Skip to content

ทุกขเวทนา

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ โอกาสนี้ไปเป็นโอกาสฟังธรรม เป็นโอกาสนั่งสมาธิภาวนา การนั่งสมาธินี้ให้พากันนั่งขัดสมาธิเพชร การนั่งขัดสมาธิเพชรนี้ให้เอาขาซ้ายขึ้นมาทับขาขวาก่อน แล้วก็เอาขาขวาขึ้นมาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้เที่ยงตรง หลับตา นึกบริกรรมภาวนาพุทโธรวมจิตใจเข้าไปภายใน ในขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนาจงเป็นผู้มีสติความระลึกได้อยู่เสมอ ว่าเราจะไม่พลั้งเผลอลุ่มหลงไปอยู่ใต้อำนาจกิเลส พยายามปล่อยวางอารมณ์เรื่องราวอดีตอนาคตออกไปให้หมดสิ้น ทำจิตใจของเราภายในนี้ให้ผ่องใสสะอาด ระลึกอยู่ในคุณพระพุทธเจ้า พุทโธทุกลมหายใจเข้าออก ตั้งจิตตั้งใจประกอบกระทำจริงๆ ถือกาลเวลาปัจจุบันเป็นหลัก ปัจจุบันธรรม ธรรมอันเป็นปัจจุบัน ผู้ใดรวมจิตใจเข้าไปสู่ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน จิตใจของผู้นั้นย่อมไม่มีความสั่นสะเทือน ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เรียกว่าตั้งใจมั่น 

ดูองค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า วันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันนั้น พระองค์ภาวนากำหนดอานาปา ลมหายใจเข้าออก เป็นอุบายภาวนา ลมเข้าไป ลมออกมา จิตใจอยู่ที่ไหนพระองค์ก็รวมจิตใจของพระองค์เข้าไปภายในนั้น จนจิตใจของพระองค์ตั้งมั่นเป็นขณิกสมาธิ อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ เป็นจิตใจอันไม่ไหวหวั่นพรั่นพรึงต่อเหตุการณ์ใดๆ เป็นผู้เสียสละทุกสิ่งทุกประการ ในคืนวันนั้นเองพระองค์ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก จึงได้มีเมตตาแก่สัตว์โลก ช่วยโปรดแนะนำสั่งสอน สอนสมาธิภาวนาไว้ให้พวกเราทั้งหลาย 

เมื่อเรายังมีชีวิตลมหายใจอยู่ ก็ให้ตั้งใจกำหนดภาวนาให้ได้ทุกลมหายใจ ลมหายใจที่เข้าออกอยู่นี้ ก็แสดงถึงมรณกรรมฐานอยู่ในตัว เราจะรู้ ใครจะรู้จะเห็นก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม แต่ว่าลมหายใจเข้าออกนี้แสดงถึงความแตกดับอยู่ตลอดเวลา ลมเข้าไปลมออกมาก็แสดงความไม่เที่ยง แสดงความเป็นทุกข์ แสดงความไม่ใช่ตัวตนของเราอยู่ในตัว เมื่อจิตใจของผู้ใดมาตั้งมั่น ระลึกได้ทุกลมหายใจ และมองเห็นภัยอันตรายอันใหญ่หลวงที่จะมาถึงชีวิตของเราทุกคนสิ่งนั้นก็คือความแตก ความดับ ความตาย ความตายนี้ไม่มีใครหลบหลีกได้ และความตายนี้เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน ทุกคนที่เกิดมาไม่ว่าเพศหญิงเพศชายคฤหัสถ์บรรพชิต ต้องถึงซึ่งความแตกดับนี้ด้วยกันทั้งนั้น นี่หมายถึงรูปขันธ์ร่างกายสังขารที่เรานำมานั่งภาวนาอยู่เดี๋ยวนี้ขณะนี้ รูปขันธ์นี้จะต้องถึงซึ่งความแตกดับ 

