หลวงปู่หลวง กตปุญโญ
เทศน์วันที่ ๑๘ พ.ค. ๒๕๓๗
บัดนี้จะได้นำธรรมะคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องการบูชา การบูชานี้มันมีอยู่อามิสบูชา ปฏิบัติบูชา แต่ว่าอามิสบูชากับปฏิบัติบูชานี้ก็เป็นของคู่กันไป หนีจากกันไม่ได้ เหตุนั้นในวันวิสาขบูชาคือวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และวันปรินิพพาน คือแสดงซึ่งความสิ้นสังขารตายไป เหตุนั้นพวกเราทั้งหลายได้แสดงซึ่งความกตัญญูกตเวทิตาธรรม จึงได้นำรูปร่างกายของเรา พากันเสียสละการงานของโลกแล้วมาทำการงานของตนเพื่อเป็นผลนำมาซึ่งความสุข ส่วนการงานของโลกนั้นเป็นการงานที่ไม่แล้ว เป็นการงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนการงานในทางพุทธศาสนานี้เป็นการงานที่สำคัญ และเป็นการงานที่แล้ว เป็นการงานที่มีที่สิ้นสุด
เหตุนั้นพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าหรือผู้รู้ทั้งหลายจึงได้เสียสละรูปร่างกายของเรามาปฏิบัติบูชา ที่พวกเราได้มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสนี้ก็เพราะว่า ได้รู้ ได้เห็น ได้ยินได้ฟังว่า รูปร่างกายของเราทุกคนนี้หาสาระแก่นสารไม่ได้ เกิดมาแล้วก็ต้องแก่เจ็บตายไป ตลอดที่สุดส่วนโภคทรัพย์ก็หาสาระแก่นสารไม่ได้ สมบัติในโลกสุดท้ายก็แตกดับ กลับไปสู่สภาพเดิม ไม่มีอะไรเป็นสมบัติของเราอยู่ในโลกนี้ เป็นของที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้พวกเราพากันนำสิ่งที่ไม่มีสาระนี่แหละ มาทำให้เป็นสาระแก่นสารเกิดขึ้น ที่คำบาลีว่า
กาโย ภิกขะเว อะสาโร สารวะ กาตัพโพ ติ
โภโค ภิกขะเว อะสาโร สารวะ กาตัพโพ ติ
จิตตัง ภิกขะเว อะสารัง สารวะ กาตัพพัน ติ
อย่างนี้เป็นต้น คือรูปร่างกายของเรานี่หาสาระแก่นสารไม่ได้ เกิดมาก็ต้องแก่เจ็บตายไปตามสภาพ พ้นไปไม่ได้ คือเราทุกคนๆ เกิดมาก็ไม่มีอะไร มาแต่ได้แต่หนังหุ้มกระดูกมาด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีอะไรติดมา เงินแม้แต่สตางค์หนึ่งก็ไม่ได้ติดตามตัวมา ฉะนั้นมาก็มาสร้างเอาในโลกนี้ด้วยบุญกุศล ใจที่เรามีนั่นเอง คือใจที่มีกุสลา ธัมมา ในอดีตชาติ กุสลา ธัมมานั้นในอดีตชาติคือมีปัญญา มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในทางพุทธศาสนา แล้วก็พากันสร้างบุญสร้างกุศล ให้ทานรักษาศีลภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
สิ่งเหล่านี้เราก็ได้รูปร่างกายอันนี้มาแล้ว สิ่งที่เมื่อเราได้มาแล้ว เราก็มีความรู้ว่ารูปร่างกายของเรานี้ต้องแตกตายทำลายขันธ์ไปตามสภาพ ไม่อยู่ในบังคับบัญชา เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน บอกไม่ได้ว่าไม่ฟัง จะต้องตายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเรามารู้เห็นเป็นจริงอย่างนั้น จึงเกิดศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส พอใจในการสร้างบารมี เช่นว่าทานบารมี พากันบริจาคทาน ศีลบารมี พากันรักษาศีล ธรรมบารมี พากันศึกษาธรรมะ หรือว่าฟังเทศน์ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นบุญเป็นกุศลภายในจิตใจของตน เพื่อจะได้มีความสุขความเจริญต่อไป เรารู้เห็นอย่างนี้ ฉะนั้นผู้มีปัญญาก็นำรูปร่างกายที่หาสาระแก่นสารไม่ได้นี้ มาสร้างบารมี
แต่ว่าคนมีกุสลา ธัมมา ฉะนั้นในเรื่องกุสลา ธัมมานั้นไม่ใช่ไปสวดในงานศพ ไปสวดในงานศพที่ตายน่ะ คือว่าพวกเราที่พากันมาสวด คือการที่นำรูปร่างกายมาให้ทาน มารักษศีล มาภาวนาฟังเทศน์ฟังธรรม อันนี้เป็นตัวการสวดกุสลา ธัมมา อันนี้เป็นการสร้างบารมี แปลว่าผู้มีปัญญา ผู้ไม่มีปัญญาก็นำรูปร่างกายนี้ไปทำบาปทำกรรม หรือไปเที่ยวอย่างอื่น ทำการงานอย่างอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์ของตน อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อเรามองเห็นสภาพความเป็นจริงอย่างนั้น