Skip to content

ปฏิจจสมุปบาท

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

| PDF | YouTube | AnyFlip |

โอกาสต่อไปเชิญเตรียมนั่งสมาธิได้เลย หลักแรกวิธีการนั่งสมาธิ เราก็ได้รับการอบรมทางด้านปริยัติมากันพอสมควรแล้ว การบริกรรมภาวนาก็ดี การเพ่งกสิณก็ดี การพิจารณาธรรมก็ดี การตามรู้อารมณ์จิตก็ดี เป็นวิธีการทำสมาธิ จะเรียกว่าเป็นการทำสมาธิในเบื้องต้นก็ได้ วิธีการดังกล่าวมานั้นเมื่อปฏิบัติแล้วผลลัพธ์คือทำจิตให้สงบนิ่งเป็นสมาธิ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา 

วิตก วิจารซึ่งเกิดจากทำสมาธิมีอยู่สองประเภท วิตก วิจารอย่างหนึ่ง จิตไปจดจ่ออยู่กับอารมณ์จิตในปัจจุบัน เช่นภาวนาพุทโธ จิตก็จดจ่ออยู่กับพุทโธ พุทโธกับจิตไม่พรากจากกัน จิตอยู่กับพุทโธ พุทโธอยู่กับจิต อันนี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง จิตไปเพ่งในจุดใดจุดหนึ่งซึ่งเรียกว่าเพ่งกสิณ จิตไปเพ่งอยู่กับอาการ ๓๒ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเพ่งอยู่ที่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้น โดยที่จิตเพ่งดูสิ่งเหล่านี้เอง แล้วก็มีสติควบคุมอยู่เอง อันนี้ก็เป็นลักษณะของจิตได้วิตก วิจาร อีกอย่างหนึ่ง จิตไปเพ่งอยู่จุดเพ่งเช่นดวงไฟดวงกลม หรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นเรื่องการเพ่งกสิณ ๑๐ อย่าง แล้วจิตไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เพ่งเอง แล้วก็มีสติสัมปะชัญญะควบคุมรู้อยู่ที่นั่น ก็เป็นอันว่าจิตได้วิตก วิจาร

อีกอย่างหนึ่งจิตมีความคิดพิจารณาอารมณ์ของจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อพิจารณาไปหนักๆเข้า จิตเกิดความคล่องตัว จิตสามารถกำหนดพิจารณาอารมณ์นั้น พิจารณาไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่นจิตมันคิดว่าสิ่งนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์​ เป็นอนัตตา ตอนแรกเราตั้งใจคิด ตั้งใจพิจารณา แต่เมื่อเราพิจารณาไปจนคล่องตัวแล้วในที่สุดจิตเกิดความสงบลงไปนิดหน่อย จิตคิดของมันเอง พิจารณาของมันเอง 

การพิจารณานี้มีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งมันพิจารณาในเรื่องที่เรานำมาป้อนให้มัน อีกอย่างหนึ่งมันทิ้งเรื่องเก่าแล้วไปพิจารณาอย่างใหม่ คือเกิดความคิดอย่างใหม่ขึ้นนั่นเอง แต่มันเกิดอยู่ในลักษณะที่มีความสงบและมีสติรู้พร้อมอยู่ในปัจจุบันนั้น อันนี้ก็จิตได้วิตก วิจารตามองค์ฌาณดังที่กล่าวมาแล้ว 

เมื่อจิตของนักภาวนาได้วิตกวิจารเป็นทุนอยู่ เป็นทุนไว้แล้ว เรื่องของปีติและความสุข ความเป็นหนึ่งของจิตจะไม่เกิดขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นนักภาวนาทั้งหลายพึงทำความเข้าใจไว้ว่า องค์ฌาณที่หนึ่งกับองค์ฌาณที่สองเป็นสิ่งจำเป็นที่นักภาวนาจะต้องทำจิตให้ได้ คือทำจิตให้ได้วิตก วิจาร 

วิตก วิจารตามความหมายดังที่กล่าวมาแล้ว ฟังแล้วอาจจะเกิดความสับสน จึงขอให้ข้อสังเกตไว้อย่างง่ายๆว่า สิ่งใดที่จิตของเราคิดเองโดยอัตโนมัติ คิดไม่หยุด หรือสิ่งใดที่จิตของเรารู้อยู่เองโดยอัตโนมัติ รู้อยู่อย่างไม่ขาดสาย และมีสติสัมปะชัญญะรู้พร้อม เตรียมพร้อมอยู่ในขณะจิตนั้นๆ ลักษณะอย่างนี้เรียกว่าจิตมีวิตกวิจาร กำหนดหมายเอากันอย่างนี้ 

แต่บางท่านอาจจะเข้าใจว่า วิตก วิจารหมายถึงการน้อมจิตพิจารณา อันนั้นไม่ถูกแน่  แม้จะมีการพิจารณาก็ตาม ก็เป็นอุบายวิธีที่จะทำให้จิตเกิดวิตกวิจารเมื่อจิตมีสมาธิขึ้นมาบ้างเล็กน้อย ถ้าหากว่าจิตมีอาการสงบเคลิ้มลงไป กำลังเริ่มจะเกิดความสว่างขึ้นมา กำลังจะเป็นสมาธิ ถ้าเราไปตั้งใจคิดพิจารณาขึ้นมาในขณะนั้น จิตมันจะถอนจากสมาธิ เพราะฉะนั้นเรื่องวิตกกับวิจารนี่ พึงทำความเข้าใจว่า จิตมีความคิดและจดจ่ออยู่กับสิ่งๆหนึ่ง และก็มีสติรู้พร้อมอยู่กับสิ่งนั้นในขณะจิตนั้น แม้จิตอาจจะมีความคิดไปเองโดยอัตโนมัติ แต่เป็นลักษณะของความคิดหรือปัญญาที่เกิดจากสมาธิ แล้วก็มีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะจิตนั้น ให้พึงสังเกตอย่างนี้ 