เมื่อผู้ใดมองเห็นได้แจ้งชัดทุกลมหายใจว่าเราต้องตายแน่ๆ ไม่มีอะไรจะมาแก้ไขได้ จิตใจผู้นั้นก็จะได้เร่งรีบภาวนา ตรวจกาย พิจารณาร่างกาย จนเห็นร่างกายของตัวเองนี้เป็นก้อนอสุภกรรมฐาน เป็นธาตุกรรมฐานคือธาตุทั้ง ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประชุมรวมกันอยู่เท่านั้น ธาตุอันนี้เองมีความแก่ชรา มีความเจ็บไข้ และมีความแตกดับเป็นธรรมดา เมื่อธาตุเหล่านี้ยังอยู่ คนเราก็มีชีวิตจิตใจ ยืน เดิน นั่ง นอนไปมาได้อยู่ แต่เมื่อธาตุอันนี้ ธาตุกรรมฐานนี้คุมตัวไม่ได้ลงสู่ความแตกดับเมื่อใดเวลาใด ธาตุกรรมฐานก็กระจัดกระจายไปตามหน้าที่ของกรรมฐาน ธาตุกรรมฐานนั้น 

จิตใจผู้อยู่อาศัยในก้อนธาตุกรรมฐานอันนี้จะมายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเราทุกสิ่งทุกอย่าง พระพุทธเจ้าทรงตรัสแล้วว่ารูปนามนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รูปนามกายใจนี้เป็นตัวทุกข์เป็นก้อนทุกข์ ทุกขเวทนาต่างๆที่เกิดในร่างกายสังขารอันนี้จะแสดงให้เราเห็นปรากฏอยู่ทุกวันคืนเดือนปี เพราะว่าร่างกายอันนี้มันแสดงให้เห็นว่าเป็นก้อนทุกข์เป็นกองทุกข์ คือมันทนอยู่ เป็นอยู่อย่างนี้ไม่ได้ หรือว่าทุกขเวทนาความเจ็บป่วย ในเมื่อเวลาความไม่อยู่ดีสบายของร่างกายสังขารนี้ เราจะมองเห็นได้ รู้ได้ทีเดียวว่า เราความทุกข์ความเจ็บปวดทุกขเวทนานั้นมันเสียดแทงเข้าไปถึงดวงใจ จิตใจที่ยังมีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา เป็นตัวข้าของข้า เป็นตัวกูของกูอยู่ เมื่อจิตยังยึดอยู่อย่างนั้น ทุกขเวทนาก็เสียดแทงเข้าไปในหัวใจเพราะว่ารูปร่างกายที่แท้นั้นเค้าไม่รู้จักเจ็บปวดทุกขเวทนาอย่างไร ถ้าจิตใจออกจากร่างกายไปแล้ว เดี๋ยวนี้จิตใจมันยังครองอยู่ในร่างกายสังขารรูปขันธ์อันนี้ เมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วยอันใด โรคชนิดใดบังเกิดมีขึ้น จิตใจก็จะได้รับทุกขเวทนาในเมื่อเวลาร่างกายไม่อยู่ดีสบายนั่นเอง 

ก่อนที่ร่างกายจะถึงความแตกดับวิบัตินั้น เราจะต้องภาวนาทำความเพียร ทำใจให้สงบระงับ จนมารู้แจ้งในตัวในกายในจิตในรูปธรรมนามธรรมของเรานี้ว่าเป็นของไม่แท้แน่นอน ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนนี้มันมีอยู่เต็มโลก ไม่เฉพาะแต่ร่างกายสังขารตัวตนคนเราเท่านี้ ภายนอกก็เหมือนๆกัน ต่างแต่ว่าความไม่เที่ยงนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามรูปอันนั้นที่มันใหญ่มันเล็กประการใดก็เปลี่ยนแปลงไปตามหน้าที่อันนั้น ส่วนจิตใจผู้มาเสวยทุกขเวทนา สุขเวทนา เฉยๆเวทนา ก็คือดวงจิตดวงใจนี่เอง ส่วนธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ร่างกายสังขารนี้ถ้าจิตใจออกหนีจากร่างไปแล้ว ยังเหลือแต่ร่างกายนี้ เขาเฉยทั้งนั้น เขาไม่ว่าเขาเป็นอะไรทั้งนั้น ใครจะทำอะไรให้ก็ทำได้ แม้กระทั่งเขาเอาไปฝังดินก็ไม่ว่าอะไร เผาไฟจนเป็นขี้เถ้า เขาก็ไม่ว่าอะไร นั่นแหละ คือว่าธาตุแท้ ธาตุดินแท้ เขาไม่ทุกข์ 

