หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ต่อนี้ไปพากันตั้งใจฟังธรรมเทศนา ฟังเทศน์ถ้าหากฟังรู้เรื่องเข้าใจในการฟังธรรมเทศนาจะทำให้ใจของเราผ่องใสเบิกบาน หรรษาร่าเริงอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากฟังไม่เข้าใจก็จะเป็นเรื่องง่วง ทำให้ซึมให้เมาให้ง่วง ก็จะมีความเหน็ดเหนื่อย เลยกลายเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นเรื่องทำความสุขให้เกิดขึ้นเพราะการฟังธรรมเทศนา เพราะฉะนั้นจงพากันฟังให้เป็น ฟังธรรมเทศนา
คำว่าฟังนั้น ฟังเป็นทุกคนนั่นหละ แต่ที่ว่าฟังเป็นนั้นไม่ใช่ฟังตามธรรมดา พวกเราพวกปฏิบัติ ตั้งใจฝึกหัดเรื่องจิตใจโดยเฉพาะ ฟังเป็นนั้นฟังให้ถูกหนทาง ทางที่ถูกที่จริงแล้วการฟังธรรมเทศนานั้น อย่าให้ฟังส่งออกไปนอก ถ้าส่งออกไปนอกแล้วจะไม่รู้ของจริง ไม่เห็นของจริง พระพุทธเจ้าท่านเทศนาไม่ได้เทศน์ให้ออกไปนอก ไม่ได้ส่งออกไปนอก ทุกๆคนพากันฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส คนนับเป็นหมื่นๆแสนๆก็ดี พระองค์ชี้เข้ามาในตัวของเราทุกคน เพราะฉะนั้นคนที่ฟังธรรมเทศนานับเป็นร้อยๆพันๆ นับเป็นหมื่นๆแสนๆ ก็จะไม่มีการแย่งชิงซึ่งกันและกัน ไม่เหมือนกับเราแจกของ อย่างเราแจกของโปรยของอย่างนี้แล้ว พอเห็นทิ้งให้ก็เลยจะพากันชิงกันเอา บางคนก็จะได้มาก บางคนก็จะได้น้อย หรือบางคนก็จะได้ของดี บางคนจะไม่ไ้ด้ของดี จะเกิดอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องทะเลากัน
ส่วนการฟังธรรมเทศนานั้นไม่ใช่เหมือนกับแจกสิ่งของ แทนที่จะเป็นการแจก เลยกลับเป็นการชี้เข้ามาหาตัวของตนว่า ของท่านทั้งหลายมีแล้วทุกคน ไม่ใช่ให้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเทศนาว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา ปฏิปนฺนา ปโมกฺขนฺติ พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้แนะนำชี้หนทางบอกให้ พวกท่านทั้งหลายพากันฟังแล้วได้ความเข้าอกเข้าใจปฏิบัติตาม อาจจะพ้นจากทุกข์ไปเอง ฟังดูคำข้อนี้ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้แบ่งปัน ไม่ได้แจก ไม่ได้แจกธรรมะให้ เป็นแต่ชี้เฉยๆ คำว่าชี้คือชี้ของมีอยู่ ก็ดูสิ เราชี้อะไรก็ตามเถอะ เราชี้ให้ดูน่ะ ชี้ของมีอยู่ทั้งนั้น ของไม่มีจะไปชี้ได้ไง ไม่มีใครชี้ได้หรอก ของมีอยู่ มีอยู่ที่ไหน ก็ชี้เข้ามาในตัวของเรา ที่มีอยู่แล้วในตัวของเราทุกๆคน ถ้าหากเราเห็นแล้ว เราปฏิบัติตาม เราเป็นคนพ้นจากทุกข์
เราฟังเผินๆก็คล้ายๆกับว่า พระพุทธเจ้าเป็นคนแจกธรรมะ แบ่งปันธรรมะให้ อย่างเราจะเห็นได้เช่นเราสมาทานศีล พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ศีล พระไม่ได้ให้ศีล ถ้าพระเอาศีลให้ญาติโยม พระก็หมดศีล ให้ทุกวันๆก็หมดซะ ความเป็นจริงท่านไม่ได้ให้ ท่านบอกให้เรางดเว้นเสียจากโทษนั้นๆ โทษ ๕ โทษ ๘ ประการ นี้จะว่าท่านให้ศีลไม่ได้ แต่ภาษาเราพูดกันว่าพระให้ศีล