Skip to content

การพิจารณากาย

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

เทศน์เมื่อ ๑๓ ส.ค. ๒๕๒๔

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ลำดับต่อไปจะได้บรรยายธรรมะอันเป็นแนวทางปฏิบัติของบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้บังเอิญฝนตก คนก็น้อย กัณฑ์เทศน์ก็ไม่ค่อยมี เสียงมันก็ไม่ค่อยขึ้น การแสดงธรรมเป็นสิ่งที่ยาก ไม่เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านรู้วาระท่านรู้จิตใจของบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย เพราะฉะนั้นการเทศน์ก็ยังเข้าไปยังสู่จิตใจของบุคคลผู้นั้น ให้เห็นเหตุเห็นผลได้บรรลุธรรมวิเศษเกิดขึ้นในขณะที่ฟังธรรมก็มีจำนวนมากๆ เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเป็นสัพพัญญูรู้แจ้งของใจของมนุษย์ทั้งหลาย 

อย่างบรรดาเราก็เหมือนกัน ฟังๆไปอย่างนั้น ผู้เทศน์ก็ไม่สันทัด ผู้ฟังก็บางทีก็สันทัด ไม่สันทัดก็มี ให้ว่าตามความจริงอย่างนั้น การปฏิบัติว่าแล้วมันก็ว่าซ้ำๆซากๆน่าเบื่อน่าหน่าย การปฏิบัติ หัวใจก็ต้องมีความเข้มแข็ง ถ้าขาดความเข้มแข็ง ความอุตสาหะ ความพยายาม ความพากความเพียรอย่างนี้ เหมือนไฟที่มันติดอยู่ในศีรษะเราอย่างนี้ เพราะหัวใจอันนั้นไม่เห็นภัย ไม่เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์เดือดร้อนเหมือนอย่างไฟที่ติดในหัวเราอย่างนั้นเหมือนกัน บางคนก็ทนอยู่อย่างนั้นไม่รู้จักวิธีแก้ไขดับไฟให้ไหม้อยู่ในหัวเรา ก็มีแต่วันที่จะตายจมลงไปอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้เพราะไม่มีอุบายที่จะแก้ อันนี้เป็นสิ่งที่ลำบาก 

การแก้หัวใจที่ไม่สงบก็ต้องใช้ความพยายามแก้ไขดัดแปลงมากๆ ไม่ใช่จะนิ่งเพ่งดูจำเพาะหัวใจอันนั้นอันเดียวอย่างนั้น การเพ่งอย่างนั้นก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่สำหรับผู้ที่มีกำลัง ถ้าผู้ไม่มีกำลังแล้ว นิวรณธรรมก็เข้ามาทับ หรือเรียกว่าอารมณ์ทั้งหลายเข้ามาชิงความดีของเราที่จะตั้งอยู่ไม่ได้ มันคอยให้ส่ายออกไป โน้มน้าวหาอารมณ์เข้ามาป้อนใจอยู่ตลอดเวลา สมาธิก็ไม่สามารถจะตั้งได้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติมันก็ต้องดูเล่ห์ดูเหลี่ยมดูของใจเรา ใครจะพูดขนาดไหนมันก็ไม่เท่าใจเรา เราต้องดูเราเอง ดูที่หัวใจลงไปในขณะที่บำเพ็ญอย่างนั้น ใจมันไม่สงบแล้วใจไปคิดวุ่นวายสิ่งใด อย่างนี้ เราก็จะต้องหาวิธีแก้ไข 

อย่างที่เคยพูดให้ฟังอยู่บ่อยๆแล้วว่า ต้องใช้การบริกรรม เหมือนอย่างคนเราที่ตกไปในกลางทะเล อย่างนี้ ไม่มีเรือไม่มีแพไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นภาชนะ ก็จำเป็นจะต้องหา มีหูมีตามีอันใดที่จะต้องใช้ ก็ต้องเอาพยายามหาสิ่งนั้นเพื่อป้องกันชีวิต นี่เปรียบก็จะเป็นอย่างนั้น มีท่อนไม้ ท่อนต้นกล้วย หรืออันใด ไม้ไผ่ ไม้อะไรอันใดอันหนึ่งที่จะเกาะยังชีวิตให้เป็นไป ไม่ให้ถึงแก่การจมลงไปในทะเล นี่ ก็เหมือนกันกับที่เราภาวนาอย่างนี้เหมือนกัน ถ้าใจมันไม่สงบ ใจมันวอกแวกอยู่ตลอดเวลา ใจไม่สงบ หรืออย่างเกิดความง่วงเหงาหาวนอน หรือเกิดความขี้เกียจขี้คร้าน เกียจคร้านจนไม่อยากนึกไม่อยากคิด นี่ นี่มันเป็นอุปสรรคทั้งนั้น อุปสรรคสำหรับการปฏิบัติของหัวใจ หัวใจของผู้ปฏิบัติก็จำเป็นจะต้องเข้มแข็งต่อสู้ กำจัดสิ่งเหล่านี้ให้มันออกไปจากหัวใจเรา เมื่อกำจัดออกไปได้อย่างนั้นก็เหมือนเราที่กำลังลอยคออยู่ในทะเลนั่นหละ เจอะท่อนไม้ที่ได้อาศัยไปถึงฝั่งได้ ก็ไม่ถึงกับความตาย อุปมาอุปไมยก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน 

