Skip to content

ท่ามกลางโลกธรรม

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก

| PDF | YouTube | AnyFlip |

อันดับต่อไปให้พากันตั้งใจฟังและก็ตั้งใจปฏิบัติควบคู่กันไปพร้อมกับการฟัง คือการปฏิบัติเราก็หาทำได้ยาก ยากที่เราจะปลีกเวลาออกไปปฏิบัติคือการนั่ง นั่งภาวนา ถือว่าเป็นการปฏิบัติ มันไม่เหมือนเราทำงาน ไม่เหมือนกับเราจัดงาน คือการปฏิบัติคือมีแต่การนั่ง และก็จะต้องหาสถานที่ที่ให้มันปราศจากการคลุกคลีหรือว่าเสียงที่รบกวน คือเราทำกันด้วยความสงบ ทำด้วยความสบาย คือไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอะไรทั้งสิ้น ถือว่าเราปฏิบัติ 

ทีนี้เราฟังไปด้วยเราก็ปฏิบัติไปด้วย การปฏิบัติมันไม่ใช่ว่าเราจะไปทำอย่างอื่น คือเป็นการฝึกฝน ฝึกฝนจิต นี่การปฏิบัติ แต่ว่าเอากายมากระทำ หรือว่าเอากายมานั่ง สู้ด้วยทางกาย แต่ใจนั้นเป็นผู้กระทำ เป็นผู้ปฏิบัติอยู่ข้างใน แต่ส่วนกายนี้มันไม่มีอะไร มีแต่นั่งอย่างเดียว โดยท่าทางอันสงบ แต่ส่วนใจมันอยู่ภายในคือในร่างกายนี่น่ะ เราจะหาท่านผู้นั้นจึงว่าเอาร่างกายมานั่ง ก่อนที่จะเอามานั่งเพราะอะไร ก็เพราะเขาอยู่ด้วยกัน คือมันมาอาศัยร่างเสียก่อนตั้งแต่เกิดมาโน่นน่ะ อาศัยร่าง ทีนี้มันก็อยู่ด้วยกันมาจนตลอดถึงทุกวันนี้ มันยังไม่ได้แยกจากกัน เราจึงเอาร่างกายมานั่ง เมื่อร่างกายมันมานั่ง ตัวเขาก็อยู่ด้วย 

ทีนี้เพื่อจะเอาร่างกาย หรือปฏิบัติเพื่อหาร่างกายหรือ เพื่อจะนำร่างกายจะไปสู่สุคติสวรรค์หรือ ก็หาใช่ไม่ ร่างกายน่ะเป็นสะพานสำหรับที่จะให้เราเดิน เดินข้าม ก็คือเอามาทำ เมื่อเอาร่างกายมาทำ ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ ก็ผู้ที่อยู่ข้างในนั่นน่ะ ก็หาดูซิว่าผู้ที่อยู่ข้างในมันคือใคร เรามีกันหรือไม่ ก็หากันดูสิ เราจะหาท่านผู้ที่อยู่ข้างในน่ะ ผู้ที่จะมาอาศัยร่างกายนี่ มันก็ได้แก่ใครหละ ก็ได้แก่ใจเราเท่านั้น เราจะปฏิบัติท่านผู้นั้น 

ทำไมจึงจะปฏิบัติท่านผู้นั้น ก็ท่านผู้นั้นท่านก็อยู่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ก็หลายภพหลายชาติ หลายกัปป์หลายกัลป์ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่พระองค์นั้นน่ะทราบแล้วว่าการท่องเที่ยวหลายภพหลายชาติ ท่านก็บอกว่ามันหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ถึงจะมีที่สิ้นสุด แต่มันก็ยาวนาน ทีนี้การท่องเที่ยวน่ะ เที่ยวไปเที่ยวมาน่ะ ความสม่ำเสมอในการเที่ยวไป มันยังไม่พร้อม หรือว่ามันไม่เสมอไป อย่างที่เรามาในครั้งนี้แหละแต่เรามาเป็นมนุษย์ แต่เราก็พร้อมไปด้วยมนุษย์สมบัติ อันนี้เราก็ถือว่าเราดีหละ แต่ส่วนที่เราผ่านมาน่ะ มันเป็นมนุษย์สมบัติหรือเป็นอะไรมา เราก็หาทราบไม่ 

ถึงจะเป็นอะไรมาก็ตาม พระพุทธเจ้าท่านก็ยังตรัสว่า ความเป็นทุกข์ในการไปและการมาและการอยู่ของตัวเอง มันก็ยังอยู่คงที่ มันก็ยังเป็นทุกข์อยู่ แต่ก็หาหนทางที่จะออกจากทุกข์​แต่มันก็ออกไปได้ และมันก็ไม่มีทางไป พระองค์จึงได้มาชี้หนทางนี่หละ หนทางออก ก่อนพระองค์จะชี้หนทางออก ก็พระองค์ออกไปแล้วน่ะ คือออกได้แล้ว คือมีตัวอย่างแล้วท่านจึงบอก พร้อมไปด้วยพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าของพระองค์ ท่านก็ออกไปแล้ว 

