Skip to content

กายคตาสติ

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

เราได้ปฏิบัติมาเป็นประจำ การภาวนานั้นเราก็ทราบดีอยู่แล้ว เราภาวนาทุกวัน ฟังทุกวัน ดูทุกวัน พอที่จะรู้ พอที่จะเข้าใจได้ ถ้าเราพยายามที่จะทำความเข้าใจ เราพยายามตั้งใจสังเกตเพราะทุกอย่างเรารู้ได้ ไม่ใช่ว่ารู้ไม่ได้ จิตดีเราก็รู้ได้ ไม่ใช่ว่ารู้ไม่ได้ จิตไม่ดีเราก็รู้ได้ จิตไม่สงบเราก็รู้ได้ เมื่อไหร่จิตสงบเราก็รู้ ความรู้เหล่านี้แหละ เมื่อรวบรวมความรู้เข้ากันแล้ว เราก็จะได้เลือกว่าอันไหนมีประโยชน์ อันไหนไม่มีประโยชน์ อันไหนควรละ อันไหนควรเจริญ อันไหนให้บังเกิดความสงบความสุข จิตไม่เป็นสมาธิก็ได้เป็นสมาธิ จิตไม่เคยสงบก็สงบ จิตไม่เคยมีปัญญาก็มีปัญญา ความคิดปลอดโปร่งผ่องใสในจิตในใจ มีอุบายเครื่องออกจากทุกข์ ออกจากเวรออกจากภัย ดำเนินจิตใจเข้าสู่ความสงบ 

สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นสิ่งที่เหนือวิสัย ที่เราทั้งหลายจะรู้ไม่ได้ เห็นไม่ได้ เพราะธรรมธาตุที่รู้ของเรายังมีอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องสอดส่องดูด้วยความรอบคอบ ด้วยความถูกต้องตามหลักธรรม ที่พระพุทธเจ้าพาประพฤติปฏิบัติมา ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าปฏิบัติ เอาแต่ความคิดของเรา เอาแต่สิ่งที่เราชอบ จะถูกธรรมหรือไม่ถูกธรรม จะเป็นไปเพื่อความสงบหรือไม่สงบ เราก็ไม่ตรวจ วิจัยวิจารณ์ให้มันตรงถูกต้อง การภาวนาอาศัยจิตมีความเห็นตรง เห็นชอบ เห็นถูกต้องด้วย การปฏิบัติจึงจะถูกต้อง ถ้าจิตเห็นไม่ตรง การปฏิบัติก็ไม่ตรง จิตเห็นไม่ชอบ การปฏิบัติก็ไม่ชอบ การกระทำก็ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นการตั้งจิตไว้ในที่ชอบเป็นสิ่งที่สำคัญในธรรมที่ถูกต้อง 

ในการภาวนามหาสติปัฏฐานท่านให้ตั้งสติอยู่ที่กายในกาย ชื่อว่าสติระลึกชอบเพื่อระลึกกาย กายของเราก็มีอยู่ สติของเราก็มีอยู่ ยังขาดความเพียรพยายาม ถ้าเรายกจิตขึ้นสู่ความเพียรความพยายามระลึกกายในกาย ด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความเพียรที่ชอบ ด้วยการระลึกชอบ ด้วยการตั้งไว้ในชอบคือกาย เราก็จะได้รู้กายในกาย กำจัดความหลงเข้าใจผิดเพราะความหลงนี้เป็นตัวสมุทัยที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นตัวที่จะพลิกทุกข์ขึ้นมาให้เราทั้งหลายได้รับได้เสวยสิ่งที่เราไม่ต้องการ สิ่งที่ทนได้ยาก จะต้องอด จะต้องทน จะต้องดิ้นรนแก้ไขเพราะทุกข์ตัวนี้เองที่มาจากสมุทัยคือความหลง คือตัวโมหะที่เราไม่ได้พยายามแก้ไขให้หมดไปจากจิตใจของเรา 

