หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
ณ บัดนี้พากันตั้งใจ นั่งเจริญเมตตาภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรม จะได้น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัดอบรมตน เราทุกคนที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ ความประสงค์ตั้งแต่คุณงามความดี ปรารถนาอยากมีแต่ความสุขความเจริญอยู่ในความร่มเย็นเป็นสุขตลอดทุกวันทุกเวลา เหตุฉะนั้นถ้าเรามีความปรารถนาแล้ว จะทำให้ตนเองได้สมหวังมีความสุขความปรารถนาจึงเป็นการที่พวกเราต้องศึกษาหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์สอนเอาไว้ให้พวกเราฝึกฝนอบรมจิตใจ
ทำไมจึงฝึกฝนอบรมจิตใจ เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญ เราเกิดขึ้นมาด้วยกันทุกคนในโลกนี้ ก็ต้องมีจิตใจคือความคิดความอ่าน ความปรุงความแต่งของจิตใจ ถ้าหากเราไม่ฝึกฝนอบรมแล้ว จิตใจนั้นก็จะคิดไปเรื่อยๆ ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ หาความสิ้นสุดลงไม่ได้ ก็ยิ่งมีความทุกข์ความเดือดร้อนเกิดขึ้นแก่ตน เพราะตนเองนั้นคิดมากก็เลยมีความทุกข์มาก การที่บุคคลมีความคิดนั้นส่วนมากแล้วจิตใจนี้จะคิดแต่ในทางที่ไม่ดีเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ทางดีนั้นเห็นแต่น้อย
เหตุฉะนั้นเมื่อเรามาพิจารณาเรื่องอย่างนี้ คนเรามีทุกข์กันทั่วโลก ก็เป็นเรื่องจิตใจนี้พาให้ทุกข์ คำว่าทุกข์กายทุกข์ใจ ทุกข์กายนั้นทุกข์เพราะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ทุกข์เพราะการดูแลรักษาพยาบาล ประคบประหงมร่างกายนี้เพื่อไม่ให้มันเจ็บมันป่วย มันทุกข์ ก็เรียกว่าทุกข์กาย ทุกข์ใจนั้นคือจิตใจนี่ไปพัวพันฟั่นเฝือ ยึดมั่นถือมั่น หวังจะพากันเอาให้สมหวังร่างกายของคนเรา และทำอะไรทุกอย่างมันยังไม่ได้สมหวัง แต่เราก็มีความตั้งใจเอาไว้ เพื่อจะให้เรานี้ได้รับซึ่งความสุข จึงเรียกว่าเป็นความหวัง ความปรารถนา
แต่อย่างไรก็ดี เราพากันศึกษาเรื่องจิตใจ จิตใจของคนเรานี้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารหลายภพ หลายชาติ ที่เป็นไปทั้งเรื่องเป็นสัตว์ก็มี เป็นมนุษย์ก็มี เป็นเทวดาก็มี บางบุคคลก็ถึงเทพชั้นสูง ถึงพรหมโลกชั้นต่ำ แต่ก็ยังไม่พ้นทุกข์ ยังวนเวียนไปมาอยู่ อันนี้เป็นเรื่องพวกเราจะศึกษา พวกเราเกิดขึ้นมาก็คงจะได้เวียนว่ายตายเกิด ล่องลอยอยู่ในวัฏสงสารอย่างนี้ อันไม่มีทางที่จะสิ้นสุดลงได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาเพื่อหาหนทางแก้ไขการเวียนว่ายตายเกิดไปๆมาๆของพวกเรานี้ เพื่อจะให้มันน้อยลง การศึกษาหลักพระพุทธศาสนาเพื่อจะกำจัดภพชาติให้น้อยลง ให้ลดและให้น้อยลง ก็คือความปรุงความแต่งของจิตใจนั่นเอง คือทำให้มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็ไปหาวิธีปลดปลงออกให้มันน้อยลงลดลง ทั้งโลภ โลภะก็ดี ลดลงเกลียด เคียดแค้น พยาบาทซึ่งกันและกัน ก็จะมาลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ความหลงใหลไม่เข้าใจในเหตุในผลในสัจธรรม เราก็จะพยายามที่จะศึกษาให้รู้กฏธรรมชาติของโลกเป็นอยู่ทางธรรมชาติ และจะให้ของพวกเรานี้มีความเฉลียดฉลาดรู้เรื่องอย่างนี้ เราจึงจะไม่มีความทุกข์ด้านจิตใจ
