Skip to content

จิตดวงแรก ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

การทำสมาธินั้นถือว่าเป็นการบำเพ็ญจิตใจ จิตใจนั้นคือตัวของเราที่ไม่ตาย ในร่างกายนี้ก็มีใจเป็นใหญ่ เป็นประธาน ร่างกายของเราเป็นเพียงหุ่นกระบอก ใจนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีความสุข ให้มีความทุกข์ และใจนั้นบังคับบัญชาให้วิ่งให้เดิน ให้ทาน ให้ทำอะไรทุกอย่างก็ใจเป็นผู้บังคับบัญชา 

เมื่อใจเป็นใหญ่เป็นประธานอย่างนี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสถึงความเป็นใหญ่ของใจได้ว่า มโนปุพพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจประเสริฐ สำเร็จแล้วด้วยใจ นี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธองค์ ทรงให้ความสำคัญของใจนั้นอย่างยิ่ง แม้เมื่อพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยังนั่งสมาธิอยู่ที่ใต้โคนโพธิ์ ปัจจุบันเรียกว่าพุทธคยา 

ที่โคนโพธิ์นั้นพระองค์ประทับนั่งอยู่ถึง ๗ วัน ในบริเวณนั้นพระองค์ได้ทรงเสวยวิมุตติสุขตามต้นไม้ต่างๆถึง ๗ อาทิตย์ เป็นเวลาถึง ๔๙ วัน การบำเพ็ญที่พระองค์ทรงบำเพ็ญในทางจิตนั้น จึงทำให้พระองค์เกิดความบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส และพระองค์ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นในโลก ก็ด้วยเหตุคือการทำสมาธิ เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ได้ทรงประสบผลสำเร็จอย่างนี้แล้ว ก็ต้องการที่จะให้พวกเรานี้ได้สำเร็จผลเช่นกับด้วยพระองค์นั้น 

พระองค์จึงได้ทรงประกาศศาสนธรรม หรือประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนานั้น ก็เพื่อให้พวกเราพากันบำเพ็ญเพื่อความสำเร็จ การให้ทาน การรักษาศีลต่างๆเหล่านั้น พระองค์ก็ได้ทรงประกาศเพื่อให้เป็นพื้นฐาน ส่วนการทำจิตนั้น พระองค์ทรงประกาศเป็นข้อสำคัญ เพราะคนเรานี้เกิดมาในไม่ช้าก็ตายด้วยกันทั้งนั้น 

เมื่อตายไปแล้ว เคยพูดก็ไม่ได้พูด ก็หมดเสียงไป อยู่ในความทรงจำของบุคคลชั่วครู่ชั่วยาม ในที่สุดก็หมด ไม่มีใครรู้เรื่อง คนเราเกิดขึ้นมา ตายไปทุกคน ไม่ได้เลือก เวลาที่จะถึงความตายที่เป็นเวลาที่จะถึงนั้น ก็มีเวลา เวลานั้นจะเป็นเวลาใดเราก็รู้ไม่ได้ แต่ว่าจะต้องไปถึงที่นั่น คือความตาย 

เมื่อเวลาตายนั้น จิตก็จะต้องเข้าภวังค์ เวลาเกิด จิตก็เข้าภวังค์ เข้าภวังค์นั้นก็เหมือนกับเรานอนหลับ การนอนหลับนั่นหละคือจิตเข้าภวังค์ จะไปรู้ก็ต่อเมื่อตื่นขึ้นมา คนเราตายก็เหมือนกัน จิตมันจะต้องเข้าไปตรงนี้ ก็ไปรู้เอาเวลาที่เกิดขึ้นมาแล้ว แล้วก็จำไม่ได้ด้วย เหมือนกับเรานอนฝัน เราจำไม่ได้อย่างนั้นน่ะ เราก็จำไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเข้าภวังค์ ที่จะเข้าไปสู่ภวังค์นั้น ก็ต้องอาศัยความสงบ 

ถ้าจิตไม่สงบแล้ว จิตมันก็เข้าภวังค์ไม่ได้ คือปล่อยหมด เหมือนกันกับคนจะตายอย่างนี้ ก็ต้องปล่อยหมด ร่างกายก็เจ็บปวด ตลอดจนกระทั่งลมหายใจก็หยุดที่จะหายใจ หมดที่จะต้องหยุดลมหายใจอย่างกะทันหัน จิตนั้นก็จะต้องรีบเข้าภวังค์โดยพลัน เมื่อเข้าภวังค์ไปแล้ว คราวนี้เราก็ไม่ได้เป็นตัวของเราแล้ว 

