Skip to content

ชาดก เรื่อง ตา ยาย

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

เทศน์วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๐

บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพร้อมทั้งภิกษุและสามเณร เป็นวันที่เราควรระลึกถึง เรียกว่าเป็นวันสำคัญแห่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จะพูดอย่างหนึ่งก็เรียกว่า พูดตามภาษาโลกเรียกเปรียบเหมือนอย่างปู่ย่าตายายของเรามีวัยอายุสังขารแก่เฒ่าชราแล้ว ก็มารู้สึกตัวว่าตั้งแต่นี้ไปอีกสามเดือน เราก็จะพลัดพรากจากพวกท่านไปแล้ว นี่ก็เหมือนปู่ย่าตายายของเรามาเตือนอย่างนี้แล้ว เราจะได้เจียมเนื้อเจียมตัวเจียม เจียมอัฐบริขาร เจียมทั้งข้าวของเงินทองที่จะได้เอาไว้สำหรับทำฌาปนกิจ ก็มีสิทธิอย่างนี้พวกเรา พวกเราเป็นชาวพุทธ เมื่อมาถึงวันนี้แล้วก็มานี่นำดอกไม้ธูปเทียน ข้าวปลาอาหาร มาอังคาสภิกษุสามเณร แล้วก็มาบำเพ็ญทานรักษาศีล เจริญภาวนา เมื่อประกอบความดีให้เกิดกับตัวของเรา เพราะความดีทั้งหลายบุคคลจะต้องสร้างขึ้นเอง ไม่ใช่ว่าความดีทั้งหลายนั้นเราจะบนบานศาลกล่าว บนเจ้าผีเจ้าฟ้าเจ้าอะไรทั้งหมดในโลกนี้ เป็นจ้งเป็นซือผีพรหมอะไรต่างๆนานา จะมาสร้างความดีหรือสร้างบุญสร้างกุศลให้เราไม่ได้ ก็จำเป็นตัวของเรานี้จำเป็นจะต้องประกอบขึ้นเองอย่างทำทานรักษาศีล เจริญภาวนาอย่างนี้ ทานก็ต้องหมายความว่าเอาข้าวเอาน้ำ มีทรัพย์สินเงินทองก็เอามาบำเพ็ญกับสมณะชีพราหมณ์อย่างนี้เป็นต้น ข้าวน้ำก็เอามาบำเพ็ญบุญกุศล อันนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะเกื้อกูลไปสู่ยังสัมปรายภพ

คำว่าสัมปรายภพก็คือหมายถึงว่าภพเบื้องหน้าที่เราจะต้องไปเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในอีกหลายๆภพหลายๆชาติ เพราะยังไม่ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติ แล้วก็จำเป็นจะต้องไปเกิด เมื่อบุคคลที่มีใจศรัทธาปสาทะ บำเพ็ญทานกองการกุศล บริจาคทรัพย์สินเงินทองข้าวของ เอามาให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว เมื่อตายไปนั้นก็ความดีตัวนั้นแหละจะเกื้อกูลไปยังสัมปรายภพคือภพภายหน้า จะไปเกิดให้เป็นผู้มั่งมีศรีสุข เกิดก็ไปเกิดในที่ประเทศอันสมบูรณ์บริบูรณ์ไปด้วยโภชนาหารที่เรียกว่าข้าว ข้าวปลาอาหารบริโภคสมบูรณ์ เกิดขึ้นมาก็ไม่อดไม่อยาก เกิดขึ้นมาก็ไปเกิดในตระกูลที่ดี ตระกูลที่มีเงินทองข้าวของ เกิดขึ้นมาก็เค้าทำไว้ให้เสร็จอย่างนี้เป็นต้น อย่างที่เราสังเกตดูคนบางคนที่ไปเกิดแต่ปัจจัยที่สร้างสมมาไม่เหมือนกัน บางคนก็เกิดในตระกูลมั่งมีศรีสุข เกิดขึ้นมาก็พ่อแม่สร้างเงินสร้างทองไว้ให้เป็นกอบเป็นกำ สร้างบ้านสร้างช่องสร้างตึกไว้ให้ที่อยู่ที่อาศัย แล้วยังให้เป็นที่เช่าให้เก็บเงินเก็บทอง เอามากินจนกระทั่งแก่ตายก็ยังไม่หมดอย่างนี้ ใครๆก็อยากจะไปเกิดอย่างตระกูลอย่างนั้น แต่ปัจจัยที่เราไม่ได้สร้างสมเอามา มันก็ไม่พาไปเกิดในที่นั้น