เหตุฉะนั้นการฝึกฝนอบรมจิตใจนั้นต้องอาศัยซึ่งสติสัมปะชัญญะประคับประคองจิตใจให้ดี ถ้าเรามีสติสัมปะชัญญะสามารถประคับประคองจิตใจของตนเอง ให้อยู่ข้อธรรมกรรมฐานที่ตนเองตั้งเอาไว้ ก็จะทำให้จิตใจของเราสงบอยู่ได้ เหมือนบุคคลมีความสามารถที่จะควบคุมบุคคลที่ไม่มีกำลัง ควบคุมจับเอาไว้ไม่ให้ไปไหน ก็ย่อมไปไม่ได้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าจิตใจของเรานั้นถูกสติสัมปะชัญญะ ควบคุมดูแลเอาไว้ ใจของเราก็จะอยู่และมีความสงบเกิดขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องศึกษา สติคือความระลึกว่าจิตคิด สัมปะชัญญะระลึกว่าจิตคิดอยู่ที่ไหน อยู่กับเรื่องอะไร จิตใจของเรานั้นมันไปคิดอยู่ที่ไหน เวลาเราพากันฟังเทศน์อยู่ให้มันอยู่กับตนกับตัว ให้อยู่กับข้อธรรมกรรมฐานของตน ที่ตนเองตั้งเอาไว้ ให้ใจของเรามาเกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยวอยู่กับข้อธรรมกรรมฐาน ไม่ให้ใจของเรานั้นไปทางนอก ให้จิตใจของเราอยู่กับข้อธรรมกรรมฐาน
แต่บางบุคคลนั้นเคยเอาลมหายใจเข้าออก แต่ก็ไม่มีความสงบซักที ก็ควรที่จะเปลี่ยนได้ เปลี่ยนข้อธรรมกรรมฐานได้ เพราะมันไม่ถูกจริตนิสัยของตนเอง ก็ฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเองไม่สงบ เหตุฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสอนเอาไว้ ข้อธรรมกรรมฐานมีตั้ง ๔๐ ข้อ เพื่อให้เลือกปฏิบัติให้ถูกจริตนิสัยของนักปฏิบัติ เพื่อจะได้ฝึกหัดจิตใจนั้นให้สงบเป็นสมาธิได้เร็ว เหตุฉะนั้นพวกเราทั้งหลาย ถ้าเราปฏิบัติข้อธรรมกรรมฐานข้อใด เอาจริงเอาจังแล้ว แต่จิตใจของเรานั้นยังไม่สมควรจะเปลี่ยนข้อธรรมกรรมฐานข้อใหม่
ในสมัยครั้งพุทธกาลนั้น พระพุทธองค์เทศน์เรื่องทำบุญทำทานการกุศล การจำแนกแจกทาน บางบุคคลนั้นก็มาระลึกดูการจำแนกแจกทาน การทำบุญทำทานการกุศลของตน ก็ทำให้จิตใจของตนนั้นสงบเป็นสมาธิได้ง่าย เพราะจิตใจนั้นระลึกถึงความดี จิตใจก็มีความสุข จิตใจก็เลยสงบปลื้มปีติอยู่ในบุญในกุศลของตน ทำให้ได้เกิดรับมรรคผลเกิดขึ้น เป็นตัวอย่างก็คือนางวิสาขา มิคารมารดา พระพุทธองค์ตรัสเทศนาเรื่องการทำบุญทำทานการกุศล นางวิสาขา มิคารมารดานั้น ทำจิตใจของตนให้สงบ ทำไมจิตใจจึงสงบ เพราะจิตใจมีความสุขนั่นเอง ความทุกข์ที่มันรบกวนจิตใจนั้นมันก็หายไป ทำให้จิตใจสงบเกิดขึ้น มีปีติมีความสุข ปลื้มปิติยินดีในบุญกุศลของตนจนได้รับผลคือบรรลุพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนา อันนี้เรียกว่ามันถูกจริตนิสัยของบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติ
พวกเราก็เหมือนกันถ้าหากเอากรรมฐานข้อใดฝึกฝนอบรมจิตใจไม่สงบ ก็ควรจะเปลี่ยนได้ เพราะฝึกมานาน แต่เราก็ต้องฝึกจริงจัง แต่บางบุคคลนั้นก็มาระลึกถึงการรักษาศีลของตน และเรารักษาศีลอยู่ ตนเองมีศีล ปลื้มใจในตนเองและเป็นผู้มีความรักษาศีลได้ครบบริบูรณ์ได้ดี จิตก็ได้มีความสุขความสงบเกิดขึ้น ก็ทำให้บรรลุพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาได้ เหมือนจิตตคหบดีเศรษฐีได้เอาสีลานุสติกรรมฐานเป็นข้อธรรมกรรมฐานของตน ก็ทำให้จิตใจนั้นบรรลุธรรมได้ นี่แหละมันเป็นอย่างนี้
บางบุคคลก็เอาลมหายใจเข้าออก สามารถทำให้จิตใจของตนเป็นสมาธิได้ ทำให้ตนเองสามารถจิตใจสงบ ก็จะรู้และเข้าใจศึกษาเรื่องกิเลสตัณหาที่มารบกวนจิตใจของตน ให้จิตใจเศร้าหมอง เมื่อเข้าใจแล้วก็รู้จักลดละปล่อยวางออกไป ทำให้ใจของเราว่างจากสิ่งรบกวน จิตใจของเราก็เลยสงบ เหมือนบุคคลที่ว่างงาน ไม่มีงานอะไร นั่งอยู่เฉยๆก็ไม่ทุกข์ยากลำบากอะไร ฉันใดก็ดี จิตใจที่มันว่าง ว่างจากสิ่งรบกวนแล้วจิตสงบ เมื่อจิตใจสงบเราก็พบความสุขเกิดขึ้นเพราะใจสงบ
นี่พวกเราก็พยายามที่จะปฏิบัติ ภิกษุผู้บวชใหม่ก็ดี ญาติโยมผู้เข้าวัดใหม่ก็ดี หรือเข้าวัดเก่าก็ดี ต้องพยายามที่จะฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเพื่อให้ใจสงบ มันยังไม่สงบก็ต้องฝึกฝนอบรมไปเรื่อยๆ เพราะการประพฤติปฏิบัตินี้ไม่ใช่จะเอาปุ๊บปั๊บให้ได้ทีเดียว ต้องเป็นสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไป มาค่อยเป็นค่อยไปก็ค่อยดูค่อยพยายาม ค่อยควบุคมดูแลจิตใจของตนให้อยู่กับข้อธรรมกรรมฐาน ในจิตของเราฟุ้งซ่านออกไปที่ไหน การควบคุมดูแลจิตใจจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และเรื่องสติสัมปะชัญญะก็จะควบคุมดูแลเอาไว้