เราลองคิดดูเวลาที่เรานอนหลับ เราเป็นยังไงมั่ง เราก็ทำอะไรไม่ได้ เราอยากจะเหาะ ก็คิดอยากจะเหาะ มันก็ไม่ได้เหาะ หรือเราอยากจะไปอยู่ในปราสาทราชวังสวยๆงามๆ เราก็ไปไม่ได้ หรือเราอยากจะเห็นอะไร เราก็คิดเอาเหมือนกันน่ะ ตั้งแต่เมื่อยังไม่ทันได้หลับ แต่พอเวลาหลับแล้วมันก็ไปไม่ได้ คือมันไม่ได้เป็นตัวของเราแล้ว ฉันใดก็ดี สำหรับเวลาที่จิตของเราจะออกจากร่าง คือเมื่อถึงคราวเวลาที่จะต้องตาย จิตก็เป็นเช่นเดียวกัน ไปรู้เอาก็ต่อเมื่อ อ้าว มาเกิดอยู่ที่นี่ซะแล้ว อย่างนี้

อันนี้แหละ ที่เราต้องพากันทำสมาธิ ต้องการที่จะให้มีสติ ต้องการที่จะให้รู้ว่าภวังค์คืออะไร เราทำจิตให้สงบ เอาเวลาสงบลงไปแล้ว เมื่อจิตสงบ พอเวลาสงบลงไปแล้ว เราก็ผลอยลงไป บางทีก็สบาย นั่นแหละคือจิตเข้าภวังค์ไปแล้ว แต่ว่าที่เข้าภวังค์อย่างนี้ มันไม่เหมือนกับเรานอนหลับจริงๆ เพราะเรานอนหลับจริงๆนี่มันไม่รู้เรื่องอะไรเอาเลย จะสุขจะสบายแค่ไหนมันก็ไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าหากว่าจิตของเราสงบ เข้าสู่ภวังค์แล้วเกิดความสบาย เรารู้ แม้แต่เสียงข้างนอกเราก็ยังได้ยิน เสียงอะไรต่ออะไร เราก็ยังได้ยิน แต่เราก็รู้สึกมันมีความสบายนักหนา บางทีมันก็มีความซึ้งสบายอย่างยิ่ง อะไรอย่างเนี้ย 

นี่แหละคือที่เราทำสมาธิแล้วจิตมันเข้าภวังค์ และมันเข้าอย่างนี้ที่เราพากันทำจิตนี่ต้องนับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่เราทำมา มันก็นานมาแล้ว จิตมันก็เข้าภวังค์ไปทุกครั้งๆอย่างนี้ มันนานมากต่อนานมากเข้ามันก็เกิดความชำนาญ เพราะฉะนั้นพวกเราจึงต้องมีความตั้งใจที่จะนั่งสมาธิกันให้มากๆ ก็เพราะเหตุนี้เป็นเหตุหนึ่ง คือผู้ที่ได้ทำสมาธิแล้วนี่ สมาธิที่เราได้ทำไว้ จะเป็นครั้งหนึ่ง สองครั้ง สิบครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้งก็ตาม สมาธิเหล่านั้นจะไม่สูญเสียไปในทางใด นอกจากฝังสนิทติดอยู่ในใจของเรา 

ด้วยเหตุอย่างนี้ เมื่อเวลาที่จิตนี้จะออกจากร่างนี้ไป สมาธิทั้งมวลที่มีอยู่ก็รวบรวมพลังทั้งสิ้น แล้วก็มารวมอยู่ ณ ที่จิตนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น บุคคลผู้นั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความดี และเป็นผู้ที่มีตาสว่าง หรือเป็นผู้ที่มีความผ่องใส เมื่อเป็นเช่นนี้ อันที่ผู้ทำสมาธิจะไปตกนรก หรือจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือจะไปเกิดเป็นเปรตอะไรอย่างเนี้ย ไปไม่ได้ เพราะเหตุที่ว่าจิตนี้ได้รับการฝึกฝนชำนาญแล้ว ยกเว้นแต่ว่าทำไม่ได้จริง ไม่ได้จัง แต่บุคคลผู้ทำได้จริงได้จังนั้น พอเวลาจิตรวมลงไปแล้วมันเกิดความสบาย เราก็รู้ว่าเราสบาย นั่นแหละคือสติ แล้วก็คือความชำนาญ 