ทีนี้มีผู้ฝากปัญหามาถาม ถ้าพูดถึงว่าการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องทำสมาธิในวันนี้ เรามาพูดถึงปัญหาที่ถามมาสองข้อนี้ ถ้าจะเอากันให้พิสดารกันจริงๆแล้ว เวลาเกือบจะไม่พอเพราะเป็นปัญหาที่จะต้องอธิบายกว้างขวางมาก ซึ่งปัญหานี้มีผู้ถามมาว่า เมื่อนั่งสมาธิจิตสงบแล้ว พิจารณากายคตาสติจิตกลับไปกลับมา จิตจะหยุดพิจารณา เมื่อท่านทำสมาธิจิตสงบ หมายความว่าก่อนที่จะพิจารณากายคตาสติ ท่านอาจจะบริกรรมภาวนาพุทโธ หรืออย่างอื่นก็แล้วแต่ จึงทำให้จิตของท่านเกิดความสงบ เมื่อจิตของท่านเกิดความสงบแล้ว ท่านก็มาพิจารณากายคตาสติ กลับไปกลับมาอีกต่อหนึ่ง อันนี้คำถามนี้ตีความหมายออกมาเป็นสองขั้นตอน

จิตสงบแล้ว พิจารณากายคตาสติ แสดงว่าจิตสงบเพราะเหตุอื่น แล้วเมื่อจิตสงบเพราะเหตุอื่นแล้วก็มาพิจารณากายคตาสติ เมื่อมาพิจารณากายคตาสติ จิตที่ท่านว่าสงบมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนมาเป็นความไม่สงบ แต่ท่านสามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิดเอาไว้ได้ด้วยความตั้งใจ คือตั้งใจน้อมจิตให้มาพิจารณากายคตาสติกลับไปกลับมา เมื่อท่านพิจารณากายคตาสติกลับไปกลับมา จิตของท่านหยุด เมื่อจิตเกิดหยุดคือหยุดพิจารณานั่นเอง เมื่อหยุดพิจารณาแล้ว จิตก็เกิดความสงบขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจิตสงบนิ่งเพราะการพิจารณากายคตาสติแล้ว จิตสว่างไสวลอยเด่นอยู่เหนือกาย นี่จิตเริ่มเข้าไปสู่ความสงบเป็นสมาธิในขั้นอุปจาระสมาธิ 

สมาธิในขั้นนี้จะมีสิ่งปรากฏการณ์ให้เรามีความรู้สึกคือรู้สึกเบากาย รู้สึกกายเบา จิตก็เบา ทุกขเวทนาไม่เกิด มีแต่สุขเวทนา เมื่อกายเบา จิตเบา เวทนาที่เรียกว่าเวทนาทุกข์หายไป ยังเหลือแต่สุขเวทนาเพราะตอนนี้ปีติกำลังเริ่มจะเกิด ปีติเริ่มเกิดแต่ระยะจิตของท่านรู้สึกเบา กายของท่านรู้สึกเบา เมื่อกายเบาจิตเบา จิตก็เริ่มสงบลงไป กายก็สงบลงไป กายสงบจากทุกขเวทนา จิตก็สงบจากความฟุ้งซ่านรำคาญ นิวรณ์๕ กำลังเริ่มจะผ่อนคลายลงไป เวทนาทุกข์ค่อยหายไป สุขเวทนากำลังเริ่มเกิดเพราะจิตมีปีติแล้วต้องมีความสุข สุขอันนี้หมายถึงสุขที่เกิดจากสมาธิ เป็นความสุขใจหรือสุขในทางจิต เรียกว่าเจตสิกสุข 

เมื่อจิตมีความสุข กายก็พลอยมีความสุขไปด้วย ทุกขเวทนาต่างๆหายไปหมดสิ้น เมื่อทุกขเวทนาไม่รบกวน กายสงบจิตสงบ จิตมีปีติและความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงย่อมปราศจากความดิ้นรนกระวนกระวาย กามฉันทะความใฝ่สุขด้วยอำนาจแห่งความขี้เกียจได้หายไป พยาปาทะ กิริยาที่คิดจะตัดรอนการปฏิบัตินั้นๆหายไป อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญหายไปเพราะกายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ วิจิกิจฉาความลังเลใจหายไป จิตมีความดูดดื่มได้ดื่มรสพระสัทธรรมอย่างเต็มที่คือปีติ แล้วก็มีสุขเป็นเครื่องกำกับ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ความลังเลสงสัยในการที่จะปฏิบัติ จะเอาจริงหรือไม่จริง ก็หายไปหมด มุ่งหน้าที่จะเอาจริงถ่ายเดียว 

ตอนนี้ท่านมองเห็นได้เด่นชัดแล้วใช่ไหมว่า พละธรรม อินทรีย์ธรรมกำลังจะเกิดขึ้นในจิตของท่านแล้ว ศรัทธาความเชื่อมั่นในตัวเอง ศรัทธาอธิโมกข์ การน้อมใจเชื่อกำลังหายไปเพราะท่านหมดเจตนาหรือความตั้งใจที่จะเชื่อ แต่ว่าจิตของท่านน้อมใจเชื่อเองโดยอัตโนมัติ เจตนาของท่านได้หายสิ้นไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่ความเป็นเอง เมื่อมีศรัทธา วิริยะความแกล้วกล้าอาจหาญ ความพากความเพียรเกิดขึ้นในจิตของท่านเองโดยอัตโนมัติ สติความตั้งใจอันเป็นตัววิจารที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นมาเอง ทำหน้าที่เองโดยอัตโนมัติ สมาธิความมั่นใจต่อการปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เป็นมาเองโดยอัตโนมัติ ปัญญาอันเป็นตัวญาณะรู้พร้อมอยู่ที่จิตเป็นมาเองโดยอัตโนมัติ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นพลัง ๕ ประการเกิดจากการปฏิบัติ สามารถประชุมพร้อมอยู่ที่จิตทำให้จิตมีความเป็นปกติ ดำรงอยู่ในความเป็นปกติได้เป็นเวลานานๆ เป็นฐานที่สร้างพลังจิต 

แต่ตอนนี้จิตอาจจะยังนิ่งว่างสว่างอยู่ ยังไม่ยอมทำงานใดๆ เมื่อจิตสร้างพลังงานในตอนนี้ได้อย่างพร้อมที่จะขยับตัวออกไปทำงาน จิตมีการไหวตัว มีอารมณ์สิ่งรู้ของจิตเกิดขึ้นเพราะอาศัยพลังที่เกิดจากที่เรียกว่าพละ ๕ มีพลังแก่กล้าขึ้นกลายเป็นอินทรีย์ แล้วก็เป็นใหญ่แต่ละอย่างๆ ในเมื่อศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญารวมพร้อมลงเป็นหนึ่ง สามารถที่หนุนจิตให้เกิดสติปัญญาขึ้นมาได้คือการไหวตัว มีความคิดอ่าน หรือมีธรรมอุทานผุดขึ้นมาในขณะจิตนั้นๆ อันนี้เป็นลักษณะของจิตที่มีอินทรีย์คือความเป็นใหญ่ประชุมพร้อมลงเป็นหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นอริยมรรค มรรค ๘ ประการก็ประชุมลงที่นี่ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ก็ประชุมลงที่นี่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยังเหลือแต่ความเป็นหนึ่งของจิตซึ่งเรียกว่าเอกัคคตา 