สติสัมปะชัญญะเปรียบเทียบเหมือนบุคคลที่มีกำลังสมควร สามารถที่จะไปจับบุคคลที่ไม่มีกำลังเอาไว้ จับคนละแขนไม่ให้ไปไหน ก็สามารถจะควบคุมไปกับตนเองได้ ควบคุมให้อยู่ที่ไหนได้ ทำความปรารถนาของบุคคลที่ควบคุมคนที่ไม่มีกำลัง ทีนี้คนมีกำลังควบคุมคนไม่มีกำลัง มันก็ไปไหนไม่ได้ สติสัมปะชัญญะก็เหมือนกัน ถ้าหากเราพากันระลึกว่าจิตของเราคิด เข้าใจเรื่องความคิด จิตของเราคิดเรื่องอะไรอยู่ที่ไหน เราก็สามารถติดตามจิตใจของเรา ควบคุมดูแลมาไว้กับข้อธรรมกรรมฐานได้
การฝึกฝนอบรมจิตใจไม่ใช่มันจะสงบง่ายๆ เพราะอะไรมันจึงไม่สงบง่าย ก็เพราะเราเกิดมาหลายปีแล้ว เราไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตใจของเราเล้ย เราปล่อยปละละเลย ให้จิตใจนี่คิดไป คิดไปคิดได้ก็คิด คิดไม่ได้ก็คิด คิดทุกข์ คิดสุขก็คิด มันคิดไป มันชำนาญในการที่คิดไปทางอื่นมานมนาน บัดนี้เราจึงมาฝึกฝนอบรมจิตใจของเราทีหลัง เพื่อจะให้จิตใจของเราสงบ จิตใจของเราจะได้พักผ่อน ฉะนั้นถ้าพูดง่ายๆก็คือฝึกฝนอบรมจิตใจของเรานี้ เพื่อจะให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิ ก็คือจะให้จิตใจของเราได้พักผ่อน ก็ตั้งแต่เกิดมานี้ไม่เคยฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิซักที จิตใจของเรานี้ก็จะคิดไปเรื่อยๆ ทำงานไปเรื่อยๆ ทำงานความคิด เมื่อทำงานไปเรื่อยๆมันก็มีแต่ความทุกข์เกิดขึ้น ทำงานไม่ได้พักผ่อน แต่เมื่อเราฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สงบเป็นสมาธิ ก็เหมือนพวกเรานี้ได้พักผ่อน จิตใจก็ได้พักผ่อน จิตใจไม่ยุ่งเหยิง ไม่วุ่นวายกับอารมณ์ต่างๆที่ยั่วยวนให้จิตใจของเราหลงใหลไปตามกระแสอารมณ์นั้น จิตใจของเราก็จะมีความสงบเกิดขึ้น แล้วก็จะมีความสุขเป็นที่พึ่ง
นี่เป็นข้อที่พวกเราจะพินิจพิจารณา ว่าเราอยากละกิเลสตัณหาให้หมดให้สิ้นจากดวงใจของพวกเรา กิเลสตัณหาเหมือนกับโรคภัยไข้เจ็บที่มันมีอยู่ในรูปร่างกายของพวกเรา เรามีรูปร่างกายหรือจะมีโรคภัยไข้เจ็บนานาต่างๆเกิดขึ้น ทั่วสรรพางค์ร่างกายของคน ส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่เป็นมากก็ต้องเป็นที่ใดที่หนึ่ง ก็เรียกว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บของร่างกาย เป็นทุกข์ ในโรคภัยไข้เจ็บของจิตใจก็คืออารมณ์ คือความคิด ถ้าเราคิดตรงไหนจิตใจก็มีความทุกข์ ถ้าเราคิดโกรธ เกลียด เคียดแค้น พยาบาท อาฆาตจองเวรกัน จิตก็มีความทุกข์อีกเหมือนกัน อันนี้เราก็จะพยายามพากันมาหาวิธีแก้ไข
การที่จะแก้ไขกิเลสให้หมดให้สิ้นจากดวงใจจึงเป็นเรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องใหญ่แค่ไหนก็ตาม แต่พวกเรานี้ก็จะพยายามประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ออกจากใจของพวกเรา เราก็ต้องเป็นคนมีคนจิตใจกล้าหาญ ยืนหยัดมั่นคง ไม่อ่อนแอท้อแท้ ต่อสู้ ตั้งใจปฏิบัติ การตั้งใจปฏิบัตินั้น บุคคลก็ชอบเดินจงกรม เดินจงกรมนี้จะให้ประโยชน์อะไร เดินจงกรมนี้มันจะมีอานิสงส์ได้เดินจงกรม เดินจงกรมซัก ๓๐ นาที หรือชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่งอย่างนี้ หนึ่ง จะทำให้บุคคลนั้นมีเป็นผู้มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยหนึ่ง สองจะเป็นบุคคลที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง สามก็จะเป็นบุคคลที่เดินได้ทางไกลมาก สี่จะทำจิตใจสงบ ในการเดินจงกรมนี้จะทำให้จิตใจสงบแน่วแน่มั่นคง เพราะเราเดินสามารถควบคุมจิตใจให้สงบได้ อันนี้เป็นเรื่องของการเดินจงกรมย่อมมีอานิสงส์ทำให้ร่างกายของเราอาหารช่วยย่อยได้ดี ทำให้เราร่างกายได้เบาสบายเกิดขึ้น เหตุฉะนั้นการเดินจงกรมจึงเป็นเครื่องเปลี่ยนอิริยาบถของรูปร่างกายของพวกเรา ถ้าหากเรามีแต่นั่งอย่างเดียว ร่างกายมันจะทรุด มันจะเจ็บจะป่วยได้ง่าย
