Skip to content

ทำอย่างไรให้ใจสงบ

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

เทศน์วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๔

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ต่อนี้ไปจะได้บรรยายธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของพุทธบริษัททั้งหลาย บรรดาพวกญาติโยมทั้งหลายต่างคนต่างเข้ามาในวัดในวา เพราะว่าท่านหาความดีเป็นเครื่องประดับหัวใจ ธรรมดาหัวใจเป็นสิ่งที่รักษายากลำบากกังวลวุ่นวาย เพราะฉะนั้นก็จึงต้องให้มีสิ่งที่รักษา เรียกกันซ้ำๆซากๆก็เรียกว่าสติปัญญา ครูบาอาจารย์ท่านก็ให้บริกรรมพุทโธอยู่อย่างนี้ กี่ทีก็พุทโธๆอยู่อย่างนี้ นึกๆแล้วก็น่าเบื่อ ทำไมท่านจึงเน้นอย่างนั้น นี่ เราก็น่าจะต้องคิดน่าจะตรึกตรอง ทำไมจะต้องให้ว่าพุทโธ เพราะเรื่องอะไร นะ การเข้าทำใจจะต้องให้ว่าพุทโธ ให้ว่าไปทำไม นี่

สิ่งนี้ก็เคยพูดอยู่ กี่ปีๆก็พุทโธๆ ตามธรรมดาของหัวใจเหมือนอย่างเด็กที่ไม่รู้จักเดียงสา เมื่อเด็กที่ไม่รู้จักเดียงสาเอาลงเปลนอนอย่างนี้มันก็เกิดการร้องเข้า ก็จำเป็นจะต้องหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเครื่องล่อ เหมือนใจตัวเราก็เหมือนกัน เพราะว่าใจของเรายังไม่เคยชินกับสิ่งที่จะมาประคับประคองใจให้สงบ เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาดจึงให้แนะนำคำสอนอย่างนี้ เพื่อจะให้ใจของเรานั้นเข้ามาอยู่กับการบริกรรม แล้วก็ต้องคิดทีหนึ่งว่าทำไมฉันภาวนามาเกือบสามเดือน ก็เข้ามาสองเดือนก็เข้าสองวันนี้แล้ว ทำไมมันไม่เกิดสงบ มันเป็นเพราะเหตุอันใด นี่ ต้องคิดต้องดู ต้องมองดู วันหนึ่งเรานั่งสมาธิกี่หน เรากังวลไปเรื่องราวมากมายนัก แล้วใจจึงไม่เกิดความสงบ นี่ต้องคิดเช่นนั้น เราเข้ามาวัด เราต้องการจะลับใจให้เกิดความสงบ เราไม่ได้เอาเรื่องอย่างอื่นมาวุ่นวายมากนัก ต้องคิดอย่างนั้น เรื่องทั้งหลายๆก็ต้องตัดออกไป อย่าให้เข้ามา แล้วก็อย่าไปกังวลมาก ถ้ากังวลมากแล้ว เข้าภาวนามันก็มีนิวรณ์ คือพอเข้าภาวนาอย่างนี้ใจก็คิดไปแล้ว เอ้อ ยังไม่ได้หั่นหมู หมูยังไม่ได้รวนอย่างนี้เป็นต้น แกงก็ยังไม่ได้รวน นั่น มันไปอย่างนั้นนะ นี่ไปโดยที่ว่า มันได้เวลาที่เรียกว่า เวลาที่เราจะทำความดี มันก็มาดึงไปอย่างนั้น

นี่แหละ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงให้มีการบริกรรมกำกับหัวใจไว้คือไม่ต้องการให้ใจนั้นส่ายไปในอารมณ์อันนั้นเอง ทีนี้การว่าอย่างนั้น ถ้าเราว่าอย่างนั้นอยู่ ยังคิดไปได้อยู่ก็ต้องวางให้เร็ว หลวงตาก็เคยว่าอย่างนี้อยู่เรื่อยๆนะ ก็ต้องตามอารมณ์ไป แล้วมันจะได้ผลอย่างไร ฮื้อ ก็ต้องคิดดู อย่างท่านเทศน์อย่างนี้ แล้วมันเกิดประโยชน์อะไรบ้าง ทีหนึ่งก็ไม่ได้ สองทีก็ไม่ได้ พอไม่ได้มันก็ขี้เกียจ เหมือนครูที่สอนโรงเรียน สอนไปๆเข้าไป นักเรียนก็ไม่ได้ก กา ข ขา ก กิ ก กีก็ไม่ได้ซักที ก็ไม่อยากสอน ไม่ได้อยากเอาเงินเดือน เทศน์นี่ก็เหมือนกันอย่างนั้น เมื่อลูกศิษย์ไม่ตั้งใจ มันก็ขี้เกียจเทศน์ ก็ไม่มีคำเทศน์ ไม่มีเรื่องจะแจก เรียน ก กา ไม่ขึ้นสระอะ สระอีซักที มันก็ไม่มีเรื่องจะสอน พอมีขึ้น ก กะ กา ขึ้นแล้ว มันก็มีเรื่องสอน มันเป็นอย่างนั้น

