Skip to content

กินของเก่า

หลวงปู่แบน ธนากโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

เหลียวดูน้ำฝนตกไหลมา บางทีก็คิด เอ้ อยากเก็บเอาไว้ ไหลทิ้งไปเสียดาย แล้วก็มาคิดถึงน้ำฝนเป็นน้ำสะอาด เป็นน้ำดื่ม น้ำฝนเป็นน้ำสะอาด ตกมาจากอากาศ ตกมาจากฟ้า น้ำฝนที่มันอยู่บนฟ้ามันมาจากไหน ท่านพูดกันว่า อาศัยแดดเผาน้ำแล้วก็กลายเป็นไอน้ำขึ้นไป ลอยขึ้นไปบนอากาศ อาศัยความร้อนเผาเป็นไอน้ำกลายเป็นเมฆเป็นหมอก ไอน้ำลอยอยู่บนอากาศรวมกันเข้ามากๆ ถูกลมพัดเข้ามาแตกกระจายเป็นเม็ดฝนออกมา เป็นเม็ดฝนตกลงมา 

แม้แต่ฝน แม้แต่น้ำ เค้าก็เป็นวัฏจักร หมุนลงเป็นเม็ดฝน แล้วก็มาเป็นน้ำ แล้วก็วนขึ้นไปเป็นไอน้ำ แล้วก็หมุนลงมาเป็นเม็ดฝน เราก็ได้กินได้ดื่มได้อาบ แล้วก็หมุนไปเป็นไอน้ำ เป็นเมฆเป็นหมู่ แล้วก็กลับมาเป็นน้ำฝนอีก น้ำที่เราดื่ม ไม่รู้ว่าเราดื่มกี่ครั้ง ก็ของมันหมุนอยู่อย่างนี้ น้ำที่เราดื่มไม่รู้ว่าดื่มวันละกี่ครั้ง น้ำที่เราดื่มไม่รู้ว่าเป็นน้ำที่เราเคยบริโภคเคยใช้สอยแล้วก็กลายเป็นไอน้ำ กลายเป็นเมฆเป็นหมอก กลายเป็นฝน 

มันก็เหมือนกับลมหายใจของเราอย่างเนี้ย หายใจเข้าไปแล้วก็หายใจออก ลมหายใจออกไป ก็ออกไปเป็นอากาศข้างนอก แล้วก็หายใจเข้ามาอีก ก็เอาอากาศข้างนอกนั้นน่ะออกมาหายใจเข้ามา แล้วก็หายใจออกไปอีก ก็เอาลมหายใจนั้นน่ะออกไปเป็นลม เป็นอากาศข้างนอก แล้วก็หายใจ เอาลม เอาอากาศข้างนอกออกมา นี่ก็เป็นวัฏจักร 

อาหารที่เราบริโภคนั้นแล้วก็ขับถ่ายออกไป ขับถ่ายทางตา ขับถ่ายทางหู ขับถ่ายทางจมูก ขับถ่ายทางช่องว่างทั้งหลาย มีช่องว่าง มีรูรั่วตรงไหน ขับถ่ายทั้งนั้น ขับถ่ายก็คืออาหารที่เราบริโภคเข้าไปนี่แหละ ขับออกไป ถ่ายออกไป ระบายออกไป ลงไปในแผ่นดิน ไม่มีที่อื่น จะไปที่อื่น ไม่ลงแผ่นดินไม่มี แล้วอาหารที่เราบริโภคก็เกิดจากแผ่นดินนั้นเข้ามาบริโภคเข้าไปอีก แล้วก็ขับถ่ายออกไปเป็นแผ่นดิน แล้วก็เอาอาหารที่ในแผ่นดินนั้นน่ะบริโภคเข้าไปอีก เรียกว่าบริโภคของเก่า กินของเก่า แล้วก็หลงว่าเป็นของใหม่เรื่อยไป หลงว่าเป็นของใหม่เรื่อยไป 

ดิน น้ำ ลม ไฟที่มีอยู่ในโลกอันนี้ เราเคยมาเป็นเจ้าของ ดิน น้ำ ลม ไฟ หาประมาณมิได้ เกิดมาภพไหนชาติไหน ก็เอาดิน เอาน้ำ เอาลม เอาไฟนี่หละ มาเป็นตัวเป็นตน เป็นรูปเป็นร่าง เป็นที่อยู่อาศัยของจิต ตายไปมาเกิดใหม่ ก็เอาดิน เอาน้ำ เอาลม เอาไฟ ที่มีอยู่นี่หละ เอามาเป็นตัวเป็นตน เป็นเรือนร่างของจิตใจ เกิดกี่ครั้งๆก็เอาดิน น้ำ ลม ไฟที่เราตายแล้วนั่นน่ะ เอามาเกิดใหม่ เอาดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เราทิ้งแล้วน่ะ เอามาเป็นตัวเป็นตนใหม่ เราก็เป็นของใหม่ ทั้งๆที่ไม่รู้มันทิ้ง เป็นของเก่าทิ้งไปกี่ครั้งกี่หน หาประมาณไม่ได้แล้ว เราก็ว่าเป็นของเกิดใหม่ เป็นของใหม่ ไม่รู้ว่ามันแก่มันเฒ่า มันเน่ามากี่ครั้งแล้ว หาประมาณไม่ได้ ก็เอาแต่ของเก่านี้มาเป็นตัวเป็นตน มีแต่ของเก่าที่มีอยู่ในโลกมาเป็นตัวเป็นตน ตายก็ทิ้งของเก่า ทิ้งของเก่าที่เป็นตัวเป็นตนทิ้งไป เวลาเกิดใหม่ก็เอาของที่ทิ้งแล้วมาเป็นตัวเป็นตนเป็นของใหม่ ความจริงมันก็เป็นของเก่าเท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นของใหม่ ฝนตกมาจากฟ้าก็เป็นของเก่า เป็นของที่มีอยู่แต่เก่าทั้งนั้น จึงหาอะไรที่จะเป็นตัวเป็นตนคงที่ไม่มี จึงว่าวัฏจักร 