คำสมมุติบัญญัติอันนี้หละ มันเลยไป เข้าใจผิดเสีย แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ คือบอกให้เรางดจากความชั่วคือโทษนั้นๆ ฉันเดียวกันกับพระพุทธเจ้าท่านเทศนา อันนี้ก็เรียกว่าเทศนาเหมือนกัน คือให้ศีลนี่ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนพวกเราก็สอนชี้เข้ามาในตัวของเราทุกๆคน ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวตนของเราทุกๆคน
นี่ว่าเฉพาะถึงเรื่องปฏิบัติธรรมที่จะอธิบายในวันนี้น่ะ ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติธรรม คือดังกล่าวมาแล้วว่าธรรมมีอยู่ในตัวของเราทุกๆคน ธรรมที่มีอยู่ในตัวของเรานั้น บัญญัติให้มีชื่อ สมมุติให้เข้าใจ เรียกว่าธาตุขันธ์ อายตนะ ธาตุขันธ์อายตนะนี้ เป็นที่ตั้งและที่เกิดของปัญญา เราต้องมีที่ตั้งและที่จับจุดในการที่เราพิจารณา จึงจะเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่เราพิจารณานี่เรียกว่า ปัญญาสะสม เป็นปัญญาเจริญ ปัญญาปกติธรรมดาหากเราไม่สะสม ไม่เจริญ ไม่เกิด อยู่เฉยๆ ไม่เกิดปัญญา ดังภาษาโบราณท่านเคยพูดว่า คนที่มีปัญญาคือคนช่างคิดช่างตรอง คนที่ตรองช่างคิดช่างนึกอย่างนั้น เค้าเรียกว่าคนมีปัญญา ภาษาพื้นๆบ้านก็พากันพูดกันอยู่ ถ้าคนใดไม่คิดไม่นึก ไม่ตรึกไม่ตรอง เห็นก็ไม่รู้จักคิด ฟังก็ไม่รู้จักนึก ไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักนึกอะไรเล้ย ไม่มีปัญญา ฉะนั้นการที่รู้จักคิด รู้จักนึก รู้จักฝึกฝนปัญญานี่หละเรียกว่าการเจริญปัญญา ปัญญาเกิดได้เพราะการเจริญ
ทีนี้เจริญตรงไหนหละคราวนี้ ไม่ใช่เจริญที่ภายนอก การเจริญภายนอก คิดนึกในการที่จะประกอบกิจกานงานอะไรต่างๆ ทุกสิ่งทุกประการที่เราทำลงไปนั้นก็เป็นการเจริญปัญญาเหมือนกัน แต่ในทางพุทธศาสนาท่านไม่ให้เจริญอย่างนั้น ให้เจริญเข้ามาในตัวของเรา ดังตั้งบทไว้เบื้องต้น ตั้งหลักที่จะให้เกิดบ่อเกิดของปัญญามาเบื้องต้น ว่ามาเมื่อกี๊ว่า ธาตุ ขันธ์ อายตนะ อินทรีย์ ตัวของเราทั้งหมดนี่เรียกว่า ธาตุ ๔ เอาตั้งตรงนี้แหละ เอาตรงนี้แหละ พิจารณาตรงนี้แหละ
ถ้าหากเราไม่ได้ยินได้ฟังแล้ว และเราไม่เคยคิดเคยพิจารณา เราก็จะเห็นเป็นตัวตนคนเราคนหนึ่ง คือตัวของเราเนี่ยว่าเป็นตัวคน ถ้าหากว่าเรามาทิ้งคำว่าคนหรือว่าตนว่าตัว ลองดูซิคราวนี้ มันจะเป็นอะไรแล้วคราวนี้ จะเป็นก้อนอะไรก็ไม่ทราบ คนก็อย่าไปพูดซะ ตนก็อย่าไปพูดซะ อันนี้จะเป็นตัวอะไรก็ไม่ทราบ อันนี้อันที่ไม่มีชื่อไม่มีสมมุติเนี่ย แต่มันปรากฏอยู่เนี่ย ถ้าเราทิ้งชื่อสมมุตินั้นเสียแล้วนั่น ตั้งใจมาคิดพิจารณา ถึงจะเกิดปัญญา เรามาดูตัวนี่ อันตัวก้อนตัวนี้ เป็นตัวอะไรกันแน่ เมื่อเราได้เคยได้ยินฟังคำสอนพระพุทธเจ้าแล้วเราเข้าไปคิดค้นพิจารณา ดังเราสาธยายอยู่แล้วว่า อิมัสมิง กาเย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไล่ลงไปสิ อันนั้นก็เป็นผม อันนั้นก็เป็นขน อันนั้นก็เป็นเล็บ อันนั้นก็เป็นฟัน อันนั้นก็เป็นหนัง พอแยกออกทั้งหมดเลย คนไม่มี ไม่ทราบไปไหนกันหมด ไม่มีคน ตกลงว่าเป็นอาการ ๓๒ ทั้ง ๓๒ ประการนี่แหละ
