Skip to content

จิตตํ ทนฺตํ สุขาวหํ

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

(จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้)

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ลำดับต่อไปจะได้บรรยายธรรมะพอเป็นเครื่องประคับประคองใจของเราให้ได้รับความสบาย การปฏิบัติธรรมะจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องปรับปรุงในบั้นต้นคือวาระของใจที่จะเข้าไปสู่ความสงบอันนี้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องสะสางทำใจของเราให้สงบ เมื่อเราชำระสะสางให้เข้าความสงบได้แล้วอย่างนั้นใจนั้นก็ถึงซึ่งความสุขอันแท้จริง คือไม่มีสิ่งใดเข้ามาเจือปนของหัวใจ ใจเช่นนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นใจที่บริสุทธิ์หมดจด หรือเรียกนัยหนึ่งก็เรียกว่า ถ้าบำเพ็ญเบื้องต้นก็เรียกว่าเป็นสมาธิ หรือเรียกว่าอีกชนิดหนึ่งก็เรียกว่าทาน ชนิดหนึ่งอีกก็เรียกว่าสูงสุดคือหมายถึงวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวกิเลสอันนั้นเป็นชั้นสูง เพราะฉะนั้นทุกคนที่เกิดขึ้นมาในโลกก็ต้องการความสุขอันแท้จริงของชีวิต 

แต่คนเราที่เกิดขึ้นมาในโลกแล้วมันก็ย่อมมีราคะ โทสะ โมหะสิ่งทั้งปวงเหล่านี้เข้ามาครอบงำหัวใจโดยที่เราไม่ได้เคยฝึกหัดอบรมในสิ่งเหล่านี้ มันก็ลุ่มหลงไปตามธรรมดาของโลกอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราเกิดมาทุกคนก็มีบิดามารดาเป็นผู้ที่เกื้อกูลอุปการะเลี้ยงดูเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิต ถ้าไม่ได้ท่านทั้งสองนี้เป็นเครื่องเกื้อกูลแล้ว ชีวิตจะต้องแหลกแตกดับทำลายหรือเป็นคนที่พิกลพิการต่างๆนานาอย่างนี้เป็นต้น เมื่อวัยพอสมควรเลี้ยงทะนุถนอม เลี้ยงพอมีวัยสมควรก็ให้รับการศึกษาเล่าเรียนอย่างนี้ จนกระทั่งได้รับการศึกษาจนสำเร็จบรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่สำเร็จในการศึกษาดีแล้วอย่างนั้น หน้าที่บิดามารดาก็ต้องคิดให้สร้างโลกสร้างสงสารจะได้สืบตระกูลไปอย่างนั้น ตามธรรมดาของใจมันก็มีความปรารถนาดิ้นรนกระวนกระวายอยู่อย่างนั้นแล้วก็เลยต้องตามใจผู้ปกครองคือเรียกว่าบิดามารดาของเรา การกระทำเช่นนั้นพระพุทธเจ้าทรงติเตียนประการหนึ่งโดยขั้นธรรมะสูงๆ แต่เราก็ต้องเป็นนิสัยปัจจัยของสัตวโลก ก็ต้องเปลี่ยนแปลงในภาวะการเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จนสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนมาถึงพวกเราปัจจุบันนี้ ก็สืบเนื่องกันมาอย่างนี้ 

แต่ว่านั่นแหละคำสอนธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเมื่อบุคคลที่ได้เข้ามาอบรมฝึกหัดประพฤติปฏิบัติทำใจให้เกิดความสงบแล้ว ก็ย่อมจะเกิดความเบื่อหน่ายในวัฏสงสารคือเรื่องของโลกทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้ามองกันในแง่ความรุ่งเรือง ความเจริญของวัตถุนานาประการแล้วก็เป็นที่น่าลุ่มหลงเพลิดเพลินน่ายินดีสนุกสนานร่าเริงด้วยประการต่างๆ ถ้ามองเข้ามาภายในคือเรียกว่าขจัดปัดเป่าใจของเราให้สงบแล้วอย่างนั้น เมื่อในขณะที่ใจของเราสงบอย่างนั้นแล้ว มองออกไปนึกคิดออกไปอย่างนั้น ก็มีแต่ผลสะท้อนคือมีความให้วุ่นวายของใจนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นี่เพราะฉะนั้นพวกผู้ที่มีคุณธรรมอย่างมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรืออริยสาวกผู้ที่ไกลจากกิเลสเหล่านี้เป็นต้น ท่านจึงหลีกเร้นไปอยู่ในที่อันสงบสงัดเงียบปราศจากสิ่งที่รบกวนเป็นอย่างนั้น เพราะสถานที่เหล่านั้นเป็นที่บำเพ็ญความสงบสงัดของใจให้ได้รับความร่มเย็น 