ผู้ทุกข์นั้นก็คือจิตใจหลง จิตใจไม่รู้ จิตใจไม่ภาวนา จิตใจหยุดไม่อยู่ ดวงตาไม่เห็นธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า จึงได้เกิดความทุกข์โทมนัสคับแค้นแน่นใจอยู่ภายในจิตใจของตัวเอง จึงจำเป็นต้องตั้งอกตั้งใจปฏิบัติภาวนา อย่าให้จิตใจพลั้งเผลอ ไม่ให้ใจหลงใหลไปกับอารมณ์ภายนอก สิ่งใดที่เกิดขึ้นในเวลาปัจจุบัน ก็ละในเวลาปัจจุบันอันนั้น สิ่งใดที่มันล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นมันก็หมดไปแล้ว สิ่งใดยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่มาถึง จิตใจผู้รู้ผู้เห็นมีอยู่ในจิตในใจของพวกเราในขณะนี้เวลานี้ ก็ให้รวมจิตใจเข้ามาอยู่ที่นี้

คำว่าที่นี้หมายถึงปัจจตังจำเพาะจิต ที่โน้นก็คือว่านอกออกไป ที่นี้ก็เดี๋ยวนี้ขณะนี้ รู้ที่ไหนก็รวมจิตใจเข้าไปในที่นั้น เสียงที่เราได้ยินอาศัยโสตหูรับเข้าไป เมื่อรับเข้าไปในหูแล้ว จิตใจผู้รู้แหละอยู่ภายในนั้นจึงรู้ว่าเสียง รู้ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่รู้นั้น ดวงจิตทั้งนั้น ถ้าจิตดวงนี้ยังอยู่ในร่างกายสังขารอันนี้อยู่ ก็ชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่ ท่านจึงให้ภาวนาทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก พุทโธๆในใจ นั่งก็พุทโธในใจ ยืนก็พุทโธในใจ เดินไปมาที่ไหน ไปรถไปราก็ภาวนาพุทโธไป อย่าได้ประมาทมัวเมา เมื่อจิตใจของผู้ปฏิบัติไม่ประมาทมัวเมาแล้ว ภาวนาอยู่ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก มองเห็นชาติ ชรา พยาธิ มรณะขวางอยู่ภายในตัวเรานี้ ก็จะได้รีบเร่งตั้งอกตั้งใจ ปฏิบัติบูชาภาวนาให้เต็มที่ก่อน ก่อนความตายจะมาถึงเข้า 

ถ้าผู้ใดอาศัยความประมาทมัวเมา ไม่ทำจิตใจของตนให้หลุดให้พ้นออกจากรูปนามกายเสียก่อน เมื่อชรา พยาธิ มรณะมาถึงเข้า ก็ย่อมร้องไห้น้ำตาไหลว่าทำไมหนอเราจึงมีความทุกข์ ความยากลำบาก รำคาญ เจ็บปวดทุกขเวทนาเหลือทนเสียแล้ว จิตใจผู้นั้นก็ย่อมเศร้าโศกเสียใจ ทุกข์โทมนัสคับแค้นแน่นอยู่ในใจ เพราะไม่ภาวนา ไม่ถอนตัวอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนในสมมุตินิยมนี่เอง ถ้าหากว่าเราภาวนาจนถอนความยึดความถือว่าเป็นตัวเราของเราออกไปได้ ก็จะเห็นว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมันก็เพียงแต่รูปขันธ์ร่างกายนั้นเอง เขาเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าจิตไม่ไปยึดถือ มันก็ไม่ทุกข์ ถ้าจิตยึดถือมากก็ทุกข์มาก ยึดถือน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดเสียเลย ความทุกข์ก็ไม่มี เหมือนกับว่ามันดับไป แท้ที่จริงมันก็มีอยู่ในรูปนามกายใจนั้นเอง แต่ผู้มายึดถือไม่มี มันก็ไม่เกิดความทุกข์ขึ้น ถ้าความยึดถือมี มันก็เกิดความทุกข์ขึ้น 