เราทำใจ มันก็ต้องได้มีการบริกรรมใหม่เพื่อรักษาหัวใจให้เป็นอย่างนั้น เมื่อกำกับอยู่อย่างนั้นแล้ว ใจก็จะดีต่อเราอย่างไร เจ้าจะดิ้นรนกระวนกระวายไปไหน อย่างนี้มันก็ต้องอยู่ มันหนีไปไม่พ้น ทีนี้เราไม่จริง เราท้อแท้เหลาะแหละ ใจไม่เด็ดเดี่ยว มันจึงให้สิ่งนั้นพาไปนะ นี่เป็นเช่นนั้นนะ ให้คิดดู มันเป็นสิ่งเหล่านั้นพาไป จึงใจจึงไม่สงบ ก็ว่าพุทโธอยู่อย่างนั้น หรือตายๆๆๆอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เอามาเทศน์อย่างนี้ครึ่งชั่วโมง หูฟังเทศน์แต่ใจนึกพุทโธอย่างนั้น หรือนึกถึงตายๆๆๆๆอยู่ตลอดเวลา แล้วมันไปที่ไหนหละ ก็ไม่ไปสิ ง่วงนอนก็ไม่ง่วง แน่ะ

นี่ ต้องแก้ตรงจุดนี้แหละ ไอ้ความเข้าทำใจ มันต้องแก้ตรงนี้ ถ้าเราแก้ตรงนี้ไม่จบ ภาวนาก็ไม่เป็น…ไม่เป็น กี่สิบปีมันก็ไม่เป็น เพราะมันไม่แก้ตรงนี้ จะไปกำหนดอยู่เฉยๆ นั่นลักษณะคนขี้เกียจ ไม่ทำงาน ไม่ทำงาน ผลมันก็จะไปรับยังไง ไม่ใช่เศรษฐี เนี่ยต้องแก้ตรงนี้ การทำใจ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ ใจมันไม่เกิดความสงบ แต่บางทียังทะลึ่งเถียงอีกนะ ทีนี้ต้องเอาให้หนักละ บังอาจทะลึ่ง ชอบเถียง “แล้วอาจารย์ทำยังไง” นี่ แล้วอย่าให้เถียงอย่างนี้ ไม่เข้าใจแต่ยังเถียง ดื้อรั้น เราว่าอย่างนั้น เราลองดูซักที เราภาวนามาทำไมมันไม่สงบ มันเป็นเพราะเหตุอันใดต้องคิดอย่างนั้น เพราะเราไม่เคยฟัง เคยฟังนิดๆหน่อยๆก็หยุดแล้ว นี่ ใจมันไม่อิ่มเต็มที่ คือเหมือนเรากินข้าวสองสามคำแล้วก็จะให้มันอิ่ม มันจะอิ่มได้อย่างไร นี่ ต้องคิดอย่างนั้น พอได้ฟังอยู่อย่างนั้น ใจจะสงบมันไม่สงบไม่ต้องไปหมาย เอาอยู่อย่างนั้น ให้มันมากเข้าไป ทำให้มันออกครึ่งชั่วโมง หรือตั้งชั่วโมงอย่างนี้ ว่ามันอย่างนั้น มันต้องสงบให้เรา นี่เราก็ไม่เข้าใจว่ามันต้องเกิดความสงบ เพราะฉะนั้นจึงว่าอันนี้ต้องแก้ตรงนี้ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ นักภาวนาภาวนาไม่เป็น

เนี่ยหลวงตาว่าอย่างเนี้ย ต้องบริกรรมให้อยู่อย่างนั้น ให้มันเกาะอยู่กับจิต แล้วดูซิว่ามันจะไปอย่างไร ใจนั้นจะดิ้นรนไปอย่างไร อย่างนั้นเราว่าเร็วๆ บางทีก็ยังลืมออกไป เมื่อลืมออกไปก็ต้องหวนกลับมาบริกรรมอีกอย่างนั้น เอาให้มันจริง นั่งให้มันทน นั่งให้มันนานๆอย่างนั้น มันต้องรวมเรา หนีไปไม่พ้น มันอยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ อยู่ที่เรานี่ ใจไม่เข้มแข็ง ใจไม่เด็ดเดี่ยว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงบอกว่ามีวิริยะ มีขันติ มีสัจจะ แน่ะ อันนี้เป็นเพื่อกำราบหัวใจของเรา ให้เกิดความสงบมีความเข้มแข็งต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ นี่ เพราะเอาสิ่งเหล่านี้เองเป็นเหตุ และเมื่อเราเอาเหตุอันนั้นมามากเข้าๆ ใจของเรากระทำตามอย่างนั้นอดทนเข้ากำหนดพุทโธเข้าอย่างนั้น ใจมันก็ต้องเกิดความสงบ นี่ เพราะเราไม่แก้เกมอย่างนี้มันก็ไม่เกิดความสงบ แล้วก็เป็นอย่างนั้น

