หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
ลำดับต่อไปจะได้บรรยายธรรมะ พอเป็นเครื่องประคับประคองใจของเราให้เข้ามาสู่ในแนวของธรรมะ ตามธรรมดาใจของเราใจมันไม่ค่อยเข้าอยู่ในแนวของธรรมะ มันวอกแวกเหมือนอย่างลิง วอกแวกคอกหน้าคอกหลัง ไม่เป็นอันน่าดู เหมือนใจเราก็เป็นอย่างนั้น ความขี้เกียจมั่ง ความมักง่ายมั่ง ความไม่มีมานะอุตสาหะต่างๆนานา คิดหลอกตัวเอง ตามใจตัวเอง เรียกว่าตามใจของกิเลส เราเกิดขึ้นมาทุกคนก็จะตามใจของกิเลสกันทุกๆคนเกิดขึ้นมาเป็นอย่างนั้น จึงได้สร้างโลกสร้างสงสารมีบ้านมีเรือน มีเงินมีทองมีข้าวมีของ ขายได้ดีเท่าไหร่ก็ยิ่งเหนื่อยแสนเหนื่อยทั้งวันทั้งคืน ก็ยังมุมานะเอาอย่างนั้น ใจก็อยากได้ฮึกเหิมร่าเริงกับสิ่งเหล่านั้น ทำให้ใจเพลิดเพลินเมื่อเรียกว่าลุ่มหลงไปของกองกิเลส
ส่วนพวกเราที่ได้สละกิจการบ้านเรือนเข้ามาตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็อย่าให้ใจออกไปอย่างนั้น ใจต้องคอยเตือนมันอย่าให้มันวิ่งออกไป อย่าให้…อย่าขี้เกียจขี้คร้าน อย่ามักง่าย ต้องอุตส่าห์ภาวนา นั่งอย่างนี้ก็ต้องพยายามอุตสาหะ นั่งนานๆ ว่าพุทโธมากๆ บริกรรมเร็วๆ หลวงตาเคยพูดหลายที บอกว่าการบริกรรมเร็วๆนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร นี่ต้องเข้าใจ เหมือนช่างเค้าตีเหล็ก นี่หลวงตาตีเหล็กมาวันนี้ฟาดขวานซักสองสามเล่ม เมื่อเหล็กมันยังแดงจะไปตีช้าๆไม่ได้ ต้องตีเร็วๆ มันจึงได้ยืดออกไปแล้วก็ได้กว้างขวางออกไปเป็นอย่างนั้น เหมือนใจเราที่เป็นอย่างนั้น
เมื่อมันไม่ตั้งอยู่กับพุทโธ มันพยายามจะวอกแวกออกไปเหมือนอย่างลิงอย่างนั้น เราก็ต้องว่าเร็วๆกำกับด้วยพุทโธ นี่ นี่อุบายสำคัญ อุบายอย่างนี้เป็นเครื่องตัดกระแส ของใจที่ไม่ให้คิดส่ายออกไป เป็นอย่างนั้น ผู้ที่ไม่เคยภาวนาก็ไม่สามารถจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ บางคนก็เอาแต่ลมหายใจสบายๆ แล้วก็คิดโน่นคิดนี่ ประเดี๋ยวก็มาไปโน่นไปนี่ ใจเหลาะแหละวุ่นวาย เออ นั่งไม่ได้ซะแล้ว ขี้เกียจขี้คร้าน มันไม่จูงใจพรุ่งนี้เอาใหม่เถอะ นอนดีกว่า กลับกุฏิ นอนๆๆ แน่ะ ไปอย่างนั้น นี่มันหลอกเรา มันดึงเราให้ลุ่มหลงต่างๆนานาของใจ ใจมันเป็นสิ่งที่ทรมานยากเพราะฉะนั้นต้องเอาพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือความตายอันใดอันหนึ่งที่มันกลัวๆอย่างนั้น มากำหราบมัน อย่าให้มันดื้อ อย่าให้มันซน เมื่อเราเอาคุณของพระพุทธเจ้ามาระลึกอยู่ในใจของเราอย่างนั้น พุทโธๆ ถ้าอย่างท่านอาจารย์สอน จนกระทั่งตายไปแล้ว นี่ดูสิ เราน่ะมันได้ทำอะไรบ้าง ต้องคิดอย่างนั้น แล้วทำไมเราไม่ได้ มันเป็นเพราะเหตุอะไร นี่ แน่ะ ปัญหา ปัญหาของตัวเรา อย่าไปเที่ยวเพ่งคนอื่น อย่าไปดูคนอื่น ดูเรา ทำไมภาวนาไม่ลง มันเป็นเพราะเหตุอะไร ใจไม่เป็นสมาธิ นี่ ทำไมมันเป็นยังไง นี่ ดูมันเข้าไป เพ่ง เอาเข้าไปพุทโธ เจ้าจะวิ่งไปไหน ลองดูซิ เอ้อ ข้าจะว่าพุทโธอยู่อย่างนี้ไม่ให้ใจไปไหน มันก็ต้องอยู่เราวันยังค่ำ ถ้าใจอันนั้นจริงแล้ว มันก็ต้องได้ สมาธิต้องเกิดแน่นอนสามคืน เจ็ดคืน ต้องเป็นอย่างแน่นอน!
