Skip to content

ธรรมะขั้นสูงเพื่อความหลุดพ้น

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

เทศน์ที่บ้านคุณสุวิทย์ หวั่งหลี วันที่๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๑

| PDF | YouTube | AnyFlip |

สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ต่อแต่นี้ไปจะได้บรรยายธรรมะคำสั่งสอนของพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเป็นเครื่องสดับสติปัญญา พุทธบริษัททั้งหลาย เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมนี้อาตมาเป็นผู้ไม่ค่อยสันทัดในสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ค่อยเข้าตำรับตำราเข้าในแบบแผนตำรับตำรามากมาย พออาศัยการปฏิบัติของตัวเท่านั้นเองคือจะบรรยายให้พวกพุทธบริษัทได้สดับตับฟัง เพราะฉะนั้นสิ่งอันใดวิสัชนาไปไม่เป็นที่ไพเราะก็ต้องขออภัยด้วย

ศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งให้พุทธบริษัทและภิกษุ สามเณร อุบาสกอุบสิกาเข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมะแล้วก็ย่อมได้รับความสงบสุขสบาย เพราะว่าบรรดาผู้เป็นอุบาสก อุบาสิกาและภิกษุสามเณรนั้นไม่มีการเบียดเบียน ไม่มีการฉ้อ ไม่มีการโกหกหลอกลวงซึ่งกันและกัน มีแต่ความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงว่าศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อบุคคลใดมาประพฤติปฏิบัติแล้วก็ย่อมประสบแต่ความสุข ความเจริญ ไม่มีทางที่จะนำไปสู่ทางที่หายนะ หายนะคือเรียกว่านำไปสู่ทางเสื่อม ทางที่จะเป็นไปเพื่อความอบายมุขนั้น ก็เป็นอันว่าคล้ายๆว่าจะปิดไปเลย เพราะฉะนั้นคำสอนพระพุทธเจ้าก็มีสิ่งเหล่านี้เป็นพยานหลักฐาน เทิดทูนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้อยู่จนทุกวันนี้เป็นเวลา ๒๐๐๐กว่าปี ก็มีบรรดาภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา สามเณร เหล่านี้สืบเนื่องจนมาถึงพวกเราเป็นเวลาตั้ง๒๐๐๐กว่าปีนี้กับนับว่าดีเป็นสิ่งที่ดีที่ประเสริฐ

แต่ทีนี้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นนะถ้าเราดูเผินๆเราดูอย่างธรรมดาอย่างนี้เราก็มองยากที่จะซึ้งเข้าไปยาก ต้องอาศัยการปฏิบัติเนี่ยเป็นหลักสำคัญ เราปฏิบัติแค่ศีล ๕ เบื้องต้นเท่านี้ก็นับว่ามีความสุขพอสมควรกับชีวิตความเป็นอยู่ บ้านใกล้เรือนเคียงสมัยเมื่อมีศีล ๕ ด้วยกันอย่างนี้ ก็ไม่ค่อยจะเบียดเบียนก็ไม่มีการลักไม่มีการขโมย อย่างนี้เป็นต้น นี่ว่าถึงวัตถุภายนอก และคราวนี้ถ้าว่าถึงวัตถุภายในก็ทำจิตใจของเราให้สบายไม่เดือดร้อนวุ่นว่ายเนี่ย เพราะฉะนั้นศีลธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า ประเทศเรานี่ก็นับว่าเป็นผู้ที่ถือพุทธศาสนาแต่ก็ยังมีขโจรขโมยมากมายเหลือเกินเพราะว่าพวกนั้นไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ก็จะมาก่อกวนให้พวกที่อยู่ในความสงบสุขนั้นให้เดือดร้อนไปด้วย ก็เพราะผู้ที่ไม่มีศีลธรรม นี่ เพราะฉะนั้นจึงว่าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เคยเข้ามาประพฤติปฏิบัติแล้วย่อมเข้าใจว่าศาสนาก็ศาสนาอย่างนั้นเอง อย่างบรรดาภิกษุอย่างนี้เข้าใจว่าเป็นนักบวชที่ขี้เกียจ ขี้เกียจหาอยู่หากิน แล้วก็เข้ามาบวชอาศัยศาสนา ประเภทนั้นก็มีเหมือนกันแต่มีบางประเภทที่ท่านเห็นโทษ เห็นภัย เห็นทุกข์ในวัฏฏสงสารแล้วก็เข้ามาบวชอย่างนี้ก็มี

