หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร
การนั่งสมาธิเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ สำคัญในชีวิตของบุคคล บุคคลผู้ที่มีสมาธินั้นมีประโยชน์แก่จิตใจเป็นอย่างมาก เพราะใจของคนเรานั้นมีอารมณ์เป็นที่ตั้ง อารมณ์นั้นเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ สิ่งแวดล้อมต่างๆที่จะเข้ามาเจือปนในอารมณ์มีมาก ที่จะมาก่อให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวของคนเราอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าหากเราไปสะสมเพิ่มเติมขึ้นมาแล้ว มันก็จะทำให้เกิดกิเลสหนักขึ้นไป
ในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็คือการแก้ไขกิเลสเหล่านี้ให้บรรเทาเบาบางลงไป การบรรเทาเบาบางนั้นก่อให้เกิดความสุข เมื่อจิตของตนสงบเป็นสมาธิ ความสุขย่อมเกิดขึ้น ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความสุขที่ปราศจากอามิส เป็นความสุขที่มีความบริสุทธิ์ แม้จะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นในเพียงขณิกสมาธิ ก็เป็นความสุขที่มีความบริสุทธิ์ จะเป็นอุปจารสมาธิ ก็เป็นความสุขที่มีความบริสุทธิ์ จะเป็นอัปปนาสมาธิ ก็เป็นความสุขที่มีความบริสุทธิ์ เพราะความสุขที่มีความบริสุทธิ์นี้หาได้เฉพาะการทำบำเพ็ญในทางจิตใจโดยการฝึกหัดในทางพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น เราจะไปหาที่อื่นหาไม่ได้
นอกเหนือจากการทำสมาธิ ความสุขที่เกิดขึ้นนั้นไม่บริสุทธิ์ เพราะความสุขเหล่านั้นเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากอามิส อามิสก็หมายความว่า มีสิ่งเจือปน มีความสุขก็จริงแต่ว่ามีความทุกข์เจือปนอยู่ ความทุกข์ที่มาเจือปนในจิตใจของคนนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ถึงเรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมที่เกิดขึ้นเพราะจิตใจของคนเรานั้นยังมีความลุ่มหลง ความลุ่มหลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากโลกธรรมเข้ามากระทบ บางทีมีลาภ บางทีเสื่อมลาภ บางทีมียศ บางทีเสื่อมยศ บางทีมีสุข บางทีเกิดทุกข์ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งเรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมนั้นมีมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจบงการของมัน
เพราะฉะนั้นทุกคนจึงต้องอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส จึงต้องเดินไปตามทางที่กิเลสนั้นได้บงการไป บงการให้โกรธ บงการให้โลภ บงการให้หลง บงการให้มีราคะความยินดี บงการให้มีความโกรธ บงการให้มีความหลงเป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจของกิเลสที่บงการเอาไว้ เมื่ออำนาจของกิเลสบงการไป เราก็ต้องเดินตามไปเรื่อย เมื่อเราเดินตามมันไป เราก็ต้องไปพบกับความหายนะหรือเรียกว่าทางตัน เพราะอะไรจึงไปเป็นเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อเราอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสแล้ว มันจะต้องพาไปตามจุดหรือทำไปตามในทางที่จะก่อให้เกิดความว้าวุ่นหรือเกิดความวุ่นวาย