ความหลงคือหลงอะไร พระพุทธเจ้าให้มาพิจารณากายก็คือเราหลงกายนี่เอง นะ สำคัญ ในกาย กายในกายไปอย่างอื่นไม่เห็นเป็นธรรม ถ้าเราเห็นเป็นธรรมแล้วกายของเรานี้ ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ นี่ ธรรมทำท่านว่าอย่างนี้ เราไปหลงเข้าใจว่าเป็นของสะอาด น่านิยมชมชอบ น่ายึดถือ เข้าใจ หลงเข้าใจว่าจะได้ความสุข นั่น แต่ทางธรรมท่านว่า ไม่สะอาดเพราะฉะนั้นความเห็นของเรากับความเห็นในทางธรรมน่ะ ใครจะเป็นความจริงกว่ากัน ที่พระองค์ว่าไม่สะอาดกับเราเห็นว่าเป็นของสะอาด ลองพิจารณาดูซิ เราควรเชื่อตัวเองหรือควรเชื่อธรรม ดูให้มันชัด อัตถิ มัสมิง กาเย นั่น สิ่งที่ไม่สะอาดเหล่านั้นมีอยู่ในกายนี้ กายของเรานี้ไม่ใช่อยู่ที่อื่น เมื่อเราเห็นกายของเราเต็มไปด้วยของไม่สะอาด กายคนอื่นมันก็มีประเภทเหมือนกัน มีสภาวะเหมือนกัน เกิดมาจากที่แห่งเดียวกัน อยู่ได้ด้วยวัตถุอันเดียวกันที่มาทะนุบำรุงต่างๆ ถ้าเราพิจารณาให้ชัดแล้วมันเป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าพระองค์รู้ธรรมเห็นธรรม พระองค์ก็ได้ตรัสรู้ธรรมอันเป็นความจริงที่มีอยู่ อยู่ทุกๆคน ไม่ใช่ว่าไม่มี เปิดเผยอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งปกปิด แต่เราหละพยายามปกปิดไม่อยากรู้ไม่อยากเห็น อยากแต่สลัดหนีไปรู้ไปเห็นสิ่งอื่นตามความหลงเข้าใจผิดของเราเอง ถ้าเราพิจารณาตลอดเวลาต้องรู้ได้ ต้องเห็นได้ ต้องสงบได้ การรู้ในกายตามความเป็นจริงที่ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดตามธรรมที่ท่านชี้บอกไว้ จิตใจของเราก็ย่อมสงบย่อมผ่องใส จะเห็นร่างกายนี้ไม่สะอาด แทนที่จิตใจจะสกปรกไปด้วย ตรงกันข้าม จิตใจนี่สะอาด ไม่มัวหมอง ถ้าเห็นร่างกายเป็นของสะอาด จิตใจก็มัวหมองเต็มไปด้วยกิเลส เกิดความยินดี ความปรารถนา ความหลงใหล สร้างกรรมอันเป็นอกุศลได้ 

เพราะฉะนั้นเราควรพิจารณาตามธรรม เราดูทุกส่วน มันสะอาดตรงไหนตั้งแต่เกศาผม ก็ล้วนแต่เป็นของไม่สะอาด โลมาขนก็ล้วนแต่เป็นของไม่สะอาด พิจารณาให้ละเอียดกว่านั้นอีกก็ได้ เพื่อต้องการปัญญาอันละเอียดให้ชัดยิ่งขึ้นกว่านั้นอีก จนถึงผมมันหลุดร่วงออกไป มีประโยชน์อะไร มีแต่ตัดทิ้งๆ มีแต่รังเกียจ ไม่มีของสิ่งไหนที่จะเอาไว้ซักอย่าง ไม่มีสิ่งไหนที่จะเจริญหูเจริญใจ ยิ่งเนื้อยิ่งหนังตลอดถึงกระดูกทุกส่วนแล้ว ถ้ามันกระจัดกระจายออกจากกันแล้ว กลัว เคยอยู่ด้วยกัน นับถือกัน รักใคร่กัน พอหมดลมอัสสาสะ ปัสสาสะแล้ว ร่างกายก็เปลี่ยนแปลง อืด กลิ่นก็เหม็น ทุกส่วนก็สกปรกทั้งนั้น ถูกหลอก กลัวผีหลอก ไม่เป็นพี่ไม่เป็นน้อง แน่ะ อันนี้เป็นความจริง ไม่ใช่ลงโทษ เราสามารถเพ่งพินิจพิจารณา นอกจากเป็นของไม่สะอาดแล้วยังเต็มไปด้วยโรคภัยต่างๆ ตรงไหนไม่มีโรค เกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย 

