Skip to content

ปฏิจจสมุปบาท

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ต่อนี้ไปจะแสดงถึงเรื่องกายของเก่าเหมือนกัน แต่หากพิจารณาลงไปอีก เพราะกายคือตัวคนเรานี่แหละเป็นที่ตั้งของธรรมทั้งหลาย รวมอยู่ในแห่งเดียวนี่หมด เบื้องต้นก็คือรูปธรรม นามธรรม ก็เรียกว่าธรรมอยู่แล้ว จะอธิบายในเบื้องต้นที่เรียกว่าธาตุ​๔ ก็คือตัวของเรานี่แหละ ไม่ได้เกี่ยวเนื่องถึงเรื่องจิต เป็นธาตุล้วนๆ เป็นของเดิมแท้ๆทีเดียว ธาตุ ๔ ต่อมามาแสดงในเรื่องขันธ์ ๕ เอาจิตเข้าไปผสมเข้าอีก แล้วก็สรุปลง ไม่ให้ทิ้งนามอีกคือรูปกับนาม ต่อมาก็มาแสดงถึงเรื่องอายตนะ คือรูปกับนามอีก อาจแสดงเรื่องอายตนะภายนอกภายใน อย่างละ ๖ เป็น ๑๒ อันนี้ต่อมาก็แสดงเรื่องธาตุ​๑๘ อายตนะภายนอกภายในอย่างละ ๖ เมื่อภายนอกกับภายในผสมกันเข้า กระทบกันเข้าเกิดความรู้สึกขึ้น เรียกว่าวิญญาณธาตุ ตกลง ๓​ ๖ เป็น ๑๘ ที่อธิบายมาแล้ว นี่ห้วข้อ จดจำไว้เพียงย่นย่อ 

อันนี้แหละที่จะแสดงต่อไป ก็ไม่ใช่อื่นไกล ตัวรูปกับนามเนี่ยแหละ ให้เกิดเป็นสัจธรรม คืออริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็ได้แก่รูปกับนามนี้ เพราะรูปกับนามนี้แหละกระทบกันเข้าจึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลส เช่นตาเห็นรูป เกิดความรู้สึกขึ้นเรียกว่าวิญญาณ แล้วพอเกิดความรู้สึกขึ้นก็เกิดเวทนาคือสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เรียกว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือเฉยๆ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา ทั้งหมดนี้แหละถ้าเราพิจารณาดูแล้วนะ ถ้าจับต้นตอเอาข้อข้างต้นได้ อธิบายมาตั้งแต่ธาตุมา ขันธ์ อายตนะ อินทรีย์ ธาตุ เวทนา เท่าที่อธิบายมานี่ ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องกิเลสนะคราวนี้ เรื่องนี้ยังไม่มีกิเลส สมมุติว่าเราไปเห็นตัวของคนเรา เพียงแต่สักว่าธาตุ กิเลสมันจะเกิดตรงไหนลองคิดดูสิ ยังไม่มีกิเลส

อันนี้เราพูดถึงเรื่องขันธ์ คือรูปอย่างที่ว่าคือธาตุ ๔ ก็ยังไม่มีกิเลส เมื่อเรามาเห็นตัวของคนเราแต่ละคนๆ หรือเห็นว่าตัวของเรานี่แหละเป็นเพียงสักว่าธาตุ ๔ กิเลสยังไม่ค่อยมี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาคือความเสวยสุข ทุกข์ ไม่ได้จับถึงกิเลสหรอก ยังไม่ทันมีตัวกิเลสขึ้นมา สุขก็สักว่าแต่สุข ทุกข์ก็สักว่าแต่ว่าทุกข์ อุเบกขาก็สักว่าอุเบกขา สัญญาคือความจำ มันก็ไม่มี ไม่ใช่กิเลส จำสิ่งต่างๆได้ มันก็สักว่าแต่จำ สังขารคือความปรุงความแต่ง ก็เรื่องหน้าที่ของคนมาปรุงมาแต่งมันก็ไม่ใช่กิเลสอีก เป็นชื่อของจิตที่มันปรุงมันแต่ง ไม่ได้พูดถึงเรื่องกิเลส วิญญาณคือความรู้สึก ก็ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องกิเลสอีกเหมือนกัน 

พูดถึงเรื่องอินทรีย์คือว่าตากระทบกับรูป รูปก็สักแต่ว่ารูป ตาก็สักแต่ว่าตา มันสำหรับที่กระทบกันเท่านั้น เกิดความรู้สึกขึ้นก็สักว่าแต่รู้สึกแล้วก็แล้วไป อันนี้ยังไม่ได้จัดว่าเป็นตัวกิเลส อันนี้พอเกิดความรู้สึกขึ้นแล้ว มันเกิดเวทนาแล้วคราวนี้ มีสุขมีทุกข์บ้างหรือเฉยๆบ้าง ก็ยังไม่ได้จัดเป็นกิเลสโดยเฉพาะ ลองคิดดูซิคราวนี้ เรื่องที่อธิบายบรรยายมาทั้งหมด แยกแยะออกเป็นสัดเป็นส่วน ให้รู้หน้าที่ของแต่ละอายตนะ หรือแต่ละเรื่องของมัน ยังไม่ได้จัดเข้างบกิเลส เรื่องที่อธิบายนี่ยังไม่ได้จัดเข้างบกิเลส 

ตรงที่มันจะเกิดกิเลสน่ะมัน มันเกิดเวทนานี่ ตรงที่ว่าตะกี๊ คือความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี ถ้าสุขแล้วเกิดความพอใจ ความชอบอกชอบใจ แล้วก็อยากได้เรียกว่าตัณหา คือความทะเยอทะยาน อยากได้ก็เรียกว่าตัณหา นั่นแหละตัณหาตัวนี้ตัวกิเลส ภาษาที่เราพูดกันกล่าวกันง่ายๆ พูดกันง่ายๆตามภาษาสามัญทั่วๆไปจะเรียกว่า ตัณหา คือว่าพูดกันภาษาง่ายๆกันหละ คือมันหาแล้วมันตัน คือไม่มีหนทางไป ตันแล้วมันก็เลยหา คือมันปิดซะก่อนแล้วก็ค่อยงม หมายความว่าเราปิดแล้วก็งม คือเราปิดประตูบ้านเรือนมันมืดน่ะ ไม่มีทางออกเราก็งม อันนั้นเรียกว่าตันแล้วก็หา หรืออีกอย่างหนึ่งจะเรียกว่า หาแล้วก็ตัน กลับคำก็ได้ หาไปเท่าไหร่มีแต่ปิด เรียกว่าหาตัน ไม่มีทางออก ปิดหมดทุกด้านทุกทาง หาไปเถิด จะหาอะไรก็หาไปเถิด อย่างที่เราหาในโลกเนี่ย ใครๆก็หาไปเถอะ หาแล้วก็ปิดตนเองทั้งนั้น ออกไม่ได้ซักคนเดียว

พระพุทธองค์ท่านพิจารณาเห็นอย่างนี้ ว่าการอยู่ในโลก เรื่องตันหา กับ หาตันนั้น พระพุทธองค์ยอมสละได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อสละแล้วเปิดหนทาง ไม่หา ไม่ตันแล้วคราวนี้ เปิดหนทางออกได้ เหตุนั้นว่ากิเลสมันเกิดตรงนี้ เกิดที่ตรงตัณหา เกิดออกจากเวทนานี้ พอเวทนาสุขมันก็ชอบใจ แล้วก็อยากได้สุขนั้นต่อๆไป ทุกข์ไม่พอใจ ก็เลยไม่อยากเหลียวแลในเรื่องทุกข์นั้น เกิดโทมนัสคับแค้น เฉยๆก็โง่ซึม อันนี้ก็คิดนึกรู้สึกโง่ซึม นี่ กิเลสมาเกิดตรงนี้

ต่อนี้ไปพูดเรื่องกิเลสได้เยอะแยะ ตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นหละก็มืดตื้อหละคราวนี้ ยึดในสิ่งใดก็มืดในสิ่งนั้น ท่านยังพูดอธิบายถึงต่อไปถึงเรื่องความไม่รู้คือตัว อวิชชา ไปโน้น มันยืดยาวไป สิ่งที่ไม่รู้ คือไม่รู้ตามเป็นจริง เรียกว่าอวิชชา รู้เหมือนกันแต่ไม่ใช่รู้ของจริง อย่างเราสามัญ รู้กันทั่วๆไปอย่างเนี้ย รู้สุขรู้ทุกข์เหมือนกัน รู้ดีรู้ชั่วเหมือนกัน รู้หยาบรู้ละเอียด รู้สว่างรู้มืดเหมือนกัน รู้หิวกระหาย อยากโน่นอยากนี่ มีเหมือนกัน รู้เหมือนกัน รู้แบบนี้นั่น รู้อยู่ในวงของความปิด ปกปิด เข้าหาหลักที่ว่าหาตัน แล้วตันหา ไม่มีทางเปิด รู้วนเวียนได้เท่านี้ จึงว่าตัวที่ไม่รู้ตัวเนี้ย ไม่รู้ตามเป็นจริงเนี่ย มันเป็นเหตุ เป็นปัจจัยสืบเนื่องกันไปยืดยาว 

ถ้ารู้จริง คือรู้ละ เรียกว่ารู้แล้วเปิด เปิดหนทาง รู้แล้วไม่ได้ปิด มันเลยสว่าง เห็นแจ้งตามเป็นจริง เมื่อเห็นแจ้งตามเป็นจริงสิ่งนั้นมันก็หมด หมดสงสัย อย่างเราเห็นสิ่งใดก็ตามเถอะ ถ้าเห็นจริงเห็นแจ้งตามเป็นจริงแล้ว หมดสงสัยในเรื่องนั้น ไม่อยากรู้อีก ถ้าเห็นยังไม่ทันแจ้งแล้ว ไม่ทันจริง เห็นพอมัวๆ แล้วก็อยากรู้แล้วให้รู้แล้วรู้รอดไปซักที จะเห็นอะไรก็ตามเถอะ ถ้ายังไม่ทันหายสงสัย เรียกว่ายังไม่ทันรู้แจ้งเห็นจริง พูดกันหยาบๆคายๆอย่างนี้ เอ้า สมมุติว่าคนเห็นกันนะ เห็นคนสวยๆ ผู้หญิงเห็นผู้ชาย ผู้ชายเห็นผู้หญิงสวยๆน่ะ ก็รู้จักว่าเค้าสวยเหมือนกัน ก็รู้จักว่าผู้หญิงเหมือนกัน ก็รู้จักว่าผู้ชายเหมือนกัน แต่อยากดูไม่รู้จักจบจักสิ้น อันนี้ไม่ได้ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริง เรียกว่ารู้วัวรู้กวาง อยากรู้แต่อยากดูอยู่เสมอ ดูไม่รู้จักอิ่ม ดูไม่รู้จักพอ รู้อย่างนี้เรียกว่ารู้ในจำพวกอวิชชา 

