หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
เอกายโน อยังมัคโค สัตตานัง วิสุทธิยาติ วันนี้ก็อุบาสกอุบาสิกาได้มาประชุมสันนิบาตกันในสถานที่นี้ ก็ได้ถือธุดงควัตรคือการปฏิบัติทำเนสัชชิก และก็ได้พากันรักษาทั้งอุโบสถศีลและศีล ๕ เหล่านี้ก็นับว่าเป็นสิ่งที่…การปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระองค์ทรงแสดงให้อุบาสกอุบาสิกามีศีล ๕ ศีล ๘ เหล่านี้ พวกโยมบางคนก็ไม่ค่อยได้คิด ไม่ค่อยได้พินิจพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์แก่ชีวิตเท่าไหร่ เราก็จำเป็นจะต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาพินิจพิจารณาใคร่ครวญ เพราะคนเราถ้ามานึกถึงชีวิต ความจริงใจเข้าไปในชีวิตแล้ว เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีความตายเป็นที่สุดตัวนั้น
ชีวิตเรามัวแต่ความวุ่นวาย หาอยู่หากิน หาเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เลี้ยงครอบ เลี้ยงครัว อยู่ทุกวันทุกคืนไม่มีเวลาหยุด เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีความฉลาดเฉลียว จึงบอกว่าเวลาวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ๑๕ ค่ำให้พวกเธอทั้งหลายจงละกิจการทั้งหลาย เข้าไปประพฤติปฏิบัติธรรม รักษาศีล ๕ ก็ดี ประพฤติอุโบสถศีลก็ดี นี่ ให้ไปประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้ระงับความวุ่นวายกระสับกระส่ายของหัวใจ เป็นเวลาตั้งอาทิตย์อยู่ ไม่มีเวลาหยุดหย่อน เหมือนอย่างกองไฟที่เผาไหม้อยู่ในป่าใดป่าหนึ่งอย่างนี้ ก็ไหม้เป็นจุลลงไป เพราะฉะนั้นเหมือนอย่างเราเข้าไปรักษาศีล ๘ วันหนึ่งทีหรือ ๗วันหนึ่งทีอย่างนี้ ก็เท่ากันกับเอาน้ำนั้นเข้าไปพรมไฟให้มันดับลงไป นี่ ถ้าจะเปรียบเทียบก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะต้องหาโอกาสจะพักมั่ง พักแล้วก็ได้พักทั้งกาย แล้วก็ได้พักทั้งจิตทั้งใจ นี่ เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้แต่ศีล ๕ ก็เป็นประโยชน์ ศีล ๘ ก็เป็นประโยชน์ ตลอดจนถึง ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ บุคคลผู้มีศีลเหล่านี้ ย่อมยังโลกให้เจริญ เพราะอะไร แต่คนที่มีหัวใจเป็นยักษ์เป็นมารเป็นเปรตเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ตัวนั้นเป็นมนุษย์ แต่ใจนั้นเป็นสัตว์ เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างนี้ พวกเหล่านี้มีแต่ทำให้โลกทั้งหลายเดือดร้อนวุ่นวาย นี่ เป็นอย่างนี้ แต่ส่วนผู้ที่มีศีล ๕ มีศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มีแต่ทำให้ความสงบ ความร่าเริงเกิดขึ้นกับบรรดาพวกที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ไม่มีทำความกระทบเดือดร้อนวุ่นวายให้กับสิ่งเหล่านี้เลย นี่ เราดูในเรื่องพุทธศาสนาแล้ว ย่อมเป็นไปเช่นนั้น แต่โลกบางคนไม่สามารถที่จะมองให้สิ่งเหล่านี้ ดูไปว่ามีคุณมีค่าประโยชน์กับชีวิตอย่างไร เพราะเอาแต่หัวใจที่เป็นฟืนเป็นไฟ เป็นเปรตเป็นยักษ์เป็นอสูรกายเหล่านั้นเข้ามาเผาผลาญหัวใจของตัวอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นอย่างนั้น