ทีนี้การออกนี่ ออกไปเพื่ออะไร มันเป็นยังไงถึงจะออก มันมีความหมายอะไร การออกนั้นท่านว่าจะหาอะไรที่จะมาสุขเทียบไม่ได้ จะหาอะไรมาเสมอเหมือนไม่ได้ ท่านถือว่ามันเป็นยอดของความสุข และเป็นยอดของความเป็นมงคล แล้วท่านจึงได้มาตรัส และท่านจึงได้มาชี้ ชี้หนทางให้ออก ให้ออกเหมือนอย่างท่าน และก็จะให้มันไปได้เหมือนอย่างท่าน ความหมายในการที่ท่านชี้บอก ทีนี้การออก ก่อนพระองค์จะออกได้ ก่อนพระองค์จะหนีได้ ก่อนพระอริยเจ้าทั้งหลายจะหนีได้ ก็ด้วยการปฏิบัตินี่แหละ เราก็มุ่งประเด็นในทางออกนั้นหละ แต่จะออกได้หรือไม่ได้ แต่ก็ความมุ่งความประสงค์ของพวกเรา ความเจตจำนงมันก็มีอยู่อย่างนั้นตลอดก็คืออยากออกนั่นหละ แต่จะออกได้เวลาไหนนั้น อันนั้นมันเป็นอีกเรื่อง แต่เราก็จะต้องการปฏิบัติ ก็ปฏิบัติเพื่อออกนั้นน่ะ 

ถ้าออกไม่ได้มันเป็นอะไร ถ้าออกไม่ได้ก็เป็นบารมี ก็คือเป็นบุญบารมี อันดับแรกเราก็ต้องการบุญซะก่อนนั้นน่ะ ถึงมันไปไม่ได้ แต่ว่าบุญมันก็ยังเป็นสิ่งที่จะรับรองของการปฏิบัติของเราอยู่ เรียกว่าไม่ได้ไร้คุณค่า ก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์ บุญนั้นมันเป็นที่รองรับ บุญนั้นก็เป็นที่รับรองเราอยู่ ก็เหมือนกับเราที่ผ่านมา ก็บุญนั่นหละสนองเรามา ก็เราจึงได้มาเป็นมนุษย์สมบัติ ทีนี้เมื่อเราทำไป แต่ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ถึงเป้าหมาย ก็บุญนั่นหละบุญบารมีนั่นหละก็รับรอง ก็จะสนองเราต่อไป แต่เราจะไปอยู่ชาติไหนภพไหนน่ะ นั้นมันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ก็แล้วแต่อำนาจความดีของเราที่จะตามสนองเรา ที่ว่าตามสนองน่ะมันสนองใคร ก็ให้เราคิด สนองผู้ที่อยู่ข้างใน ผู้ที่เรามาปฏิบัติ ผู้ที่เรามาหา ก็เราหาดู เราก็ตรวจดูสิ 

ทีนี้การตรวจของเรานั่นน่ะ ใช้สติและปัญญาให้มันรอบคอบกันเสียบ้าง อันไหนมันผิด อันไหนมันถูก เราก็ควรจะทราบด้วยตนเองกันเสียบ้าง เรามาผิดหรือเราจะมาถูก เราจะไปผิดหรือเราจะไปถูก เราก็พิจารณาด้วยตนเองกันเสียบ้าง ก่อนที่เราจะพิจารณาได้ ที่จะรู้แจ้งได้ ที่จะเข้าใจชัดในตัวของตัวเองได้ ต้องอาศัยความสงบเสียก่อน 

การปฏิบัตินี่ก็เพื่อความสงบนั่นหละ เราจะทำโดยวิธีไหนเราก็ต้องการความสงบ แต่ความสงบนั้นมันไม่ใช่อยู่ข้างนอกน่ะสิ ใครเป็นผู้สงบน่ะ ก็ผู้ที่อยู่ข้างในนั่นหละ ใครหละผู้อยู่ข้างในที่มันมากับกาย ที่กายมานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ แต่มันยังวุ่นวี่วุ่นวาย ยังกระโดดโลดเต้นของมันอยู่น่ะ นั่นหละผู้นั้นหละ ก็จะหาผู้นั้นให้มันสงบเดี๋ยวเนี้ย จะให้มันระงับ แต่ความสงบของเขามันจะไปสงบตรงไหน เราก็ต้องหาสถานที่ให้เขาอีกทีหนึ่ง และเราก็ต้องรู้สถานที่ของเขาอีกทีหนึ่ง เวลาเขาสงบนั้น เขาไม่ได้ไปสงบอยู่ข้างนอก เขาก็สงบอยู่ข้างในน่ะ ก็ในไหน ก็ในท่ามกลางหน้าอกเราน่ะ นั่นหละสถานที่ 

แม้แต่ความวุ่นวายของเขา เขาก็วุ่นวายตรงนั้นน่ะ บางครั้งก็เหมือนอกจะแตก เวลามันวุ่นวายมา แต่เวลาสงบมันก็สงบตรงที่นั้น เราก็หาสถานที่ให้เขา เมื่อสถานที่เขาอยู่ตรงนั้น จำเป็นหรือเราจะไปที่อื่น จำเป็นหรือเราจะไปท่องเที่ยว เราจะเข้าไปหาสถานที่อันที่มันสงบนั้นจะไม่ดีหรือ เมื่อมันสงบแล้วมันจะเอาไปทำไม ก็มันไประงับความวุ่นวายนั่นหละ อันที่มันวุ่นวายที่มันฟุ้งซ่านก็จะเอาไประงับตรงนั้น แล้วมันสงบมันก็สงบลงตรงนั้น เวลารู้มันก็รู้ตรงนั้น เวลาสุขมันก็สุขตรงนั้น เวลาวุ่นมันก็วุ่นอยู่ตรงนั้น มีบารมีหรือไม่มีบารมีมันก็อยู่ตรงนั้น นั่นหละเข้าไปตรงนั้น 