ความสงบ ความสัปหงกง่วงเหงาหาวนอนก็มาขึ้นมายาก เพราะบริกรรมอยู่นี่ อย่างที่มันสัปหงกสัปเงยนี่มันไม่บริกรรม กำหนดใจอยู่เฉยๆมันก็สัปหงกสัปเงยสิ นี่ มันต้องแก้อย่างนี้ ลองดู เจ็ดวันสิบวันครึ่งเดือน ถ้าไม่ได้ผลก็เลิก แน่ะ มันก็ไม่ได้เสียหาย ต้องลองดู ไม่ลองดูไม่รู้ ต้องอย่าเชื่อตำรามากไป ต้องพยายามแก้ไข ของเราจะเอาอย่างไรมันถึงจะเกิดความสงบ เมื่อสงบแล้วจะต้องทำอย่างไร คืนต่อไปก็ต้องทำอย่างนั้น สงบแล้วมันก็มีความสุข แค่ความสุขเท่านั้น เพราะมันเป็นสมาธิ วางเฉยใจนั้นเป็นปกติไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง อย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็นสมาธิ ฝึกอย่างนั้นมากๆเข้าเมื่อใจเกิดสงบจนชำนิชำนาญหลายๆวันก็ต้องพิจารณา ไม่ใช่นั่งเสวยแต่ความสุขอยู่อย่างนั้น นานเข้าๆมันก็เสื่อม สมาธิมันเสื่อม เกิดคลุกคลีวุ่นวายกับสิ่งต่างๆเข้าไป สมาธิก็เสื่อมอีก ต้องไปทำอย่างนั้นอีกจึงจะเกิดความสงบ

เมื่อเกิดความสงบได้อย่างนั้นจนเรารู้ว่าเรานี่ทำความสงบได้ทุกคืน ไม่ใช่แต่จะเสวยแต่ความสุขอย่างนั้นจะต้องพิจารณาค้นคว้า ค้นคว้าลงไป เราติดอะไร เราติดร่างกายของเรา เราก็ต้องพิจารณากายของเรา นี่ พิจารณาแบบนี้ ค้นคว้าลงไปให้มันเห็น กำหนดอย่างนั้น พิจารณาส่วนนั้นๆๆ แยกแยะไปต่างๆนานา นี่ อย่าให้จิตมันอยู่นิ่ง คือให้จิตหัดทำงานบ้าง เพราะลักษณะของสมาธิมันหยุดนิ่ง ทีนี้ลักษณะของปัญญาต้องใช้ความคิด คิดค้นคว้าพิจารณาร่างกายของเรา อย่างหลวงตาก็เคยว่า ตัดมือตัดตีนตัดแข้งตัดขาตัดหูตัดจมูกตัดลงไป นึกๆไปอย่างนั้น คือให้จิตมันรู้จักวาระของการเดินจิต การเข้าไปคิดพิจารณาอย่างนั้นเพื่อประสงค์สิ่งใด นี่ ปัญหาสำคัญ

เมื่อจิตที่มันสงบอย่างนั้น เมื่อการยกจิตขึ้นไปพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆอันนั้น ใจขณะที่เคลื่อนไปอย่างนั้น มันต้องมีสติที่เข้าไปคุมอยู่ตลอดเวลา เมื่อยกไปในที่ใดความรู้ก็เข้าไปครอบอยู่ที่นั่น ไม่เคลื่อนไปในส่วนอื่น สมมุติว่านึกไปถึงหัว ไปที่หน้าผากอย่างนี้ ใจก็อยู่เฉพาะที่นั่น พอเลื่อนจากหน้าผากไปที่ตาขวา มันก็อยู่เฉพาะที่ตาขวา นึกตาขวาเสร็จก็มาแก้มซ้าย แก้มซ้ายเสร็จ ก็มาแก้มขวา นึกถึงหูซ้ายหูขวาตลอดอย่างนี้ เรียกว่า มาอีกถึงฟัน มีเขี้ยว เขี้ยวเบื้องบนสองเขี้ยว เขี้ยวเบื้องล่างสองเขี้ยว นึกไปอย่างนั้น แล้วฟันทั้งหมดเบื้องบนมีกี่ซี่ ฟันเบื้องล่างทั้งหมดมีกี่ซี่ นับไปอย่างนี้ แก้มภายใน ลิ้น ลูกกระเดือก ลิ้นไก่ นึกไปอย่างนี้ให้ตลอดก่อน

แต่ลักษณะอย่างนี้มันก็นึกยากนัก ไม่ใช่ทำง่ายๆ ใจนั้นถึงจะเป็นสมาธิอย่างนี้บางทีก็มันมีดีดออกไป กายอันนี้ไม่รู้มันเป็นไงมันหวงที่สุด ไม่อยากให้พิจารณา หวงจริงๆ ลักษณะเป็นอย่างนั้น สมาธิดีๆอย่างนี้พอน้อมเข้ามานิดหน่อยเท่านั้นมันก็ถอนออกไป ต้องตั้งกันใหม่แล้วก็ต้องเข้ามาพิจารณาอีกอย่างนั้น จนกระทั่งบางทีอยู่ไปจนคล่อง ทีนี้เมื่ออยู่อย่างนั้นแล้วต้องค้นลงไปให้มาก อย่าได้หยุด นี่เราจะมาสังเกตได้แล้ว เราก็เห็นเราเอง มันมีสติเข้าไปคุมอยู่ในระยะที่เรานึกไปอย่างนั้น สติทำให้เคลื่อนที่ มีสติรอบไปอยู่อย่างนั้น ยกจิตไปพิจารณาสิ่งใด มันก็ไปสติก็คุมไปอยู่อย่างนี้ นี่ อย่างนี้จึงเรียกว่าภาวนาที่มีกำลัง เข้าของลักษณะของปัญญา