ใจที่พะว้าพะวง มีนิวรณธรรมเข้ามาครอบงำใจเราอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงถึงหนึ่งนาที สองนาที อย่างนี้มันก็ชิงเอาไปหมด ไม่ได้ความดีเกิดขึ้นกับใจเรา นี่ เพราะฉะนั้น อย่างเรือแพหรือท่อนไม้ ท่อนซุงอันใดก็แล้วแต่ที่เราเกาะชีวิตไปนั่น จะยังชีวิตเราไม่ตาย ก็เหมือนกันกับที่เราอาศัยพุทโธ ธัมโม สังโฆ อันใดอันหนึ่ง หรือความตายความไม่เที่ยง ความเจ็บ ความป่วยอันใด ท่องอรหัง พุทโธ อิติปิโส ภควา บทใดบทหนึ่ง หยั่งลงไปในให้ถึงหัวใจอยู่อย่างนั้น แล้วให้กอดแน่นอยู่อย่างนั้น ไม่ให้ใจพะว้าพะวงไปในที่ใดอย่างนี้ นี่เรียกว่าเป็นอุบาย เป็นที่จะประคับประคองใจของเรานั้น ไม่ให้เข้าไปสู่ไปส่ายหาอารมณ์เข้ามาป้อนใจ เมื่อภาวะของใจจดจ้องอยู่อย่างนั้นแล้ว ใจนั้นมันก็จะเกิดสงบ คือเมื่อก่อนที่จะเกิดสงบมันก็ต้องกำจัดนิวรณ์ตัวนั้นเองออกไป เมื่อนิวรณ์มันออกไป น้อยเข้าๆ เมื่อเราเพียรพยายามว่าอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ใจนั้นก็จดจ้องอยู่กับการบริกรรมอยู่อย่างนั้นตลอดไปเนื่องกันไป นี่ ใจนั้นก็เริ่มสบาย ใจนั้นก็นิวรณ์ก็ไม่ค่อยมีมา หรือมีมาก็ห่าง ถ้ายังเห็นว่ามีมาห่างอยู่ เราก็ต้องอย่าเพิ่งทิ้งการบริกรรมตัวนั้น 

นี่ เทศน์ ก็ไม่รู้จะเทศน์อย่างไร ก็ต้องเทศน์กันอย่างนี้เอง เทศน์เพื่อแนะนำพร่ำสอน เพราะฉะนั้นบางท่าน บางคนก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่เราเข้ามาในวัดอโศฯ ล้วนแต่บุคคลผู้ที่เคยฝึก  เคยกระทำกับครูบาอาจารย์ อย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านเสียไปอย่างนี้ก็เคยสมาคมอยู่กับท่าน เพราะฉะนั้นได้ยินได้ฟังสิ่งที่เข้าอกเข้าใจได้แยะ เต็มอกเต็มพุง เต็มไปหมดจนล้นออกไปหาย หาไม่คืนไม่ได้ เรียกว่าลืมของเก่า เราจำเป็นจะไม่ต้องลืมของเก่า สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ใจของเรา เอาให้เกี่ยวเกาะให้แน่นแฟ้น ใจของเราให้เกิดความสงบขึ้นได้ อันนั้นไม่ว่าอันใดก็แล้วแต่ มันย่อมเป็นประโยชน์ที่จะดับนิวรณธรรมของเรา การที่เข้ามาปฏิบัติอย่างนี้ก็ต้องการจะกำจัดนิวรณธรรม ไม่ให้เข้ามา รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ นิวรณ์ของใจ ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ ลาภะ โทสะ โมหะ มันฝังอยู่ในหัวใจเราเหมือนหนามมันแทงอยู่ในอกอย่างนี้ มันเจ็บแสบอยู่ทุกวัน เราไม่พยายามถอนมันแล้วมันก็เป็นหนองเป็นไต เป็นหนองแล้วก็เน่าเปื่อยผลที่สุดก็ตาย ใจเรานี่ถ้าเป็นอย่างไร มันจึงไม่สงบเราก็จำเป็นจะต้องพยายามเอาให้มันจนเกิดความสงบขึ้นจนได้ อย่าให้เสียที นี่ เรานักปฏิบัติต้องมีความเข้มแข็งสำหรับใจ บางคนกายก็ไม่เข้มแข็ง ใจก็ยิ่งไม่เข้มแข็งใหญ่ นี่ บางคนกายไม่ให้แต่ใจเข้มแข็งก็มีอย่างนี้ เพราะฉะนั้นต้องอุตส่าห์ 