อย่างคนเราได้รับความติเตียนนินทาว่าร้ายป้ายสีให้แก่กัน คนอื่นดุด่า เมื่อตัวเองไปยึดถือ มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาว่าเค้าว่าให้เรา เค้าด่าเรา เค้าดูถูกเรา เพราะมันมีเรา มีตัวของเรานั่นเองเป็นเหตุปัจจัย ถ้าหากว่าจิตนี้มารู้เท่าทันว่าตัวเราของเรานั้น มันเป็นเพียงสมมุติให้เป็นเท่านั้น ความจริงมันไม่ได้เป็นของเราเลย ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เค้าก็มีอยู่ในโลกอย่างนี้มาตั้งแต่ตั้งโลกตั้งคนมาเป็นอยู่อย่างนี้ เพราะจิตเราหลง จึงได้มายึดถือ ถ้าจิตไม่ยึดถือ ใครจะดุด่าว่าร้ายอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เขาว่าไปเขาก็เป็นทุกข์เป็นสุขของเขาเอง เราไม่ไปว่าอะไร ภาวนาพุทโธอยู่ในใจ ใจเราก็สงบระงับตั้งมั่นเย็นสบายอยู่ภายใน ก็ไม่มีเรื่องราวอะไร เรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นเพราะความยึดถือ ถ้าไม่ยึดถือ เรื่องราวๆต่างๆที่เกิดขึ้นก็ไม่มี มันเกิดขึ้นที่ไหนมันก็ดับไปที่นั่น เสียงดังขึ้นที่ไหนมันก็ดับในเวลานั้น ไม่ตั้งอยู่ได้ ท่านจึงตรัสไว้ว่าถ้าหากว่าเราได้รับความติเตียนนินทาขณะที่เราอยู่ในน้ำ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ก็อย่าเก็บเข้ามาอีก ปล่อยให้มันอยู่ในน้ำนั้น เราอยู่บนบก ได้รับความติเตียนนินทาบนบก ก็ให้ทิ้งไว้ในที่เราได้ยินนั้น เมื่อเราเคลื่อนจากที่นั้นแล้ว ก็อย่าคิดเอา อย่าได้จดจำไป สิ่งนั้นมันก็ดับอยู่แค่นั้น 

นี่แหละความดับทุกข์ ดับภัย ดับโรคภัยไข้เจ็บก็ตาม ดับกิเลสในใจก็ตาม มาดับ มาละที่จิตใจดวงผู้รู้อยู่ ณ ภายในนี่เอง จนเห็นแจ้งในจิตใจของตนเองว่านอกจากจิตใจที่รู้อยู่นี่ออกไปทั้งหมดจะหยาบละเอียดอย่างใดก็ตาม ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ควรที่จะหลงใหลไป หน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัติภาวนาก็จิตใจดวงที่รู้อยู่ ฟังธรรมได้ยินเสียงอยู่ตรงไหนก็รวมจิตใจลงไปที่ตรงนั้น ตั้งมั่นอยู่ ณ ภายในนี้จนเห็นแจ้งว่า นอกจากจิตใจที่รู้อยู่ ภาวนาอยู่ ตั้งมั่นอยู่นี่ออกไปทั้งหมด ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งนั้น สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างนี้ เมื่อจิตนี้เห็นว่ามันไม่เที่ยงแท้แน่นอน จิตก็ภาวนาอยู่ ตั้งใจอยู่ ทำความเพียรอยู่ ละกิเลสในจิตในใจของตนอยู่ ไม่ท้อแท้อ่อนแอประการใด ย่อมมองเห็นว่ามีรูปขันธ์ที่ไหน ที่นั้นก็มีชรา พยาธิ มีมรณะ จะต้องมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อจิตใจของผู้ภาวนาเห็นแจ้งชัดอย่างนี้ เมื่อถึงคราวร่างกายสังขารมันเกิดพิบัติขัดข้องขึ้นมา ใจก็ไม่ทุกข์เพราะได้กำหนดพิจารณาไว้แล้วว่า มันยังไม่เจ็บมันก็ต้องถึงเวลาเจ็บ มันยังไม่แก่เวลานี้ มันก็ต้องแก่เรื่อยไป มันยังไม่แตกไม่ตายเดี๋ยวนี้ เวลาต่อไปมันก็แตกตายได้ ไม่ต้องสงสัย รวมกำลังจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ภายใน 