ก่อนที่เราจะเข้าไปโดยวิธีไหน และทำยังไงมันจะเข้าไปได้ ทางเข้าของเขามันอยู่ตรงไหน ก็ทางเข้าของเขานั่นน่ะ พระพุทธเจ้าก็บอกไว้แล้ว ก็คืออานาปานสติ ก็คือลมหายใจเข้าหายใจออก ก็ตั้งแต่ปลายจมูกนี่หละ นี่หละทางเข้าของเขา เขาก็จะเข้าไปตรงนี้ คือให้เขาเข้าไปตามลม เวลาลมหายใจเข้าเราก็ตามเข้าไป หายใจออกเราก็ตามออกมา เข้าไปแล้วก็ออกมา อยู่แค่ปลายจมูกเราเท่านั้นหละ นี่ทางเข้าไป 

ทีนี้เมื่อเวลาเราเข้าไปน่ะ ออกมาน่ะ ก็ให้มีพระพุทธเจ้าอันที่เรามีความเคารพนับถือสักการะบูชาอย่างยิ่ง ก็ให้พระองค์ตามไปด้วยจะไม่ดีหรือ ก็จะดีกว่าหายใจทิ้งเฉยๆไม่ใช่หรือ ก็เอาพระพุทธเจ้านั่นหละเข้าไปด้วย เวลาเราหายใจเข้าไป เราก็ว่า “พุท” ซะ เวลาออกเราก็ว่า “โท” ซะ นี่สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความสงบในเบื้องต้น ก็เราทำแบบนี้ก่อน นี่ทางเข้ามันเข้าไป คือให้พระพุทธเจ้านั่นเข้าไปด้วย และก็ให้ออกมาด้วย เราปฏิบัติท่านอยู่เพียงแค่นี้นะ 

นี่การปฏิบัติ นี่ทางเข้าไปนะ เพื่อจะให้เขานั่นน่ะเข้าไประงับยับยั้งความวุ่นวาย เพื่อเขาจะได้นำเอาความสุขมาให้ตัวเขาบ้าง เพื่อเขาก็จะได้นำเอาบุญเอากุศลมาให้เขาบ้าง นี่การปฏิบัติ ก็อยู่ในร่างกายนี่หละ ในระยะนี้มันอยู่ร่างกายนี่หละ ทุกคนก็มีร่างกายแล้ว กายเราก็เอามาใช้แล้ว ส่วนงานภายนอกเราก็ทำแล้ว งานทางโลก เราก็ได้ประโยชน์กับเขาน่ะ แต่ได้ประโยชน์ทางกายแล้วก็พร้อมได้ด้วยใจ เราก็ใช้เขาอยู่ 

ทีนี้งานทางธรรมก็ให้มันมีบ้าง เราก็นำเข้าไปสิ นำท่านเข้าไปสิ เพราะธรรมะมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ท่ามกลางเนี่ย เรียกว่ามัชฌิมา ก็คือความเป็นกลาง กลางของโลก กลางของความเป็นโลก ที่ว่าโลกธรรมน่ะ โลกธรรมมันมีอะไร เค้าเรียกว่าธรรมประจำโลก ก็ให้อยู่ในความเป็นกลาง กลางรัก กลางชัง คือความยินดีและความยินร้ายนั่นน่ะ คืออย่าให้มันไปยินดี อย่าให้มันไปยินร้ายในอารมณ์ต่างๆท่านว่า แล้วให้อยู่ในระหว่างกลาง ระหว่างกลางทั้งสองนั้น ตลอดทั้งอดีต ดีทั้งอดีต ความไม่ดีทางอดีต ก็ให้อยู่ในระหว่างกลาง กลางอดีต กลางอนาคต กลางอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ คือความยินดีกับความไม่ยินดี ความยินดียินร้ายนั่นหละ นั่นหละให้ตั้งอยู่ในท่ามกลาง 

เมื่อตั้งอยู่ในท่ามกลางนั่นหละท่านเรียกว่ามัชฌิมา คือความเป็นกลาง สิ่งที่มันบังคับให้เกิดความวุ่นวายมันเพราะอะไร ก็เพราะความยินดี ก็เพราะความยินร้าย ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต เราเอาท่านผู้รู้ของเรานั่นหละไปตั้งไว้ตรงที่ท่ามกลาง แล้วก็ให้ตามลมเข้าไป อันดับแรกก็ตามลมตั้งแต่ปลายจมูก แล้วก็นำพระพุทธเจ้าเข้าไปด้วย ก็คือพุทโธ พระพุทธเจ้าก็คือพุทโธหละ ไม่ใช่ไปเอาตัวตนของท่านหรอก เอาแต่ชื่อ เอาแต่นาม เอาแต่คำบริกรรม ตามเข้าไปสิ ไปอยู่ในระหว่างความเป็นกลางเพื่อกำจัดอดีตบ้าง เพื่อกำจัดอนาคตบ้าง เพื่อกำจัดความยินดีบ้าง เพื่อกำจัดความยินร้ายบ้าง ก็จะได้อยู่ด้วยความเป็นกลาง 