อันธรรมะของพระพุทธเจ้า ยกองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง บำเพ็ญจะได้เป็นสัพพัญญูก็ต้องเอาอยู่ ๖ ปีอย่างนี้เป็นต้น ต้องใช้ความพยายามอดข้าวอดปลาทำสารพัดสารเพทุกอย่าง ทำจนเกือบล้มเกือบตายก็ยังไม่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษ นี่เป็นอย่างนั้น จนกระทั่งมาได้ ๖ ปี นี่ มาเห็นปฏิปทาการเดิน ถึงอานาปา พิจารณาอานาปา นี่ มาใช้ปัญญาพินิจพิจารณา จึงได้รู้ความจริงเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติของเราก็เหมือนกันอย่างนั้น อันใดที่จะแก้ใจให้มันขาดจากนิวรณ์แล้วใจนั้นจะได้เป็นสมาธิ นั่นแหละตัวนั้นแหละเป็นตัวอุบายสำคัญที่มันจะแก้ใจเราได้ ใจเราให้หยุดจากพะว้าพะวงใจไม่ให้นิวรณ์มี มีนิวรณธรรมเข้ามาครอบงำได้ ใจอย่างนั้นจึงเรียกว่าใจควร ใจสมกับบาลีที่ยกว่าเป็น อาตาปี เพียรเพ่งแผดเผา ใจชนิดนั้น นั่นใจอย่างนั้น ใจที่สมควรแก่มรรคผลธรรมวิเศษของพระพุทธเจ้า ถ้าใจเหลาะแหละใจโลเล ใจไม่แน่นอน หยิบอันโน้นก็ไม่เอา หยิบอันนี้ก็ไม่เอา อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ดี เหลาะแหละโลเล อย่างนี้ใจไม่ตั้งอยู่ ใจอย่างนั้น ใจใช้ไม่ได้ ใจเหลวไหล ใจอ่อนแอ ใจขี้เกียจ ใจขี้คร้าน ไม่ได้เกิดผลกับการปฏิบัติ การปฏิบัติต้องใช้ใจเข้มแข็ง ใจเด็ดใจเดี่ยว จะเอาอันใดก็ต้องเอาอย่างนั้น จนให้ใจนั้น ทำไมทรมานมาก ยากนัก เราก็ต้องทรมานด้วย การอย่างนั้น ว่าอย่างนั้นให้มันอันเดียวอยู่อย่างนั้น ดูซิว่าจะไปไหน ใจนั้นน่ะ แล้วนิวรณ์มันจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าเมื่อเราพยายามบริกรรมอยู่อย่างนั้น มันไม่หนีเราไป หนีไปไม่ได้เพราะทนความเพียรไม่ได้ เหมือนไฟเข้าไปเผาอยู่ในกองขยะ ก่อขึ้นน้อยพอขยะมันติดแล้วก็ลุกอยู่ตลอดเวลา ผลที่สุดกองใหญ่ๆเท่าใดก็ไหม้ลงไปจนหมด นี่ เป็นอย่างนั้น เหมือนใจเราก็เหมือนกัน 

ทีแรกก็มีการพะว้าพะวง การดิ้นรน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ไม่เป็นอันนั่ง ไม่เป็นอันที่จะสงบ เรื่องนั้นเข้ามาเรื่องนี้เข้ามาสารพัด อยู่ในวัดก็ไปหาเรื่องบ้าน หาเรื่องบ้าน หาเรื่องค้าขาย ลูกคนนั้นขายไม่ดี ลูกคนนี้ขายดี มีกำไรมาก มีกำไรน้อย เป็นทุกข์กับเค้า นี่ ใจตัวนี้แหละใจอกุศล ใจบาป นี่ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องกำจัดตัวนี้ เหมือนหนามที่มันอยู่ในอกเรา ฝังเราอยู่อย่างนี้ ทำไมเจ้าดื้อเจ้าดิ้นรนกระวนกระวายกระสับกระส่ายไปหาอันใด นี่ ต้องด่ามันเข้า ใช้ปัญญาด่ามัน ใช้สติระลึก เจ้าทำไมซนออกไป เจ้าทำไมถึงออกไปทำไม มันได้อะไร มีประโยชน์ตรงไหน มันเรื่องของเค้า เรื่องของเราอยู่ในวัดในวา นี่ มันต้องเอาอย่างนั้น ด่ามัน 

