Skip to content

การปฏิบัติของพระกรรมฐานสมัยก่อน

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย

| PDF | YouTube | AnyFlip |

จากนี้ไปพวกเราก็จะได้บำเพ็ญกันให้พยายามให้มาก บำเพ็ญนี่ เราจะเอาเฉพาะเวลาที่เรามาบำเพ็ญก็ไม่ได้ เราต้องเอาอยู่ตลอดเวลา มานึกถึงอยู่สมัยกระโน้น หลวงปู่มั่นภูริทัตตเถระ ท่านเป็นประมุขประธาน พยายามสังเกตดูแล้วนี่ ท่านไม่ได้เอาเฉพาะเวลาที่มาไหว้พระ  มานั่งสมาธิเท่านั้น คณะทำกันอยู่ตลอดวัน การเดินจงกรม การทำสมาธินั้น เอากันอยู่ตลอดเวลา พอเหนื่อยยืนก็นั่ง พอเหนื่อยนั่งก็ยืน เดิน นอน นั่ง เปลี่ยนอิริยาบถกันอยู่ตลอด ตลอดทุกสิ่งทุกอย่าง 

สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสมาธิต้องช่วยกันป้องกันอย่างแข็งแรง เสียง การที่จะกระทบรบกวนหมู่ผู้ปฏิบัติ ก็ป้องกันกันอย่างดี อย่างที่เล่าให้ฟัง เพียงแค่ไม้ชำระ เราเอาเลื่อยตัดธรรมดานะ ไม่ใช่เอามีดฟัน เอาเลื่อยตัด ก็ยังต้องออกจากรัศมี จนกระทั่งสังเกตได้ว่าเสียงไม่มารบกวนหมู่คณะ แล้วก็พระเณรที่เข้าไปต้องร่วมกันทำ พอตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ผ่า ผ่าออกเป็นชิ้นพอดีๆ แล้วจึงจะใส่กระบุงกัน เวลาเดินจงกรมเหนื่อย นั่งเหนื่อย ยืนเหนื่อย นอนเหนื่อย ได้จังหวะเวลาก็เหลากัน เราลองคิดดูแค่นั้นก็แล้วกัน การรักษาอันตรายต่อสมาธิ เสียงเนี่ยสำคัญ รักษาเหลือเกิน 

นอกเหนือจากนั้นไปแล้วอีก กิริยาที่แสดงออกทางกาย ทางวาจา ครอบคลุมอย่างที่สุด ไม่เป็นอันตรายต่อสมาธิจิตเลย คำพูดต้องมีขอบเขต ต้องพูดต้องคุยกันในสิ่งที่จะเป็นไปเพื่อสมาธิจิต ไม่ได้คุยนอกลู่นอกทาง มีแต่อุบายวิธีชวนกันในการบำเพ็ญที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ องค์ไหนดำเนินไปได้ถึงไหน ก็เอามาบอกเล่าเก้าสิบกัน องค์ที่ยังไม่ได้ก็ดิ้นรน ขัดข้องอะไรก็มาปรึกษาหมู่คณะ ในเมื่อหมู่คณะในระหว่างไม่มีความสามารถที่จะแนะนำได้ ก็เข้าไปกราบหลวงปู่ หมายถึงหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านก็แนะให้เรา 

พอท่านแนะข้อขัดข้องให้เราแล้ว พวกเราออกมาก็ตั้งใจปฏิบัติ ทำให้ท่านอยากสอน ทำไมถึงว่าอย่างนั้น เพราะท่านเทศน์ไปแล้ว ท่านสอนไปแล้ว ไม่ใช่สอนปากเปล่า ไม่ใช่เทศน์เปล่าๆ หมู่คณะตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันจริงๆ กฏระเบียบคือกฏระเบียบต้องรักษากันอย่างเคร่งครัด แต่ละองค์ต้องมุ่งจริงๆ รักษากฏระเบียบเป็นอย่างดี ไม่ฝ่าฝืน หมู่คณะที่ดำเนินกันอยู่ ท่านเห็นอยู่ ท่านก็อยากจะสอน 