เหตุฉะนั้นจึงควรเปลี่ยนอิริยาบถตามความเหมาะสม แต่ก็ต้องมีความอดทนนั่งตั้งใจจริงๆ อย่านั่งแป๊บเดียวลุกไปเลยไม่ได้ แต่ก็ต้องมีขันติความอดทนเพื่อจะฝีกฝนอบรมจิตใจของตน ให้ได้รับผลรับประโยชน์คือความสงบสุข ทุกคนก็ต้องมีความตั้งใจไม่ว่านอกพรรษา ในพรรษา ธรรมะมันเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลด้วยเวลา บุคคลใดเจริญเมตตาภาวนา เช้า สาย บ่าย เที่ยง ค่ำคืนดึกดื่นก็ตาม แต่จิตใจของเรานั้นได้สงบระงับเป็นสมาธิ เราก็จะเข้าใจว่า โอ จะทำเวลาไหน ใจสงบได้เวลาไหน มันก็มีความสุขเวลานั้น เหตุฉะนั้นธรรมะทั้งหลายจึงเป็นเรื่องเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลด้วยเวลา
บางคนมีความตั้งใจเจริญภาวนา พยายามปฏิบัติฝึกหัดอบรมจิตใจของตน ถ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าบุคคลใดฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้สงบ เช้า สาย บ่าย เที่ยง ค่ำคืนดึกดื่น ก็ได้พบความสุขอยู่ในความสงบแน่นอน ให้จิตใจสงบ มีความสุขเป็นของที่ลึกซึ้ง เป็นของที่เยือกเย็น เป็นของที่สงบ ใครก็อยากพบอยากเห็นความสงบ ความสงบคือความสุข ดังนี้พวกเราทุกคนก็ต้องตั้งจิตตั้งใจมีความพากความเพียรประโยคพยายาม จะได้ใส่สติสัมปะชัญญะของตนควบคุมดูแลจิตใจของเรา จิตใจของเรายังไม่พ้นทุกข์ ยังมีทุกข์อยู่ มีสิ่งต่างๆทำให้เกิดทุกข์อยู่ บัดนี้เมื่อเราพยายามฝึกฝนอบรมจิตใจของเราก็จะเข้าใจ
การฝึกฝนอบรมจิตใจนี้ให้ประโยชน์อะไร ได้ประโยชน์จิตใจได้พักผ่อน ให้ประโยชน์จิตใจได้สบาย ร่างกายของบุคคลที่มีความสบายก็จะทำให้จิตใจสบายไปด้วย เรียกว่าสบายกายสบายใจ นี่ทุกคนพึงปรารถนาอย่างนี้ก็ให้พากันขยันหมั่นเพียรทำความเพียร นี่พระอยู่วัดอยู่วาก็ดี จะเดินจงกรม จะนั่งสมาธิต้องพยายามตั้งจิตตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติผู้ใดจะมาฝึกฝนอบรมให้เรานี้ได้รับผลรับประโยชน์เกิดขึ้น อันนี้เราก็มีความตั้งใจของตนเอง มีฉันทะความพอใจจะนั่งสมาธิ มีวิริยะ มีความเพียร จิตตะเอาใจฝักใฝ่ ทั้งเดินจงกรมทั้งนั่งสมาธิ มันเป็นอย่างนี้ จิตตะเอาจิตใจฝักใฝ่ในหน้าที่การงานของตนเองคือการนั่งเจริญเมตตาภาวนา อย่างเวลาไหนมันมีช่องว่าง เวลาไหนก็นั่งเวลานั้นแหละ อย่าไปคอยเวลานั้นเวลานี้ ถ้ามันว่างเมื่อไหร่ก็พยายาม พยายามปฏิบัติด้วยกันไปเรื่อยๆ ก็สามารถที่จะทำให้สติสัมปะชัญญะควบคุมจิตใจของตนเองนั้นให้สงบมากขึ้น
เมื่อจิตใจสงบมากขึ้น มันก็จะพอมองเห็นได้ว่า เราจะฝึกฝนอบรมจิตใจในด้านละกิเลส กิเลสทั้งหลายเป็นเหตุทำให้เราเกิดทุกข์ มันมาจากอย่างไร มันมาแบบไหน มันจึงมาครอบครองรูปร่างกายของเราอย่างนี้ ว่าเราจะประคับประคองร่างกายของเรา ประคับประคองจิตใจของเรานั้นให้ตั้งอยู่ในความสงบ เราจึงจะพบความสุขเกิดขึ้น หากฉะนั้นถ้าร่างกายของเราไม่สงบ จิตใจของเราไม่สงบ มันก็มีความสับสนวุ่นวาย ทำให้จิตใจของเราไม่สงบเป็นสมาธิได้ง่าย จึงจำเป็นเราต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร ผู้ใดมีความขยันหมั่นเพียรเดินจงกรมนั่งทำสมาธิ ทำทุกวันๆเวลามีช่องว่างก็สามารถที่จะฝึกฝนอบรมจิตใจของเรานั้นให้สงบเป็นสมาธิได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ถ้าหากเราสามารถควบคุมจิตใจของเราให้สงบเป็นสมาธิได้แบบไหน เริ่มต้นกรรมฐานข้อใด ถ้าเราติดตามควบคุมดูแลจิตใจของเราแบบไหน ทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิได้ง่าย เราก็ควรจะจำไว้ให้ดี เราจำไว้ให้ดีแล้วเวลาเราไปทำความเพียรอยู่ที่ไหน เราก็จะสามารถจะเอาจิตใจของเราที่มันสงบนี้ ให้รู้สิ่งของต่างๆเกิดขึ้นได้ จะออกรู้สิ่งของต่างก็รู้เรื่องกิเลสนั่นเองถ้าใจสงบ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจของเรา มันไม่อยู่ที่อื่น เราต้องดูให้เข้าใจ ความโลภ ความโลภะ อะไรต่างๆที่ไม่มีเพียงพอนั้นก็คือเป็นหน้าที่ของจิตใจเป็นผู้โลภะ โทสะ จะโกรธ จะเกลียด เคียดแค้นพยาบาทอาฆาต จองเวรกัน อาศัยจิตใจมันโกรธ มันเกลียด มันเศร้าหมอง จิตใจมันไม่ดี จิตใจมันมีความทุกข์ นั้นก็เลยคิดไปในทางที่ทำให้ทุกข์หนักเข้าไปกว่าเดิม นี่เป็นอย่างนี้
ความหลงใหลอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่รูปกายมันหลงใหล เราต้องฝึกฝนอบรมจิตใจดูให้เข้าใจ มันเป็นเรื่องของจิตใจหลง จิตใจที่มีความทุกข์ว่ามันหลง เหตุฉะนั้นเราจะฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้เฉลียวฉลาด มีสติปัญญาสามารถที่จะเข้าใจว่าอะไรมันทำให้หลง อะไรมันทำให้เกิดทุกข์ อะไรมันทำให้เกิดสุข มันก็สามารถจะคัดเลือกสิ่งที่มันไม่ดีไม่งามออกไป เอาแต่สิ่งดีงามไว้ในจิตใจของเรา เหมือนบุคคลที่ไปหยิบเอาผลไม้ต่างๆ ก็เลือกแต่ผลมันดี มันปลอดภัยเอามาไว้ให้อยู่ให้กินรับประทาน นี่หละบุคคลมีความฉลาด เรียกว่าคัดเอา
บัดนี้พวกเรารู้จัก เรามาคัดเอา คือว่ามาคัดเอาสิ่งไม่ดีมันออกไปนั่นเอง ออกจากจิตใจของเรานั้น ก็เราจะสรรหาเอาสิ่งอันดีมาไว้ที่ใจของเรา เหตุฉะนั้นพวกเราทั้งหลายอยากให้จิตใจมีความสุขก็ต้องหาอารมณ์คือความสุขความสบายของจิตใจ มาพิจารณานึก ถ้าหากเราเข้าใจในการพิธีปฏิบัติ ก็จะสามารถฝึกหัดจิตใจของเราสงบเป็นสมาธิได้ง่ายๆ แต่มันก็ไม่ใช่ของง่าย แต่มันหน้าที่ของเรามีความตั้งใจ ถ้าหากว่ามีความตั้งใจปฏิบัติอยู่ มันก็จะฝึกหัดอบรมให้สงบเป็นสมาธิได้ ไม่มีปัญหา
การฝึกฝนอบรมจิตใจของเราสงบเป็นสมาธิแล้ว เราจะดูอะไร เราจะดูความคิดของจิตใจน่ะมันคิดดีหรือคิดไม่ดี หรือคิดให้มันทุกข์ หรือคิดให้มันสุข คิดให้มีเหตุผลอย่างไร ทำให้เกิดความสบายกายสบายใจ เราก็ต้องจะรู้จะเข้าใจ ถ้าดูความโกรธ ความโกรธเคยโกรธจริงแต่ก่อน ก็จะสามารถที่จะละให้มันเบาบางลงได้ ทำให้มันไม่โกรธก็ได้ ความหลงใหลก็ดี มันหลงใหลอะไรก็ศึกษาสิ่งนั้นให้เข้าใจว่ามันมาหลงทำไมอย่างนี้ มันมีเหตุมีผลมีประโยชน์อะไร มันทำให้เกิดมีความสุขอะไร
ถ้าหากเราฝึกใจของเราสงบแล้ว เราจะไม่เห็นเรื่องอย่างนี้ เรารู้จักวิธีแก้สิ อันนี้มันทำให้ขัดข้องอยู่ เราก็ต้องแก้ไข เราแก้ไขจิตใจของเราก็สบาย ทำไมจึงจิตใจจึงสบาย เพราะจิตใจติดอะไรนี่มันหนัก มันเป็นของหนัก เป็นของที่ทำให้เกิดทุกข์ เหมือนกับคนที่หาบสิ่งของนี่แหละ มันหาบสิ่งของหนักๆ มันเดินล้มซ้ายล้มขวาไป มันทุกข์ ทีนี้มันรู้ว่ามันหนัก มันก็ขนสิ่งของนั้นออกจากสิ่งที่เค้าหาบอยู่เป็นกระบุงก็ดี เป็นตะกร้าก็ดี เค้าขนออกไปที่โน่นแล้วก็หาบเดินไปอีก มันยังมีหนักอีกก็ขนออกไปอีก ขนออกไปๆ เรื่อยๆ เราก็เดินเข้าไปหาผู้ใหญ่ เดินไปหาผู้ใหญ่ท่านผู้มีความฉลาดท่านก็ เออ ก็จะเข้าใจว่าคนมีความฉลาด เค้าจะขนของออกสิ่งที่ไม่ดี ขนออกไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ พอมันหมดจากตะกร้ามันก็หาบเอาตะกร้าเบาสบาย