ถ้ารู้ตามแบบพระพุทธเจ้าท่านสอน รู้แจ้งเห็นจริง รู้ละรู้ทิ้ง เห็นคนเราหละ สวย ผู้ชายเห็นผู้หญิงก็ว่าสวย ผู้หญิงเห็นผู้ชายก็ว่าอันนี้สวยจริงๆ ไม่ได้เห็นแต่เพียงว่าสวยนะ ยังเพ่งพิจารณาถึงความเกิดความดับของคนๆนั้น เห็นว่ามันเกิดมามันจะต้องดับ มันเกิดมาจากอะไร ดังอธิบายมาแล้วในเบื้องต้น ธาตุ ๔ ตัวของคนเรา เพียงแต่ว่าธาตุ ๔ ถ้าเวลาธาตุนั้นน่ะ ธาตุดิน ดินแดง ดินดำ ดินขาว ดินเหลือง มีหมด ที่มาเป็นคน มาประดิษฐ์เป็นคน คือธาตุมันประชุมในคน จะต้องมีคนสวย คนไม่สวย คนดำ คนขาว คนเหลืองมีเหมือนกัน กับก้อนขี้ดิน…เหมือนกับก้อนขี้ดินอย่างที่ว่ามาแล้ว พิจารณาให้เห็นอย่างนี้ ลองคิดดู หายมั้ย จะหายสงสัยมั้ย ถ้าเห็นอย่างนี้จะหายมั้ย เห็นแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เห็นเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม หายมั้ย อย่างนี้จะหายสงสัยมั้ย เราชัดอย่างนี้ คงจะไม่อยากดูอีก ทุกคนเชื่อแน่ว่าคงไม่อยากดูต่อไปอีก ชัดแล้วคราวนี้ ก้อนขี้ดินก้อนหนึ่ง

หรือจะพิจารณาซึ้งเข้าไปกว่านั้นอีก คนเราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อหากิน กินเพื่ออยู่ อยู่เพื่อกินอย่างเค้าพูดกันทั่วๆไป เป็นจริงอย่างว่า ถ้าไม่กินก็อยู่ไม่ได้ อยู่ก็จะอยู่เพื่อกิน กินแล้วเป็นอะไร ก็ตกลงมาบำรุงก้อนดิน ก้อนดินก้อนเนี้ย ไม่ใช่บำรุงเฉยๆ ดินที่เค้าพอกให้มันโตขึ้นๆ มันก็ไม่เหม็นเหมือนกับดินก้อนนี้เลย ดินก้อนนี้พอกเข้าเท่าไหร่ ยิ่งเหม็นเข้าเท่านั้นแหละ ไม่ใช่มันหอม ไม่ใช่มันปกติธรรมดา โอ้ เข้ามากยิ่งเหม็นมาก นี่ดินก้อนนี้มันผิดเขา พอเราไปเห็นความเหม็นความสกปรกคืออสุภะปฏิกูล อย่างที่พระท่านสวด 

อะยัง โข เม กาโย กายของเรานี้แล 

อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนจากพื้นเท้าขึ้นมา

อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป

ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ

ปุโรนานัปปะการัสสะ อะสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ 

ไล่ไปสิคราวนี้เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไล่ไปตรงนี้ ล้วนแต่เป็นของปฏิกูลโสโครก เราดูใกล้ๆก็รู้กัน ทุกวันน่ะ เราไม่ได้อาบน้ำ ชำระเนื้อชำระตัวซักวันหนึ่งเท่านั้นหละ อย่าไปพูดแต่คนอื่นเลย ตัวเราเองยังรู้สึกว่าเหม็นสาปจะตายอยู่แล้ว เนี่ยก้อนดินก้อนเนี้ยมันแปลกเพื่อน ถ้าหากเรามาพิจารณาให้เห็นก้อนดินก้อนนี้มันเป็นอย่างนี้ซะแล้ว ใครอยากไปดูต่อไป ดูชัดแล้วว่ามันเป็นของอย่างนั้นแล้ว มันก็หมดเรื่องหายสงสัย นี่ความรู้ของพระพุทธเจ้า รู้อย่างเนี้ย รู้เห็นจริง เห็นแจ้ง เห็นชัด มันผิดจากความรู้ของโลกๆที่พากันรู้ จึงว่าการรู้อย่างนี้แหละเป็นวิชชา 

ที่อธิบายจำแนกแจกจ่ายมาตั้งแต่ต้นก็เพื่ออยากให้รู้อย่างนี้เอง ให้เข้าถึงหลักวิชชานี่เอง แต่นี้จะอธิบายถึงเรื่องอวิชชา เมื่อไม่รู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว มันไม่หมดสงสัย ไม่หมดสงสัยก็เป็นเหตุยืดยาวแล้วคราวนี้ ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเทศนาไว้นะว่า 

อวิชชาปัจจะยา สังขารา อวิชชานี้พูดถึงเรื่องจิตโดยเฉพาะ สังขาราก็พูดถึงเรื่องจิตโดยเฉพาะ อวิชชาปัจจะยา สังขารา เมื่อไม่รู้ตามเป็นจริงแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดสังขาร 

สังขาระปัจจะยา วิญญานัง เมื่อสังขารมีแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ วิญญาณมีแล้วก็เกิดนามรูป ก็เข้ามาแล้ว ขันธ์ ๕ ของเก่านั่นหละ รูปกับนามของเก่า แล้วก็เกิดอายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย อายตนะก็ทำให้เกิดผัสสะ แล้วเกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ไปยืดยาว 

นี่พูดถึงเรื่องจิตอวิชชา เป็นเหตุให้เกิดสังขาร ในเรื่องคัมภีร์ในทางพุทธศาสนาท่านว่า ท่านไม่ได้พูดถึงเรื่องอวิชชาตรงนี้ คนเราที่จะมาเกิด ท่านพูดถึงจิตปฏิสนธิ จิตขณะหนึ่งที่จะมาเกิดในครั้งแรก จิตที่มันก้าวจากนี้จะไปสู่ก้าวอื่น เหมือนกับก้าวของเรานี่แหละ อย่างว่าเรามีคลองเล็กๆ กว้างประมาณซักศอกหนึ่ง เราเหยียบอยู่ริมฝั่งทางเนี้ยริมคลองทางนี้แหละ เราก้าวไปสู่ริมคลองทางนั้น เรียกว่าสนธิขณะ จิตขณะนั้นเรียกว่าสนธิขณะ คือมันไม่ต่อกันน่ะ ขณะจิตจะไม่ต่อกับอีกฝั่งนึง เรียกว่าสนธิขณะ 