ด้วยเหตุอย่างนี้พระยสกุลบุตร ที่เป็นลูกเศรษฐี เมื่อมีเงินมีทองมีข้าวมีของมีทรัพย์สินสมบัติ มีลูกมีเมียมีนางสนมคนสวยๆเยอะแยะมากมาย แต่ว่าพระยสกุลบุตรนั้นตื่นขึ้นมาในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านก็ได้ออกอุทานในใจว่า ที่นี่ขัดข้อง ที่นี่วุ่นวาย ที่นี่ขัดข้อง ที่นี่วุ่นวาย เดินหนีไปจากปราสาทนั้น ได้ไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ปลดความขัดข้อง ปลดความวุ่นวาย
เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลายผู้ที่ได้มาปฏิบัติในทางใจจึงได้ชื่อว่าเดินทางถูก เราไม่อยู่ภายใต้อำนาจกิเลส แต่ว่าเราอยู่ในตัวของเรา เราเป็นผู้ที่มีความเป็นใหญ่ มีความเป็นอิสระ เพราะเหตุเราได้มาพบหนทาง เพราะเหตุเราได้มาปฏิบัติในทางใจ เพราะเหตุเราได้พบการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจึงมีหูมีตา เรียกว่าเกิดความสว่าง เกิดความสว่างนั้นพระพุทธเจ้าแสดงว่า ธมฺโม ปทีโป แสงสว่างแห่งธรรม ธรรมะให้แสงสว่าง เปิดทางให้พวกเราพากันเดิน เปิดทางให้พวกเราพบในสิ่งที่มีความสุข ที่มีความบริสุทธิ์
ความสุขที่มีความบริสุทธิ์นั้นเราได้มาพบแล้ว และเราได้พากันสัมผัสแล้ว เราสัมผัสความสุขที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติในทางใจ คือได้สัมผัสความสงบ สัมผัสในความสงบก็คือเราได้พบปฐมฌานแล้ว เราได้พบทุติยฌานแล้ว เราได้พบตติยฌานแล้ว เราได้พบจตุตถถฌานแล้วอย่างนี้ เมื่อเราได้พบทางที่ถูกต้อง หรือเรียกว่า ธมฺโม ปทีโป แสงสว่างแห่งธรรม เราก็จะได้วิหารธรรม
วิหารธรรมคือธรรมเป็นเครื่องอยู่ ตามธรรมดานั้นคนในโลกที่ยังมองไม่เห็นธรรม เขาจะหาเครื่องอยู่ ทุกคนต้องมีเครื่องอยู่ ถ้าไม่มีเครื่องอยู่ก็เป็นคนไม่ได้ ตาย คนต้องมีเครื่องอยู่ แต่เขาเอาเครื่องอยู่ที่เรียกว่าวิหารธรรมนั้นจากการเล่นไพ่ เล่นโป จากการกินเหล้าเมายา จากการมัวเมาสารพัด นั่นเป็นเครื่องอยู่ของปุถุชน ปุถุชนแปลว่าคนหนาไปด้วยกิเลส เรียกว่าปุถุชน ปุถุชนนั้นมีเครื่องอยู่ คือเครื่องอยู่ที่เรียกว่าเป็นเครื่องมัวเมาเช่น เหล้ายา หรือสิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดความมัวเมาในโลก ต้องมีเป็นเช่นนั้น
ส่วนผู้ที่มีความเข้าใจได้พบแสงสว่างแห่งธรรม เมื่อพบแสงสว่างแห่งธรรมแล้ว ในที่สุดเขาก็ได้วิหารธรรมคือเครื่องอยู่ เครื่องอยู่ก็คือความสุขสบายใจที่ได้พบความสงบ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นัตถิ สนฺติ ปรํ สุขํ ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสงบที่เกิดจากความสุขนั้น เป็นความสุขที่ไม่ได้ซื้อเอาด้วยเงินด้วยทอง ไม่ได้ซื้อเอาด้วยทรัพย์สินสมบัติใดๆ ความสุขอันนี้จะต้องเกิดขึ้นจากการกระทำ ที่ผู้ใดกระทำผู้นั้นถึงจะเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากกำลังวังชาของตน เกิดขึ้นจากศรัทธาของตน เกิดขึ้นจากความตั้งมั่นในจิตใจของตน เกิดขึ้นจากความอดทนของตน เกิดขึ้นจากความเพียรของตน ถึงได้ชื่อว่าเป็นวิหารธรรม เรียกว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่ที่มีความสุขที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้อยู่ที่ว่าตัวของพวกเราทั้งหลายจะมีความมั่นใจในตัวเองแค่ไหน ถ้าหากว่ามีความมั่นใจในตัวเองยิ่งขึ้น ผู้นั้นจะมีแต่สะสมความสุขอันนี้ ให้มีพละกำลังวังชายิ่งขึ้นไป คือไม่หยุดอยู่แต่เพียงแค่นี้ มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป จากปฐมฌานก็เป็นทุติยฌาน จากทุติยฌานก็เป็นตติยฌาน จากตติยฌานก็เป็นจตุตถฌาน