แต่ทีนี้คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเมื่อได้บรรพชาอุปสมบท ภิกษุบวชเข้ามาอย่างนี้ก็ขอให้ ให้หาวิเวกคือความสงบ เรียกว่า รุกขมูลเสนาสนะ อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าหัดทำนิสสัย๔ ถือผ้าบังสกุลหรือรุกขมูลต้นไม้เหล่านี้เป็นต้น ทีนี้ผู้เหล่านี้ก็ยังมีผู้บำเพ็ญประพฤติปฏิบัติอยู่ แต่ทีนี้การบำเพ็ญปฏิบัติธรรมะก็อย่างครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านสอนกันมา ญาติโยมก็คงได้ยินกันอยู่เป็นปกติอยู่ ให้บริกรรมพุทโธ การบริกรรมพุทโธอย่างนี้ก็เพื่อต้องการอะไร ต่อนี้ไปจึงได้บรรยายถึงพิธีการปฏิบัติสมาธิ

การที่จะบริกรรมให้ใจเข้าไปสู่สมาธิหรือเรียกว่าการบริกรรมพุทโธนั้นน่ะเพื่ออะไร แล้วมีประโยชน์อะไรกับจิตใจของเรา ตัวนี้ คำที่ว่าการบริกรรมก็หมายความว่าให้ใจเรามายึดถืออยู่กับพุทโธ เมื่อในขณะที่ยึดถืออย่างนั้นท่านก็เรียกว่า สัมมาวายาโม ให้มีความเพียรชอบ ให้พยายามระลึกอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา อย่าให้ใจนั้นกระสับกระส่ายไปอดีต อนาคต ให้มีปัจจุบันธรรมคือพุทโธตัวเดียวอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อบุคคลผู้นั้นเพียรพยายามอยู่อย่างนั้น อยู่อย่างนั้นตลอดเวลาอย่างนั้นแล้ว ไม่ให้จิตของตนส่ายไปในที่ใด ใจนั้นอยู่แต่กับพุทโธ ไม่วอกแวกออกไปอดีต อนาคต มีพุทโธอยู่เป็นปัจจุบันธรรมเป็นเวลาตั้ง ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาที มากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ยิ่งดีขึ้นไปตามลำดับ ใจตัวนั้นไม่มีส่ายไปในอดีต อนาคต มีปัจจุบัน คือพุทโธอยู่อันเดียว เมื่อเป็นอันดับเช่นนั้น ใจของบุคคลเราที่ไม่เคยอบรมฝึกหัดไม่ได้กระทำอย่างนั้นแล้ว เมื่อใจที่เพลินอยู่อย่างนั้นแล้วมันก็ย่อมจะเกิดปีติ ปีตินี้มี ๒ ชนิด คือปีติสำหรับใจ ใจที่ไม่เคยระลึกอยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่งที่อยู่ได้เป็นเวลานานๆ เช่นนี้ ก็ย่อมจะเพลินว่าไปสบายสะดวก ใจอันนั้นเมื่อลักษณะของจิตมันเพลินอยู่นั้น ใจคลายตัวนั้นมันก็เริ่มเบาเข้าไปเป็นลำดับ ท่านจึงจัดว่าเป็นปีติ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าจิตกำลังเดินเข้าไปสู่ความสงบ แต่ทีนี้เราก็ต้องจำเป็นพยายามให้เกิดความสงบให้ได้ คือเมื่อเกิดความเบาเกิดความสบายขึ้นมาก เราก็อย่าเพิ่งไปหยุดบริกรรมพุทโธ ให้บริกรรมพุทโธอย่างนั้นตลอดเวลา จนกระทั่งบางครั้งบางคราวใจตัวนั้นลืมพุทโธไปเลย ก็เข้าไปอยู่ในความสงบวางเฉยเป็นอุเบกขาอย่างนั้น นี่เรียกว่า อย่างนี้เรียกว่าเป็นสมาธิ