ถ้ามองลงไปให้ละเอียด อย่างญาติโยมที่มาทำความสงบอย่างนี้ ถึงจะรู้จักชีวิตที่แท้จริง แท้จริงแล้ว เรามากำหนด อย่างเราในขณะที่เราภาวนาอยู่อย่างนี้ เรากำหนดถึงความตายอย่างนี้ จนให้หัวใจมันหยุดจากนิวรณ์ทั้งหมดออกไปจากใจเรา จนนิวรณ์อดีตอนาคตมีปัจจุบันอย่างหลวงปู่เหรียญท่านเทศน์ ให้มีผู้รู้อยู่ตัวเดียวอย่างนั้น แล้วมองลงไปให้ละเอียด มองตั้งแต่เบื้องต้น คือตั้งแต่ศีรษะถึงปลายตีน มองจากปลายตีนขึ้นมาแขนขวา จากแขนขวาไปแขนซ้าย มองไปทางหน้า มองไปทางหลัง มองสั้นมองยาว แล้วมีอะไรที่เป็นสาระแก่ชีวิต แม้แต่ร่างสังขารร่างกายของเรานี้ เอาหมูเอาเป็ดเอาไก่ อาหารอันใดที่ดีเอามาเลี้ยงมาทำนุบำรุงเท่าไหร่ เธอจงให้เป็นไปอย่างนั้น สวยสดงดงามอยู่ตลอดเวลา แต่หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ นี่ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แปรปรวนยักย้ายถ่ายเท แล้วก็แตกดับทำลายไป
นี่แหละเพราะฉะนั้นจึงว่า ผู้ที่ได้เข้ามาฝึกหัดอบรมธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้า เมื่อทำใจให้สงบแล้วก็จำเป็นจะต้องน้อมสิ่ง… สิ่งเรื่องที่เป็นโลก สิ่งที่เราหลงโลก เราเพลินโลกเหล่านั้นเอามาพินิจพิจารณา เพราะสิ่งอันใดเป็นสาระ สิ่งอันใดที่ไม่เป็นสาระกับชีวิต แล้วก็มาดูจิตดูใจในขณะที่เราภาวนาที่เกิดความสงบ มากองดูในขณะที่ไม่เกิดความสงบ มีความต่างเปลี่ยนกันอย่างไรบ้าง นี่ ตัวนี้ ผู้ที่ทำความสงบก็จำเป็นต้องรู้ตัว ว่าความสงบความไม่สงบต่างกันอย่างไร แล้วจิตใจเป็นไปอย่างไร นี่ เนี่ยต้องคิดให้พิจารณาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามาพิจารณาอย่างนี้แล้ว โอกาสที่จะวางโลก วางสงสาร ความมัวความเมาในรูปในเสียงในกลิ่นในรสสัมผัส มันก็เบาลง เบาลงก็จะหามีเวลาที่จะปลีกตัวเข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมะ ให้เป็นประโยชน์ไปในสัมปรายภพ คือภพปลายหน้า เหมือนอย่างผู้ที่จะไป เรายังอยู่เมืองนนท์ เราก็จำเป็นจะต้องมีเงินมีทองจะไปซื้อข้าวซื้อของ ก็จำเป็นจะต้องมีเงินมีทองไปกรุงเทพฯ ถ้าเราไม่มีเงินมีทองไปก็ซื้อของไม่ได้ เหมือนอย่างที่เราจะตาย อย่างนี้เป็นต้น ก็ต้องมีคุณธรรมความดีไว้เพื่อสำหรับที่จะเป็นเสบียงไปในวันข้างหน้า นี่แหละ เนี่ยประโยชน์ตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่บางคนไม่ค่อยได้คิด เพราะฉะนั้นก็มาเห็นพวกญาติโยมมาอุตสาหะพากเพียรพยายามนี่แล้ว อาตมาก็รู้สึกปลื้มใจปีติ น่าอนุโมทนา ในสถานที่บางแห่งก็หาคนจะมากอย่างนี้ก็ยาก เพราะฉะนั้นวันนี้ก็จะแสดงธรรมย่อๆ ให้พอเป็นคตินำไปพินิจพิจารณา