สิ่งเหล่านี้เราก็ควรที่จะมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา ถ้าหากว่าเราไม่ศึกษาแล้ว เราจะหลงแต่ของเก่ากัน เกิดมาใหม่ก็คิดว่าเป็นของใหม่ เป็นเด็กน้อยน่ารัก เป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมา สดใสงดงาม มองว่าเป็นของสวยของงามขึ้นมา มันก็ของทิ้งแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติมา อาหารที่บริโภคๆ มันก็เอาดินมาบริโภค เพราะอาหารทั้งหมดที่บริโภค ไม่มีดิน อาหารไม่มี ก็กินดินกัน ไม่มีดิน อาหารไม่มี กินดินกัน ก็หลงว่าเป็นอาหารอย่างนั้น อาหารอย่างนั้น เอร็ดอร่อย สมมุติกันว่าอย่างนั้น อร่อยอย่างนั้น อร่อยซื้อกันมาเป็นร้อยเป็นพัน มันก็ของเก่าทั้งนั้น ไม่รู้ว่ามันตายมาแล้วซ้ำๆซากจำนวนเท่าไหร่ เค้าว่าเป็นของใหม่สดๆร้อนๆ ยังร้อนอยู่ ยังร้อนอยู่ 

วิธีการทั้งหลายเนี่ยมันมอมเมาเราให้ลุ่มหลงทั้งนั้น วิธีการทั้งหลายโลกเขาสร้างเขาคิดขึ้นมาเป็นวิธีการที่จะมอมเมาให้เราๆสัตว์โลกนี่ลุ่มหลงมัวเมา แล้วก็พากันพอใจ แล้วก็มาติดมาข้องอยู่กับสิ่งของเก่าเหล่านี้ มาพอใจ มายินดี มาติด มาข้อง อยู่กับของเก่าที่ทิ้งแล้วไม่รู้กี่ครั้งกี่หนนี้ แล้วยังจะต้องเสวยของเก่า เสวยของทิ้ง เสวยของตายกันอีกต่อไป แล้วก็ยังจะยินดีของที่ทิ้งๆแล้ว ไม่รู้กี่ครั้ง ไม่รู้นานนับจำนวนครั้งไม่ได้ หาประมาณไม่ได้ ก็ยังเสวยกันต่อไปด้วยความชื่นอกชื่นใจ 

เอามาคิด เอามาพิจารณา แล้วก็เป็น เรื่องที่น่าคิดน่าพิจารณา ไม่มีอะไรเป็นของเรา จะว่าสรีระร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี้ก็เป็นของเก่า เกิดมาจากอาหารที่เป็นของเก่า เกิดจากอาหารที่เป็นของตาย ของทิ้งแล้วหาประมาณมิได้ ลงไปในแผ่นดิน คืนสภาพความเป็นแผ่นดินเหมือนเดิม แล้วเอาแผ่นดินนั้นหละเอามาสมมุติกัน ในเมื่อเป็นรูปเป็นร่างอย่างนั้น นี่ก็เอามาเป็นสมมุติกันเป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็กิน เอามาเป็นอาหารก็กินมันเข้าไป กินลงไปแล้ว ก็มาเป็นตัวเป็นตนเป็นคนสัตว์ 

พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณาอาหาร ให้เห็นเป็นดินไป ให้เป็นน้ำไป เห็นเป็นลมไป ให้เห็นเป็นไฟไป เพราะมันดินมีจริง มันมาจากดิน เราไม่เอามาเป็นอาหาร มันก็เป็นดิน ทิ้งทับถมแผ่นดิน ทั้งใบไม้แห้งๆ นานๆเข้ามันก็เป็นดินได้ เพราะถ้าธรรมชาติมันเกิดจากแผ่นดิน ในที่สุดมันก็แปรสภาพ มันก็จะแปรไปยังไงก็ช่าง มันก็ต้องแปรเป็นแผ่นดินเหมือนเดิม เพราะมันเป็นธาตุดิน สมมุติว่านี่เป็นต้นไม้ก็ช่าง ต้นใหญ่ขนาดไหน นานๆเราทิ้งเน่ามันก็เป็นแผ่นดินขึ้นมา เราจะสังเกตเราเอากองขยะอะไรไปกองๆไว้ เวลากองขยะมันเน่า ตรงนั้นกลายเป็นแผ่นดินเนินสูงขึ้นมา ผมของเราทุกเส้น ขนของเราทุกเส้นนี่ อวัยวะทุกส่วนต้องทับถมเรื่อยเต็มแผ่นดินไปทั้งนั้น แล้วเราก็เอาของที่เกิดในแผ่นดิน เอามาเป็นอาหารเอร็ดอร่อยอีก ไม่รู้ว่ากินของเก่าที่เราทิ้ง กินของเก่าที่เราเคยเป็นตัวเป็นตนเป็นคนเป็นสัตว์แล้วก็เน่าเปื่อยทิ้งลงไป กินของเก่า กินของตาย ตายแล้วตายเล่า ตายแล้วตายเล่า ทับถมกันมา แล้วเอาของเก่านั่นมารับประทานเอร็ดอร่อยกันอีก 

พระพุทธเจ้าท่านทรงรู้ทรงเห็นแล้ว สลดสังเวชมากๆ เราๆนี่มันก็เหมือนว่าคนตาบอด อะไรอร่อยหมด อะไรอร่อยหมด อิ่มแล้ว แน่นท้องมันก็ยังว่าอร่อยๆอีก เต็มท้องแล้วมันก็ยังว่าอร่อยๆอีก พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอนให้บริโภคอาหารให้พอดี โภชเน มตฺตญฺญุตา บริโภคอาหารให้พอดี คือให้พอดี ไม่บริโภคด้วยความอยาก ไม่บริโภคด้วยความไม่อยาก อยากก็กิน ไม่อยากก็กิน เพราะร่างกายอันนี้มันเหมือนกับเครื่องจักรเครื่องกล จำเป็นจะต้องอาศัย เหมือนกับเครื่องยนต์มันก็ต้องมีน้ำมัน ไม่มีน้ำมันมันก็เคลื่อนไหวไม่ได้ คือส่วนใดส่วนหนึ่งถ้าหากว่ามันบกพร่องมันก็เคลื่อนไหวไม่ได้ สรีระร่างกายของเราขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันก็้เหมือนกับเครื่องยนต์ตาย เครื่องยนต์ตายมันค่อยยังชั่ว มันกองอยู่วันสองวัน เดือนสองเดือน เอามาซ่อมใหม่ก็ได้ เครื่องยนต์คือสรีระร่างกายนี้ถ้าหากว่าตายประเดี๋ยวประด๋าวนี้แปรสภาพทันที จึงมีความจำเป็นจะต้องดูแลอย่างดีที่สุด 

สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งหลายทรงเป็นตัวเป็นตนมีชีวิตขึ้นมาได้ ไม่ตายเพราะอาหาร อยู่ได้เพราะอาหาร พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงตรัสสอนเรื่องอาหารเอาไว้ ให้บริโภคพอดี แล้วให้แสวงหามาได้ด้วยความบริสุทธิ์ด้วย แสวงหาด้วยความบริสุทธิ์ด้วย แล้วก็บริโภคสิ่งที่แสวงหามาด้วยความบริสุทธิ์ด้วย พอดีๆ เป็นมัชฌิมา ก่อนบริโภคก่อน ท่านสอนให้พิจารณาเสียก่อน พิจารณาให้เห็นว่ามาจากดินแล้วจะต้องคืนสู่แผ่นดิน ของที่เอามาเป็นอาหารอันนี้ ทิ้งไว้มันเป็นยังไง ทิ้งไว้เป็นวันเป็นยังไง ทิ้งไว้วันเป็นยังไง ทิ้งไว้สองวันเป็นยังไง ทิ้งไว้สามวันเป็นยังไง กลายเป็นของทิ้ง เราไม่กินเข้าไปก็เป็นของทิ้ง ไม่มีใครเอามาเป็นอาหาร อันนี้ก็เป็นของทิ้ง จะผลไม้ จะว่าผักหรือว่าข้าวนึ่งข้าวหุงหรืออะไรก็ช่าง ไม่เอามาเป็นอาหารก็เป็นของทิ้ง กินเข้าไปในปากก็เหมือนกับทิ้งลงไปในปาก ทิ้งเข้าไป เอาของทิ้ง ทิ้งเข้าไปในปากเพื่อเป็นประโยชน์ มูตรคูถนี่เอาไปใส่ปุ๋ยมันก็ยังเป็นประโยชน์ ของปฏิกูลเอามาเยียวยาของปฏิกูลนี้ ก็ทำให้ของปฏิกูลนี้ทรงตัวอยู่ได้เหมือนกัน 

การบริโภคอาหารจึงมีความจำเป็น แต่บริโภคให้มีความพอดี เครื่องจักรเครื่องกล ถ้าหากว่าขาดน้ำมัน เครื่องจักรนั้น จะใช้จะมีคุณภาพดี ซื้อมาราคาแพง ถ้าไม่มีน้ำมัน เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ สรีระร่างกายของเราทุกส่วนยังดีอยู่ แต่ขาดอาหาร เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงมีความจำเป็นต้องบริโภคอาหารกัน ดินก็เป็นอาหาร น้ำก็เป็นอาหาร ลมก็เป็นอาหาร ไฟก็เป็นอาหาร ทั้งอาหารทั้งสี่ประการนี้ขาดไม่ได้ อาหารทั้งสี่ประการนี้ล้วนแล้วแต่เป็นของทิ้ง สัตว์โลกทิ้งมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่ทิ้งเฉพาะเรา สัตว์โลกในโลกธาตุ เกิดมาตายแต่ละยุค แต่ละสมัยนี่หาประมาณไม่ได้ เป็นตัวเป็นตนก็คือเอาดิน เอาน้ำ เอาลม เอาไฟ แล้วก็ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นของทิ้งในโลก เราก็ทิ้ง คนอื่นก็ทิ้ง สัตว์ทั่วโลกธาตุมาเกิดนี่ทิ้งกัน ของทิ้งไว้ทั้งนั้น 

ในเมื่อเราพิจารณาแล้ว ไม่เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนา อันใดๆไม่น่าจะอย่าให้เกิดความอยากอะไรมาก นี่ การพิจารณาความจริงจึงเป็นธรรมจึงจะแก้ความอยากที่มีอยู่ ความอยากคือตัวกิเลสที่มีอยู่ในจิตในใจของพวกเรา ธรรมคือสิ่งที่เรามีอยู่นี้ ธรรมะๆ ก็คือสิ่งที่เรามีอยู่นี้ ปฏิกูลก็สิ่งที่เรามีอยู่ น้ำลายน้ำมูก เราจะปฏิเสธว่าไม่เป็นของปฏิกูลไม่ได้ น้ำเหงื่อ น้ำตา น้ำเลือด น้ำเหลือง เราจะปฏิเสธว่าไม่ปฏิกูลไม่ได้ เป็นของที่ปฏิกูล มันน่าเกลียด ขี้ตา นี่มันมาจากไหน ขี้หูมาจากไหน ขี้มูกมาจากไหน น้ำลายมาจากไหน ขี้ฟันมาจากไหน ของอย่างนี้มันเป็นยังไง เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าของเหล่านี้ไม่ปฏิกูลหรอก มันเป็นเรา เป็นของเรา ถ้าหากว่าเป็นของเรา ไม่ปฏิกูลแล้ว ทำไมเราจะต้องอาบน้ำวันละครั้งสองครั้ง ล้างกันอยู่เสมอ ล้างมาตั้งแต่เกิดเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องพรุ่งนี้บางทีอีกซักไม่นานก็ต้องล้างกันใหม่ เราปฏิเสธไม่ได้ ว่าไม่ปฏิกูล เราปฏิเสธไม่ได้ 

พระพุทธเจ้าท่านทรงรู้ทรงเห็นตามความเป็นจริงแล้ว เอาความจริงที่ทรงรู้ทรงเห็นนั้นน่ะมาตรัสว่ามันเป็นของปฏิกูล อย่าไปหลง อย่าไปลุ่มหลงมัวเมาของปฏิกูล กองปฏิกูล เรียกว่ากองมูตร กองคูถก็ไม่ผิด นี่ ขี้หา ขี้หู ขี้มูก ขี้อุจจาระ ขี้ปัสสารวะนี้ ขี้เหงื่อ ขี้ไคลอันนี้ มันอยู่ตรงไหน มันก็กองอยู่ในสรีระร่างกายที่เราว่าเป็นของเรา ของเรา หรือว่าเป็นเขา เป็นเขานี่หละ ในเมื่อเรามาพิจารณาดีๆแล้วนี่ ไอ้เรานี่ไปโมเมเอาของปฏิกูล ของตายแล้วซ้ำๆซากๆ เอามาเป็นเรา ถึงว่าจะโมเมซักขนาดไหนก็ช่างเถอะ มันก็ไม่เป็นเราอย่างที่เราไปยึดไปถือ จึงว่าการพิจารณาสิ่งที่เรามีอยู่จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาให้แจ่มแจ้ง 