สนธิขณะนั้น เรามาพิจารณาดูเฉพาะในตัวของเรานี้ก็แล้วกัน อย่างว่าเวลานี้แหละ เราทำความสงบเฉยอย่างนี้หละ มีจิตขณะหนึ่งซึ่งมันจะก้าวไปสู่อีกอารมณ์หนึ่ง เช่นได้ยินเสียงอะไรวูบวาบขึ้นมา ได้ยินเสียงอะไรแวบแว่วๆเข้ามา เราอยากไปฟังเสียงอันนั้น ขณะที่มันออกจากความสงบนี่ จะไปฟังเสียงไอ้ที่มันแว้บขึ้นมาในหูน่ะ อันนั้นเรียกว่าสนธิขณะ ขณะเนี้ยขณะให้ไปเกิด นิดเดียวแต่เป็นเหตุให้ไปเกิดได้ แต่การที่จะไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอะไรต่างๆ ไม่มีตนมีตัว ขณะจิตอันนั้นแหละที่ไปเกิด ครั้งแรกแท้ๆทีเดียว

คราวนี้เมื่อไปเกิดในครรภ์ ไปเกิดในครรภ์นั้นมันมีหลายอย่าง จะเกิดเป็นสัตว์บางพวกเกิดในไข่ เช่นในไข่ไก่ บางพวกก็เกิดเป็นตัว คือเช่นวัวเช่นควาย หรือสุนัขสุกรอย่างนี้เป็นต้น หรือเป็นคนอย่างนี้ เรียกว่าเกิดในครรภ์ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ บางพวกนั้น เกิดผุดขึ้นมาเลย ขึ้นเป็นตนเป็นตัวขึ้นมาเลย ท่านกล่าวถึงพวกเทพทั้งหลาย เช่นตายอย่างเนี้ย ไม่ต้องมีพ่อมีแม่หละ ไปเกิดเป็นผี ภูตผีปีศาจ ไปตกนรก หรือ ไปเป็นเทวบุตร เทวดา นั่นแหละท่านเรียกว่า อุปปาติกะ บางพวกก็เกิดในที่สกปรกโสครกด้วยประการต่างๆ เรียกว่า สังเสทชะ จิตตรงนี้แหละ จิตที่มันก้าวมาเนี่ย เป็นตัวแรกที่จะไปเกิด ก็ก้าวเท่านั้นแหละ ถ้าหากผู้มีปัญญารู้เท่าเข้าใจ มีปัญญาเฉียบแหลมฉลาด ตัดไม่ให้จิตตัวนั้นก้าวก่ายไป คือเรารักษาจิตอยู่ทุกวันเนี้ย พากันทำความสงบ ไม่ให้มันคืบไป อยู่ด้วยความสงบทำความรู้เท่าอยู่ เห็นโทษในเรื่องที่เราจะก้าวไปนั่น แล้วก็เห็นโทษในการที่เราอยู่ เห็นโทษทั้งหน้าทั้งหลัง ปล่อยวางตรงนี้ อันนี้เรียกว่าตัดกระแสจิตไม่ให้มันก้าวไปเกิด อันนี้ขณะจิตที่ไปเกิด 

คราวนี้ถ้ามันไปเกิดหละคราวนี้ ถ้าไปเกิด มันต้องไปเกิดในธาตุ ๔ อย่างไปเกิดในครรภ์ที่ว่านี่ มันต้องมีธาตุ ๔ อยู่ในที่นั้น อธิบายครั้งแรกนั่น ท่านอธิบายว่าเกิดจาก กลละ สัมภวธาตุ ทั้งฝ่ายบิดามารดาผสมกัน เรียกว่า กลละ ของเหลวๆละเอียดที่สุด ปฏิสนธิจิตตัวนั้นน่ะ ที่มันไปเกาะที่นั่นไม่มีปรากฏเลย ต่อจากนั้นมาพอดีมีปฏิสนธิวิญญาณไปยึดอยู่ตรงนั้นแล้ว อัพพุทะ คือมันแปลสภาพที่เป็นของเหลวๆน้ำของที่ละเอียดอย่างนั้น มาเป็นเหมือนกับน้ำล้างเลือด แล้วก็ต่อ แปรอย่างมาเป็น ฆนะ มาเป็นก้อนเลือด มาเป็น เปสิ คือมาเป็นปุ่ม มาเป็น ปัญจสาขา ห้าแยก อันนี้ว่าถึงเรื่องปฏิสนธิจิตที่มาเกิด มันมาเอาธาตุ ๔ มาเป็นตนเป็นตัว มาปั้นเป็นก้อนเป็นปุ่มขึ้นมา เกิดจากอวิชชา คือความไม่รู้ จิตในขณะใดถ้าหากว่าเรารักษาคุ้มครองไม่อยู่ ยังเห็นดีเห็นชอบอารมณ์ต่างๆแล้ว เค้าเรียกว่าอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นนี่หละมันต้องเป็นไปอย่างนั้นหละ 