อาตาปิ หมายความว่า เมื่อเราบำเพ็ญใจสงบแล้ว ใจตั้งมั่น ใจปราศจากนิวรณ์ มีใจที่รู้อยู่อันเดียว อันนั้น ท่านจัดว่าเป็นวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนากับตัวปัญญามันก็คืออันเดียวกัน เพราะฉะนั้นลักษณะเช่นนั้นเรียกว่าเรามีกำลัง เมื่อเรามีกำลัง จำเป็นจะต้องค้นคว้าพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ ตัวนั้นเป็นหลักสำคัญ ไม่ใช่จะยืนตัวมองอยู่อย่างนั้นท่าเดียว ยืนมองตัวอย่างนั้นได้เหมือนกันแต่ว่างานตัวนั้นต้องเสร็จแล้ว ก่อนที่งานตัวนั้นยังไม่เสร็จ จำเป็นจะต้องพิจารณา พิจารณาไปกายเพ่งลงไป ร่างกายเรามีอะไร มีกระดูกมีแข้งมีขามีมือมีตีน นึกพินิจพิจารณาไปอย่างนั้น นึกส่วนนั้นไปตลอด ลงไปตั้งแต่ผมขนเล็บฟันหนังถึงปลายตีนเบื้องขวาเบื้องซ้าย นึกไปอยู่ตลอดเวลา แต่ลักษณะของปัญญาถ้านึกเช่นนั้น อารมณ์อดีตอนาคตดับ ลักษณะของปัญญาอย่างนั้นจะนึกไปในสิ่งใด พุ่งไปในสิ่งนั้นอันเดียว ไม่มีสิ่งอื่นมาเกี่ยวเกาะ นี่ท่านจึงเรียกว่าลักษณะของปัญญา ไม่ส่ายไปอดีต ไม่ส่ายไปอนาคต ไม่หยิบตัวนั้นเข้ามาปรุง อันนี้มาปรุง ปรุงเฉพาะเรื่องที่เราคิดตัวนั้นตัวเดียว นี่ลักษณะของปัญญาจะต้องพิจารณาอย่างนั้น
เมื่อจิตได้เดินได้อย่างนั้นเต็มที่แล้ว เราอย่าหยุด พิจารณาให้พอ พิจารณาถอยเข้าถอยลง เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าให้มีอนุโลมปฏิโลม ถอยเข้าถอยออก นี่ ต้องพิจารณาอย่างนั้น พิจารณามากเท่าไหร่ เมื่องานตัวนั้นมากเท่าไร ใจตัวนั้นยิ่งสงบ อดีตอนาคตไม่เข้ามาแทรกแซงใจในขณะพินิจพิจารณาเลย นั่น ใจยิ่งมีกำลัง ท่านถึงพูดอันหนึ่งว่า ภาวิโต พาหุลีกโต เจริญให้มาก ทำให้มาก อภิญญายะ จะเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง สัมโพทายะ จะเป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง นิพพานายะ สังวัตตะติ เมื่อพินิจพิจารณาลงเต็มที่ลงไปอย่างนั้น จนไม่มีอารมณ์อดีตอนาคต มีปัจจุบันตัวเดียว พิจารณาค้นคว้าอยู่อย่างนั้น เมื่อสภาวะเต็มที่ลงไปแล้วใจตัวนั้นก็ต้องขาด เมื่อถึงสภาวะความเป็นจริงของจิต ในขณะที่พินิจพิจารณาอย่างนั้นตัวนั้นขาดลงไป ความคิดตัวนั้นหยุด โดยหยุดบางทีก็หยุดโดยที่เรากำลังพิจารณาอยู่ก็ดับขึ้นทันทีอย่างนั้น
เมื่อดับไปทันทีอย่างนั้นก็เห็นสภาวะความเป็นจริงของใจในขณะที่คิดกับในขณะที่ไม่คิด นี่เราพูดภาษาเรา ถ้าพูดภาษาท่านก็เรียกว่า ภาษาของปัญญาที่คิด แล้วมาหยุดคิด ใจตัวนั้นวางจากความคิดเป็นอย่างไร นี่ มันต่างกัน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติความหลุดพ้นก็ต้องอาศัยเหตุคือปัญญา เป็นตัวค้นคว้าพินิจพิจารณา เมื่อค้นคว้าพินิจพิจารณาเสร็จแล้วก็ต้องวาง ขาดไปจากกันไม่ได้อยู่อันเดียวกัน ต่างกันอย่างนี้ ผิดกัน พระจันทร์กับเมฆหมอกอาทิตย์ เวลามีเมฆหมอกเราก็มองไม่เห็นพระจันทร์ เมื่อพระจันทร์เด่น เมฆหมอกหมดไปแล้วก็เหลือแต่พระอาทิตย์ใสแจ๋วอย่างนั้น ใครจะว่าอะไร นั่น ท่านเรียกว่าวิสุทธิธรรม ความบริสุทธิ์หมดจดของใจที่ได้พินิจพิจารณาลงไปเต็มที่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นการทำใจก็จำเป็นที่สุด