เมื่ออยู่ด้วยความเป็นกลาง สันติก็คือความสงบเริ่มมันจะเกิดขึ้นแล้ว และมันก็จะเกิดขึ้น นี่ความสงบมันอยู่ตรงนั้น ตรงที่ความเป็นกลาง ทีนี้เราทำความเป็นกลางไม่ได้มันลำบากอยู่ เดี๋ยวมันก็ยินดีทางนี้ซะ มันก็ไปยินร้ายทางโน้นซะ ยินดีทั้งที่เป็นอดีตที่ผ่านมาแล้ว แล้วก็ยินร้ายกับอดีตที่มันผ่านมาแล้ว มันเป็นอยู่สองประเด็นนี้หละ กระโดดข้ามกันไป กระโดดข้ามกันมา แทนที่มันจะลงในระหว่างกลาง มันก็ไม่ลงซะ มันกระโดดไปกระโดดมา เพราะฉะนั้นเราจะเอาความเป็นกลาง เอาความเป็นมัชฌิมาในตัวเอง มันจึงยาก ก็ไม่ว่าใครนั่นนะ ที่มันจะบรรลุเป้าหมายนี่มันยาก นี่หละวิธีการที่เราจะเข้าไปน่ะ จะได้บรรลุหรือไม่บรรลุก็ตามเถอะ อันนั้นเอาไว้ก่อน แต่เราเข้าไปก่อน ให้ได้เข้าไปเห็นมันซะก่อน ความเป็นกลางมันอยู่ตรงไหน 

เมื่อเราไปอยู่ด้วยความเป็นกลาง มันสงบแล้ว มันสุขแล้ว มันสบายแล้ว มันตั้งมั่นแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะไปอยู่เฉยๆนะ จะไปสุขอยู่เฉยๆก็หาไม่ จะไปตั้งมั่นอยู่เฉยๆมันก็หาไม่ ก็มันก็ต้องใคร่ครวญใช้วิจารณญาณของตัวเอง พิจารณาหาหนทาง ทางที่มันเข้ามานี่ มันเข้ามาโดยวิธีไหน แล้วเข้ามาอยู่แล้วมันมีอะไร อะไรในที่อยู่ของตัวเองมันก็จะต้องสำรวจสิ ที่ว่ามันเป็นญาณบ้าง ที่ว่ามันเป็นฌาณบ้าง ที่ว่ามันเป็นหูทิพย์บ้าง เป็นตาทิพย์บ้าง เป็นอิทธิฤทธีบ้าง เป็นมโนมยิทธิบ้าง เป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณบ้าง มันอยู่ในนั้น เราจะไปอยู่เฉยๆมันจะได้หรือ ธรรมะอะไรมันจะเกิดขึ้น ก็เราก็ต้องดูเอาสิ นั่นหละพวกญาณมันเกิดก็เกิดในนั้นน่ะ นั่นหละจึงเข้าไปตรงนั้น 

เมื่อเข้าไปตรงนั้น่ะสารพัดอย่างธรรมะที่มันจะเกิดขึ้น แม้แต่บุญทุกประเภทจะบุญใกล้บุญไกล บุญที่ไหนก็ตาม ก็อยู่ตรงท่ามกลาง อยู่กับคนๆนั้น อยู่กับท่านผู้นั้น ท่านไปทำเอามาจากไหน ก็จะไปอยู่กับท่านนั่นน่ะ ไม่ใช่ว่าไปทำตรงนั้น มันจะอยู่โน้น ทำแล้วมันก็มาอยู่กับท่านผู้นั้นผู้ที่อยู่กลางน่ะ แม้ว่าเราจะไปทำอยู่ประเทศอินเดีย เวลาทำอยู่โน้น แต่บุญนั้นจะอยู่อินเดียก็หาใช่ไม่ ก็มาอยู่ในท่ามกลางนี่หละ อยู่กับท่านผู้ทำนี่หละ ผู้รู้ที่อยู่ท่ามกลางเรานี่หละ มารวมกันอยู่ตรงนี้ แม้ที่ไปก่อภพก่อชาติที่ว่าไปเกิด ก็ท่านผู้นั้นแหละไป ก็บุญของตัวเองมีเท่าไหร่ เค้าก็เอาไปหมด มันก็ไปด้วยกันหมด 

แต่สำคัญว่าการไปนี้หละ มันไม่มีใครรู้ ปัญหาอยู่ตรงนี้ มันยาก แม้จะไปสู่อบายภูมิก็ดี แม้จะไปสู่สุคติก็ดี มันไม่มีใครรู้ มันไม่มีใครเห็นเวลาไปนี่ เพราะมันสลับซับซ้อน มันปิดบังอย่างลึกซึ้ง ไม่ให้ได้เห็นง่ายๆ มันปิดบังเอาอย่างที่ว่าจนคนปฏิเสธน่ะ ที่มันไปน่ะ เหมือนกับเราที่มานี่หละ มันก็ปิดหนทางเรา ย้อนหลังไปดูซิ ไม่รู้ว่ามาจากไหน แล้วข้างหน้าที่เราจะไปมันก็ปิดอีก เราก็พากันมาทำกันนี่ก็เพื่ออะไร มันจะปิดจะเปิดอะไรก็ตาม ก็ทำอยู่นี่หละ ก็เผื่อมันอยู่นั่นน่ะ จะเผื่อขนาดไหนมันก็ปิดอยู่ขนาดนั้น  แต่ว่าผลมันจะรับหละ ถึงจะปิดมันก็รับ ถึงจะเปิดมันก็ได้รับ ก็เพราะมันอยู่ในตัวเขาแล้ว เขาได้ทำแล้ว แต่มันไปแบบโดยที่ว่าลึกลับ 