ตามตำราที่เค้าพาในสมัยเดี๋ยวนี้น่ะ เค้าพากันจับดูจิต มีหลายอย่าง มีสมัยหนึ่งครั้งหนึ่ง เค้าคิดอยากจะจับ จิตนี่เป็นตัวยังไง เวลาจะตายเค้าเอาแก้วมาครอบหัว ครอบศีรษะไว้ แล้วคนตายน่ะเค้าบอกว่ามันมีสีเหลืองๆลอยไป เค้าเลยถือว่าจิตของคนน่ะคือเป็นตัวเหลืองๆ นี่พวกฝรั่ง มันอาจจะเป็นแก๊สหรืออะไรอันหนึ่งซึ่งเวลาคนดับแล้ว ธาตุแตกแล้วเรียกว่าไม่สมบูรณ์ เช่นว่าธาตุไฟมันดับ มันเย็นแล้วมันธาตุไฟที่มันดับ มันอาจจะลอยออกไป มันยังเหลือแต่ความเย็น ยังเหลือแต่ธาตุน้ำ เพราะฝรั่งเค้าอยากเห็นตัวจิต เค้าเลยคิดเอาแก้วมาครอบไว้ ไปเห็นอย่างนั้นเค้าถือว่าเป็นจิตซะ นานๆเข้าก็เลย ความเชื่อนั้นก็เลยหายไป เค้าหาวิธีที่จะจับจิต

ถ้าหากจิตมันอยู่ในแก้วแล้ว เราไม่ต้องไปเกิด ใครจะไปเกิดที่ไหนก็เอาแต่แก้วไปแล้ว ก็ไปเกิดเข้าตรงนั้น เอาไปซุกเข้าในท้องเป็ดท้องไก่ท้องวัวท้องควายหรือท้องคน เอาไปซุกไปในท้องคนมีคนรวยแล้วก็หมดเรื่องกันไป ถ้าน่าจับจิตอย่างนั้น ก็ลองคิดดูสิ ถ้าเรานั่งอย่างเนี้ยแหละ หากว่าเราจะเอาแก้วมาครอบหมดทุกคนนี่หละ เราจะออกไปได้มั้ย จะออกไปดูกรุงเทพไปเที่ยวเมืองนคร เมืองจันท์จะได้มั้ย ถ้าบอกว่ามีอะไรครอบอยู่ อันนั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ เค้าค้นคว้า ในทางพุทธศาสนาท่านว่าจิตไม่มีตัว มันเป็นสภาพอันหนึ่งซึ่งมีความรู้สึก ไม่ใช่มันอยู่ที่บนศีรษะ และมันไม่ใช่มันอยู่ที่สมอง พวกฝรั่งเค้าถือว่าอยู่ที่สมอง เค้าถึงมาครอบ แต่มันมีความรู้สึกในทั่วไป ทั่วทุกแห่งทุกหนไป 

ตัวความรู้สึกอันนั้นหละ ตัวจิตคือความรู้สึก ประสาทที่มันให้เกิดความรู้สึกอันนั้น อันนั้นเพียงแต่ว่าสำนักงานของมันต่างหาก เช่นที่สมอง เค้าเรียกว่าประสาทไปรวมไว้ในที่นั่น เรียกว่าสมอง ประสาทให้เกิดความคิดความอ่านอะไรต่างๆ ไม่มีที่สิ้นที่สุด ไม่จบเหมือนกัน เรียนไม่จบ แต่ทางพระพุทธศาสนาท่านบอกว่าอวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้ตามเป็นจริงจึงเป็นเหตุให้เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ให้รู้แล้วรู้รอดไปซะทีดังที่ได้อธิบายมานี้ อันนี้อวิชชาตัวนี้แหละ มันเป็นเหตุให้เกิดสังขารต่อไป 

สังขารที่นี้น่ะหมายความถึงว่า อวิชชา เมื่อไม่มีความรู้แล้ว เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริง ดังได้อธิบายให้ฟังมาแล้ว มันจะต้องมาเกิด คือจะต้องปฏิสนธิ ตัวปฏิสนธิเรียกว่า สังขาร คือรูปสังขาร คือมาก่อในตนในตัวก็เรียกว่ารูปสังขาร ท่านหมายเอาสังขารตัวนั้น สังขาระปัจจะยา วิญญานัง เมื่อเกิดสังขารแล้วก็ตัววิญญาณตัวเก่านั่นแหละ พูดซ้ำอีก วิญญาณตัวนั้นหละ มันมีความรู้สึกแล้วคราวนี้ เมื่อตัวจิตเข้าตัวอวิชชาเท่านั้นน่ะ อวิชชาคือตัวจิตตัววิญญาณตัวนี้หละที่มันไม่มีปัญญาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม ก็เลยเรียกว่าเพียงแต่ว่าวิญญาณ แล้วคราวนี้ตัวอวิชชานั้นก็คือวิญญาณตัวนี้แหละ มันไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริง ปัญญาไม่เกิด มันเรียกเอาตัววิญญาณเนี่ยเป็นตัวอวิชชา 

ถ้าหากว่าเกิดความฉลาดเฉียบแหลมขึ้นแล้ว ตัววิญญาณและตัวอวิชชานี้ ตัวอวิชชานี้กลับเป็นวิชชา เหตุนั้นวิญญาณตัวเนี้ยหละยังไม่ทันรู้แจ้ง พอมีสังขารเข้ามาครอง สังขารคือก้อนอันนั้นหละ ท่านเรียกว่า สังขาระปัจจะยา วิญญานัง วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง มันก็ถูกแล้วนี่ ของเก่านี่ มันมีทั้งรูปทั้งนามในตัวมัน เมื่อวิญญาณขันธ์ก็มีรูปและนามนั่น วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง เป็นนามรูป เป็นนามเป็นรูปขึ้นมาแล้ว เป็นนามเป็นรูปแล้วก็เป็นอายตนะแล้วคราวนี้ เมื่อเป็นปัญจสาขา ห้าแห่งครบมูลบริบูรณ์เป็นตนเป็นตัวหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็มีอายตนะเท่านั้นเอง มีอะไรจะได้ ก็มีผัสสะ เค้ามีตาแล้วก็เห็น มีหู แล้วก็มีเสียงกระทบของเขา ก็เกิดผัสสะแล้วก็เกิดเวทนาคือความสุขความทุกข์ แล้วก็เกิดอุปาทาน เกิดตัณหาเกิดตัณหาทะเยอทะยานดังอธิบายมาเบื้องต้น แล้วก็เกิดเวทนา สะฬายะตนะปัจจะยา ผัสโส ผัสสะปัจจะยา เวทะนา เวทะนาปัจจะยา ตัณหา ก็ได้อธิบายมาแล้ว ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง เกิดอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น เมื่อเกิดอุปาทานแล้วเป็นภพ ถ้าจะพูดกันแล้วมันเป็นภพ มันจะปฏิสนธิอย่างที่อธิบายได้ว่าเป็นภพขึ้นมาแล้ว แต่นั้นท่านจัดเป็นภพภายใน เป็นภพตอนนี้ท่านหมายถึงภพมันตอนที่เกิดเป็นตัวเป็นตนเวลาจะออกคลอดหมายถึงว่า ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปยาส (เสียงไม่ชัด) มีแต่ทุกข์ไปล้วนๆน่ะคราวนี้ ทุกข์หลายเรื่องหลายอย่าง