จึงได้มีความเลื่อมใสใจจริงขึ้นมา จึงได้เสียสละ ยกตัวอย่างเช่นว่ามานั่งอยู่ในสถานที่นี้ อยู่กับดินกินกับหญ้า เราก็เสียสละ นี่เป็นตัวอย่างของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้นส่วนโภคทรัพย์ก็หาสาระแก่นสารไม่ได้ ได้มาเท่าไรก็จ่ายหมดไปเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น สุดท้ายสมบัติที่เราได้มา มากินมาใช้ก็หมดไปๆ สุดท้ายก็ไปหมดแค่กองไฟ เผาเป็นเถ้า เพราะมันมีอะไรเป็นสมบัติของเราอย่างนี้เป็นต้น เมื่อเรามารู้เห็นเป็นจริงอย่างนี้ เราจึงได้มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส ตั้งอกตั้งใจสร้างบารมี ยินดีพอใจในการให้ทานรักษาศีล เจริญกรรมฐานภาวนาหรือว่าฟังอุบายธรรมะ
ในกาลในเวลาที่ฟังธรรมะนี้ส่วนธรรมนั้นอยู่ที่ไหน บางคนก็อาจจะไม่รู้ว่าตัวธรรมะอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น ส่วนตัวธรรมนั้นก็คือลมนั่นเอง เพราะลมนี่แหละเป็นตัวธรรม เป็นพ่อของธรรม เป็นแม่ของธรรม เป็นที่อยู่ของธรรม คือลมนั่นแหละเป็นธรรม ธรรมนั่นแหละ ฉะนั้นในทางพุทธศาสนา เพิ่นสมมุติขึ้นมาว่าพระเจ้าองค์ใหญ่ พระเจ้าองค์ใหญ่ในโลกคือลม เพิ่นจึงว่าลมนั่นแหละเป็นพระเจ้าใหญ่ พระอานาปา ว่าอย่างนี้ พวกเราทุกคนๆมีลมหายใจเข้าออกอยู่นี้ จึงไปได้มาได้ ทำอะไรก็ได้ เมื่อลมไม่มีแล้วก็หมดหนทาง
ฉะนั้นผู้มีปัญญาคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เพิ่นมีปัญญา จึงได้มาทำลมให้เป็นบุญเป็นกุศลเกิดขึ้น อย่างที่โยมได้สวดกล่าวพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อิติปิโส ภควา สวากขาโต สุปฏิปันโน หรือว่ากล่าวพูดในทางที่ดี อย่างนี้เป็นต้น หรือว่ากล่าวพูดในทางที่ดี อย่างนี้เป็นต้น กล่าวพูดในวาจาที่สามัคคีกัน พูดกล่าวสมานไมตรี หรือพูดกล่าวในทางที่ดี มีความสามัคคีซึ่งกันและกันอย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็แปลว่าผู้มีปัญญา สิ่งที่หาสาระแก่นสารไม่ได้ แล้วทำให้เป็นสาระขึ้น หรือว่าลมนั้นก็เป็นพระเจ้าใหญ่
ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นต้น พระองค์ก็มาตั้งอยู่ในเอาพระอานาปานั่นแหละเป็นหลัก คือลมเข้า พุทโธก็รู้ ลมออก พุทโธก็รู้ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อเรามาตั้งอยู่ในพุทโธมั่นแน่วแน่ จิตสงบเป็นหนึ่งแล้ว ความสว่างเกิดขึ้น ก็รู้จัก อันนี้ทางบาปอันนี้ทางบุญ อันนี้ทางดีอันนี้ทางชั่ว อย่างนี้เป็นต้น เมื่อใจของเรามันสงบ เกิดวิชาปัญญาขึ้นในใจของเราแล้ว เราก็เลือกหนทางที่จะไป เพราะการทางไปนั้นก็มีหลายทาง มีทั้งอบายภูมิ ๔ หรือว่าสวรรค์หก มนุษย์เป็น ๑๑ หรือว่าเป็นทางห้าสาย ที่เราจะต้องไป หรือว่าทาง ๗ สายที่เราจะต้องไป รวมความก็มีคือว่า ทางดีและทางไม่ดีเท่านั้นเอง
ทางดีคืออย่างใด ทางไม่ดีคืออย่างใดเราก็รู้ แต่ว่าถ้าเราไม่ภาวนา ไม่ทำใจให้สงบ แล้วมันก็จะไม่รู้ คือใจของเราไม่ตั้ง ก็มองไม่เห็นฉันใด เปรียบเหมือนน้ำที่เรามาอยู่ในอ่าง อยู่ในไห อยู่ในโอ่งนั้นน่ะ ถ้าน้ำมันยังไหวตัวอยู่ เราก็มองหน้าของเราไม่เห็น มองตัวของเราไม่เห็น ถ้าทำอย่างไรน้ำมันนิ่ง น้ำมันนิ่ง เราก็มองเห็นหน้าตาของเราเป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็มองเห็นอีก สัตว์โลก นกหนูปูปีก บินมาท้องฟ้าก็มองเห็น อย่างนี้เป็นต้น เพราะใจของเรามันตั้ง ถ้าใจไม่ตั้งแล้ว มันก็ไม่เห็น ฉันใดก็ตาม ทุกอย่างถ้าเราไม่ตั้ง มันก็เป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาไม่ได้