เพราะฉะนั้นอย่างเรานี่ก็เหมือนกันผู้ที่เข้ามาฟัง เข้ามาวัดเข้ามาวา มาฟังเทศน์ฟังธรรมจำศีลภาวนาอย่างนี้ ก็เป็นการปลดเปลื้องภาระอันภายนอกให้คายออกไปได้เปาะหนึ่งเช่นมารักษาศีลอุโบสถ แต่ทีนี้ภาระตั้งแต่เช้าจนกระทั่งค่ำ จนกระทั่งสว่างก็ปลดเปลื้องภาระของร่างกายออกไปจากใจ ออกไปจากกายได้ชนิดหนึ่ง แต่ทีนี้การเข้ามาปลดเปลื้องอย่างนี้ด้วยรักษาอุโบสถ แต่บางทีใจนั้นยังกังวลวุ่นวาย คิดอะไรสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องใช้การประหัตถ์ประหาร อย่าให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามาบั่นทอนความดีของเราที่ตั้งใจจะบำเพ็ญอันนั้นให้เกิดขึ้น คือไม่ได้อะไรก็ระลึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ บทใดบทหนึ่ง อย่าให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามากวนใจของเรา เมื่อรู้ตัวอย่างนั้นแล้วก็พยายามระลึกอยู่ตลอดเวลา ใจนั้นก็จะบังเกิดความสุข คือเกิดความสงบของหัวใจนั่นเอง อย่างนั้นจึงเรียกว่าศีลบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อยไม่เศร้าหมอง ถึงซึ่งความบริสุทธิ์ของสมาธิได้อย่างนั้น เรียกว่านั่นผู้ที่อบรมถูกทาง ถูกต้องตามเรียกว่า กาย วาจา ใจ พร้อมด้วยศีลและก็เข้าถึงสมาธิอย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่ามีศีล รักษาศีลได้บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ พร้อมบริบูรณ์ทุกประการ

เพราะฉะนั้นแต่ว่าบรรดาพุทธบริษัทผู้ที่เข้ามาในวัดอโศฯ มีความมุ่งมั่นปรารถนาอยากบำเพ็ญภาวนา อันนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะฉะนั้นการว่าพร่ำเพรื่อไปในสิ่งไร้สาระก็ไม่ค่อยจะมีประโยชน์ เพราะฉะนั้นหลวงตาก็จะว่าแต่สิ่งที่เป็นสาระ พอเป็นคติสำหรับพวกท่านทั้งหลาย การกระทำใจให้เกิดความสงบอย่างที่เคยพูดอยู่บ่อยๆว่า จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องใช้การบริกรรม หรือเรียกว่าในแบบท่านก็บอกว่า ต้องมีวิตก วิจาร เพื่อชำระใจบั้นต้นนั้นเอง 