เมื่อเวลาจิตของเราจะออกจากร่างนั้น สมาธิเท่าที่เราทำนั้น มันจะเข้ามารวมตัว การรวมตัวนั้นจะรวมเสร็จภายในวินาทีเท่านั้นเอง เรียกว่า ชวนะจิต เราลองคิดดุว่าชวนะจิตมันเร็วแค่ไหน อย่างที่เราจะนึกไปสหรัฐอเมริกาอย่างนี้ เพียงวินาทีถึงแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรมันจะเร็วแค่ไหน มันเร็วเกินกว่าวาระจิตของตนไม่ได้ อย่างเราจะคิดไปถึงบ้านในชั่ววินาทีก็ถึงแล้ว เท้าเรายังไม่ขยับเสียอีก เพราะฉะนั้นจิตของเราที่ได้ศึกษาและที่ได้ปฏิบัติ ที่ได้กระทำเอาไว้นั้นนั่นแหละ มันก็จะมารวมกันชั่ววินาทีเท่านั้นเอง 

เพราะฉะนั้นจึงเป็นการทันการ เพราะว่าการที่จิตที่จะออกจากร่างนี่ มันก็ชั่วเสี้ยววินาทีที่มันจะออกจากร่าง เพราะอะไร เพราะว่ามันเร็วพลัน ในการที่จิตจะออกจากร่างนั้นมันเร็วเพี้ยบ เรียกว่าปั๊บเดียวเท่านั้นก็ออกแล้ว ถ้าหากว่าชวนะจิตที่ยังไปนึกไปคิดอะไรอื่นๆอยู่นั้น มันก็ไม่เร็ว มันไม่เกิดความรวดเร็ว แต่ชวนะจิตที่ได้รับการฝึกฝนไว้แล้ว มันเร็วมาก รวมตัวกันเพียงชั่ววินาที ก็พร้อมแล้ว พร้อมที่จะเดินทางต่อไป พร้อมที่จะมีอะไรต่างๆที่จะทำได้ เรียกว่าพร้อม 

นี่เมื่อมาหันมาพูดกันถึงคนที่เค้าไม่ได้ทำสมาธินั้น เค้าจะเป็นอย่างคนทำสมาธิไม่ได้ ไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเราจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับคนที่ไม่ได้รู้หนังสืออะไรเลย กับคนที่เป็นปริญญาเอก หรือเรียกว่าด๊อกเตอร์ คนที่ไม่รู้หนังสืออะไรเลยนั้นจับหนังสือเอามาแกะไปทีละตัวสองตัว ก็ไม่รู้เรื่อง ต้องไปถามคนอื่น ถามว่าไอ้ตรงนี้เค้าว่ายังไง มันมีเรื่องอะไร อย่างนี้เป็นต้น แต่ส่วนผู้ที่เป็นด๊อกเตอร์ หรือผู้ที่เรียนหนังสืออ่านออกแล้วนี่ ไม่จำเป็น พอจับขึ้นมาปั๊บก็รู้แล้วว่าตัวหนังสือนั้นคืออะไร มันชั่วชวนะจิตเท่านั้นแหละ 

ฉันใดก็ดี การที่จิตของบุคคลผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนในการทำสมาธินั้น ก็ต้องไปตามยถากรรม จึงไม่สามารถที่จะควบคุมในขณะที่จิตนั้นจะออกจากร่างได้ คือควบคุมไม่ได้ เมื่อควบคุมไม่ได้ ก็สุดแล้วแต่ชวนะจิต หรือความนึกความคิดของจิตนั้นจะไปยึดเอาที่ตรงไหน ไปยึดเอาที่ตรงโน้นตรงนี้ ก็ไปเกิดตามภาวะแห่งการยึดถือ 

เพราะฉะนั้นอุปาทาน ท่านจึงบอกว่า อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพในปฏิจจสมุปบาท ท่านแสดงว่า อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ความจริงก็เป็นอย่างนั้น คือเมื่อเวลาที่บุคคลผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนจิตนั้นจำนวนมากเหลือเกิน แต่ผู้ฝึกฝนจิตนั้นจำนวนนิดน้อยเมื่อเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนจิตนั้น ก็ทำบุญทำทานไปก็นึกถึงบุญทานได้ก็ยังดี หรือว่าไม่ได้ทำบุญทำทานอะไรกับเขา มีแต่คิดถึงลูกถึงเต้า มีแต่คิดถึงทรัพย์สินสมบัติ นั่นน่ะ ๑๐๐​ เปอร์เซ็นต์ที่จะต้องไปเกาะเป็นตำแหน่งของสัตว์เดรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไปเป็นเปรตอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไปเป็นอสุรภายอย่างใดอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นสิ่งที่แน่นอน 