ถ้าธรรมะที่เราต้องการรู้ ธรรมะที่เราต้องการเข้าถึงนี่ มันจะเกิดขึ้นให้เรารู้เราเห็น ไม่ใช่เกิดขึ้น มันจะเด่นชัดให้เรารู้เราเห็น ทำไมจึงว่าเป็นของไม่เกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เด่นชัด เพราะตาของเรายังฝ้ายังมัว จักขุง อุทะปาทิ นี่ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว คือดวงตาก็คือความสว่างไสวของใจ สามารถแจ้ง รู้แจ้งความจริงที่มีอยู่ในเราได้ชัด อาศัยการฝึกอบรมด้วยข้อปฏิบัติ มีความเคารพในข้อปฏิบัติ 

ในเมื่อเราม่ีความเคารพในข้อปฏิบัติแล้ว ศีลก็เกิดขึ้นที่ใจ ถ้าหากว่าเราไม่มีความเคารพในข้อปฏิบัตินี่ ศีลเกิดขึ้นที่ใจยาก สมาธิเกิดขึ้นที่ใจก็ยาก ปัญญาเกิดขึ้นที่ใจไม่ได้ จึงว่าความเคารพในข้อปฏิบัติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง การนั่งสมาธิก็นั่งด้วยความเคารพ การเดินจงกรมก็เดินด้วยความเคารพ การเดินไปไหนก็เดินด้วยความเคารพ การทำกิจอะไร ก็ทำด้วยความเคารพ 

คำว่าเคารพนี่หมายถึงการทำเราให้มีสติในการกระทำ ในการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ก่อนที่จะนั่งสมาธิ ท่านให้ทำความเคารพในใจนอบน้อม คุณพระธรรมพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คุณพระศาสนา นี่ ด้วยการพนมมือซะก่อน นึกถึงพระคุณนั้นๆ แล้วก็ตั้งใจให้แน่วแน่ มีสติให้แน่วแน่ แล้วก็ไม่ให้สตินั้นคลาดเคลื่อนไปทางอื่น ไม่ให้สตินั้นเคลื่อนไหว หรือว่าขาดไป ขาดวรรคขาดตอน ให้ติดต่ออยู่ในกิริยาของการทำความเคารพนอบน้อมนั้น ใจก็เริ่มสำรวมเข้า ใจก็เริ่มรวมเข้ามา รวมเข้ามา รวมเข้ามา อาศัยใจของเรามีสติไม่ขาด จึงว่าการทำความเคารพในข้อปฏิบัติในการปฏิบัติธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าไม่มีการทำความเคารพด้วยความจริงใจ ไม่เป็นพิธี การทำความเคารพเป็นพิธี กับการทำความเคารพด้วยจิตด้วยใจ ภายในใจมันต่างกัน ทำของจริง ไม่ใช่ทำเป็นของหลอก ถ้าหากโลกๆอันนั้นทำความเคารพนอบน้อม สวัสดีครับผม สวัสดีครับท่าน แต่ใจมันไม่ยอมสวัสดี อันนั้นโลก 

นอบน้อมมันต้องมาจากจิตจากใจ ใจที่มีความนอบน้อมนั้น ใจเป็นธรรม อย่างอาจารย์ใหญ่มั่นท่านเทศนาไว้ นโม ต้องตั้งขึ้นก่อน นโมตัสสะนี่ นโมต้องตั้งขึ้นก่อน คือตั้งใจให้มีความนอบน้อม มีสติอยู่กับใจที่มีความนอบน้อมนั้นอยู่เสมอ เป็นพื้นฐานของกรรมฐาน เป็นพื้นฐานของคุณธรรมที่จะเกิด ที่จะมีก้าวหน้าขึ้นไป เราจะนั่งสมาธิหรือเราจะเดินจงกรมก็ช่าง ต้องทำความเคารพในการกระทำในข้อปฏิบัติ 

ในอิริยาบถของการปฏิบัติทั้งนั้น เดินจงกรมท่านให้นิยมไปสุดทางเดินจงกรมแล้วก็ยืนสำรวมใจ ประนมมือขึ้นระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ทำความนอบน้อมในใจ แล้วก็ยกมือขึ้นทำความนอบน้อมในกิริยาของการทำความนอบน้อม มีสติทำความนอบน้อมในขณะนั้น แล้วเอามือลง แล้วมีสติในการเดินจงกรมต่อไป เดินจงกรมท่านให้เอามือทั้งสองเอาไว้ข้างหน้า ฝ่ามือขวาทับมือซ้ายเอามาจับไว้ เอาวางไว้ตรงไหนพอดี พอดีกับการที่เรามีความสำรวมในการเดินจงกรมนั้น ทำด้วยความเคารพ ผลของการปฏิบัติ จะปรากฏผลให้เราได้รู้ได้เห็น 

ถ้าหากว่าทำไม่มีความเคารพ ธรรมที่จะเกิดขึ้นให้เราได้รู้ ได้เห็น ได้เจอ ไม่ได้ ส่วนประกอบของการปฏิบัติธรรมที่ต้องครบ ถ้าหากว่าส่วนประกอบไม่ครบนี่ มันก็เหมือนอาหารที่เราปรุงนั้นน่ะ มันรับประทานไม่ได้เรื่อง ลักษณะการเดินจงกรมนี่ บางทีก็แกว่งแขนเดินไปเดินมา เดินไปเดินมา ไม่ได้เรื่อง ถ้าหากว่าส่วนประกอบไม่พอก็ได้แต่เดินเท่านั้นหละ แต่ธรรมที่ต้องการ ให้เกิดให้เป็น ไม่มีโอกาสที่จะเกิดเป็นให้เราได้รู้ได้เห็น ได้สัมผัสด้วยจิตด้วยใจ ไม่มีโอกาส จึงว่าความเคารพจึงมีความสำคัญ ทำความเคารพทุกสถานที่ ทุกกาลทุกเวลา 