สมัยหลวงตาหนุ่มๆ เห็นคนแก่แล้วเค้านั่งสมาธิกันได้ตั้งหลายสิบคน อย่างนี้ ไอ้เรานี่กินข้าวชาวบ้านแล้วให้เค้ากราบ มึงขี้เกียจ ทำไมมึงขี้เกียจ แล้วมึงว่ามึงเป็นพระ เป็นพระแบบไหน ฮื้อ ฮื้อ! มึงสู้คนแก่ไม่ได้ แต่ก่อนมึงแจวเรือทั้งวัน ขึ้นผลหมากรากไม้ สู้เค้าทั้งวัน ครึ่งวันค่อนวันมึงเอาได้ เดี๋ยวนี้มึงมาขี้เกียจเรอะ แน่ะ นี่ใจมีมานะ ใจที่มีอุตสาหะเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว มันก็ทำความเพียรได้ ใจนั้นก็ต้องสงบ นี่ แล้วก็บวชมากระทั่งจนทุกวันนี้ จะสงบหรือไม่สงบโยมก็ดูเอา เอ้อ ว่าไปก็จะโม้ไป เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราก็จำเป็นต้องประคับประคอง อย่า…ถ้ารู้เห็นว่าใจนั้นยังคิดกระสับกระส่ายอยู่ เราก็จำเป็นจะต้องว่าไว้ให้มันเร็ว เร็วเข้าเท่าไรยิ่งดี
ไอ้ลมนั้นไม่ต้องไปหมาย มันบั้นปลายของการกระทำ เมื่อความสำเร็จแล้ว เหมือนคนที่ปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือน ปูที่หลับที่นอนเรียบร้อย ปูผ้าที่หลับที่นอน ปูหมอน วางหมอนวางเสื่อเรียบร้อยหมดแล้ว ก็เข้าไปนอน เหมือนอย่างอานาปา เมื่อใจที่มัน เราพยายามเพียรเพ่งว่าอยู่อย่างนั้นจนเกิดความสงบแล้ว มันก็ต้องเข้าไปเสวยอานาปาอย่างนั้นเอง บั้นต้นยังไม่ทันไรจะเข้าไปท่าเดียว แล้วไม่ได้ชำระสะสาง บ้านเรือนมันสกปรกโสมม ติดขี้ไก่ขี้หมูขี้หมาอะไร ย่ำเข้าไปแหลกเหลวหมด แล้วเราก็ไม่ปัดกวาดเช็ดถู เหมือนใจเราอย่างนั้น แล้วมันจะสงบได้อย่างไร ไม่ทันไรก็จะให้มันสงบ มันก็ไปอยู่นิดๆหน่อยๆมันก็ถอนออกมาอีกแล้ว คิดไปนู่นไปนี่อีก คิดไปสารพัด นี่ คิดไปเรื่อย เพ่นพ่านออกจากหัวใจไปเสมอ อำนาจของกิเลสมันชักจูงใจอย่างนี้ นี่ เราต้องพยายามทรมานมัน อย่าให้มันวิ่งออกไป มาอยู่กับพุทโธ ธัมโม สังโฆ เราเวลานี้ เรามาอยู่ในวัด เราไม่ได้ออกไปนอกรีตนอกรอย ใจเอ้ย เอ็งอย่าไปอย่างนั้น นี่ ต้องเข้าใจอย่างนั้น พิธีทรมานก็ต้องมีอย่างนี้อย่างเดียวเท่านั้นเอง ไม่เห็นมีพิธีใด ว่าให้เร็วแล้วใจนั้นมันจะไปไหน ดูซิว่ามันจะคิดได้มั้ย ดูซิว่าเร็วๆ โยมลองดูทุกๆคน พระก็ลองเอา มันจะคิดไปไหน เดี๋ยวก็คิดๆนึกเองน่ะ เอาดีๆ เค้านั่งได้เราก็นั่งได้สิ ลูกผู้ชาย บวชเป็นพระเป็นเณร กินข้าวโยม ก็เสียข้าวนะ ต้องเอาดีๆ ทำไมพวกโยมนั่งได้ เราเป็นไงนั่งไม่ได้ มันจะตายเรอะ หา! บวชมาเสียผ้าเหลืองพ่อแม่ เสียเงินเสียทองเยอะแยะ ก็ต้องมีความอุตสาหะพากเพียรให้แข็งแรง อย่าไปท้อถอย