นี่พิธีแก้มีต่างๆนานา พวกญาติโยมได้ผ่านโลกผ่านสงสารมาก็มีอุบายแยบคายด้วยกันทุกคน แต่น่าจะมีอุบายแก้ใจที่มันดิ้นรนกระวนกระวายตัวนั้นน่ะ ให้มันดับให้ได้ เมื่อใจดับได้อยู่กับพุทโธว่าลงไปอย่างนั้น หรือธัมโม สังโฆ บทใดบทหนึ่งอยู่อย่างนั้นจนตลอดเวลา แล้วใจนั้นมันก็จะตั้งเป็นสมาธิ เมื่อใจที่ตั้งเป็นสมาธิ เราก็ต้องรู้จักแล้ว อ๋อ มันต้องทำอย่างนี้นะ มันจึงถูกต้อง มันจึงปราบนิวรณ์ได้ ใจมันจึงสงบ ใจจึงไม่กระสับกระส่ายไปหาอดีตอนาคตเรื่องบ้านเรื่องช่องเรื่องลูกเรื่องผัวเรื่องเมีย อย่างโน้นอย่างนี้ต่างๆนานา มันไม่ไปก็ต้องใช้ตัวนี้บังคับ เหมือนวัวควายที่มันโดยแส้มันก็ต้องรู้จักเจ็บ มันก็รู้จักเข็ดรู้จักหลาบ นั่น สัตว์เดรัจฉานก็ยังรู้จักเข็ดจักหลาบ ใจเรานี่ยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉานนะ มันทรมานยากจริงๆ ยังไม่ให้มันไปก็จะไป มันดิ้นรนกระวนกระวายสารพัด เพราะจะต้องหวดด้วยดาบ หวายไม่พอ ดาบเพชฌฆาตของพระพุทธเจ้า คือเรียกว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ อันนี้เป็นรัตนะ เรียกว่าเป็นของดีที่สุด ต้องเอามาสู่ในหัวใจเรา เมื่อเข้ามาสู่ในหัวใจเราได้อย่างนั้นแล้ว ใจก็ต้องสงบ ใจก็ต้องชนะ มารของกิเลสของใจนั้นก็ต้องหายไป นี่ 

เมื่อใจมันปราบกิเลสมารออกได้แล้ว ใจก็หยุดเที่ยงตรง ใจก็สว่างไสว ใจเยือกใจเย็นใจสงบ ใจเป็นสมาธิ เยือกเย็นนั่งอยู่หลายๆคนตั้งร้อย ตั้ง ห้า หก เจ็ดสิบอย่างนี้ นั่งอยู่ก็เหมือนไม่นั่ง นั่งพื้นศาลาก็เหมือนไม่นั่งเพราะใจนั้นมันวางจากสิ่งทั้งปวงภายนอก มีหัวใจที่รู้อยู่เฉพาะดวงใจอันนั้นอันเดียว อย่างนี้ นั่นเรียกว่าเป็นสมาธิ ไม่เกี่ยวเกาะไม่พัวพัน ไม่นึกไปส่ายในอารมณ์ต่างๆนานา ใจอยู่จำเพาะใจ เที่ยงเป็นปกติอย่างนั้น นั่นเรียกว่าจิตของเราเข้าสมาธิ นี่ เพ่งอย่างนั้น พอเพ่งนานเข้าๆ ใจก็ยิ่งสบาย กายก็สบาย กายที่ปวดที่เมื่อยที่เจ็บอย่างนั้นอย่างนี้ ยุงกัด เจ็บหลัง เจ็บเอว เจ็บแข้ง เจ็บขา มันก็ไม่มีมา ใจมันเป็นปกติ ใจมันวางเพราะปีติตัวนั้นเข้ามาครอบใจของเราทำให้กายก็สบาย ใจก็สบาย นี่ สมาธิก็เป็นอย่างนั้น 

แต่ลักษณะเสวยสมาธิมากเข้าก็มีโทษ ไม่ใช่มีคุณ มีคุณเหมือนกันแต่ก็ต้องมีโทษ เพราะบั้นปลายของการเสวยสมาธิเมื่อหนักเข้า มากเข้าๆ อย่างนั้น ถีนมิทธะตัวสำคัญมันจะเข้ามา นี่ ตัวนั้นก็ต้องระวัง พิธีนี้ก็ต้องระวัง นักปฏิบัติโดยมากพลั้งเผลอให้ถีนมิทธะเข้าครอบงำนี่ เสียหมด ตัวนี้เป็นตัวอุปสรรคสำคัญ เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้สมาธิเสื่อม สมาธิคลาย ไม่มีกำลังกล้าแข็ง เพราะฉะนั้นเมื่อเราฝึกอย่างนั้นจนมีความชำนิชำนาญแล้ว ก็เคยพูดอยู่เสมอๆ ก็ต้องใช้ปัญญาค้นคว้า สมาธิก็มีอยู่แค่นั้น จบกันแค่นั้น แค่ทำใจให้สงบเข้าไปอยู่ปกติแค่นั้นเอง อย่างพวกฤาษีชีไพรสมัยก่อน นักพรตต่างๆก็บำเพ็ญแค่นั้น ไม่ใช้การค้นคว้า ไม่ใช้ปัญญา คำที่ว่าไม่ใช้การค้นคว้านั่นเอง เป็นตัวปัญญา การที่ใช้การค้นคว้าเรียกว่าปัญญา 