ฉันใดก็ดี จิตใจของพวกเราทั้งหลายนี่มันมีความทุกข์อยู่ ถ้าจะฝึกฝนจิตใจให้สงบเราก็จะรู้ว่า จิตนี้มันกำลังทุกข์อยู่กับอะไร มันทุกข์หนัก ก็เห็นมั้ยเค้าทุกข์มากๆ จิตใจทุกข์มากๆมันร้องไห้น้ำตาร่วงไหลไปถึงเครื่องนุ่งห่มปวกเปียกชื้นไปหมดเลย ทำไมเล่าเค้าจึงร้องไห้ คนใหญ่ๆก็ยังร้องไห้อยู่ ไม่ใช่แต่เด็ก ก็ร้องไห้เพราะจิตใจมันเศร้าหมองเพราะมีความทุกข์ มันทุกข์เพราะคิดอะไรมันจึงร้องไห้ เราก็จะแก้ไขในสิ่งที่คิดทำให้เกิดทุกข์และร้องไห้ ว่ามันร้องไห้ไปทำไม เมื่อหากเราศึกษาพินิจพิจารณาแล้ว โอ้ ร่างกายสังขาร เมื่อมันเจ็บมันป่วยก็ดี แล้วเราก็จะเข้าใจว่า เอ้อ มันเจ็บมันป่วย จิตใจมันรู้ว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นธรรมชาติของร่างกาย ใจก็จะสบายขึ้น แต่ใจจะไม่เป็นห่วงทุกข์มาก นี่ก็เรียกว่าการที่จะพิจารณาหาวิธีแก้ไข จิตใจของเรายึดมั่นอะไรทำให้เกิดทุกข์ เราก็ต้องรู้จักหาวิธีลดละปล่อยวาง
เมื่อเราปล่อยวางแล้วมันก็สบาย เหมือนบุคคลเค้าหาบสิ่งของ ขนสิ่งของออกจากตะกร้าหมดแล้ว มันเบา มันก็ปลงตะกร้าออกซะ วางซะ ไม่ต้องเอา ทิ้งไป จะเดินไปแต่ตัวเปล่าๆ ก็ยิ่งสบายเกิดขึ้น ฉันใดก็ดี จิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากพวกเรานั้นฝึกฝนอบรมจิตใจของเราสงบเป็นสมาธิอยู่ในความสงบ เราก็พบความสุขเกิดขึ้นสบายว่า เอ้อ จิตใจไม่ยุ่งเหยิง ไม่มีภาระกับสิ่งเหล่านี้ ไม่ทำให้ตนเองมีความทุกข์ แล้วก็จะเข้าใจได้ ถ้ามันเข้าใจได้มันก็รู้จักวาง พอมันรู้จักปล่อยวาง มันก็เลยสบาย เรียกว่าคนรู้ธรรมะ เข้าใจว่าสิ่งนี้แต่ก่อนทำให้เราเกิดทุกข์ แต่บัดนี้เมื่อเราเข้าใจแล้ว จะมีความสุข เพราะเราวางจากสิ่งที่มันกังวล มันทำให้เรามีความทุกข์ มันวางลงไป
เหมือนบุคคลกำลังมีความโกรธนี่ โกรธเกลียดเคียดแค้น ถ้าเค้าเจริญเมตตากรรมฐานนะ ประเล้าประโลมจิตใจของเค้าเข้าใจแล้ว คนรู้จักวางซิ อะไรทำให้เกิดทุกข์ก็รู้จักวาง เหมือนบุคคลมันยืนตากแดด มันร้อน มันก็หาวิธีเข้าร่ม ถ้าหากบุคคลจะรับประทานอาหาร สิ่งนี้มันทำให้เจ็บท้อง เจ็บท้องบ่อยๆ มันก็ต้องรู้จักโทษมันก็รู้จักว่าวิธีละปล่อยวาง จะทำให้มีความสุขเกิดขึ้น เค้าเรียกว่าฝึกฝนอบรมจิตใจให้ได้ละกิเลส กิเลสเป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ ถ้าบุคคลผู้ใดประพฤติปฏิบัติให้กิเลสลดน้อยถอยเบาบางลงไปมันก็สบาย มันเป็นอย่างนี้ มีความสบายเกิดขึ้นแล้วจิตใจสงบ
การฝึกฝนอบรมจิตใจนี่ กายวิเวก คำว่ากายวิเวกนี่ก็คือมีรูปร่างกาย คือกายของเราสงบ จิตตวิเวกก็คือการฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สงบเป็นสมาธิ อุปธิวิเวกก็คือการสงบระงับดับกิเลส ถอนกิเลสออกจากดวงใจ อันนั้นก็เรียกอุปธิวิเวก วิเวกคือความสงบสงัด ความสงบสงัดถ้าขืนมีอะไรมารบกวนจิตใจ ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ทำให้จิตใจทุกข์ ก็สลัดออกได้ คือปลงวางออกได้นี่เอง
อันนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราพากันศึกษากันอยู่ อยากรู้อยากเข้าใจ ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วนั้น อยากให้พ้นทุกข์แต่ทำไมยังไม่พ้นทุกข์ ก็คือเรายังขาดสติปัญญา และจะพิจารณาเรื่องเหตุเรื่องผล เรื่องอะไรที่ทำให้เราเกิดมาแล้วมันทุกข์ มันยากลำบาก ทุกข์กายก็ทุกข์ ทุกข์ใจก็ทุกข์ มีร่างกายก็ทุกข์กับโรคภัยไข้เจ็บนานาต่างๆ มีทุกข์ใจก็คือรับอารมณ์ต่างๆทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ไม่ดี รับมาแล้วก็ต้องมารับทุกข์คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ก็เลยทุกข์ พอลองดูเหมือนกับเรายึดอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ยึดสิ่งของอยู่ในรั้วในสวนก็ดี