มีชาดกสองคนตา ยาย หนีจากอหิวาห์ตกโรค เข้ามาพัดเพพเนจรมาอาศัยอยู่บ้านเศรษฐี อดข้าวมาสองสามวันไม่ได้กินข้าวเลย ก็มาถึงบ้านนายโคบาล ก็มาขอข้าวให้กิน นายโคบาลก็เอาข้าวมาให้กิน แต่บังเอิญนายโคบาลก็มีสุนัขอยู่ตัวหนึ่งกำลังท้องอยู่ ก็เอาข้าวมาให้หมาน่ะดีกว่าให้ทานคนทั้งาองนั้น สองคนตายายนั้น ส่วนภรรยาก็สงสารสามีก็เลยเอาข้าวที่เค้าแบ่งให้เราคนละห่อ ก็ให้สามีกินทั้งสองห่อ ส่วนกินเข้าไปแล้วตกมากลางคืน อาหารไม่ย่อย ทำให้ผะอืดผะอม ผลที่สุดก็ถึงแก่ความตาย ความตายก็จะเข้าไปเกิดก็เห็นระลึกถึงสุนัขว่าเราแม้จะเกิดเป็นคน แม้เศรษฐีเอาข้าวมาให้เรากินก็ยังดีสู้ข้าวที่ให้สุนัขไม่ได้ ใจตัวนั้นไปประหวัดไปเกิดเข้าท้องสุนัขตัวนั้น พอตายแล้วก็ไปเข้าท้องสุนัข ส่วนภรรยาก็ยังไม่ตายก็อยู่กับเศรษฐีไปเรื่อยๆ เมื่อนานเข้า สุนัขตัวนั้นก็ออกลูก เป็นเจ้าโทนออกมาตัวเดียวก็เศรษฐีก็ตั้งชื่อว่าโฆสกะหรืออะไร เป็นสุนัขโทน

แต่บังเอิญในที่นั้นมีพระปัจเจกพระพุทธเจ้าไปอาศัยอยู่ในเขาของท่านก็เจริญภาวนาอยู่ที่นั่นแล้วก็ได้มาอาศัยบิณฑบาตรที่บ้านเศรษฐี เจ้าโทนยังเล็กอยู่ ท่านก็มาบิณฑบาตรอยู่เรื่อย จนกระทั่งเจ้าโทนโต พอรู้ภาษาก็ตามเศรษฐีไปถวายอาหารกับพระปัจเจกพระพุทธเจ้าด้วยตลอดเวลา จนกระทั่งเป็นหนุ่มขนาดรุ่นๆเท่าไอ้ย่น โตมาเรื่อยๆ ก็ไปทุกวัน ทีหลังนี่ไปจนกระทั่งคุ้นโต ก็พาสุนัขไปทุกที ทีหลังนี่ก็คุ้นดี เศรษฐีก็ไม่ได้ไปนิมนต์ก็เอาเขียนหนังสือให้เจ้าโฆสกะเนี่ยคาบไป ไปนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน คุ้นมากแล้ว พระปัจเจกพระพุทธเจ้าท่านก็…เวลาเจ้าโฆสกะคาบหนังสือไปท่านก็รับ ก็ตามมันมาตามทางอย่างนี้ ก็แกล้งเดินไปในที่ทำให้ผิดทางซะ เจ้าโฆสกะนี่มันก็คาบสบงของท่านดึงมาทางนี้ ดึงทางนี้ ก็แกล้งดึงไว้จะไปทางนั้น มันก็ดึงไว้ก็ต้องตามมันมา สุนัขมันรู้จัก อยู่มาเรื่อยๆจนกระทั่งคุ้น วันไหนเศรษฐีไม่ไปก็ให้โฆสกะไปนิมนต์ ก็คาบจดหมายไป แต่ว่าในระยะทางนั้นมันเปลี่ยว มีพวกสิงสาราสัตว์มากมาย แล้วเศรษฐีทำอุบายไว้ ไปถึงตรงนั้นก็ไปตีพุ่มไม้มันก็ร้องตะเพิดเอ็ดตะโลให้สัตว์ร้ายหนีไป เจ้าโฆสกะเมื่อไปถึงตรงนั้นก็เห่าหอนใหญ่ทีเดียว ฮุ่งฮั่งๆๆเลย ให้สัตว์ทั้งหลายมันหนี แล้วก็จึงค่อยไปหาพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ก็คาบจดหมายไปท่านก็รับ ก็ตามมันมา อย่างนั้นเรื่อยมาๆ

จนกระทั่งคงจะหลายปี ปีสองปี ต่อมาก็เศรษฐีก็นิมนต์ท่านมาอีก ก็มาฉันที่บ้าน ก็ออกพรรษาแล้ว ฉันเสร็จท่านก็บอกว่าถวายผ้าขาวไปตัดเป็นจีวร แล้วท่านก็บอกลาเศรษฐีบอกว่า ดูก่อน คหบดี อาตมภาคเย็บจีวรองค์เดียวมันก็ลำบาก เพราะฉะนั้นจะต้องไปหาหมู่ช่วยเย็บ เมื่อฉันเสร็จแล้วก็บอกลา บอกลาก็มาเดินอยู่ที่โน่น หน้าบ้านเศรษฐี คือมายืนอยู่หน้าบ้านเศรษฐี โฆสกะไอ้เจ้าสุนัขตัวนั้นมันก็ตามไป เจ้าโทนก็เรียกว่าโฆสกะเทพบุตรทีหลัง ก็ตามเข้าไปติดท่านเลย พอท่านบอกลาเสร็จ ท่านก็ยืนหน้าบ้านเศรษฐีเสร็จท่านก็เข้าฌาณสมาบัติเหาะ เหาะลอยขึ้นไปในอากาศ เจ้าโฆสกะนี่ก็เคยความห่วงอาลัยท่าน ก็หอนเห่าร้อ…งตามเสียงของท่านจนกระทั่งขาดใจตายไปขณะนั้น