ทีนี้คนเราบางคนเข้าใจว่าเรานั้นมีงานมีการวุ่นวายไปทุกอย่างทุกประการเราทำไม่ได้ อย่าไปเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็เป็นอันว่าปิดหนทางที่เราจะต้องเข้าหาความดีเข้ามาสู่ตัวเรา เพราะใจเราทุกคนเนี่ยสามารถที่จะดัดแปลงเข้ามาถึงความสงบหรือเป็นสมาธิได้ทุกๆคน ไม่อ้างใครทั้งหมดนั่นแหละ แม้สัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ไม่เคย สมัยยังเป็นเด็ก ยังไม่เป็นกษัตริย์อยู่ก็ยังไม่เคยประพฤติปฏิบัติ ก็ไม่ค่อยจะเชื่อสามารถเหมือนกันว่าใจเราจะมีความสามารถ เพราะฉะนั้นเมื่อถ้าเรามองให้ซึ้ง หรือถ้าเรามาลองประพฤติปฏิบัติดูแล้วใช้ความเพียรเรียกว่าวิริยะ ความพากความเพียร บริกรรมอยู่อย่างนั้น อย่าให้ใจของเรากระสับกระส่ายไปในที่ๆใดแล้วมันก็ต้องอยู่ได้ ต้องอยู่เรา ต้องลงเรา

เพราะฉะนั้นท่านจึงจัดว่าเป็นสัมมาวายาโม เพียรชอบ ระลึกให้ชอบ ทำให้มากเจริญให้มาก แล้วก็จะเป็นไปถึงความดับสนิท ก็ดับอะไรหละ ก็ดับใจที่คิดวุ่นวาย คิดถึงงานถึงการคิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปนั่นเอง ใจตัวนั้นดับสนิทไม่ขาด ไม่มีอะไรความคิดอะไรเข้ามาเลย งานการทุกสิ่งที่คั่งค้างอยู่ ใจก็ไม่ไปพะว้าพะวง มีใจเป็นหนึ่งอยู่ดวงเดียวนั้น นี่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอาศัยสัมมาวายาโม เพียรชอบ ระลึกอยู่อย่างนั้นให้ต่อเนื่อง อย่าให้ขาดสายออกไปจากใจเรา เมื่อขาดไป รู้สึกตัวก็บริกรรมอยู่อย่างนั้น นี่ นี่ถ้าแม้นเราเพียรอยู่อย่างนี้แล้ว ที๑ ที​๒ ที๓ ที๔ ที๕ ถึงที๑๐ เราก็ต้องรู้จักหัวใจของเราว่า อ๋อ หัวใจเรานี่เมื่อถูกทรมานมากเข้าแล้วก็ย่อมเกิดความสงบสิ วางสิ่งที่เราเคยไม่เคยคิดก็จะวางได้ ก็วางได้ นี่ ก็จะมาเห็นความอัศจรรย์ของใจ ถ้าคนเรายังไม่เคยทำแล้วก็จะมองว่าทำไม่ได้ นี่ อย่าเข้าใจเช่นนั้น