นี่ว่าถึงเรื่องอวิชชา มีหลักอยู่อีกว่า ท่านแสดงว่า กัมมัง เขตตัง วิญญานัง พีชัง ตัณหา สิเนหัง อธิบายเข้าหลักนั้นอีก อวิชชาเปรียบเหมือนกับนา กรรมเปรียบเหมือนกับว่าพืชผลไม้ที่เราจะไปปลูกในนา ตัณหาเปรียบเหมือนกับยาง คือน้ำมันเม็ดๆบนผลนั้น เช่นเราปลูกถั่วดิน ปลูกถั่วลิสงน่ะ ในเม็ดถั่วลิสงนั้นท่านอุปมาเปรียบเหมือนกับกรรม กรรมคือสิ่งที่เรากระทำ ทำดีทำชั่ว เรียกว่ากรรมทั้งนั้น เม็ดถั่วลิสงนี้มาทำแห้งเรียกว่ามันยังมียาง อันนี้เม็ดถั่วลิสงที่มันยังไม่แห้งยังเป็นยาง คราวนี้จะเอาไปปลูกในนา ปลูกอย่างนี้เกิดได้หมด ถ้าฝนฟ้าฝนตกมา มันชุ่มเย็นแล้วก็งอกขึ้นมาเลย จึงว่ากรรมเป็นเหมือนกับพืชผล ตัณหาเปรียบเหมือนกับยาง อวิชชาเปรียบเหมือนกับที่ดินที่เราจะลงปลูก 

อวิชชาที่อธิบายมานี้น่ะ จึงได้ชื่อว่าเป็นภูมิของต้นภพชาติทั้งปวงหมดที่จะให้เกิดขึ้นมา กรรมทั้งปวงหมดที่เราทำดีทำชั่วนั้นก็ทั้งหมดน่ะ อันนี้หละที่เรียกว่าจะเกิดอวิชชา หมายความว่า ทำดีให้มันถึงที่สุดก็ยังต้องอยากได้ดีอยู่ อยากได้สุข อยากได้ทุกข์อยู่ เมื่ออยากได้สุขต้องอยากได้ทุกข์ มันเป็นธรรมดา คือธรรมทั้งสองอย่างนี้เป็นของคู่กัน มีสัขก็ต้องมีทักข์ มีดีก็ต้องมีชั่ว ถ้าทำแล้วสองอย่างนี้อยู่ตราบใดนั้นยังไม่พ้นทุกข์ เหตุนั้นการทำดีทำชั่วยังเรียกว่าเป็นตัวพืชผล ยังเป็นเม็ดอยู่ เมื่อมีเม็ดก็ต้องมียางในนั้น

เหตุนั้นตัววิชชาตัวนี้แหละจึงพยายามที่จะทำลายด้วยวิธีต่างๆดังอธิบายมาในธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือตลอดถึงว่าขันธ์ ๕ อายตนะ ก็เพื่อทำลายอวิชชาตัวนี้ เพื่อให้เข้าใจอวิชชาตัวนี้ พืชผลนั่นกรรมที่เราทำนั่นน่ะ มันมีครบหมดในนั้น พอมีพืชมีผลน่ะ เช่นว่าเม็ดถั่วดิน เราเห็นเม็ดถั่วดิน เราจะเข้าใจว่าไม่มีดอกก็ไม่ได้ ไม่มีเถามันก็ไม่ได้ ไม่มีใบมียอดก็ไม่ได้ ในเม็ดถั่วดินนี้ อันนั้นลำบากอยู่ ถ้าเทียบกับเม็ดขนุนแล้วก็แล้วกัน เม็ดขนุน เม็ดมะม่วงนั่น เราจะเข้าใจว่าไม่มีต้น มีลำไม่ได้ ไม่มีดอก มีผลไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจว่าเม็ดขนุนต้นนั้นน่ะ เราไปเห็นเข้าแล้วว่า ไม่มีต้นมีดอก ไม่มีกิ่งมีงา ไม่มีผล ยังเรียกว่าเป็นอวิชชาอยู่ ถ้าหากว่าเราเข้าใจว่าเม็ดขนุนเม็ดนี้แหละ มีทั้งต้น มีทั้งลำ มีทั้งใบ ทั้งดอก ทั้งผลครบหมดอยู่ในที่นี้ ด้วยเหตุที่เรามาแยกแยะออกโดยอาการต่างๆ อย่างที่อธิบายมานี่ เป็นธาตุ ๔ ​ดิน น้ำ ไฟ ลม โดยเป็นต้นน่ะ อันนี้เรียกว่าเรามาแยกแยะออกให้เห็นต้น ลำ และดอกผลในต้นนั้น ถ้าหากเราเห็นว่าไม่มีแล้ว เอาเถอะ เผลอไม่ได้หรอก ไปตกลงในพื้นดิน หรือไปถูกชุ่มเข้าเมื่อไหร่แล้ว เดี๋ยวมันก็แตก เป็นรากออกมาให้ปรากฏ พอรากปรากฏเท่านั้นแหละ นี่หละต้นเหตุที่จะให้เกิดสังขาร วิญญาณ อุปาทานต่างๆ เกิดมาจากนี้ แยกออกมาเป็นรากเสียก่อน ต่อนั้นก็กลายมาเป็นใบ แล้วก็เป็นลำ เป็นต้นเป็นลำ ต่อมาก็เป็นกิ่งเป็นงาขึ้นมา ตลอดมาถึงเป็นลูกเป็นผล ดกมากกว่าเก่า เม็ดเดียวนะได้หลายผลกว่าเก่า มากกว่าเก่า มีเรื่องทำลายวิชชาก็คือว่ามาแยกแยะ เพราะฉะนั้นแหละตัววิชชาตัวนี้ ถ้าหากมารู้เท่าเข้าใจแล้ว มันเป็นเรื่องกระเทาะ หรือเป็นเรื่องทำลายเม็ดขนุนเม็ดนั้น ไม่ให้มันเกิดต่อไปอีก ทีนี้อธิบายซ้ำๆซากๆ วกเวียนไปมาหลายเรื่องหลายอย่างเพื่อให้เข้าใจเรื่องเหล่านี้เอง ไม่ใช่เรื่องอื่นเรื่องไกล