แต่ลองดูสิ ถ้าหมู่คณะฝ่าฝืนกฏระเบียบ หรือท่านสอนไปแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติ ไม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ เพื่อที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จแล้ว ท่านก็ไม่สอน เพราะฉะนั้นท่านขยันสอนก็บรรดาพวกเรา พระสงฆ์พวกลูกศิษย์ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ จนเป็นที่น่าเชื่อถือสำหรับท่านผู้มอง ท่านก็มีความสามารถที่จะสอนเราได้ทุกวัน สอนอยู่นั่นน่ะ เพราะความดีอกดีใจกับลูกศิษย์ นี่เป็นอย่างนั้น 

ส่วนกิริยาของกายก็เหมือนกัน การลุก การเหิน การเดิน การนั่ง ต้องมีคำว่าสุภาพชน ต้องกลั่นกรองวิเคราะห์ ไม่ได้แสดงออกโดยธรรมชาติธรรมดา วิเคราะห์แล้ว พิจารณาแล้ว จะลุกทีจะนั่งที ไม่ใช่พรวดพราด ต้องนึกถึงซะก่อนว่าเราคือใคร เราลูกพระตถาคต ลูกพระพุทธเจ้า การลุกยังไงจะเรียบร้อย มีคุณสมบัติของสมณะคือสุภะ หมายความว่าความสุภาพ และไม่เป็นที่น่ารังเกียจของคนได้เห็น การลุกต้องมีแบบฉบับ ต้องว่าตามแบบฉบับ อันนี้เป็นอย่างนั้น 

แม้แต่จะนั่งลงก็เหมือนกัน นั่งลงธรรมเนียมแล้วเนี่ย ครูบาอาจารย์นี่ท่านสอนดีมาก อย่างอาสนะที่ปูไว้น่ะ พระเณรทุกองค์จะไปขึ้นเหยียบบนอาสนะนั้นไม่ได้เลย ถ้าเหยียบบนอาสนะแล้วก็ ต้องเทศน์กันอยู่นั่นแหละ เทศน์ชี้แจ้งอยู่นั่นแหละ ต้องให้เข้าใจ ก่อนจะเข้าไปนั่งอาสนะ นั่งยังไงให้มันเป็นไปตามแบบฉบับ ไม่ใช่เดินก้วกๆเข้าไปยืนอยู่บนอาสนะ เอาตีนไปเหยียบแล้วไปยืนอยู่บนอาสนะแล้ว แล้วก็วางเข้าวางของแล้วลงไปนั่ง ไม่มี ขัด! สมัยนั้นไม่มี ขัด

อันนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนสมัยนี้ สมัยนี้อาสนะที่เค้าปูแล้ว เรียบร้อยแล้วเนี่ย เดินก้วกเข้าไปเหยียบเสียก่อน เหยียบเรียบร้อยซะก่อน ถึงค่อยไปเวียนๆๆแล้วก็นั่งลง อันนี้ขัด ผมมองแล้วรู้สึกว่าไม่เหมาะ ไม่เหมือนยุคสมัยกระโน้น 

ยุคสมัยกระโน้นไม่มีนะครับ ก่อนจะนั่งลงต้องคุกเข่าก่อน คุกเข่าลงต่อหน้าอาสนาะ สมมุติอาสนะปูอย่างเนี้ย ต้องคุกเข่าไปทางนี้ก่อน พอคุกเข่าลงมา ก็เอาผ้านิสีทนะตัวเองปู พอเอาผ้านิสีทนะของเราปู ทับลงไปอีกทีนึงแล้ว เราขึ้นมานั่ง ครับ พอปูทับเสร็จเรียบแล้วหละนะครับ เราก็เอาหัวเข่าเข้ามาเกย เสร็จแล้วก็เอนนั่งลงไปเลย ไม่ใช่มายืนทะเล่อเท่ออยู่ข้างบน แล้วก็นั่งลงไป ไม่ใช่ ไม่มี สมัยนั้นไม่มี ระเบียบ ไม่มีครับ ครูบาอาจารย์ท่านสอนเหลือเกิน อาสนะเค้าปูไว้ดีแล้ว อย่าไปเหยียบของเค้า ท่านไม่เหยียบครับ 