เอกัคคตาจิตในขั้นของวิปัสสนากรรมฐาน จิตจะไม่นิ่งว่างสว่างอยู่เฉยๆ จิตนิ่งแต่ไม่ว่างจากอารมณ์จิต จิตจะมีความคิดอ่านพิจารณาอยู่ตลอดเวลา แต่จิตดวงนี้ประกอบด้วยอุเบกขาญาณะทัศนะ รู้เห็นอะไร อะไรปรากฏขึ้นรับรู้เห็นสัมผัสรู้ แต่มีความเป็นกลางในสิ่งรู้เห็นนั้นๆ ไม่อคติลำเอียง เพราะจิตมีความเป็นใหญ่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญารวมลงเป็นหนึ่ง เป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่อยู่ในจิต ตัวปรากฏเด่นชัดคือ สตินทรีย์ สตินทรีย์ที่เป็นใหญ่อยู่ในจิตคือสติวินโย จิตมีสติเป็นผู้นำอยู่ตลอดกาล 

เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตของท่านจะมีการเตรียมพร้อม เตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะจิต เมื่อจิตมีการเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ไม่ว่าอะไรจะผ่านเข้ามา อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ จิตที่ทรงความเป็นใหญ่ได้มารับรู้แล้ว เขาจะเกิดมีความเอาใจใส่ เกิดโยนสิมนสิการ คือการเอาใจใส่โดยแยบคาย เกิดธัมมวิจย การสอดส่องธรรม การพิจารณาธรรมขึ้นมาโดยอุบายอันแยบคาย เมื่อเขามีสติ มีพลังที่จะพิจารณาธรรมเองโดยอัตโนมัติ จิตดวงที่มีสติปัญญาจะน้อมความรู้เข้าไปสู่กฏของธรรมชาติคือพระไตรลักษณ์ จิตดวงนี้จะมองเห็นธรรม ธรรมที่เป็นวัตถุธรรมก็ดี ธรรมที่เป็นนามธรรมก็ดี กฏธรรมชาติของเขาอยู่ในกฏเกณฑ์แห่งพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน 

แต่ถ้าหากจิตรู้พระไตรลักษณ์อยู่ในขณะจิตที่ประกอบพร้อมไปด้วยความสงบอันเป็นสมาธิ หรือมีสติปัญญาที่อยู่เหนือโลกซึ่งเรียกว่าปัญญาขั้นโลกุตตระ จิตจะมีความสัมผัสรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพียงแค่มีสภาวะปรากฏการณ์ขึ้นในเบื้องต้น ทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่งในที่สุดแล้วย่อมสลายตัว เมื่อจิตมีสติปัญญาสามารถกำหนดพิจารณาได้อย่างละเอียดถี่ยิบทุกขณะจิต เรียกว่ารู้ทัน จิตจะมองเห็นสภาวธรรมทั้งวัตถุธรรมและนามธรรมเพียงแค่เกิดดับ เกิดดับๆ อยู่ในภายในจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่ออะไรเกิดขึ้นในขณะนั้นถ้าจิตมีความสำคัญมั่นหมาย ถ้าทุกข์เกิดขึ้นมา จิตก็จะรู้ขึ้นมาว่านอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นมีความสุข สุขนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากสุขไม่มีอะไรเกิด นอกจากสุขไม่มีอะไรดับ 

เมื่อมองเห็นสุขทุกข์เกิดสลับเปลี่ยนกันไป หรือคละเคล้ากันไปทั้งสุขและทุกข์ เพราะอาศัยจิตดวงนี้มีสติสัมปะชัญญะเด่นชัดขึ้นมา จะมองเห็นสภาวะธรรมทั้งวัตถุธรรมและนามธรรมตามความเป็นจริง ความเป็นจริงของวัตถุธรรมและนามธรรมมันจะมีอะไรเสียอีกนอกจากอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่คือกฏธรรมชาติของวัตถุธรรมและนามธรรมที่จะพึงเป็นไป ขอชี้ให้เด่นชัดลงไปว่าวัตถุธรรมก็คือกายของเรา นามธรรมก็คือจิตของเรา 

กายของเราถ้าเรามีสติสัมปะชัญญะดูมัน ตั้งแต่เช้าตื่นนอนมานี่ เราเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของมัน ตื่นเช้ามามันจะต้องรู้สึกหิวโหยเพราะมันขาดอาหารเป็นเครื่องบำรุง เมื่อมันเกิดหิวโหย สุขมันก็หายไปแล้ว มีแต่ความทุกขเวทนาคือความหิว เมื่อได้อาหารรับประทานแล้ว ขจัดทุกขเวทนาคือความหิวให้หายไป ก็ยังเหลือแต่สุขเวทนาคือความอิ่ม เพียงแค่นี้ถ้าเรามีสติสัมปะชัญญะพร้อมมูลดีแล้ว เราก็สามารถที่จะมองเห็นวัตถุธรรมของเราในแง่แห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเวลาใดกายของเรา วัตถุธรรมคือกายของเรามีความเป็นปกติ เรามีความสุขความสบายกาย เราก็รู้ว่ากายของเรามีความสุข เราก็มองเห็นสุขเวทนาในกาย ถ้าสุขมันหายไป ความเหน็ดเหนื่อย ทุกขเวทนาความปวดเมื่อยมันเกิดขึ้นแม้ในขณะปัจจุบัน เราก็มองเห็นแล้วว่านี่คือทุกขเวทนา เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็มองเห็นทุกข์ตามพระไตรลักษณ์ 

เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะมองต่อไปอีกว่า ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ทำไมมันไม่สุขตลอดไป และทำไมมันไม่ทุกข์ตลอดไป ทำไมมันจึงเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ ก็เพราะกฏธรรมชาติของธรรมทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และสิ่งที่มันไม่เป็นไปตามปรารถนา เราต้องการสุขตลอดไปแต่มันไม่ได้ ก็เพราะมันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวของเรา อารมณ์ที่เราชอบ สิ่งที่เราชอบ เมื่อมันอยู่กับเรา เราดีใจสบายใจมีสุขใจ แต่แล้วทั้งๆที่เรากำลังชอบ กำลังหวงแหน มันก็พลันพลัดพรากจากเราไปหรือสลายตัวไปเพราะมันเป็นอนัตตา เมื่อสิ่งเหล่านั้นมันสลายตัวไปแล้ว มองดูที่ตรงนี้สิท่าน สิ่งที่ท่านรัก สิ่งที่ท่านชอบ เมื่อมันเป็นไปในทางที่ทำให้ท่านรู้สึกเสียประโยชน์หรือขัดความรู้สึกของท่าน ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง สิ่งที่ท่านชอบมีอันเป็นไปคือสูญสลายตัวไป พลันเกิดความไม่พอใจ ลองดูซิจริงหรือเปล่า 

แหวนที่ท่านสวมอยู่ในมือ ถ้าเผื่อว่ามันตกหล่นหายไป ท่านเสียใจ ท่านเสียดาย ท่านไม่พอใจในการหายไปของวัตถุที่ท่านหวงแหน อนิฏฐารมณ์มันเกิดขึ้นแล้วใช่มั้ย ดูให้ดีสิ และทำไมสิ่งที่ท่านชอบใจมันได้สูญหายไปแล้ว ทำไมท่านจึงเกิดความไม่พอใจคืออนิฏฐารมณ์เพราะอะไร ท่านจะมองเห็นว่า อวิชชาความรู้ไม่จริง มันมีอยู่ในจิตของท่านแล้ว แต่แท้ที่จริงของที่มีค่า หรือของที่ท่านหวงแหนมันก็เป็นแต่เพียงวัตถุอันหนึ่งเท่านั้น มันไม่ใช่สมบัติของใครทั้งสิ้น แต่เมื่อท่านมีจิตผูกพันไปยึดว่าเป็นของของเรา เพราะอาศัยอวิชชาความรู้ไม่จริงเป็นเหตุ เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อของสิ่งนั้นมีอันสูญสลายไปท่านก็จะเกิดความไม่พอใจ เกิดความคิดขึ้นมาว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ความคิดที่ว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น นั่นคือตัวสังขาราอนิจจา มันบังเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านก็มองเห็น มองเห็นปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเกิดอยู่ในจิตของท่าน 

อวิชชาปัจจยา สังขารา อวิชชาความรู้ไม่จริง เป็นเหตุให้เกิดสังขาร ถ้าเรารู้จริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปตามกฏธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของมันก็มีเกิดมีดับ เมื่อสิ่งเหล่านั้นมาเป็นสมบัติของเราที่เรายึดว่าเป็นของของเรา บางทีมันก็อยู่กับเรา บางทีมันก็สูญหายไปโดยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำให้เราดีใจเสียใจขึ้นมาเพราะเหตุนั้น ความเป็นไปของวัตถุที่เราหวงแหน มันจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม สลายตัวไปก็ตาม หรือหายไปก็ตาม นั่นมันเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ คืออนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่เป็นตัวของตัว และไม่เป็นของของเราด้วย 

เพราะเรายังมีกิเลสตัณหาอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆอยู่ เมื่อสิ่งเหล่านั้นมีอันเป็นไปในแง่ที่เราไม่พอใจ หรือในแง่ที่เราไม่ปรารถนาจะให้เป็นอย่างนั้น เราเกิดไม่พอใจ ความไม่พอใจในความสูญเสียนั้นๆ มองดูให้ดีสิ มองเห็นจุดเริ่มของตัณหาหรือยัง ความไม่พอใจ ความไม่ยินดี มันมีแนวโน้มให้เกิดวิภวตัณหา แต่สิ่งใดที่เราประสบแล้วเราพอใจ เรายินดี มันมีแนวโน้มให้เกิดกามตัณหา ทั้งความยินดีและทั้งสิ่งที่เรายินดีและไม่ยินดี ถ้าเราไปยึดเอาไว้ในความรู้สึกทั้งสองอย่าง มันก็แนวโน้มให้เกิดภวตัณหา เรายึดสิ่งที่ทำให้เกิดเป็นวิภวตัณหาเพราะอะไร เพราะเราไม่ต้องการประสบสิ่งนั้น มูลเหตุมันมาจากไหน มูลเหตุเพราะเราใคร่ในสิ่งที่เราต้องการ กิริยาที่ความรู้สึกว่าเราไม่พอใจเป็นกิริยาของวิภวตัณหามันเกิดขึ้น กิริยาจิตอันใดที่รู้สึกว่าใคร่พอใจ เป็นกิริยาของกามตัณหามันเกิดขึ้น ความยึดมั่น (เทปขาดตอน) 

ความคิดของท่านนั่นสิมันเกิด มันเกิดขึ้นมาอย่างไร สิ่งที่ท่านหวงแหนมันสลายตัวไป จุดเริ่มมันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเลย นี่คือ ชาติ ความเกิดมันปรากฏขึ้นมาแล้ว ทีนี้ความรู้สึกว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเลย ผุดขึ้นมาในความรู้สึกของเรา ถ้าสิ่งใดที่เป็นไปในทางที่เราไม่ต้องการ มันก็เกิดโทมนัส ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นในทางที่เราพอใจ มันก็เกิดโสมนัส มันจึงเป็นอันว่าถ้าเราจะนับตามอันดับแห่งความเกิดของกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ 

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา (อวิชชาปัจจยา สังขารา) ความรู้ไม่จริงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความปรุงคือสังขาร 

สงฺขารปจฺจยา วิญฺญานํ (สังขารปัจจยา วิญญานัง) ความปรุงแต่งเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณคือความรู้ 

วิญฺยาณปจฺจยา นามรูปํ (วิญญาณะปัจจยา นามะรูปัง) รู้ไปเกาะเกี่ยวอยู่ที่ตรงไหน เกิดนามรูปขึ้นมา 

นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ (นามะรูปะปัจจยา สฬายตะนัง) เมื่อมีนามกับรูปประกอบกันเข้า คือมีกายกับจิตประกอบกันเข้า มันก็มีรูปมีร่างขึ้นมา มีตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เพราะอาศัยอวิชชาความรู้ไม่จริง จิตขาดสติสัมปะชัญญะ จึงส่ายแส่ไปตามตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส (สฬายตะนะปัจจยา ผัสโส) เมื่อมีอายตนะ ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ย่อมมีสิ่งเข้ามาสัมผัส รูปสัมผัสกับตา เสียงสัมผัสกับหู กลิ่นสัมผัสกับจมูก รสสัมผัสกับลิ้น สิ่งถูกต้องสัมผัสกาย ความนึกคิดสัมผัสใจ เมื่อเกิดมีอายตนะ ก็มีความมีความเป็นขึ้นมา เป็นโน่นเป็นนี่ 