การนึกคิดปรุงแต่งของร่างกายของเรา หรือคิดอันใดก็แล้วแต่ สิ่งที่เรารักสิ่งที่เราชอบใจก็มาพิจารณา นี่ เป็นแก้วแหวนเงินทองที่ของที่รักที่ชอบใจอันใดอันหนึ่งก็เอามาพิจารณา อันนั้นเมื่อเราตายแล้ว เป็นของเรารึเปล่า แล้วสิ่งนั้นเค้าว่ามันเป็นของๆเราหรือเราไปยึดเค้า ก็ดูหัวใจเราที่เอื้อไปพิจารณาอย่างนั้นด้วย อันนั้นเค้าว่าอะไร ว่าเราใจเราต่างหากเป็นคนไปว่าของๆเรา ของสวยของงาม ใครมาลักมาเอาไปไม่ได้ นี่ มันต้องมาดูตัวนี้อีกทีหนึ่ง มองดูหัวใจที่มันคิดไปอย่างนั้น นี่ ต้องพิจารณาอย่างนี้ พิจารณาลงไปอย่างนั้นแล้ว เมื่อพิจารณาแล้วเราก็มาหยุดใจให้มันเป็นปกติ ไอ้ใจที่เป็นปกตินี้ มันไม่มีว่าอะไรนี่ มันมีหน้าที่แต่รู้อยู่อันเดียวเท่านั้น อยู่กับความปกติของใจ นี่ เพราะฉะนั้นต้องค้นคิดพิจารณา 

การพิจารณาเป็นบาทสำคัญ แต่ว่าการพิจารณาอย่างนี้คนไม่ค่อยชอบ เพราะมันต้องคิดต้องนึกต้องปรุง ยิ่งปรุงในร่างกายเท่าไร พิจารณาร่างกายเท่าไร ใจนั้นยิ่งสงบเยือกเย็นลงเป็นลำดับ เมื่อใจที่พิจารณาถึงกาย พิจารณาตั้งแต่หัว มีตา มีหู มีจมูก มีปาก มีลิ้น มีแก้ม มีผม เบื้องบนลงไปมีคาง มีขากรรไกร มีฟันกราม ฟันหน้า ฟันหลัง ฟันล่าง ฟันบน อย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ได้แค่นั้นใจก็สงบแล้ว แต่โดยมากผู้ที่ไม่ค่อยเคยค้นคว้าพินิจพิจารณา ก็กลับเถียงขึ้นมาอีกแล้ว ว่าการค้นคว้าพิจารณาอย่างนั้นใจมันไม่สงบนี่ นี่เถียงขึ้นมานะ เถียง ทำไมว่าเถียง เพราะไม่เคยเป็น ไม่เคยเข้าใจ จึงเถียง ทะลึ่งเถียงขึ้นมาว่าไม่ใช่ทาง ไม่ใช่หนทางอันแท้จริง นี่ อย่างนี้ก็มี นั่นก็ต้องให้อภัย เพราะว่าเหมือนบุคคลที่ทำแกงแต่ไม่ได้ชิมแกง ว่ามันเปรี้ยวมันเค็มมันมีหวานมีมันอย่างไร เหมือนท่านเปรียบสารพีที่คนอยู่ในแกงไม่รู้รส เหมือนกันกับนักปฏิบัติเราก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่ตกในสภาวะที่ค้นคว้าพินิจพิจารณาแล้ว ยังมืดแปดด้าน ยังไม่เข้าใจส่วนละเอียดส่วนนี้ 

เพราะฉะนั้นการค้นคว้าพินิจพิจารณานี่เป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ต้องไปเอาอื่นไกลมากเพียงแต่นึกถึงอวัยวะของร่างกายเราเท่านี้ก็พอแล้ว เพราะฉะนั้นให้เดินอยู่เฉพาะกายอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เบื้องบนไปถึงปลายตีน ถึงมือซ้ายมือขวา ถึงปลายตีนเบื้องขวา ปลายตีนเบื้องล่าง เดินจากปลายตีนเบื้องขวาขึ้นมาหาเบื้องซ้าย จากปลายตีนเบื้องซ้ายขึ้นมาหาเบื้องบน อย่างนี้ตลอดๆ ลองดูเถอะ แต่อย่างนี้ไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่ของสบายเหมือนกัน จะทำให้ใจอยู่หนึ่งกับกายอันเดียวเนี่ยลองดูเถอะ นักสมาธิดีๆก็ลองดูได้ ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูว่าจะจริงแค่ไหน ลองดูๆ ที่เราว่าเรามีความรู้มีความฉลาด รู้จักในข้อปฏิบัติจริงแล้ว ต้องลองด้วยพิธีนี้ ถ้าลองดูให้ชัดว่าจะพิจารณาได้นานขนาดไหน ตั้งนาฬิกาลืมตาดูก่อนที่จะนั่ง เอาให้จริงๆอย่างนี้ นี่ รู้หรือไม่รู้ รู้กันตรงนี้ ถ้าพิจารณากายไม่ได้แสดงว่ายังหยาบอยู่ อย่าเข้าใจตัวเป็นผู้ประเสริฐ ไม่ได้! ต้องเข้าใจอย่างนั้น กำหนดลองดูเถอะ ใจที่มันเข้มแข็งพร้อมด้วยทั้งสติทั้งสมาธิแล้ว มันก็จะกดจึ่ง…ลงไปได้ตลอดเวลาอย่างนั้น เดินขึ้นเดินลง เดินไปซ้ายเดินไปขวา เดินไปหน้าเดินไปหลัง นึกได้ตลอดเวลาอย่างนั้น นี่ นี่แหละ มรรคตัวสำคัญ 