แล้วของที่เค้าปูดีแล้ว เรียบร้อยแล้ว อย่าไปนั่งทับ นอกจากเรามีอาสนะของเราคือผ้านิสีทนะ ปูซะก่อนแล้วจึงค่อยนั่งทับ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ของที่เค้าปูต้อนรับเราเป็นของสะอาดนะครับ ของสะอาดดีแล้ว ในเมื่อเรานั่ง เหงื่อของเราอาจจะออก ไปถูกของที่สะอาดอาจจะดำสกปรก เก็บไว้อาจจะมีกลิ่นได้ เพราะฉะนั้นเราเอาผ้าผืนน้อยๆของเราเนี่ย คือนิสีทนะปูเสียก่อน ในเมื่อเรานั่ง เหงื่อของเราลงไปถูก ก็ถูกผ้าของเรา ไม่ได้ไปถูกของชาวบ้านครับ ไม่ได้ถูกความสะอาดสะอ้านของเขา มันถูกของเรา ของเราผ้าผืนน้อยๆเนี่ยซักง่าย เรากลับมาถึงเย็นว่ามันสกปรก เหงื่อถูก เราก็ไปซักซะ ซักง่าย ตากง่าย ครับ อันนี้สะดวกครับ 

เพราะฉะนั้นยังไงก็แล้วแต่ เราไป ณ สถานที่ใดเราต้องเตรียมพร้อมสำหรับผ้านิสีทนะ แม้แต่เรานั่งในวัดของเรา สถานที่ของสงฆ์หรืออาสน์สงฆ์ ขัดสะอาดดีแล้ว พระภิกษุลงนั่งโดยไม่มีผ้ารองรับนะครับ ในเมื่อเหงื่อออกอาจสามารถจะทำให้ของสงฆ์สกปรก ต้องปรับอาบัติทุกคนเลยครับ กี่คนนับไปเถอะ ก็ต้องแสดงอาบัติเท่านั้น อันนี้พระวินัยนะครับ 

แม้แต่ต้นเสาก็ทำบริกรรม คือทำสวยแล้ว ขัดมันแล้ว ทาแล้วดีแล้ว นั่งพิงไม่ได้ นอกจากเราจะมีหมอนพิงหรือมีผ้าผูกมัดดีแล้ว เราพิงที่ผ้าได้ ถ้าเราไปพิงเลย เป็นอาบัตินะครับ อันนี้ก็วินัยครับ อันนี้วินัยคือวินัย ต้องแน่นอน เพราะฉะนั้นของชาวบ้านที่เค้าปูสะอาดแล้วเนี่ย เราอย่าบังอาจไปนั่งง่ายๆ เราต้องเอาผ้าผืนน้อยๆคือนิสีทนะเราเนี่ยปูก่อน ถึงแม้จะสกปรกก็สกปรกของเรา อย่าไปสกปรกของเขา เราต้องนั่งของเรา 

แต่พระบางพวกไม่รู้เรื่อง กลับตำหนิ “อะไรนะ! ของเขาทำสะอาดดีแล้วไม่นั่งหรือ ยังสะอาดสู้ของตัวเองไม่ได้หรือ” ไอ้ความไม่รู้ภาษาของเขา เขาก็โจทก์ก็ด่าเรา ด้วยความไม่รู้ประสาครับ ว่าเรียกว่าไม่รู้ประสาก็แล้วกันครับ อันนี้หมายความว่า คนว่าไม่รู้วินัย ตามหลักวินัยแล้วนะครับ ต้องมีผ้านิสีทนะเป็นสิ่งต้องไปปู เพื่อป้องกันเหงื่อของเรา อาจจะไหลไปเปรอะไปเลอะ ผ้าของเขา พรมของเขา อาสนะของเขา ที่สะอาดๆ ที่เค้าปูไว้เพื่อเรานะครับ เพราะฉะนั้นต้องป้องกันให้ดีครับ บางองค์ไม่รู้เรื่องด่าว่าชี้หน้า ผมก็โดนบ่อยๆ พระผู้ใหญ่ ชี้หน้าด่า “ของเขาสะอาดขนาดนี้ ยังไม่ควรกับเราหรือ เราสะอาดแค่ไหน ทำไมของเราถึงต้องเอามาปูอีก” 