ฉะนั้นในทางโลกก็ดี ทางธรรมก็ดี ต้องอาศัยความหลักฐานอันตั้งทั้งสี่ คือว่าทำอะไรต้องมีหลักฐานสี่อย่าง สี่อย่าง คือว่าเราทุกคนก็มาอาศัยธาตุสี่ เป็นที่อยู่ที่อาศัย บ้านของเราเรือนของเราก็ต้องมีเสาสี่เสา เตียงตั่งก็มีเสาสีเสา มันจึงมั่นคงได้ฉันใด ฉะนั้นใจของเราก็ต้องมาตั้งอยู่ในหลักคุณธรรมของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ในพระพุทธ ตั้งอยู่ในพระธรรม ตั้งอยู่ในพระสงฆ์ ตั้งใจๆ ฉะนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ก็คือใจของเรานั่นแหละ
ฉะนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็อยู่ในตัวของเราทุกคน พุทโธ พุทธะ ก็คือรู้ แต่ว่าความรู้ของเรานั้นมันก็รู้ไปข้างนอก รู้เรื่องคนนั้นคนนี้ อย่างนี้เป็นต้น รู้ไปเรื่องบาป รู้ไปสิ่งต่างๆภายนอก อย่างนี้มันก็ลืมๆตัว ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงให้มารู้ รู้ตัว คือมารู้ลมนั่นแหละ เพราะลมคือฐานที่ตั้ง ลมเข้าก็ให้รู้ ลมออกก็ให้รู้ ทำใจให้รู้มั่นอยู่ในลมนั้นเหมือนพระพุทธเจ้า พระองค์เจริญอานาปาสติกรรมฐาน คือจิตตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เกิดญาณเกิดฌานขึ้น รวมถึง อาสวขยักญาณ ประหัตถ์ประหารอาสวกิเลสให้หมดไปจนได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น ก็เพราะอาศัยลมเป็นหลักเป็นฐาน
แต่ว่าลมนั้นก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่ลม ลมมันไม่เที่ยง บอกไม่ได้ว่าไม่ฟัง เข้าแล้วไม่ออกก็ได้ ออกแล้วไม่เข้าก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น ลมไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ลม แต่เราทุกคนมาอาศัยลม นี่สร้างบารมี หรือว่าสร้างความดี แต่ว่าถ้าเราใช้ลมไปในทางที่ไม่ดี ก็เป็นบาป อยากเอาลมไปเป่า เอาลมไปด่าคนนั้น ไปด่าคนนี้ อย่างนี้เป็นต้น ก็ใช้ไปในทางที่ไม่ดีก็เป็นบาปเป็นกรรม ถ้าใช้ลมในทางที่เป็นบุญเป็นกุศล เช่นว่า ใช้ลมปากของเรามากล่าวในเรื่องศีลเรื่องธรรม กล่าวพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อิติปิโส ภควา หรือกล่าวเรื่องเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขความดีต่างๆอย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นผลนำมาซึ่งความสุขความเจริญได้ อันนี้ก็ต้องอาศัยลม
ฉะนั้นจึงว่า ธรรมนั้นก็คือลม ลมก็คือธรรม ฉะนั้นลมนั้นน่ะเป็นพ่อของธรรม เป็นแม่ของธรรม เป็นที่เกิดของธรรม เป็นที่อยู่ของธรรม ผู้มีปัญญาจึงได้มาทำลมให้เป็นบุญเกิดขึ้น ดั่งที่พวกเราทั้งหลายได้พากันเสียสละ รูปร่างกายของเราก็เป็นลมนั่นแหละ พระพุทธเจ้าว่า รูปา ลม ท่านว่าอย่างนี้ ในอภิธรรมที่พวกเราไปฟังในเวลางานศพน่ะ เพิ่นสวด เพิ่นว่า รูปาปรมฺมณํ วา สทฺทารมฺมณํ วา คนฺธารมฺมณํ วา รสารมฺมณํ วา โผฏฐพฺพารมฺมณํ วา เพิ่นว่า รูปา ลม ท่านว่าอย่างนี้ รูปร่างกายก็เป็นลมชนิดหนึ่ง เป็นรูปา ลม เสียงก็เป็นลม ฉะนั้นลมอันนี้น่ะ รูปเสียงกลิ่นรสท่านว่าอารมณ์หรือว่าสิ่งเหล่านี้ สัตว์ทั้งหลายก็มาหลงอยู่ในอารมณ์ หลงสมบัติของเขา
ส่วนมากคนเรา ส่วนมากนั้นงานของตนจริงๆนั้นไม่ค่อยได้ทำ ทำแต่งานของโลก ทำแต่ของที่ตายแล้วก็ทิ้ง เอาไปไม่ได้ งานของตนจริงๆน่ะไม่ค่อยได้ทำ ทำแต่งานคนอื่น ทำแต่งานให้เขา ให้เขาคืออย่างใด คือรูปร่างกายนี้ก็เป็นสมบัติของเขา เป็นสมบัติของพญามัจจุราช เกิดมาต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่เราก็ไม่อยากตาย ไม่อยากตายอย่างใด เพราะเราทุกคนๆ มาอยู่ในของตาย มาอยู่ที่ของไม่เที่ยง
ของไม่เที่ยงคืออะไร ปลาทู ปูเค็ม ขนม ต้มไก่นั้นไม่เที่ยงทั้งนั้นแหละเป็นของปฏิกูลสูญเปล่าทั้งนั้น รูปร่างกายของเราก็อาศัยพวกนั้นเป็นที่อยู่ ของตายนั่นแหละ กินของตาย เราทุกคนอยู่เพราะของตาย กินของตาย อาศัยของตาย คือรูปร่างกายของเรานี้ ฉะนั้นข้าวนั้นก็ว่าข้าวสุก ที่จริงก็ข้าวตายนั่นแหละ ฉะนั้นรูปร่างกายของเราทุกคนๆ อยู่เพราะของตาย อยู่ด้วยของไม่เที่ยง อยู่ด้วยของปฏิกูลสูญเปล่า