เมื่อใจอยู่ภายใน ใจก็เย็นสบาย ใจคนเราที่มันร้อนก็คือไม่อยู่ภายใน ไม่อยู่ในสมาธิภาวนานี่เอง ถ้าอยู่ในสมาธิภาวนา ใจย่อมเย็นสบาย ไม่มีความทุกข์ร้อนประการใดเพราะไม่ไปยึดเอา ไม่ไปถือเอา ในรูป นาม กาย ใจ ตัวตน สัตว์ บุคคล สิ่งใดที่มีความเกิดขึ้นมันก็ตั้งอยู่ชั่วระยะกาลเวลา มันก็เปลี่ยนไปตามหน้าที่ของสังขารทั้งหลายอย่างนี้ จิตใจของผู้ภาวนาอย่าได้มีความท้อแท้อ่อนแอในดวงจิตดวงใจ ต้องภาวนาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าออกมีอยู่ก็นั่นแหละ เป็นเครื่องเตือนว่าชีวิตเรายังมีอยู่ อายุของเรายังมีอยู่ อายุยังมี จิตใจยังมีอยู่ในร่างกายนี้เอง ถ้าหากว่าลมหายใจหมดเมื่อไรเวลาใด จิตใจก็ไม่อยู่แล้วในสังขารร่างกายอันนี้ ร่างกายสังขารของคนเราก็เหมือนไอ้ท่อนไม้ต้นกล้วยอย่างนั้นแหละ ไม่มีอะไรมั่นคงถาวรอยู่ภายในนี้ เมื่อแตกดับเมื่อใดเวลาใดก็จะมีกลิ่นเหม็นออกมาในร่างกายนี้ นี่แหละคือว่าชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บไข้ มรณะ ความตาย มันมีอยู่ในตัวในตน ในสัตว์ในบุคคลทุกส่วนไป 

เมื่อจิตใจผู้ได้ยินได้ฟัง ได้รับความตักเตือนแล้ว จิตดวงนี้ก็ให้ตื่นขึ้น ลุกขึ้น อย่ามายึดเอาถือเอาแค่ความสุขความสบายภายในอามิสสุขเล็กๆน้อยๆ จงพยายามทำสุขอันไพบูลย์ สุขอันไม่มีการจืดจาง ได้แก่สุขอันเกิดจากสมาธิภาวนา จิตใจสงบตั้งมั่น จิตใจไม่หวั่นไหว จิตใจเป็นดวงเดียว เมื่อจิตใจเป็นดวงเดียวอยู่ภายในตัว อยู่ภายในใจแล้ว จะอยู่แบบไหน ไปแบบไหนก็ตามย่อมมีความสงบสุขเยือกเย็นในจิตใจของผู้ปฏิบัตินั้น เพราะว่าใจสงบตั้งมั่น ไปที่ไหนมันก็อยู่ในความสงบตั้งมั่น นอนอยู่ก็เรียกว่าอยู่ในความสงบตั้งมั่น ยืนอยู่ก็สงบตั้งมั่น เดินไปมาก็สงบตั้งมั่น เมื่อได้ตั้งมั่นอยู่ ได้เห็นได้รู้ได้เห็นคนเกิด คนอื่นเค้าเกิดก็น้อมเอามาสอนตนเองได้ เมื่อได้เห็น ได้ยินคนอื่นเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มาเตือนใจของตนว่า ถึงคราวเราเจ็บไข้ได้ป่วยก็เหมือนกัน ไม่มีใครที่ว่าจะอยู่ดีสบายตลอดไปในโลกนี้ เพราะว่าร่างกายสังขารนี้มันมีชรา พยาธิ คอยเบียดเบียนอยู่ทุกเวลา 