ผสฺสปจฺจยา เวทนา (ผัสสะปัจจยา เวทนา) ในเมื่อมีผัสสะก็ย่อมมีเวทนา คือรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์เป็นกลางๆ

เวทนาปจฺจยา ตณฺหา (เวทนาปัจจยา ตัณหา) ถ้าหากสิ่งใดมาสัมผัสแล้วรู้สึกทำให้สุขสบาย ก็ทะเยอะทยานอยากได้ เป็นกามตัณหา ถ้าสิ่งใดสัมผัสแล้วไม่สบาย ก็ทำให้ทะเยอทยานอยากจะทิ้งเสีย แต่มันก็ทิ้งไม่ได้

ตณฺหาปจฺจยา อุปทานํ (ตัณหาปัจจยา อุปาทานัง) เมื่อมีตัณหา เวทนาแล้วก็มีตัณหา ตัณหาแล้วก็มีอุปาทาน

อุปาทานปจฺจยา ภโว (อุปาทานะปัจจยา ภะโว) มีความยึดมั่นถือมั่นที่ตรงไหน ความมีความเป็นคือภพอยู่ที่นั่น ในเมื่อมีภพมีความมีความเป็น เป็นอะไร เป็นคือจิตมันไปยึดอยู่ที่ตรงไหนมันก็เป็นขึ้นที่นั่น มันก็กลายเป็นภพ ในเมื่อเกิดมีภพ ความมีความเป็น 

ภวปจฺจยา ชาติ (ภวปัจจยา ชาติ) ยึดที่ตรงไหนมันก็เกิดที่นั่น ไอ้ตัวเกิดนี้ก็คือตัวสังขารที่ตัวปรุงตัวแต่งนั่นแหละ ไปยึดที่รูปก็ว่ารูปสวยงาม ไปยึดที่เสียง ก็ว่าเสียงไพเราะ ไม่ไพเราะ ไปยึดที่กลิ่น ก็กว่ากลิ่นเหม็นกลิ่นหอม ไปยึดที่รส ก็ว่ารสอร่อย ไม่อร่อย ไปยึดที่สัมผัส ก็ว่าสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ไปยึดที่ธรรมารมณ์ คืออารมณ์ ก็สำคัญมั่นหมายว่าดีไม่ดี ตัวสังขารตัวปรุงทั้งนั้น ในเมื่อมีชาติคือความเกิดก็มีความโศกเศร้า มีความโทมนัสน้อยใจ มีความวิปโยคพลัดพราก มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ก่อให้เกิดให้เป็นทุกข์ เพราะอาศัยอวิชชาตัวเดียว

ทีนี้เราจะดูอวิชชา ดูปฏิจจสมุปบาทอยู่ในจิตของเรานี่ ส่วนอวิชชาปัจจยา สังขารา สังขารปัจจยา นั้นตามคัมภีร์นั้นยกไว้ เรามาดูตัวอวิชชาปัจจยาในจิตของเราขณะนี้ ดูซิ อะไรที่ทำให้เราดีใจเสียใจในปัจจุบัน ความทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เช่นนั่งนานเมื่อย เราไม่พอใจในความเมื่อยนั้นเพราะอะไร เพราะอวิชชา อวิชชาปัจจยา สังขารา 

เพราะฉะนั้นดูความเกิดดับ ที่มันเกิดดับอยู่กับจิตเนี่ย อะไรเกิดอะไรดับเราดูกันอยู่ที่ตรงนี้ เราก็มองเห็นทั้งสิ่งที่เป็นกิเลสและไม่เป็นกิเลส มองเห็นสิ่งที่เป็นบุญกุศลทั้งสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นกุศล แล้วถ้าจิตของเราดำเนินท่องเที่ยวอยู่ในการพิจารณาดังที่กล่าวมานี้ กายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ บางทีสงบไปจนกระทั่งกายหายไปจากความรู้สึก ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวที่ลอยเด่นอยู่ เหมือนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ที่ลอยเด่นอยู่ 

ทีนี้เมื่อจิตเป็นอย่างนี้ต่อไปจะปฏิบัติอย่างไร นี่เป็นปัญหาอีกข้อหนึ่ง ถ้าจิตเป็นอย่างนี้ตลอดไป ถ้าหากว่ามันไปสงบ กายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ เวทนาทุกข์หายไปหมด ยังเหลือแต่เวทนาสุข กับความเป็นกลางๆของจิตที่ไปนิ่งสว่างไสวอยู่ นิ่งรู้อยู่ที่ตัวรู้เฉยๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในช่วงที่ท่านมีความสัมผัสหรือสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นในจิตในเบื้องต้น ถ้าท่านสามารถทำจิตให้เป็นอย่างนี้บ่อยๆ จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญยิ่งเป็นการดี ถ้าสามารถทำได้ทุกครั้งที่เราปฏิบัติหรือนั่งปฏิบัติหรืออาจจะเป็นอยู่ได้ตลอดเวลา ก็ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้นก่อน อย่าเพิ่งทำอะไรทั้งนั้น 

ทีนี้ถ้าเผื่อว่าจิตไม่สงบลงไปสู่ส่วนลึก เพียงแต่เบากายเบาจิตแล้วจิตไปนิ่งว่างอยู่เฉยๆ เพียงแต่ระงับเวทนาทำให้รู้สึกนั่งสบายเท่านั้น ในตอนนี้ถ้าหากว่าจิตมันไปเป็นสภาพเช่นนั้น ถ้าปล่อยไว้นานๆแล้วมันจะกลายเป็นจิตหดหู่ แต่ถ้ามันเกิดว่างเบาลงไปแล้วมีความสว่าง มีปีติ มีความสุข มีความสงบละเอียดลงไปจนกระทั่งตัวหาย เป็นอย่างนี้บ่อยๆ ก็ปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ก่อน 