แม้แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ยังไม่รู้นะเบื้องต้นว่าเขามาอย่างไร และเขาไปอย่างไร พระองค์ก็ยังหาได้ทรงทราบไม่ ตอนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้นี่ ที่ว่ามันเกิดบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวขยักญาณ ตอนที่ตรัสรู้นี่หละ จึงได้ใคร่ครวญและพินิจพิจารณาทวนหลัง พระองค์ก็ได้ทรงทราบวิถีการเดินทางของพระองค์มา แม้กระทั่งถึงบุคคลอื่น พระองค์ก็ทรงทราบว่าเคยได้ทำอะไรมา เมื่อพระองค์มาทรงรู้อย่างนี้แหละ เปิดของที่คว่ำอยู่ให้หงาย แล้วพระองค์ก็จึงได้นำเอามาสอนเรานี่หละ 

ทีนี้การสอนท่านก็สอนด้วยเจตนาดี ถึงท่านจะสอนขนาดไหนก็ตาม แต่ว่าตัวภายในของเรานี่ มันก็ยังไม่เห็นอยู่ตามเคย แล้วมันก็ยังปฏิเสธของมันอยู่ตามเคย ก็เพราะมันไม่เห็น ก่อนที่มันไม่เห็นมันก็เพราะอะไร ก็เพราะมันไปอยู่สองฟากฝั่งนะสิ ฝั่งที่หนึ่งก็คือความยินดี ฝั่งที่สองก็คือความยินร้าย ฝั่งที่หนึ่งก็คืออดีต ฝั่งที่สองก็คืออนาคต ทีนี้มันไม่ได้ลงเป็นกลางให้นะสิ ความเป็นกลางมันไม่มีก็ไม่รู้ว่ามันจะไปรู้เห็นอะไร ก็เพราะมันไม่อยู่ 

ส่วนอดีตมันก็ลากหนีไปซะ ส่วนอนาคตที่ยังไม่มาถึงมันก็คำนวณไปโน่นว่ามันจะไปยังไง ส่วนความยินดีมันก็ยินดีในสิ่งที่มันได้ดีมา ส่วนความยินร้ายมันก็ไม่พอใจกับความยินร้ายมันก็เหี่ยวแห้งใจ เกิดโทมนัสก็คือความทุกข์ใจ แทนที่มันจะลงไปตรงกลาง มันก็ไม่ลงซะ แล้วจะไปพิจารณาอะไรมันก็พิจารณาไม่ได้หละสิในส่วนกลางในส่วนภายใน แต่มันก็ได้แต่ภายนอก เอาแต่ข้างนอก หยิบยกเอาข้างนอกนี่หละออกมาว่ากันอยู่นี่ ออกมาวิจารณ์กันอยู่นี่หละ แต่มันไม่ได้เข้าไปซักที ทีนี้ความรู้เห็นอันที่มันเป็นมา ที่เราเป็นมานี่ มันก็เลยไม่รู้สิ 

ทีนี้การที่เราจะไปข้างหน้า เราก็ไม่รู้อีกหละ มันปิดไปหมด ก็เมื่อมันปิดไว้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่าอะไรหละ ก็เรียกว่า อวิชชา นั่นหละ นั่นพระพุทธเจ้าก็เลยเอาอันนี้มาให้คืออวิชชา ก็ได้แก่ความมืด คือมันไม่มีวิชามันก็มืดซะ นั่นหละพระองค์ก็ตั้งเอาตัวนี้มาให้ มาให้ใคร ก็มาให้จิตทั้งหลายทั่วโลกนั่นหละ ก็ไม่ใช่เฉพาะแต่เราหรอก มันก็มืดมนอนธการกันอยู่นี่หละ 

เพราะฉะนั้นเราควรนำเข้าไป นำเข้าไปตั้งแต่ปลายจมูกเรานี่แหละ ตามช่องปลายจมูกของเราและก็ตามลำคอลงไป ก็เข้าไปหาปอด แล้วก็ย้อนออกมา เข้าไปออกมาอยู่อย่างนี้ก่อน แล้วก็กำหนด พุทโธๆๆ เข้าไป นี่หละการกระทำ นี่หละการปฏิบัติ เราอย่าไปเข้าใจแต่ว่าบริกรรม แล้วกำหนดลมหายใจเข้าใจออก ก็จะว่าแต่ถูก จะบริกรรมอันใดก็ตามมันก็หายใจตามเคยน่ะ ว่าจะยุบหนอ พองหนออย่างนี้ ก็หายใจนั่นหละ ก็หายใจเข้าไป แล้วว่าพอง หายใจออกมาก็เรียกว่ายุบ มันก็อันเดียวกันนะหละ หายใจเข้าใจออก 