เมื่อผู้มาเข้าใจอย่างนี้ภายในจิตใจของตนให้ถ่องแท้แน่นอน ตั้งจิตให้มั่น อย่าได้หวั่นไหว มีจิตใจอันไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ภาวนาอยู่ภายในจิตใจของตนนั้น แม้จะพูดอยู่ก็ภาวนาอยู่ นั่งอยู่ก็ภาวนาในใจ ยืนอยู่ก็ภาวนาในใจ เดินไปไหนมาไหนก็ภาวนาในใจ คือว่าเอาใจตั้งไว้ภายใน ไม่ให้ใจรั่วไหลไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องภายนอก เรื่องภายนอกมันเป็นเรื่องโลก เรื่องโลกก็คือว่าหมุนเวียนเปลี่ยนไปมาตามประสามนุษย์ ไม่ตั้งมั่นอยู่ภายในธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้านั้นท่านสอนให้ทำใจให้สงบตั้งมั่น สอนให้จิตใจมีปัญญาพิจารณาในหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้อยู่เสมอ เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดจะเที่ยงแท้แน่นอนยั่งยืน เต็มไปด้วยทุกข์ 

สิ่งที่เรามาหลงยึดหลงถือว่า เป็นตัวเราของเรานั้น ความจริงมันไม่ได้เป็นของใคร บอกได้ว่าก็ไม่ฟัง มันไม่ฟังทั้งนั้น ได้เวลาเจ็บมันก็เจ็บ ได้เวลาแก่มันก็แก่ ได้เวลาตายมันก็ตาย ใครจะมาร้องไห้น้ำตาไหลขนาดไหนก็ตาม ร่างกายสังขารมันก็อยู่ไม่ได้ ได้เวลาไปมันก็ไปตามหน้าที่ของมันอย่างนั้นเอง เมื่อผู้ปฏิบัติมาเห็นแจ้งในจิตใจของตัวเองแล้ว ก็เพียรพยายามเลิกละที่จิตใจไปมัวยึดเอาถือเอาเหล่านั้นออกไปให้หมดสิ้น ยังดวงจิตดวงใจนี้ให้ขาวสะอาด ตั้งมั่นอยู่ภายในจิตใจนี้เอง ไม่ว่าจะอยู่ในเพศพันธุ์วรรณะอะไรก็ตาม เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่ในภาวนา จิตใจก็เย็นสบายอยู่ในเนื้อในตัวในจิตในใจ คนอื่นผู้อื่นไม่ภาวนาก็ไม่เข้าใจ ก็จะมีแต่ความร้อนจิตร้อนใจ เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกนี้มันบกพร่องอยู่เสมอ ไม่ว่าสิ่งใดอันมนุษย์คนเราอาศัย เมื่ออาศัยสิ่งใดสิ่งนั้นจะให้สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกอย่างทุกประการไม่ได้ เพราะว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมก็ดี ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เหล่านี้มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นไปตามอำนาจกิเลสตันหาของคนเราเลย เพราะว่ามันมีเกิดขึ้น มันก็มีเสื่อมไปสิ้นไปแตกไปดับไปตามหน้าที่สังขารทั้งหลาย 

ผู้ปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา อย่าเอาจิตใจให้ห่างไกลจากตัว ให้ห่างไกลจากจิตใจ จิตใจมันมีอยู่ภายใน อยู่ในใจ เราฟังถ้าสังเกตให้ดีก็รู้ได้ เข้าใจว่ามันไม่ได้อยู่ภายนอก คำว่าจิตใจมันอยู่ภายใน ภายในเสียงกระทบเข้าไป รู้ที่ไหนก็ที่นั่นแหละ มันที่อยู่ในที่นี้ ที่อื่นยังไม่จัดว่าเป็นที่อยู่ มันเป็นที่ไป ที่อื่นมันไปทั้งนั้น แต่ที่นี่มันอยู่ ในเมื่อเวลาจิตใจคิดไปภายนอก จิตใจดวงรู้นี้ก็รู้ว่าจิตใจเราคิดไปในอารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อมันไปจากภายในนี้ ไม่ใช่ว่ามันมาจากภายนอก ดวงจิตดวงใจมันอยู่ภายใน แต่มันแส่ส่ายออกไป รับเอาเรื่องราวต่างๆ เพราะความไม่รู้ในจิตใจนี่เองเป็นเหตุเป็นปัจจัย 