ทีนี้เมื่อท่านจะทำอะไรต่อไป ควรจะทำต่อเมื่อจิตเข้าไปสู่ความสงบละเอียดจนกระทั่งตัวหายแล้ว จิตถอนออกมาจากสมาธิ พอมารู้สึกว่ามีกายเท่านั้น จิตของท่านจะเกิดความคิดขึ้นมาทันที ในช่วงนี้ท่านอย่าละโอกาส รีบกำหนดจิตทำสติตามรู้ความคิดนั้นไป จิตจะคิดไปเหนือไปใต้ คิดเรื่องกุศลเรื่องอกุศล เรื่องบาปเรื่องบุญอะไรก็แล้วแต่ แม้แต่คิดออกไปเรื่องโลกๆ เรื่องงานเรื่องการอะไรก็ตามแต่ ปล่อยให้เค้าคิดไป ท่านไม่ควรไปห้ามความคิดอันนี้ แล้วฝึกทำสติตามรู้ความคิดดังกล่าวไป เอาความคิดที่มันเกิดขึ้นเองนั่นแหละเป็นอารมณ์ของจิต แต่กำหนดหมายรู้ว่าสิ่งที่คิดนี้ ญาณะมัตตายะ สักแต่ว่าเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต ปะติสสะติมัตตายะ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึก 

ระวังอย่าให้มีความยึดในความคิดนี้เกิดขึ้น เมื่อท่านเกิดยึดในความคิดอันนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ท่านจะมองเห็นตัวสังขารปรากฏขึ้น ทำไมจิตของท่านจึงยึด ยึดเพราะรู้ไม่จริง ความรู้ไม่จริงคืออวิชชา อวิชชาอยู่ในจิตของท่าน แต่ท่านมีสติสัมปะชัญญะดีท่านจะมองเห็นตัวกิเลสคือตัวอวิชชา ทำไมมันจึงยึด เพราะไม่รู้จริงเราจึงยึด ในเมื่อยึดแล้วมันก็ปรุงคือความคิดนั้นเอง คิดว่าเป็นอย่างนั้น คิดว่าเป็นอย่างนี้ ประเดี๋ยวคิดว่าสิ่งที่มันนี่มันคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร ศีลคืออะไร สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ตัวสังขาร สังขาราอวิชชาทั้งนั้นเพราะมันปรุง เพราะความรู้ไม่จริงมันจึงยึด ยึดแล้วมันจึงปรุง ตัวปรุงคือตัวสังขาร ในเมื่อปรุงไปรู้ไป ปรุงไปรู้ไป ดีใจไปเสียใจไป เกิดทุกข์ไป ทุกข์สุขไป เราก็มองเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มองเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไปพร้อมๆกันในขณะจิตเดียวกันนั้นแหละ นี่ทางปฏิบัติควรจะได้ทำอย่างนี้ 

เมื่อท่านผู้ใดพิจารณาสิ่งใด จิตสงบลงเป็นสมาธิได้ ให้ยึดหลักนั้น พิจารณาสิ่งนั้นบ่อยๆ จนมันคล่องตัว จนชำนิชำนาญ ถือเอาอันนั้นแหละเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของจิต อย่างท่านผู้ที่ถามนี้ บอกว่าพิจารณากายคตาสติแล้ว จิตมันหยุดพิจารณาแล้วก็มีความสงบนิ่งจิตสว่างไสวลอยเด่นอยู่เหนือกาย กายเบาจิตเบา เมื่อท่านจะปฏิบัติในคราวต่อไป ก็พิจารณากายคตาสติ ไม่ต้องไปบริกรรมภาวนาให้จิตสงบก่อน พิจารณากายคตาสติเลย ให้จิตสงบเพราะกายคตาสตินั้น เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว เมื่อมันจะสงบไปถึงไหน ละเอียดแค่ไหนปล่อยมันสงบไป เมื่อมันถอนจากความสงบขึ้นมาแล้วก็เมื่อรู้สึกว่ามีกายปรากฏความคิดเกิดขึ้น ให้กำหนดตามรู้อารมณ์จิตของตัวเองไปด้วยความมีสติสัมปะชัญญะ นี่คือแนวทางการปฏิบัติมีอยู่แค่นี้

อ้าว ทีนี้เป็นปัญหาข้อที่สอง การทำพิธีแบบโยเลเป็นกิจกรรมของพระพุทธศาสนาหรือไม่ และเวลานี้มีคนนิยมมาก 

ได้เคยพูดอยู่เสมอว่า สมาธิเป็นหลักธรรมเป็นกลางๆ ไม่สังกัดในลัทธิและศาสนาใดๆทั้งสิ้น โยเลเป็นวิธีปฏิบัติสมาธิอีกแบบหนึ่งตามความเข้าใจของผู้นำลัทธินี้หรือผู้จัดเจนในการปฏิบัติตามลัทธิวิธีอันนี้ แต่อยู่ในเกณฑ์ที่จัดเข้าในพวกประเภทสมาธิเหมือนกัน เราจะถือว่าเป็นสมาธิในหลักพระพุทธศาสนาก็ได้ เป็นหลักสมาธิในลัทธิโยเลก็ได้ เป็นสมาธิในศาสนาคริสต์อิสลามอะไรก็ได้ เพราะคำว่าสมาธินี่เป็นหลักกลางๆ ไม่ได้สังกัดในลัทธิและศาสนาใดๆทั้งสิ้น 

แต่วิธีการคือวิธีการปฏิบัติจิตให้มีสมาธินั้น อาจจะมีสังกัดในลัทธิและศาสนานั้นๆ แต่ความที่จิตเป็นสมาธิสามารถใช้การได้ มันเป็นสมาธิสรุปลงในหลักอันเดียวกัน คือจิตมีความสงบและมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาเหมือนกัน แต่สมาธิอื่นๆนอกจากหลักของพระพุทธเจ้าเป็นสมาธิที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ โยเลนี่เท่าที่ได้ทราบ มันเป็นวิธีการใช้พลังจิตอีกแบบหนึ่งเกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และเป็นวิธีการสามารถที่ปฏิบัติแล้ว สามารถทำจิตให้มีความสงบสบายได้เหมือนกัน 

แม้ในลัทธิของพระพุทธศาสนาของเรานี่เราก็สามารถที่จะทำสมาธิแล้วใช้พลังจิตไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ แม้แต่ในลัทธิไสยศาสตร์พวกเวทมนตร์คาถา เค้าก็ใช้สมาธิไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่นวิชาอาคมมนต์ต่อกระดูกเป็นต้น อันนี้ก็ใช้พลังสมาธิ แต่สมาธิที่ใช้โดยทั่วๆไปเกี่ยวกับรักษาโรคภัยไข้เจ็บก็ดี หรือเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาทางไสยศาสตร์ก็ดี เป็นสมาธิที่มีจุดเริ่มด้วยความเชื่อมั่น ในเมื่อใครจะใช้พลังจิตไปในทางใด ต้องอาศัยความเชื่อมั่น อันนี้เป็นเบื้องต้น แต่บางท่านก็ไม่เพียงแค่ว่าอาศัยความเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียว สามารถที่จะทำสมาธิให้ลึกลงไปเป็นอุปจาระสมาธิ หรือขนาดฌาณสมาบัติขั้นที่๑ คือปฐมฌาณ ซึ่งประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา 