เพราะฉะนั้นการทำใจเบื้องต้นเนี่ยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อเราพยายามจนกระทั่งสิ่งนี้ จนกระทั่งความตายหรือพุทโธ ธัมโม สังโฆบทใดบทหนึ่ง อยู่กับใจเราจนกระทั่งไม่คิดวอกแวกไปในที่ใด ใจนั้นบริกรรมพุทโธอยู่เรื่อยอย่างนั้น นั่น เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่บั้นต้นมันก็จำเป็นจะต้องมีบ้าง ถึงว่าเร็วมันก็ต้องแยกแยะออกไป ก็ต้องมีบ้าง เมื่อมีบ้างอย่างนั้น เรารู้ตัวขึ้นอย่างนี้ เราก็จำเป็นจะต้องหวนกลับมาระลึกไว้อีกในบทบริกรรมนั้น เพราะฉะนั้นในองค์ฌาณท่านจึงเรียกว่า วิตกวิจารเนี่ย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าขาดวิตกแล้ว ไม่ได้ องค์ฌาณไม่เป็น เพราะการที่ว่าอย่างนั้นก็เพื่อต้องการตัดกระแสของอารมณ์ของใจ คือนิวรณธรรมทั้งหลายนั่นเอง ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงในขณะที่ทำสมาธิ แล้วก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ของใจ อย่างพวกนักเพ่งกสิณอย่างนี้ ก็ต้องเอาไฟ หรือเอาอะไรต่างๆ เค้าเล่นวัตถุข้างนอก ถ้าแม้นผู้ที่เพ่งข้างในจริงๆ อย่างนั้นบางทีก็ยังไม่อยู่ บั้นต้นก็ต้องฝึกจนกระทั่งให้ชำนิชำนาญ จนกระทั่งใจ…เมื่อใจจดจ้องกับสิ่งเหล่านั้นมากเข้าๆๆ เพลินเข้าๆๆ อย่างนี้ ใจก็ไม่วอกแวกไปในที่ใด ใจก็ต้องเพ่งดูอย่างนั้นอันเดียว
เหมือนกับใจของพวกเราก็เหมือนกัน เมื่อบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ใจก็ไม่วอกแวกไปไหน ใจก็อยู่กับพุทโธอย่างนั้น นี่ บั้นต้นนั่นเริ่ม เริ่มเข้าไปตามลำดับอย่างนั้น เหมือนเราอาบน้ำ ไม่ใช่เททีเดียวเสร็จ ต้องมีเมื่อหลายๆขันต้องฟอกสบู่ถูเนื้อถูตัวถูตามแข้งตามขา ถูตามมือตามตีน ถูไปสารพัด นี่เหมือนกัน ไม่ใช่ขันเดียวราดเสร็จ นี่ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็เปรียบอุปมาอุปไมยเหมือนใจเรา มันจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องใช้การบริกรรม เมื่อบริกรรมแล้วไอ้ความง่วงเหงาหาวนอนมันจะมาที่ไหน ไม่มา! มาไม่ได้ เพราะลำดับของใจนั้นมันทำงานอยู่ การที่จะมีถีนมิทธะง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นนั้น เพราะปล่อยใจให้สบายๆ แล้วใจนั้นก็คล้ายๆเพลินๆ ง่วงๆเหงาๆหาวนอน ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่อยากนึกไม่อยากคิด ไม่อยากทำอะไรทั้งหมดเลย วางเฉยๆอย่างนั้น เอาแล้ว เข้ามาแล้ว นั่น มันจูงไปแล้ว จูงความขี้เกียจ จูงอำนาจของใจให้เข้าไปหลั่งไหลเข้าไปในสิ่งเหล่านั้น เหมือนสิ่งโสโครกปฏิกูล เมื่อฝนตกใหญ่ลงมา ตรงไหนเป็นที่ลุ่มก็ต้องไหลไปในที่นั้น เหมือนใจของเรามันคอยจะแยกแยะออกไปต่างๆนานาอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องกำกับ อย่าให้มันไป ทรมานเข้าๆ จนกระทั่งใจนั้นมันอยู่กับพุทโธ ธัมโม สังโฆ เรียบร้อยสงบแนบแน่นอยู่กับการบริกรรมอันนั้น ซักพักใหญ่ๆ ๒๐ นาที หรือครึ่งชั่วโมง หรือตั้งชั่วโมงอย่างนี้ยิ่งดี