ฉะนั้นเมื่อเรามาฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า จนมีสัญญาจดจำนำมาพิจารณาแล้ว ก็จะรู้เห็น พุทโธ๊ พุทโธเกิดขึ้นน่ะ มันจริงอย่างนี้ เมื่อพุทโธผู้รู้ ผู้แจ้ง ผู้สว่าง รู้ขึ้นมาในใจ พุทโธคือผู้รู้ ผู้ละ ผู้ปล่อย ผู้วาง พุทโธคือผู้รู้จักบาปรู้จักบุญ รู้จักคุณรู้จักโทษ รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์ของตนและคนอื่น อันใดประโยชน์ของตน อันใดประโยชน์คนอื่น อย่างนี้เป็นต้น เราก็ต้องรู้ ประโยชน์คนอื่นทั้งนั้นแหละ ที่เราทำเนี่ย รูปร่างกายของเราแสนทุกข์แสนยาก หามาเลี้ยงมัน แสนทุกข์แสนยากนี่ มาเลี้ยงให้มันมาอยู่ แต่มันก็ไม่อยู่กับเรา มันก็ดิ้น เดี๋ยวก็แก่อย่างนี้
ยกตัวอย่างเช่นว่า ผู้ที่นิมนต์หลวงตามาเทศน์เนี่ยน่ะ คุณชาญณรงค์ มาเทศน์สุดท้ายก็มาเจ็บตาซะ เจาะตาซะ ไปเจาะตา มาไม่ได้ มันแสดงความไม่เที่ยง มันแสดงความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งหาสาระแก่นสารไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเรามารู้เห็นเป็นจริงไปในจิตใจอย่างนี้ ก็จะเกิดนิพพิททา ความเบื่อหน่าย คลายจากความยึดความถือในสมบัติคือรูปร่างกายของเรานี้ เพราะรูปร่างกายของเรานี้เป็นสมบัติขี้ทุกข์ขี้ยากก็ว่าได้ ทุกข์ยากอย่างใด กินก็เป็นทุกข์ บ่ได้กินก็เป็นทุกข์ มีก็เป็นทุกข์ ไม่มีก็เป็นทุกข์ บัดนี้กินแล้ว บ่ได้ถ่ายก็เป็นทุกข์ ถ่ายออกไปแล้วบ่ได้กินก็เป็นทุกข์ มีแต่เรื่องทุกข์ ฉะนั้นจึงว่ารูปร่างกายของเราทุกคนนี่เป็นสมบัติขี้ทุกข์ขี้ยากก็ว่าได้ แสนทุกข์แสนยาก รันทดพดแตก หาบไปขายที่นั่นที่นี่มาเลี้ยงรูปร่างกาย ยินดีให้มันอยู่ ชีวิตไปวันหนึ่งๆ
บางคนนั้นทางเมืองเหนือนะ ทางเมืองเหนือเค้าเห่อกัน สร้างบ้านแข่งกัน เอานาไปขายมาสร้างบ้านหลังใหญ่โต หาว่าหรูหรา มาสร้างเสร็จแล้ว มาอยู่ไม่ถึงปี สองสามเดือน ตายไปเลย อย่างนี้เป็นต้น แทนที่จะว่า โหย แสนทุกข์แสนยาก สร้างบ้านกว่าจะได้อยู่ดีๆ แทนที่จะมีชีวิตอยู่สี่ปีห้าปี ตายไปเลย มันไม่ยินดีหรอก (หัวเราะ) มันร่างกายของเรามันไม่ยินดี ให้กินดีมันก็ไม่ยินดี ให้นอนดีก็ไม่ยินดี กินดีนอนดีขนาดไหนมันก็ไม่ยินดี มีแต่ทุกข์เกิดขึ้นมา เดี๋ยวก็เจ็บนั่น เดี๋ยวก็เป็นนี่ แสดงทุกอย่างลำบากตรากตรำอยู่นั่นแหละ
เหตุนั้นทางพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านว่า ก้อนขี้ทุกข์ขี้ยาก ท่านว่าอย่างนี้ แต่ว่าผู้มีปัญญานั้นก็มาทำก้อนขี้ทุกข์ขี้ยากเนี่ยแหละ ให้เป็นบุญเป็นกุศลเกิดขึ้น คือทำอย่างไรจะมีความสุข คือใจของเรานั้นน่ะ มาตั้งเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจของเรา ภาวนาพุทโธๆ เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องอดีตอนาคต ละหมด กำหนดรู้ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้แหละ ลมเข้าพุทโธก็รู้ ลมออกพุทโธก็รู้ สิ่งต่างๆภายนอกออกจากตัวของเรา ละหมด กำหนดใจให้ตั้งอยู่ในปัจจุบันธรรมอย่างเดียว มันแน่วแน่ พุทโธ๊ พุทโธอยู่ ใจอยู่ในลมตั้งมั่น เป็นสุข
ท่านว่า เอกัคคตารมณ์ เอกัคคตาจิต จิตเป็นหนึ่งมั่นอยู่ในกรรมฐาน ในฐานนั่นแหละ มันเย็นสบายเป็นสุข นอกจากนั้นมีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้น ออกมาก็เป็นทุกข์แล้ว เมื่อเวลาเรามานั่ง พุทโธๆ ทำใจปล่อยวางหมด ไม่ไปยึดไปถือสิ่งต่างๆ ดีชั่วไม่เอาทั้งนั้น ปล่อยวางหมดทุกอย่าง ทำใจเป็นกลางวางเฉย มั่นอยู่ในพุทโธๆ แน่วแน่ มันเย็นสบาย มันเป็นสุข อย่างนี้เป็นต้น เนี่ยความสุขมันเกิดอยู่นี่ ความสุขไม่ใช่เกิดที่มีสมบัติ สมบัติก็มีกองท่วมหัวถึงฟ้าก็มีแต่ความทุกข์เดือดร้อน
ยกตัวอย่างเช่นว่า พ่อเศรษฐี แม่เศรษฐี มีสตางค์เค้าก็ปล่อยคอยจับๆออกไปเป็นค่าไถ่ หลบหลีกปลีกตัวสุดท้าย ก็เดือดร้อนวุ่นวาย เพิ่นว่ามีก็เป็นทุกข์ ไม่มีก็เป็นทุกข์ ได้กินก็เป็นทุกข์ ไม่ได้กินก็เป็นทุกข์ กินแล้วก็เป็นทุกข์อีก กินแล้วบ่ได้ถ่ายก็เป็นทุกข์ ถ่ายแล้วบ่ได้กินก็เป็นทุกข์ มีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้น หาอะไรเที่ยงแท้ ความสุขเที่ยงแท้ไม่มี ฉะนั้นไม่มั่นคงถาวร