พอขาดใจตายก็ได้ไปเกิดเป็นเทพ เทพบุตร เรียกว่าโฆสกเทพบุตร สุนัขไปเกิดเป็นเทวดา ตายจากคนมาเกิดเป็นสุนัข ตายจากสุนัขได้ไปเกิดเป็นเทวดา นี่ก็เพราะไม่ได้บำเพ็ญบุญ บำเพ็ญทานอะไรกับเค้า เลยอาศัยเสียงตัวนั้นแล้วก็ได้นำพาพระปัจเจกพระพุทธเจ้ามาฉันอาหารบิณฑบาตรบ่อยๆนั้น อานิสงส์ที่ไปอยู่ในบนสวรรค์นั้น พูดอย่างนี้คำเดียวได้ยินไป ๕๐๐ โยชน์ท่านว่าถึงในอานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญทานกับพระปัจเจกพระพุทธเจ้า แล้วเมื่ออยู่ต่อมา หมดบุญในสวรรค์ก็มาเกิดกับสมัยนั้นเรียกว่าหญิงงามเมือง มาเกิดอยู่ในท้องหญิงงามเมือง เมื่อออกเสร็จอย่างนั้นนางก็เอาไปทิ้งผีป่าช้า คนก็มาเจอะ พอดีพวกเลี้ยงแกะ เลี้ยงแพะเลี้ยงแกะก็ไปเห็นว่าทำไมมีแกะตัวหนึ่งมันไม่ไปไหน ไปยืนคร่อมอยู่ตรงนั้น ก็เข้าไปดู อ้าว! ไปเจอะไอ้แกะตัวเมียแม่แกะตัวนั้นเอานมให้เจ้าโฆสกะนั้นกินอยู่ แล้วพวกเลี้ยงแกะเห็นเค้าก็เอาไปเลี้ยง

แต่ทีนี้มันก็มีเรื่องอีกด้วย วันนั้นบังเอิญเศรษฐีอีกคนหนึ่งเข้าไปในเมือง ไปเจอะปุโรหิต เรียกว่าปุโรหิตหมอโหรทำนายผู้เก่งกล้า ก็บังเอิญเดินสวนทางกัน เดินสวนทางกันอย่างนั้น ก็ได้ถาม เศรษฐีก็เลยถามว่า เอ้อ ดูก่อนท่านโหราศาสตร์ วันนี้จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง โหราศาสตร์คนนั้นก็บอกว่า เอ้อ วันนี้ก็มีเหตุการณ์อันหนึ่ง คือเด็กที่ได้เกิดวันนี้จะได้เป็นเศรษฐีนะ ก็ทาย เศรษฐีคนหนึ่งที่ถามนั้นน่ะ ภรรยากำลังท้องครบ ก็มีบุรษเร็วไปกับตัวด้วยก็เลยส่งให้คนรีบไปดูว่าภรรยาเราคลอดรึยัง ก็ปรากฏว่ายังไม่คลอด เมื่อปรากฏยังไม่คลอดอย่างนั้นก็ให้ส่งบุรุษเร็วของเราไปเที่ยวๆดูตามเมืองเนี้ยทั่วๆไป จะมีที่ใดบ้างมีเด็กที่เกิดวันนี้ ก็มีคนเค้ามาส่งข่าวว่า เอ้อ มีคนไปเจอะเด็กนอนให้นม ให้แพะให้แกะให้กินนมอยู่คนหนึ่งอยู่ในผีป่าช้า ว่างั้น ป่าช้าผีดิบ ก็เลยไปซื้อมา ไปซื้อมาเอามาเลี้ยง แล้วบังเอิญเป็นผู้ชาย ก็มาเลี้ยงไว้ ต่อมาก็ลูกของตัวก็ออกมาเป็นผู้ชายเหมือนกัน ออกมาเป็นผู้ชายก็คิดว่าไอ้เจ้านี่ ไอ้เจ้าโฆสกะนี่เลี้ยงไว้ไม่ได้ เพราะมันเป็นผู้ชายมันจะมาแย่งตำแหน่งเศรษฐีของลูกชายเรา ก็ต้องฆ่า

แต่โฆสกะตัวนี้เคยสร้างเวรกรรมเอาไว้ สมัยหนึ่งได้หนีมาจากนั่นแล้วก็มีลูกมาด้วย ก็อุ้มลูกมา ก็ผลัดกันอุ้มไปอุ้มมา มันก็เหนื่อย ไม่เหนื่อยกินข้าว หนีอหิวาห็ตกภัยมา ก็เอาลูกทิ้ง ผลัดกันอุ้มไปอุ้มมา ก็หมดเรี่ยวหมดแรงก็วางไว้เลย เลยไม่ได้เอามา พอผลัดเวรกับภรรยาสองคนผลัดกัน พอถึงเวรของตัวก็เหนื่อยเข้า ก็เอาลูกวาง วางแล้วก็เดินมาซะจนไก..ล๊ ก็ภรรยาก็ถามมาทันภรรยา ภรรยาก็ถามว่า “เอ๊ะ เอาลูกไว้ไหนอ้ะ” “เอ้อ เอาวางไว้ตรงนู้น ข้าเหนื่อยข้า” กลับไปดูก็ลูกก็เลยตาย นั่นแหละกรรมตัวนั้นมันมาสนอง