แต่ว่าก็เหมือนกันกับจับพลัดจับผลู บางทีไปนึกถึงว่า เออ เราเคยได้ให้รางวัลคนใช้ซัก ๑๐๐ บาท นึกได้แค่นั้น เขาก็อาจจะไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือในนรกก็ได้ คือการสงเคราะห์บางทีก็ช่วยเหลือคนในฐานะที่คนที่ยังไม่เข้าใจอะไร ในข้อนี้ทุกคนนี่ ไม่เข้าใจกันเป็นส่วนมาก ก็นึกว่าเขาก็ตาย เราก็ตายเหมือนกัน ก็ไม่เห็นว่ามันจะแตกต่างกันตรงไหน เราซะอีกมีเงินมากเยอะๆ เวลาเราตายแล้ว เค้าจะได้ทำศพให้เราสวยหรู ตั้งหมื่น ตั้งแสน ตั้งล้าน บางทีเขาอาจจะคิดว่าในเวลานี้ก็มีการสวดพระอภิธรรมบ้าง สวดบังสกุลมาติกา ถวายอาหารพระสงฆ์ เพื่อจะทำอุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็รอเพียงแค่นั้นสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนในทางจิตใจ ก็รอว่าเมื่อเวลาตายแล้ว เค้าจะทำให้เราได้บ้าง ถึงจะทำมากมายก่ายกองบางครั้ง ผู้ที่ได้รับก็อาจจะได้รับเหมือนกัน แต่มันก็เป็นส่วนน้อย ได้รับน้อย บางทีก็อาจจะได้รับเพียงเรียกว่าเล็กน้อยมาก ไม่เหมือนกันกับเราทำเอาไว้เอง 

เราทำเอาไว้เองนี่ร้อยทั้งร้อย เราก็ได้ ไม่มีใครแบ่งไปไหน เพราะฉะนั้นเวลาที่เค้าจะทำบุญให้กับใครๆนี่ เค้าจะต้องออกชื่อผู้ที่ยังอยู่คือคนที่ยังไม่ตายก่อน เช่นอย่าง นาง ก อุทิศให้นาย ข เค้าจะต้องว่าอย่างนั้น ไม่ใช่ว่านาย ข ได้สร้างสิ่งนั้น ไม่ใช่ แต่ว่านาง ก ได้อุทิศให้นาย ข เขาก็ต้องพูดอย่างนี้ตลอดไปเพราะฉะนั้นส่วนการที่จะได้รับส่วนกุศลนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีการกระทำที่คนอื่นเค้ากระทำแล้วเค้าแบ่งให้เราถึงจะได้ 

ด้วยเหตุอย่างนี้เองแล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสแก่สาวกว่า อย่าได้ไปคอยรับบุญกุศลคนอื่นเขาเลย ตนของตนเองรีบทำเสียในวันนี้ทีเดียว พระองค์ทรงตรัสว่า  อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ กิจสิ่งใดที่เป็นบุญกุศลรีบทำในวันนี้ โก ชญฺญา มรณํ สุเว ใครเล่าจะรู้จักว่าความตายจะมาถึงเราในวันพรุ่งนี้ นี่เป็นคำตักเตือน ตักเตือนพุทธบริษัท เพราะว่าผู้ที่จะมารับส่วนกุศลนั้น ถ้าหากว่าไปตกนรกเสียแล้วก็ยากเหลือเกินที่จะรับได้ ถ้าเป็นขั้นเปรตก็ยังพอที่จะรับได้อยู่บ้างอย่างเนี้ย หรือว่าผู้ที่เป็นเทพบางประเภทอย่างนี้ อันนี้ก็รับได้เยอะ แต่ทีนี้เราตายไปแล้วนี่ บุคคลตายไปแล้วนี่จะไปอยู่ตรงไหน จะไปอยู่ตรงนรก หรือไปอยู่ตรงเปรต หรือไปอยู่ตรงเทพ หรือจะไปอยู่ตรงสัมภเวสี อะไรอย่างนี้ เวลาตายแล้วเราจะไปอยู่ตรงไหน เราแน่ใจของเราว่าเราจะไปอยู่ตรงไหน มันก็ไม่แน่อีก 