เมื่อยิ่งพิจารณาเท่าไร ใจนั้นยิ่งสว่างไสว ใจยิ่งเบิกบานแจ่มแจ้งชัด ไม่มีการกระสับกระส่ายไปในที่ใด วุ่นวายไม่มี มีจำเพาะความคิดอยู่ในอันนั้นอันเดียวตลอดกาลเวลาอย่างนั้น นี่ เรียกว่าสมาธิดีอย่างนี้ ปัญญาก็ประกอบกันอย่างนี้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว นี่ ไม่ต้องไปพิจารณาที่อื่น แล้วสิ่งทั้งหลายก็จะปรากฏขึ้นเอาเอง รู้ขึ้นเองในใจในระยะของเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าเมี่อเพียงพอถึงจุดอันที่สำคัญๆของเค้าแล้ว พอแล้ว ท่านในแบบจึงกล่าวว่าลักษณะมรรคที่มันจะสามัคคีเข้าที่ใดแล้วมันจะต้องรวมลง หรือพอลง วางในสิ่งที่พิจารณา นี่ เป็นเช่นนั้น การกำหนดพินิจพิจารณาอย่างนั้น สติตามทันอย่างนั้น นั่นแหละเรียกว่าเป็นปัญญา

แล้วทีนี้เราจะไปจับอันใดของการภาวนา ก็เราต้องการจับเรื่องของหัวใจที่มันดิ้นรนกระวนกระวายอยู่นั่นเอง ความคิดนึกปรุงแต่งนั่นแหละที่เราเข้าไปพิจารณาอย่างนั้นก็ต้องการรู้ในระยะของจิตที่คิดไปอย่างนั้นตลอดกาล นี่ และพอหายจากสมาธิใจมันคิดมันไป มันจะได้ตามรู้ตามเห็น เอ้อ นี่มันคิดอย่างนี้ เมื่อตามรู้ตามเห็นอย่างนั้นแล้ว ใจมันก็ไม่คิด มันก็ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย เอาสติเป็นเครื่องควบคุมอยู่แล้ว นี่แหละ จุดก็มีความสำคัญอย่างนี้ แล้วจิตดีก็ต้องทำอย่างนั้น ต้องพิจารณาอย่างนั้นจึงเรียกว่ารู้จักอุบายแก้ไขดวงใจให้ปลอดโปร่ง วางเสียซึ่งอารมณ์ทั้งปวงใจก็เป็นปกติ

นี่ ต้องให้มันอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงแต่จะเสวยสมาธิ เมื่อใจเป็นสมาธิแล้วก็ไปเสวยความสบายอยู่อย่างนั้น นานๆเข้าถีนมิทธะก็เข้ามาครอบงำ เสื่อม สมาธิเสื่อมอีกแล้ว คืนหนึ่งก็เสื่อมไป สองคืนก็เสื่อมไป ห้าคืนก็เสื่อมไป สิบคืนก็เสื่อมไปอย่างนี้ มันก็พัง พอกันกับเราไปค้าขาย วันหนึ่งก็ขาดทุนสองรอบ วันหลังก็ห้ารอบ อีกวันก็ต้องพัน อีกสองสามวันห้าวันสิบวัน สองพัน เอาเงินที่ไหนก็หมด หมดพุง นี่ เหมือนกันกับการภาวนา ถ้าเมื่อว่าทีหนึ่งก็สัปหงก สองทีก็สัปหงก สามทีก็สัปหงก สิบคืนก็สัปหงก ใจวุ่นวายกระวนกระวายอย่างนี้ เอ๊ะ มันไม่เห็นดีอะไรนี่ เกิดท้อถอย เราไม่มีบุญไม่มีวาสนา แน่ะ มันเอามาแล้ว กิเลสมันตามมาแล้ว มันจะฆ่าเรา น่ะ เอ้อ ไม่มีบุญแล้ว ไม่มีวาสนาแล้ว เป็นชีก็อยากจะสึก สู้ไปอยู่บ้านดีกว่า เพราะอะไร มันทำไม่จริงแล้วมันไม่เกิดไม่เห็น มันก็เลยขี้เกียจ นอนดีกว่า ไม่อยากภาวนา นี่ เป็นเช่นนั้น นี่สิ่งนี้มันต้องแก้