แยกออกเป็นธาตุ ๔ คือสิ่งที่มันแข็งข้น ไปเป็นธาตุดินซะเช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผิด ไตใหญ่ ไตน้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ๑๘ นี้เป็นดิน ดินมีลักษณะผิดแปลกกัน ไม่ต้องดูไกลอ้ะ ไม่ให้จิตส่งไปที่อื่นหละ ดูเฉพาะผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น มีลักษณะที่แปลกกัน แต่ให้สมมุติว่าดิน บัญญัติว่าดินเพราะเป็นสิ่งที่แข็ง ปรากฏแข็งข้นปรากฏ เรียกว่าธาตุดิน สิ่งที่มันเหลวเรียกว่าธาตุน้ำ คือน้ำดี น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำเหลือง น้ำเหงื่อ น้ำไคล น้ำดี น้ำเสลด น้ำมูตร มีอยู่ในตัวของเรานี่ นี่เรียกว่าธาตุน้ำ
ธาตุลมคือลมขึ้นข้างบนก็ดี ลมลงข้างล่างก็ดี คนเฒ่าคนแก่คงจะเห็นชัดอยู่หรอกเรื่องลมขึ้นข้างบน มันทำให้มืดหน้ามืดตา มันอาเจียนออกมานั่นเรียกว่าลมขึ้นข้างบน ลมลงข้างล่างคือมันขับให้ปัสสาวะอุจจาระถ่ายเทออกไปได้ ระบายลม อันนั้นเรียกลมลงข้างล่าง ลมพัดไปในตัว คือลมมันซ่านอยู่ตามตัวของคนเรานี้ มีลมซาบซ่านไปทั่วหมดสรรพางค์กาย ระบายออกตามขุมขน อันนี้ลมในตัว ลมในไส้ในพุง ทำให้เจ็บให้ขัด ให้อืดให้เฟ้อ ท้องเฟ้อ ท้องขึ้น ด้วยประการต่างๆ อันนั้นมันลมอยู่ในลำไส้ ลมพัดไปในตัว ลมหายใจออกหายใจเข้า เป็นช่องระบายช่องใหญ่ มีพัดหันไปมาทั่วสรรพางค์กาย อันนี้เรียกว่าธาตุลม ธาตุไฟก็ไม่ปรากฏ ธาตุลมก็ไม่ปรากฏ
ธาตุไฟคือทำให้เราอบอุ่นที่มีอยู่ในตัวเราทั้งหมด ถ้าหากที่ไหนธาตุไฟไปไม่ถึง ธาตุลมก็ตามไม่ถึง ลมกับไฟมันตามกันไป ดังเราจุดเทียน ถ้าลมไม่มี เทียนมันก็ไม่ติด ไม่ลุก ไฟมันต้องอาศัย เพราะไฟติดก็ชูให้ลม ดึงกันไป ดึงดูดกันไป มันไฟกับลมมันติดกันไป มันอบอุ่นไปทั่วสรรพางค์กายเพราะลมพัดผันไปมา ทำให้ธาตุไฟอบอุ่นทั่ว ถ้าธาตุไฟไปไม่ถึง ก็คือลมไปไม่ถึงนั่นเอง มันทำให้เหน็บให้มึน หรือตายเย็นก็ได้ ด้วยประการต่างๆอันนี้เรียกว่าธาตุไฟไม่ถึง ไฟให้อบอุ่นทั่วร่างกายของเรา ไฟอันหนึ่งเป็นเหตุให้เผาอาหารให้ย่อยยับ ถ้าไม่มีไฟ หรือไฟอ่อน อาหารไม่ย่อยบูดเน่า อันนี้อาศัยไฟกองนั้นหละ เผาอาหารให้บูดเน่า เราทานอาหารลงไปบางทีจะเป็นของแข็งเช่นกระดูกอ่อนอย่างนี้เป็นต้น หรือเม็ดมะขาม เม็ดอะไรก็ตามเถอะที่แข็งๆ ถ้าหากไม่มีไฟกองนี้เผาให้เสียแล้วละก็ แล้วเท่านั้น ไม่ละลายหรอก อันนี้มีไฟกองนี้สำหรับเผา