เพราะฉะนั้นเรื่องของการที่เราจะไปคอยรับส่วนกุศลคนอื่นนั้น เป็นเรื่องความเข้าใจผิด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พระเจ้าพิมพิสารท่านก็ได้ทำกุศลให้แก่ญาติของท่าน ทำให้ญาติของท่านได้ไปเกิดเป็นเทวดาแล้ว ก็เนื่องจากญาติของท่านน่ะไปกินของสงฆ์ เมื่อไปกินของสงฆ์คือเรื่องของเรื่องในอดีตชาตินั้น ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร มีพระเจ้าแผ่นดิน โอรสของพระเจ้าแผ่นดินพากันไปบวช บวชแล้วก็ให้ลูกน้องนี่ทำครัวถวาย ซื้ออาหารมาแล้วก็ทำครัว แล้วก็ถวายพระ ท่านก็บอกว่าท่านไม่เกี่ยวข้อง ทีนี้พวกที่ทำครัว พอทำแล้วครั้งแรกๆนี้ ก็ไม่กล้ากิน ถวายพระก่อนแล้วค่อยทานอย่างนี้ พอทีหลังมาลูกมันร้องหิว ก็เลยให้ลูกกิน ต่อมาเมื่อลูกกินแล้วตัวเองก็เลยกินด้วย ในที่สุดก็เลยขโมยกินของสงฆ์ ก่อนแต่ที่จะถวายพระไม่ได้กินเสร็จ ก็กินของสงฆ์ พวกนี้ก็เรียกว่าเป็นพวกญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ต้องไปเป็นเปรตถึง ๙๒ กัปป์ แล้วถึงจะได้พบกับพระเจ้าพิมพิสารได้อุทิศส่วนกุศลไว้ให้ 

นี่อันนี้ก็เป็นหลักฐานที่พอจะได้รับส่วนกุศลได้ เพราะฉะนั้นที่ชีวิตจะออกจากร่างนี้ มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่เราทำสมาธิไว้อย่างที่พวกเราทำกันทุกวันนี้ อาตมาก็แน่ใจว่าพวกเราไม่ต้องไปแล้ว ทั้งเปรตทั้งนรก เป็นอันว่าปิดกันได้ เพราะอะไรถึงแน่ใจอย่างนี้ ก็เพราะว่าจิตของเรานั้นได้สงบเป็นสมาธิด้วยกันทุกคน ทุกคนนี้ได้ทำสมาธิแล้วจิตก็ได้เป็นสมาธิด้วยกันทุกคนอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นอันว่า รับรองได้ว่าไม่ต้องไปในอบายภูมิเหล่านั้น มันน่าหวาดเสียวอย่างยิ่งสำหรับจิตของคนที่จะออกจากร่าง เขาเรียกว่า จิตปฏิสนธิ 

จิตปฏิสนธินั้นเป็นจิตที่อยู่ยงคงกระพัน หรือเรียกว่าอมตะ เป็นสิ่งที่ไม่ตาย ปฏิสนธิจิตนี้ที่จะเข้าไปอยู่ในครรภ์ของมารดา ถ้าหากว่าในครรภ์ของมารดานั้น ไม่มีจิตปฏิสนธินี่แล้ว ในครรภ์ของมารดาก็จะเกิดเป็นคนไม่ได้ ก็เรียกว่าเป็นหมันไป แต่ถ้าหากว่าจิตตปฏิสนธินี้ เข้ายึดในสัมภวธาตุเมื่อไร สัมภวธาตุนั้นก็จะเจริญวัยขึ้นทันที จึงเรียกว่าจิตปฏิสนธิ ถ้าหากว่าสัมภวธาตุนั้นไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ เกิดการเน่าเสีย จิตปฏิสนธิก็ต้องถอนออก ไม่สามารถที่จะเข้าและอยู่ในที่นั้นต่อไปอีกได้ 