ขณะที่ทำความเคารพอยู่นั่นน่ะเป็นข้อปฏิบัติ จิตที่ทำความเคารพอยู่นั่นน่ะเป็นธรรมะแล้ว เป็นศูนย์ของธรรม เป็นฐานที่ตั้ง เป็นพื้นแผ่นดินที่พืชทั้งหลายมีโอกาสที่จะงอกงามขึ้น ถ้าหากว่าไม่ทำความเคารพแล้วเหมือนกับว่าปลูกพืชบนอากาศ ไม่มีที่ดินที่จะรองรับ ปลูกเท่าไหร่ก็ตายเท่านั้น ในที่สุดก็หมดศรัทธาในการที่จะปลูกต่อไป เพราะผลมันไม่ให้ผลให้ซักที จึงให้เข้าใจและพยายามทำความเคารพให้ยิ่ง นับตั้งแต่การกราบการไหว้ กราบไหว้ด้วยความเคารพ ถึงไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีพระพุทธรูป การกราบการไหว้ของเราทำความเคารพในจิตในใจ ใจของเรานั้นเป็นธรรม หรือใจของเราเป็นบุญเป็นกุศลในขณะกราบนั้นทันที 

บุญไม่ต้องไปหา เอาสตางค์ไปซื้อ ทำง่ายๆ เพียงแต่ว่ายกมือพนมขึ้น แล้วก็ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ทำความนอบน้อมในจิตในใจก็ได้เป็นบุญเป็นกุศล มีสติสำรวมใจ ไม่ให้ขาดสติอันนี้ ยิ่งเป็นบุญเป็นกุศลยิ่งขึ้นไป คำว่าศีลๆ ก็คือการทำความสำรวม คำว่าการสมาธิๆ ก็คือความสำรวมนั่นแหละ แต่มีความแนบแน่นๆ มีความแน่วแน่ขึ้นมา ก็กลายเป็นตั้งมั่น กลายเป็นสมาธิขึ้นมา ใจที่สำรวมประกอบด้วยความเคารพนั่นหละ เป็นฐานที่ตั้งของสมาธิ 

ถ้าหากว่าไม่มีความเคารพในจิตในใจ เดินจงกรมก็แกว่งไป แกว่งอะไรต่อมิอะไร ไม่ได้เรื่อง เห็นอยู่นะ ที่พูดนี่ไม่ใช่ไม่เห็นการเดินจงกรมกัน แล้วผลออกมาเป็นยังไง ยิ่งเดินไปก็ยิ่งห่าง คำว่ามรรคผลที่ปรารถนายิ่งห่างยิ่งไกล คำว่ายิ่งห่างยิ่งไกล มันเป็นความรู้สึกของเรา ถ้ามันไม่เห็นนี่ มันรู้สึกว่าจะไม่ไหวแล้ว จะสู้ไม่ไหวแล้ว หมดศรัทธาว่าสู้ไม่ไหว จะไปไม่ไหวแล้ว ก็เพราะความไม่พร้อม ความไม่สมประกอบ ไม่สมดุลย์ในข้อปฏิบัติของเรา ผลก็ออกมาในลักษณะว่าไปไม่ไหวแล้ว นั่น เพราะว่าห่างไกลจากมรรคผลอันนั้นก็ไม่พูด เพราะว่ามรรคผลก็อยู่เรา ธรรมชาติมรรคผลอยู่กับเราอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่เราไม่เห็นเท่านั้น 

ทำไมจึงว่าเราไม่เห็นว่าเราไม่ดู ไปแต่สิ่งเราชอบใจ ไปดูแต่สิ่งที่เราไม่ชอบใจ สิ่งที่ชอบใจอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ บางทีเค้าตายไปแล้ว เราก็ยังคิดถึง สิ่งที่ไม่ชอบใจนี่อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ บางทีเค้าตายไปแล้ว เราก็ยังคิดถึงสิ่งที่เราไม่ชอบใจนั้น ใจของเราไปอยู่อย่างนั้นเสีย ไม่สนใจที่จะดูมรรคดูผล ดูเข้ามาในกายในจิต ในอรรถในธรรม ที่เราทรงไว้สมบูรณ์บริบูรณ์ ในสรีระร่างกายของเราอันนี้ เราไม่ดูกันนี่ นั่งสมาธิไม่ใช่ว่าจะดูนะ ตั้งใจจะดูแพลบเดียวหละมันไปหละ ไปดูสิ่งที่ชอบใจนู้น สิ่งที่ไม่ชอบใจนู้น ไอ้สิ่งที่มีอยู่นี้มันไม่ยอมดู นี่จึงว่ากิเลสมันพยายามปิดหูปิดตา ปิดจนกระทั่งคล้ายๆกับว่า สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เรานี่ มันไม่ให้สนใจ มันไม่ให้มอง มองแต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เขา และสิ่งนั้นเป็นฟืนเป็นไฟแก่เราทั้งนั้น มันให้ไปมองอย่างนั้น 

จึงว่าการปฏิบัติธรรม จึงว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมีความจำเป็นแก่โลกอย่างยิ่งทุกๆสมัย ถ้าหากว่าใครยุคใดสมัยใดไม่เห็นคำสอนของพระพุทธเจ้าและเอามาปฏิบัติ ยุคนั้นสมัยนั้นคนมันอันตรายทั้งนั้น หาความร่มเย็นผาสุกไม่ได้ มีแต่ฟืนแต่ไฟ กิเลสมันจะเมตตายังไง ตรงไหนที่จะเดือดร้อน ตรงไหนที่จะวุ่นวาย นี่ มันจูงไปตรงนั้น 

เมื่อกี๊ก็สวดกันอยู่ รูปํ อนตฺตา ปัญจวัคคีย์ฟังอนัตตลักขณสูตร ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าเทศนาอะไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา เป็นของไม่เที่ยง เที่ยงหรือไม่เที่ยงๆ ในที่สุดหาของเที่ยงไม่ได้ทั้งกายทั้งจิต ในที่สุดหาของเป็นตัวเป็นตน เป็นเราไม่ได้ทั้งกายและใจ มันก็ปล่อยไปตามธรรมชาติเค้านั่น เห็นเป็นยังไงก็ปล่อยวางไปตามนั้น ใจมันก็ถอนมา เด่นขึ้นมา เป็นพุทโธ เป็นธัมโม เป็นสังโฆ มันปล่อยวางไป 