นั่น โยมเอาแล้วสัปหงกครึดๆแล้ว แน่ะ เอายังไงกันฮื้อ นี่เรียกว่าภาวนาไม่เป็น! อย่าเพิ่งไปกำหนดมันซี่ ใจพุทโธไว้ให้มันเป็น ภาวนาไม่เป็นมันขาดทุน ทำแต่กายใจไม่กระทำมันก็ขาดทุน เข้าไปสองทีก็สัปหงกงึกงักๆๆ ต้องระวังตั้งสติแล้วก็ให้มีพุทโธไว้ ยิ่งผู้ที่ภาวนานานๆก็ยิ่งเป็นอย่างนั้น เมื่อเข้าบั้นต้นกำหนดแต่ผู้รู้! เอาอยู่อย่างนั้น มันได้อะไร ไม่เห็นได้ห่าอะไรเลย! นี่ว่าหยาบๆซักที มันไม่ได้อะไร! ต้องเข้าใจ ภาวนาอย่างนั้นภาวนาไม่เป็น! ภาวนาขี้เกียจ นั่นนะตัวขี้เกียจใหญ่ ไม่คิดไม่นึก อันนี่ เข้าใจมั้ย มันขี้เกียจ อย่างกำหนดแต่ผู้รู้ๆ ไปกำหนดมันทำไม ใจมันยังตั้งไม่ได้ เหมือนเด็กมันเดินไม่ได้ แล้วไปบังคับให้เด็กเดิน มันก็ล้มขาแข้งขาหักตายเท่านั้นเอง หัวต่งหัวแตกหมด ฮื้อ เหมือนกับใจเรา เปรียบให้ฟังขนาดนี้ยังไม่เข้าใจ แล้วก็เรียกว่าภาวนาไม่เป็นเอง อ้ะ นี่ ความไหวพริบหรือเรียกว่าความฉลาด กุศโลบายก็ต้องให้มีเกิดขึ้นกับใจเรา ทำไมเจ้าจึงง่วงเหงาหาวนอน ง่วงเพราะเหตุอันใด นี่ มันมาอย่างไร ทำมากี่วันกี่คืนไม่ได้พิจารณาเลย ก็ตาย เหมือนน้ำเค้าอาบกัน ตัวไม่เป็นกระโดดฮวบเข้าไป จมคลองตาย นี่แบบเดียวกันเลย ต้องแก้ไขสิ อย่าให้ไปอย่างนั้น ไปอย่างนั้นไม่ได้ อย่างหลวงตาก็ว่าให้ฟังเมื่อคืนแล้ว ไปอย่างนั้นมันเสียสมาธิ สมาธิก็ไม่ได้ สมาธิก็ไม่เกิดเพราะไอ้ถีนมิทธะมันครอบงำอยู่ ไม่มีประโยชน์เลย นี่
ว่าให้หลวงตาดุ ดุให้ดี เราก็เปรียบเหมือนอย่างพี่เหมือนอย่างน้อง กินข้าวหม้อเดียว ยายปุ๊ก็หุง พวกหลายๆคนหุงข้าว แจกกันไปใครไม่มีก็มาเอา โยมเค้าหมดเค้าก็เอามาทาน เรากินข้าวหม้อเดียวกัน ไม่ดีอย่างไรก็ต้องเตือนกัน นี่อย่างนี้เป็นประโยชน์ ไม่ดีแล้วนำออกไปข้างนอก ใช้ไม่ได้ เสีย เสียแท้ๆ เพราะฉะนั้นยังมีภาษิตที่นางวิสาขาที่แต่งงานออกไปแล้ว พ่อจึงบอกว่า เอ้อ ลูกเอ๋ย ไฟในอย่าได้นำออก ไฟนอกอย่าได้นำเข้า นี่ สอน สอนลูกสาวเป็นอย่างนั้น ไฟในอย่าได้นำออก เรื่องของบ้านของเรือนของครอบของครัว อย่าได้เอาออกไปเล่าให้คนอื่นฟัง เป็นที่ขายหน้าขายตา นี่ เป็นอย่างนั้น เรื่องข้างนอกก็ไม่เอาเข้ามา ก็ไม่เก็บเรื่องคนนั้นคนนี้ เค้าด่ากัน เค้าทะเลาะกันอย่างนั้นอย่างนี้ นินทากันอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ไม่เก็บเข้ามา นี่ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าสิ เราอยู่อย่างนี้ก็เปรียบประดุจพี่ เปรียบประดุจน้อง กินข้าวหม้อเดียวกระทะเดียวกันอย่างนี้แล้ว เพราะสิ่งอันใดที่พวกเราตั้งใจภาวนา ผู้ใดที่มีความรู้ที่มีความฉลาด แม้แต่พวกโยมก็สามารถจะเตือนพระได้ ทำไมท่านนั่งเอาแต่สัปหงก แน่ะ แล้วไปเทศน์ได้ยังไง สอนเค้า แน่ะ ตัวเองสัปหงกกึ๊กๆๆอยู่แทบทุกคืน แย่ซิอย่างนี้ แย้งเข้าไปมั่งนิดหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก ท่านไม่โกรธ แต่บางองค์ท่านจะเตะเอา (หัวเราะ) ถ้าหลวงตานี่ ไม่ได้ ยกแข้งยกขาเลย เดี๋ยวก็ฟาดพลัวะเข้าให้คางหลุด (หัวเราะ) นี่เป็นอย่างนั้นนะ