ปฐมฌานนั้นได้แก่ขณิกสมาธิ พอเวลาจิตรวมลงไปแล้วมีความรู้สึกสบายประเดี๋ยวเดียวหายไปแล้ว นั้นเรียกว่าปฐมฌาน บริกรรมพุทโธๆไปจิตก็สงบ พอสงบไปประเดี๋ยวเดียวจิตก็ถอนเกิดมามีความนึกคิดตามเดิม
ทุติยฌานนั้นไม่ต้องนึกพุทโธ พอกำหนดจิต จิตก็สงบ พอสงบแล้วก็อยู่ได้นานพอสมควรอย่างนี้เรียกว่าทุติยฌาน
ตติยฌานนั้นก็ไม่ต้องนึกพุทโธอีกเช่นเดียวกัน กำหนดแต่จิตอย่างเดียวจิตก็เกิดความผ่องใสสะอาด เรียกว่าตติยฌาน
จตุตถฌานนั้นเมื่อจิตสงบโดยที่ไม่ต้องกำหนดพุทโธ กำหนดจิตอยู่อย่างนั้น เมื่อกำหนดจิตอยู่อย่างนั้น จิตก็ตั้งเที่ยงตั้งมั่นอยู่ได้ จะอยู่ซักวันนึงก็ได้ อยู่ซักสองวันก็ได้ ให้จิตตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่วอกแวก เรียกว่าจตุตถฌาน
ในฌานทั้ง ๔ นี้ เรียกว่าเป็นบาท คือเป็นบาทแห่งวิปัสสนา การที่จะดำเนินจิตเข้าสู่วิปัสสนาได้นั้นต้องอาศัยตติยฌานและจตุตถฌานนี้เป็นกำลัง ถ้าไม่มีกำลังตติยฌาน จตุตถฌานอยู่แล้ว การบำเพ็ญวิปัสสนาก็ไม่เกิด
วิปัสสนานั้นได้แก่ความรู้แจ้งและเห็นจริง ความรู้แจ้งและเห็นจริงนั้นเกิดขึ้นมาจากการพิจารณาภายใน การพิจารณาภายในนั้นคือดวงตาทิพย์ ดวงตาทิพย์นั้นคือแสงสว่างที่เกิดขึ้นจากการกระทำจิต เมื่อกระทำจิตเกิดแสงสว่างเรียกว่าผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม การที่มีจิตแล้วสว่างกำหนดจิตหลับตา แต่เกิดความสว่างขึ้นอย่างนี้เรียกว่ามีดวงตา เมื่อมีดวงตาอย่างนั้นก็บำเพ็ญวิปัสสนาได้ เพราะการจะบำเพ็ญวิปัสสนานั้นต้องมีกระแส หรือเรียกว่าจิตที่มีกำลัง
การเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นเพียงครั้งหนึ่งครั้งเดียว แล้วจะมาบำเพ็ญวิปัสสนานั้นไม่ได้ ต้องบำเพ็ญฌานเหล่านี้ให้เกิด วสี คือความชำนาญ มีปฐมฌานก็ชำนาญ ทุติยฌานก็ชำนาญ ตติยฌานก็ชำนาญ จตุตถฌานก็ชำนาญ เมื่อชำนาญแล้ว เมื่อเกิดวสี เรียกว่าความชำนาญแล้ว ถึงจะเกิดพลังจิตได้
พลังจิตนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพลังจิตของเรานั้นเพียงพอแล้ว ก็ใช้กระแสจิตนี้พิจารณาคือพิจารณาให้เห็นถึงสังขารทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็คือร่างกาย ร่างกายนี้จะมีอะไรบ้าง
อะยัง โข เม กาโย กายของเรานี้แล
อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโรนานัปปะการัสสะ อะสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ
อัตถิ อิมัสมิง กาเย มีอยู่ในกายนี้
เกสา โลมา นขา ทันตา (ตโจ) ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ในมหาสติปัฏฐานนั้น ท่านให้พิจารณาให้เห็นเหมือนกันกับนายโคบาล หรือนายโคคาดที่เขาเฉือนเนื้อโค ลอกหนังออกไป ลอกเนื้อออกไป แล้วก็เหลือแต่กระดูกมีเครื่องในเกลื่อนกลาด พิจารณาร่างกายให้เป็นเช่นนั้นได้ ถือว่ากำลังเริ่มที่จะเข้าสู่วิปัสสนา