ทีนี้เมื่อเศรษฐีเลี้ยงโฆสกะได้แล้ว ก็พยายามจะฆ่า ก็ลูกของตัวออกมาก็เอาไปทิ้ง เรียกว่าเอาไปทิ้งทางโคต่าง พวกที่บรรทุกของต่างของแบบมีพวกเกวียนเอาวัวไปนำทาง ก็เอาไปทิ้งให้เกวียนทับ ให้นางทาสีเอาอุ้มเด็กตัวเนี้ยไปทิ้ง ไปทิ้งไว้ที่ทาง ทางสำหรับที่เกวียน ที่จะผ่าน พอไปถึงตรงนั้นปั๊บ หัวหน้าโคที่นำเป็นฝูงหน้าไปทีเดียวไม่ยอมไป ไปยืนคร่อมเด็กไว้ ตีเท่าไหร่ก็ไม่ยอมหนี ยืนคร่อมเฉยอยู่อย่างนั้น ไม่ขยับเขยื้อน ทำยังไงก็ไม่ไป เอ๊ะ! มันเรื่องอะไรวะนี่ เอ๋ ทำไมโคไม่เดิน มันเรื่องอะไร ก็ลงไปดู ที่ไหนได้เด็กนอนอยู่ใต้เกวียน ก็เลยอุ้มเข้ามา แต่เศรษฐีก็บอกว่า เธอคอยดูนะ มันจะตายหรือไม่ตาย แล้วมารายงานให้เรา เมื่อเห็นคนเก็บไป นางทาสีก็รีบไปบอกเศรษฐีบอกว่า เอ้อ เอาเจ้าโฆสกะไปทิ้งไว้แล้ว ใต้วัวต่างกำลังมา วัวต่างกกคร่อมซะ ตัวอื่นเข้ามาไม่ได้ ไม่ไปไหน ตีเท่าไหร่ก็ไม่เดิน เลยไม่ตาย เมื่อมารายงานอย่างนั้น ก็บอกเอ้อ ไปไถ่มาอีก ไถ่มาพันกหาปณะ ก็ไปไถ่กลับมา ทีที่หนึ่ง ทิ้งถึงเจ็ดที ครั้งสุดท้ายที่สุด ทีที่เจ็ด ก็ไปนัดกับเศรษฐี ไปนัดกับนายช่างหม้อ บอกว่า เออ ข้าจะส่งบุรุษรุ่นหนุ่มมาคนหนึ่งนะให้ช่างหม้อ เธอจงฆ่าซะแล้วก็โยนเข้าเตาเผาหม้อซะ

โฆสกะนี่ก็เช้ามาก็หนังสือก็ไม่ได้เรียน เพราะอะไร เพราะไม่ให้รับการศึกษาอะไรทั้งหมด เรียนแต่จะฆ่าให้ตาย ฆ่ามาหกทีก็ไม่ตาย ก็ทีนี้ก็ต้องเอาให้ตายว่างั้น ก็ส่งไปบอกช่างหม้อเสร็จ ก็นัดกันบอกว่า เอ้อ วันนั้นข้าจะส่งบุรุษมาให้เธอฆ่า แล้วก็จะจ้างให้เงินนะ แต่เธอจงฆ่าซะ วันนั้นโฆสกะก็ไป เดินทางไป เหน็บหนังสือไปด้วยเล่มหนึ่ง ก็ไปถึงตามทางก็ไปเจอะน้องชายลูกชายของเศรษฐี ก็รุ่นๆเหมือนกันแล้ว สมัยนั้นท่านเรียกว่าเล่นสกา เล่นสกาแพ้เค้า สู้เค้าไม่ได้ น้องชายของโฆสกะนั่น ก็เกิดทีหลังก็เลยเรียกว่าเป็นน้องชาย ก็เลยเรียกว่า พี่ๆ มานี่เถอะ หนูเล่นสกาสู้เค้าไม่ได้ พี่มาเล่นแทนที โฆสกะก็บอกว่า เฮ้ย ไม่ได้สิน้อง พ่อสั่งให้เราไปธุระในบ้านนายช่างหม้อ ลูกเศรษฐีก็ไม่ยอมบอกว่า พี่ต้องมาเล่นแทนหนู มีธุระอะไรหนูเอาไปเอง ผลที่สุดก็อ้อนวอนไปอ้อนวอนมาก็ให้จดหมายให้ลูกชายเศรษฐีถือไป พอลูกชายเศรษฐีถือจดหมายไปบ้านช่างหม้อ ช่างหม้อไปถึงก็จับหักคอ เอามีดกรีดแทงให้ตาย โยนเข้าเตาหม้อเลย