อาตมาเคยเข้าไปถามปริศนากับครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ก็มาเล่าสู่กันฟัง สมัยอยู่กับท่าน ถามว่าครูอาจารย์ครับ อริยเจ้าทั้งหลายผู้ที่พ้นอาสวกิเลสไปแล้วอย่างนั้น เข้าจิตทีเดียวจะได้หรือไม่ ท่านตอบว่า เออ ดูแต่พระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านว่าอย่างนั้น เวลาก่อนที่จะเข้านิพพานอย่างนี้ก็จะต้องเข้าตั้งแต่ปฐมฌาณ เข้าไปเป็นลำดับ ทำไมท่านว่าอย่างนั้น เนี่ย มันก็เป็นอย่างน่าคิดน่าตรึกตรอง เพราะบั้นต้นของหัวใจของคนเรานั้นน่ะมันก็ต้องมีอารมณ์เป็นสิ่งเกื้อกูลอุดหนุนให้กระสับกระส่ายไปในบางสิ่งบางอย่าง ก็กระทบทางหู ทางตา ทางใจเข้ามารบกวนอยู่ เพราะฉะนั้นบั้นต้นก็จำเป็นที่สุดก็จำเป็นจะต้องชำระ ให้ใจนั้นเข้าไปอยู่จุดใดจุดหนึ่ง เมื่อถึงจุดอันนั้นแล้วใจนั้นมันก็เกิดความสงบ นิวรณ์ทั้งหลายก็ดับไปจากใจเรา ใจนั้นก็เป็นปกติอยู่เป็นหนึ่งจำเพาะอย่างนั้น นี่ เบื้องต้นอันนี้เองเป็นเหตุให้เข้าใจของการบำเพ็ญสมาธิ 

ผู้ปฏิบัติก็จำเป็นจะต้องเน้นแนวทางให้ถูกทาง จึงเรียกว่าสมกันกับว่าเป็นนักกรรมฐาน ถ้าเราไม่เน้นทางให้ถูก สักแต่ว่ากระทำไปไม่ตรึกตรอง ไม่พินิจพิจารณาใคร่ครวญ สิ้นไปวันหนึ่งคืนหนึ่งหลายๆวันหลายๆเดือนหลายๆปีอย่างนี้ สิ้นไปเลยเปล่าประโยชน์ การบำเพ็ญนั้นไม่ค่อยได้เกิดประโยชน์กับเรากับชีวิตของเราที่ทุ่มเทมาเสียสละกิจการบ้านเรือน สละโลกสละสงสารมาอย่างนี้ แล้วก็จะทุ่มเทชีวิตด้านจิตใจนั้นให้เป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตของเรา สมกับความมุ่งมาดปรารถนา เราเข้ามาเพื่อต้องการขจัดทุกข์ของหัวใจให้ออกไปจากใจของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อความดำริอย่างนั้นแล้ว สิ่งใดที่เรากระทำไม่เกิดความสงบ เราก็จำเป็นจะต้องศึกษา ไต่ถาม หรือเพียรพยายามด้วยตนเอง อย่างใดอย่างหนึ่งมันขัดข้องประการใดอย่างนี้ ก็มีครูบาอาจารย์ก็จะศึกษาจากท่านอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นการทำใจเข้าสู่ความสงบนี้ก็ประการหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ความสงบอย่างนั้นใจที่ปราศจากนิวรณธรรมทั้งหมดแล้วอย่างนั้น ใจนั้นเยือกเย็น ใจนั้นสุขุม ไม่มีความคิดนึกปรุงแต่งไปในอดีตอนาคต แม้ปัจจุบันที่บริกรรมอยู่ก็วางโดยปกติอย่างนั้น ใจปราศจากสิ่งทั้งปวงเต็มไปด้วยความสว่างไสวของใจอย่างนั้นท่านเรียกจัดว่าเป็นสมาธิ 

เมื่อเราฝึกอย่างนี้จนชำนิชำนาญอย่างนั้นแล้วก็จำเป็นจะต้องใช้การค้นคว้าพินิจพิจารณา นี่เป็นมาตรฐานสำคัญสำหรับนักผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องค้นคว้า อย่างหลวงตาก็เคยอธิบายบอกให้ค้นคว้าร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงว่าถ้าไม่ค้นคว้าพิจารณาร่างกายก็เรียกว่าพิจารณาเวทนา เมื่อไม่พิจารณาเวทนาก็พิจารณาจิต เมื่อไม่พิจารณาจิตก็พิจารณาธรรม ท่านว่าอย่างนั้น แต่ถ้าการค้นกายเนี่ยเป็นสิ่งที่ถอนรากเหง้าของสักกายทิฐิอันสำคัญอันหนึ่ง เมื่อเราน้อมนึกตั้งแต่เบื้องบนคือตั้งแต่หัวลงถึงปลายตีนอย่างนี้ ถ้านึกให้ละเอียดละออลงไปแล้วอย่างนั้นก็ต้องกินเวลาตั้งจนเกือบชั่วโมง อย่างหลวงตาเคยกระทำมาก็ต้องเอาอย่างนั้น เมื่อลงไปจนกระทั่งที่สุดถึงนิ้วก้อย เบื้องซ้ายเบื้องขวาที่สุดลงไปแล้วก็ต้องทวนกลับขึ้นมาอย่างนั้นตลอด นิ้วก้อยเบื้องซ้ายจนมาถึงนิ้วหัวตลอดถึงเท้า เบื้องเอวแล้วก็ลงไปเท้าขวา ขึ้นมาอย่างนั้นอีกตลอดเวลาก็ขึ้นมาตามส่วนอวัยวะของหน้าอกบั้นเอวนี่ ถึงสันหลัง ถึงซี่โครงหน้าอกถึงกะโหลกศีรษะตลอดขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่าอนุโลมปฎิโลมถอยเข้าถอยออกของใจ 