แต่ว่าเมื่อเข้าเมื่อออกก็ไม่ใช่ว่าจะให้มันเข้ามันออกอยู่เพียงแค่นั้น ผลของการเข้าการออก ผลของการกำหนดก็เพื่ออะไร เราก็ต้องคิด เขาก็ประสงค์ความสงบนะให้ทำน่ะ ก็ไม่ใช่จะให้ตามลมอยู่อย่างนั้นตลอดปีตลอดชาติหรอก ไอ้ลมน่ะถึงเราจะตามก็ตาม ไม่ตามก็ตามมันก็เข้าก็ออกของมันน่ะ แต่ผลประโยชน์ของการที่เรามากำหนดนั้นน่ะเพื่ออะไร ก็ทำความเข้าใจกันบ้างสิพวกเรา เพื่อความสงบนะ เมื่อสงบแล้วมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับลมนะ เราก็จะได้พิจารณาธรรมนะ 

ถ้างั้นก็จะมาแต่กำหนดลมเข้าลมออกอยู่นี้หละ การที่จะไปพิจารณาธรรมที่จะให้เกิดปัญญาขึ้นมา มันก็เลยไม่ได้อีกหละ มันก็ได้แค่ลมอย่างน้ันหละตลอดปีตลอดชาติ แต่ธรรมะอันที่มันจะเกิดขึ้นกับการพิจารณาธรรมที่เราได้ไปอยู่ด้วยความเป็นกลาง ธรรมะอันนั้นจะได้ละเอียดลึกซึ้ง มันจะได้ออกหนีจากพวกอวิชชา มันก็จะได้เปิดประตูออกมั่งสิ 

อันนี้เขาปิดประตูตันหมด เราไม่มีทางไปเลย มีแต่วนหน้าวนหลังอยู่นี่ เขาใส่ลูกกลอนอะไร ก็หาได้รู้ไม่ มีแต่ปิดประตูกันตัวเองอยู่นี่ ไม่รู้จักทางไป ไม่รู้จักทางมา ทีนี้เราก็เข้าไปเปิดประตูบ้างสิ ประตูอวิชชาน่ะ มันปิดเรามาทำไม ทีนี้การเข้าไป เข้าไปตรงไหนหละ ก็เข้าไปที่ท่ามกลางหน้าอกน่ะ แล้วให้ไปอยู่ด้วยความเป็นกลาง กลางอดีตหรือกลางอนาคต กลางความยินดีกับกลางความยินร้าย คือมันไม่กระทบทั้งสองฝั่ง ไม่กระทบทั้งสองทาง ถ้าอยู่ด้วยความเป็นกลางได้นั้นหละ พระองค์จึงได้เรียกว่าเป็นมัชฌิมา คือความอยู่ด้วยความเป็นกลาง 

นี่กลางข้างใน กลางของธรรมะ กลางมรรค กลางผล มันจะเกิดมรรคเกิดผล อะไรมันก็จะเกิดสิ หูทิพย์ ตาทิพย์ มันก็เกิดในนั้นน่ะ มโนมยิทธิ อิทธิฤทธี มันก็เกิดในนั้น อภิญญามันก็เกิดในนั้น ฌาณมันก็เกิดในนั้น ทีนี้เราจะพิจารณาอะไรมันก็ง่ายสิถ้าเข้าไปอยู่ด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่ว่าจะอยู่แล้วก็อยู่สบายแล้วก็จะอยู่ ก็ไม่ใช่นะ ใคร่ครวญพิจารณาอีกทีเพื่อจะให้มันเกิดปัญญาขึ้นมา เพื่อหาหนทางออกนะ ไม่ใช่ว่าจะไปหมกอยู่ ไปแล้วให้หาหนทางออกจากพวกนี้หละ พวกอดีต พวกอนาคต ดีในอดีต ดีในอนาคต ร้ายในอดีต ร้ายในอนาคต ก็เพื่อเราจะหนีพวกนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปอยู่นะ เราต้องพิจารณาธรรมให้ดีนะ 

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของที่ลึกซึ้ง ไอ้ส่วนประเพณีนิยมของพวกเรา เราก็ทำกันอยู่ ก็ทำกันอยู่อย่างนี้ นี่เป็นประเพณีนิยม ทำเพื่ออะไร ก็เพื่อความเป็นบุญเท่านั้นหละ แต่ว่าบุญนั้นนะมันอยู่ตรงไหนเท่านั้นหละ ก็คือท่านผู้นั้น ผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในความเป็นกลาง ถ้าเข้าไปนั้นแล้ว มันก็หมดหละทีนี้ ทีนี้เราจะเข้าไปได้หรือเปล่านะ เข้าไปในนั้นมันก็ไม่ใช่ว่ามันจะมีแต่ว่าพวกฌาณพวกญาณ สิ่งที่มันกดฌาณ กดญาณ สิ่งที่จะทำลายก็พวกกามาสวะ อวิชชาสวะ ก็พวกอาสวะก็คือพวกกิเลส ก็มันก็ทับถมเข้าอีกหละ มันก็ปิดบังไม่ใช่ว่ามันจะมีอย่างเดียว นั่นหละเราจะเข้าไปแก้พวกนี้ 