ถ้าหากว่าไม่เห็นชัด จะปล่อยวาง มันไม่ปล่อยวางหรอก มันเห็นซะก่อน มันจึงเบื่อ ถ้าหากว่ายังไม่เห็นนี่ มันไม่เบื่อหรอก อยากจะให้เชื่อมั่นลงไป มรรคผลมีอยู่ในเรา ขุดคุ้ยทุกซอกทุกมุมในสิ่งที่เราว่าเป็นเรา เป็นเรานี่หละ ถ้าหากว่าขุดค้นขุดคุ้ยแจ่มแจ้งความจริงของสิ่งที่คำว่าเป็นเราๆนี่ แจ่มแจ้งขึ้นมาขณะใด ปล่อยวางลงไปในขณะนั้น คำว่ามรรคผลอันนั้นปรากฏให้เราได้รู้ได้เห็น ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา จึงให้พากันขุดค้น ขุดคุ้ย ขุดค้น วิตกวิจาร วิจารวิจัย ทุกแง่ทุกมุม ทุกชิ้นทุกส่วน เชื่อมั่นว่าอยู่ในนี้จริงๆ 

อย่าไปฟังความของตัวกิเลสมันมีแต่ที่จะสร้างความลังเลสงสัยให้ เดี๋ยวมันก็บอกว่าอย่างนั้นดี อย่างนั้นดี เดี๋ยวก็บอกว่าอย่างนั้นเป็นทางตรง ไปก็ไป  ไปก็ไป ไปตามที่มันบอกก็ปลายเป็นทางตัน อันนี้ไม่มีตัน มั่นคงแน่วแน่อยู่ในจิตจนในจุดนี้ ในทางเส้นนี้ไม่มีตัน ทางเส้นนี้ไม่ใช่ทางตัน เป็นทางทะลุปรุโปร่งถึงที่สุดจุดหมายปลายทางได้อย่างราบรื่นทีเดียว ถ้าหากว่าไม่ไปทางนี้นั่นน่ะ มันบอกว่าเป็นทางตรง เป็นทางตรงซะขนาดไหนก็ช่าง ก็คือทางตัน ไปแล้วมันตัน ไม่มีทางไปหรอก 

จึงให้ตั้งธรรมที่มีอยู่ในเรานี้เป็นเป้าหมาย นั่งอยู่ก็อันนี้เป็นเป้า เดินอยู่ก็ใจก็อยู่กับเป้า อยู่ในอิริยาบถใด นอนอยู่ก็เอาใจอยู่กับเป้า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันไม่เห็นไม่ยอม อัฐิกระดูกทั้งหลาย อัฐิ เยื่อในกระดูกนี่ ไม่เห็นไม่ยอม ก็มันอยู่ตรงนี้จริงๆ มันอยู่ตรงนี้จริงๆนี่ มันยึดจริงๆนี่ มันว่าเป็นเราจริงๆนี่ เป็นคนจริงๆนี่ เป็นหญิงเป็นชาย เราพอใจเราไม่พอใจ อันนี้จริงๆนี่ เรารักชังอันนี้จริงๆนี่ แล้วเราจะไปฟังความกิเลส มันดึงไปให้หันหลังใส่ของจริงอันนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง 

พระพุทธเจ้าท่านเทศนาของจริงมีอยู่ในนี้ พระอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ชาติ ความเกิดนี่ ตั้งแต่ศีรษะลงไปหาเท้านี่ชาติความเกิดทั้งนั้น แล้วจะว่าเราไม่ใช่ธรรมได้ยังไง ชราความแก่ อันนี้มันแก่อยู่ทุกวัน แก่ทุกวัน แก่ทุกวัน แก่ทุกวัน แก่ทุกวัน วันไหนไม่แก่ไม่มี แล้วเราจะว่าเราไม่เป็นอริยสัจได้อย่างไร เพราะนั้นมันคือความตาย มันตายทุกวันอยู่เนี่ย แล้วจะว่าไม่เป็นอริยสัจได้ยังไง จึงว่าจะน้อมไปเป็นอริยสัจ หรือจะน้อมลงไปเป็นมหาสติปัฏฐาน น้อมไปในไหนก็ช่างเถอะ มันก็คือตัวของเราทั้งนั้น ตัวของเราก็คือกายและใจ รูปธรรมนามธรรมมีอยู่ทั้งนั้น อันนี้หละเป็นทางตรง 

คำว่าทางตรงอันนี้มีแต่ที่จะทะลุปรุโปร่ง ไม่ใช่ทางตรงอย่างที่กิเลสมันโกหก หรือคนมีกิเลสเอามาอุปโลกน์กันขึ้น มาหลอกกันตำตาว่ามันตรง มันตรง มันตรง มันหลอกไปตาย ทางตรงอันนี้เป็นทางที่ไม่ตาย พระพุทธเจ้าไปทางนี้จริงๆ คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ที่สอนทั้งหมดไม่พ้นจากอันนี้ ทุกครั้งที่พระพุทธเจ้าประกาศธรรมเทศนา คนได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าประกาศอริยสัจธรรม อริยสัจธรรมคืออะไร ชาติความเกิด ชราความแก่ มรณะความตาย ทุกขสัจ กามตัณหา ภวตัณา วิภวตัณหา สมุทัยสัจ 

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาเป็นเรื่องของใจ มันเคลื่อนไหวทั้งหมด มันเคลื่อนไหวทั้งหมด มันเคลื่อนไหวไปสามอย่างนี้ ความเคลื่อนไหวอันนั้นเป็นกิริยา ความเคลื่อนไหวเป็นการเกิด มันเกิดเท่าไรมันดับเท่านั้นๆ จะเคลื่อนไหว จะเกิดไปในทางกาม จะเกิดในทางที่ชอบใจไม่ชอบใจอะไรก็ช่าง มันเกิดตรงไหนมันดับตรงนั้น นี่ มันซ้ำๆซากๆอย่างนี้แหละ 

ท่านจึงว่า นิพพิทา ความเบื่อ มันไม่แล้วเป็น แล้วมันอยู่ที่ไหนหละเดี๋ยวนี้ มันอยู่ในหนังสือเหรอ มันอยู่ในคัมภีร์เหรอ กามตัณหามันอยู่ในคัมภีร์มั้ย กามตัณหามันเกิด ภวตัณหามันเกิด วิภวตัณหามันเกิด มันเกิดตรงไหน จี้ลงไปตรงนั้น จี้ลงไปในนั้นน่ะ สติจี้ลงไป จี้ลงไปอยู่อย่างนั้น แล้วมันกระดิกได้เหรอ จี้ลงไปมันก็ดับทันที จี้ลงไปมันก็ดับทันที จี้ลงไปมันก็ดับทันที จึงว่าสติธรรม เข้าใจมั้ยหละ ศีลก็สติ สมาธิก็สติ ปัญญาก็สติ ไม่มีสติแล้ว คำว่าศีลไม่มี สมาธิปัญญาไม่ต้องพูดถึง สติมันก็เป็นสติปัญญาของโจรผู้ร้ายไป จะมีสติมากมายขนาดไหนเพียงไรก็ช่างเถอะ มันชอบตายเพราะความฉลาดของเจ้าของ เราๆก็เหมือนกัน 