เหตุนั้นองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามองเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแล้ว ทำอย่างไรบ่เนี่ย เราต้องทำใจของเรามันเที่ยง ทำอย่างไรให้มันเที่ยง คือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เนี่ย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่เกิดขึ้นแล้วไม่ตายเพิ่นว่า เกิดมีมาแล้วพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์น่ะ สองพันกว่าปีแล้ว พุทโธ ธัมโม สังโฆ ยังมีอยู่ เกิดขึ้นแล้วไม่ตาย เพิ่นว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ เกิดขึ้นแล้วไม่ตาย บัดนี้ผู้ใดได้ธรรม ได้พระพุทธ ได้พระธรรม ได้พระสงฆ์แล้ว ตายแล้วไม่เกิด ได้พุทโธก็ได้อย่างไร คือรู้ได้ รู้ละ รู้ปล่อย รู้วาง พุทโธคือผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้ละได้แล้ว ละความโลภ ความโกรธ ความหลง อวิชชาตัณหาหมดแล้ว นี่เพิ่นว่าได้พุทโธแล้ว ตายแล้วไม่เกิดอีกแล้ว
ทีนี้เราทุกคนนั้น มันไม่ตั้งอยู่ในศีล คำว่าศีล มันก็มีสองอย่าง คือศีลสิกขาอย่างหนึ่ง ศีล สมาธิ ปัญญาอย่างหนึ่ง ศีลสิกขานั้น เราก็พอละกันได้บางคน แต่ว่าศีล สมาธิ ปัญญานั้นทำได้ทุกเวลา ศีล สมาธิ ปัญญานั้นคือทำได้อย่างไร ครั้งพระพุทธเจ้านั้น เพิ่นทำศีล สมาธิ ปัญญาในเวลาฟัง คือมั่นอยู่ในศีล ก็คือมีสตินั่นเอง มีสติรู้อยู่ในตัวของเรา เช่นว่ายึดเอาลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ นี่เป็นตัวศีล เมื่อจิตมั่นอยู่ในลมเข้าลมออกก็เป็นตัวสมาธิ เมื่อรู้ว่าลมเข้าลมออกก็ไม่เที่ยง เข้าแล้วไม่ออกก็ตาย ออกแล้วไม่เข้าก็ลมมันบอกไม่ได้ มันไม่เที่ยง อย่างนี้เป็นต้น เราก็มีปัญญาเกิดขึ้น เราก็จะปล่อยลมนั้นได้ ลมไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ลม เรามาอาศัยลมต่างหากชั่วครู่ชั่วคราวอย่างนี้เป็นต้น เมื่อสิ่งนั้นไม่เที่ยง เราก็เอาสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล สมาธิ ปัญญานี่แหละมั่นอยู่ในจิตใจของเรา
ฉะนั้นประเทศไทยของพวกเรานั้นมีบุญมาก มีวาสนาดีมาก เพราะว่าประเทศนอกประเทศนาแผ่นดินไหวกัน ตายวุ่นวะวุ่นวายหลายร้อยหลายพัน ประเทศไทยนั้นแผ่นดินไหวก็ไหวนิดๆหน่อยๆ ไม่เป็นไร เพราะอะไร เพราะบารมี มีในหลวงเป็นต้น ในหลวงภูมิพลอดุลยเดช เพราะฉะนั้นในยุคนี้พวกเราทั้งหลายได้พบนักปราชญ์สายครูบาอาจารย์คือรัชกาลที่ ๔ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นตัวอย่างเป็นผู้นำทางประพฤติปฏิบัติในสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน จนมีฌานมีญาณรู้แจ้งแสงสว่างขึ้น เป็นผู้มั่นในพุทธศาสนาสืบมาเป็นลำดับๆ
ฉะนั้นตลอดที่สุดต่อมาก็ทางภาคอีสานก็มีเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ หรือว่าหลวงตาจันทร์ คนเมืองอุบลได้มาพบปะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือรัชกาลที่ ๔ เนี่ยแหละ เพิ่นชี้แจงแสดงขึ้นมา แปลออกมา ความหมายในการประพฤติปฏิบัติก็เกิดศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใส จึงได้มาตั้งใจปฏิบัติตามหลักของท่าน แล้วก็มาสมมุติตั้งขึ้นเป็นคณะปฏิบัติ คือยึดเอาคำสอนพระพุทธเจ้าเป็นหลักไว้