สภาวะบางชนิดของจิตผู้ที่เป็นใหม่อย่างนั้นก็น้อมพินิจพิจารณาอย่างนั้นบางทีจะเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความสังเวชสลดใจขึ้นในขณะนั้น ให้น้ำหูน้ำตาไหลเกิดความสังเวชสลดใจว่าเรานี้ก็จะต้องแตกตายโดยไม่มีข้อสงสัยประการใดทั้งปวง ใจในสภาวะอย่างนั้นมันเกิดความสงบแล้ว เมื่อนึกไปแล้วก็ย่อมเป็นเช่นนั้นเป็นธรรมดาของการประพฤติปฏิบัติ แต่ท่านเรียกอย่างหนึ่งท่านเรียกว่าเป็นปีติ แต่ลักษณะของปีติอย่างนี้ก็เป็นปีติไปเพื่อความที่จะคลายซึ่งความเพลิดเพลินของใจนั่นเอง เมื่อใจนั้นสงบเข้าอย่างนั้นแล้วมันก็จำเป็นเกิดปีติ เกิดในสิ่งที่ไม่เคยเป็นก็ต้องเป็นขึ้นกับชีวิตอย่างนั้น เมื่อพิจารณามากเข้าๆ บางทีระลึกถึงส่วนใดอย่างนี้ให้หลุดออกไปมันก็หลุด นึกให้ลูกตาหลุด ลูกตาก็เห็นหลุดออกไป แล้วก็เพ่งอยู่อย่างนั้น แล้วกำหนดเข้ามาใส่มันก็ใส่ได้อย่างเก่า กำหนดตาซ้ายออกไป ตาซ้ายก็ออก กำหนดเข้ามาก็เข้า นี่ต้องพิจารณาให้ละเอียด แม้แต่ฟันมีกี่ซี่ ฟันล่างฟันบนมีกี่ซี่นึกให้ละเอียดละออลงไป อย่าได้ละเว้น ยิ่งเกิดปฏิภาคมากเข้าเท่าไรแล้วก็ยิ่งกำหนดให้ละเอียดลงไป 

แต่ว่าเมื่อเป็นปฏิภาคอย่างนั้น เมื่อเราค้นคว้ามากเข้าๆ ปฏิภาคนั้นก็ย่อมจะจางขึ้น ความที่ปฏิภาคจางขึ้นนั้นเราอย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อม อย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อม ลักษณะของปฏิภาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนั้น เมื่อพิจารณาให้มากให้ละเอียดละออลงไปแล้ว ใจนั้นจะอยู่กับลำดับที่พิจารณาอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาอย่างนี้ อย่าเข้าใจว่าปฏิภาคเสื่อม ปฏิภาคนั้นเสื่อมจริง หายไปจริงเพราะมันเดินปัญญา เมื่อเดินปัญญาอย่างนั้นละเอียดละออเข้ามากเข้าๆ ปฏิภาคนั้นก็จางไปไม่ปรากฏ ผู้ที่เป็นอย่างนั้นอย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อม แล้วเมื่อถ้าเราสังเกตดูให้เที่ยงแท้ของใจที่พิจารณาอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นหนึ่งไม่วิ่งไปในที่ใดทั้งหมดเลย อยู่เฉพาะกายอันนี้อันเดียวตลอดเวลาที่เรานึกอย่างนั้น อย่างนี้พึงเข้าใจว่านั่นน่ะคือแนวสมาธิอันที่จะหนีจากทุกข์ แนวทางเรียกว่ามัคโคที่จะออกจากทุกข์ของใจ ใจในขณะนั้นไม่มีอารมณ์เข้ามากวัดแกว่ง มาแก่งแย่งกับใจที่พิจารณาอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนั้นให้พิจารณาให้มากให้ละเอียดลงไป 