จิตปฏิสนธิที่จะเข้ามาถือปฏิสนธิ สัมภวธาตุของมารดานั้น จิตนั้นจะต้องเข้ามานับจำนวนร้อยๆดวงที่จะเข้า แล้วแย่งกันเข้ามาที่จะเข้ามาเกิด ใครมีอิทธิพลมากกว่าก็เข้าไปได้ เมื่อเข้าไปแล้ว ผู้ที่มีอิทธิพลน้อยกว่าก็ต้องถอยออกไป เรียกว่ากลับเข้าไปไม่ได้ ในคัมภีร์ไตรโลกวิตถาร ท่านแสดงไว้ว่าการที่ดวงจิตจะเข้ามาถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดานั้น เรียกว่านับจำนวนเป็นร้อยๆ เรียกว่าเข้าคิวเป็นร้อยๆ แต่ถ้าใครเข้าไปก่อนแล้ว คนอื่นก็เข้าต่อไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าหากว่าเกิดสัมภวธาตุนั้นสูญเสีย ไม่สามารถที่จะก่อตัวได้ จิตปฏิสนธินั้นก็ถอยออกมา คราวนี้พวกอื่นก็จะต้องเข้ามาต่อคิวกันต่อไป 

แต่ว่าไม่ใช่เข้าคิวกันเหมือนคนเราไปซื้อตั๋ว แต่เข้าคิวด้วยบุญกรรม บางทีบุญกรรมที่มารดานั้นเคยทำกับจิตวิญญาณนี้ไว้ จิตวิญญาณนี้ก็เข้าไปได้ ถ้าไม่เคยทำเอาไว้ ถึงจะเข้าไปยังไงก็เข้าไม่ได้ ก็จะต้องมีผู้อื่นที่เคยมีบุญ ที่เคยสะสมกันเอาไว้หรือว่าจะมีบุญมีกรรมก็สุดแล้วแต่ ก็จะต้องมีความสัมพันธ์กันในอดีต จิตปฏิสนธินี้จึงจะเข้าไปสู่ครรภ์ของมารดานั้นได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของจิตของเราเนี่ย ที่เราพากันมีอยู่ในทุกวันนี้ แล้วก็มีร่างกายตัวตนอยู่ในทุกวันนี้ ก็ถือว่าเป็นผลบุญผลกรรมที่เรามีอยู่ในอดีต สร้างขึ้นมาให้เป็นร่างกายและตัวตนขึ้นมา 

เมื่อเรามีความตั้งใจที่จะหาหนทางแก้ไข เรื่องจิตปฏิสนธินี้แล้ว ท่านว่าต้องให้บำเพ็ญวิปัสสนา ถ้าเราบำเพ็ญวิปัสสนาได้ จะต้องแก้ตรงจิตปฏิสนธิ ต่อไปจึงจะไม่ต้องมาเกิดอีก แต่ถ้าแก้ตรงจิตปฏิสนธินี้ไม่ได้ เราก็ต้องมาเกิดอีกร่ำไป เรียกว่าต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกันต่อไปอีก เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า 

อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ 

คหการกํ คเวสนฺ โต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ

คหการก ทิฏฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหสิ

สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ

วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา

อันนี้เป็นภาษาบาลีซึ่งแปลเอาใจความว่า กิเลสเป็นเครื่องหุ้มห่อจิตใจ ทำให้เราตถาคตต้องไปเกิด อเนกชาติสํสารํ ก็เรียกว่านับชาตินับภพไม่ถ้วน บัดนี้เราได้ทำจิตเข้าถึงปฏิสนธิจิต กำจัดอวิชชาได้แล้ว เราจึงหักช่อฟ้านั้นน่ะเรียกว่าภูตัง เรียกว่าช่อฟ้า พระองค์ทรงหักได้แล้ว เมื่อหักแล้วตัวเจ้าจะมาทำให้เราก่อเกิดต่อไปอีกย่อมไม่ได้ นี่เป็นข้อความที่เราแปลกันออกมา เพื่อให้รู้ว่าการที่เวียนว่ายตายเกิดนั้น พระพุทธองค์ก็เวียนว่ายตายเกิดมาแล้ว ก็เหมือนกันกับเราที่เวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน แต่ว่าการเวียนว่ายตายเกิดนั้นก็อยู่ที่จิตปฏิสนธิอันนี้ คือจิตใจอันนี้เป็นใหญ่ 