ในจิตแต่ละคนไม่ใช่ว่ามันจะไปปลอดสะอาดเมื่อไหร่ ไอ้เราที่ว่าเราบริสุทธิ์มันก็ว่าอยู่ได้หรอกบริสุทธิ์ภายนอก เราไม่ได้ประกอบความชั่ว จะเป็นความบริสุทธิ์ทางกายทางวาจาของเราก็ได้อยู่ แต่ส่วนภายใน สุทธิ อสุทธิ ปัจจตัง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ก็เพราะตน เนี่ยมันตรงนี้สิ เราควรเข้าไปดูสิ 

นี่วิธีการปฏิบัติ ทางที่เราจะปฏิบัติไม่ได้เข้าไปหาใครนะ และไม่ได้ไปเกาะใครนะ ไม่ได้ไปขอใครนะตรงนั้น ไม่ได้ไปอ้างถึงใคร ถ้าเข้าไปถึงนั้น ไม่ได้อ้างใคร ไม่ได้ไปเกาะใครหรอก เป็นอิสระ เราจะเดินไปด้วยอิสระ และก็ไม่ได้ไปอ้างว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น องค์นั้นเป็นอย่างนั้น องค์นั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ไปอ้างหละ จะไปอ้างอะไรหละ ก็มันเรื่องของตัวเองหละที่เข้าไปถึง เราไม่ได้ไปอ้างใครแล้วตรงนั้น อ้างตัวเองเท่านั้นคืออ้างก็อ้างอยู่ภายใน มันไม่ได้มาหาอวดคนหรอก มันรู้ของมันนะสิ มันก็หาหนทางออกของมันนั่นน่ะ 

นั่นหละมันจะย้อนหลังได้หละ ในอดีตก็ภพในอดีตชาติอาจจะปรากฏบ้าง แต่เราก็ไม่รู้ก็มี เคยได้ประสบพบเห็นในนิมิตอะไรต่างๆ ซึ่งมันแสดงบอกในเรื่องของเก่าของหลังบางอย่างนี่ มันก็เกี่ยวกับพวกอดีต เกี่ยวกับการกระทำของตัวเองที่เคยทำมา ก็คือกรรมนั่นหละ กรรมที่เคยทำมาในอดีตชาติ มันก็บอกมาสิ มันก็บอกอดีตชาติน่ะ ก็บอกเรื่องกรรม แล้วมันก็ตามมาสนอง มันก็ญาณมันก็เกิดในนั้น แม้แต่อนาคต บางทีมันก็บอกหนทางจะไป 

ทีนี้มันก็บอกในตัวของมันนะสิ เมื่อมันบอกเราก็ต้องไปสิ เราก็ต้องเดินตามที่เขาบอก ก็คือตัวของตัวเองสอนตัวเองน่ะตอนนั้น เป็นเอกเทศ เราจะต้องไปของเรา จะไปใกล้ไปไกลได้ขนาดไหนก็แล้วแต่อายุของเรา กำลังจะได้ดีมันก็มาตายซะอย่างนี้ก็มี แทนที่จะได้ดีซะ พอเริ่มจะได้ดีนิดหน่อย กำลังจะเริ่มไป มัจจุมารมันก็เลยมาตัดรอนซะนี่ เลยมาสังหารอย่างนี้มันก็มี 

เหมือนกับพระอริยเจ้านั่นน่ะ แค่ได้โสดาบัน แทนที่จะบรรลุไปถึงอนาคา ไปไม่ได้ มัจจุราชมันตัดก่อน คือมันตายก่อนอย่างนี้ก็มี ที่ไปอยู่พรหมโลกกันน่ะ ที่ว่าไปอยู่ชั้นสุทธาวาสหรือไปอะไร ก็เพราะอายุนั่นหละ แทนที่จะบรรลุอรหันต์ มัจจุราชมันจัดการก่อนซะ แค่โสดาบัน แทนที่จะได้บรรลุไปถึงโน่น มันก็ไม่ได้ให้ไป เอาแค่นั้นก่อน ก็พอได้ไปเสวยสุขซะก่อน แล้วก็จะได้มาเกิดอีกซะก่อน 

พระโสดาบันนี่ก็มาเกิดเพียง ๗ ชาติ ตามตำราว่านะ เอกพิชีนี่ชาติเดียว โกลังโกละนี่ ๓ ชาติ สัตตักขัตตุงปรมะ ๗ ชาติ มันมีอยู่ ๓​ ชั้น แค่โสดาบัน ก็ไม่ใช่ว่าโสดาบันแล้วจะเสมอกัน แค่โสดาบันก็ยังไม่เสมอกัน ก็ยังจะมาเกิดอีกซะก่อน ชาติหนึ่งซะก่อน บางองค์ก็ ๓ ​ชาติ บางองค์ก็ ๗ ชาติ ก็เพราะมัจจุราชนั่นน่ะมันมาสังหารซะก่อนซะนั่น มันกลัวเราจะได้ดี ในขณะนั้นมันเอาไว้ก่อน อย่างที่เรากำลังที่จะได้ดี ได้ดีนี่ บางทีมันเกิดมาสังหารซะนี่ มันเป็นนะพวกมารเนี่ย เรียกว่ามัจจุมาร 