โฆสกะก็นั่งคอย…ว่าน้องไปบ้านช่างหม้อ ทำไมตกเย็นแล้วก็ไม่กลับ ก็อาลัยอาวรณ์อยู่อย่างนั้นน่ะ จนกระทั่งกลับแล้วก็ต้องกลับบ้าน กลับไปก็ไปถึง เศรษฐีก็ตกใจ ว่า “ทำไมโฆสกะ เราใช้ให้เจ้าไปช่างหม้อ เธอไม่ได้ไปรึ” “ผมก็จะไปอยู่พอดีไปเจอะน้อง น้องไปเล่นสกาแพ้เค้าแล้วก็ให้ผมเล่นแทน แล้วน้องก็ไปแทน” เศรษฐีก็ตบอกผางเลย กูเสร็จแล้ว ลูกชายของตัวถูกฆ่าตาย นี่เวรกรรมสร้างขนาดอย่างนี้ นี่โฆสกะก็มีเวรกรรมที่สร้างไว้ชาติก่อนที่เอาลูกไปทิ้ง นี่มันครั้งที่หก อยู่ต่อมาเรื่อยๆ ก็ยังไม่ตาย เศรษฐีก็เริ่มป่วยแล้ว ไม่ค่อยสบาย ทีนี้ก็มีเพื่อนอีกคน เศรษฐีก็ให้คนไปบอกว่า เราจะส่งบุรุษไปให้เธอคนนึง แล้วพอไปถึงบ้านเธอ เธอจงฆ่านะ เพื่อนมันก็เป็นเศรษฐีเหมือนกัน ก็บอกว่านัดแนะกันเป็นที่ถูกต้องเรียบร้อยก็เป็นอันว่าตกลง เศรษฐีก็เขียนจดหมายให้โฆสกะไปเลย บอกว่าเนี่ยไอ้คนที่เราส่งมา เพราะฉะนั้นเมื่อเธอได้รับจดหมายแล้ว เธอจงฆ่า บอกไปในจดหมายเสร็จ โฆสกะไม่ได้เรียนหนังสือ พอให้ถือไปก็ต้องไป เป็นลูกเค้าก็ต้องไป

ไปถึงก็เดินทั้งวันก็เหนื่อย ไปถึงบ้านเศรษฐีก็เห็นไม้ตรงนั้นเย็นดีๆก็เลยนอน นอนก็หลับไป พอดีลูกสาวเศรษฐีเป็นสาวอยู่คนหนึ่ง ไปในเมืองมา กลับมาพอดีมาเห็นโฆสกะนอนอยู่ บุพเพกตบุญญตา บุญชาติที่ก่อนๆที่มาเกิดในบ้านนายโคบาลนั่นน่ะ ได้สร้างทำบุญให้ทานกับพระปัจเจกพระพุทธเจ้าช่วยเศรษฐีทำข้าวทำของนั่นน่ะ ก็เลยได้อาศัยบุญกุศลตัวนั้นก็เลยได้มาเกิดเป็นลูกเศรษฐีเหมือนกัน เป็นลูกสาวเศรษฐี พอดีมาเห็นโฆสกะก็เกิดปฏิพัทธ์ เพราะเคยเป็นภรรยามาแต่ชาติปางก่อน เห็นทีเดียวก็เกิดความรัก ขึ้นไปถึงที่ปราสาทของตัวแล้วก็บอกให้นางสาวใช้เรียกว่านางทาสี “เธอไปดูที่ตัวบุรุษหนุ่มคนนั้นซิ มีอะไรบ้าง ค่อยๆย่องไปให้ดีนะ กำลังนอนหลับอยู่ มีอะไรบ้าง ถ้ามีอะไรก็เอามาให้ชั้นนะ” นางทาสีก็ค่อยๆย่องไปดู ก็ไม่เห็นมีอะไร เห็นมีอยู่ที่พก พกผ้าอยู่ที่ชายพกผ้าอยู่ มีจดหมายอยู่นิดหนึ่ง ก็เลยค่อยๆแกะเอาไปให้นายของตัว คือให้ลูกสาวเศรษฐี ในนั้นใจความก็ว่าเหมือนกัน ให้เขียนในใจความนั้นบอกว่า เมื่อมาถึงนี่แล้วก็ให้ฆ่าคนนี้ซะ แต่นางก็เขียนจดหมายใหม่ เขียนบอกว่าให้เศรษฐีจงจัดเครื่องวิวาห์แต่งงานลูกสาวของข้ายกให้บุรุษคนนี้ ลูกสาวเขียนสารให้โฆสกะใหม่ แล้วก็ให้นางเนี้ยเอาไปเหน็บแทน กำลังหลับไม่รู้ตัว ตื่นขึ้นมาเห็นก็มาเห็นจดหมายอยู่ดีๆก็เอาไปให้เศรษฐี เศรษฐีก็เลยจัดการ จัดงานแต่งงานให้เลยเพราะเพื่อนกัน นั่นแหละเรื่องมีอย่างนี้ เนี่ยคนเรา