สมมุติว่าธรรมยุต ที่จริงธรรมยุตนั้นคือพระพุทธเจ้าเป็นต้นธรรมยุต เป็นพ่อธรรมยุต เป็นแม่ธรรมยุตนะ ยุติอย่างไร พระพุทธเจ้ายุติแล้ว ยุติได้แล้วจากความโลภ ยุติแล้วจากความโกรธ ยุติแล้วจากการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ยุติแล้วในการเสพกาม ยุติแล้วในการห่วงอาลัยทุกอย่าง ยุติหมด ไม่เอา ท่านยุติได้แล้ว ละได้แล้ว อย่างนี้ได้แล้ว อย่างนี้เป็นต้น จนไม่เอาอะไรซักอย่าง หนีไปอยู่ ไปอยู่กับดินกินกับหญ้า เอาท้องฟ้าเป็นหลังคา อยู่ในป่าในเขา เจริญกรรมฐานภาวนา จิตมันแน่วแน่เย็นสบายอยู่ในพื้นต้นไม้ก็เปล่งวาจาว่า สุขหนอๆๆๆ อย่างนี้เป็นต้น จนพระสงฆ์ในครั้งนั้นกล่าวว่าพระพุทธเจ้าห่วงนางพิมพา ราหุล ปราสาทราชวัง พระสงฆ์ก็สนทนากันจอแจๆ อยู่ไกลๆโน่นน่ะ อย่างเมืองเชียงใหม่เป็นต้นนะ
แต่พระพุทธเจ้าเพิ่นหูดีฟังได้ยิน แล้วพระองค์ก็ไปเลย ไปแก้ปัญหาเขาเลย “ไม่ใช่อย่างนั้นๆ เราอยู่เป็นพระราชามหากษัตริย์นั้นน่ะ มีแต่ทุกข์ มีแต่เดือดร้อน ขัดข้อง หาความสุขความสบายได้ยาก เราออกมาจากปราสาทราชวัง ละปราสาทราชวังแล้ว ออกมาตั้งใจเจริญกรรมฐานภาวนาอยู่ในป่า อยู่กับดินกินกับหญ้า เอาท้องฟ้าเป็นหลังคาเนี่ยแหละ ภาวนาอยู่พื้นต้นไม้ ใจมันปล่อยวางหมด ใจไม่มี ใจไม่โลภ ใจไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง ไม่มีความรัก ไม่มีความชัง ไม่มีความห่วงความอาลัย ใจเป็นกลางวางเฉย เย็นสบาย จึงได้เปล่งวาจาว่า พุทโธๆ สุขหนอๆ” นี่เป็นต้น พระสงฆ์เมื่อได้ทราบความก็สาธุ ขออนุโมทนาอย่างนี้เป็นต้น
ฉะนั้นความสุขไม่ใช่อยู่ที่มีเงินมีทองมีปราสาทราชวังหรอก มันอยู่ที่ใจ ใจอยู่ในพุทโธ ใจอยู่ในธัมโม ใจอยู่ในสังโฆ ใจมั่นอยู่ในศีล ใจมั่นอยู่ในธรรม ใจหนักแน่น ฉะนั้นประเทศไทยของเราก็เลยไม่ถูก…ไม่ถูกพายุหรือแผ่นดินไหว แผ่นดินน่ะมันหนักแน่นนะ แต่ว่ามันก็ไหวคนตายได้ แต่เมืองไทยของเราด้วยบุญบารมีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และคุณครูบาอาจารย์ พระราชามหากษัตริย์เป็นผู้มั่นอยู่ในพุทธศาสนา แผ่นดินไหวก็ไม่เป็นไร ไม่ตาย น้ำก็ท่วมนิดๆหน่อยอย่างนี้เป็นต้น ด้วยบุญบารมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยความมั่นคงคือพวกเราทั้งหลาย
ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายนับว่ามีโชคดี มีลาภดี มีวาสนาดี เกิดมาแล้วได้มาพบปะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้มาพบปะธรรมะคำสอนของครูบาอาจารย์ชี้ช่องบอกทาง ทางนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ทำอย่างนี้ มีรัชกาลที่ ๔ เป็นต้น เป็นตัวนำในการเจริญกรรมฐานภาวนา ต่อมาก็มีเจ้าคุณอุบาลีไปเผยแผ่ในทางพุทธศาสนา ไปตั้งต้นที่เมืองอุบล วัดสุปัฏน์ ฉะนั้นภาคอีสานจึงมีครูบาอาจารย์มาก มีครูบาอาจารย์มาก มีหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ต่างๆ จนตั้งอกตั้งใจ เจ้าคุณอุบาลีเป็นต้น ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติบูชาละกิเลสได้ ตายแล้วกระดูกเป็นแก้ว กระดูกเป็นเพชร อย่างนี้เป็นต้น เสด็จไปมาได้ อันนี้ก็เป็นหลักฐาน กระดูกเป็นแก้ว ท่านอาจารย์จวน กระดูกเป็นแก้วทั้งเจ็ดสี น่าอัศจรรย์ กระดูกใครไปย้อมสีให้มัน ใครไปย้อมให้มัน มันเป็นขึ้นมาตั้งเจ็ดสี สีเหลืองก็มี สีชมพู สีแดงก็มี สีทองคำก็มีอย่างนี้เป็นต้น
เนี่ยฉะนั้นแสดงว่าครูบาอาจารย์รักลูกรักหลาน รักลูก ลูกไปในไม่ดีก็สั่งสอน ลูกที่ทำไม่ดีก็รักห่วงอาลัยให้ลูกมีการทำคุณงามความดี ในทางพุทธศาสนาจึงว่าพ่อแม่เป็นเทวดาของลูก ฉะนั้นเมื่อว่าลูกไปเหนือไปใต้ ไปใกล้ไปไกล ว่าขอให้ลูกข้าพเจ้ามีความปลอดภัยเทอญ ได้ข่าวว่าลูกอยู่ดีกินดี สาธุ เย็นใจ อย่างนี้เป็นต้น เนี่ยพ่อแม่เปรียบเหมือนเทวดาของลูก ฉะนั้นบุญกุศลนั้นเปรียบเหมือนพ่อแม่ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน เมื่อได้รับข่าวว่าลูกศิษย์คนนั้นเป็นคนทำดีมีศีลมีธรรม ทำตามครูบอกครูสอนแล้วเป็นลูกศิษย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ก็ความปีติยินดีพอใจ