ไฟอีกชนิดหนึ่งร้ายกาจที่สุดก็คือไฟย่างร่างกายของเราให้เหี่ยวแห้งชำรุดทรุดโทรม ไฟอันนี้ทำให้เราแก่เฒ่าชำรุดทรุดโทรมง่อนแง่นไปตามลำดับ อันนี้ไฟร้ายมาก ไฟอบอุ่นยังร่างกายให้อบอุ่น ไฟยังเผาอาหารให้ย่อยยับไป ไฟที่เผาร่างกายให้เหี่ยวแห้งทรุดโทรม ไฟทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวของเราทั้งหมดเนี่ย ถ้าหากเราพิจารณาอย่างนี้ ทั้งดิน ทั้งน้ำ ทั้งลม ทั้งไฟ มาพิจารณาในตัวของเราแล้ว เราจะมองเห็นตัวของเรานั่นน่ะเป็นโรคอันหนึ่ง คือว่ามีดิน น้ำ ไฟ ลมผสมมาเป็นก้อนขึ้นมาแล้วก็ ทำงานตามหน้าที่ของมัน มีดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมกันแล้วก็ทำงานตามหน้าที่ของมัน เช่นเท้า เช่นมือของเราก็ดี ที่เราจะคู้เหยียดได้ ที่จะขึงจะตึงออกไปได้ หรือประกอบการงานอันใดก็เพราะหมู่นี้แหละ มันช่วยให้มันคล่องแคล่ว ในที่สุดอาหารที่อยู่ในกระเพาะของเราที่เราทานลงไป กระเพาะไฟทั้งหลายนี้ กระเพาะลมทั้งหลายนี้ ทำหน้าที่ของมันให้ย่อยยับซึมซาบไปตามเส้นประสาท ทำสรรพางค์กายของเรานี่ให้ชุ่มชื่นสดใส ไม่เหี่ยวแห้ง นำไปหล่อเลี้ยงโดยที่เราไม่ได้นึกคิดเลย โดยที่เราไม่ได้บังคับมันเลย เค้าทำตามหน้าที่ของเขา สิ่งใดที่จะเป็นไปเพื่อการหล่อเลี้ยงมันก็หล่อเลี้ยงไปตามเรื่อง อันใดเป็นกากเป็นเศษมันก็ขับถ่ายออกไปตามเรื่องของมัน มันก็เป็นไปตามเรื่องของมัน
ถ้าหากเรามาพิจารณาอย่างนี้แล้ว มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาชนิดหนึ่ง ถ้าหากจิตของเรารวมหรือจิตของเราสงบไปพร้อมๆกับเราพิจารณานั้น จะมีความรู้สึกอันใดขึ้นมาในการพิจารณานั้น อย่างน้อยที่สุดจะมีความรู้สึกว่าแปลกประหลาด ร่างกายนี้เป็นของแปลกประหลาดมาก หรือมิฉะนั้นเราจะเห็นร่างกายของเรานี้เป็นเครื่องจักรยนต์กลไกอันหนึ่ง ซึ่งมันทำงานตลอดวันคืนรุ่ง ๒๔ ชั่วโมงไม่มีหยุดเลย จากอันนี้นั่น ตั้งแต่เกิดจนวันตาย หยุดเมื่อไหร่ก็ตายเมื่อนั้น นี่จะเกิดความรู้แปลกประหลาดขึ้นมา เป็นของน่าคิด เป็นของน่าพิจารณา เป็นของแปลกประหลาดจริงๆ คนเลยจะไม่มีหละคราวนี้ เป็นเครื่องจักรหมดแล้ว คนเลยหายไปเลย จะกลายเป็นโลกไปแล้ว คนก็เลยหายไป จะเป็นเครื่องยนต์ไปอีกหละ
เหตุนั้นสมัยครั้งพระพุทธกาลโวหารของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเห็นหน้าเห็นตากัน ท่านไม่ได้พูดว่า ท่านสบายดีอยู่หรือ หรือว่าท่านเป็นอะไร ท่านมาจากไหน ท่านไปยังไง ท่านไม่พูดอย่างนั้น สำนวนของพระอริยเจ้านั่นคือท่านไม่มีสมมุติบัญญัติ ท่านเอาของจริงนี่มาพูด ท่านบัญญัติขึ้นต่างหากของท่าน ตามเป็นจริง สมมุติขึ้นตามเป็นจริง คำว่าคนมันก็ไม่มี คำว่ามนุษย์มันก็ไม่มี เลยท่านเลยเปรียบ พอเห็นหน้าเห็นตาก็ทักทายกัน
สรีรยนฺตํ ยนต์คือสรีระของท่าน
ขมนียํ พออดกลั้นอยู่หรือ
สรีระยันตัง ยนต์คือสรีระของท่านน่ะ จตุจกฺกํ มีจักรสี่ ขมนียํ พออดกลั้นหรือ ท่านถามกันอย่างนี้ สรีรยนตํ จตุจกฺกํ นวทวารํ นี่ทวารเก้า ขมนียํ ท่านอดได้หรือ ทำไมท่านจึงถามอย่างนั้น ท่านไปดูของจริงว่า สรีระนี้เป็นเครื่องยนต์ จตุจกฺกํ จักรสี่ คือได้แก่อิริยาบถสี่ นวทวารํ มีทวาร ๙ นับดูสิทวารของเรามีเก้าหมดทั้งตั้ว ขมนียํ พออดทนทานอยู่หรือ ไม่เหมือนพวกเราทุกวันเนี้ย พอเห็นหน้าเห็นตา สบายดีหรือ อันนี้ผู้ตอบว่าสบาย ถ้าความจริงแล้วโกหกกันทั้งเพ อันถ้าความจริงแล้วโกหกกันทั้งเพ มันจะได้ความสบายมาจากไหน เพียงแต่ว่าพออดพอทนได้ไปวันหนึ่งๆเท่านั้นหละ ไม่มีความสบายหรอกคนเรา
ดังเคยอธิบายให้ฟังมาแล้ว ทุกข์อยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้ที่สุดจะนอนหลับก็ยังมีทุกข์อยู่ ตื่นขึ้นมา รู้สึกขึ้นมาทุกข์ขึ้นมาก็ทุกข์ ขณะที่เราหลับอยู่กับยังทุกข์ คือมันกลับกลิ้งไปมา โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจกลิ้งกลับไปมา แต่มันทนไม่ไหว มันกลับตัวมันเอง นี่แสดงว่าทุกข์เต็มที่แล้ว อดกลั้นไปวันหนึ่งเท่านั้นน่ะ ครั้นถ้าจะพูดถึงเรื่องล้อเรื่องเกวียนละ มันก็กลิ้งไปหมุนไป เราเดินไปเดินมาก็เหมือนกับกลิ้งไปหมุนไปนั่นแหละ ปัญญาที่เรามาพิจารณาอย่างนี้ให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา คิดแตกจากปกติเดิม คือว่าคิดนึกแต่ก่อนเก่าเราเข้าใจว่าเป็นคน ทีหลังถ้าหากเราพิจารณาดังอธิบายมานี้ เกิดความรู้สึกขึ้นมาไม่ใช่คนเสียแล้วคราวนี้ มันเป็นเรื่อง จักรเสียแล้ว มันเป็นเรื่องยนต์จักรกลไกลเสียแล้ว หรือมันเป็นโรคอันหนึ่งเสียแล้ว
นอกจากนั้นอีก หากคนจะมีปัญญาสอดแหลมเข้าไปอีก มันจะเห็นตัวตนคนทั้งหมด ตัวของเรานี้ประกอบไปด้วยอสุภะปฏิกูล ดังที่อธิบายมานั้น ผมก็ปฏิกูลโสโครก ผม เล็บ ฟัน หนัง ยิ่งแล้ว กระดูก เนื้อ เอ็น ยิ่งเป็นของปฏิกูลมาก อาหารใหม่ อาหารเก่าภายในยิ่งแย่ใหญ่ สำนวนโบราณท่านอธิบายไว้ว่า หลุมส้วน คนเราคือหลุมส้วมดีๆนั่นเอง อุคฺฆรนฺตํ ปคฺฆรนฺตํ ไหลออกไหลเข้า ของเก่าออกไหลออกไป ของใหม่ไหลเข้าไป ไหลกันอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่มันขับถ่ายไหลออกไปตามทวารหนัก ตามขุมขนต่างๆ มันก็ซึมซาบขับถ่ายออกไป ชื่อว่าเหงื่อว่าไคล มันต้องเป็นของปฏิกูลโดยส่วนเดียว
ถ้าพูดถึงเรื่องปฏิกูลหละเกลียด ไม่อยากฟัง แล้วไม่ได้คิดด้วย คือไม่อยากเห็นของจริงนั่นเอง ถือว่าเป็นของเลวซะ แล้วไม่ได้ของจริงซักที หากว่าเราสู้ตั้งใจพิจารณาของจริงแล้ว จะเห็นชัดขึ้นมาว่าเป็นของปฏิกูลแท้ อันนี้เราเมินหนีซะ ไม่อยากเห็นของจริง พูดก็เลยไม่อยากพูด คิดก็เลยไม่อยากนึกอยากคิด จึงเป็นเรื่องปกปิดปัญญา ไม่ให้เกิดความรู้ขึ้นมา ไม่เห็นตามเป็นจริงขึ้นมา หรือมิฉะนั้นถ้าหากว่าเราตั้งใจพิจารณาจิตมันอยู่กับที่สงบเป็นสมาธิไปพร้อมๆกัน อาจจะเกิดความรู้มาอีกหลายด้านหลายทาง เช่นเห็นเป็นของปฏิกูลแล้ว เห็นเป็นของปฏิกูลเหมือนกันเป็นเหตุให้เบื่อหน่าย เห็นเป็นก้อนทุกข์ ทนทรมานเอาจริงๆจังๆ
ดังสำนวนพระอริยเจ้าท่านว่า ขมนียํ พออดกลั้นได้หรือ คำว่าอดกลั้นก็หมายความว่า ทุกข์เต็มทีหละ ที่เค้าต้องอดต้องกลั้น ต้องทนทุกข์และสู้กับทุกข์หละ ถึงเรียกว่าอดกลั้น เห็นเป็นก้อนทุกข์ แล้วจะสังเวชสลดใจในตัวของเราเอง ว่าเราแหม จนเราเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ ทนทุกข์เอาเสียจริง แล้วจะเห็นความโง่ของตนอีก เราเพลิดเพลินมัวเมามาแต่ไหนแต่ไร เราไม่นึกคิดว่ามันทุกข์อย่างนี้เสียเลย มาบัดนี้เห็นชัดขึ้นน่ะ
แหม มันก้อนทุกข์จริงๆ เราเพลิดเพลินลุ่มหลงมัวเมานั้น เราไม่เห็นแล้วจะค่อยหลงมัวเมา เมาอยู่ในกองทุกข์ เพลิดเพลินอยู่ในก้อนทุกข์จริงๆ จะเห็นความโง่ของตนเกิดขึ้นมา ความฉลาดเกิดขึ้นแล้วก็เห็นความโง่ของตนหละคราวนี้ ถ้าความโง่ยังปกปิดอยู่ตราบใดแล้ว ความฉลาดไม่เกิด แล้วไม่เห็นความฉลาดซักที ฉลาดก็ฉลาดแกมโง่นั่นแหละ ฉลาดอะไรก็ฉลาดไปเถิด เห็นเพียงเปลือกๆ ตื้นๆเผินๆ เพราะว่าตนเห็นแล้ว ว่าตนฉลาดแล้ว ตนรู้แล้ว เพียงพอแล้ว นั่นน่ะฉลาดแกมโง่ ถ้าไม่เห็นอย่างว่านี้แล้ว มันตั้งโง่แสนโง่ จะไม่โง่ยังไง๊ นอนเฝ้ามาตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยพิจารณาเลยซักที และไม่เคยเห็นอย่างนี้ซักที จะไม่โง่ยังไง
นี่แหละถ้าหากว่าเรามาตั้งหลักจับจุดอันนี้ได้แล้ว มาตั้งใจพิจารณาธาตุขันธ์ อันนี้ว่าเฉพาะถึงเรื่องธาตุ ขนาดพูดถึงเรื่องธาตุ ขณะพูดถึงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลมแล้ว ก็ไม่หนี ก็ติดจากขันธ์ด้วยกันคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็หมายเอาตัวรูปนี่แหละ แล้วจะให้เกิดปัญญาอย่างอธิบายมานี่ นี่มันต้องเข้ามาในนี้ พิจารณาธรรมะ คือพระพุทธเจ้าเทศนาเพื่อให้ชำระตัวตนคนเราแต่ละคนๆ ถ้าไม่เห็นอย่างนี้แล้ว มันจะโลภโมโทสันไปที่ไหนคนเรา มันจะไปหลงความสวยความงามมาจากไหน หลงหนุ่มหลงแก่มาจากไหน มันไม่มีหรอก มันมีแต่จะสลดสังเวชในใจของตน ทิฐิมานะ กิเลสทั้งปวงหมด ความโลภ ความโกรธ ความหลง จะต้องหายหนีเลย หายเด็ดขาดเลย ก็โลภไอ้ตัวธาตุ ๔ จะโลภไปทำไม อสุภะปฏิกูล มันจะหลงว่าตนสวย ตนงาม ตนดี ตนวิเศษวิโสอะไร ว่าตนเป็นหนุ่มเป็นแก่ยังไง ถ้าก้อนดินแท้ๆ
สำนวนโวหารท่าน โบราณท่านแต่งเป็นคำโครงคำกลอนไว้ อวดตนอวดดิน ถ้าพูดหยาบๆ ท่านพูดถึงเรื่องของจริงน่ะ พูดถึงที่สุดเลย อวดกิน อวดขี้ อวดดี แก่ตาย ลองดูสิ ไม่มีปัญหา อวดตน อวดดินไม่มีปัญหาเลย ก้อนดินทั้งก้อนแท้ๆ เอาก้อนดินไปอวดเขาทำไม เอาตัวไปอวดเขา ก็เรียกว่าเอาก้อนดินไปอวดเขา ก็อธิบายมาแล้วว่าธาตุ ๔ คือก้อนดิน เห็นชัดจริงๆคือก้อนดิน เอาก้อนดินไปโชว์บ้านโชว์เมือง มันก็โง่แสนโง่คนเรา อายตนเอง ไปอวดไม่ได้หรอก อย่างว่าอวดตนอวดดิน
อวดกิน อวดขี้ ไม่มีปัญหาอีกเหมือนกัน อะไรก็เอาเถิด ทานอะไรก็เอาเถิด ไม่เป็นอะไรหรอก มันเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ ทานดีไม่ดีก็เป็นอันเดียวกัน เหตุนั้นถ้าหากเข้าใจชัดอย่างนี้แล้ว ทานอะไรก็เอาเถิด ของดีของไม่ดีก็เอา จะเป็นของดีมีค่า มีคุณ หรือของไม่ดีก็เอา ทานเพื่อยังชีวิตให้เป็นไป ถ้าหากขาดอันนี้เสียแล้วเป็นตายคนเรา ตกลงว่าต้องตาย ถ้าหากเรามาเข้าใจงี้แล้ว คนเราทั้งโลกแสวงหาตลอด ๒๔ ชั่วโมง หนักเอาเบาสู้ตลอดกาลเวลา หาเท่าไร่ก็หามาบำรุงอันเดียวคือก้อนเดียวนี่แหละ ไม่ได้หนีจากนี้หรอก แล้วจะรู้สึกตน ละอายตนเอง