เพราะฉะนั้นการสร้างความดีมันก็ต้องสร้างด้วยตัวเองอย่างอธิบายถึงชาดกของโฆสกเทพบุตรเนี่ย เพราะฉะนั้นคนเราที่ได้เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ท่านจึงว่าเป็นผู้ที่มีบุญอันประเสริฐ เกิดมาแล้วก็เป็นคนที่ไม่ใบ้ไม่บ้า ไม่พิการต่างๆนานา สังขารร่างกายอวัยวะ ๓๒ ครบบริบูรณ์สมบูรณ์ เรียกว่าเป็นผู้ที่มีบุญมีกุศลสร้างสมมาดี เป็นผู้ควรแก่มรรคแก่ผลตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เนี่ยเพราะฉะนั้นอย่างพวกโยมที่มา เกิดมาเป็นคนแล้วก็ได้มาเจอะพุทธศาสนา ก็ได้มาคบค้าครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำให้สั่งสอนให้เจริญเมตตาภาวนา อันนี้เป็นทางที่ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา เรียกว่าวางศีล สมาธิ ปัญญา ให้พุทธบริษัททั้งหลายประพฤติปฏิบัติ เป็นประโยชน์ เพราะการทำจิตทำใจ การบำเพ็ญทานรักษาศีลแค่นั้นมันก็ยังไม่มีทางที่พ้นจากทุกข์ ต้องอาศัยการปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิจนให้ใจเกิดความสงบ แล้วเราก็ได้มาพินิจพิจารณาสัจธรรมใน(เขมาเขมสรณทีปิกคาถา?) ท่านแสดงว่า โยจะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต จัตตาริ อะริยะสัจจานิ นี่ท่านแสดงอย่างนั้น เรามาถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็ต้องมาพิจารณาสัจธรรมทั้งสี่ คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ให้ด้วยใจอันสงบ เมื่อเราเป็นนักปฏิบัติเกิดความสงบ เกิดขึ้นจากใจของเราแล้ว ก็ต้องนำเอาความแก่ ความเจ็บ ความตาย สี่อย่างนี้มาพินิจพิจารณาที่ใจเรา

ก็มานึกดูว่าชีวิตสังขารร่างกาย มีหูมีตามีจมูกมีลิ้นมีกาย อวัยวะ ๓๒ ประการเนี้ย ตับไตไส้พุง เมื่อใจมันสงบแล้วก็ถามมันไป ไหนเป็นตัวเรา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตับไตไส้พุง อะไรเป็นเรา ไหนเป็นตัวของของเรา แล้วทำไมเจ้า เราว่าเป็นของเราแต่ทำไมเปลี่ยนแปลงยักย้าย ท้องเคยสบาย กินข้าวมากเข้าไป ผิดอาหารเจ็บท้อง ปวดท้อง ขี้ร่วงขี้ไหลขี้แตกขี้แตนสารพัด ตาเคยดีๆก็มัวก็ไม่เห็น ต่างๆนานานี่ เหลือที่จะพรรณนา เนื้อหนังมังสังบางทีก็เกิดเป็นฝีเป็นพองเป็นพุขึ้นมา เน่าเปื่อย รักษาเป็นเดือนๆก็ไม่หาย นี่ สารพัด เมื่อใจสงบแล้วก็ต้องน้อมสิ่งเหล่านี้แหละมาพินิจพิจารณา เพราะท่านเรียกว่าสัจธรรม ของจริงทั้งสี่อย่าง โลกมนุษย์เกิดขึ้นมาเป็นคนแล้ว ไม่มีใครที่จะหลบหลีกพ้นจากความตายมัจจุตัวนี้ไปได้ ต้องอาศัยการบำเพ็ญสมาธิให้ใจสงบ เมื่อใจสงบแล้วก็น้อม ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ตัวนี้มาพินิจพิจารณาด้วยใจของเรา ใจตัวนั้นก็นึกคิดถึงแข้งถึงขาถึงมือถึงตีน อวัยวะต่างๆนานาว่าไหนนะเป็นของของเรา มองลงไปพิจารณาลงไปอย่างนั้น นั่นแหละเรียกว่าขันธ์ เรียกว่านามธรรม การที่ได้ระลึกถึงความแก่ความเจ็บความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบใจ แปรปรวนยักย้ายลงไป ตรงนี้เรียกว่าเป็นนามธรรม รูปธรรมก็หมายถึงกาย มีตา มีหู มีจมูก มีเนื้อมีหนัง มีกระดูก มีเส้นมีเอ็น มีผม นี่เรียกว่ารูปนามธรรม อย่างพวกเรียนอภิธรรมก็เรียกว่าต้องแยกรูปแยกนาม นี่เป็นอย่างนั้น

แต่รูปนามนั่นเค้าไม่ได้ว่าอะไร รูปตัวนั้นเค้าไม่ได้ว่าอะไร นามธรรมตัวนี้เป็นผู้แต่งว่าตา ว่าหู ว่าจมูก ว่าลิ้น ว่าตับ ไต ไส้ พุง แข้งขา เล็บมือตีนต่างๆนานา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่ ปัจจัยเรียกว่านามธรรม ตัวนี้เป็นผู้ว่าเป็นคนหนุ่มคนสาวคนเฒ่าคนแก่ นี่ตัวนี้เป็นสำหรับที่จะต้องรู้สึกส่วนรักษาอวัยวะ เอาข้าวเอาน้ำมาเลี้ยงให้บริบูรณ์สมบูรณ์ เติบโตขึ้นมาก็ต้องปัจจัยคือนามธรรมตัวนี้เป็นเครื่องแต่ง แต่ทีนี้การภาวนาเมื่อใจสงบแล้ว ต้องอาศัยนามธรรมตัวนี้มาระลึกถึงส่วนของกายตัวนี้ต่างๆนานา พิจารณาลงไป พอพิจารณาลงไปจนใจนั้นมันไม่วอกแวกไปในที่ใด ระลึกอยู่กับกายก็อยู่จำเพาะกาย ระลึกถึงหัว หัวนั้นมีอะไร มีคิ้วขวา คิ้วซ้าย มีตาขวา ตาซ้าย จมูกขวา จมูกซ้าย มีแก้มขวา แก้มซ้าย มีใบหูขวาหูซ้าย มีท้ายทอย มีข้างหลัง มีลูกกระเดือก มีลิ้น มีฟัน มีเพดาน มีลิ้นไก่ นั่นเรียกว่าหัว ลงไปก็มีมือ มีนิ้วหัว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย มีข้อศอก มีไหปลาร้า มีหัวไหล่ มีกล้ามเนื้อต่างๆ นี่