ยกตัวอย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา การปฏิบัติบูชานี่พวกเราทั้งหลาย พากันรักษาศีล ให้ทาน รักษาศีลภาวนานี้ พระองค์พระพุทธเจ้าไม่ได้กับพวกเราเท่าเมล็ดงา แต่เหตุใดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีความพอใจ พอใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างนี้เป็นต้น เพราะเหตุใด เพราะว่าพระองค์เสียสละ การปรารถนาเป็นพุทธภูมินั่นน่ะเสียสละ ปฏิบัติการให้ทาน รักษาศีล เสียสละชีวิต ฉะนั้นในคำพระสูตรว่า สละลูกตาเป็นบูชา เท่ากับดาวในท้องฟ้า ตัดหัว ตัดเศียรเป็นบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่ากับภูเขาอยู่ในโลก กว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าน่ะแสนทุกข์แสนยาก ทนลำบากตรากตรำ จนเราทำไม่ได้ มนุษย์สามัญธรรมดาทำไม่ได้ แต่ผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าน่ะ ทำได้ เสียสละได้ เพื่ออะไร เพื่อต้องการปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้ามีคุณมากจนเรานับไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น อัปปะมาโณพุทโธ อัปปะมาโณธัมโม อัปปะมาโณสังโฆ พระพุทธเจ้ามีคุณหาประมาณไม่ได้ พระธรรมหาคุณประมาณไม่ได้ พระสงฆ์หาคุณประมาณไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น อันนั้นจึงว่าเหตุนั้นพวกเราทั้งหลายทุกคนเป็นหนี้พระพุทธเจ้าทุกคน มีหลวงตาเป็นต้น หลวงตานี่ก็เป็นหนี้พระพุทธเจ้านะ เป็นหนี้บุญคุณของพระพุทธเจ้าทุกคนที่มานั่งอยู่นี่น่ะ
เป็นหนี้อย่างไร เราบ่ได้ไปยืมเงินพระพุทธเจ้ารึ จะเป็นหนี้น่ะ เป็นหนี้อย่างนี้ เป็นหนี้คือพระองค์สร้างบารมีปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์พ้นภัย สร้างบารมีนั้นเพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วให้ไปพระนิพพานพ้นทุกข์ แต่เราก็ยังไปไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่ายังมีบุญคุณ เป็นหนี้บุญคุณของพระพุทธเจ้า คนปรารถนาสร้างบารมีมาแสนทุกข์แสนยาก แต่ว่าเราก็ยังไปไม่ได้ ปรารถนาให้สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายไปพระนิพพานพ้นทุกข์ ยังไปไม่ได้ ยังคาอยู่ (หัวเราะ) ยังคาอยู่เหมือนหลวงตาเนี่ยแหละ คาอยู่ในเมืองเกาะคา อำเภอเกาะคาเป็นต้น มาจากเมืองสกลมาอยู่เมืองเกาะคา อำเภอเกาะคาอยู่นั่น คาหยัง คาโลภ คาโกรธ คาหลง คารัก คาชัง คาห่วง คาอาลัย คาลูก คากันอยู่นี่แหละ
ฉะนั้นก็ติดอยู่ในเมืองเกาะคาทุกคนๆนี่แหละ ทางภาคอีสานก็คาอะไร คาข้าน้อย ไปบ่ได้ ภาคเหนือคาอะไร คาข้าเจ้า ไปบ่ได้ ภาคกลางคาอะไร คาดิฉัน ไปไม่ได้ ดิฉันคา คาอะไร มันก็คาลูก คาเสียง คาลูก คาผัว คาห่วง คาอาลัย คาโลภ คาโกรธ คาหลง คารัก คาซัง คาลูก คาผัว คาเมีย เยอะแยะ ไปก็ได้คากันไปฆ่ากันมา ก็เลยตีกันฆ่ากันวุ่นวาย นี่เพราะความคา ฉะนั้นเมื่อพวกเราทั้งหลายรู้ว่าเจ้าของคา เจ้าของติดแล้ว ก็ต้องหายาแก้ เหมือนเราเจ็บท้อง ก็หายาเจ็บท้องมากินมาแก้ เวลาปวดหัวก็เอายาปวดหัวมาแก้ คือคำสอนพระพุทธเจ้าน่ะเป็นยาแก้
แก้ความโลภ ความโกรธ ความหลง แก้ความโลภด้วยการให้ทาน แก้ความยึดความถือความพยาบาทอาฆาตด้วยการรักษาศีล แก้ความหลงด้วยการเจริญกรรมฐานภาวนา นี่แก้อย่างนี้ ฉะนั้นถ้าเราไม่แก้ มันก็แย่อยู่นั่น ตายไปก็มาเกิดอีก มาแก่อีก มาเจ็บอีก มาตายอีก มาทนทุกข์อีก ไม่แล้วซักทีอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อเราไม่รู้ เราก็แก้ไม่ได้ ฉะนั้นทางพุทธศาสนาถึงสอนให้เรารู้ ให้รู้ว่าเราแก้ที่ไหน เราเจ็บที่ไหน เราเป็นที่ไหน เหมือนหมอนั่นแหละ เมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วย หมอมาถามเราเจ็บที่ไหน เป็นที่ไหน อย่างนี้เป็นต้น ก็มาถามเรานี่แหละ แล้วก็เอายามาแก้ให้ ฉันใดก็เหมือนกัน