อันนี้เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว มันจะเป็นเหตุ ก้าวไปสู่ความสิ้นทุกข์ ความหมดทุกข์ เพราะกายตัวนี้ เราหลงติดกาย หลงตัวนี้เอง หลงหญิงหลงชาย หลงสวยหลงงามก็หลงตัวนี้ ไม่นอกไปจากตัวนี้ เพราะฉะนั้นต้องค้นกายของเราลงไปให้หนัก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงแสดงอานิสงส์ว่า เพียงค้น ๗ วันถ้ากระทำจริงๆ บางทีสามารถได้สำเร็จตั้งแต่โสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตอรหันต์ นั่น! ๑เดือน ๒เดือน ๓เดือน ๔เดือน ๕เดือน ๖เดือน ๗เดือน ตลอดไปอย่างนั้น ถึงจนกระทั่ง ๗ ปี ถ้าเพียรพยายามอยู่อย่างนั้นอย่างต่ำที่สุด ท่านจัดไว้ว่าได้อนาคามีตา แต่ลักษณะการค้นคว้าชนิดของปัญญานั้น ไม่เกิดปฏิภาค ปฏิภาคดับแล้ว ส่วนนี้เป็นส่วนละเอียด ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนหยาบ เราอย่าเข้าใจว่าปฏิภาคเป็นส่วนละเอียด ถ้าลงค้นอย่างนี้แล้วปฏิภาคดับ เพราะใจไม่มีปฏิภาค ใจที่ค้นคว้าอย่างนี้ไม่เกิดปฏิภาค 

นอกจากระยะต้นๆใหม่ๆอย่างนั้นจึงบางครั้งบางคราวก็มีขึ้น เมื่อกำหนดให้ขาดมันก็ขาดเกิดขึ้นเห็นชัด เหมือนอย่างเราดูโทรทัศน์ด้วยตาเราอย่างนั้น แต่นี่ดูด้วยตาใจ ดูด้วยหัวใจ ใจทำไมไปเห็นอย่างนั้นได้ นี่จึงว่าเป็นของแปลก เป็นของมหัศจรรย์ ใจเราตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งในสภาวะบรรลุนิติภาวะจนอายุมัน ๒๐ปีอย่างนี้ เราก็หลับตาอยู่ไม่เคยเห็นอันใดซักทีนอกจากฝัน แต่ใจเมื่อทำสมาธิลงไปแล้ว ใจเกิดสงบแล้ว ใจเกิดมีพลัง ใจมีความเข้มแข็ง ใจนั้นสามารถจะมองเห็นสิ่งต่างๆลงไปได้ อย่างตัวเราเมื่อเรากำหนดนึกอย่างนั้นเมื่อใจสงบแล้ว กำหนดให้หัวขาด ปรากฏหัวขาดลงไป แล้วก็นึกให้เลือดไหลแดง ก็เลือดก็ปรากฏ นี่อย่างนี้ เบื้องต้น ในลักษณะของสมาธิที่มีอำนาจแก่กล้านึกได้อย่างนั้น แต่ลำดับอย่างนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้น จะต้องเพ่งอยู่หน้าเดียวพอนึกเสร็จแล้วก็ต้องเพ่งดูอยู่อย่างนั้น ใช้ความคิดนึกไม่ได้ ลักษณะของสมาธิที่กำลังแรงก็ต้องเป็นอย่างนั้น 

แต่ส่วนการที่จะใช้ปัญญาก็จำเป็นจะต้องคิดให้ละเอียดแยบคายกว่านั้น เมื่อใช้ปัญญาค้นคว้าพินิจพิจารณาแยบคายลงไปมากกว่านั้นแล้ว ลักษณะนั้นก็เป็นปฏิภาคนั้นก็ต้องดับ ไม่ปรากฏขึ้น นี่ เพราะสภาวะของใจที่ไปค้นคว้าอยู่อย่างนั้น ทำให้ปฏิภาคดับ ตามที่สังเกตๆและตามที่ได้ศึกษากับครูบาอาจารย์มา แต่บางท่านบางคนเข้าใจว่าปฏิภาคสูง ไม่ใช่สูง สูงด้วยการค้นคว้าพินิจพิจารณานี่เป็นตัวสำคัญ 