ใจนั้นที่เรียกว่าเป็นนามธรรมก็ต้องเอามาคิดมาพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่านึกปรุงแต่งไป ปรุงไปนั่นนะ เพราะลักษณะปัญญาท่านจึงจัดว่าเป็นปัญญา ก็ต้องใช้นามตัวนั้นมาระลึกมาพินิจพิจารณาคิดไปตามอวัยวะของเรา ท่านเรียกว่าเป็นการเจริญปัญญา กายานุปัสสนา ท่านว่าอย่างนั้น เมื่อพิจารณาลงไปอย่างนั้นแล้ว ใจที่หยุดนิ่ง หยุดนิ่งอยู่ในการค้นคว้าพินิจพิจารณา มันก็ไม่คิดส่ายไปในที่อื่น คิดแต่เรื่องกายเรื่องเดียว นี่ท่านเรียกว่าเป็นลักษณะของปัญญา สมาธิประกอบปัญญา ไม่ให้กระสับกระส่ายไปในที่ใด มีความคิดอยู่เรื่องนั้นเรื่องเดียว นี่เรียกว่าเป็นสมาธิ เรียกว่าเป็นปัญญา

เมื่อพิจารณาพอแล้วอย่างนั้น ตามธรรมดา ธรรมชาติของใจพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เมื่อใจนั้นได้คิดได้พิจารณาด้วยปัญญาอันถึงที่สุดลงไปแล้ว ใจตัวนั้นจะรู้สึกเกิดปัญญาที่เรียกว่าเกิดญาณขึ้น รู้เห็นใจอีกอันหนึ่ง ว่าใจตัวที่คิดตัวนั้น นั่นแหละเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเหมือนกัน เรียกว่าแปรปรวนอยู่ได้ กายก็แปรปรวน นามธรรมก็แปรปรวน ไม่แน่นอน ยักย้ายถ่ายเท มีญาณอันหนึ่งที่รู้สภาวะความเป็นจริงเท่านั้นน่ะเรียกว่าปัญญา เพราะฉะนั้นในแบบท่านจึงเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ความหลุดพ้น เมื่อใจตัวนั้นของบุคคลผู้ใดมากำหนดพินิจพิจารณาจนถึงที่สุดลงไปอย่างนั้น ใจตัวที่ขณะที่พิจารณาอยู่อย่างนั้นมันจะหยุดทันที กำลังเพลินอยู่อย่างนั้นน่ะ ใจตัวที่คิดเพลินมันจะหยุด หยุดแล้วใจตัวนั้นจะสงบสว่างใส ในชีวิตเราเกิดมาก็ไม่เคยพบ ว่าทำไมใจตัวนี้มันเป็นอย่างนี้ เป็นของแปลกของมหัศจรรย์

เมื่อเป็นอย่างนั้นปั๊บก็ได้มาระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า โอ คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณของพระพุทธเจ้านี่หาสิ่งที่จะเปรียบไม่มีเลย สอนให้เราประพฤติปฏิบัติธรรม จนให้ได้เกิดความมหัศจรรย์ ใจที่ข้าพเจ้าไม่เคยคิดที่จะมาพินิจพิจารณาเกิดความสงบสังเวชใจอะไรอย่างนี้ จนให้ใจของข้าพเจ้าได้เกิดความสงบแนบแน่นถึงความจริงอันนี้ เห็นความจริงของใจที่ได้วางภาระลงไปทั้งหมด ไม่มีเกี่ยวเกาะอะไรเลย แม้สังขารร่างกายก็ไม่ได้เกี่ยวเกาะ มีใจอันบริสุทธิ์อันเดียวผ่องใส นี่ เรียกว่าบุคคลผู้หยั่งลงถึงกระแสธรรมของพระพุทธเจ้า ท่านจัดตั้งแต่พระโสดาลงไป เบื้องต้น นี่แหละ เจอะใจที่บริสุทธิ์หมดจด ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอะไรทั้งหมด แม้แต่สังขารร่างกายตัวนี้ก็ไม่ใช่ของๆเรา รู้ชัดในขณะนั้น เรียกว่าสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา ความสงสัยในข้อปฏิบัติที่เราได้กระทำเรื่องบำเพ็ญสมาธิรักษาศีลเจริญภาวนานี่ หมดความสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติของเราที่เรากระทำ นี่เรียกว่า สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส ไม่ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้อย่างนี้ หมดความสงสัยของตัว นี่เรียกว่าเป็นผู้หยั่งถึงกระแสธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า ใจเอิบอิ่ม ใจแนบแน่น สว่างไสว ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา หลายวันทีเดียว นี่เรียกว่าเป็นผู้ตกกระแสของธรรม