อย่างหลวงตาก็เคยอธิบายอยู่แล้ว ให้พิจารณาให้มากๆอย่างนั้น เมื่อพิจารณามากเข้า เมื่อเห็นเหนื่อยพอสมควรเป็นเวลาตั้งชั่วโมงสองชั่วโมงอย่างนี้เราก็ถอยจิตเข้ามาพัก เมื่อพักพอสมควรก็ถอยกลับไปพิจารณาอีกอย่างนั้น นี่ให้พึงเข้าใจอย่างนั้น เมื่อเห็นว่ากำลังดีแล้วก็ค้นลงไปให้ตลอดเวลา บางทีนั่งอย่างนั้นได้ตลอดทั้งคืนก็นั่งได้ ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กำลังของใจที่ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดหรือเรียกว่าอารมณ์ทั้งหมดนั้นมันประกอบไปด้วยความเพลิดเพลินในขณะพินิจพิจารณาอย่างนั้น เรียกว่าปัญญาอันแท้จริงที่จะเกิดขึ้นกับใจของผู้ปฏิบัติอันนั้น อย่าเข้าใจว่าสมาธิหรือเรียกว่าปฏิภาคนั้นเสื่อม นี่ต้องเข้าใจอย่างนั้น 

ความที่เป็นเช่นนั้นเพราะใจที่ดำเนินเข้าไปพิจารณาอย่างนั้นน่ะท่านเรียกว่าเป็นลักษณะของปัญญากับสติเป็นอันหนึ่งอันเดียวค้นนึกถึงส่วนต่างๆอยู่อย่างนั้น ใจไม่พะว้าพะวงไปในสิ่งใดทั้งหมด นึกตั้งแต่เบื้องบนตั้งแต่ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ตลอดร่างกายไปจนถึงปลายเท้า ขึ้นมาตลอดเวลาอยู่อย่างนั้น แล้วก็ทวนขึ้นมาอีกมาถึงเบื้องบน ลงจากเบื้องบนไปหาเบื้องล่าง เอาอยู่อย่างนี้ นั่งสามสี่ชั่วโมงไม่มีการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า สบายที่สุดของชีวิตที่เราเข้ามาบำเพ็ญพรหมจรรย์ 

นี่เพราะฉะนั้นจึงว่าก็ต้องมาตั้งใจ อย่าไปเพลิดเพลินกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วอย่าคุยมาก อย่าไปอวดมาก แต่อันนี้จะมีทิฐิมานะอันแฝงเจือเข้ามาอยู่ในหัวใจของบุคคลผู้เป็นเช่นนั้น สำคัญว่าตัวชั้นดีตัวชั้นประเสริฐ ตัวชั้นไม่มีใครสู้ได้ อันนี้ต้องระวังไว้ อย่าเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น เพราะสภาวะอย่างนี้ความคิดเมื่อพิจารณาอย่างนั้นแล้ว ความคิดเห็นในบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นต้องระมัดระวัง เมื่อบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นเช่นนั้น ต้องพยายามเข้าไปค้นกายพิจารณากายของตัวอย่างเดิม อย่าไปยุ่งอย่างอื่น อย่าไปคิดเรื่องโลกเรื่องสงสาร เพลิดเพลินในการเทศน์การวาทะอะไรทั้งหมด ต้องให้เข้าใจอย่างนั้น ต้องหวนกลับเข้าไปค้นคว้าอย่างเดิมอย่างนั้น อันนี้เป็นหลักสำคัญ มันมีสิ่งที่แว่วๆเข้ามาในหู เพราะฉะนั้นจึงต้องเตือนซักหน่อย เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งอกตั้งใจให้เต็มที่ลงไปในลำดับของใจที่กำลังดีอย่างนี้แล้ว ขอให้ท่านตั้งใจเต็มที่ลงไปเถิด ผลที่จะได้รับคือความสงบของใจ 