อย่างเคยได้คุยกับหลวงปู่ขาวนี่ ปู่ขาวนี่ก็เป็นผู้ที่มีคุณธรรมอันสำคัญองค์หนึ่ง เพราะได้รับสามัญญาจากครูอาจารย์มั่น อาตมาได้ยินกับหูเองแต่ท่านพูดให้หมู่ฟังเท่านั้นว่า “เออ หมู่เอ้ยให้รู้จักท่านขาวไว้ด้วยเด้อ เธอได้พิจารณาของเธอแล้ว มาเล่าให้เราฟัง” พูดเท่านี้ นี่ก็กินหัวใจ ว่าปู่นี้ต้องเป็นพระที่สำคัญแน่นอน หลวงตายังไม่ทันรู้จัก เมื่อออกจากครูจารย์แล้วก็ต้องพยายามค้นหาจนเจอ เป็นอย่างนั้น แล้วก็ได้ศึกษาคุยกันในเรื่องการปฏิบัติ ได้ถามสิ่งต่างๆนานาเพราะท่านเป็นผู้เฒ่าผู้แก่มีความชำนิชำนาญ เราสมัยยังเป็นเด็กอยู่ก็ต้องศึกษากับครูบาอาจารย์ สิ่งใดผิด สิ่งใดถูกแล้วก็ได้เป็นประโยชน์ นี่ ก็ได้นำมาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็เทศน์ไปตามประสาที่ได้ยินได้ฟัง ความเข้าใจมันก็ยังน้อยอยู่ หลวงตาไม่ใช่เป็นผู้ประเสริฐเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการค้นคว้านี่เป็นหลักสำคัญ ค้นลงไป ค้นให้มาก อย่างไปเจอกันกี่ที่ ปู่ก็ถาม “เจี๊ยะ เป็นไงเอ้ย ค้นบ่” “ค้นครับ” “เอ้อ เอาอย่างนั้นสิ” นี่ ทุกทีถ้าเจอะคุยกันละก็ต้อง “ค้น ค้นครับครูจารย์ ค้นแยะ” “เอ้อ ดี” นี่ เพราะฉะนั้นก็มาเตือนสติพวกเรา ผู้ที่ทำสมาธิดีแล้ว อย่าได้นอนใจ ค้นคว้าพินิจพิจารณาไป 

กายนี่เป็นของดี พิจารณาแล้ว มันจะเกิดความเบื่อความหน่าย คลายความกำหนัดของหัวใจที่ไปเคยติด หลงว่าตัวเรา ว่าตัวเขา ตัวมึง ตัวกู อันนี้มันจะถอดถอนไป เพราะเมื่อพิจารณามากเข้าๆ มันก็เกิดความเบื่อหน่าย อย่างในอนัตตลักขณสูตรท่านแสดง เกิดนิพพิททา ความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายในสังขารร่างกายของเรา เมื่อใจที่จดจ้องค้นคว้าพินิจพิจารณาอยู่ในอารมณ์อันหนึ่งของกายอย่างนั้นแล้ว มากเข้าๆมันก็เกิดความเบื่อหน่าย หน่ายอย่างในชีวิตเราไม่เคยเจอะ มันก็หน่ายลงไป หน่ายจนบางครั้งบางคราวน้ำหูน้ำตาไหลลงมาเกิดความสังเวชสลดใจ ในชีวิตเราไม่เคยเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นขึ้นมา จึงว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ เมื่อบุคคลใดๆได้ลิ้มรสเข้าไปแล้ว มันจะต้องติดคุณค่าราคาธรรมะ 

เรื่องโลกมีเงินเป็นร้อยเป็นสิบเป็นพันล้านมันก็ไม่มีคุณค่าราคาเท่าธรรมะของพระพุทธเจ้า สิ่งเหล่านั้นเป็นของนอกกาย เราไม่ได้เอาไปเลย ไม่ได้ติดตัวเราไปแม้แดงเดียวเก๊เดียว แม้แต่เสื้อผ้า ผ้าผ่อน ตายแล้วโลงเค้าทำมาดีๆสวยๆงามๆต้องเผาไฟหมด นี่ เมื่อท่านได้พิจารณาลงไปอย่างนั้นแล้ว ใจมันถอดใจมันถอนใจมันเกิดความสังเวชสลดใจอย่างนั้น จึงเรียกว่าเป็นประโยชน์มหัศจรรย์ของการบรรพชา ในชีวิตของเราได้พบพลอยเม็ดใหญ่อย่างมีค่าหาประมาณที่จะเทียบไม่ได้ นี่ อันนี้ประเสริฐที่สุด 

เพราะฉะนั้นเมื่อค้นคว้าพินิจพิจารณาลงไปแล้ว เห็นอะไรที่ประจักษ์ ฟังให้ดีๆตรงเนี้ย ฟังให้เข้าใจ แล้วท่านทั้งหลายลองกำหนดใจดู ใจที่ตั้งปกติกับใจที่คิด มันต่างกันอย่างไร เอ้อ ฟังนะ! แล้วก็ทำลงไป กำหนดดูซิ ใจที่ตั้งเป็นปกติ กับใจที่คิดอยู่ อันใดจริง อันใดไม่จริง นี่ มองดูเดี๋ยวนี้ ทำเดี๋ยวนี้ให้มันประจักษ์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วยังมีวิมุตติอีกอันหนึ่ง หลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง ปัญญาแต่ยังต้องมีวิมุตติหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง นี่ ฟังให้เข้าใจ ความคิดนึกปรุงแต่งที่พิจารณาตัวนั้น เรียกว่าปัญญา เรียกว่าเป็นมรรค ก็เรียกอีกนัยหนึ่งว่ามรรค ยังไม่ถึงผล ผลคือตัววิมุตติ ตัวหลุดพ้น เมื่อจิตพิจารณาแยกเห็นแจ้งชัดลงไปแล้ว ก็วางการค้นคว้าพินิจพิจารณาหรือเรียกว่าดับไปเองอย่างนั้น จิตตัวนั้นแยกออกมาเป็นเอกเทศ ไม่มีสิ่งใดเจือปน ความคิดนึกปรุงแต่งก็ดับหมดในขณะนั้น จิตเป็นเอกเทศ จิตเป็นเอก ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเกี่ยวเกาะพัวพันของหัวใจตัวที่รู้อยู่อย่างนั้น นั่น เพราะฉะนั้นเห็นโทษอันใดเมื่อพิจารณาอย่างนั้น ก็เห็นโทษความคิดนึก ความปรุงแต่งของใจนั้นเอง ไม่ได้เห็นที่อื่น นอกไปจากตัวเรา จากตัวใจของเราที่ดิ้นรนกระวนกระวาย ก็เห็นตัวนั้น ใจที่เห็นอย่างนั้นก็แยกออกมาอยู่ชัดจำเพาะใจอันเดียวเป็นปกติ ยืนเดินนั่งนอนไปที่ไหนก็อยู่อย่างนั้น ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ใจอย่างนั้นจึงเรียกว่าใจเป็นธรรม ใจเป็นมรรค ใจเป็นผล 

นี่เพราะฉะนั้นพวกเรานี่ก็จะครึ่งพรรษาแล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องขมักเขม้น ตั้งอกตั้งใจอย่าให้งานการอันใดมาทับถมเรา ต้องมุ่งการปฏิบัติที่เรามุ่งมาดปรารถนาตัวนี้เป็นจุดใหญ่สำคัญในชีวิต อย่างพวกญาติโยมที่เข้ามารักษาอุโบสถศีลก็เหมือนกัน จงอุตส่าห์ ตั้งอกตั้งใจ บำเพ็ญให้สมาธิเกิดขึ้นกับเรา แล้วผลกำไรก็ได้กับเรา เมื่อมีกำไรแล้ว เข้ามาอยู่วัดอยู่วา ได้กำไรในการบำเพ็ญสมาธิ เจริญศีลแล้วก็บำเพ็ญทาน ออกพรรษากลับไปบ้านเรามีกำไรแล้ว เหมือนการค้าขาย ได้กำไรตั้งหลายสิบชั่งหลายร้อยชั่ง มีลูกมีหลานกลับไปก็ได้แจกเค้า คนละชั่งสองชั่งคนละห้าชั่งหกชั่งสิบชั่ง อย่างนี้เค้าก็ชื่นอกชื่นใจ เมื่อกลับไปมาค้ามาขายในวัด ขาดทุนไม่ได้เลยสมาธิไม่ได้ซักที นี่ กลับไปก็ไม่มีกำไรอะไรจะไปแจกเค้า เค้าก็เสียอกเสียใจ 

เพราะฉะนั้นจงตั้งอกตั้งใจบากบั่นสู้อดสู้ทน ทำให้มันเห็นจริงเห็นจังเกิดขึ้นกับเรา นี่เป็นบุญอย่างมหาศาล อย่างเถ้าแก่โบราณจึงว่าไว้ว่า เพียงใจสงบเท่างูแลบลิ้น ควายกระดิกหู ช้างกระดิกหู อย่างนี้ก็มีอานิสงส์เหลือจะพรรณนา ยิ่งเราทำใจให้สงบเป็นชั่วโมงๆอย่างนั้นแล้วยิ่งมีอานิสงส์ใหญ่ ยิ่งเห็นพิจารณาสังขารร่างกายเป็นของไม่เที่ยงเกิดความสังเวชสลดใจ นั่นยิ่งมีอานิสงส์แรงขึ้นไปอีก ยิ่งเรียกว่าค้าได้กำไรแยะๆอย่างนั้น อย่างหลวงตาพูดเมื่อกี้เนี่ย เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจงพากันตั้งอกตั้งใจในสิ่งเรามุ่งมาดปรารถนามา อย่าให้เสียเวลาเพราะเวลาก็ครึ่งพรรษามาวันนี้แล้ว ก็วันนี้ก็เป็นวันค่ำหนึ่ง ครึ่งพรรษากับหนึ่งวัน ก็พากันตั้งอกตั้งใจให้มันเกิดเป็นขึ้น สมาธิไม่เป็นก็พยายามให้มันเป็นขึ้น ปัญญาที่เราเคยฝึกหัดเก่าแก่แล้วก็ต้องใช้การค้นคว้าพินิจพิจารณาลงไป อย่าไปมัวอยู่กับความสงบนั้นมากเกินไป มันจะเป็นฟืนเป็นไฟเกิดขึ้น เสื่อมเข้าแล้วมันก็หาที่ช่องเข้าไม่ได้ นี่มันเป็นเช่นนั้น 

เพราะฉะนั้นศาสนธรรมคำสั่งสอน คืนนี้ก็เทศน์ไพเราะนักหนา ให้พวกท่านทั้งหลายได้สดับตรับฟังนั้น จงจำให้เป็นคติแล้ว โอปนยิโก น้อมนำไปพินิจพิจารณา เมื่อพิจารณาตามธรรมะที่ได้บรรยายมานี้แล้ว ต่อนั้นไปก็จะได้บังเกิดความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังได้แสดงมา ก็สมควรแก่กาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้