ไม่เข้าใจว่าเราสกปรก ของเขามันสะอาด คือเรามันสะอาดไม่พอ เรามันสกปรก เหงื่อมันจะออกมา จะไปถูกความสะอาดของเขาให้เสียครับ เราป้องกันอย่างนั้น มันก็เลยเข้าใจความหมายไปคนละอย่าง ก็เลยกลับมามองโทษเราว่า ทำอะไรไม่รู้เรื่อง แต่แท้ที่จริงตัวเองไม่รู้เรื่องวินัย ตัวเองไม่เคยรักษาวินัยก็เลยเลอะเทอะ นี่มันเป็นอย่างนั้น 

เพราะฉะนั้นอันนี้พวกเราทุกท่านทุกองค์ต้องพยายาม ทุกสิ่งทุกอย่างต้องนึกถึงกฏระเบียบ ทุกสิ่งทุกอย่างเราอย่าทำโดยใจชอบ เราต้องนึกให้ดีก่อน เวลานี้พระเณรของเรารุ่มร่ามก็แล้วกัน บอกว่ารุ่มร่ามละกัน อาสนะเค้าปูดีแล้ว ต้องขึ้นไปเหยียบกันทั้งนั้น เหยียบกันซะก่อน เอาเท้าขึ้นไปเหยียบเสร็จถึงจะนั่งลง อันนี้มันไม่เหมาะครับ มันไม่เหมาะ ระเบียบของครูบาอาจารย์ผมไม่เป็นอย่างนั้น แม้แต่ผมเองผมก็ไม่ทำครับ 

ถ้าผ้านิสีทนะยังไม่ปู ผมต้องเบนไปข้างๆ พอปูผ้านิสีทนะ ผมไม่ได้ขึ้นมาเหยียบ ผมมาถึงผมต้องคุกเข่าจรดลงไปที่นั้น แล้วผมก็เอียงก้นพอดีเลย เข้าปุ๊บเลยครับ เป็นอย่างนั้นครับ อันนี้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราตั้งใจกันให้ดีๆ 

และอีกอย่างหนึ่งการนั่งโดยมาพระสงฆ์มักจะนั่งอยู่อาสน์สงฆ์อันสูงนะครับ เวลาจะลุก จะเหิน จะเดิน จะนั่ง หากไม่เรียบร้อยพอนะครับ มันจะขายหน้า ทำไมอ้ะ ทำไมมันจะไม่ขาย กางเกงในก็ไม่มีอ้ะครับ กางเกงในไม่มีนะครับ พอเผลอแป๊บเดียวมองเห็นเลย จะไม่ขายหน้าเหรอ ใช่มั้ย ลูกพระตถาคต เค้าก็ว่านะสิ 

อะไร จะรักษาศีลธรรม อะไรจะทำลายกิเลสได้ มันเป็นของละเอียด ขนาดของตัวเองยังรักษาไม่ได้ ปล่อยให้ชาวบ้านเค้าดู ว่าอย่างนั้นก็แล้วกันครับ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะรักษาศีลธรรมวินัยได้ ผู้สามารถจะกำจัดกิเลสได้ ผู้ที่จะเข้าถึงนิพพานได้ ไอ้ของหยาบๆเหล่านี้เก็บอย่างมิดชิด เรียบร้อย ไม่เลินเล่อ ไม่รุ่มร่ามครับ 

แต่พระเณรของเราคงถือว่าซุ่มซ่ามก็แล้วกัน ซุ่มซ่าม ทำไมถึงซุ่มซ่าม ก็ขึ้นไปเหยียบอาสนะเค้า เวลาเค้าปูไว้ ไปถึงเหยียบอาสนะทั้งนั้น ดูทุกวันก็เป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นต้องระวังครับ ต้องระวัง แล้วเราจะลุกนี่ก็เหมือนกันนะ ให้ระวังหน่อยนะครับ ท่านระวังหน่อย จะนั่งก็ต้องระวัง 