การเข้าสู่วิปัสสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอริยสัจ ก็เท่ากันกับการดำเนินอริยสัจ การดำเนินอริยสัจนั้นคือการพิจารณาถึงทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ และมรรคสัจ
ทุกขสัจนั้นได้แก่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้น ผู้ใดเป็นผู้เกิด ผู้ใดเป็นผู้แก่ ผู้ใดเป็นผู้เจ็บ ผู้ใดเป็นผู้ตาย ตัวร่างกายของเราที่ปรากฏอยู่นี่แหละเป็นผู้เกิดมา และร่างกายของเรานี่เองเป็นผู้ที่แก่ และร่างกายของเราก็เป็นผู้ที่จะต้องแตกสลายไป พิจารณาอย่างนี้จะทำให้เกิดนิพพิททาญาณ ความเบื่อหน่ายขึ้นมาในจิตใจ
คือใจของเรานี้ทำอย่างไรถึงจะเกิดความเบื่อหน่ายได้ คือใจของคนเรานั้นเมื่อยังไม่ได้รับการฝึกฝน หรือไม่ได้รับการให้พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว ใจนี้จะเป็นผู้ที่มีความยึดถือ เห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ร่างกายนี้ เป็นของสวยของงาม เป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ชอบใจ แล้วทีนี้ก็ทำให้เกิดเป็นสมุทัยสัจ
สมุทัยสัจนั้นได้แก่ตัณหาทั้ง ๓ ตัณหาทั้ง ๓ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กามตัณหาก็คือความใคร่ในกาม ภวตัณหาก็คือความอยากมี อยากเป็น อยากได้เป็นใหญ่เป็นโต มีเงินมีทอง มีข้าวมีของ วิภวตัณหานั้นก็คือความไม่อยาก ไม่อยากเป็น ไม่อยากจน ไม่อยากที่จะเสื่อมลาภ เสื่อมยศอะไรอย่างนี้ เรียกว่าวิภวตัณหา ตัณหานั้นเกิดขึ้นจากอุปาทาน อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นนั้นในอุปาทานก็คือใจของเรานี้เป็นอุปาทาน เมื่ออุปาทานยึดว่าอันนี้เป็นรูปผู้หญิง อันนี้เป็นรูปชาย เรียกว่ารูปหญิง รูปชาย ต่างคนก็ต่างก็มีความรักความชอบ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาก็ทำให้เกิดเป็นตัวตัณหาขึ้นมา
ตัวตัณหานี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปะหาตัพพันติเม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมุทัยควรละ สมุทัยนี้พระพุทธเจ้าให้ละ การพิจารณาถึงตัวทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ทุกข์นั้นควรกำหนดรู้ ทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละ ปะหาตัพพันติเม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสมุทัยควรละ ส่วนทุกข์นั้นควรกำหนดรู้ อย่างกำหนดรู้ว่าอันนี้เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อันนี้เป็นกระดูก อันนี้เป็นตับ ไต ไส้ พุง อันนี้เรียกว่าธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความเป็นจริง คือตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น
