หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร
การทำสมาธินั้นต้องอาศัยความตั้งใจที่แน่วแน่ ถึงจะเกิดเป็นผลขึ้นมา เพราะสมาธินั้นเป็นธรรมะชั้นสูง เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่สิ่งที่จะทำเล่น ต้องทำจริง พระพุทธเจ้าตรัสว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ ทำจับให้มั่นคั้นให้ตาย การจับให้มั่นคั้นให้ตายนั้นคือความทำจริง กุโส ยถา ทุคฺคหิโต หตฺถเมวานุกนฺตติ หญ้าคาที่กำไม่แน่นแล้วดึงมา ย่อมบาดมือ หญ้าคาก็ไม่ขาด มือของเราก็ต้องถูกบาดอย่างนี้ แต่ถ้าเรากำหญ้าคาให้แม่น ดึงมา หญ้าคาก็ขาด มือเราก็ไม่บาด ข้อนี้เป็นข้ออุปมาเรื่องของสมาธิที่จะให้พวกเราทั้งหลายได้พากันทำให้เป็นประโยชน์ ในชีวิตของเรานี่ ถ้าเราได้ทำแล้วค่าสูงเหลือเกิน เพราะฉะนั้นต่อไปนี้อาตมาจะเป็นผู้นำ ญาติโยมทั้งหลายก็ว่าตาม
ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ จงมาดลบันดาลให้ใจของข้าพเจ้า จงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ (๓ ครั้ง) พุทโธๆๆ
นึกไว้ในใจ นั่งขัดสมาธิ ขาเบื้องขวาทับขาเบื้องซ้าย มือเบื้องขวาหงายทับมือเบื้องซ้าย วางไว้บนตัก นึกพุทโธในใจ นึกพุทโธนั้น ไม่เร็วไม่ช้า อย่ากลั้นใจ วางร่างกายของเราให้สบาย ทำตัวของเราให้สบาย ทำตัวของเราให้เหมือนเราอยู่คนเดียว
พอหลับตาแล้วทุกอย่างก็ไม่เห็น เราเกิดมาคนเดียว ตายไปคนเดียว อย่างนี้เรียกว่าวิธีการ วิธีการทำสมาธิ เราท่านทั้งหลายการทำสมาธินั้นเป็นหนทางที่จะไปถึงซึ่งความสุขสบาย หรือเป็นหนทางที่จะทำให้เราพ้นจากทุกข์ได้ แม้ว่าจะเกิดความเจ็บความปวด ความเมื่อย ความเหนื่อย ความหิวมากมายเพียงใดก็ตาม ก็มิได้เป็นอุปสรรค คือเราอย่าถือว่าเป็นอุปสรรค เราต้องใช้ความอดทนเพื่อจะต่อสู้ในการบำเพ็ญสมาธินี้
เมื่อตั้งใจให้ดี แล้วก็ให้ธรรมะนี้หลั่งไหลทางหู แล้วก็รู้ถึงใจ เรากำหนดใจของเราไว้เฉยๆ ธรรมะนี้จะเข้าทางหูแล้วจะถึงใจของเราเอง เพราะว่าธรรมะไม่ได้อยู่อื่นไกล ธรรมะอยู่ในตัวของคน พระพุทธเจ้าสอนนั้นไม่ได้สอนนอกเหนือไปจากตัวคน ที่พระองค์ได้ทรงแสดงว่า ปัญจขันธา ขันธ์ทั้งหลาย ๕ รูปะขันโธ รูปนั้นเป็นขันธ์นึง เวทนาขันโธ เวทนาเป็นขันธ์นึง สัญญาขันโธ สัญญาเป็นขันธ์นึง สังขารขันโธ สังขารเป็นขันธ์นึง วิญญาณขันโธ วิญญาณก็เป็นขันธ์นึง
พระพุทธเจ้าที่ตรัสเทศนาถึงขันธ์ ๕ ก็คือเทศนาถึงตัวของเรา ทุกคนที่นั่งอยู่นี่มีขันธ์ ๕ ทั้งนั้น ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง ถือว่าเป็นส่วนร่างกาย ในร่างกายอันนี้ ที่เรามีอยู่นี้จึงเป็นรากฐาน เรียกว่ารากฐานที่จะทำให้เกิดคุณธรรม ทำให้เกิดสมาธิ ทำให้เกิดความสุข ก็เกิดมาจากฐานต้น คือร่างกายนี้เป็นอันดับแรก ถ้าร่างกายอันนี้ไม่มี ไม่รู้เราจะไปสอนกันตรงไหน หรือว่าเราจะไปสอนวิญญาณมันก็สอนไม่ได้ หรือเราไปสอนอทิสสมานกาย มันก็สอนไม่ได้ ก็ต้องสอนกันในร่างกายนี้
ร่างกายอันนี้จะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ร่างกายอันนี้มีครบ เมื่อต้องการดูรูปก็ได้ ต้องการฟังเสียงก็ได้ เพราะฉะนั้นร่างกายจึงถือว่าเป็นฐาน คือเป็นฐานที่มีความสำคัญ เมื่อเราได้ร่างกายนี้มา และเราได้พากันปฏิบัติก็เท่ากันกับว่า เราได้สิ่งที่ถูกต้อง แล้วเราก็ปฏิบัติถูกต้อง ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงมหาสติปัฏฐาน พระองค์ก็ตรัสเอากายานุปัสสนาสติปัฏฐานขึ้นต้น แล้วพระพุทธองค์สั่งให้ทำอย่างไรต่อกายอันนี้
พระองค์สั่งให้พิจารณาว่าร่างกายนี้เป็นปฐม หรือร่างกายนี้เป็นตัวประสานงาน เมื่อเรามีร่างกายอันนี้แล้ว ร่างกายอันนี้ก็จะต้องเป็นตัวประสานงาน คือประสานงานกับใจ ประสานงานกับคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ที่ว่าประสานงานนั้นก็คือนำร่างกายอันนี้มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาทำสมาธิ นำมาเป็นเครื่องพิจารณา การพิจารณานั้น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าได้ทรงรับสั่งต่อมาว่า
อยํ โข เม กาโย กายของเรานี้แล
อุทฺธํ ปาทตลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อโธ เกสมตฺถกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตจปริยนฺโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโร นานปฺปการสฺส อสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ
อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย มีอยู่ในกายนี้
คือของไม่สะอาดก็มีทั้งกระดูก เนื้อ หนัง อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด น้ำเหลือง ที่อยู่ในร่างกายอันนี้ เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้ร่างกายอันนี้เป็นประโยชน์กับเรามากที่สุด แต่ถ้าเราพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายอันนี้เกิดมาดับไป อย่างนี้ก็เรียกว่า เราทำได้ดีที่สุด เราได้ประโยชน์จากร่างกายอันนี้
แต่ถ้าเราคิดถึงว่าร่างกายอันนี้มันเป็นของสวยงาม ร่างกายอันนี้ก็สักแต่ว่าร่างกาย เราก็เลยกลับกลายเป็นการเพิ่มกิเลสให้กับตัวของเรา การเพิ่มกิเลสนั้น ความรักเป็นส่วนการเพิ่มกิเลส ความโกรธเป็นส่วนเพิ่มกิเลส ความหลงเป็นส่วนเพิ่มกิเลส กิเลสทั้งสามกองนี้เป็นส่วนที่จะต้องเพิ่ม คือเป็นการเพิ่มกิเลสขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เราก็ไปเชื่อกิเลสนั่น ก็ย่อมจะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ถ้าเชื่อความรัก ความรักก็จะก่อความฟุ้งซ่าน ถ้าเชื่อความโกรธ ความโกรธก็จะก่อความฟุ้งซ่าน ถ้าเชื่อความหลงก็จะก่อให้จิตนี้เกิดความมัวเมา นี่คือเราไปเชื่อ คือเราเชื่อตัวกิเลส เมื่อเราเชื่ออย่างนั้น เราก็จะต้องได้รับผล คือได้รับผลในทางที่ทำให้เราแสวงหา แล้วก็เพิ่มพูนสิ่งต่างๆที่ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนทำให้เกิดความเศร้าหมอง
ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้ให้พิจารณาอสุภกรรมฐาน เพื่อที่จะได้ปลงสังเวช แล้วก็จะได้รู้เท่าถึงความจริง เมื่อปลงธรรมสังเวช รู้เท่าถึงความจริงแล้ว จิตนั้นก็กลับคือกลับเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิได้ในเบื้องต้น เราก็มีโอกาส คือมีโอกาสที่จะก้าวหน้าต่อไปในทางที่ถูกต้อง เมื่อโอกาสที่จะก้าวหน้าของเรามีอยู่ เราก็จะต้องใช้ความตั้งใจหรือใช้ปัญญา ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เพราะถ้าหากว่าทำจิตของเราสงบแล้ว เราใช้ปัญญาก็สามารถรักษาความสงบต่างๆเหล่านี้ไว้เป็นหลัก สามารถที่จะควบคุมให้เกิดเป็นพละกำลังขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา รู้เรื่องของการปฏิบัติ คือรู้เรื่องของการกระทำจิต จึงได้เป็นผลเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นคือเป็นปัจจัย เป็นบารมี เป็นการสร้างสมเพิ่มเติมบารมีเหล่านี้ขึ้นมา เมื่อสร้างสมอบรมบารมีเหล่านี้ขึ้นมามากแล้ว ก็ทำให้เกิดความวิเศษ คือพิเศษ ความวิเศษหรือเรียกว่าการพิเศษนั้น มันนอกเหนือไปจากสิ่งธรรมดาทั่วไป เพราะสิ่งธรรมดานั้นไม่ใช่พิเศษ มันเป็นของปรกติ ส่วนสิ่งที่เรียกว่าเป็นพิเศษนั้น คือนอกเหนือจากความปรกติ ใจของเรานั้นที่ได้รับการพัฒนาเลยจากความปรกติไปนั้น ก็คือการที่มีการกระทำที่ต่อเนื่อง การกระทำต่อเนื่องจากวันนี้ไปหาวันต่อไป จากวันต่อไปแล้วก็ไปหาวันต่อไปอีก อย่างนี้เค้าเรียกว่าเป็นการต่อเนื่อง
ผู้ที่จะสำเร็จต้องอาศัยความต่อเนื่องนี่แหละเป็นหลักใหญ่ เพราะฉะนั้นในท่านพระสาวกผู้ที่ต้องการพ้นจากทุกข์อย่างจริงๆจังๆ ท่านจึงได้ออกธุดงค์กรรมฐานเพื่อที่จะได้สร้างความต่อเนื่องอันนี้ให้ติดต่อกันไปเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
การที่พวกทำสมาธิพอเป็นพิธีหรือว่าพอเป็นนิสัย อันนี้เรียกว่ามันเป็นส่วนเล็กน้อย เรียกว่าเป็นส่วนน้อยมาก เพราะการกระทำเพียงเพื่อเป็นนิสัย หรือเรียกว่าทำไม่ให้เกิดมาก ไม่ได้เกิดสมาธิขึ้นมามาก เพียงเพื่อให้สบายเล็กๆน้อยๆก็พอแล้ว หรือทำเพื่อเราจะได้บุญก็พอแล้ว อย่างนี้เรียกว่าเป็นเพียงกระทำเพื่อพอเป็นนิสัย ไม่ได้เป็นเรื่องของการทำจริง
แต่การทำพอเป็นเพียงนิสัยนั้นก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้ผล ก็เป็นผลเป็นประโยชน์ แต่ว่าต้องใช้เวลานาน คือใช้เวลาอันยาวนาน อย่างการเดินทางอย่างนี้ เราเดินไปซักกิโลสองกิโล แล้วเราก็หยุดซะ อย่างนี้ มันก็ต้องใช้เวลายาวนานมาก ส่วนผู้ที่เดินไปวันละ ๔๐ ๕๐ กิโล อันนี้ก็ไม่ต้องใช้เวลายาวนาน เพราะฉะนั้นก็เปรียบเหมือนกันกับผู้ที่บำเพ็ญสมาธิ ถ้าเราจะเอาเพียงแค่นิสัยวาสนา เราก็ทำกันไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ มันก็มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นนิสัยวาสนาไปเรื่อยๆ
แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องมีความรู้ ความรู้นั้นเป็นตัวที่จะต้องจุดชนวน หรือเป็นตัวนำที่จะเข้าสู่ความถูกต้อง แม้เราจะกระทำเล็กน้อยก็ตาม แต่ถ้าหากว่ามันเป็นการถูกต้องแล้ว ผลนั้นมันก็มากทีเดียว แต่หากว่าเราทำกันจริงๆจังๆ อดหลับ อดนอน อดอาหาร แต่ว่าการดำเนินจิตนั้นไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะทำนานเพียงแค่ไหน ก็ไม่ได้ผลอย่างยิ่ง เพราะว่าขาดความรู้ คือขาดความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะเป็นอันว่าถูกต้องยิ่งๆขึ้นไป
ความผิดของเรื่องสมาธินั้นมีอยู่มากมาย บุคคลผู้ที่สร้างความผิดขึ้นนั้นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรียกว่าขาดความรู้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เราต้องใช้โอกาส เราต้องใช้เวลา เมื่อเราใช้โอกาสเวลาแล้ว เราก็ต้องมีสติและปัญญา เมื่อเรามีสติปัญญาพร้อม การเดินหรือการที่เราจะพยายามให้จิตอันนี้เข้าสู่ความถูกต้องนั้น ก็เป็นเรื่องง่ายนิดเดียว เหมือนกันกับคนที่รู้เข้าใจ การที่จะเดินเข้าประตูบ้านเรานี่ มันเป็นสิ่งง่ายเหลือกัน แทบที่จะหลับตาเดินก็ได้ แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่เคยกับบ้านของเราอย่างนี้ จะต้องหาประตูนานทีเดียว กว่าจะได้พบประตูทางเข้าได้
ข้อนี้ก็เปรียบเช่นเดียวกัน การที่พวกเราได้พากันมาปฏิบัติกันอยู่นี้ เมื่อถูกต้องแล้วก็เท่ากันกับว่าเป็นบ้านของเรา เป็นประตูที่สามารถจะเดินเข้าเดินออกได้สบาย เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็จำเป็นต้องศึกษา ครูบาอาจารย์มีที่จะศึกษาไม่ต้องไปกลัว คือไม่ต้องไปกลัวครูบาอาจารย์ เราจะต้องเป็นตัวของเราเอง แล้วแหละเราก็ช่วยกันขวนขวาย คือช่วยตัวของเราขวนขวายต่อไป เท่าที่พูดมาในเรื่องลักษณะของผู้ที่จะบำเพ็ญความเพียรนี้ เพื่อที่จะให้เข้าใจ เข้าใจเสียก่อน คือทำความเข้าใจเสียก่อน แล้วเราจะได้เดินไปในทางถูกต้องแท้จริง
ปฐมฌานนั้นมีอยู่ ๕ ประการ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อาตมาจะลำดับฌานให้ทราบ วิตกนั้น วิจารนั้น ได้แก่คำบริกรรม คนที่จะบริกรรมพุทโธก็ดี บริกรรมสัมมาอรหังก็ดี บริกรรมอัฐิก็ดี บริกรรมอะไรก็ได้ ในคำบริกรรมนั้นคือการบริกรรมนั้นถือว่าเป็นเรื่องของปฐมฌาน คือเป็นองค์ที่หนึ่ง กับองค์ที่สอง เรียกว่าวิตก เรียกว่าวิจาร เมื่อเป็นเช่นนั้นต่อไป ปีติคือความอิ่มใจก็เกิดขึ้น ความอิ่มใจนั้นได้แก่ความสุขสบายที่ปราศจากอารมณ์ ไม่มีอารมณ์เข้ามาเจือปน ก็เลยเกิดปีติ คือความเอิบอิ่ม เมื่อวิตก วิจาร ปีติ แล้วก็มีความสุข ความสุขก็คือความสบายของจิตใจนั่นเอง เรียกว่าไม่วอกแวกไปตามอารมณ์ต่างๆ เกิดความสุข และเอกัคคตาสุดท้ายก็คือความเป็นหนึ่ง
พอนึกพุทโธมากเข้าๆ จิตมันก็จะค่อยหดตัวลงตามลำดับ การหดตัวของจิตนั้นก็คือการที่ถูกเลาะอารมณ์ต่างๆออกไปแล้ว ก็เกิดความเป็นหนึ่งของจิต นี่เรียกว่าปฐมฌาน ต่อไปนั้นเป็นทุติยฌาน ทุติยฌานนั้นมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นอันว่า วิตก วิจารไม่ต้อง ในฌานที่สองนี้ คือพุทโธไม่ต้อง คำบริกรรมไม่ต้อง ถ้ายังใช้คำบริกรรมอยู่ ผู้นั้นก็ยังอยู่ในปฐมฌาน คือยังก้าวไปถึงฌานที่สองไม่ได้ เพราะจิตยังไม่มั่นคงพอ ที่ว่าจิตไม่มั่นคงพอก็เพราะว่ากำลังยังไม่พอ ก็ต้องนึกพุทโธไปก่อน
เมื่อกำลังพอแล้ว พุทโธไม่ต้องนึก แต่จิตก็เหมือนกันกับนึกพุทโธเหมือนกัน คือมีความเป็นสมาธิเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจิตของคนเราที่จะเลื่อนชั้น จากปฐมฌานมาถึงทุติยฌานนั้น ก็ต้องเลื่อนชั้นอย่างนี้ คือไม่ต้องบริกรรม แต่ว่าจิตมันก็อยู่ได้เหมือนคำบริกรรมเหมือนกัน นี่เป็นฌานที่สอง และฌานที่สองนี้มีความสุข และก็มีปีติอีกด้วย ความเอิบอิ่มต่างๆ
ต่อจากนี้ไปจิตก็จะเลื่อนขึ้นถึงฌานที่ ๓ เมื่อถึงฌานที่ ๓ แล้ว ก็ตัดความปีติออกไป ฌานที่ ๓ นั้นก็มีแต่ความสุขและเอกัคคตา ยังมีความสุขอยู่ แต่ปีตินั้นไม่มีแล้ว มาถึงฌานที่ ๓ นี้ ปีติไม่มีแล้ว มีแต่สุขกับเอกัคคตาคือความเป็นหนึ่ง ไม่ต้องบริกรรม ถ้ามาถึงฌานที่ ๓ แล้ว ยิ่งไม่ต้องบริกรรมใหญ่ เพราะกำหนดจิตเข้าไปแล้วนี่ มันก็จะเข้าไปตั้งอยู่ได้เองอย่างนี้ แล้วก็มีแต่ความสุข แล้วก็มีแต่ความเป็นหนึ่ง การตั้งอยู่นั้นไม่ใช่ตั้งห้านาที สิบนาที (เสียงไม่ชัด)
เมื่อเลยจากตติยฌานแล้วก็มาถึงจตุตถฌานคือฌานที่สี่สุดท้าย ฌานที่สี่นั้นมีแต่อุเบกขากับเอกัคคตา คือความวางเฉยและก็มีความเป็นหนึ่ง นี่เรียกว่าจิตชั้นยอด ถ้าทำมาถึงนี่ได้ถือว่าจิตชั้นยอด อย่าไปเชื่อคำบริกรรม ถ้าหากเราเชื่อและติดอยู่ในคำบริกรรมแล้ว จิตของเรานี้ก็จะก้าวเป็นฌานตามลำดับอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นฌานที่ ๔ จึงเหลือแต่อุเบกขา เอกัคคตา
ข้อนี้อาตมาจะเปรียบเทียบให้ฟัง เปรียบเหมือนกับคนเรานี้ เกิดมาก็ยังไม่เคยมีบ้านซักหลัง ยังไม่เคยมีรถเก๋งซักคัน อยู่ๆต่อมา เกิดมีเงินขึ้นมา ถูกลอตเตอรี่บ้างอะไรบ้าง ก็เกิดมีเงินขึ้นมา แล้วก็เอาไปซื้อบ้าน เอาไปซื้อรถ เพราะว่าไม่เคยมีเลย ก็เกิดปีติจนตัวลอย เรียกว่าเต้นจนตัวลอย อย่างนี้เรียกว่าเกิดความเอิบอิ่ม ถ้าเปรียบก็เหมือนกับปฐมฌาน
แต่บุคคลคนเดียวกันนี้ ต่อมาในภายหลังเกิดร่ำรวยมหาศาล รถจะเอาเท่าไหร่ก็ได้ บ้านจะเอากี่หลังก็ได้ พอไปถึงขั้นนี้แล้ว ไอ้ความอิ่มเอิบปีติไอ้อย่างที่ไม่เคยได้พบนั่น จิตนั้นมันก็หายไป พอได้รถคันงามๆคันที่สองที่สามที่สี่ มันก็เท่านั้นแหละ คือมันไม่มีปีติเหมือนเดิม ฉันใดก็ดี อันนี้เป็นข้อเปรียบเทียบ เหมือนกันกับจิตที่ไปถึงอุเบกขากับเอกัคคตา เรียกว่าจิตดำเนินถึงฌานชั้น ๔ ก็จะไม่มีความเอิบอิ่มถึงแม้ว่าจิตนั้นจะละเอียดแค่ไหนก็ตาม ก็จะเกิดมีความรู้อยู่เท่านั้น
เพราะฉะนั้นเรื่องของฌานนี้ ถ้าใครทำได้ ผู้นั้นจะดำเนินวิปัสสนาได้ต่อไป เพราะการดำเนินวิปัสสนานั้นต้องอาศัย อาศัยอะไร อาศัยพลังจิต เมื่อเกิดพลังจิตขึ้นจากฌานทั้ง ๔ คือปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ก็นำเอามาพิจารณาร่างกาย พิจารณาถึงสิ่งต่างๆทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้
เป็นประดุจท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ท่านมีดวงตาเห็นธรรมว่า ยงฺ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา อันนี้ต้องเกิดขึ้นจากญาณ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากความนึกคิด เพราะว่าเราไปคิดเบื่อหน่ายเอา มันก็ไม่ได้ การที่จะเบื่อหน่ายขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยกำลัง คืออาศัยกำลังของฌานพิจารณาถึงความเกิดความดับ ร่างกายเกิดมาแล้วก็แก่แล้วก็ตาย น่าสังเวชสลดใจ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสังเวชสลดใจอันนั้นถือว่าเป็นวิปัสสนาญาณ ดำเนินวิปัสสนานั้น ดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์ ดำเนินสมถะนั้น ดำเนินเพื่อความสงบ ดำเนินเพื่อความเป็นกำลัง เมื่อกำลังเป็นที่เพียงพอ พิจารณาก็เห็นจริงแจ้งประจักษ์ การเห็นจริงแจ้งประจักษ์นั้นจึงได้ชื่อว่า เป็น ปัจจักขสิทธิ เมื่อเป็นปัจจักขสิทธิก็ถือว่าเกิดเป็นสัจธรรม พิจารณาเห็นจริงแจ้งประจักษ์ลงไปถึงสัจธรรมอันนี้ก็จะสามารถที่จะกำจัดกิเลสออกไปได้โดยสิ้นเชิงด้วยวิปัสสนา
เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า สมโถ จ วิปสฺสนา จ ความสงบด้วย การมีปัญญาด้วย อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลาย การที่เราได้พากันบำเพ็ญในทางถูกต้องแล้ว ก็น่าจะต้องภาคภูมิใจ หรือดีใจที่เราเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ที่เราช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนานี้ไว้ เมื่อเรารักษาศาสนาครั้งแรก ต่อไปเราก็รักษาเรา คือรักษาตัวของเราให้เกิดความเป็นไปยิ่งๆขึ้น สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ภาวิโต การเจริญให้มาก พาหุลีกโต เจริญให้มาก อภิญญายะ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง สัมโพธายะ เป็นไปเพื่อความรู้ดี นิพพานายะ เป็นไปเพื่อความดับสนิท ต่อไปนี้ขอท่านทุกคนจงพากันตั้งใจนั่งสมาธิกันต่อไป