เพราะฉะนั้นพวกเรานั่นน่ะอย่าพากันประมาทในชีวิตคือความเป็นอยู่ของตัวเองให้มากนั้น ถ้ามีโอกาสและเวลาก็ให้พากันสำนึกบ้าง และก็ให้พากันกระทำบ้าง ทำก็ไม่ได้ทำอะไรมากหรอก แต่ว่านั่งนี่หละมันยาก มันลำบากนะนั่ง น้อยเดียวก็เท่านั้นหละ เกี่ยวกับแข้งกับขานั่นหละ ไอ้ตัวนี้หละมันตัวลำบาก ให้มันนั่งมันก็เจ็บซะ ปวดแข้งปวดขา ให้นั่งสบายก็นั่งได้ แต่มันก็ไม่ถูกระเบียบกับการที่จะนั่งภาวนา++สิ จะนั่งฟังมันก็ฟังไปก่อนหละ จะนั่งภาวนามันก็นั่งขัดสมาธิ เหมือนกับพระพุทธรูปน่ะ ท่านนั่งขัดสมาธิยังไงก็นั่งอย่างนั้น ที่พระพุทธเจ้าสอนมาอย่างนั้นเราก็ต้องเอาตามนั่นหละ 

แต่ว่าการนั่งนี่มันลำบาก ถึงจะลำบาก มันก็หากมีส่วนศรัทธามันก็พอไปได้ แต่เจ็บถึงมันก็เจ็บหรอก แต่มันก็มีสิ่งที่ตอบแทน สิ่งตอบแทนความเจ็บก็คือบุญกุศล ถ้าหากว่านั่งได้ก็คือความสงบสุข มันก็มีสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ว่ามันจะเจ็บแล้วก็จะเจ็บไปโดยไร้ประโยชน์นะ แล้วก็พอออกจากภาวนามันก็หาย มันก็ไม่ใช่ว่าจะเจ็บไปตลอด แต่ว่ามันนั่งยาก มันมีสิ่งตอบแทนอยู่นะ ก็ให้เราเข้าใจกันบ้าง 

เหมือนกับเราทำบุญนั่นหละ ให้ทานน่ะ เอาทานไปร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง เราถือว่ามันมีตอบแทนนะ เราจึงให้น่ะ เราจึงทำ มันก็เหมือนกันนั่นน่ะ การภาวนามันเจ็บ มันก็มีสิ่งตอบแทนก็คือบุญกุศล ถ้ามันได้ความสงบก็คือความสงบนั่นหละตอบแทนจิต ใจสบายน่ะตอบแทน แต่ขามันก็หาย ออกมาแล้วมันก็หาย ก็ทำงานได้ มันไม่ใช่ว่ามันจะเป็นไปเลย เราก็พากันคิดกันบ้าง ก็อย่าไปคิดแต่ว่ามันเจ็บซะเราก็เลยเลิกกันเลย แล้วก็ไม่ทำเลย มันก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาให้อีก ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำกันยังไง นี่เรื่องมันเป็นอย่างนี้นะ 

เพราะฉะนั้นหละ เราทุกคนที่ได้เกิดมาน่ะ สมบูรณ์แล้วด้วยความเป็นมนุษย์สมบัติ เราควรที่จะรักษาคุณสมบัติอันที่จะนำให้เราเป็นมนุษย์สมบัตินี้ เอาไปบ้าง ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เอาชีวิตไปแลกมา ก่อนที่เราจะมาได้ ก่อนที่เราจะได้มาประพฤติปฏิบัติกันน่ะ พระองค์เอาชีวิตไปแลกมานะ ผู้เดียวนะครั้งแรกน่ะ ต่อมาก็ยังค่อยมีพระสงฆ์ พระองค์เอาชีวิตไปแลกมา แล้วเราก็จึงได้พากันมา มาปฏิบัตินี่

เมื่อปฏิบัติแล้วก็ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะมาแย่งเอากับเรา พระองค์ก็เพื่อว่าจะให้เธอทั้งหลายจะได้ถึงซึ่งมนุษย์สมบัติ ถ้ายังไม่ถึงที่สุดก็ให้ได้ไปเกิดทางที่ดีบ้าง นี่ เพื่อจะได้เป็นมนุษย์สมบัติบ้าง ความหมายของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ก็ให้เราเข้าใจอย่างนี้ ถ้ามันถึงที่สุดก็ไป พระองค์ก็ไม่ได้ว่า ถ้าไม่ถึงก็ให้ได้มนุษย์สมบัติเอา ก็เหมือนกับเราได้มนุษย์สมบัติถึงจะยากจะง่าย มันก็ได้แล้วมนุษย์สมบัติ ก็อยู่กันอย่างนี้หละ ก็ทะเลาะกัน ก็ทะเลาะไป เถียงกัน ก็เถียงไป ฆ่ากันก็ฆ่ากันไป แต่มันถึงแล้วมนุษย์สมบัติ จะทำยังไง จะอยู่จนชีวิตหาไม่นั่นหละ 

ดังนั้นหละเราทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังมา ที่ได้อธิบายมา ก็พอที่จะเป็นที่เข้าใจและให้พากันกำหนดจดจำเอาไว้ เพื่อนำเอาไปเป็นข้อคิดและเพื่อจะไปปฏิบัติตาม เมื่อเราประพฤติปฏิบัติตาม ขออานิสงส์อันนั้นจงบังเกิดแก่ท่านผู้ฟังและผู้ปฏิบัติตาม สมควรแก่สติและกำลังของตัวเองที่จะปฏิบัติได้ ดังที่ได้แสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้