เมื่อใจสงบแล้วจะไปอยู่อย่างนั้นไม่ได้ ลักษณะอยู่อย่างนั้นเป็นลักษณะที่เป็นสมาธิ ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา แม้จะกำหนดรู้อยู่ตลอดเวลาก็จริง แต่ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา เป็นลักษณะที่หยุด ไม่ใช่ลักษณะของทำงานนี่ พวกโยมให้เข้าใจ แต่สิ่งเหล่านี้ฟังยาก พูดก็ยาก เข้าใจยาก ผู้ที่ปฏิบัติถ้ามีลูกไม้เกิดขึ้นเอง ถ้าจะทำให้เป็นขึ้นเองอย่างนี้ถึงจะรู้ เพราะฉะนั้นจึงว่าการปฏิบัติศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อบุคคลใดประพฤติปฏิบัติให้ถึงจุด ให้รู้จักความจริงเกิดขึ้นแล้ว ถึงจะรู้ความจริง แบบแผนตำรับตำรามีมากมาย เหมือนอย่างพวกโยม ถ้าเปรียบลักษณะของปัญญาเหมือนอย่างพวกโยมทำขนมจีน ก็ต้องมีลงเรี่ยวลงแรง ทั้งต้มทั้งขยี้ เวลานั่นก็ต้องมาเข้ากระโหลก โรยให้เป็นเส้นออกมา นั่น ลักษณะของปัญญา ต้องทำงานอย่างนั้น ไม่ใช่หยุด ไม่ใช่หยุดแล้ว ขนมแช่ลงไปแล้วมันจะเป็นก้อนขึ้นมา แล้วจะเอามาทานมันก็ไม่ใช่ขนมจีน นี่ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องขยี้ ต้องปรุงน้ำพกน้ำพริก สารพัดต้องเหนื่อย เหงื่อแตก เหงื่อแตก นั่น
เหมือนการค้นคว้าพินิจพิจารณาก็เหมือนกัน ต้องค้นอยู่อย่างนั้น เมื่อกำหนดไปทีนึงไม่ได้ มีอารมณ์มาส่ายเข้ามา เอาเข้าไปอีกใหม่ เอ้า ส่ายเข้ามาก็ต้องเข้าไปใหม่ เนี่ย เป็นอย่างนั้น เพราะจิตมันต้องสู้กันเต็มที่ เมื่อเราสู้ชนะ ใจมุ่งไปที่ใด มุ่งไปที่ผม อ้ะ มุ่งไปอีกที่สอง ตา หู จมูก ลิ้น ฟัน ไปแล้ว ไปในทั่วร่างกาย นี่ อย่างนี้เรียกว่าสะดวกไม่มีสิ่งที่มาตัด พอนึกถึงลิ้น นึกขึ้นไปฟ้าลงไปทะเล อย่างนี้ใช้ไม่ได้ นั่น ไม่เป็นสัมมาวายาโม เพียรไม่ชอบ มันมีอารมณ์เข้ามาตัด สติขาด นี่ เพราะฉะนั้นต้องให้พร้อม เมื่อพร้อมอย่างนั้นแล้ว ก็เร่ง เร่งเอาให้มากๆ เมื่อมากเข้าได้เท่าไหร่ เมื่อพิจารณามากเท่าไหร่ เราพิจารณาชั่วโมง ความสงบบางทีเกิด สงบจนกระทั่งไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ๒ ๓ ชั่วโมงก็ได้ พูดถึงทางธรรมะมานะ หลวงตาได้ยินครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง บางทีอยู่ตั้ง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง หรือ ๒ วัน ๓ วัน นะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องอุตส่าห์ อย่างครูบาอาจารย์อย่างนี้ ครูอาจารย์หลวงปู่ขาวท่านคุยๆให้ฟัง ก็จำๆท่านมา เพราะฉะนั้นญาติโยมก็ต้องอุตส่าห์