ถ้ามาแก้สิ่งนี้ตก ใจก็มีกำลัง กี่คืนๆก็เกิดความสงบ กี่คืนๆก็พิจารณาได้ อย่างนี้ตัวเองก็ได้กำลัง การเจริญภาวนาก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเจริญขึ้นเรื่อย มันก็ได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนคนค้าขายอย่างที่ว่าไปเมื่อกี๊ เป็นชิ้นเป็นอัน ใจจะเดินอยู่ ร่างกายจะเดินอยู่ ใจก็มีสติ น้อมธรรมะอันใดมาพิจารณาตลอด เห็นใบไม้ตกใบไม้เดียวหล่นลงมาจากต้นนี่ เอ้อ ชีวิตของเราก็จะต้องแตกดับอย่างนี้นะเมื่อมันแก่เฒ่าชรา หรือเกิดอันใดขึ้นเราก็จะต้องตายลงไป แน่ะ เหมือนอย่างใบไม้ แน่ะ นี่ ปัญญาเกิดแค่ใบไม้ เห็นมันก็เกิดปัญญา เพราะใจมันน่ะ ใจมันมีสติบังเกิดความสงบ มันก็ต้องได้ปัญญา นี่ใครจะทะเลาะกัน เราก็ยังไม่ได้มีสติ เค้าทะเลาะกันอย่างนี้ เราก็ยังไล่ตามทัน “เอ้อ ใจเอ้ย เอ็งอย่าไปทะเลากับเค้านะ” อย่างนี้มันก็หยุดได้ นี่แหละเพราะฉะนั้นจึงว่ามันจำเป็นที่สุดจะต้องแก้สมาธิตัวนี้ให้เกิดความสงบ

เมื่อสงบแล้ว เราก็จำเป็นจะต้องแก้ไขการภาวนา คือให้ค้นคว้าพิจารณา ถ้าเรื่องส่วนละเอียด แต่ละเอียดหรือหยาบอันนั้นไม่สำคัญ ท่านว่าให้พิจารณานามธรรม นั่นว่าไปนั่น นักธรรมเราว่ากาย…กายมันไม่ละเอียดพอ แต่ลองให้พิจารณากายให้พอเถอะ อย่าไปว่ามันหยาบ ลองดูสิ ซักสามชั่วโมง ถ้าไม่สงบแล้ว เอา นะ ถ้ามันทลายหลวงตาก็จะสู้ แต่ให้จริงนะ สามชั่วโมงไม่สงบละก็มายันหัวได้เลย เอาตีนยันหัวได้เลย

นี่เราไม่พิจารณา พอเข้าไปสงบได้นิดเดียวก็จะไปเสวยแต่ความสุขเท่านั้นเอง มันงานมันไม่ทำ เมื่อมีความสุขมีมากเท่าไร ใจยิ่งขี้เกียจท่องสบายอยู่อย่างนั้น มันขี้เกียจทำงาน ใจก็สบาย เมื่อใจสบายมากเข้าๆๆ ถีนมิทธะก็เข้ามาครอบงำสิ แน่ะ เพราะไม่มีงานทำ ใจไม่ทำงาน ใจมันขาดสติเพราะไปเสวยความสุข ความรู้สึกของผู้รู้นั้นน้อยเข้าๆๆ น้อยจนมันหมดพรึบสัปหงกเข้ามาครอบงำ แน่ะ สมาธิเสื่อม นี่พอรู้สึกเอาอีก แบบนั้นอีก เอาอีกแล้ว สัปหงกกลับมาอีก นี่ อย่างนี้ทุกคืนๆ มันน่าจะเอาหัวเราปังกระดานให้มันแตกลงไป ต้องงดอย่างนั้นมั่งสิ นี่ไม่มีความเจ็บใจเรอะ ฮึ! แล้วก็ว่าภาวนาไม่เป็น ภาวนาไม่เป็น แน่ะ ก็ไม่แก้ไขมันจะเป็นได้อย่างไร ถ้าว่ากันหยาบๆก็เรียกว่าโง่ โง่จนเทอะ! เทอะเพราะมันไม่รู้จักภาษา แรงเข้า แรงไปหน่อย นี่ต้องแก้สิ ถ้าเราไม่แก้แล้วมันจะได้อย่างไร พุทโธอยู่อย่างนั้น อย่าไปถอยมัน แล้วดูซิมันจะมาสัปหงกจะมายังไง ฟุ้งซ่านจะมายังไง ฟุ้งซ่าน แก้ลงไปอย่างนั้นลองดู สามคืนต้องรวมลง ไม่รวมจะมีเหรอ นั่งอยู่อย่างนั้นสามชั่วโมงสี่ชั่วโมง ไม่รวมได้เรอะ ทำสามชั่วโมงได้ก็ต้องจริง จริงแล้วต้องรวมใจเด็ดขาด หนีไม่พ้นหนีความจริงไม่ได้ สัจจะบารมีตั้งลงไปอย่างนั้น ไม่ได้สามชั่วโมงข้าพเจ้าจะไม่ลุก เจ็บแสบยังไงก็ต้องสู้กันอย่างนั้น แล้วจะหนีเราไปไหน ครูบาอาจารย์ท่านทำกันท่านเอาเข้าไปอยู่นี่อดๆอยากๆ สู้ทั้งวันทั้งคืนไม่เคยถอย จึงได้เอาธรรมะคำสอนอันนั้นมาสอนพวกเรา