เมื่อค้นคว้าพินิจพิจารณากายลงไปเท่าไร ใจนั้นยิ่งเกิดความสงบเข้าทุกๆนาที ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนก็เกิดแต่ความสงบของใจอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าได้นอกรีตนอกรอยไปเล่นพิธีต่างๆนานา ให้พิจารณาร่างกายของเรานี่ ตัดส่วนหยาบส่วนละเอียดของกายออกให้มาก เมื่อจะเห็นหรือไม่เห็นไม่ต้องวิตก เมื่อส่วนปัญญาที่ละเอียดมากเข้าเท่าไรแล้วอย่างนั้น ปฏิภาคนั้นจะดับลงไปทันที แต่อย่าวิตกว่าเสื่อมสมาธิ การค้นคว้าพินิจพิจารณาอยู่อย่างนั้นเองเป็นเหตุให้เจริญขององค์ปัญญาวิปัสนา นั่น เพราะฉะนั้นให้เข้าใจอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติบำเพ็ญสมาธินี่ ผู้ที่บำเพ็ญเป็นแล้วหรือยังไม่เข้าใจ เมื่อเข้าใจพอสมควรอย่างนั้นต้องหาครูบาอาจารย์ผู้ที่ท่านมีความรู้ ความฉลาดแนะนำพร่ำสอน นี่ อย่างนี้จึงเรียกว่าอาจารย์เป็นผู้มีประโยชน์แก่การให้ทัศนะในการศึกษาให้เจริญรุ่งเรืองเกิดขึ้นสำหรับในด้านการภาวนา เพราะฉะนั้นอย่างครูบาอาจารย์มั่นท่านจึงเป็นคณาจารย์หรือเรียกว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่สมควรแก่สานุศิษย์ เมื่อผู้ใดจะเข้าไปศึกษาสิ่งหนึ่งสิ่งใดประการใดอย่างนี้ไม่มีความขัดข้อง ขอให้ไปเสนอเถอะ 

มีภิกษุหนุ่มองค์หนึ่ง เธอได้ค้นคว้าพินิจพิจารณาร่างกายของเธออย่างนั้น จนละเอียดละออไปหมดทุกส่วนทุกชิ้นทุกอัน จนได้สภาวะของใจอันนั้นได้ลงถึงความจริง ประจักษ์ในขณะที่ลงไปอย่างนั้นโลกทั้งหลายนี้ไม่มีปรากฏขึ้นกับใจ ขาดสูญไปหมด อยู่จำเพาะใจอันนั้นอันเดียว ไม่มีสิ่งใดที่เจือปนอยู่ในใจอันนั้น แล้วภิกษุหนุ่มองค์นั้นก็ได้เอาสิ่งเหล่านี้ไปนมัสการครูบาอาจารย์ท่าน ไปเล่าถวายความเป็นไปให้ท่านฟังตั้งแต่เบื้องต้นในการค้นคว้าพินิจพิจารณาลงไปอย่างนั้น จนกระทั่งถึงที่สุดของการค้นคว้าพิจารณาอย่างนั้นลงไปแล้ว ในสภาวะของใจลำดับนั้นมันขาดพรึบลงไปโดยที่คล้ายๆขาดสติ แต่ไม่ใช่ขาดสติ มันก็ปรากฏโลกทั้งหลายขาดลงไปไม่มีอันใดเลยแม้แต่ร่างกายของเราอย่างนี้ก็สูญหายไปหมด เหลือความบริสุทธิ์ของใจอันเที่ยงแท้อยู่อันเดียวอย่างนั้น ก็เมื่ออย่างนั้นแล้วก็ไปเรียนถามท่านว่า ภิกษุองค์ก็ถามว่าต่อไปจะให้ทำอย่างไรต่อไป ท่านก็เลยบอกว่า เออ เอาอย่างนั้นแหละ ให้พิจารณาอย่างนั้นดำเนินไปเรื่อยๆ ท่านไม่มีการคัดค้าน ไม่มีการโต้เถียงหรือไม่มีการที่จะกะเตอะกะตะอะไรทั้งหมดเลย นี่แหละเพราะฉะนั้นคติอันนี้มีภิกษุไปเล่า บังเอิญหลวงตา แอบกระซิบๆนิดๆได้ยินเข้าก็เลยมาเล่าสู่กันฟัง นี่แหละชีวิต 