ผู้ใดมาภาวนาทำจิตใจดวงนี้ให้รู้ให้แจ้งให้ใสให้สะอาดอยู่ในตัวในใจแล้ว ก็จะภาวนาได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่ว่าวันไหนคืนไหน มันก็มี ๒๔ชั่วโมงนั่นแหละ ถ้าเราภาวนาให้ได้ในชั่วโมงนี้ ชั่วโมงต่อๆไปมันก็ภาวนาได้ เพราะว่ากาย ใจ รูป นามอันนี้ยังมีอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีอายุอยู่ ถ้ามีลมหายใจเข้าออกอยู่ก็ชื่อว่ายังเป็นคนอยู่ ถ้าหมดลมหายใจเมื่อใดเวลาใด เขาก็ให้สมมุติใหม่ว่าคนนั้นตายไปแล้ว คนนี้ตายไปแล้ว ตายไปคือธาตุขันธ์มันแตกมันดับ มันอยู่ไม่ได้ ทนไม่ไหว เหลืออดเหลือทน ก็เรียกว่าแตก ขันธ์แตก แก้วแตก อะไรแตก หม้อแตก ไหแตก อะไรเมื่อมันแตกแล้วก็ใช้การไม่ได้ ในเวลานี้เดี๋ยวนี้ยังใช้ได้อยู่ เรากราบพระได้ ไหว้พระได้ นั่งสมาธิภาวนาแบบไหนก็ทำได้ คือมันยังมีอยู่ มีชีวิตอยู่ต่อเนื่องกันในภายในนี้ 

ด้วยเหตุนี้อย่าได้พากันประมาท จงเป็นผู้มีสติระลึกอยู่เสมอว่าเราหนีความแก่ ความชรา หนีความเจ็บไข้ป่วย หนีให้พ้นจากความตายไม่ได้ รูปกายเกิดขึ้นมาต้องมีความตายเป็นผลที่สุด แต่เราจะต้องมาแก้ไขจิตใจไม่ให้หลงยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ร่างกายนี้ต่อไปอีก เมื่อจิตไม่มายึดมั่นถือมั่น มันหมดเหตุปัจจัยของธาตุเหล่านี้ มันก็แตกไปดับไปเป็นธรรมดา เขาไม่ทุกข์ไม่ร้อน ถ้าจิตใจเราไม่ทุกข์ร้อน สิ่งทั้งหลายก็ไม่ร้อน ถ้าใจคนเรามันร้อนด้วยกิเลส ราคะ โทสะ โมหะอยู่ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ไปที่ไหนมันก็เร่าร้อนอยู่ในจิตใจนั่นแหละ มันร้อนเพราะอะไร พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ราคัคคินา โทสัคคินา โมหัคคินา ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะนี่แหละ มันเผาอยู่ในใจของคนเรา จิตใจมันก็ร้อนตลอดกาล หาความเย็นไม่ได้ คือใจยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง มันไม่รู้เท่าทัน ไม่เลิกไม่ละ ไม่ปลดปล่อยออกไปให้หมดสิ้น มันก็เป็นทุกข์อย่างนี้ 

เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาระลึกได้อยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันไม่มีอะไรจะตั้งมั่นเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็รีบรู้เข้าใจ ตั้งใจประพฤติดีปฏิบัติชอบ ประกอบแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ยังจิตใจให้มีความสงบตั้งมั่นเป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา เมื่อจิตใจมีความสงบตั้งมั่นอยู่ตลอดเวลาแล้ว ท่านว่าไม่ว่าเมื่อใดวันไหนเวลาใดก็ตาม ชื่อว่าเป็นเวลาปฏิบัติธรรมกรรมฐานในทางพุทธศาสนาอยู่ แม้ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ถ้าเราภาวนาอยู่ พุทโธในใจทุกลมหายใจเข้าออกอยู่เสมอ ไม่ปล่อยปละละเลย ก็อาจสามารถจะเกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้องในทำนองคลอดธรรมได้ ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติลงหลักปัจจุบัน มัวไปรอให้แก่ให้ชรา ให้หมดการงานเสียก่อน ให้อย่างนั้นอย่างนี้แล้วไปเสียก่อน อย่าได้ไปคิดอย่างนั้น จงทำอยู่ ปฏิบัติอยู่ ภาวนาอยู่ให้ได้ทุกลมหายใจ อันนี้แหละได้ชื่อว่าเป็นการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ฉะนั้นเมื่อว่าเราท่านทั้งหลายพากันได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ให้กำหนดจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติ ก็คงได้รับความสุขความเจริญ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้