แต่คนที่ไม่รู้ตามความเป็นจริงคือไม่พิจารณาให้เป็นวิปัสสนาก็จะต้องมีความหลงใหลไปตามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของสวยของงาม เป็นสิ่งที่ควรจะยึดถือสัมผัสอะไรต่างๆเหล่านี้เป็นต้น อันนี้เรียกว่าเป็นตัณหา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปะหาตัพพันติเม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมุทัยควรละ ถ้าหากการละนั้น จะละด้วยความจำใจ คือไม่ใช่ละด้วยสมาธิ คือกำหนดอยากจะละก็ละเอาอย่างนั้น ละไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ละไม่ได้ แต่การที่จะละได้ต้องละด้วยอำนาจพลังของจิตที่ได้พิจารณาถึงตัววิปัสสนา คือพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง พิจารณาเห็นความเป็นจริงภายในจิตนั้น จิตนี้จะเกิดนิพพิททาญาณ ความเบื่อหน่ายขึ้นมาเอง อันนั้นจึงจะถือว่าละได้
แต่การจะไปคิดว่า อันนี้มันเป็นกระดูก อันนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไปคิดเอาเฉยๆอย่างนี้ ยิ่งคิดมันก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง ยิ่งคิดมันก็ยิ่งหนักเข้าไป ส่วนถ้าหากว่าพิจารณาได้ตามความเป็นจริงแล้วนั้น ถึงไม่ต้องคิดมันก็เกิดความถ่ายถอนคือมีจิตใจที่ไม่โลภโมโทสันเอง คือละไปเอง เหมือนกันกับการรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารนั้นถ้าหากว่าเรารับประทานอาหาร ความหิวมันหายไปเองมัน นั่นแหละ มันหายไปได้อย่างไร ก็เพราะความอิ่มเข้ามาแทนที่ เรารับประทานเข้า รับประทานเข้า ในที่สุดมันก็เกิดความอิ่ม แล้วความหิวมันหายไปได้ยังไง ก็เพราะความอิ่มนั่นเองที่มากำจัดความหิวออกไปได้
ฉันใดก็ฉันนั้น การที่จะละตัณหาออกไปจากจิตได้นั้น ก็ต้องอาศัยการพิจารณาถึงตัวทุกข์ คือพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงที่ว่าอันนี้เป็นธาตุทั้ง ๔ อันนี้เป็นดิน อันนี้เป็นน้ำ อันนี้เป็นลม อันนี้เป็นไฟ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ทั้ง ๔ ประการนั้น เค้าเรียกว่า มหาภูตรูป มหาภูตรูปทั้ง ๔ เมื่อมหาภูตรูปทั้ง ๔ ก็คือธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมกันจึงได้ชื่อว่าเป็นมหาภูตรูป เรียกว่ามีรูปเกิดขึ้น อันนี้ตามความเป็นจริง แต่ถ้าหากว่าตามความสมมุติ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา อย่างนี้นั้นเกี่ยวกับโดยทั่วๆไป ไม่ใช่ผู้ฝึกวิปัสสนา ผู้ฝึกวิปัสสนานั้นย่อมจะต้องเห็นตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นจริงก็บังคับให้มันพิจารณาตามความเป็นจริง
ในเบื้องต้นนี่ต้องบังคับกันก่อน พอบังคับจนกระทั่งมันสำเร็จไปแล้วต่อมาทีหลังก็ไม่ต้องบังคับ เหมือนกันกับคนไม่อยากรับประทาน ก็บังคับกันก่อน เมื่อบังคับกันไป อ้าว มันอร่อยนี่ ก็เลยรับประทานกันต่อไปจนกระทั่งอิ่ม ความหิวก็หายเอง เหมือนกันกับผู้ที่จะบำเพ็ญวิปัสสนา ในเบื้องต้นนี้ก็ยังบำเพ็ญวิปัสสนาไม่ได้ ตัวเราก็จำเป็นที่จะต้องบังคับตัวเราพิจารณา มันไม่อยากมองเห็นคนตาย ก็มองให้เห็น มันไม่อยากเห็นคนเน่าเปื่อย ก็มองให้มันเห็น มันไม่อยากเห็นคนที่ทุพพลภาพอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็เราจะต้องทำให้มันเห็น เรียกว่าบังคับให้ดู
เหมือนกันกับที่พระพุทธเจ้าของเราก่อนที่จะออกบวช พระองค์ก็เห็นเทวทูตทั้ง ๔ เทวทูตทั้ง ๔ ที่มาบันดาลให้เห็นนั้นคืออะไร คือคนแก่ คนกำลังเจ็บไข้ คนตาย และก็สมณะ สี่ประการนี้เรียกว่าเทวทูตทั้ง ๔ เข้ามาให้พระพุทธองค์ได้เห็นเป็นครั้งแรก เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการที่จะปฏิบัติวิปัสสนาต่อไป