อย่าไปอวดฉลาดมากนัก ไม่ต้องไปฉลาดอะไรหรอก รู้แต่เพียงสิ่งที่เรามีก็พอแล้ว เรามีอะไรอยู่เดี๋ยวนี้ ลมหายใจเรามีอยู่ ดูให้มันชัด กายเรามีอยู่ ดูให้มันชัด ดิน น้ำ ลม ไฟ เรามีอยู่ ดูให้มันชัด ให้มันเห็นเป็นดิน น้ำ เป็นลม เป็นไฟไปจริงๆ พระพุทธเจ้าเห็นมาแล้วรู้มาแล้ว เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เราได้ยินอย่างนั้น เราเชื่ออย่างนั้น แต่มันความเชื่อของเรานี่มันเหมือนกับใบไม้ถูกลมนี่ พลิกไปพลิกมา พลิกไปพลิกมา ความเชื่อมันต้องแน่นหนามั่นคง จริงอย่างนี้จริงๆ แล้วมันจะพลิกไปพลิกมา เป็นหน้ามือหลังมือไม่ได้ เหมือนกับใบไม้ พลิกไปพลิกมาไม่ได้ มันจะพลิกไปยังไง มันจริงอย่างนี้นี่  

นักสู้ถ้าหากว่าไม่มีความเข้มแข็งจริงจังในการที่สู้หละ ไม่มีทางหรอก มีแต่ตายลูกเดียว นักสู้มันต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ และรวดเร็วว่องไวจริงๆ ปลอดภัย ภัยอันตรายไม่มี จึงอยากให้พากันตื่นตัว อย่าไปแหวกแนว อย่าไปปลีกจากเส้นทางที่พระพุทธเจ้า พระสาวกเจ้าท่านเดินกันไป อย่าไปปลีกออกจากเส้นทาง กิเลสมันพยายามที่จะดึงออกอยู่เสมอ ดึงเรื่องอันนั้นๆ ดึงอะไรต่อมิอะไร ให้เราขาดสติ ขาดสตินั่นน่ะ หลุดจากเส้นทางทีเดียว พ้นเส้นทางแล้ว 

เห็นผม เค้าว่าผมเป็นคนเป็นเรา เป็นคนเป็นสัตว์อย่างนี้ ใจมันจะปล่อยวางไปทันที เห็นขนเห็นเล็บ อะไรก็ช่าง เห็นชัดตามความเป็นจริง จะปล่อยวางทันที ปล่อยวางความยึดถือว่าเป็นของเรา ความยึดถือว่าเป็นของเราจะขาดไปทันที ในขณะที่เราเห็นคำว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ในอาการ ๓๒ ในสรีระร่างกายทั้งหมดนี้ ดิน น้ำ ลม ไฟนี่ เราเห็นชัดส่วนใดส่วนหนึ่ง ปล่อยวางได้ทิ้งอย่างสนิทใจ ทั้งหมดแล้วไปเลย ไม่ต้องไปละอันนี้แล้วไปพิจารณาอันนั้นเพื่อให้ละอีก ไม่มี เพราะมันของเกิดของตายอันเดียวกัน อันดิน น้ำ ลม ไฟ กองเดียวกันนั้นเอง มันของเกิดของตาย จะสมมุติว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ก็ของเกิด ของตาย 

เห็นชัดส่วนใดส่วนหนึ่ง เห็นชัดธาตุใดธาตุหนึ่ง ธาตุอื่นๆก็ชัดไปด้วย เหมือนกะต้นไม้อย่างเนี้ย มันมีเปลือก มันก็ยังมีอากาศอยู่ในนั้น ก็ยังมีน้ำอยู่ในนั้น ยังมีทุกอย่างโค่นลงไปแล้วนี่ ไม่จำเป็นว่า เออ เราตัดดินแล้วจะต้องไปตัดอากาศ จะต้องไปตัดน้ำ กิ่งก้านสาขามันลงไปหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน เห็นส่วนใดส่วนหนึ่งน่ะ ส่วนดิน น้ำ ลม ไฟ ก็วางไว้ในขันธ์ เหมือนกับโค่นต้นไม้อย่างนี้ โค่นต้นไม้ไปแล้ว ไม่ต้องไปโค่นใบมัน โค่นกิ่งมัน มันความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ให้หมดความลูบคลำลังเลสงสัย 

คำว่า สีลพตๆ (สีลพตปรามาส) ลูบคลำ อย่าให้มันมี จะไปลูบคลำทำไม จับมันตัวมันเด่ๆอยู่ ไปลูบคลำมันได้ประโยชน์อะไร ตัวก็ตัวจิต ตัวก็ตัวสติ จับกันอยู่อย่างนี้ อยากไปลูบคลำตรงโน้น อยากไปลูบคลำตรงนี้ จะไปลูบคลำต่อมิอะไร ไม่ต้องไปกลัวที่จะไม่มีความฉลาด มีสติปัญญา ไม่รู้กว้างขวาง ไม่ต้องไปกลัว ขออย่างเดียว ให้มันชัดลงไปในกายในจิตของเรานี่ หาประมาณไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขณะเดียว รู้แจ้งโลก รู้ได้ยังไง ถ้าหากว่าไปเที่ยวตามรู้ ขณะเดียวจะไปรู้แจ้งโลกได้เหรอ จึงอย่าพากันลูบคลำลังเลสงสัย ธรรมที่เรามีอยู่ในทั้งกายทั้งใจอันนี้เป็นศูนย์ที่ตั้งของมรรคผลนิพพานอย่างสมบูรณ์ทีเดียว ทำให้แจ้งในที่นี้ขณะใด มรรคผลนิพพานก็แจ้งขึ้นมาในขณะนั้น อย่าพากันลังเลสงสัย อย่าพากันลูบคลำ 

ชีวิตอันนี้ไม่นานดอก ไม่หายใจแล้วก็ตาย ใช้สิ่งที่ไม่ได้นอนแล้ว ไม่หายใจก็ตายอันนี้แหละ เอามาเป็นประโยชน์ อย่าไปฟังกิเลสมัน มันชักชวน มันดึงแข้งดึงขา ไปทางโน้นเถอะ ปทางโน้นเถอะ กลับไปบ้านเถอะ อย่าไปบ้านะ เห็นใครบ้าง อยู่กับบ้านน่ะ มันได้มรรคได้ผลตรงไหน พระพุทธเจ้าสมบูรณ์ทุกอย่าง สิ่งนั้นๆไม่สามารถที่จะโขกพระพุทธเจ้าได้ 