จิตปฏิสนธิน่ะ เมื่อเข้าไปถือปฏิสนธิ เกิดเป็นตัวขึ้นมาหรือเป็นร่างกายที่เรามีกันอยู่อย่างนี้แล้ว ที่เรามีกันอยู่นี่ จิตอันนั้นก็ยังอยู่คงสภาพเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปร คือคงสภาพเดิม แล้วก็อยู่ในอัตภาพคือร่างกายของเรานี่แหละ จะว่าอยู่ส่วนสมองก็ไม่ได้ จะว่าอยู่ส่วนเท้าก็ไม่ได้ จะว่าอยู่ส่วนหัวอกเบื้องซ้าย นั่นมันก็เป็นหทัย แต่ว่าก็อยู่ในที่ใดที่หนึ่ง เรารู้ได้ก็ตอนที่เราใช้ เช่นอย่างเราจะคิดอย่างหนึ่งขึ้นมา ความรู้เกิดขึ้น นั่นแหละเรียกว่าจิตใจ จะอยู่ตรงไหนก็ได้ในร่างกายอันนี้ 

เพราะฉะนั้นจิตนี้นี่ เมื่อเราได้สร้างสมาธิขึ้นมา เราก็เข้าไปถึงจิตดวงนี้แล้ว เพราะว่าการที่ทำจิตเข้าสู่ภวังค์นั้น ก็คือการทำจิตของเราเข้าไปถึงจิต เราก็ได้รับผลประโยชน์อันมหาศาล การที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศคำสั่งสอนของพระองค์นั้น พระองค์มิได้ทรงคิดและเดาหรือคำนวณเอา แต่พระองค์นำเอาของจริงที่พระองค์ได้พบ เอามาประกาศ เพราะฉะนั้นในจิตนี้ที่พระองค์ได้ทรงค้นพบแล้วนี่ แล้วพระองค์ก็นำเอามาประกาศ เพื่อที่จะให้พวกเราเนี่ยสามารถทำจิตของเรานี้ให้เข้าไปสู่ภาวะที่เรียกว่า ภวังค์ ให้เข้าไปสู่ภาวะที่เรียกว่าภวังคจิต และเข้าไปถึงสิ่งที่แท้จริงคือสิ่งที่เป็นผู้ไม่ตาย 

พระองค์เห็นอย่างนี้และรู้อย่างนี้ พระองค์ตรัสรู้อย่างนี้ แล้วพระองค์จึงได้ทรงประกาศความตรัสรู้นั้นให้พวกเราทั้งหลายได้พากันปฏิบัติ แล้วเราก็จะได้ทำจิตให้เข้าถึงซึ่งภาวะนี้ เมื่อเราทำจิตเข้าถึงภาวะนี้ อันดับแรก เราก็ปิดอบายไว้ซะก่อน เราจะไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สูงขึ้นต่อจากนี้ไป ก่อนอื่นเราก็ปิดอบายไว้ก่อน เพราะว่าถ้าหากว่า เราจับพลัดจับผลูไป ไปเกิดในอบายแล้วก็เสียเวลาอีกมากเหลือเกิน 

ถ้าหากว่าสมมุติว่าเราไปตกนรกอย่างนี้ มันก็หมดไปไม่รู้กี่กัปป์ หรือว่าไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อไปเกิดเป็นสุนัขหรือว่าเป็นโค เป็นกระบือ เป็นสัตว์อะไรก็ได้ แล้วมันก็ยินดีในสัตว์ สัตว์ต่อสัตว์มันก็ยินดีซึ่งกันและกัน ตายแล้วมันก็เป็นสัตว์อยู่อย่างนั้น โหย กว่ามันจะกลับมาเกิดเป็นคนได้อีก มันก็ต้องเสียเวลาไปอีกนานนัก 

ป้องกันการคลาดเคลื่อนหรือว่าป้องกันความพลาดพลั้ง พระพุทธองค์จึงได้ทรงยืนยันในการที่จะให้พุทธบริษัทปฏิบัติในทางด้านจิตใจ อย่างที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ที่เรียกว่าพระไตรปิฎกนั้น มีถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านแบ่งออกเป็นพระสูตรเสีย ๒๒๐๐๐ ท่านแบ่งออกเป็นพระวินัยเสีย ๒๒๐๐๐ แต่ไปเป็นพระปรมัติถึง ๔๔๐๐๐ เรียกว่าครึ่งหนึ่ง พระปรมัตินั้นก็คือการทำจิตใจนั้นเอง พระองค์จึงทำไมจึงได้ให้ความสำคัญในคำสอนที่ว่า มีพระปรมัติถึง ๔๔๐๐๐ กี่งนึงของศาสนา ก็แสดงว่าพระองค์ทรงเจาะจงที่จะให้พวกเราพากันไปสู่สวรรค์ หรือพระนิพพานนั่นเอง ไม่ต้องการที่จะให้พวกเรานี้ต้องไปสู่อบาย ไปบังเกิดในอบาย หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นนรกอะไรเหล่านั้น 

เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้มาพิจารณาตัวของเรา มีโอกาสที่จะได้เข้าใจในตัวของเรา ในเรื่องการทำสมาธินี่แล้ว จึงเป็นโชคอันมหาศาล การที่เราจะมีศรัทธาขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่ง่ายนัก จำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ หาครูหาอาจารย์ หาสถานที่ หาโอกาส หาเวลาเรามีอายุอานามของเราอย่างนี้ เราต้องมีฐานะ มีความเป็นอยู่ มิฉะนั้นเราจะเอาโอกาสที่ไหนมาวัดได้ ถ้าหากว่ามีความเดือดร้อนทางบ้านมันก็มาไม่ได้ ร่างกายทุพพลภาพมันก็มาไม่ได้ หรือมาได้แต่ไม่มีครูมีอาจารย์มันก็เท่านั้น มันถึงเป็นอย่างนี้แหละ ที่ว่าการที่จะมาประสบพบกันอย่างที่มีความสมบูรณ์ทั้งสิ้นนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยาก 

แต่สิ่งนั้นเมื่อเราประสบพบแล้ว ก็เหลืออยู่ที่ว่า ความสามารถของเราจะกระทำกันแค่ไหน ความสามารถหรือว่าศรัทธาที่มีความมั่นคงแข็งแรงนี้ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะรักษาความเป็นไปของเราอันที่เรียกว่าความดีอันนี้ไว้ได้ เมื่อเรารักษาความดีการปฏิบัติสมาธิของเราอันนี้ไว้ได้แล้วนี่ เราก็จะยิ่งประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น สมเจตจำนงยิ่งขี้น ป้องกันอบายได้อย่างประเสริฐ อย่างนี้เป็นต้น 

เพราะฉะนั้น เราจึงจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องรักษาความดีของเราไว้ ที่เราได้พากันปฏิบัติและกระทำนี่ เราต้องรักษาไว้ด้วยชีวิต ชีวิตอันนี้นั้น เราถือว่าไม่เท่าไรนักหรอก ไม่ช้าก็ตายดังกล่าวแล้ว แต่ว่าจิตของเราที่มันไม่ตายนี่สิ มันไปอีกหลายพัน หลายหมื่น หลายล้านปี เรียกว่าไม่รู้เท่าไหร่ทีเดียว แต่ว่าส่วนร่างกายนี้มันก็ไม่อยู่อีกปีก็ตาย เพราะฉะนั้นเราจะต้องสละ แม้ว่าร่างกายนี้จะลำบากหน่อยก็ช่างมัน เราต้องการเอาความดี ลำบากก็ช่างมันเป็นไร๊ อดข้าวเย็นก็ไม่เห็นเป็นไร นั่งปวดขาก็ไม่เห็นเป็นไร หรือว่าเสียการเสียงานก็ไม่เห็นเป็นไร เราก็สละให้หมด ตั้งความมั่นคงของจิตเอาไว้ 

ถ้าเราตั้งความมั่นคงของจิตเอาไว้ที่มีความแน่วแน่อย่างนี้ ชีวิตของเราต่อไปก็อีกสิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้างกว่าเราจะตาย ก็ได้อีกเยอะมากมายก่ายกอง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่บ้านหรือไม่ว่าเราจะอยู่ที่วัด เราก็ทำได้ ความดีสมาธิเหล่านี้เราทำได้ ถ้าหากว่าศรัทธาแล้วนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จขึ้นมาได้อย่างแน่นอน 

สิ่งที่เรากลัวนักหนานั่นน่ะ ก็คือพวกอันธพาล อันธะแปลว่ามืด พาละแปลว่าโง่ ความจริงนั้นน่ะ เราเรียกอันธพาลน่ะคือคนมืด คนโง่ ทั้งโง่ทั้งเง่าก็พูดกันว่าอย่างนั้น ที่เรากลัวที่สุดคือกลัวอันธพาล อันธพาลนั้นคอยจะมากลบ คือคอยจะมากลบเกลื่อน หาเรื่องกับเรา ไม่ให้เราทำสมาธิ ต่อไปนี้ก็ทำสมาธิกันต่อไป