พวกเราท่านทั้งหลาย พวกเรามีโชค พระพุทธเจ้าแนะนำไว้แล้ว นี่คือวิปัสสนา นี่คือสมถะ พระพุทธองค์ได้แนะนำไว้หมดแล้ว แต่ว่าเราจะทำให้เกิดขึ้นหรือไม่เท่านั้น ทีนี้เราได้ทำวิปัสสนา ก็จะต้องเป็นอริยสัจ ๔ อริยสัจข้อที่๓ นั้น สัจฉิกาตัพพันติเม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิโรธควรทำให้แจ้ง นิโรธนั้นคืออะไร นิโรธนั้น ถ้าเปรียบก็เหมือนกันกับความอิ่ม เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไปแล้วอิ่ม ความอิ่มนั้นคือนิโรธ เหมือนกันกับที่เราพิจารณาถึงสังขาร นิพพิททาญาณเกิดขึ้นกับเรา จิตนั้นก็ได้เกิดสว่างไสวขึ้น รู้แจ้งและเห็นจริง ความรู้แจ้งและเห็นจริงนั้นเรียกว่าเป็นความที่เราได้ดับทุกข์ไปแล้ว เหมือนกันกับความหิว มันมีทุกข์ มันเป็นทุกข์ แต่เมื่อเวลามันรับประทานอาหารอิ่มแล้ว มันก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะดับทุกข์ไปแล้ว อันนี้จึงเปรียบเหมือนกันกับนิโรธสัจ คือนิโรธที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัจฉิกาตัพพันติเม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิโรธควรทำให้แจ้งเป็นอย่างนั้น
ในที่สุดนั้นพระองค์ก็ได้ทรงแสดงต่อไปว่า ภาเวตัพพันติเม ภิกขเม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรรคควรเจริญให้มาก การดับทุกข์เราจะไปดับครั้งเดียวย่อมไม่สำเร็จ จำเป็นจะต้องดับทุกข์ไปหลายครั้งถึงจะสำเร็จได้ เหมือนกันกับคนรับประทานอาหาร รับประทานอิ่มครั้งเดียว แล้วต่อไปไม่กินอีก ก็ต้องตาย เมื่อมันหิวขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ต้องกินเมื่อนั้น จนกว่าร่างกายนี้จะเติบใหญ่เต็มที่ ถึงเติบใหญ่เต็มที่ก็ต้องรับประทานเรื่อยไป เพราะฉะนั้นในคำที่ว่า ภาเวตัพพันติเม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรรคควรเจริญให้มาก ก็เช่นเดียวกัน ก็เราก็ต้องทำให้มาก เหมือนกับเรารับประทาานอาหาร อิ่มแล้ว หิวแล้วก็กินใหม่ อิ่มแล้ว หิวแล้วก็กินใหม่ อย่างนี้เรียกว่า ภาเวตัพพันติเม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรรคควรเจริญให้มาก
มรรคที่จะเจริญให้มากและจะไปถึงซึ่งความสำเร็จ เรียกว่าบรรลุนั้น เราจะกำหนดความหมายอย่างไร เรากำหนดความหมายได้ เพราะว่าการที่จะบรรลุได้นั้น มันจะต้องทำจิตนี้ให้เป็นอินทรีย์ซะก่อน จิตที่เป็นอินทรีย์นั้น มาตั้งแต่ สัทธินทริยัง วิริยินทริยัง สะตินทริยัง สะมาธินทริยัง ปัญญินทริยัง
สัทธินทริยังนั้นได้แก่ศรัทธาเป็นใหญ่ ศรัทธาคือความเชื่อ ความเชื่อที่เกิดขึ้นจากจิตที่ดำเนินมรรค ผู้ที่จะดำเนินมรรคนั้นต้องทวนกระแสจิตไปถึงที่ตั้งของจิต คือการสมบูรณ์ของการทำสมาธิ เริ่มแล้วซึ่งวิปัสสนา ซึ่งเป็นกำลังที่จะดำเนินวิปัสสนาต่อไปได้อย่างเต็มที่
เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อทวนกระแสจิตเข้าไปถึงที่ตั้งของจิต การทวนกระแสจิตนั้นกระทำอย่างไร ก็จะอธิบายไว้ซักหน่อยนึงว่า การที่จะทวนกระแสจิตเข้าไปถึงที่ตั้งของจิตได้นั้น ก็เหมือนกับเราได้พากันพิจารณาดูร่างกาย เรามองเห็นว่านี้เป็นกระดูกและใครเป็นผู้เห็นกระดูกนั้น เราเห็นแสงสว่างในจิต ใครเป็นผู้เห็นแสงสว่างในจิตนั้น เราเห็นความสะอาดในจิต ใครเป็นผู้เห็นความสว่างในจิตนั้น นั่นแหละเป็นการทวนกระแสจิตมาถึงที่ตั้งของจิต ก็หมายความว่า แสงสว่างเราเห็นแสงสว่าง ใครเป็นผู้เห็น อย่างเราอิ่มอย่างนี้ ใครเป็นผู้อิ่ม หรืออย่างเรามีเห็นสังขารร่างกายอย่างนี้ ใครเป็นคนเห็น ผู้ที่เห็นนั้นมีความสำคัญ คือเป็นผู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เมื่อเราทวนกระแสจิตมาถึงที่ตั้งของจิตได้อย่างนี้แล้ว คือทวนกระแสครั้งหนึ่งไม่ได้ ก็ต้องทวนกระแสหลายครั้งว่าเราก็ตั้งคำถามในที่นั้นว่า ใครเป็นผู้เห็น ใครเป็นผู้รู้ ใครเป็นผู้เห็น แสงสว่างใครเป็นผู้เห็น ร่างกายใครเป็นผู้เห็น ก็ถามอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็กำหนดจิตนิ่งอยู่ จะต้องมีซักวันหนึ่งจะร้อง “อ้อ อยู่ที่นี่เอง” เมื่อร้อง “อ้อ” ได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นท่านบอกกว่า ดำเนินจิตถึงต้น เรียกว่าต้นหนทาง เมื่อไปถึงนั้นเมื่อไหร่นี่ มันจะรวม ความเป็นใหญ่ทั้ง ๕ ประการ สัทธินทริยัง วิริยินทริยัง สะตินทริยัง สะมาธินทริยัง ปัญญินทริยัง ทั้ง ๕ คืออินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ จะต้องเป็นอินทรีย์ที่มีความพร้อม มีความพร้อม ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ถึงจะกำจัดกิเลสได้เมื่อนั้น ถ้ายังไม่พร้อมก็เรียกว่ายังไม่ได้
เหมือนกับสงคราม ถ้าหากว่ายังตีเมืองหลวงไม่แตกก็ยังไม่ชนะ เมื่อตีเมืองหลวงแตกเมื่อไหร่ก็ชนะเมื่อนั้น ก็เหมือนกันกับกำลังทั้ง ๕ คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นผู้ที่รวบรวมได้ มีกำลังอันยิ่งใหญ่ เมื่อมีกำลังอันยิ่งใหญ่ก็สามารถกำจัดกิเลส คือสามารถกำจัดกิเลสออกไปได้ทันที เรียกว่ากำจัดออกไปได้ทันที แต่ว่าการกำจัดกิเลสนั้น ก็เหมือนกันกับการที่ชนะโดยเด็ดขาด การชนะเด็ดขาดนั้นเรียกว่า ชนะโดยไม่มีการแพ้ ในโลกนี้การชนะเด็ดขาดไม่มี ชนะแล้วก็แพ้ แพ้แล้วก็ชนะ ชนะแล้วก็แพ้ แพ้แล้วก็ชนะ ส่วนโลกุตตรธรรมนั้นเรียกว่าชนะโดยเด็ดขาด หมายความว่าเมื่อชนะแล้วไม่มีกลับมาแพ้อีก ผู้นั้นก็จะมีจิตเข้าสู่ความเป็นอริยบุคคล
ความเป็นอริยบุคคลนั้น ท่านแบ่งเป็น ๔ ประเภทด้วยกัน มีพระโสดาบัน พระสกิทาคา พระอนาคา และพระอรหันต์ พระโสดาก็มีโสดามรรค และก็โสดาผล และก็มีสกิทาคามรรค และก็มีสกิทาคาผล และก็มีอนาคามรรค อนาคาผล และก็มีอรหัตตมรรค อรหัตตผล อันนี้ถือว่าเป็นพระอริยเจ้า พระอริยเจ้านั้นคือผู้ที่กำจัดกิเลสได้แล้ว กำจัดกิเลสพวกนี้ คือมีกำลังทั้ง ๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่ากองทัพทั้ง ๕