ทีนี้ตัวอวิชชาถ้าหากมาเข้าใจอย่างนี้แล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นสัจธรรม ความเกิดตั้งแต่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เกิดวิญญาณ เกิดนามรูป มันเป็นเรื่องตัวสมุทัย มันเป็นบ่อเหตุให้เกิด นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ โน่นน่ะตัวสมุทัยเกิดแล้วก็ต่อไปตั้งแต่ ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ ตัวทุกข์มาอยู่ตรงนี้ จากนี้ไปภพชาตินี่ยังเป็นตัวสมุทัย พอไปถึงภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส เป็นตัวทุกข์โดยแท้ ถ้าหากไม่เห็นชัดคือแยกแยะออก ดังอธิบายมาเบื้องต้นแล้ว เรียกว่าเกิดวิชชาขึ้นมา มันก็ไม่ต่อ คือว่าสังขารวิญญาณ นามรูป สฬายตนะไม่มี หมดไป มันเป็นนิโรธ มันเป็นเรื่องดับ ฉะนั้นการดับ เมื่อดับนั้นมันก็ไม่มีอะไร มีความดับก็มีความรู้ คือคู่กัน ถ้ารู้แล้วมันก็ดับ ถ้าไม่รู้แล้วมันก็เป็นตัวสมุทัย มันเป็นคู่กันอย่างนี้ ไม่ต้องพูดอะไรกันมากมาย เค้าเรียกอริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คราวนี้ถ้าหากไปรู้แล้ว ไปรู้คือปัญญา สมาธิในมรรค แล้วก็ดับ เรียกว่ามรรคกับนิโรธเป็นคู่ ทุกข์เมื่อไม่รู้ก็เป็นอวิชชา อวิชชาก็เลยเป็นสมุทัย 

เพราะฉะนั้นถึงว่าการอธิบายธรรมะนั้นเป็นของละเอียดลึกซึ้งกว้างขวางมาก ถ้าหากเราไม่ตั้งใจคิดตรึกตรองจริงๆ หรือว่าจับเนื้อความอันนี้ไม่ได้ อาจจะเป็นเรื่องยุ่ง ถึงยังไงๆก็ขอให้ตั้งจิตให้มันอยู่ในเรื่องของความสงบ อบรมไม่ให้จิตง่อนแง่นวอกแวกไปมา ส่งหน้าส่งหลัง เราตั้งใจไว้อย่างนี้แล้ว ที่อธิบายไปทั้งหมดก็ไม่ผิดจากหลักนี้ โดยเฉพาะสรุปรวมใจความแล้วก็คือว่า ถ้าหากเห็นอันใดเป็นเครื่องละ ไม่สะสมอันนั้นเป็นหนทางที่ถูกต้อง บางคนนั้นเรียนรู้มาก แต่ปฏิบัติไม่ได้ หรือว่าไม่รู้แต่ว่าปฏิบัติได้ มันก็มีเหมือนกัน 

ท่านอุปมาเปรียบไว้หลายอย่าง อย่าไปพากันเสียใจ หรือไม่รู้ จำไม่ได้ก็อย่าไปเสียใจ ท่านอุปมาไว้อย่างนี้ ท่านเปรียบเหมือนหนูหรอก ไม่ได้เปรียบเหมือนคนหรอก เอาหนูมาเปรียบ หนูบางจำพวกนั้นขุดรูแต่ไม่อยู่ บางพวกนั่นอยู่แต่ไม่ขุด บางพวกนั้นไม่ขุดด้วย ไม่อยู่ด้วย บางพวกนั้นทั้งขุดทั้งอยู่ ท่านอุปมาเปรียบอย่างนี้ หนูที่ขุดรูแล้วไม่อยู่นั้น อุปมาเหมือนกับเรียนแล้วไม่ปฏิบัติ รู้แล้วไม่ทำ อันนี้เรียกว่าขุดแล้วไม่อยู่ พวกนึงนั้นไม่ขุดแต่อยู่ ไปอยู่หารูของเขา ท่านอุปมาเปรียบเหมือนผู้ไม่ได้เรียนศึกษา จดจำตำรับตำราไม่ได้ แต่ปฏิบัติถูก อันนี้ท่านเปรียบเหมือนหนูที่ไม่ได้ขุดรูแต่อยู่ หาอยู่ที่รูมันมีอยู่แล้ว บางพวกนี่ไม่ขุดไม่อยู่เลย เหมือนกับคนขี้เกียจ ไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่สนใจ ไม่ฟังคำสอนพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติก็ไม่เอา หลับหูหลับตาทุกเมื่ออย่างนั้น อันนี้ทั้งไม่ขุดทั้งไม่อยู่ หนูอีกจำพวกหนึ่ง ทั้งขุดด้วยทั้งอยู่ด้วย คือเรียนด้วยปฏิบัติด้วย เข้าใจด้วย 