มันช่างบำรุงของไม่ดีจริงจริ๊ง นี่มันเป็นอย่างนี้ถ้าพิจารณาธรรมมันเข้าไปแล้ว ถ้าพิจารณาถึงเรื่องโลกแล้ว หากิน หาทาน ของเอร็ดอร่อย ของมีค่ามีคุณประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้อะไรต่างๆไป ไม่ใช่แต่เพียงว่าแต่จะหามาบำรุงให้มันมีชีวิตอยู่เท่านั้น ยังจะไปอวดโอ้คนนั้นคนนี้อีก กับคุยโม้ใหญ่โตก็ตาม ใฝ่ใหญ่โต นี่มันออกไปนอก ธรรมมันไม่เป็นธรรม มันต้องไปอย่างนั้น คราวนี้มันก็เลยเป็นเรื่องหามากแล้วคราวนี้ หาน้อยไม่พอ โอ้เท่าไหร่ก็ไม่พอ อวดเท่าไหร่ก็ไม่พอ อวดใหญ่โอ้ใหญ่ กลายเป็นเรื่องลำบากยากยุ่งไปใหญ่โตรโหฐาน ในผลที่สุดก็เมาอยู่คนเดียว
เรื่องเราเมาคนเดียวนั่นแหละ เมามันไม่มีประโยชน์ ถ้าหากเราพิจารณาธรรมะดังอธิบายมานี่แล้ว จะเพลินสนุกในเรื่องการคิดพิจารณา ปัญญาจะเกิดความผ่องใส เราพิจารณาอย่างนี้เรียกว่า สะสมอบรมเจริญปัญญา ปัญญานี่เป็นปัญญาเพื่อพ้นทุกข์ ปัญญานี้เพื่อจิตใจผ่องใส ไม่ได้โอ้อวดผู้ใด ปัญญานี้เป็นปัญญาเพื่อความบริสุทธิ์ ไม่ได้มีกิเลสเข้าไปแฝง แล้วก็อยู่เย็นเป็นสุขทั้งตนและคนอื่น อยู่ไปชั่ววันๆ ได้รับความสุข เมื่อเราละเสียซึ่งความถือตน อหังการ มมังการ มันก็ไม่มีการกระทบคนนั้นคนนี้ มันก็ไม่ไปเดือดร้อนคนอื่น ตัวของเราก็เย็น คนอื่นก็สบาย โลกทั้งหลายถ้าฝึกหัดได้อย่างนั้น มันก็อยู่เย็นเป็นสุขได้ทั้งโลก
อันนี้คนเรามันหาแก้เรื่องภายนอก มันแก้ไม่ไหว อย่างว่าแก้ให้อยู่ดีกินดี รัฐบาลพากันประกาศโฆษณา ให้อยู่ดีกินดี ทำยังไงคิดดูซิ อยู่ดีกินดีอยู่ยังไง ตามธรรมดาหาก็ต้องมีการกระทบกระเทือนในกันและกัน การค้นหาก็แสวงหาด้วยกันทั้งนั้น ใครก็อยากได้ ใครก็หา หาเท่าไหร่ก็ไม่พอ ได้เท่านี้ว่าจะพอมันยังไม่พอ ได้เท่าไหร่ก็ยังไม่พอเสียทีเลย ก็เพราะเหตุที่ความถือตนถือตัว อวดดีอวดเด่น มันจึงค่อยเป็นเหตุให้ทะเยอะทะยาน เย่อหยิ่งขึ้นไป เมื่อเย่อหยิ่งทะนงขึ้นไปมันก็เป็นเรื่องกระทบกันเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แล้วก็เหยียดหยามคนที่จน คนทุกข์ มันจะได้ความสุขมาจากไหนแบบนั้น ฉะนั้นเรื่องทับถมซึ่งกันและกัน
เหตุนั้น ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี พระพุทธเจ้าท่านตรัสเทศนาว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี ผู้ใดมีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ หรือเครื่องรักษาธรรมะ อย่างที่อธิบายมาเนี้ยเรียกว่าปฏิบัติธรรม ธรรมย่อมตามรักษาคนนั้นให้ได้รับความสุข ทุกคนน่ะพากันมีธรรมเป็นเครื่องรักษาแล้ว ได้ความสุขทุกๆคนแล้ว มันก็สุขหมดเท่านั้นสิ อันนี้คนอื่นบางทีมีคนรักษาความสุขมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ คนนอกนั้นไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มันก็กระทบกระเทือนเบียดเบียนกันกับคนอื่นน่ะ คนที่มีธรรมก็เลยพลอยอยู่ไม่ได้อีก นานๆเข้า เพราะอธรรมมันมากกว่าธรรม มันก็เลยวุ่นไปตามกัน ยากเหลือยากที่จะทนทานไหว มนุษย์ชาวโลกจึงเป็นเรื่องทุกข์มาก
เห็นแล้วจึงพากันบำรุง คือว่าเจริญปัญญาดังที่อธิบายมานี้ การเจริญปัญญา ถ้ามันมีที่ตั้งและมันมีที่พิจารณา ไม่มีเครื่องวัด การเจริญสมถะก็ลงนี้เหมือนกัน คือมายึดเอาตัวนี้แหละ พิจารณานี้แหละ พอเราพิจารณาแน่วอยู่ในอันนี้ทีเดียว นั่นเป็นตัวสมถะ ไม่หนีไปจากอื่น ไม่หนีไปจากตัว ไม่หนีไปจากกาย พิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลมดังที่ได้อธิบายมานั้นก็ดี หรือว่าพิจารณาเห็นอสุภะปฏิกูลก็ดี หรือจะพิจารณาเห็นโทษทุกข์ของไม่เที่ยงในสังขารร่างกายก็ดี เมื่อเราพิจารณาแน่วอยู่อารมณ์อันเดียวก็เรียกว่าสมถะ ความรู้แจังชัดตามเป็นจริง มันก็เกิดปัญญาขึ้นมา มันก็อันเดียวกันนั่นแหละ อยู่แห่งเดียวกันนั้นแหละ
เหตุนั้นการปฏิบัติให้มันมีหลัก ให้มันมีเกณฑ์ ถ้าปฏิบัติไม่มีหลักมีเกณฑ์แล้ว งมงายสุ่มสี่สุ่มห้า หยิบโน่นฉวยนี่ ใครว่าดีตรงไหนก็วิ่งไป ใครว่าดีอะไรก็เอาวิ่งไป หยิบมาแล้ว เรามันไม่ดี มันก็ไม่ดีซักที เราไม่ถูกมันก็เลยไม่ถูกซักที ความเป็นจริงธรรมะตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนดังอธิบายมาแล้ว เป็นของถูกแล้วแต่ตัวเรายังทำไม่ถึง หรือทำไม่ทันถูก คือเรายังกระสับกระส่าย วิ่งโน่นวิ่งนี้ อยากได้ดีให้ทันอกทันใจประเดี๋ยวประด๋าวนั่น เมื่อมันไม่สมประสงค์ก็เลยวิ่งหาสิ่งอื่นอีกต่อไป อันแบบนี้เอาเถอะ ไม่ว่าธรรมะธรรมโม ไม่ว่าสิ่งใดๆทั้งปวงหมดหละ หยิบโน่นฉวยนี่ ไม่มีหลักมีฐานหละ เรียกว่าคนจับจด ไม่สำเร็จประโยชน์หรอก ถึงแม้จะอาชีพทางโลกก็เอาเถอะ จับจดก็ไม่สำเร็จประโยชน์แน่นอน การศึกษาเล่าเรียนก็ไม่สำเร็จประโยชน์แน่นอน การปฏิบัติธรรมะก็ไม่สำเร็จ เหตุนั้นจึงพากันตั้งหลัก ปักให้มันแน่น ตั้งมั่นอยู่ในที่นี้ อย่างน้อยที่สุดก็เรียกว่าเราถูกหนทางแล้ว ถึงเรายังไม่เป็นก็อย่าไปทิ้ง ทางนี้เรียกว่าทางมันถูกแล้ว นี่แหละธรรมะที่อธิบายมาในวันนี้ เพื่อให้จับหลักนี้ให้มันได้ เอาไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัด หากยังไม่ไปถึงขั้นนั้น แต่ก็อย่าไปทิ้งหลักนี้ ความเป็นจริงเป็นของถูกแล้ว พระพุทธเจ้าท่านเทศน์สอนไว้อย่างนั้น ให้ฝึกฝนอบรมตรงนี้ จะเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ กายา เวทนา จิตตา ธรรมา นี่แหละ ไม่ใช่ที่อื่นที่ไกล ให้ตั้งหลักนี้ให้มันปักลงให้มันหนักแน่น แน่วแน่มันตรงนี้แล้ว ถ้ายังไม่เป็นก็อย่าไปทอดทิ้งตรงนี้ แล้วอย่าไปทำใจร้อน ขอให้ยึดว่าคือถูกอยู่แล้วหนทาง แต่เรายังไม่ทันถูก คือเรามันใจร้อน คือยังไม่มันปล่อยวางอารมณ์อื่น เรายังมุ่งโน่นมุ่งนี่ สงสัยลังเลอยู่ ถ้าหากเราเชื่อมั่นว่า ไม่ลังเลสงสัยแล้วอันนี้ถูกต้องดีแล้วหละ มันก็เป็นการทอดธุระปล่อยวางเรื่องอารมณ์อื่นๆ มันก็แน่วอยู่ในเรื่องเดียว ก็มีวันที่จะถึงความประสงค์ในการที่เราปฏิบัติ อธิบายมาในวันนี้ก็เพียงแค่นี้แหละ