เพราะฉะนั้นจึงว่าความตั้งใจนี่เป็นสิ่งสำคัญ ให้มันเข้มมันแข้งมันเด็ดมันเดี่ยว แล้วถีนมิทธะเหล่านั้นจะเข้ามาได้อย่างไร นี่ เราไม่เด็ดไม่เดี่ยว เมื่อเข้าไปบริกรรมอย่างนั้นพักใหญ่ให้ใจมันอยู่กับพุทโธอย่างนั้นแล้ว ความแจ่มใส ความสว่างไสวของใจ แม้แต่ร่างกายก็จะพาให้อิ่มเอิบ เมื่อการบริกรรมติดเนื่องกันอยู่อย่างนั้นแล้ว ใจนั้นก็เริ่ม เริ่มมีปีติคือความอิ่มของใจ เมื่ออารมณ์ขาดเข้าไปอย่างนั้นแล้ว ความเหน็ดเหนื่อยความเมื่อยล้าของหัวใจกับของกายไม่มีเลย อิ่มเอิบซาบซึมถึงใจอันแท้จริงอย่างนั้น นั่น เมื่อมันเป็นอย่างนั้น ใจมันก็ถึงสมาธิ เมื่อใจถึงสมาธิ เราบวกเข้ามา เราก็รู้ อ๋อ นี่สมาธิ ใจของเราไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง มีแต่พุทโธอยู่อย่างเดียว แล้วเราวางพุทโธลงไปใจก็ยังเฉย เนี่ย เหมือนเราหลับ แต่ไม่ใช่หลับ ยังรู้ตัวอยู่ นี่ เราก็รู้สิ อ๋อ นี่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านะ ที่เรียกว่าแสดงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เราเข้ามาบวชมาเรียนก็ได้เจอะพบเห็นความจริงอย่างนี้ เราทำสมาธิเกิดขึ้น โลกเค้าทั้งหลายบอกว่าหมดมรรค หมดผล นี่ เราจะเชื่อได้ยังไง เราเคยทำสมาธิมันเกิดขึ้น เกิดความสงบนี่ แล้วจะมาพูดว่าไม่มีได้ยังไง คนทั้งหลายเค้าไม่กระทำ เมื่อเรากระทำใจให้มันเป็นขึ้นอย่างนั้นแล้ว ใจมันก็ต้องเป็นสมาธิ เมื่อใจเป็นสมาธิอย่างนั้น เมื่อใจเราวุ่นวายอีก เราต้องการให้ใจเราสงบ เราก็ได้อุบายแล้วนี่ เอาพุทโธหรือเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาบริกรรมเข้า ใจนั้นมันก็เกิดความสงบ ความเดือดร้อน ความวุ่นวาย ความขัดข้อง ความโทมนัส โสมนัสของใจมันก็หายไปจากใจ แล้วใจนั้นก็สบาย นี่ เป็นอย่างนั้น
นี่อุบายบั้นต้น บั้นต้นสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยจะกระทำ เมื่อมีความทุกข์ ความเดือดร้อน ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบใจ หรือลูกเต้าผัวเมียภรรยาตายจากกัน นั่งร้องไห้เจ็ดวันเจ็ดคืนจนตาเปียกตาแฉะ ตาฟกตาบวมหมดเลย นี่ เพราะอะไร เพราะรำพึงแต่สิ่งเหล่านั้น ไม่คิดแก้ไข ใจนั้นก็ยิ่งโศกยิ่งเศร้า ร่างกายก็เหี่ยวแห้งลงไปตลอดเวลา เมื่อเราเอาพุทโธเข้าไปแก้ซัก ห้านาทีเท่านั้น มันก็หยุดไป นี่ อุบายบั้นต้นเป็นอย่างนี้ นี่แหละเพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ ท่านที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ท่านจึงเอาธรรมะมาสอนพวกเรา เสียสละแม้แต่ชีวิต ไม่เห็นแก่กินแก่นอน กินข้าวกินหนเดียว สอนจนกระทั่งตายลงไป แน่ะ ดูเถอะในโลงน่ะเป็นสักขีพยาน นี่เพราะฉะนั้นจึงว่า โอปนยิโกน้อมเข้ามา ถ้าอาจารย์ยังตายแล้วเราทำไมจะไม่ตาย เราเป็นลูกศิษย์ก็ต้องให้มันดีเหมือนท่านมั่งซี่ ทำไมไม่ดี ทำอย่างไรใจไม่ดี นี่ คิดสนุกสนานร่าเริงเพลิดเพลินมันก็ไม่ดี คิดถึงใจให้มีธรรมะธรรมโม พุทโธอยู่ในใจตลอดเวลา ใจมันก็ดี ใจก็เป็นพระ นี่ เราก็เป็นพระขึ้นมา เป็นชีมันก็เป็นพระ เป็นเณรก็เป็นพระ เป็นพระมันก็ยิ่งเป็นพระ ไม่วอกแวกไม่เหลาะแหละโลเลเหลวไหล ใจก็เป็นพระอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการกระทำบั้นต้นเนี่ยเป็นสิ่งสำคัญ แก้ไขตรงนี้ให้ตกลงไปแล้ว ใจนั้นก็ต้องสงบเยือกเย็น สบาย แล้วได้เวลาของเราเราก็ทำตอนเช้าหรือตอนบ่ายเราก็กระทำของเราอย่างนั้นอีก ก็ดำเนินแบบนั้นลงไปอีก ใจก็สงบ นี่ หลายๆวันเข้า เมื่อใจสงบแล้ว ท่านบอกว่าใจนั้นเป็นสมาธิ
สมาธิเป็นเหตุของการที่จะให้เจริญซึ่งวิปัสสนาหรือเรียกว่าปัญญา คำว่าปัญญาๆ นักภาวนาทั้งหลายเข้าใจว่าภาวนาไปแล้วให้เป็นแต่สมาธิอันเดียว แล้วก็หมายความว่าจะให้เกิดปัญญา อันนี้ยังเข้าใจผิด เข้าใจผิดนักหนาทีเดียว ลักษณะของปัญญาที่คิดปรุงแต่งเรื่องโลกเรื่องสงสาร เรื่องคิดไปในวัฏสงสารนั้นมันไม่ใช่ลักษณะของปัญญา เป็นลักษณะของความฟุ้งซ่าน ฮึกเหิมของใจ ใจเริ่มหลงเพลิดเพลิน เป็นนิวรณธรรมเข้ามาครอบงำใจเราต่างหาก ส่วนใจที่กระทำสมาธิเกิดขึ้นแล้ว พยายามค้นคว้าพินิจพิจารณาในอารมณ์อันใดก็แล้วแต่ เอามาวิจารณ์ เอามาตรึกตรองเอามาพินิจพิจารณา คิดถึงความเกิดอย่างนี้ เราเกิดขึ้นมาแล้วก็จะต้องมีความแปรปรวนมีเจ็บมีป่วยมีไข้ แล้วสิ่งเหล่านี้มันได้อะไรกับตัวเรา ได้อะไรกับจิตใจของเรา นี่ เราเอาสิ่งเหล่านี้มาคิดมาใคร่ครวญพิจารณา นี่ อย่างนี้เรียกว่าปัญญา แต่ปัญญาอย่างนี้ เป็นปัญญาในระยะขั้นต้น เรียกว่าดำเนินทางท่านบอกว่าเหมือนอย่างมรรค เมื่อรู้จักอย่างนั้นแล้วก็เอามาพินิจพิจารณา
เมื่อแต่งจนกระทั่งอารมณ์ที่เราคิดนั้นมาเป็นปัจจุบันธรรม ไม่มีวอกแวกไปในอดีตอนาคต มีจำเพาะเรื่องของปัจจุบันธรรมคิดอยู่อย่างนั้นอันเดียว ไม่วอกแวกไปในที่ใด นั่น ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของมรรคเริ่มดำเนินเข้าไป เหมือนบุคคลผู้ที่จะไปปากน้ำ เดินเข้าไปถึงถนนใหญ่ หรือออกจากวัดอโศฯ ก็เริ่มตรงเข้าไปเรื่อยๆเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่นึกทีเดียวแล้วจะถึงปากน้ำเลย ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ถ้าลักษณะของการเดิน ก็ต้องเดินทีละก้าวสองก้าว จนปากน้ำมันมีกี่กิโล นั่น เมื่อใครมีกำลังแก่กล้าสามารถก็วิ่งเอา นี่ วิ่งเร็วหรือวิ่งช้า นี่ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงแสดงว่า สุขาปฏิปทา ขิปปภิญญา เมื่อบุคคลผู้นั้นมีใจอันสงบ แล้วใช้ความพินิจพิจารณาในสิ่งต่างๆ จนสิ่งทั้งปวงนั้นมาเป็นปัจจุบันธรรม ไม่ไปในอดีต ไม่ไปในอนาคต คิดค้นอยู่อย่างนั้น หลายๆวันเข้า หลายๆเดือนเข้าอย่างนี้ นั่นแหละ ท่านเรียกว่าเจริญอริยมรรค ลักษณะอย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นลักษณะของปัญญาอันที่จะคิดปล่อยจากโลกจากสงสาร ตัดจากสภาวะของความเกิดแก่เจ็บตายของใจ นี่ลักษณะอย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นลักษณะของปัญญาที่จะตัดรากเหง้าของอกุศลของใจที่เกิดขึ้น
เมื่อใจนั้นเข้าไปคิดอยู่จำเพาะสิ่งอันใดอันหนึ่งอยู่อย่างนั้น ไม่วอกแวกไปในที่ใด อย่างนั้น เรียกว่าทั้งสติทั้งปัญญา สติมีหน้าที่ระลึกอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น ความปรุงในเรื่องต่างๆนานาก็ป้อนเข้าไปของหัวใจอย่างนั้นตลอดเวลาอย่างนั้น ใจนั้นไม่วอกแวกไปที่ใด มันก็เพลิดเพลินกับความคิดนั้นอันเดียว อย่างผู้ที่พิจารณากายอย่างนี้ เพลินอยู่เฉพาะกาย ไม่วอกแวกไปในที่ใดเลย อย่างนั้น เมื่อเป็นเวลานานๆตั้งชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมงอย่างนั้น ไม่รู้ความสุขมันมาอย่างไร ปีติอิ่มเอิบไปหมด ซาบซ่านไปหมด นั่งนานขนาดไหนก็ไม่มีเหน็ดมีเหนื่อย ไม่มีเมื่อยมีล้า ยิ่งสบายยิ่งค้นคว้ายิ่งพินิจพิจารณาเท่าไหร่ ใจนั้นยิ่งเกิดมีพละพลัง
เมื่อต้องการจะหยุดเห็นว่าเหนื่อยมากอย่างนี้ เราก็เลิกการค้นคว้าพินิจพิจารณา ปล่อยใจให้อยู่เป็นปกติอันเดียวเฉยเช่นอยู่จำเพาะความรู้ของใจที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้าอย่างนั้นก็ได้ เป็นเวลาเป็นชั่วโมงๆอย่างนี้ ใจไม่วอกแวกไปในที่ใดทั้งหมด มีจำเพาะความรู้ที่อยู่จำเพาะหัวใจอันเดียว เรียกว่าปกติอยู่อย่างนั้น ไม่ไปไหนเลย นี่ อย่างนี้จึงเรียกว่าสมาธิเต็มที่
เมื่อพักพอสมควรท่านก็เรียกว่าให้มีอนุโลมปฏิโลม ในแบบท่านก็สอนอย่างนั้นคือให้พิจารณาถอยเข้าถอยออก พิจารณาบุคคลภายนอกน้อมเข้ามาหาตัวเรา พิจารณาตั้งแต่ตัวเราออกไปหาภายนอก นี่เรียกว่าอนุโลมปฎิโลม ถอยเข้าถอยออก พิจารณาอยู่อย่างนั้น ใจนั้นก็ยิ่งร่าเริงเพลิดเพลินกับสิ่งที่เราพิจารณา นี่ นี่ก็อย่างนี้แหละเรียกว่ามรรค ที่จะล่วงจากทุกข์ก็ต้องเพราะทำอย่างนี้ ใจนั้นมันจะปลดเปลื้อง ปลดเปลื้องอะไร ปลดเปลื้องหัวใจที่วุ่นวายดิ้นรนนั่นเอง เมื่อถูกบังคับถูกอัดฉีดอย่างนั้นแล้ว