เหตุนั้นเราจะเป็นหนูจำพวกใด เราไม่ขุดไม่อยู่ หรือว่าจะขุดแล้วอยู่ หรือว่าไม่ขุดแต่จะอยู่ หรือว่าขุดแล้วไม่ต้องอยู่ เราจะเป็นหนูจำพวกใด จะเอาอย่างหนูจำพวกใดก็เอาสิ เรื่องที่เราเป็นอยู่นี่ ทุกคนมันต้องเป็นหนูจำพวกหนึ่ง หละไม่จำพวกใดก็จำพวกหนึ่งหละ แต่ว่าจำพวกไหนมันจะดีกว่ากัน ให้พาก็เลือกเอา 

ธรรมะที่แสดงมาทั้งหมดนั้นน่ะ ถ้าหากเราฟังแล้วเข้าใจแล้วปฏิบัติจำได้ แล้วปฏิบัติตาม นั้นน่ะดีที่สุด เป็นพวกหนูพวกที่สี่ ดีมาก ถ้าหากว่า เราขุดไม่เป็น แต่เราหาที่อยู่คือหัดอบรมจิตใจของเรา เท่าที่เราสามารถทำได้ ท่านอบรมสั่งสอนเราก็รักษาจิตใจของเราให้อยู่ด้วยความสงบ อบรมสมาธิภาวนาให้ได้ตลอดเวลา ให้มันคล่องแคล่วชำนิชำนาญ อย่าให้มันเสื่อม ได้มากได้น้อยอย่าให้มันเสื่อม อันนี้ถึงแม้ว่าเราจะไม่ขุด แต่เราหาที่อยู่ใด ก็ยังดี ดีกว่าที่ไม่ขุดไม่อยู่เสียเลย บางพวกน่ะขุดแล้วไม่อยู่ อันนั้นก็ไม่ค่อยดี เรียนรู้มาก โง่เลย แต่ตนเองก็ทำไม่ถูก ทำไม่ได้ซักที อันนั้นไม่ดี ไม่ดีเหมือนกัน 

เพราะฉะนั้นแหละ ธรรมะที่แสดงมาดังนี้ เป็นการแสดงสลับซับซ้อนวกไปเวียนมาหลายอย่างหลายเรื่อง หากเราพากันได้เข้าอกเข้าใจแล้วจะได้ความรู้กว้างขวางขึ้น พิจารณาตามหลักนี้ ถ้าหากยังไม่ทันรู้ ไม่ทันเข้าใจถึงอย่างนั้น ก็ทำอย่างหนูพวกที่สอง คือว่าเราไม่ได้ขุดรูอยู่ แต่ว่าเราไปอยู่รูของเพิ่น ก็ยังนับว่าเป็นประโยชน์อันดียิ่งอยู่ ฉะนั้นทุกๆคนย่อมพากันสนใจโดยมาอธิบายมานี่ พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ โดยอาศัย อปมาทธรรม คือความไม่ประมาทก็สามารถจะเห็นผลปรากฏในตัวของตน ดังอธิบายมา

บทสวด ปฏิจจสมุปบาท

(นำ) หันทะ มะยัง ปะฏิจจะสะมุปปาทะธัมมะปาฐัง ภะณามะ เส ฯ

(รับ) อิธะ ภิกขะเว อะริยะสาวะโก

ปะฏิจจะสะมุปปาทัญเญวะ สาธุกัง โยนิโส มะนะสิกะโรติ

– ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมกระทำไว้ในใจ

โดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว ดังนี้ว่า

อิมัส๎มิง สะติ อิทัง โหติ

– เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี

อิมัสสุปปาทา อิทัง อุปปัชชะติ

– เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

อิมัส๎มิง อะสะติ อิทัง นะ โหติ

– เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี

อิมัสสะ นิโรธา อิทัง นิรุชฌะติ

– เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป

ยะทิทัง

– ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ

อะวิชชาปัจจะยา สังขารา

– เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย

สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง

– เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ

วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง

– เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

นามะรูปะปัจจะยา สะฬายะตะนัง

– เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ

สะฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโส

– เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

ผัสสะปัจจะยา เวทะนา

– เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

เวทะนาปัจจะยา ตัณหา

– เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง

– เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

อุปาทานะปัจจะยา ภะโว

– เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ

ภะวะปัจจะยา ชาติ

– เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ

– เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกขโทมนัส

อุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน

เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะสะมุทะโย โหติ

– ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

อะวิชชายะเต๎ววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ

– เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือ

แห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร

สังขาระนิโรธา วิญญาณะนิโรโธ

– เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ

วิญญาณะนิโรธา นามะรูปะนิโรโธ

– เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป

นามะรูปะนิโรธา สะฬายะตะนะนิโรโธ

– เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ

สะฬายะตะนะนิโรธา ผัสสะนิโรโธ

– เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ

ผัสสะนิโรธา เวทะนานิโรโธ

– เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา

เวทะนานิโรธา ตัณหานิโรโธ

– เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา

ตัณหานิโรธา อุปาทานะนิโรโธ

– เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน

อุปาทานะนิโรธา ภะวะนิโรโธ

– เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ

ภะวะนิโรธา ชาตินิโรโธ

– เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ

ชาตินิโรธา ชะรามะระณัง

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา นิรุชฌันติ

– เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรา มรณะ

โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงดับสิ้น

เอวะเม ตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ นิโรโธ โหตีติ

– ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้