สิ่งในโลกมันไม่มีอะไรเป็นสาระแต่เราติดเข้าแล้ว มันก็ต้องดีดออกมายาก นี่แหละ เพราะฉะนั้นจึงว่าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ให้ความจริง ท่านจึงว่า ปัจจตัง เป็นของรู้เฉพาะตน เราไม่กระทำเราก็ไม่รู้ ถ้าเรากระทำแล้วใจสงบหรือใจไม่สงบเราก็รู้ เมื่อใจมันสงบแล้วเราก็ต้องรู้ของเรา เมื่อเราสงบแล้วเราเข้าไปพิจารณาอันใดหละ พิจารณาร่างกายว่าร่างกายนี้ก็ต้องแตกก็ต้องดับก็ต้องทำลาย ก็เกิดปีติ ใจนั้นน้อมเข้าไปมันก็เกิดความเบื่อหน่าย ตายจริงๆ น้ำหูน้ำตาไหล ปีติเกิดขึ้น นั่น ท่านเรียกว่าปีติ ท่านไม่เรียกว่าเป็นความโศกเศร้า น้ำหูน้ำตาไหล มันก็สังเวชใจว่า โห เรานี่ก็ต้องตายแน่นอนนะ เนี่ย ลักษณะของความสงบเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ต้องตามผลตัวนี้เข้ามา มันเป็นอย่างนั้น แต่ตัวนี้มันก็ยัง มันก็ต้องเข้าไปเรื่อยๆก่อนแล้วก็เข้าไปพิจารณาไปอีก แนวทางมันก็ต้องไปอย่างนี้ตามรูปกาล จนกระทั่งสงบ สงบก็ต้องถอยเข้าไปพิจารณา เมื่อพิจารณามาก เหนื่อย ก็เข้าสงบ สงบแล้วก็ออกมาพิจารณา ก็สู้กันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา สมาธิแล้วเข้าไปสงบนิ่งอยู่แล้วก็ไปง่วงเหงาหาวนอนซะ สิ่งเหล่านั้นก็ประโยชน์ก็ได้น้อย เนี่ย
เพราะฉะนั้นจึงว่าพวกญาติโยมพากันทำความพากความเพียร ทำ ๒ คืน ๓ คืนอย่างเนี้ย ก็มีความตั้งใจดี เพราะฉะนั้นหลวงตาก็เทศน์ให้ฟังมาเท่าเนี้ย เพราะไม่ได้เป็นทั้งนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มหาเปรียญ ไม่ได้เป็นซักอย่าง ศึกษาบาลีก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้นเทศน์มันก็เละเทะตาม มวยวัด (หัวเราะ) เค้าเรียกมวยวัด ไม่ใช่มวยมีครูมีอาจารย์ (หัวเราะ) บุกลูกเดียวเพราะฉะนั้นก็หลวงปู่ท่านคอยอีกองค์ ตุ๊หลวง อาตมาเอิ้นท่านตุ๊หลวง เพราะฉะนั้นก็ญาติโยมให้ตั้งใจ
สดับตรับฟังแล้วก็ขอให้น้อมไปพินิจพิจารณา สิ่งอันใดที่เป็นประโยชน์กับชีวิตในอนาคตกับปัจจุบันก็ต้องเอาไปใคร่ครวญพินิจพิจารณา สิ่งอันใดที่เราแบกหนักมากเราควรวางก็ต้องวางซะมั่ง สิ่งที่มันวางไปได้มากๆแล้ว ก็ให้มันน้อยลงไปยิ่งดี ให้เป็นชีวิตที่เป็นประโยชน์กับพุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่ใช่ตัวใครนะ ตัวเรา เพราะวันข้างหน้าเราจะตาย ถ้าตายแล้วไปเกิดไปทุคติมันก็ลำบาก ถ้าตายแล้วไปสู่สุคติมันก็ขึ้นสวรรค์ สวรรค์ก็ไปนิพพาน มันก็เป็นสุขไม่ต้องมาเกิดวุ่นวาย โลกทุกวันนี้มันวุ่นวาย วุ่นวายเพราะคน ไม่ใช่โลกวุ่นวาย คนทำวุ่นวาย คนชอบหาเรื่องหาราว เกิดความวุ่นความวาย เพราะฉะนั้นจึงว่า พวกญาติโยมได้สดับตรับฟังแล้วก็เอาไปพินิจพิจารณา เมื่อเห็นดีเห็นชอบก็จงลงมือประพฤติปฏิบัติต่อนั้นไปจนบังเกิดความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังได้แสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้