หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
ทำวัตรเสร็จแล้ว งานของเราปฎิบัติเป็นกิจประจำก็คือการภาวนา ทำจิตของเราให้สงบ ตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การภาวนาก็ถือว่าเป็นการอบรมจิตใจของเราให้มีความรู้ ให้มีความสามารถ ให้มีสติสมบูรณ์ มีปัญญาสมบูรณ์ สติปัญญานี่ทำให้จิตใจฉลาด ได้รู้ ได้เห็นหลักธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าตามความเป็นจริง
ความรู้เห็นเรียกว่ามรรค เรียกว่าหนทางการปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์และบำรุงความสุข ที่เราทั้งหลายต้องการ คือความสุขที่เราทั้งหลายไม่ต้องการทุกข์ ธรรมะเหล่านี้แหละกำจัดทุกข์ได้ ถ้าเราปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง การปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าอบรมจิตนี้ต้องเอาหลักความรู้ในทางศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาปฏิบัติตาม ไม่ใช่ทำตามความรู้ของเราโดยทั่วๆไป
ความรู้ของเราโดยทั่วไปเป็นความรู้ผสม สะสมมาตั้งแต่เด็กเล็กๆ มาฝึกมาเรียนรู้ จากตา จากหู จากความได้สัมผัสสัมพันธ์ อะไรต่ออะไรร้อยแปด ความรู้ที่เราได้จากโดยพื้นฐานธรรมชาตินี้ ถ้าเปรียบเหมือนกับน้ำ ก็พื้นน้ำอยู่ในแผ่นดิน เหมือนกับน้ำทะเล น้ำในมหาสมุทร ไม่สมควรที่จะประกอบยาโอสถบำบัดโรคได้ เพราะมันผสมหลายอย่าง อะไรก็ไหลรวมอยู่ในมหาสมุทร เพราะฉะนั้นมหาสมุทรจึงมีรสอันเดียวคือเค็ม ถึงแม้ว่าจะใสอย่างไรก็ตาม แต่ก็ไม่สมควรแก่การที่จะประกอบยาบำบัดโรคได้ น้ำที่จะมาเป็นกระสัยยามาบำบัดโรคได้ ต้องน้ำกลั่นที่บริสุทธิ์ ฉันใด ธรรมะที่จะมาอบรมจิตนี้ ธรรมะที่บริสุทธิ์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ มีจิตใจพระหฤทัยของพระองค์บริสุทธิ์ ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง แล้วพระองค์มารักษากาย รักษาวาจาให้บริสุทธิ์ไปด้วย พระพุทธเจ้านั้นจึงได้นามว่าพระอรหันต์ เป็นผู้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองคือกิเลส พระธรรมคือวาจาจากพระโอษฐ์ที่แสดงออกมาจากจิตใจที่บริสุทธิ์นั่น ก็เป็นธรรมะที่บริสุทธิ์
ถ้าบุคคลผู้ใดพยายามเอาธรรมะที่บริสุทธิ์มาอบมารมจิตใจ จิตใจก็ย่อมพลอยได้รับความบริสุทธิ์ไปด้วย เหมือนกับน้ำ ที่เอาสิ่งหอมมาอบ มันก็กลายเป็นน้ำหอม มีค่ามีราคา คนนิยมชมชอบ ถ้าเอาสิ่งที่สกปรกมาใส่ก็กลายเป็นน้ำสกปรก จิตใจของเราถ้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่สกปรกไม่สะอาด จิตใจของเราก็ไม่สะอาดด้วย เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสอนให้รักษาศีล เพื่อไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่สะอาดสกปรก
ถ้าเราไม่รักษาศีล ถึงแม้ว่าเราจะภาวนาเอาสิ่งที่สะอาดมาใส่เท่าไหร่ แต่เมื่อจิตใจของเราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่สกปรก เหมือนกับภาชนะที่สกปรก ของที่สะอาดเข้าไปก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่มีคุณค่า หมดค่าหมดราคาเพราะตกไปอยู่ในสิ่งที่แวดล้อม คือจิตใจที่ไม่มีศีล ไม่มีเจตนารักษาละเว้นสิ่งอันสกปรกเหล่านั้น เพราะตัวเจตนานี่เองเป็นตัวศีล ส่วนกายวาจาเป็นแต่เครื่องมือให้สำเร็จประโยชน์ของจิตที่เจตนาต้องการ เพราะฉะนั้นการรักษาศีลจึงรักษาเจตนาที่มีอยู่ในจิตใจนี่เอง เพื่อตั้งใจละเว้น
สมมุติถ้าเราจะภาวนา เราก็ตรวจดูกาย ดูวาจาของเรา ว่ากายวาจาของเราเรียบร้อยแล้ว ไปตั้งจิตเจตนาละเว้น ไม่คิดนึกละโมบอยากได้ของผู้อื่น ไม่คิดโกรธผูกพยาบาทกับใครๆ เจตนาละเว้น ไม่อยากได้ของใคร ไม่พยาบาทปองร้ายใคร เมื่อจิตใจของเราเป็นธรรม ไม่เบียดเบียนใคร เจตนาละเว้น ในสิกขาบทห้าอย่างที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เพื่อรักษาศีลสิกขาบทเท่าไหร่ ก็ดูตรวจดู ละเว้น เราได้ละได้เว้นในสิกขาบทนั้นๆ ตามเพศตามภูมิของตน
เมื่อภาชนะคือจิตใจที่เรานำศีลธรรมมาอบรมแล้ว เราก็มาฝึกฝนจิตให้ฉลาดด้วยการพิจารณา ถ้าจิตไม่ฉลาด ถึงเรารักษาได้ แต่เป็นของไม่เที่ยง ไม่สามารถจะรักษาความบริสุทธิ์ได้ จิตเมื่อเกิดเรื่องกระทบกระเทือน ไม่พอใจอย่างใดอย่างหนึ่งรุนแรงขึ้นมา ก็ไม่สามารถที่จะข่มจิตข่มใจไว้ได้ ถูกอำนาจล่วงละเมิดทำผิดศีลลงไปได้ เพราะกิเลสเครื่องเศร้าหมองในจิตใจยังมีอยู่ที่เกิดขึ้นในใจเอง ที่เรียกว่าอาสวะทั้งหลาย
กามาสวะ อาสวะคือกามก็มีอยู่ในจิตใจของเรา ภวาสวะ อาสวะคือภพ ทิฏฐิสวะ อาสวะคือทิฏฐิ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา กิเลสที่ดองอยู่ในจิตใจ ประจำอยู่ มีอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่ภาวนารู้จักสิ่งเหล่านี้แล้ว อาสวะเหล่านั้นกลายมาเป็นสมุทัย สร้างความหลง สร้างความอยากไปในทางที่ผิด ยินดีกระทำไปในทางที่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ที่เราไม่ต้องการ ทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลายท่วมทั้งสัตว์ทั้งหลาย ก็เพราะอาสวะเหล่านี้แหละดองอยู่ในจิตใจกลายเป็นโอฆะท่วมสัตว์ทั้งหลาย เป็น กาโมฆะ ภโว โมฆะ ทิฏฐิโมฆะ อวิชชาโมฆะ (โอฆะ ๔ คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และ อวิชโชฆะ) เช่นเดียวกัน แล้วให้เกิดตัณหาความอยากเป็นสมุทัยให้ทุกข์เกิด
เพราะฉะนั้นเราอบรมเห็นเหตุปัจจัยที่ให้ทุกข์เกิดชัดแล้ว ชีวิตนี้เราไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นก็ได้ เรามารักษาศีลแล้วทำงานที่ชอบตามทางที่อริยมรรคในคำสอนพระพุทธเจ้า อบรมจิตใจให้มีความเห็นตามพระองค์ในสัจธรรมที่พระองค์ทรงตรัสไว้ เมื่อจิตยังไม่เห็น หรือความเห็นยังไม่สมบูรณ์ ความดำริไม่สมบูรณ์ เราก็อบรมภาวนาให้จิตมีความเห็นสมบูรณ์ เห็นตามพระองค์ เห็นทุกข์ เห็นไตรลักษณ์ที่เราอาศัยอยู่ในขันธ์นี้
เราตรวจตรองตาม พิจารณาตาม เราก็ต้องเห็นตามว่าทุกข์มันมีอยู่จัง เรียกว่าทุกขัง เรียกว่าอนิจจัง ความไม่เที่ยงของขันธ์ของเรา เพราะความไม่เที่ยงนี่เอง นั้นหมดไปสิ้นไป ได้มาแล้วก็หมดไป ได้มาแล้วก็หมดไป เราหาตั้งแต่น้อยจนใหญ่ก็ไม่มีอะไรที่เป็นของตน ที่มั่นคงพอที่จะพึ่งได้แน่นอน ดูร่างกายมันก็จะพึ่งไม่ได้ มีแต่ชราคร่ำคร่าทรุดโทรมไปตามลำดับ ดูจิตใจก็วอกแวก ไม่อยู่ในร่องในรอย ต้องการให้สงบ มันก็ไม่สงบ มันก็ยังกระโดดโลดเต้นไปหลายอย่างอยู่ เพราะฉะนั้นเราเห็นชัดตามพระองค์อย่างนี้ เราก็เชื่อ เราก็ยอมทำตาม เพราะเป็นความจริง มันมีอยู่ตามที่พระองค์ทรงตรัสไว้ทุกอย่าง นี่ จึงมีการภาวนา
เมื่อเราเห็นชัดอย่างนี้แล้ว ความจริงอย่างนี้แล้ว เราก็เกิดความเบื่อหน่ายในการกระทำที่ไม่ดี ที่พยายามหลงใหล ที่แสวงหาวัตถุ แสวงหาความสุข โดยสิ่งอื่นๆมาพอกพูนร่างกายที่เป็นของไม่เที่ยง ชำรุดทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา ให้อิ่มหนำสำราญ ให้เพียงพอ ให้มันเต็ม มันก็เต็มไม่ได้ เพราะมันรั่วไหลอตลอดเวลา เหมือนกับเราตักน้ำใส่ถังแตก พากันตักซักเท่าไหร่ๆมันก็ไม่เสร็จ เผลอสักนิดเดียวมันก็แห้งหมดไปอีก ความสุขที่เราพยายามหาเพื่อให้เต็ม ให้เพียงพอ ก็รั่วไหลเช่นเดียวกันเหมือนกับน้ำที่ถังแตก พระพุทธเจ้าเห็นชัด ถ้าเรามาตรวจดู แล้วก็ต้องเชื่อตามเพราะมันเป็นจริง เรียกว่าสัจธรรม เรียกว่าเห็นความจริง เพราะฉะนั้นจึงเมื่อถังแตกแล้ว เราก็พึ่งไม่ได้ ร่างกายนี้ก็เช่นเดียวกัน จะพึ่งยึดมั่นคงไม่ได้ แต่มันก็มีมาแล้ว จะให้ใคร หรือใครจะรับเอาของทุกข์อย่างนี้ก็ไม่มีใครอยากได้ ใครก็ไม่อยากได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าว่า ควรอบรมจิตใจนี่ ใช้ขันธ์ให้เกิดประโยชน์เมื่อยังมีอยู่ ให้ได้ประโยชน์ในด้านจิตใจ จิตใจจะได้พึ่งตัวเอง เพราะขันธ์นี่อบรมไม่ได้ รูปก็อบรมไม่ได้ สุขทุกข์ก็อบรมไม่ได้ อบรมได้แต่จิตใจ
เพราะฉะนั้นอบรมเราใช้รูปนี่แหละ ภาวนาเดินจงกรมนั่งสมาธิ ส่วนรูปเป็นไปอาศัยปัจจัย ๔ ที่มันอยู่ได้ พระพุทธเจ้ามาสอนน่ะ สัมมากัมมันโต ทำการงานชอบ เพื่อชีวิตอยู่ได้ เกี่ยวแก่คำพูด เกี่ยวแก่การงาน เราก็พูดในเรื่องที่ชอบ ที่ไม่ให้มีปัญหา ที่ไม่กระทบกระเทือนใจ จิตของเราให้เศร้าหมอง พูดด้วยปัญญา ทำด้วยปัญญา เลี้ยงชีพด้วยทางที่ชอบ เหมือนกับเราเลี้ยงชีพทุกวัน จนเราตรวจดูชีวิตของเราอยู่ด้วยความชอบแล้ว ปัจจัย ๔ ใช้มาสอยเราก็ได้ด้วยความชอบ เราก็เดินตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อได้ความชอบแล้วก็อบรมจิตใจให้ฉลาด พยายามรักษาจิตใจของเราให้สงบ ก่อนอื่นจิตใจสงบเพื่อให้กายสงบ นั่งอยู่กับที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อกายไม่มีใครทำอันตราย กายก็ไม่กระดุกกระดิกไปไหน นั่งตรงไหนมันก็อยู่ตรงนั้นแล้ว ยังจิตใจ ยังไม่สงบ เราก็สำรวมใจ เอาธรรมมาอบรมใจ เอาคุณพระพุทธเจ้าคือพุทโธมาอยู่ที่ใจ เอาพระธรรมมาอยู่ที่ใจ เอาพระสงฆ์มาอยู่ที่ใจ เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีอานุภาพ เป็นธรรมที่บริสุทธิ์ มีอานุภาพมาก เพราะฉะนั้นเราระลึกพุทโธๆ ทำใจให้มีความสุขในพุทโธ ตัดอารมณ์ภายนอก ไม่คิดส่งออกไป ให้รวมอยู่ในพุทโธปัจจุบัน
พุทโธปัจจุบันเนี่ยสำคัญมาก ถ้าเราสามารถจะตัดอารมณ์ ไม่ให้คิดอดีต อนาคต มีพุทโธอยู่ปัจจุบัน ไม่เผลอต่อเนื่องกันชั่วระยะหนึ่ง อารมณ์ของเราก็ละเอียด เพราะไม่มีสิ่งมาก่อกวน จิตใจของเราก็ละเอียดไปด้วย ความทุกข์หยาบๆอยู่ ความทุกข์เกิดอยู่ได้ในอารมณ์หยาบๆ เรื่องหยาบๆ แต่พอจิตเข้าสู่เรื่องละเอียดแล้ว ทุกข์ก็อยู่ไม่ได้อีก เหมือนกับของสกปรกอยู่ในน้ำทะเล พอจะกลั่นให้ละเอียดแล้ว สิ่งที่ไม่สะอาดมันหยาบกว่า มันก็ขจัดออกไป เหลือแต่น้ำบริสุทธิ์ฉันใด พอเราอบรมพุทโธ อบรมจิตของเราก็ละเอียด ก็สงบไปแล้ว อันวุ่นวายก็ระงับไป ดับไป อันเครื่องเศร้าหมองขุ่นมัวซึ่งเป็นกิเลสมันก็คอยสงบไปด้วย ทุกข์ทั้งหลายให้รำคาญก็หมดไป
แต่แรกๆนั้นจะให้สงบละเอียดทีเดียวไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันอาศัยสิ่งที่ไม่สงบ ที่คิดนึกปรุงแต่งมาตลอดเวลา จะให้สงบ หยุดกึ๊ก เหมือนกะรถเราวิ่ง จะให้หยุดปุ๊บในที่ตรงนั้นไม่ได้ มันต้องชะลอความเร็ว จิตมันเคยคิดฟุ้งซ่าน จะให้สงบปุ๊บเวลาเดียวก็ไม่ได้ แต่สติกับปัญญาที่กำกับจิตต้องฉลาด คอยชะลอความคิด ชะลอเข้ามารวมมาอยู่ในจิตใจ พุทโธๆๆ ถึงอย่างนั้นก็ยังหยาบ ไม่ใช่ว่าละเอียดทีเดียว เพราะมันคิดมาตลอดวัน เพราะฉะนั้นคอยระลึกไป ระลึกไป เพื่อให้สติชอบ ด้วยความเพียรชอบ จิตตั้งตรงพุทโธกำหนดตรงไหน แห่งใดแห่งหนึ่งชอบ
ถ้าไม่อย่างนั้น จะไปตั้งในลมหายใจ เข้าพุท ออกโธก็ได้ ให้มีหลักอยู่ที่ลมเข้าลมออกเป็นหลักก็ได้ หรือจะพิจารณากายคตาสติส่วนอื่น ตจปัญจกะ ๕ อย่าง มีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง มีเนื้อ มีหนังเป็นที่สุด อนุโลม ปฏิโลม ถึงยังไม่สงบก็ไม่เป็นไร เรียกว่าเราชะลอให้มันอยู่ในขอบเขตอันนี้ก่อน ถ้าเราพิจารณาอนุโลม เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วก็ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา แล้วก็กลับไปอีก กลับขึ้นกลับลงๆ
พอจิตเที่ยวไปเที่ยวมา มันอยากหยุด มันอยากสงบ มันไม่อยากอย่างอื่น สติเราคุมอยู่ พอมันรู้สึกมันสงบ เราก็เอาอย่างเดียวอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ระลึกพุทโธๆ ก็ระลึกจนจิตมันอยากสงบ มันก็จะชวนสงบ ชวนเบาสบายขึ้นมา ให้มันขึ้นเอง อย่าไปอยาก ให้มันเป็นในจิตของมันเอง อย่าไปคิดขึ้นมา ส่วนเราคิดแต่พุทโธบริกรรมเท่านั้นอย่างเดียว เอ้า ภาวนา