เมื่อสามารถทำจิตให้สงบลงไปอยู่ในระดับที่กำลังเกิดปีติหรือมีความสว่างขึ้นมา เค้าสามารถที่จะเพ่งกระแสจิตไปถ่ายกำลังให้ใครต่อใครก็ได้ หรือไม่อย่างนั้นสามารถที่จะเพ่งกระแสจิตเข้าไปตรวจดูโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายของคนไข้ก็ได้ เช่นยกตัวอย่างเช่นมีพระภิกษุรูปหนึ่งในอดีตกาลอันใกล้นี้ช่วงชีวิตของเรานี่แหละ ท่านผู้นั้นเจ็บกระเพราะเจ็บท้องอยู่ ไม่หายซักที ท่านอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต ไปรู้เข้า ท่านก็จับพระองค์นั้นมานั่งข้างหน้าท่าน ท่านพูดคล้ายๆกับว่าพูดทีเล่นทีจริง ไหนดูซิ ทำไมมันเจ็บท้องไม่หายซักที มา จะตรวจโรคให้ พอท่านนั่งกำหนดจิตอยู่แพล็บหนึ่ง ท่านก็ลืมตาขึ้นมา โอ้ย มันจะไม่เจ็บอย่างไร ไปกินเบ็ดเข้าไปตั้งหลังมันเกาะอยู่ผนังกระเพาะนั่น ไปเคี้ยวหัวปลาหมอใช่มั้ย พระองค์นั้นบอกว่าใช่ นั่นแหละเบ็ดมันติดอยู่หัวปลานั่น แล้วมันกลืนเข้าไปมันไปเกาะอยู่ผนังกระเพาะ ไปหาหมอให้หมอเอาออกให้ซะ ทีนี้พระองค์นั้นก็ไปหาหมอ หมอก็ผ่าออกให้แล้วมันก็หาย 

อย่างเนี้ย แม้แต่ในลัทธิศาสนาพุทธของเราก็ยังมีผู้ใช้พลังจิตสำหรับรักษาโรคอยู่ และคำตอบในท่อนต่อไป คำถามในท่อนต่อไปว่าเวลานี้มีคนเค้านิยมไปมาก ที่เค้านิยมกันมากก็เพราะเหตุว่า โยเลนี่เป็นของต่างประเทศนำมาคือญี่ปุ่น โดยนิสัยคนไทยของเราไม่ชอบของเก่า และไม่ชอบสมบัติที่เรามีอยู่ เราจึงหลงไปเชื่อคำโฆษณาเค้าแล้วก็ไปนิยมชมชอบเช่นอย่างลัทธิไสบาบาเป็นต้น ของๆเรานี่ถ้าจะพิจารณากันให้ซึ้ง ดูให้ดีแล้ว คนของเราก็สามารถที่จะทำสมาธิเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ก็ถ่ายพลังจิตพลังใจให้กันได้ตามความเชื่อถือ และสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นไปได้จริงไหมนั้น มันขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้ทำและผู้รับการกระทำนั้นๆ อันนี้ยกเอาไว้ให้ท่านทั้งหลายพิจารณาเอาเอง

และอีกอย่างหนึ่ง การฝึกฝนอบรมสมาธิภาวนาของผู้ให้การอบรมสั่งสอนสมาธิตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น อยู่ในวงแคบจนเกินไป ไปมองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆ แม้แต่การฝึกหัดทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด หรือเมื่อทำจิตบริกรรมภาวนาลงไปแล้ว จิตรู้สึกสงบลงนิดหน่อย จิตทิ้งบริกรรมภาวนาไปคิดอย่างอื่น ถ้าใครบอกว่าปล่อยให้มันคิดไป แล้วทำสติตามรู้เรื่อยไป มันจะไปขัดกับมติของนักภาวนาในหลักของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความเข้าใจในหลักการภาวนาหรือประสบการณ์ภายในจิตในการภาวนายังอยู่ในวงแคบ เราจึงไปจำกัดจำเขี่ยว่าต้องทำอย่างนี้ๆ แม้พวกเราเองซึ่งสอนศาสนาพุทธด้วยกันก็ยังมีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องความรู้ความเห็นในทางภูมิจิตภูมิใจ 

ถ้าใครจะนิยมชมชอบไปเรียนลัทธิโยเลกับเค้าบ้างก็ย่อมเรียนได้ สนใจได้ ไม่ใช่มิจฉาทิฐิ เพราะมันเป็นอุบายที่ทำจิตให้สงบลงได้เหมือนกันถ้าทำจริง แต่สมาธิที่เราฝึกอบรมอยู่นี้มันเป็นกลางๆ ถ้าอยากจะให้สมาธิที่ปฏิบัติตามแบบไหนอย่างไรให้มันเกิดประสิทธิภาพในทางที่จะขจัดกิเลส ชำระจิตให้บริสุทธ์สะอาด ต้องมีศีล อย่างต่ำศีล ๕ ต้องให้บริสุทธิ์สะอาดอย่างแท้จริง สมาธินั้นจึงจะเป็นไปเพื่อตรัสรู้มรรคผลนิพพานได้ 

แต่ขอย้ำอีกอันหนึ่งว่าโยเลสมาธินี่มันก็ต่าง ต่างแต่ชื่อ แต่เมื่อวิธีกรรมในการปฏิบัติก็แม้นเหมือนกัน บางทีก็บางท่านก็ให้ท่องคาถาบริกรรมภาวนา บางท่านก็ให้นั่งลืมตาอยู่เฉยๆ บางท่านก็ให้นั่งหลับตามองดูความคิดของตัวเอง บางท่านก็ให้พิจารณาโน่นนี่ ซึ่งสารพัดแล้วแต่ความเข้าใจ รวมความแล้วว่าเป็นวิธีทำสมาธิทั้งนั้น และการทำสมาธินี่เป็นหลักกลางๆไม่สังกัดในลัทธิและศาสนาใด ถ้าเราจะทำสมาธิตามหลักของพระพุทธศาสนาต้องมีศีล ๕ เป็นหลักประกันความปลอดภัย นี่ขอให้ทำความเข้าใจอย่างนี้