ธรรมะคำสอนพระพทุธเจ้านั้นสอนลงสู่ตัวบุคคลเราให้เราประพฤติปฏิบัติ วางศีล สมาธิ ปัญญาไว้ก็เพื่อให้พุทธบริษัทเนี่ยเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่วางอยู่ในคัมภีร์ใบลานเฉยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลใดเราไม่เคยกระทำแล้ว ก็ต้องอุตส่าห์ฝึกหัด โลกนี้เป็นชีวิตที่อยู่ได้ ๗๐ ๘๐ปี อย่างนานขึ้น ๙๐ แล้วเราก็จะต้องหนีจากไป ก็ขอให้ละเอียด พิจารณาให้ละเอียดด้วยความสงบของสมาธิแล้วเราจะเห็นว่าโลกนี้ มีแต่เต็มไปด้วยความวุ่นวายเดือดร้อน กระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง เมื่อหัวใจของเราไม่หยุดแล้ว มันจะดิ้นรนกระวนกระวายอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา นี่ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการทำความสงบตัวนี้ เพื่อเป็นที่จะดัดแปลงแก้ไขให้ใจนั้นไม่เดือดร้อนวุ่นวายไปในที่ต่างๆนี่แหละ

เพราะฉะนั้นจึงว่าต้องให้อุตสาหะพยายาม เราอย่าไปเข้าใจว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมะไม่ได้ หัวใจของเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ ตราบใดแล้วเราก็ต้องทำได้อยู่ตลอดทุกเวลา เนี่ย เพราะฉะนั้นจึงให้ญาติโยมตั้งใจฝึกหัด อย่าไปว่าเรายังหนุ่มยังสาว ยังไม่สมควรจะเข้าวัดเข้าวา การไม่เข้าวัดเข้าวาก็ได้ อยู่ในบ้านแต่เราสร้างเอาเอง ทำเอาเองอย่างนี้ ได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์แล้วก็อุตส่าห์ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติไป เมื่อวันหนึ่งได้ วันสองมันก็จะต้องได้ บางคราวก็ไม่ได้ขึ้นมาก็มี เราก็อย่าไปเสียใจ แต่เราทำไปทุกวันๆ วันใดที่เกิดความสงบแล้ว จนกระทั่งเราฝึกความสงบได้จนชำนิชำนาญเข้าไปตั้งอยู่เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงหรือบางคนนั้นตั้งชั่วโมง ใจนั้นปลอดโปร่งได้ทุกวันๆอย่างนี้ ก็น้อมมาพิจารณาโลกสงสารที่ความเป็นอยู่ของเรานั่นเอง

นั่นแหละ เอาสิ่งเหล่านั้นมาพินิจพิจารณา เรียกว่ามาค้นคว้าด้วยปัญญา เราเหนื่อยเรายาก เราหาเงินหาทอง หาข้าวหาของ ทุกสิ่งทุกประการแล้วเอามาทะนุบำรุงร่างกายสังขารของเรานี้ ปรนบำเรอทุกอย่างทั้งเปรี้ยว ทั้งหวาน ทั้งเค็มให้ทานลงไปหมดทุกชนิด แต่ทีนี้ทำไมเราบังคับเค้าไม่ได้ เกิดครั้นถึงเวลาเราเจ็บป่วยไข้มาอย่างนี้ เราบังคับเค้าไม่ได้ นี่ เราก็ต้องว่าสิ่งเหล่านี้มาพินิจพิจารณา แล้วเราป้อนอาหารดีๆให้กิน อาหารดีๆทุกอย่าง แต่เวลาเธอเจ็บทำไมเธอเจ็บ เอ้อ แล้วเวลาขัดทำไมเธอขัด ก็ต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาใคร่ครวญ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า รูปัง อนิจจัง รูปตัวนี้ไม่เที่ยง แล้วเราก็เอาความคิดตัวเนี้ยมาพิจารณาดู ไหนทำไมเราที่เลี้ยงดูเค้าอยู่ทุกวันๆแล้วเราว่าเที่ยง แล้วทำไมพระพุทธเจ้าว่าไม่เที่ยง เรามาฟังดูอย่างนี้ อ้าว เมื่อถึงคราวที่เค้าเจ็บเค้าป่วย เราบอกให้หายเค้าก็ไม่หาย เค้ายังเจ็บอยู่ก็แสดงว่าอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง แล้วท่านแสดงว่าไม่ใช่ตัวตนเรา ก็นั่นแหละถ้าเป็นตัวของเราเราก็ต้องบอกว่าอย่าเจ็บ เจ็บแล้วเธอก็ต้องหายแบบนี้ แต่ทีนี้เจ็บแล้วก็ไม่หาย เพราะเราบังคับไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน สมกับที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า อนิจจัง แล้วไม่เที่ยง บังคับบัญชาไม่ได้ นี่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา

แต่ทีนี้เราก็พยายามบังคับบัญชา หาเลี้ยงดูให้อย่างอิ่มหนำสำราญ แต่ถึงเวลาที่จะวิบัติเป็นต่างๆนานา มันก็ต้องเป็นไปตามยถากรรม แต่ทีนี้การค้นคว้าพิจารณาด้วยปัญญานั้นน่ะ มันเป็นสิ่งที่ยาก การใคร่ครวญตัวนี้เป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่าเมื่อบุคคลที่มีใจอันสงบและเมื่อจะเดินปัญญาขึ้นมาอย่างนี้ บั้นต้นลำดับที่จะยกจิตมาพิจารณาอย่างนี้ ไปได้ซัก ๒-๓ ที มันก็จะมีอารมณ์หนุนเนื่องเข้ามาไปใหญ่ทีเดียว เราก็ต้องสังเกต คือการที่จะสังเกตอย่างนั้นก็หมายความว่า เรานึกในอารมณ์ตัวนี้มาพิจารณา แต่มีอารมณ์ตัวอื่นเข้ามาแทรกบ่อยๆอย่างนี้แสดงว่านั่นจิตของเรา สมาธิไม่แข็งเต็มที่ เมื่อเรายกตัวนั้นขึ้นมาพิจารณาแล้วก็ไม่มีอารมณ์อื่นมาแทรกเข้ามา มีเฉพาะมีความคิดของเราตัวนั้นตัวเดียว นั่น ท่านว่าเป็นอย่างนั้นเรียกว่า สมาธิดี พร้อมด้วยสรรพปัญญา ให้ลงมือค้นคว้าลงไปให้มากๆ ท่านจึงตรัสว่า ภาวิโต พาหุลีกโต เจริญให้มาก ทำให้มากแล้วก็จะเป็นไปเพื่อความอภิญญายะ จะเป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง นี่ เป็นอย่างนั้น

ความรู้แจ้งรู้ที่ไหน รู้อยู่ที่ตัวของเรา คำที่ว่าแจ้ง ลองฟังให้ดีๆนะทีเนี้ย คำที่ว่ารู้แจ้งรู้อย่างไร รู้ตรงไหน รู้ก็เพราะคำที่ว่ารู้ตัวนั้นก็รู้ที่พูดนี่ไปว่า ไอ้ที่ว่าอารมณ์อันหนึ่ง คือเรียกว่าเป็นอารมณ์หรือความคิดอันหนึ่ง ที่ว่าขาเจ็บ มือเจ็บ อันนั้นเจ็บ หัวเจ็บ อย่างนั้นอย่างนี้ รู้ก็ต้องรู้ตัวนี้ ไม่ใช่รู้ตัวที่อื่น รู้ตัวกิริยาของใจคือคิดนึกตัวนี้เอง คือเรียกว่ารู้ด้วยปัญญา เมื่อรู้อย่างนั้นแล้ว มันก็แจ้งชัด มันก็วาง อารมณ์ตัวนั้นก็ดับไป ถึงแม้จะเกิดขึ้นมา ถ้าเรามีความรู้มีปัญญาแรงกล้าแล้ว ตัวนั้นก็ไม่สามารถจะมาทำ ทำลายจิตใจของเราให้เศร้าหมองขุ่นมัว นี่