ยึดสิ่งของใช้ในบ้านก็ดี ถ้าถูกโจรมาลักเอาไป มันทุกข์มาก คนที่ยังไม่ได้เรียนธรรมะ ถ้าหากคนที่ศึกษาเล่าเรียนธรรมะว่า เออ ครูบาอาจารย์สอนให้เราละความทุกข์ เราจึงจะมีความสุข เราก็พินิจพิจารณามา ท่านให้ข้อธรรมกรรมฐานอะไรถึงจะถูกจริตนิสัยจิตใจของตน ทำให้เราพ้นจากทุกข์ ทุกข์คือความกังวล กังวลใจเลยทุกข์ใจ แต่นี่เราไม่อยากทุกข์ใจ กายก็ไม่อยากทุกข์ ใจก็ไม่อยากทุกข์ อยากให้ใจเราเป็นอุเบกขา ใจของเราอยู่สบ๊ายสบาย จิตใจไม่เดือดร้อนวุ่นวาย จิตใจก็จะสงบ อันนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่เราทุกคนต้องศึกษา
ถ้าเราศึกษาภาวนาทำให้จิตใจสงบ เราปฏิบัติให้จิตใจสงบเป็นสมาธิดีแล้ว คือเห็นความสุขแล้ว โอ๋ อันนี้เป็นหนทางพ้นทุกข์ พิจารณาไปเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ตนเองมีความสงบ มีความสุขเกิดขึ้น อันนี้ทุกคนพึงปรารถนาก็ต้องมีความพากความเพียรเจริญเมตตาภาวนา ฝึกฝนอบรมจิตใจของตน แล้วจึงจะรู้ได้ด้วยตนเองทุกอย่าง มันจะเหมือนไม่ถามใคร วิญญูชนรู้ได้เฉพาะตัวเอง อย่างนี้ว่าวิญญูชนรู้ได้เฉพาะตนเองนั้นรู้อยู่ไหน จะได้เข้าใจ ว่า โอ เรามีสติปัญญารู้แก้ไขที่ออกจากจิตใจของเรา จิตใจก็เลยได้มีความสุขเกิดขึ้น เป็นจิตใจสงบมีความสุขนั่นแหละ เราจึงรู้จักว่า เออ ความปรารถนาของเรามันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เราฝึกฝนอบรมจิตใจของเรา ตั้งหลักอยู่ที่ไหน เราควบคุมจิตใจของเราอย่างไร ใจของเราจึงสงบเป็นสมาธิ
นี่มันไม่เป็นของง่าย เพราะมันยากอยู่ แต่ยากเพียงใด ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ปฏิบัติได้ และนี่เราก็เป็นคนเหมือนกัน ไม่ใช่พระแต่เราก็เป็นคนเหมือนกัน ก็พยายามที่จะฝึกฝนอบรมจิตใจเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ เมื่อจิตใจได้รับผลรับประโยชน์มีความสงบสุขมีความดีแล้ว เราจึงจะมีความสุข ความสุขที่แท้จริงก็คือการฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบ หากจิตใจของเราไม่สงบเมื่อไหร่ เราอย่าปล่อยปละละเลยให้จิตใจของเราคิดไป ไม่มีที่อยู่พักพาอาศัย เราจะเสียการเสียเวลาที่เราตั้งใจว่า เอ้อ เราปรารถนามานะ จะทำความดี ทำความดีเพื่อต้องการพ้นทุกข์ อย่างไรมันทำให้เกิดทุกข์ เราจะพยายามควบคุมดูแลจิตใจของเราให้รู้จักพอเหมาะ พอสม พอดี เพื่อจะไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น
อันนี้เป็นเรื่องหน้าที่ของเราที่เป็นนักปฏิบัติ จะไปอยู่ในวัดวาอาวาสที่ไหน บ้านใดเมืองประเทศไหน เช่นไหนก็แล้วแต่ อย่าลืมในการปฏิบัติฝึกหัดอบรมจิตใจของตน เมื่อจิตใจของเราถ้าได้ฝึกหัดและอบรมดีแล้ว เรียกว่าจิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ มันเป็นที่พวกเราต้องการอยากได้อย่างนั้น ก็ขอให้ทุกคนมีความตั้งใจ นอกพรรษาก็ดี ในพรรษา มันเป็นอกาลิโก เหตุนั้นผู้ปฏิบัติตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ไม่มีนอกพรรษา ไม่มีในพรรษา เจริญภาวนาทุกวันๆ ไม่ให้จิตจากขาดกิจเจริญภาวนา ถ้าหากบุคคลมีความตั้งใจอยู่ ไม่ว่าวันใดก็วันหนึ่ง ก็จะพบตัวความสงบสุขที่ตนเองปรารถนาอยู่แน่นอน
เหตุฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ค่อยเป็นค่อยไป ให้เป็น มชฺฌิมา ปฏิปาท ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา เรียกว่าเรานั้นตั้งใจปรารถนา ตั้งใจทำความเพียรอยู่ ไม่ปล่อยปละละเลย มันก็สามารถจะพบได้ ถ้าเราไม่มีความตั้งใจ เราจะภาวนาอยู่สิบปีมันก็ไม่สงบ แต่บุคคลมีความตั้งใจยังไม่ถึงสิบปีหรอก ปฏิบัติ ปีนึง สองปี สามปี เค้าก็รู้ธรรมะได้เพราะควบคุมดูแลอยู่ ดูแลจิตใจอยู่ ไม่ปล่อยปละละเลยให้จิตใจเสียหาย เหมือนพ่อแม่ทั้งหลายควบคุมลูกเนี่ย ลูกไม่ดี แต่ก่อนเหมือนจิตใจไม่สงบ บัดนี้เราหากควบคุมลูกที่ไม่ดีมาอยู่กับตัวแล้ว สามารถดูแลรักษามัน ให้การศึกษาเล่าเรียน อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะปฏิบัติกัน เหตุฉะนั้นอย่าย่อหย่อนในการปฏิบัติ ฝึกหัดไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ
บางบุคคลก็จะเห็นนิมิต บางบุคคลก็จะเห็นแสงสว่างเกิดขึ้น มันทำให้ตื่นเต้น อันนั้นก็พยายามอย่าไปหลงใหลมัน มีแต่ตั้งใจจะควบคุมดูแลจิตใจให้สงบนานๆ นานๆ ทุกวันๆ เมื่อจิตใจของเราสงบนนิ่งมากทุกวันมาก มันจะยิ่งมีปัญญาที่จะรู้อะไรถูก อะไรผิด ก็เหมือนเราอยู่ในที่มืด ถ้าเราไม่มีไฟฉาย มันก็ต้องสงสัยว่าในที่มืดมีอะไร ถ้าเราฝึกฝนอบรมจิตใจของเราสงบ มีแสงสว่างเกิดขึ้น ก็จะมีปัญญาให้รู้สัจธรรมของจริงว่าสิ่งนี้ตั้งอยู่อย่างไร เกิดมาอย่างไร ตั้งอยู่ เสื่อมคลายหายไปไหนอยู่ในโลกนี้ มันก็จะเข้าใจดี จิตใจที่สงบเป็นสมาธิ มันก็ใช้ความสงบเป็นสมาธินี้เองตรวจตราดูจิตใจได้ เรามีอะไรไม่ดีก็จะแก้ไขตนเอง ก็เรียกว่าพัฒนาตนเอง พัฒนาจิตใจของตนเอง ให้มีความเฉลียวฉลาด แก้ปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์ลดน้อยถอยออกไปจากจิตใจของพวกเรา ใจของเราจึงจะมีอิสระเกิดขึ้น จึงจะได้รับผลรับประโยชน์คือความสุข
เหมือนบุคคลหาบสิ่งของ วางหมด ปลงหมดเสีย ไม่หาบ เดินแต่ตัวเปล่าก็สบ๊าย สบาย ในใจของพวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าหากเราฝึกฝนไปเรื่อย มันมีความฉลาดเกิดขึ้น นั่งขัดไปเรื่อยๆ ยิ่งมีสติปัญญามากขึ้น ยิ่งหาวิธีละกิเลสตัณหาออกจากดวงใจของตนเองได้ ละออกไปแล้วยังไง เพราะจิตใจเรารู้ว่าอันนี้ทำให้ตนเองเกิดทุกข์ ตนเองไม่อยากทุกข์ เมื่อไม่อยากทุกข์ก็ต้องปล่อยวาง ละทิ้ง ละทิ้งไปแล้วมันก็มีความสุข ก็ไม่มีอะไรรบกวนจิตใจ
เหตุฉะนั้นก็ให้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติฝึกหัดอบรมทุกวันๆ ปล่อยปละละเลยไม่ได้ เพราะเรามีความตั้งใจมุ่งหวังปรารถนาว่าจะไปนิพพาน คำว่านิพพานก็คือการไม่มาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เป็นที่สุดของกองทุกข์ทั้งปวง ดับไม่หมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความวุ่นวายกับอะไร ผู้ฝึกฝนอบรมจิตใจให้พ้นทุกข์ นี่เราอยากพ้นทุกข์ ยังไม่ตายนี่หละ พ้นทุกข์ตั้งแต่มีลมหายใจเข้าออก ยืน เดิน นั่ง นอนได้สิ ทำกิจการงานได้ ให้ใจของเรานี้สามารถลดละกิเลสตั้งแต่เรามีลมหายใจอยู่ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ว่าท่านจะสุขเพียงใด ท่านละกิเลสออกจากใจของท่านได้หมดสิ้น จิตใจของท่านขาวสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง
พวกเราค่อยฝึก ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยขัดเกลาเรื่อยๆ ก็สามารถจะมีปัญญาขึ้น ทุกภพทุกชาติถ้าหากยังมาเกิดอยู่ จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมากกว่านี้ เกิดมาอีกชาติใหม่ก็ให้เฉลียวฉลาดมากขึ้นตามลำดับ ก็สามารถจะดับทุกข์ได้ก็อาศัยสติปัญญาที่เกิดขึ้น สติปัญญาก็คือจิตมันรู้ทุกข์ มันก็จะวางทุกข์ มันก็ดับทุกข์นั่น มันก็มาคิดในสิ่งที่ไม่ทำให้มีความเดือดร้อน เค้าเรียกว่าจิตฉลาด จิตมีปัญญาเกิดขึ้น ไล่กิเลสได้เป็นขั้นๆตอนๆ อันนี้เป็นเรื่องที่พวกเราจะฝึกฝนอบรม เหตุฉะนั้นทุกคนให้มีความตั้งใจ แต่นี้ต่อไปก็ขอให้ใช้สติสัมปะชัญญะควบคุมดูแลจิตใจของตนเองให้อยู่กับตน อยู่ในความสงบ ให้มันนิ่งสงบอยู่ ไม่ต้องคิดไปที่ไหน คิดแต่จะให้สงบเท่านั้น (จบเทป)