กองทัพทั้ง ๕ นี้ กองทัพที่หนึ่งมีศรัทธาเป็นแม่ทัพ กองทัพที่สอง มีวิริยะเป็นแม่ทัพ กองทัพที่สาม มีสติเป็นแม่ทัพ กองทัพที่สี่มีสมาธิเป็นแม่ทัพ กองทัพที่ห้า มีปัญญาเป็นแม่ทัพ ทั้งห้ากองทัพนี่จึงจะชื่อว่าเป็นกองทัพที่ต่อสู้กับกิเลส ถ้าหากว่าทวนกระแสจิตมาถึงที่ตั้งของจิตได้ ผู้นั้นก็จะมีศรัทธาเรียกว่ามั่นคง ไม่ต้องไปวอกแวก คนที่ยังไม่มีศรัทธามั่นคงคือยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม เมื่อยังไม่มีดวงตาเห็นธรรมก็ยังหลง คนนั้นว่าดีก็ต้องเอาไปที คนนี้ว่าดีก็เอาไปที คนนั้นจูงจมูกไปทีก็เอาไปที คนนี้จูงจมูกไปทางนี้ก็ไปที อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่ สัทธินทริยัง คือไม่ใช่มีศรัทธาเป็นแม่ทัพ หรือไม่ใช่ชื่อว่าศรัทธาเป็นใหญ่ ศรัทธายังย่อหย่อน ยังไม่มีกำลัง แต่ถ้าหากว่ามองเห็นจริงแจ้งประจักษ์ชัดเจนว่า อ๋อ นี่ เป็นธรรมะแท้จริงที่เราได้พบ ไม่ต้องไปหาที่อื่นอีกแล้ว ใครจูงจมูกไปไหนก็ไม่ต้องไปจูงให้ยาก ไม่ต้องมีใครชักชวนให้ไปไหนยาก อยู่ที่นี่จึงได้ชื่อว่าพบธรรม นี่เค้าเรียกว่า สัทธินทริยัง ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่ายังเป็นศรัทธาหัวเต่า หลุบเข้าหลุบออกอยู่อย่างนั้น
ในข้อที่สอง วิริยทริยัง คือมีวิริยะเป็นอินทรีย์ หรือว่าวิริยะนี่เป็นผู้อินทรีย์ เป็นผู้เป็นใหญ่ ก็หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีความเพียรที่จะทำสมาธิ มีความเพียรที่ไม่มีการถอยหลังเป็นธรรมดา การถอยหลังชื่อว่าไม่มีอีกต่อไป มีแต่ว่ามุ่งหน้าต่อไปเท่านั้น คำว่าถอยหลังไม่มีอีกต่อไปของบุคคลผู้เป็น วิริยะอินทรีย์
สติอินทรีย์คือในสตินั้นจะเป็นผู้ที่ไม่หลง คือไม่หลงทำความชั่วอีกต่อไป เพราะฉะนั้นพระโสดาบันท่านจึงบอกว่าปิดอบายมุขโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องไปตกนรกอีกเป็นอันขาด มีแต่จะก้าวหน้าสู่สวรรค์และนิพพาน นั่นคือพระโสดาบัน ก็คือว่าท่านมีสติ เรียกว่าสติอินทรีย์ สติอินทรีย์นี้เป็นผู้ที่มีสติ ไม่ให้ตัวของคนนี่ไปเที่ยวทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คือมีสติบังคับอยู่ตลอด ไม่มีการหลง หลงที่จะไปทำความชั่วไม่ได้
สมาธินั้น เปรียบประดุจว่าเป็นอาหารของใจ หรือเป็นผู้ที่ส่งเสริมกำลัง สมาธิของผู้ที่เรียกว่าสมาธิอินทรีย์นั้น ก็เป็นสมาธิที่มีความหนักแน่น เมื่อจะเข้าฌาน ทุติยฌาน ตติยฌานเมื่อไหร่นั้น ก็ไม่ขัดข้อง เข้าเมื่อไหร่ก็ได้ สมาธิเข้าเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างนั้นน่ะ ถึงเรียกว่าสมาธิอินทรีย์ เรียกว่า สะมาธินทรีย์
ปัญญานั้นได้แก่การพิจารณา คือพิจารณาอยู่ว่าสิ่งนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม สิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป สิ่งนี้เป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา อย่างนี้เรียกว่าปัญญาอินทรีย์ ถ้าหากว่าปัญญาคิดหลอกคนโน้น ปัญญาคิดโต้เถียงคนนี้ให้ชนะ ปัญญาอยากเอารัดเอาเปรียบคนอื่น อันนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่ปัญญาอินทรีย์ ปัญญาอินทรีย์คือปัญญาพิจารณาถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน เห็นจริงแจ้งเรียกว่าปัญญาอินทรีย์
เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ เพียบพร้อมบริบูรณ์ คืออินทรีย์ทั้ง ๕ นี้มีความพร้อมคือหมายความว่าพร้อมแน่นอน นั่นแหละได้ชื่อว่าเป็นกำลังและสามารถที่จะนำจิตนี้เข้าสู่ความเป็นอริยบุคคลได้ โดยไม่ต้องสงสัย ต่อไปนั่งสมาธิกันต่อไป