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมะก็ต้องอาศัยการค้นคว้าพินิจพิจารณาให้มากๆ อันใดเป็นของๆเรา อันใดที่เราว่าสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบใจก็ต้องเอาสิ่งนั้นมาค้น บ้านช่องข้าวของเงินทองแล้วก็มาใคร่ครวญดู ไอ้เหล่านั้นเค้าก็ไม่ได้บอก เรานี่จะเอา…เป็นผู้เอาใจไปขวักไขว่พะว้ากังวล ความขวักไขว่ ความกังวลตัวนั้นแหละท่านว่าเป็นสมุทัย ทำให้ใจของเรานั้นหลงเพลิดเพลิน เป็นห่วงเป็นอาลัยอาวรณ์อยู่อย่างนั้น หายไปก็รำพึงรำพันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เนี่ย เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าตัวนั้นนำมาซึ่งตัวของสมุทัย นำมาซึ่งทุกข์ เพราะฉะนั้นก็อย่างเทศน์อย่างนี้ ก็เทศน์ไวๆเร็วๆอย่างนี้ มันก็นั่น …แต่เวลาเอาเข้าจริง มันก็ต้องเป็นเวลาหลายๆปีนะโยม ต้องสู้กันนานๆ พิจารณาตัวเนี้ยเป็นสิ่งที่ยาก การค้นคว้าพิจารณาเนี่ยเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยชอบ บุคคลผู้ที่ทำสมาธิเมื่อเกิดความสงบแล้ว ชอบเข้าไปอยู่เฉพาะศาสตร์ความสงบตัวนั้น ไปอาศัยสมาธิตัวนั้น นานเข้า นานเข้ามันก็เสื่อม เสื่อมคือเรียกว่า ตั้งจิตเข้าอย่างเดิมไม่ได้ อย่างถ้าแม้นเราตั้งจิตเข้าอย่างเดิมไม่ได้ตัวนั้น เราก็ต้องมาแก้ใหม่ด้วยวิธีอะไร ทีนี้จะมาอธิบายให้ฟัง

ก็เมื่อมันเป็นอย่างนั้นก็ต้องมาแก้กันด้วยการบริกรรมนั่นแหละ เพราะจิตมันตก จิตตกก็ต้องมาบริกรรมอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา อย่างที่เราเคยได้เกิดความสงบอย่างนั้น อย่าได้ทิ้งตัวนั้น ว่าอย่างนั้น เราไม่ต้องไปหมายให้จิตจะสงบหรือไม่สงบ แต่ขอให้สังวัธยาย คือเรียกว่าให้บริกรรมพุทโธนั้นให้อยู่ตลอดเวลา แล้วใจนั้นเมื่อได้กระทำอย่างนั้นมากเข้าๆก็เกิดความสงบเองโดยที่เราไม่ต้องสงสัย เนี่ย เป็นสิ่งสำคัญเพราะนิวรณ์นั้นน่ะ สู้ความจริงไม่ได้ เพราะนิวรณ์เกิดขึ้นแล้วมันย่อมดับไปแต่ใจของเรานี่คือความรู้ความฉลาดที่มีความเข้มแข็งต่อสู้

พระพุทธเจ้าจึงแสดงว่า ขันติ พากเพียรพยายามอย่างนั้นแล้ว ใจตัวนั้นก็ต้องเกิดความสงบ นี่ เมื่อเกิดความสงบแล้ว เราก็ต้องอาศัยการพินิจพิจารณา การพินิจพิจารณานี้ก็ต้องดูอะไรรู้อะไร รู้อะไร รู้คือรู้ใจที่คิดที่นึกปรุงแต่งตัวนั้นเอง เรียกว่ารู้ เรียกว่ารู้จักสมุทัย สมมุติๆ เพราะใจที่มันไปติดอันนั้นอันนี้ว่ารูปแดง รูปขาว รูปเขียว รูปเหลือง ตัวเนี้ยที่ไปปรุงไป เมื่อเรามาตามรู้มาพิจารณาตัวนี้ลงไปแล้ว เมื่อเห็นสภาวะสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหลอกลวง เป็นเครื่องทำของใจเราให้เกิดความลุ่มหลงต่างหาก ใจตัวนั้นก็จะแยกออกมา นี่ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น หลักการพุทธศาสนาก็ต้องอาศัยตัวนี้แหละตัวปัญญานี่เป็นสำคัญ ค้นคว้าพินิจพิจารณา

แต่ทีนี้ถ้าเห็นจริงลงไปอย่างนั้นนะ ก็ไปเห็นตัวที่พิจารณานั้นเอง ตัวที่ว่า ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เห็นตัวนั้นเอง เห็นอย่างกระชั้น ทำไมจึงว่าเห็นอย่างนั้น ก็ไปเห็นไอ้ความคิดนึกปรุงแต่งตัวนั้นสิ ที่ว่าเป็นของ เป็นเล็บ เป็นหนัง เป็นกระดูกเป็นตับไตไส้พุงตัวนั้น ตัวนั้นเป็นตัวผู้ว่า แล้วผู้ว่าตัวนั้นมันก็ไม่จริง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงว่า ศีลเป็นบาทของสมาธิ สมาธิเป็นบาทของปัญญา อ้าว แล้วทีนี่ปัญญาเป็นบาทของวิมุตติ ฟังให้ดีนะ ปัญญาเป็นบาทของวิมุตติ เพราะความหลุดพ้น ความปล่อยวางของใจ ความปล่อยวางของใจ ใจที่ปล่อยวางในอารมณ์ทั้งหลายนั้นน่ะ มันต่างกันกับใจที่มีอารมณ์ เพราะใจที่ไม่มีอารมณ์นั้นมันอยู่ด้วยความสงบ แต่สงบด้วยธรรมชาติที่มีใจที่รู้อยู่อย่างนั้นโดยไม่เกี่ยวเกาะกับอะไรทั้งหมด

นี่การปฏิบัติธรรมะ ก็ต้องอาศัยจิตตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นอย่างพระองค์พระพุทธองค์สัมมสัมพุทธเจ้าอดข้าวอดปลา จนกระทั่งบำเพ็ญเกือบเป็นเกือบตายเพื่อจะได้ตรัสรู้ธรรมะของพระองค์ แล้วก็มาพร่ำสอนพวกเราจนกระทั่งถึงทุกวันเนี้ย ก็นับว่าพวกเราเป็นผู้มีลาภ ลาภประเสริฐมา เกิดขึ้นมาพบปะพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นลาภานุจริยะ เป็นลาภอันประเสริฐสูงสุดของมนุษย์พวกเราทั้งปวงนี่แหละ เพราะฉะนั้นอาตมาแสดงธรรมก็เอาย่อๆ วันนี้ร่างกายไม่ค่อยสบายเลย เพราะฉะนั้นเมื่อท่านทั้งหลายได้สดับตับฟัง ฟังธรรมะบรรยายพอย่อๆพอเป็นพิธีแล้ว จึง​โอปนยิโก น้อมไปพิจารณาเห็นสิ่งที่เกิดที่จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจของเรา จะสร้างความรุ่งเรืองให้อนาคตของเราขึ้นมาในสัมปรายภพ แล้วจงนำธรรมะที่อาตมาแสดงนี้เอาไปใคร่ครวญตรึกตรองพินิจพิจารณา เมื่อเห็นดีเห็นชอบแล้ว จงลงมือประพฤติปฏิบัติต่อนั้นไปก็จะได้บังเกิดความสุขความเจริญงอกงาม ด้วยศาสนธรรมคำสั่งสอนพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังแสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้ เอาละ ย่อๆ