เป็นอันว่าการตอบปัญหานี้ ทั้งสองข้อนี้เป็นอันเสร็จสิ้นลงไป เมื่อท่านได้นั่งฟังคำตอบปัญหาสองข้อนี้ เราเริ่มกิจกรรมของเราตั้งแต่ ๙ นาฬิกา ก็บัดนี้ก็ ๑๐ นาฬิกาแล้ว ตอบปัญหาสองข้อใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง และท่านทั้งหลายก็ได้นั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมงเช่นเดียวกัน เสียงที่ท่านได้ยินด้วยหู เมื่อท่านทำสติรู้อยู่กับเสียงนั้น เสียงเป็นอารมณ์จิต ท่านฝึกสมาธิเพราะอาศัยเสียงด้วยความมีสติสัมปะชัญญะรู้อยู่กับเสียงนั้น เมื่อตาของท่านเห็นรูป ท่านมีสติรู้อยู่กับการเห็นนั้น ท่านฝึกสมาธิอยู่กับตากับรูป เมื่อจมูกท่านได้กลิ่นอะไร ท่านมีสติรู้อยู่กับกับกลิ่นนั้น มีสติรู้อยู่กับสิ่งนั้นในปัจจุบัน ท่านฝึกสมาธิเพราะอาศัยกลิ่นเป็นอารมณ์ ท่านรับทานอะไร รู้สึกรสในการสัมผัสลิ้น ท่านมีสติรู้อยู่กับสิ่งนั้น ฝึกสติกับสิ่งนั้นเป็นการฝึกสมาธิกับรสอาหาร กายท่านสัมผัสอันใดท่านมีสติรู้อยู่กับสัมผัสนั้น หรือท่านอาจจะพิจารณาไปว่าสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งใดๆ ซึ่งสุดแท้แต่ท่านจะพิจารณาด้วยความมีสติ ท่านก็ได้ฝึกสมาธิอยู่กับสัมผัสนั้นๆ ความคิดอันใดที่เกิดดับอยู่กับจิต ท่านกำหนดจิตทำสติตามรู้ความคิดที่เกิดดับอยู่กับจิตตลอดเวลา รู้อยู่ทุกขณะจิต ท่านก็ได้ทำสมาธิกับอารมณ์จิตที่เกิดดับอยู่ในปัจจุบัน และพร้อมๆกันนั้นจะได้ชื่อว่าท่านได้เจริญวิปัสสนาไปพร้อมกัน 

ก่อนที่จะจบนี้ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า คำว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดีเป็นแต่วิธีการปฏิบัติเท่านั้น การปฏิบัติด้วยการบริกรรมภาวนา การเพ่งกสิณหรือการพิจารณาอะไรให้รู้ความเป็นจริงของสิ่งนั้น เพียงแต่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งนี้เท่านั้น เช่นพิจารณาว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อันนี้เป็นการปฏิบัติในภูมิขั้นแห่งสมถะ ถ้าการปฏิบัติตามแบบการใช้ความคิด พิจารณามีจิต มีแนวโน้มไปสู่พระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเราใช้ความคิดพิจารณาตามสติพลังความสามารถที่เราจะคิดมากน้อยเพียงใด เป็นการปฏิบัติตามแบบวิปัสสนา 

แต่จุดมุ่งหมายของทั้งสองอย่างนี้เพื่อฝึกหัดจิตให้เกิดมีความสงบ มีปีติ มีความสุขและมีความเป็นหนึ่ง ให้จิตมีสมาธิ มีสติปัญญาสามารถพิจารณาสภาวะธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริงตามกฏของธรรมชาติคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอุบายวิธีให้เราสามารถมองเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคภายในจิตของเราในขณะจิตเดียวพร้อมกับความรู้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นๆ อันนี้คือความประสงค์ ความแตกต่างก็เพียงแต่วิธีการ เมื่อความเป็นแล้วมันเป็นอย่างเดียวกัน 

ทีนี้ถ้าหากว่าสมาธิอันใดไปสงบนิ่งอยู่ ไม่มีความรู้ความเห็นอันใดเกิดขึ้น สมาธิอันนั้นเป็นสมาธิในฌาณ ทางดำเนินของฌาณก็ไปแบบฤาษี ๑ ๒ ๓ ๔ อากาศ (อากาสนัญจายตนะ) วิญญาณ (วิญญาณัญจายตนะ) อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ วิ่งไปตามวิถีแห่งสมาบัติ ๘ ทีนี้ถ้าหากว่าวิถีจิตดวงใดที่สามารถทำสมาธิด้วยวิธีอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว จิตประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา มีการค้นคว้าพิจารณาอารมณ์จิตอยู่ตลอดเวลา จิตดวงนี้ก็เป็นจิตที่ดำเนินไปสู่ทางแห่งวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อจิตยังมีวิตกวิจารอยู่ จิตเดินวิปัสสนา ถ้าจิตหยุดวิตกวิจาร ไปสงบนิ่งเป็นจิตสมถะ 

ทีนี้เมื่อจิตเดินทางวิปัสสนากำหนดรู้สิ่งที่เกิดดับภายในจิตตลอดเวลา เมื่อจิตรู้แจ้งเห็นจริงว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ พิจารณาอนิจจังก็รู้อนิจจัง พิจารณาทุกขัง รู้ทุกขัง พิจารณาอนัตตา รู้อนัตตา ในเมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จิตตัดกระแสไปสงบนิ่ง มีปีติ มีความสุขบังเกิดขึ้น บางทีก็สงบละเอียดลงไปจนวิตกวิจารหาย ปีติสุขหาย แล้วก็ยังเหลือแต่เอกัคคตาและอุเบกขา แล้วก็เข้าๆออกๆอยู่ ประเดี๋ยวก็เข้าไปสู่ความสงบนิ่ง ประเดี๋ยวก็โผล่มารับอารมณ์พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอได้ความแล้วก็วิ่งเข้าไปสู่ความสงบ เมื่อจิตพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ ยังคิดได้อยู่นั่นเป็นภาคปฏิบัติ ถ้าจิตตัดสินลงไปว่านี่คืออนิจจังไม่เที่ยง นั่นเป็นวิปัสสนา แต่จิตกำลังคิดว่านี่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วยความตั้งใจ อันนั้นนั่นเป็นภาคปฏิบัติ (เทปจบ)