เหมือนน้ำที่เข้าไปในกระบอก มันก็ฉีดออกเป็นฝอยได้เต็มที่เลย ถ้าเราเทซ่านไปอย่างนั้นมันก็ออกพรวดหมด เมื่อถูกอัดอย่างนั้นแล้ว ใจนั้นก็ต้องแยกแยะ คิดอยู่จำเพาะเรื่องนั้นเรื่องเดียว ไม่ไปในที่ใดเลย มีความเข้มแข็งต่อสู้กับการค้นคว้าพินิจพิจารณาอยู่อย่างนั้น อดีตก็ไม่ไป อนาคตก็ไม่ไป น้อมอดีตก็มาเป็นปัจจุบัน น้อมอนาคตก็มาเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรมหมด
เมื่อพิจารณามากเข้าๆ เมื่อถึงความจริงอย่างนั้นแล้ว มันก็เห็นความจริง การที่ว่าเห็นความจริงเห็นอย่างไร เนี่ยฟังให้ดีๆตรงนี้ แต่ฟังยาก สิ่งเรานี้ฟังยาก เพราะเมื่อกระทำไม่ถึงแล้ว เหมือนคนไม่เคยมีเงินล้าน เงินโกฏิ เงินเป็นสิบๆล้าน เราก็บอกว่าในโลกไม่มีใครเค้ามีกัน นี่ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าฟังยาก เมื่อบุคคลผู้นั้นค้นคว้าพินิจพิจารณาลงไปมากเข้าๆอย่างพระอานนท์ พระพุทธเจ้าบอกว่า อานนท์วันปฐมสังคายนานั้น พระอานนท์จะได้สำเร็จมรรคผลธรรมอันวิเศษนะ พยายามค้นอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่เป็นอันหลับอันนอน ค้นอยู่อย่างนั้นคิดอยู่อย่างนั้น คิดจนเมื่อยล้า ร่างกายก็สู้ไม่ไหว ใจก็เหน็ดเหนื่อยเต็มที พักซักทีเถอะ นี่ นี่ตอนพักนี่ให้ระวัง นี่ ใจเราในสภาวะอย่างนี้ไม่เจือปนกับสิ่งใดทั้งหมดในโลกนี้ แม้แต่ร่างกายก็ไม่เจือปน มีใจอยู่เป็นเอกเทศไม่เกี่ยวเกาะกับอันใดอันทั้งหมดในโลก แม้แต่ร่างกายก็ไม่เกี่ยวเกาะ ความคิดนึกปรุงแต่งอันใดดับไปหมดแล้ว นี่ ใจเป็นเอกเทศอย่างนั้น นั่นแหละเรียกว่าธรรมะ นี่ จะรู้ถึงผลว่างานทั้งหมดที่พิจารณาอย่างนั้นเรียกว่ามรรค คือกำลังเดินไป เหมือนเราเดินไปถึงปากน้ำ ไปถึงที่ร้านใดร้านหนึ่งเราเข้าไปนั่งพัก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไม่มีเลย เหมือนใจที่เข้าไปกำหนดพินิจพิจารณาเรื่องทั้งหมดแล้วอย่างนั้น หยุดทันทีในขณะนั้นแล้วก็ไปเห็นโทษกับการคิดนึกปรุงแต่งของหัวใจ เพราะมีสติเข้าไปทันกับปัญญานั้นทันอยู่ตลอดเวลา นี่ ใจอย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็นผล
เมื่อถึงมรรคถึงผลอย่างนั้นแล้ว เราก็เห็นความจริงของใจนี่ที่ได้กระทำอย่างนี้จึงได้เกิดได้เป็นได้มีขึ้นกับเรา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นมันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น เมื่อเราค้นคว้าพินิจพิจารณาจนเห็นความจริงอย่างนี้แล้ว ในขณะที่เห็นความจริงอย่างนั้น ความปีติความเลื่อมใสในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่ เหลือที่จะประมาณได้เลย เอาเงินมากองตั้งแต่แผ่นดินไปถึงจรดฟ้าก็ยังไม่มีความหมาย(จบวีดีโอ)