เพราะฉะนั้นการค้นคว้าพินิจพิจารณากายนี้ย่อมเกิดด้วยประการต่างๆ มีมากมายเหลือที่จะพรรณนา เมื่อบุคคลใดเป็นแล้วอย่างนั้น สิ่งทั้งปวงในโลกเราจะมองว่ามีความขัดข้องวุ่นวาย เมื่อการค้นคว้าพิจารณากายลงไปได้ซักนิดเดียวเท่านั้น มันดับไปหมดไม่มีสิ่งใดที่จะมาเจือปนใจ เพราะใจนั้นเข้าไปอยู่กับกาย ใจนั้นมีหน้าที่รู้อยู่กับกาย เดินอยู่อย่างนั้น มีสติประคับประคองใจอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ใจนั้นแสนปลดเปลื้อง ไม่มีสิ่งกังวลอันใดเข้ามาเจือปนเลย นี่เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมะเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว นั่นแหละ เมื่อดำเนินไปเรื่อยๆจนถึงความจริงก็ประจักษ์ขึ้นกับใจผู้ปฏิบัติ สภาวะอย่างนั้นในขณะนั้นเมื่อพิจารณาเต็มที่ลงไปแล้ว สภาวะอันตัวพิจารณานั้นเองจะหยุดลงไปขณะที่พิจารณาอย่างนั้น แล้วก็จะปรากฏว่า อย่างเรานั่งอยู่ในศาลาอย่างนี้ประมาณตั้งสองสามร้อย ไม่ปรากฏว่ามีผู้มีคน ไม่มีตัวมีตนของเราในขณะจิตนั้นเลย เมื่อพิจารณาลงอย่างนั้นแล้วถึงสภาวะอันเต็มที่อย่างนั้น นั่นแหละ ผู้ปฏิบัติก็ต้องประจักษ์ผลของการปฏิบัติในขณะนั้นเอง นี่เพราะฉะนั้นจึงว่าบรรยายธรรมะศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมกับภาษิตที่ยกไว้เบื้องต้นว่า จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง บุคคลผู้ฝึกจิตใจที่ได้ดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ของหัวใจ  เพราะว่าเมื่อผู้ฝึกหัดอบรมจิตใจจนให้ได้รับความเยือกเย็นจนเข้าสู่แดนของปัญญาอันแท้จริงอย่างนั้นแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเจือปนหัวใจใ้ห้มีความเศร้าหมองขุ่นมัวตลอดทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนตลอดเวลา ใจนั้นแสนที่จะสบาย ปลอดโปร่งอยู่ตลอดเวล่ำเวลาอย่างนี้ นั่นเรียกว่าธรรมะอันแท้จริงของพระพุทธเจ้า องค์พระศาสดาของพวกเราเมื่อท่านได้ถึงธรรมอันแท้จริงอย่างนี้แล้ว ทรงพิจารณาสัตวโลกว่าเต็มไปด้วยความหมกมุ่น เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แสนที่จะกังวลนานาประการต่างๆ เมื่อมองอย่างนั้นแล้ว ทำไมสัตว์ทั้งหลายจะสามารถมาประพฤติปฏิบัติธรรมะได้หนอ ครองบ้านครองเรือน เต็มไปด้วยความขัดข้องนานาประการอย่างนี้ เมื่อน้อมใจพิจารณาอีกทีหนึ่งก็มาพิจารณาดูว่าสัตว์ทั้งหลายคงมีอุปนิสัยปัจจัยที่สามารถจะได้บรรลุคุณธรรมของเราคงมีบ้าง นี่ จึงเรียกว่าวิหารธรรม เป็นพรหมวิหารมาอาราธนา นั่นแหละ เพราะฉะนั้นธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ที่อื่นที่ไกล (เทปจบ)

https://youtu.be/twJnujuh1Fw