นี่แหละเพราะฉะนั้นทางอันใดในโลกนี้ ไม่มีทางที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมะให้ได้เกิดความร่มเย็นเท่าตามธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า…ไม่มี เราจะบนบานศาลเกล่า เสียหมูเสียเป็ดเสียไก่เสียเงินเสียทอง เสียอะไรตั้งหมื่นตั้งแสนตั้งโกฏิตั้งล้านก็ทำไม่ได้ จำเป็นจะต้องเอาตัวเรานี่มาปฏิบัติ เข้ามารักษาศีลภาวนาเท่านั้น มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้นเอง ถึงจะสำเร็จได้ ก็ต้องตัวเรานี่เป็นผู้ที่ปฏิบัติ และตัวเรานี่ก็เกิดความสงบขึ้น แล้วตัวเราก็ต้องคิด คิดจนให้เกิดความเบื่อความหน่าย แล้วจะต้องเกิดปัญญารู้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของใจที่บริสุทธิ์ นี่ อันนี้ท่านเรียกว่าจิตบริสุทธิ์

ฉะนั้นท่านจึงเทศน์สอนปัญจวัคคีย์ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงแล้วใช่ตัวเรามั้ย ปัญจวัคคีย์ก็บอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่แล้วควรยึดถือมั้ย ไม่ควรยึดถือ ว่ากันไปเรื่อยจนสิ่งที่เป็นอดีต สิ่งที่เป็นอนาคต สิ่งนั้นสิ่งนี้ ควรจะเป็นของของเรารึเปล่า ก็ตอบอามะภันเต อามะภันเต ตลอดเวลา นี่ จนกระทั่งไปลงสุดท้ายคาถาก็บอกว่า เอวะ เมตัง ยถา ภูตัง สัมมัปปัญญายะ ทัฏฐัพพัง ในบาลีเค้าแปลไว้มันก็ไม่ค่อยเพราะ เค้าบอกว่าพึงรู้ด้วยปัญญาอันตามความจริง นี่มันก็ถูกแล้ว เพราะแปลกันตามตัวหนังสือ ถ้าเวลาพูดตามศัพท์ในให้อร่อยแล้ว ก็ต้องพูดว่า ท่านทั้งหลายปัญจวัคคีย์นั้นน่ะ ควรจะต้องรู้เห็นด้วยปัญญาอันตามความเป็นจริงของตนในขณะที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ในแบบเค้าก็แปลว่าให้รู้เห็นด้วยปัญญาอันตามความเป็นจริง แล้วใครหละเป็นคนไปรู้ไปเห็น ก็ปัญจวัคคีย์นี่เอง เราก็ต้องสอนให้มันไพเราะ

นี่แหละเพราะฉะนั้นจึงว่าพวกญาติโยมที่ได้มาคบค้าสมาคมครูบาอาจารย์ผู้ที่ท่านประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วก็ได้มาบำเพ็ญทานรักษาศีลเจริญภาวนา ท่านก็ได้แนะนำให้ได้เจริญสมาธิกรรมฐานอย่างนี้ เมื่อเราเห็นดีเห็นชอบแล้วก็ต้องพากันประพฤติปฏิบัติ มองดูในโลกแม้จะเพลิดเพลินมีเงินมีทองมีข้าวมีของซักปานใด มียศถาบรรดาศักดิ์ขนาดไหน มันก็ไม่ติดตัวเราไปได้เลย สู้ความดีทางด้านการธรรมะปฏิบัตินี่ไม่มี ไม่มีที่จะเปรียบ แล้วก็ท่านเปรียบว่า โจรก็ลักไม่ได้ น้ำก็เอาไปไม่ได้ ไฟก็เอาไปไม่ได้ โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ลมก็เอาไปไม่ได้ความดีตัวนี้ จะติดตัวเราไปจนต้องสัมปรายภพ คือภพปลายหน้า เมื่อเราได้ประพฤติปฏิบัติธรรมะได้รู้ความจริงแล้ว แม้ที่สุดได้พระโสดาก็ไปเกิดขั้นสุคติ

นี่แหละ เพราะฉะนั้นจึงว่าขอให้โยมเมื่อได้สดับตับฟังแล้วก็พากันตั้งอกตั้งใจ อย่าประมาทชีวิต ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นก็ต้องอุตส่าห์พากเพียรพยายามประพฤติปฏิบัติให้เกิดให้เป็นให้มีกับตัวเรา สมกับเราเป็นชาวพุทธศาสนาได้มาประพฤติปฏิบัติศาสนธรรมแล้วได้ประสบเห็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ได้เปรียบประดุจเหมือนคนที่เกิดมาในโลกได้ไปเจอะหลุมทองคำอันที่มหาศาล กินจนแก่จนเฒ่าจนตายชั่วลูกชั่วหลาน กี่กัปป์กี่กัลป์ก็ไม่มีหมดสิ้น เนี่ยเหมือนบุญกุศลที่เราภาวนาแล้วก็ได้พบธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้าอย่างที่กล่าวมานี้แล้ว ก็จะเป็นที่ปลื้มอกปลื้มใจ ในชีวิตก็หาสิ่งใดจะเปรียบไม่ได้ นี่แหละเพราะฉะนั้นให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า สร้างความดีให้เกิดให้มีขึ้นในตน ต่อนั้นไปก็จะเกิดความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า ดังแสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา เอาหละ