เมื่อเราได้ยินธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว ว่ามาแก้ ยาแก้ขนานหนึ่งคือว่ายาแก้โรคคืออะไร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเองเป็นยาแก้ ที่มันแก้ได้ ยาขนานนี้แหละมันแก้ความโลภได้ แก้ความโกรธได้ แก้ความหลงได้ แก้ความรัก ความชัง ความห่วง ความอาลัยได้ แก้ว่ามันไม่เที่ยง รูปร่างกายมันไม่เที่ยง เกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บ เป็นอนัตตาไม่ใช่ตน แก้ด้วยความเป็นทุกข์ เกิดมาก็เป็นทุกข์อย่างนี้แหละ เกิดมาก็ทุกข์อย่างนี้แหละ มาร้อนอย่างนี้ มาหนาวอย่างนี้ มาทุกข์อย่างนี้แหละ ยกตัวอย่างเช่นว่า มาก็ร้อน เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็หนาว ทุกข์อยู่เนี่ย มาทนทุกข์เวทนา หลงกินหลงอยู่ในโลกไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้เป็นต้น คืออนัตตาไม่ใช่ตน
เมื่อเรามาพิจารณารูปร่างกายของเรา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตน เป็นเพียงสภาวะธาตุ สภาวะธรรม คือดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมกันอยู่ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น สุดท้ายก็แตกดับกลับไปเป็นผี ตายแล้วก็ไปเผาๆเป็นขี้เถ้า หาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อเรามารู้แจ้งเห็นจริง พิจารณาเข้ามาอย่างนี้ อันแท้จริงแล้วมันก็จะเกิดนิพพิททา ความเบื่อหน่าย คลายกำหนด ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง อวิชชา ตัณหา ออกจากใจได้ มันก็เป็นสุขหละ สุคโตหละบ่นี้ อยู่ก็เป็นสุข ไปก็เป็นสุข เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา เพิ่นได้ความสุขแล้ว ไปอยู่ในต้นพื้นต้นไม้ ก็เปล่งวาจาว่า สุขหนอๆๆ อย่างนี้เป็นต้น
อันนี้เพราะมันความสุขมันไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ มันอยู่ที่ใจของเราทุกคนนั่นเอง ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง ใจมีกิเลสนั่นเอง มีเหตุให้เกิดซึ่งความทุกข์ ฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้พวกเราพากันเสียสละ เสียสละอย่างนี้เป็นต้น รู้ว่าแก้นั่นแหละอย่างที่กล่าวนั่นแหละ แก้ความโลภด้วยการให้ แก้ความโกรธความหลงด้วยการมารักษาศีล แก้ความหลงว่าตน ว่าตัว ว่าเรา ด้วยการมาภาวนา พิจารณารูปร่างกายสังขารของเรา กว้างซอกยาววาหนาคืบนี่
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หาแก่นสารไม่ได้ เรามากำหนดรู้อยู่เนี่ย กำหนดรู้ดูอย่างเนี้ย แม้เพียงห้านาทีสิบนาที ก็แปลว่าบุคคลผู้นั้นใจมันจะหดเข้ามา ตั้งเป็นสมาธิขึ้นมา เย็นขึ้นมาได้ ที่ใจว่าเป็นตน เป็นตัว เป็นเรา เป็นเขานั่นเอง เป็นมิจฉาทิฐิ ใจเป็นมิจฉาทิฐิ ถ้าใจเป็นสัมมาทิฐิแล้วมันก็มีความสุขสบาย ปล่อยวางได้
ฉะนั้นในโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือในวันนี้เป็นวันพระพุทธเจ้าที่เราจะทำวันวิสาขบูชา คือพระพุทธเจ้าดับได้แล้ว นิพพานแปลว่าความดับ พระองค์ดับได้แล้วซึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลง อวิชชา ตัณหา ดับหมดแล้ว ท่านพ้นทุกข์ไปแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายเมื่อเรามารู้หลักธรรมคำสอนแล้วก็พากันเสียสละมาปฏิบัติบูชา การให้ทานรักษาศีล อันนี้แหละเป็นการปฏิบัติบูชาอย่างยิ่ง
การอามิสบูชานั้นประมาณมีคุณค่าน้อยเท่านั้น อามิสบูชามีประมาณเหมือนมีห้ากิโล อย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าการปฏิบัติบูชานั่นถึงร้อยกิโล หรือว่าพันกิโล อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นคุณค่าในการปฏิบัติบูชานี้จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งความพ้นทุกข์ไปได้ ฉะนั้นอุบายธรรมะแนวทางปฏิบัติแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือคำสอนของครูบาอาจารย์มาเล่าสู่ฟังในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา