Skip to content

การละกิเลสด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ โอกาสต่อไปนี้ จะได้นำธรรมะ อันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากล่าวบรรยายเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้ฟัง แต่ความจริง การศึกษาธรรมะและการฟังธรรมะนั้น เราฟังกันมาซะจนมากมายแล้ว เข้าใจว่าสมาคมนี้มีนักศึกษาธรรมะและนักรู้ธรรมะที่มีความละเอียดลึกซึ้งมาก แต่การรู้ธรรมะหรือธรรมะที่เราศึกษารู้ตามตำรับตำรานั้น เป็นแต่เพียงเครื่องอุปกรณ์หรือเป็นแผนที่ที่เราจะถือเป็นหลักดำเนินการปฏิบัติ 

ณ บัดนี้เราทั้งหลายก็ได้สมาทานเบญจศีลคือศีล ๕ อันเป็นหลักการที่เราจะละกิเลสคือเจตนาด้วยความตั้งใจ กิเลสบางอย่างเราละได้ด้วยความตั้งใจที่จะละ เช่นกิเลสส่วนหยาบๆที่เป็นไปในทางกาย ทางวาจา อันนี้เราตั้งใจละได้ เช่นอย่างศีล ๕ ที่ท่านสมาทานมาแล้วเมื่อซักครู่นี้ อันนี้เป็นหลักการละกิเลสที่จะพึงก้าวล่วงด้วยทางกายและทางวาจา กิเลสส่วนนี้เราตั้งใจ ตั้งเจตนางดเว้น โดยไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆที่เราสมาทานมา และการละกิเลสด้วยความตั้งใจนี้ บางทีอาจจะมีการขาดตกบกพร่อง แต่เราก็ตั้งใจพากเพียรพยายามที่จะละ คืออาศัยความพากเพียรพยายามที่จะละบ่อยๆ ละให้มากๆ เป็นการฝึกหัดนิสัยของเราให้เคยชินต่อการละกิเลสส่วนนี้ 

เมื่อหนักๆเข้า นิสัยที่เราฝึกหัดจนเคยชินนั้นมันจะกลายเป็นนิสัย แล้วก็กลายเป็นอุปนิสัยเป็นความเคยชิน เมื่อเป็นอุปนิสัยแล้ว เจตนาที่จะละเว้นกิเลสส่วนนี้มันจะกลายเป็นสภาพความเป็นเอง ซึ่งจะเป็นคุณธรรมเกิดขึ้นประจำจิตของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็จะกลายเป็นผู้มีสติสัมปะชัญญะ รู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี จนกลายเป็นอุปนิสัยที่แท้จริง ฝังแน่นอยู่ในจิตของเรา ดังนั้นหลักการละความชั่ว ประพฤติความดีในขั้นศีลธรรมซึ่งเป็นไปด้วยความตั้งใจนั้น ก็หมายถึงละความชั่วตามกฏของศีล ๕ ประการดังที่ท่านทั้งหลายสมาทานมาแล้วนั้น 

แต่สำหรับกิเลสซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของเรามาแต่นมนามนั้น เราจะต้องอาศัยการฝึกหัดอบรมในทางจิต ในเมื่อกล่าวถึงการฝึกหัดอบรมในทางจิต จะหนีไปจากหลักของการบำเพ็ญสมาธิ หรือเจริญภาวนาด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะการบำเพ็ญสมาธิเท่านั้นจะเป็นพื้นฐานให้จิตของเรามีความมั่นคงในการที่จะตั้งใจมั่นต่อการละความชั่วและประพฤติความดี 

วิธีการบำเพ็ญสมาธิก็มีหลายแบบหลายอย่าง แต่จะด้วยประการใดก็ตาม สำคัญอยู่ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องตั้งใจกำหนดรู้ลงที่จิตของตน โดยอุบายวิธีที่จะเหนี่ยวเอาอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นเครื่องบริกรรมภาวนาหรือเป็นอารมณ์พิจารณาเพื่อเป็นอุบายให้เราได้พละ คืออินทรีย์ ศรัทธาพละทำให้เราเกิดศรัทธาในการที่จะประพฤติปฏิบัติ วิริยะพละทำให้เราเกิดความพากเพียรในการปฏิบัติ สติพละความตั้งใจที่จะปฏิบัติ สมาธิพละความมั่นคงในการที่จะปฏิบัติ และปัญญาพละความรอบรู้ภายในดวงจิตซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่นักปฏิบัติจะพึงอบรมให้เกิดให้มีขึ้น 

ดังนั้นการบำเพ็ญสมาธิโดยหลักความเป็นจริงแล้วเรามุ่งที่จะให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีอุปจาระสมาธิและอัปปนาสมาธิเป็นลำดับ จนกระทั่งได้บรรลุฌาณ คือปฐมฌาณ ทุติยฌาณ ตติยฌาณ และจตุตฌาณ ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นทำให้จิตได้กรรมฐาน เพราะสมถกรรมฐานหรือสมถะจิตนั้นเป็นพื้นฐานให้เกิดสติปัญญา เพราะฉะนั้นการบำเพ็ญสมาธินี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องตั้งใจบำเพ็ญกันอย่างจริงจัง 

ถ้าหากว่านักปฏิบัติทั้งหลายมาตั้งใจที่จะบำเพ็ญสมาธิภาวนากันอย่างแท้จริง โดยตัดความลังเลสงสัยใดๆออกจากจิตใจให้หมดสิ้นไป แม้เราจะยึดเอาอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นคู่ของใจ แม้แต่บริกรรมภาวนา พุทโธๆ หรือยุบหนอพองหนอก็ตามแต่ หรือจะเอาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นเครื่องพิจารณาของจิตก็ได้ทั้งนั้น บริกรรมภาวนาก็ดี หรือการพิจารณาอะไรก็ดี จุดมุ่งหมายก็เพื่อมุ่งให้จิตมีสมาธิและเป็นการอบรมสติ ให้สตินั้นกลายเป็นมหาสติปัฏฐาน 

เมื่อจิตได้กลายเป็นมหาสติปัฏฐานแล้ว สติประกอบกับจิตจะกลายเป็นตัวผู้รู้ ผู้รู้ซึ่งได้นามว่าพุทธะเกิดขึ้นกับจิตของผู้ปฏิบัติ นับจำเดิมจากนั้นจิตก็จะสามารถปฏิวัติตัวไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมได้ตามลำดับขั้น ซึ่งทั้งนี้สุดแท้แต่ความพากเพียรพยายามของท่านผู้ใด ดังนั้นการศึกษาธรรมะก็ดี การเรียนธรรมะก็ดี หากปราศจากการปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ผลที่จะพึงเกิดจากการปฏิบัตินั้นย่อมไม่มี ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นจริงๆก็คือปฏิบัติจริง ทำจริง อาศัยหลักที่ว่า ภาวิตา อบรมให้มากๆ พาหุลีกตา กระทำให้มากๆ 

เช่นอย่างเราจะภาวนา พุทโธๆ เป็นต้นก็ดี ถ้าท่านผู้ใดจะคิดหรือตัดสินใจให้แน่วแน่ลงไปว่า ลองดูซิ ฉันจะภาวนาพุทโธอย่างเดียว แล้วมันจะมีผลอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แล้วก็ตั้งใจนั่งบริกรรมภาวนาพุทโธ หรือเราจะไม่นั่งก็ตาม เดินภาวนาพุทโธก็ได้ ยืนภาวนาพุทโธก็ได้ นอนภาวนาพุทโธก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำสติกำหนดจิตนึกพุทโธไว้ในใจ เอาพุทโธเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ จนสามารถทำจิตให้จดจ้องอยู่กับคำว่าพุทโธ แม้ว่าในขั้นต้นนี้ จิตของเรายังจะไม่สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิตามแบบฉบับที่ท่านกล่าวไว้ก็ตาม แต่ปัญหาสำคัญเมื่อจิตของเรามาอยู่กับพุทโธเป็นส่วนมากแล้ว แล้วเราจะมีความรู้สึกกับอารมณ์อื่นๆนั้นอย่างไร เข้าใจว่าถ้าจิตมีเครื่องยึด จิตมีเครื่องอยู่ จิตของเราคงจะพรากจากอารมณ์ที่วุ่นวายต่างๆ ให้เข้ามาจดจ้องอยู่กับคำว่าพุทโธ เมื่อเวลากระทบอารมณ์สิ่งใดเข้าแล้วโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ จิตของเราอาจจะวิ่งเข้าไปหาพุทโธ แล้วก็อาจจะบรรเทาความวุ่นวายที่จะพึงเกิดขึ้นกับจิตได้บ้าง อันนี้เป็นผลที่เราจะพึงได้รับจากคำว่าการภาวนาพุทโธ 

เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำสมาธิภาวนาให้ได้รับผลจริงจังนั้น อยู่ที่การกระทำจริง และทำให้มากๆเป็นสำคัญ การภาวนาพุทโธๆๆนี้ แม้ว่าบางท่านอาจจะกล่าวว่า การภาวนาพุทโธ จิตเป็นได้แต่เพียงแค่ขั้นสมถกรรมฐาน ไม่ถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐานก็ตาม แต่ขอให้ท่านลองทำดูซิว่า เมื่อสามารถที่จะภาวนาพุทโธ ทำจิตให้สงบตั้งมั่นลงเป็นสมาธิ เมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้ว จิตสงบลงไปพอสว่างขึ้นมา คำว่าพุทโธนั้นจะหายไป ในเมื่อพุทโธหายไปแล้ว จิตของผู้ภาวนานั้นน้อมเข้าไปสู่ลมหายใจ ยึดเอาลมหายใจเป็นเครื่องรู้ เอาลมหายใจเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ตามรู้ลมหายใจเข้าไปเรื่อยๆ เพียงแต่รู้อยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียวเท่านั้น แล้วจิตก็จะค่อยสงบละเอียดลงไปทีละน้อยๆ จนกระทั่งผ่านอุปจาระสมาธิ แล้วก็เข้าไปถึงอัปปนาสมาธิ 

เมื่อจิตเข้าไปถึงจุดที่เรียกว่าอัปปนาสมาธินั้น ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้ปฏิบัติอีกครั้งหนึ่งว่า จิตอยู่ในอัปปนาสมาธิจะมีลักษณะนิ่ง นิ่งแล้วก็มีความสว่างเป็นเครื่องหมาย สมาธิที่ถูกต้องและสมาธิที่แท้จริงนั้นย่อมมีความสว่างภายในจิตเป็นเครื่องหมาย ถ้าสมาธิอันใดมืด ไม่มีความสว่าง สมาธิอันนั้นท่านเรียกว่าโมหะสมาธิ ทีนี้ความสว่างของจิตนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่จะทำให้จิตมีสัมปะชัญญะดีขึ้น และความรู้สึกของผู้ทำจิตได้ถึงขั้นอัปปนาสมาธิได้นั้นจะมีความรู้สึกอยู่ภายในจิตอย่างเดียว ความรู้สึกของจิตที่จะติดต่อกับโลกภายนอกไม่มี เพราะในขนาดนั้นลมหายใจก็ได้หายขาดไปแล้ว เมื่อลมหายใจหายขาดไปแล้ว ลมหายใจก็เป็นกายส่วนหนึ่ง ร่างกายที่เป็นตัวเป็นต้นนี่ก็หายไป 

ในเมื่อตัวตนโดยสมมุติบัญญัติคือกายหายไปแล้ว ลมหายใจก็หายไปแล้ว ตัวตนที่เรียกว่า อตฺตทีปา (อัตตะทีปา) มีตนเป็นเกาะ อตฺตสรณา (อัตตะสะระณา) มีตนเป็นที่พึ่ง คือจิตจะปรากฏเด่นชัด ในเมื่อจิตปรากฏเด่นชัดและความรู้สึกอยู่ภายในจิตอย่างเด่นชัด นั่นแหละคือคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ (อัตตา หิ อัตตโน นาโถ) ตนเป็นที่พึ่งของตน 

เมื่อใครทำจิตให้บรรลุถึงขั้นนี้ ก็จะได้รู้สึกในทันทีว่า อัตตา ตัวตนที่เป็นที่พึ่งเป็นเกาะ หรือมีตนเป็นที่เป็นสรณะนั้น จะปรากฏอย่างเด่นชัด และในบางครั้งถ้าผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดรอบรู้หน่อย ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า แท้ที่จริงอัตตา ตัวตนที่เป็นรูปร่างกายนั้น มันไม่ใช่ตัวตนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ที่พึ่งพาอาศัยกันอย่างแท้จริง แต่แท้ที่จริงตัวตนที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยก็คือจิต ดวงจิตที่ปรากฏเด่นชัดอยู่นั่นแหละจะเป็นตัวตนที่พึ่งที่อาศัย และอีกอย่างหนึ่งจะทำให้ผู้ภาวนานั้นรู้จักว่าอะไรคือตัวตน ตัวตนที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตนจริงจังนั้นคืออะไร นอกจากจะรู้ว่าตัวตนอันเป็นที่พึ่งของตัวเองอย่างแท้จริงคืออะไรแล้ว ย่อมจะสามารถรู้ว่าสภาพจิตเดิมแท้นั้นคืออะไร 

ในขณะที่เรามีความรู้สึกอยู่อย่างนั้น จิตของเราจะรู้สึกว่ามีความบริสุทธิ์สะอาด และเรียกว่าเป็นจิตที่อยู่เหนือความสุขความทุกข์เพราะในขณะที่สภาพจิตเป็นเช่นนั้น สุขก็ไม่ปรากฏ ทุกข์ก็ไม่ปรากฏเป็นสภาพจิตที่นิ่งอยู่เฉยๆ ในขั้นนี้ถึงแม้ว่าสติปัญญาอย่างอื่นจะไม่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็ตาม แต่หากใครสามารถทำจิตให้บรรลุถึงความเป็นเช่นนี้บ่อยเข้า จะเป็นฐานที่ให้เกิดสติ เกิดสติสัมปะชัญญะ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นอย่างที่เราไม่รู้สึกตัว 

ทีนี้ตามตำราที่ท่านกล่าวว่าจิตอยู่ในสภาพของสมถกรรมฐานย่อมไม่มีความรู้ที่จะปรากฏขึ้นในขณะนั้น อันนี้เป็นความจริง ใครๆอย่าไปปฏิเสธมติอันนี้ แต่ทีนี้เราอาจจะเกิดสติปัญญาขึ้นต่อเมื่อ จิตของเราถอนจากสมาธิในขั้นนี้ออกมาแล้ว เราจะมีสติสัมปะชัญญะตามรู้เมื่อจิตเกิดความคิดขึ้นมา โดยธรรมชาติของจิตแล้วจะไปสงบนิ่งอยู่อย่างนั้นตลอดกาลไม่ได้ ถึงคราว ถึงกาล ถึงเวลาแล้ว จิตก็ย่อมถอนออกมาจากสมาธิ ในเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา จิตก็จะมีความคิดเกิดขึ้น จิตไปคิดเรื่องอะไรก็ตามไม่สำคัญ สำคัญอยู่ตรงที่ว่าสติตัวที่จะตามรู้ทันความคิดนั่น นั่นเป็นตัวการที่สำคัญ 

ถ้าหากผู้ภาวนาไม่ด่วนพรวดพราดออกจากการปฏิบัติสมาธิ ใช้เวลาตามกำหนดรู้ความคิดของตนเองไป ความคิดอันนั้นจะกลายเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ในเมื่อจิตมีความคิด จิตก็มีเครื่องรู้ ในเมื่อจิตมีเครื่องรู้ สติก็มีเครื่องระลึก ถ้าหากว่าจิตตามรู้ทันหรือสติตามรู้ทันความคิดเมื่อไหร่ ความคิดอันนั้นจะกลายเป็นภูมิความรู้ กลายเป็นภูมิปัญญาของผู้ปฏิบัติ แต่ถ้าผู้นั้นไม่หลงความคิดของตัวเอง ถ้าหากสติสัมปะชัญญะมีพลังแก่กล้า แม้จิตจะเกิดความรู้ความคิดอะไรขึ้นมาก็ตาม ความรู้และความคิดอันนั้นจะกลายเป็นภูมิปัญญาของจิต จิตอาจจะคิดเรื่องดีก็ได้ อาจจะคิดเรื่องชั่วก็ได้ แต่สำคัญอยู่ที่ตัวสติที่รู้เท่าทันความคิดอันนั้น 

เมื่อคิดขึ้นมาแล้วจิตไม่มีความยึด เมื่อจิตไม่มีความยึดกับความคิดของตัวเอง ปฏิกิริยาที่จะพึงให้เกิดความยินดียินร้ายย่อมไม่มี เป็นแต่เพียงกิริยาสักว่าคิด คิดแล้วก็ปล่อยวางไป เมื่อเป็นเช่นนั้นสติตัวผู้รู้มันก็จะตามทันความคิดของตัวเองตลอดไป ถ้ายิ่งตามกำหนดรู้ความคิดนี้ ถ้าสติตามทันความคิด ความคิดอันนี้มันยิ่งจะเกิดมากขึ้น เพราะยิ่งจ้องดู ยิ่งตามรู้ตามเห็น ยิ่งตามทันเท่าไหร่ ความคิดมันก็จะเกิดขึ้นมากขึ้นเท่านั้น บางทีมันอาจจะคิดขึ้นมาอย่างที่เราไม่สามารถจะกำหนดทัน ถ้าสติอ่อนเมื่อไหร่กำหนดตามรู้ความคิดไม่ทัน จิตไปหลงยึดถือสิ่งนั้นๆเข้า มันก็เกิดเป็นตัวกิเลส ถ้ายินดีก็เป็นกามตัณหา ถ้าติดก็เป็นภวตัณหา ถ้าหากว่ายินร้ายก็เป็น วิภวตัณหา 

ถ้าจิตคิดแล้วมีสภาพปกติ มีแต่ความเป็นปกติเป็นหนึ่ง ไม่ยึด ไม่หลง ไม่เกิดความยินดี ไม่เกิดความยินร้าย นั่นแหละคืออาการดับกิเลส จริงอยู่ความคิดที่เรายังไม่มีสมาธิ ที่เรายังไม่มีสติสัมปะชัญญะรู้เท่าทันความคิด ความคิดอันนั้นมันสามารถที่จะเอาจิตของเราไปบดขยี้ ให้เกิดความสุข ให้เกิดความทุกข์ซึ่งสุดแท้แต่กิเลสจะปรุงไป อันนี้เป็นความคิดในสมัยที่เรายังไม่มีสมาธิ ไม่มีสติสัมปะชัญญะ สมบูรณ์อันเป็นพละหรือเป็นอินทรีย์ แต่ถ้าหากจิตผ่านความเป็นสมาธิบ่อยๆ สติก็จะกลายเป็นพละ เป็นอินทรีย์ สามารถที่จะรู้ทันความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นภายในจิตได้ และจะสามารถประคับประคองจิต ให้ดำเนินไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมได้ 

เมื่อจิตรู้เท่าทันอารมณ์คือความคิดที่เกิดขึ้นในจิต มันก็กลายเป็นตัวสติปัญญา ปัญญานี้ถ้าจะว่ากันตามความเข้าใจโดยทั่วๆไป ปัญญาที่เราใช้สัญญา แล้วมาน้อมนึกคิดพิจารณาธรรมะตามที่เราเข้าใจ โดยความตั้งใจ อันนี้มันเป็นสติปัญญาธรรมดาๆ แต่ถ้าปัญญาที่เกิดจากสมาธิ อันนั้นมันเป็นสมาธิปัญญา แต่เราจำเป็นจะต้องอาศัยปัญญาในขั้นจินตามยปัญญา หรือ สุตมยปัญญาที่เกิดจากการคิดและการฟัง และก็นำน้อมนำไปพินิจพิจารณาตามหลักการ เช่นเราจะพิจารณาพระไตรลักษณ์ว่าสิ่งนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราใช้สติปัญญาอย่างธรรมดาๆ ค้นคิดพิจารณาไปตามตำรับที่เราเรียนรู้มา และพร้อมๆกันนั้นก็พยายามทำจิตให้เป็นสมาธิไปด้วย เมื่อจิตสงบลงไปเป็นสมาธิเมื่อไหร่ เมื่อนั้นปัญญาที่เกิดจากความคิด ปัญญาที่เกิดจากการฟัง มันก็จะเป็นคุณธรรมอุดหนุนให้เกิดปัญญาในขั้นสมาธิปัญญา หรือภาวนามยปัญญา 