อย่างนางมาคันทิยา สวยงามมาก จนกระทั่งมองไม่เห็นว่าใครจะคู่ควร พ่อนางที่สวยงามมากนั่นน่ะ ไปเห็นพระพุทธเจ้า โอ๋ เหมาะสมจริงๆ สมกันจริงๆ เจอแล้วลูกเขยเรา พระพุทธเจ้าท่านมอง ก็พูดตรงๆน่ะหละ จะเอาเป็นลูกเขย หมายความว่าอย่างนั้น ลูกสาวของเรานี่ยอดเยี่ยม ไม่มีใครที่จะคู่ควร พระพุทธเจ้าท่าน ท่านว่ายังไง ท่านใช้คำพูดเปรียบ เหมือนกับมูตรคูถนั่นแหละ เอาตีนไปถูกยังสะอิดสะเอียน เอาตีนไปแตะก็ยังไม่อยากจะแตะเพราะมันสกปรก นี่พระพุทธเจ้าท่านเทศนา ทรงตรัส มาคันทิยาพราหมณ์ รู้แจ้งทีเดียวน่ะ โอ้ เป็นของปฏิกูลจริงๆ เป็นของสกปรกจริงๆ มาคันทิยาพราหมณ์ปล่อยวางสักกายทิฐิในขณะนั้น ในขณะนั้นทำไมจึงปล่อยวางได้ เพราะจะไปยึดยังไง ยึดของปฏิกูลนั่นน่ะ ยึดมานานแล้ว พระพุทธเจ้าชี้ไปแพลบเดียวนั่นน่ะ เห็นจริงใจก็ถอนออกจากความยึดถือ มาคันทิยาพราหมณ์นั่นฟังเทศน์ง่ายๆ ฟังเทศน์สั้นๆ แต่พระพุทธเจ้าเน้นเทศน์จุดที่มันจะถูกจริตนิสัยของคนที่ยึดถืออันนี้ว่าเป็นของสวยของงามนั่นน่ะ เอาของปฏิกูลฟาดหัวมัน มันได้ผล 

ส่วนลูกสาวนี่โกรธมากๆทีเดียว นั่น พระพุทธเจ้าไม่สน สนแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น อันนั้นเป็นกรรมของสัตว์ พระพุทธเจ้าตรัสอันนี้เป็นความจริงนี่ ใครจะไปเป็นประโยชน์กับเรื่องของเขาได้ ใครจะเสียหายก็เรื่องของเขาต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสพระสัทธรรมนี่ เอาความจริงไปตรัสเสียหายตรงไหน ไม่ใช่พระพุทธเจ้าทำให้นางมาคันทิยาเสียหาย นางมาคันทิยาเสียหายเพราะการกระทำของเจ้าของต่างหาก เพราะความคิดของเจ้าของต่างหาก ความพยาบาทของเจ้าของต่างหาก 

ออกทางตาก็เป็นขี้ ออกทางหูก็เป็นขี้ ออกทางทวารหนักก็เป็นขี้ ออกทางทวารเบาก็สารพัด ล้างกันอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน ออกตามาสรีระร่างกาย ขี้เหงื่อขี้ไคล กลิ่นก็ไม่ใช่ของเล่น ของจริงมันเปิดเผยขนาดนี้ก็ยังจะหลับหูหลับตา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปิดบัง ใจของเราให้อยู่กับของจริงอันนี้ ใจของเราให้อยู่กับของจริงอย่างนี้ ใจของเราไม่อยู่กับมรรคกับผล ไปอยู่กับเรื่องกิเลส ใจของเราอยู่กับมรรคกับผลนี่ มันก็ต้องเจอมรรคผล ไปอยู่กับกิเลสก็เจอกับกิเลสเท่านั้นน่ะ ยํ เว เสวติ ตาทิโส คบบุคคลใด เป็นบุคคลเช่นนั้น คบธรรม ใจก็เป็นธรรม คบกิเลส ใจก็เป็นกิเลส 

จึงพากันตั้งอกตั้งใจ จริงจังมุ่งมั่นแน่วแน่ลงไป ในเส้นทางที่พระพุทธเจ้า พระสาวกเดินไปแล้ว เอกายโน อยํ มคฺโค หนทางอันเอกคือกายและจิต ให้อยู่ที่นี้ ให้อยู่ที่นี้ ให้อยู่ที่นี้ ให้อยู่ที่นี้ ไม่ให้ไปไหน ความคิด มันคิดออกนอกลู่นอกทาง กำหนดจิตเพ่งลงไปจุดที่มันคิดมันปรุงมันแต่งนั้น ไม่ให้มันขยับตัวนี่ ในเมื่อมันไม่ขยับแล้วมันดับไปหมด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีการเป็นกิริยาซะก่อน มีการเคลื่อนไหวซะก่อน มันจึงเป็นตัวเป็นตน ท่านจึงว่าเป็นสังขาร อวิชชา วิญญาณ สังขารา เป็นสังขารซะก่อนจึงเป็นรูปเป็นร่าง เป็นอายตนะขึ้นมา เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เป็นลักษณะขึ้นมา 

สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม รวมกันนี่อยู่ในจิตของเรา เพ่งลงไปในจิตนั้น ประกอบด้วยสติปัญญา ส่องมันดู ปัญญาส่องมันดู ไม่ให้มันขยับ เราไม่ขยับแล้วอะไรจะขยับอย่างเนี้ย จิตของเราไม่ขยับแล้วอะไรจะขยับ ที่มันขยับอยู่ไม่อยู่เพราะจิตของเราไม่มีธรรม ไม่มีสติอย่างเนี้ย ขยับไปอย่างไม่มีสติเนี่ย มันก็เรื่องของกิเลสทั้งนั้น ไม่ต้องไปกลัวไม่มีปัญญา ไม่ต้องปรารถนาเอาปัญญา แก้กิเลสของเจ้าของได้ก็ให้พอใจแล้ว มีแต่ปัญญาๆน่ะ กิเลสของเจ้าของหละ เผาเจ้าของอยู่ ปัญญามหาโจร อ้ะ เลิกกัน