บางท่านบางองค์ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีกฏเกณฑ์ในการนั่ง พอมาถึง แม่พ่อพระคุณเอ๊ย! น่าสงสาร ไอ้คนก็นั่งอยู่ตรงต่ำ สายตาเค้าพอดีเลย ผ้าเพ่อกระเปิงกระปาง อย่างพวกเราไปเห็นอย่างนั้นมั้ย เบนหน้าหนี ละอายแทน ทำไม เพราะไม่รู้จักระเบียบ ไม่รู้จักธรรมเนียมนั่นเอง 

เพราะฉะนั้นพวกเราอย่านะ ต้องรักษาให้ดี เพราะฉะนั้นเนี่ยทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำเนี่ย มันเป็นการใช้สติ เป็นการเรียกสติให้เข้ามารวมตัว ทำสมาธิเราก็สร้างอำนาจส่วนคุ้มครอง ไม่ให้สติวิ่งหนี จะคุมเอามาใช้งาน สติคือตัวระลึกรู้ ทุกอย่างต้องคุมอยู่ในตัวเราตลอดเวลา จึงเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้มีสติอยู่ในตัว คุมอยู่ตลอด ไม่ได้ปล่อยให้ไปคิดเรื่อยเฉื่อย ไม่ใช่! 

ให้คุมอยู่ในตัวของเรา นะครับ จะลุก จะเหิน จะเดิน จะนั่ง จะพูด จะคุย ทุกอย่าง เราเรียกกำลังส่วนนี้เข้ามารวมตัว เรียกว่ามัคคสมังคี ความพร้อมมากลั่นกรองทุกอย่าง จะพูดคำ จะมองซ้าย จะแลขวา จะลุก จะเหิน จะเดิน จะนั่งทั้งหมด เรียกเข้ามารวมตัวแล้ววิเคราะห์ ว่าการแสดงออกยังไง จึงจะเหมาะกับเพศกับวัยกับฐานะของเราครับ มันต้องอย่างนี้ 

ไม่ใช่อวดธรรมะ ฉันเป็นพระอรหัตอรหันต์ เอ้อ ฉันสามารถละกิเลสได้อย่างนั้น ฉันสามารถเข้าสู่ฌาณอย่างนั้นญาณอันนี้ โอ้ เวลาเดินเหมือนม้าแข่ง เอ้อ ดูไม่ได้เลย อะไรอย่างนี้เป็นต้น ใช้ได้เหรอครับ คำพูดแต่ละคำ กิริยาอาการแต่ละอย่าง ดูไม่ได้เลย ของหยาบๆ ยังไม่มีความสามารถจะแต่งได้ จะแต่งจิตแต่งใจตัวเองได้ยังไงครับ 

ก่อนจะแต่งจิตแต่งใจได้ ภายนอกต้องแต่งได้ก่อนจึงจะแต่งภายในได้ครับ เพราะฉะนั้นทำสมาธิให้พยายามสร้างอำนาจทั้งหมดให้รวมตัว ในเมื่อรวมตัวดีแล้ว เราจะเรียก สิ่งทั้งหมดที่เราสร้างขึ้นมาให้รวมตัวมาใช้กับการเคลื่อนไหวครับ ไม่ได้ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาครับ 

ฉะนั้นขอให้ตั้งอกตั้งใจกันครับ เอากันให้ดีๆ พยายามกันให้ดีๆ อย่าเลิ่นเล่อ อย่าประพฤติเลวทราม อย่าฝ่าฝืนกฏระเบียบ ระเบียบมีแค่ไหนต้องอุทิศครับ ชีวิตของเรา พระพุทธเจ้าท่านมีระเบียบดี พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้วิเศษ พระพุทธเจ้านี่มองแล้วเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ทุกอย่าง เราผู้เป็นลูกพระองค์ท่าน อย่าฝ่าฝืน อย่าประพฤติเหลวไหล ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เป็นศีลเป็นธรรมเป็นวินัย ให้ก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จ นั่นหละครับถึงจะวิเศษนะครับ ขอให้ตั้งอกตั้งใจกัน