ปัญญาตามสัญญาหรือความทรงจำเป็นอุปกรณ์ให้เกิดสติปัญญาในขั้นสมาธิภาวนา เป็นสิ่งที่อาศัยซึ่งกันและกัน เพราะการบริกรรมภาวนาก็ดี การค้นคิดพิจารณาตามสัญญาที่เราเรียนมาก็ดี ทั้งสองอย่างนี้เป็นอุปกรณ์ให้จิตเกิดมีสมาธิ แต่สมาธิที่เกิดจากบริกรรมภาวนานั้น ส่วนมากเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จะไม่ค่อยเกิดความรู้อะไรขึ้นมา แต่ถ้าสมาธิที่เราได้ผ่านการพิจารณาอะไรมาแล้ว เมื่อจิตสงบตั้งมั่นลงเป็นสมาธิ จะทำให้เกิดมีปัญญาในสมาธิขึ้นมา เพราะอาศัยปัญญาความรู้ในทางที่เราทรงจำมาด้วยสัญญานั้นเป็นคุณธรรมเกื้อกูลอุดหนุนกันไป 

นี่ข้อสังเกตในการที่เราจะพึงทำความเข้าใจในขณะที่บำเพ็ญภาวนาและถ้าหากว่าจิตของเราได้ผ่านการพิจารณาอะไรมาแล้ว เมื่อจิตสงบลงไปในขั้นอุปจาระสมาธิ ถ้าเกิดสติปัญญาความรู้ขึ้นมาเอง ปัญญาความรู้อันนั้นยังจะมีสมมุติบัญญัติอยู่ เมื่อจิตรู้อะไรขึ้นมายังจะเรียกชื่อสิ่งที่รู้นั้นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นอย่างนั้น 

แต่ถ้าจิตสงบละเอียดลงไปกันจริงๆแล้ว จะใช้คำว่าจิตอยู่ในระดับของอัปปนาสมาธิก็สุดแท้แต่ผู้ฟังจะเข้าใจ แต่ประสบการณ์บางครั้งที่มันเกิดขึ้นนั้น จิตอยู่ในลักษณะที่สงบนิ่งสว่าง มีความสว่างไสว แต่ก็หากมีสิ่งซึ่งผ่านเข้ามาเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่รู้ ที่ปรากฏขึ้นมานั้น จิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าจะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นอะไร มีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ตลอดเวลา อันนี้คือลักษณะของภูมิจิตที่สงบอย่างละเอียดแล้ว เกิดภูมิความรู้ขึ้นมา เข้าใจว่าสัจธรรมที่เกิดขึ้นกับจิตนั้นย่อมอยู่เหนือสมมุติบัญญัติ แม้ในขณะนั้นจิตตัวผู้รู้ เค้าก็จะไม่สมมุติเรียกตัวเค้าเองว่าจิตตัวผู้รู้ แม้แต่สิ่งที่รู้ที่ปรากฏอยู่นั้น จิตก็ไม่เรียกว่าอะไร เข้าใจว่าภูมิความรู้ในขั้นนี้อยู่ในขั้นที่อยู่เหนือสมมุติบัญญัติ ของจริงที่ปรากฏขึ้นกับจิตของผู้ภาวนานั้นจะต้องอยู่เหนือสมมุติบัญญัติเสมอ ถ้าสิ่งใดที่ยังมีสมมุติบัญญัติอยู่ สิ่งนั้นก็ยังไม่ใช่ความจริง หรือยังไม่ใช่สัจธรรม 

อันนี้ขอฝากให้สมาคมนี้นำไปพินิจพิจารณาว่าจะมีความเข้าใจจะมีความเห็นอย่างไร สำหรับการกล่าวธรรมะอันเป็นคติเตือนใจของท่านนักศึกษาและนักปฏิบัติทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาละเวลา จึงขอยุติด้วยประการะฉะนี้