดเร็วขึ้น เร็วขึ้น ยิ่งคิดเร็วเท่าไหร่ จิตก็ยิ่งปลอดโปร่ง ยิ่งสว่างไสว ยิ่งมีความรู้ตื่นเบิกบาน สติรู้ทันเหตุการณ์ภายในจิตทุกสิ่งทุกอย่าง กำหนดหมายรู้อารมณ์จิต เพียงสักแต่ว่า แต่มีความคิด คิดแล้วก็ปล่อยวางไป 

ธรรมชาติของจิตถ้ามีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก ปัญญาก็ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะสติมีพลังงาน ถ้าภูมิปฏิบัติของท่านผู้ใดเป็นอย่างนี้ ก็ได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในข้อวัตรปฏิบัติของตนเอง เพราะจิตได้รู้ได้เห็นได้ดื่มรสพระสัทธรรม แล้วเกิดความเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติมีผล เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เกิดวิริยะความพากความเพียร เกิดสติความตั้งใจ เกิดสมาธิจิตตั้งมั่น เกิดปัญญารอบรู้อยู่ที่จิตในปัจจุบัน 

เมื่อออกมาจากสมาธิ มาอยู่ในเวลาปกติ สติของผู้นั้นจะมาอยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เพราะสติดีย่อมมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ นี่ความเป็นไปของการปฏิบัติสมาธิจะเป็นไปอย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี มันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ ที่ว่าเป็นอันเดียวก็เพราะเป็นอุบายธรรมจิตให้สงบเป็นสมาธิ การปฏิบัติด้วยบริกรรมภาวนาหรือเพ่งกสิณ เป็นการปฏิบัติตามวิธีแห่งสมถะ การปฏิบัติด้วยการใช้ความคิดพิจารณา หรือการตามรู้อารมณ์จิตทุกขณะจิตทุกลมหายใจ เป็นการปฏิบัติแบบวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งสองอย่างจุดมุ่งหมายเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ มีสติปัญญา เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะคำสั่งสอนของพระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเป็นจริง 

ขอให้นักเรียนนักศึกษาทั้งหลายจงจดจำ จดจำเอาไปไว้ถือเอาเป็นหลักปฏิบัติ แม้จะบริกรรมภาวนาอย่างอื่น เมื่อจิตเป็นไปแล้ว ก็จะเป็นไปดังที่กล่าวมา ภาวนาแบบไหนอย่างไร เมื่อสมาธิเกิดแล้วก็จะเป็นไปในแนวเดียวกันหมด อย่าไปข้องใจ อย่าไปสงสัย อย่าไปติดในวิธีการ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้ทุกคนฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเข้าห้องเรียน ก็ให้ปฏิบัติดังที่ได้ให้คำแนะนำมาแล้ว ให้จ้องสายตาไปที่ตัวอาจารย์ผู้สอน ให้ส่งจิตไปรวมไว้ที่อาจารย์ผู้สอน ให้นึกว่าเวลานี้เรากำลังน้อมจิตน้อมใจรับเอาพลังจิตจากท่านอาจารย์ รับเอาพลังความรู้ความฉลาดจากท่านอาจารย์ ให้ทำความรู้สึกไว้อย่างนี้ตลอดเวลา 

ถ้าจิตของเรามันลวนลาม มันจะไปที่อื่น ก็ให้ดึงเอามาไว้ที่ตัวอาจารย์ อย่าให้มันไปไหน ฝึกซะจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ เพียงแต่เราจ้องดูอยู่ที่อาจารย์ จิตของเราอยู่ที่ตัวอาจารย์ ก็เป็นการใส่ใจในหน้าที่ของตนเองโดยสมบูรณ์ ผู้ที่เอาใจใส่ในหน้าที่คือการเรียนในปัจจุบัน ก็จะต้องได้ความรู้ความเข้าใจ ถ้าเอาใจไปอื่น ไม่สนใจ พลังจิตที่ได้จากอาจารย์ เราก็ไม่ได้ พลังแห่งความรู้ เราก็ไม่ได้ เพราะเราไม่น้อมจิตรับ 

เพราะฉะนั้นจงทำความเข้าใจว่า ในขณะที่เราเรียน หรืออาจารย์สอนเรา ขณะนี้ท่านกำลังถ่ายทอดพลังจิตให้เรา ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เรา กำลังปลุกใจของเราให้เกิดมีพลังงาน ให้เกิดมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ถ้าใครตั้งใจปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ จะได้สมาธิมาเป็นอุปกรณ์สนับสนุนกิจการอันเป็นเรื่องชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้การศึกษาของเราดีขึ้น เสริมให้เรามีสติปัญญาดีขึ้น 

เพราะฉะนั้นขอให้ยึดเป็นหลักปฏิบัติและตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ในขณะนี้นักเรียนทั้งหลายกำลังกำหนดจิต นึกบริกรรมภาวนาพุทโธ พร้อมกับกำหนดรู้ลมหายใจ ให้พุทโธและลมหายใจเป็นสื่อนำจิตให้ก้าวเข้าไปสู่ความสงบเป็นสมาธิ ให้กายของพวกเธอเบา ให้จิตของพวกเธอเบา ให้กายของพวกเธอสงบ ให้จิตของพวกเธอสงบ ให้จิตของพวกเธอได้สมาธิ ได้ปีติ ได้ความสุข ได้สติปัญญา ความเฉลียวฉลาด มีหัวมีความทรงจำดี มีสติปัญญาปราดเปรื่อง มีฤทธิ์มีอิทธิพลและอำนาจ ปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และอำนาจ จงให้สำเร็จตามใจที่ปรารถนา ในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อและขอให้ทุกคนจงมีความสำเร็จในชีวิตของตนของตนในทางที่ถูกต้อง เมื่อเรียนจบก็ให้มีตำแหน่งหน้าที่การงานทำ ได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นพลเมืองที่ดี เป็นเจ้านายที่ดี บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ไพร่ฟ้าประชาชน ให้มีความสุขความสมบูรณ์ตลอดทั่วกาลนาน วันนี้การกล่าวอบรมสมาธิภาวนาก็ขอยุติลงด้วยประการะฉะนี้