อย่างท่านอาจารย์นี่ดูสิ สอนจนตาย แน่ะ ตายยังไม่ได้เผาอีก หวงกันอีก แน่ะ เราลูกศิษย์ท่านก็ต้องไว้ลาย เหมือนอย่างลูกเสือ ถ้ามันเป็นลูกแมวมันก็เสร็จหมด ลูกเสือก็ต้องเป็นลูกเสือ รู้จักล่าคอ ล่าคอเนื้อ นี่ถ้ามันอยากอาหารมันก็อดกิน กินแต่อาหารเล็กๆเหมือนแมว ก็เลยกินแต่หนู ไม่ได้กินควายกินวัวซักที ถ้าเป็นเสือมันก็จะกินวัวกินควาย กินหมูกินเป็ดกินไก่เพราะมันฉลาดหากิน ทีเดียวอิ่มเลย นี่เป็นเช่นนั้น นี่เราก็เหมือนกันต้องแก้ไขปรับแต่งทำไมไม่สงบมันเป็นเพราะเหตุอันใด ใจเจ้าขี้เกียจเจ้าขี้คร้าน มันดิ้นรนกระวนกระวายไปหาอะไร นี่ ขนาดเข้าอย่างนี้แล้วมันก็ต้องอยู่กับเราสิ มันจะไปไหน ทีนี้ไม่เอาอย่างนั้น ตามลม ปล่อยตามลม ตามลมก็หมายความว่าตามใจมันนะ มันจะเอายังไงก็เอาอย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน ไปซะ มันก็ไม่ได้ความพากความเพียร ไม่เกิดความสงบ นี่ ไม่ได้ความสงบ เนี่ยเพราะฉะนั้นต้องแก้ไข เมื่อใจนั้นสงบแล้วต้องพิจารณา

ทีนี้กล่าวถึงการพิจารณานามธรรม เราเคยเพลิดเพลินในสิ่งใด เราก็ต้องเอาเข้าใจอันนั้นมาพิจารณา นึกสิ่งนั้นมาพิจารณาใคร่ครวญตรึกตรอง เพื่อเป็นเครื่องกล่อมใจของเราให้ได้อยู่กับสิ่งเหล่านั้น เมื่อใจกล่อมอยู่เล่นกับสิ่งเหล่านั้นแล้ว เมื่อเบื่อจากสิ่งนั้นก็ไปเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาอีก สมมุติเราติดรูป เราก็ต้องไปกำหนดรูปมาพิจารณา ให้มันแตกให้มันสละสลายไปต่างๆนานาแล้วมันสวยมันงามอย่างไร เมื่อแตกดับพังมาหมดแล้วมันมีอะไร รูปนั้น หรือสมบัติพัสถานเมื่อเราตายแล้ว เราได้อะไรบ้าง เนี่ย มองดูก็เห็นอยู่ ไม่มีใครขนเงินเข้าไปในโลงเผาไฟให้หมดเวลาตาย เวลาอยู่ก็ ของกูๆ นี่ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ธรรมะเมื่อใจสงบแล้วสามารถจะน้อมมาพินิจพิจารณาได้ทั้งหมด

ทีนี้ระหว่างพิจารณาอย่างนั้น ใจมันจะเดินอยู่อย่างนั้นเพลินกับการพิจารณา เมื่อเห็นว่าเราพิจารณาเหนื่อยมากนัก หยุดพักจิตให้อยู่จำเพาะไม่ต้องทำงาน เมื่อพักพอสมควรอย่างนั้นแล้ว ใจก็ออกไปพิจารณาทำงานอีกอย่างนั้น เดินอยู่อย่างนี้ มันให้มีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญอยู่ตลอดเวลา เดินไปไหนก็ต้องมารู้สึกตัว ก็ต้องโอปนยิโกน้อมสิ่งต่างๆนั้นเองมาคิดพิจารณาในใจอย่างนั้น โดยไม่ให้ใจถอยไปในที่อื่น ไม่ให้ไปกังวลกับที่อื่น ค้นคว้าตรึกตรองพินิจพิจารณาอยู่อย่างนั้น ใจมันก็ต้องรวมอยู่ ใจก็ไม่ไปไหน ใจก็มาสงบหยุดนิ่ง อย่างนั้นเรียกว่าสมาธิประกอบไปด้วยปัญญา เมื่อพิจารณาค้นคว้ามากเข้าๆแล้ว สติก็สมบูรณ์ ปัญญาก็จะคล่องแคล่วอยู่ตลอดเวลากับการค้นคว้าพิจารณาอย่างนั้น เมื่อคืนนี้หมดเวลา คืนพรุ่งนี้เมื่อเวลาเข้าจิตได้อย่างนั้นก็ต้องค้นอยู่อย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น ค้นลงไป กำหนดลงไป พิจารณาถึงหูไปชอบเสียง ลิเกลำตัด มันอาลัยไปเพลิดเพลินไปร่าเริงกับสิ่งเหล่านั้น เมื่อพิจารณาอย่างนั้นสติก็สมบูรณ์บริบูรณ์อยู่อย่างนั้น จมูกมันได้กลิ่นเหม็นกลิ่นหอม กลิ่นสิ่งที่ยั่วยวนทำใจให้เกิดเพลิน ก็ต้องเอาสิ่งนั้นมาพิจารณา พิจารณาอยู่อย่างนั้น ไม่ถอย ใจไม่ถอย พอใจไม่ถอยพิจารณาอยู่อย่างนั้น ถีนมิทธะจะมาที่ไหนหละ ไม่มาสิ มันก็ไม่มา ใจก็มีกำลังเพราะใจมีสมาธิ เราไม่เสวยความสุขมาก เหมือนอย่างคนกินข้าวมากๆ อิ่มมากขี้เกียจทำงาน จะนอนทั้งวันเลย เพราะอาหารมันบีบมันทับ นี่เปรียบอย่างนั้น เราอย่าไปเสวยมันมากสมาธิ ผู้ใดเจริญมากมันก็เสื่อม เสื่อมแล้วก็ต้องมาแก้ใหม่ทวนใหม่ เหมือนเราแจวเรือเนี่ย ขึ้นไปถึงเรือนะแทนที่จะขึ้นท่า เราไม่ขึ้น ปล่อยให้เรือมันลอยกลับมา ถ้าต้องแจวใหม่มันก็แจวขึ้นไปอีก ไปถึงก็ปล่อยกลับมาอีก พรุ่งนี้ก็ต้องแจวอีก นี่เป็นอย่างนั้นน่ะ

เพราะฉะนั้นเมื่อมันมีสมาธิแล้วจำเป็นต้องพิจารณาค้นคว้าลงไป การค้นคว้าพินิจพิจารณาแล้วไปรู้สิ่งใด นี่ อันนี้เป็นสิ่งที่ลำบาก เป็นสิ่งที่ฟังยาก ฟังได้เข้าถึงหู แต่ไม่เข้าถึงใจ นี่ เป็นเช่นนี้นะ เปรียบเหมือนนายช่างผู้ที่แต่งอาหาร แต่ไม่รู้จักชิมอาหารมันก็ไม่เข้าใจ ได้ยินแต่หู มือทำเฉยๆแต่ลิ้นไม่ได้ลิ้มรส มันก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงว่าความอยากธรรมะ เพราะฉะนั้นมันต้องปฏิบัติให้มันประจักษ์ขึ้นเอาเองอย่างนี้ แล้วก็ไม่ต้องถามใคร มันก็ตัดสินใจเอาได้เองเพราะเราเห็นเอง เห็นอะไรเมื่อพิจารณาอย่างนั้น

นี่ ตรงนี้ฟังดีๆ ฟังให้เข้าใจ การค้นคว้า เมื่อสติกับปัญญาเข้าไปเน้นอยู่อย่างนั้น สติกับปัญญาเน้นอย่างนั้น มันมีทัศนะอันหนึ่งที่คอยคุมอยู่เบื้องหลังของอันนั้น เมื่อมันพอลงเต็มที่แล้ว สติรู้ไปตามความนึกคิดสิ่งที่เราพิจารณาอันนั้นตลอดเวลา เมื่อเวลามันพอเต็มที่ สภาวะอันนั้นจะดับรวมกัน เมื่อดับลงไปอย่างนั้นก็เหลือสภาพความเป็นอยู่ของจิตดวงเดียวอย่างนั้น นี่ สภาวะอันนี้ดับขนาดนั้น บางทีในขณะนั้น มันคล้ายๆว่าจะมีสิ่งอันใดคล้ายๆเผลอ แต่ไม่ใช่เผลอ เป็นธรรมชาติความเป็นอย่างนั้น จิตในขณะที่ทำงานอย่างนั้นรู้สึกว่ามันจะเป็นสภาวะที่หยุดทันที เพราะมันเต็มที่ เต็มอิ่ม เต็มบริบูรณ์ของมันอย่างนั้น มันหยุดในขณะที่พิจารณาอย่างนั้น ถอนตัวออกมาอยู่ในความสงบของใจนั้น เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมา เอ้อ อย่างนี้

เมื่อใจอันนั้นจะน้อมคิดไปในอารมณ์อันใดมันก็รู้ทัน รู้เท่ารู้ทันอยู่ตลอดเวลา ยืนเดินนั่งนอน ทำกิจการอันใด ใจที่จะคิดกระสับกระส่ายไปในที่ใดก็มีสติควบคุมอยู่อย่างนั้น แล้วนั่นก็ผลจากการที่เรากระทำที่เข้าไปพิจารณานั้นเอง จึงได้รู้ระยะของจริงที่มันเคลื่อนไปๆอย่างนั้น นี่มันตามทันอย่างนั้น ผลได้รับเพราะเมื่อเราทำอย่างนั้นแล้วมันก็มีความชำนิชำนาญของปัญญากับสติคอยควบคุมใจที่จะส่ายออกไปหาเรื่องเข้ามาหาหัวใจให้ดิ้นรน นี่ เมื่อเป็นอย่างนั้นจะมาอะไรหละ นี่ พระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านประพฤติปฏิบัติท่านก็ต้องพิจารณาอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วใจท่านก็ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย จะดิ้นรนไปได้อย่างไร ก็เพราะมีสติอันนั้นแก่กล้าอยู่ตลอดเวลา ควบคุมความคิดนึกปรุงแต่งของใจอย่างนั้น นั่นจะเรียกว่าความสุขหรือความอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นอย่างนั้นแล้ว จะเรียกม้นเป็นอะไรก็ช่างมันเถอะ นี่เป็นเช่นนี้

เพราะฉะนั้นจึงว่าการปฏิบัตินี่ต้องใช้ปัญญาค้นคว้าพินิจพิจารณา ถ้าไม่ค้นคว้าพินิจพิจารณาแล้ว ความก้าวหน้ามันจะไม่ถึงฝั่ง นี่หลวงตาอธิบายอย่างนี้ พวกเรารู้สึกว่าบางคนก็อุตส่าห์ทำสมาธิได้ดี สังเกตดูอย่างนี้ แต่ว่าการค้นคว้าพินิจพิจารณานี่รู้สึกเรียกว่าต่ำ นี่อย่างนั้นจึงไม่ก้าวหน้า ลองดูสิมาพิจารณาดู แต่ว่าการพิจารณานี่ต้องรู้จักประมาณเหมือนกัน ไม่ใช่จะเอาตุ่ยไปทีเดียวหรือเรียกว่าเอาอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องมีเวลาพักมีเวลาผ่อน เมื่อจิตนั้นมันเหนื่อยมากมันก็เข้าพัก พอสมควรแล้วก็ต้องออกมาพิจารณาอย่างนั้น ค้นลงไป นี่เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าการภาวนามันสำคัญอยู่ตรงนี้นะ สำคัญที่การค้นคว้าพิจารณา สมาธิที่จะเจริญคือตัวหลักมันก็ต้องใช้ปัญญา

อย่างพระท่านบรรยายถึงอนัตตลักขณสูตรเมื่อตะกี๊ พระพุทธเจ้าท่านถามปัญจวัคคีย์ไปถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็ไปลงบาทท้ายคาถาว่า เอวะเมตัง ยถาภูตัง สัมมัปปัญญายะทัฏฐัพพัง ไม่ใช่ว่า… ก็ต้องเอาเหตุของรูป เวทนา สัญญา สังขารนั่นเอง เป็นอารมณ์เป็นเครื่องพิจารณา แล้วพระพุทธเจ้าก็ถามอยู่อย่างนั้น ถามว่าอันนั้นเที่ยงมั้ย…ไม่เที่ยง แน่ะ เราก็รู้เราเองเพราะเวทนาเมื่อมันเกิดเต็มที่แล้วมันหายไปอย่างนี้ เราก็รู้ต้องรู้ อ้อ นี่มันไม่เที่ยง สัญญาความคิดนึกปรุงแต่งมันก็ไม่เที่ยง ประเดี๋ยวมันก็ดับ แน่ะ เราก็ต้องรู้เราเอง ไม่จริงพระเจ้าค่ะ แล้วเราบังคับได้มั้ย…บังคับไม่ได้ แสดงว่าเป็นอนัตตาไม่ใช่เรา แล้วทีนี้ท่านจึงตรัสอีกทีว่า เอวะเมตัง ยถาภูตัง สัมมัปปัญญายะทัฏฏัพพัง พึงรู้ด้วยปัญญาอันตามความเป็นจริง ก็คือหมายความว่ารู้เท่ารู้ทันความคิดนึกปรุงแต่งของใจอันนั้นเอง ไม่ได้ไปรู้ที่อื่น รู้การกระทำอันนี้ ไม่ได้รู้ที่อื่น รู้ปัญจขันธ์อันนี้ ไม่ได้รู้ที่อื่น เพราะฉะนั้นต้องค้นต้องพิจารณาเข้าไปให้มันเกิดความสงบ เมื่อสงบก็มาค้นคว้าพิจารณานี่ อย่างนั้น และเมื่อมันเป็นอย่างนั้นแล้ว จิตมันก็ต้องเจริญงอกงามไพบูลย์ เพราะฉะนั้นนี่ หลวงตาเทศน์ มันไม่มีเทศน์แล้ว หมด หมดพุง เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมคืนนี้ ก็พอสมควรแก่กาลเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อท่านทั้งหลายได้สดับตับฟังธรรมะได้บรรยายมานี้โดยปกิณกะ เมื่อท่านทั้งหลายน้อมไปตรึกตรองพินิจพิจารณาใคร่ครวญเห็นดีเห็นชอบแล้วลงมือประพฤติปฏิบัติ ต่อนั้นไปก็จะได้เกิดความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังได้แสดงมา ก็สมควรแก่กาลเวลาขอยุติแต่เพียงเท่านี้