นอกจากโรคแล้ว อยู่ไปนานก็คร่ำคร่าอีก ชราอีก มีแต่ทุกข์ เราก็จะได้เห็นทุกข์เห็นโทษตามความเป็นธรรม เราจะได้เชื่อในธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ทรงกล่าวไว้ดีแล้ว ไม่มีผิดพลาด แต่เราหากหลง เราหากไม่รู้ เราหากใฝ่ฝันเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นให้ดูให้มันชัดเพราะมันมีอยู่ เราอย่าดูแต่ด้วยตา ถ้าเราดูด้วยตาหละ สิ่งที่เค้าประดับประดาตกแต่งภายนอก ก็เลยหลงถูกหลอก เค้าเอาสิ่งอื่นมาทาให้หอมก็สำคัญว่าหอม ก็ถูกหลอก เค้าเอามาย้อมนี่ก็หลงไปตามอาการที่เค้าตกแต่งหลอก หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้มาจากที่อื่น ไม่ใช่มันเกิดธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมันแล้ว เกิดมาจากที่สกปรก เป็นอยู่ด้วยสกปรก อาหารการกินก็ไม่ใช่ของสะอาด เป็นเนื้อสัตว์อบายที่สกปรกทั้งนั้น แต่เราไม่ได้คิด ไม่ได้นึก ไม่ได้นี่ก็เลยจนเคยชินแล้ว ก็นึกว่าไม่รังเกียจ แต่ถ้าพิจารณาโดยความจริงแล้ว ล้วนแต่มาจากสกปรกแม้แต่ผักก็ต้องใส่ปุ๋ยของสกปรกขึ้นมาอีก งอกงามด้วยของสกปรก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอน จึงกล้าพูดเต็มปากว่า เต็มไปด้วยของไม่สะอาด พิจารณาดูให้เห็นชัด ใจเท่านั้นจะรู้ได้ ส่วนตามันรู้ไม่ได้ ต้องอาศัยการส่องไปในด้วยจิตใจ แม้แต่อยู่ภายในก็ปกปิดไม่ได้ 

จิตใจนี่มันแทงตลอดได้ มันไปเห็นได้ อดีตอนาคตมันก็รู้ได้จากความเป็นจริงด้วยเหตุด้วยผล มันรู้ได้เห็นได้และเชื่อได้ เป็นความจริงได้ที่พระพุทธเจ้าสอน เหมือนท่านสอนให้พิจารณา อภิณหปัจเวกขณะ เรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา นี่ถ้าเราส่องดูด้วยใจเราเห็นได้ แต่ดูด้วยตาเราไม่รู้ เรายังไม่แก่ นั่น เรายังหนุ่ม เรายังไม่เจ็บ เรายังไม่ตาย เลยหลง ถ้าดูด้วยปัญญาแล้ว มันต้องแก่ มันต้องเจ็บได้ตลอดเวลา มันต้องตายแน่นอน มันเห็นได้รู้ได้ ยังเห็นความตายที่ปกปิด ที่ไม่ปรากฏด้วยตาที่เราไม่เข้าใจว่าตาย 

ถ้าพูดถึงความจริงแล้ว เราตายตั้งแต่วันเกิด พอเกิดมาปรากฏขึ้นมาแล้วก็ตายไปเรื่อย มันหมดไปๆ ไม่ได้กลับคืนมานั้น เรียกว่ามันตายไปสิ้นไป เรียกว่า ขะยะ วะยะ ธัมมา คือเสื่อมไปและสิ้นไปหมดไป นี่ก็เป็นความตายประเภทหนึ่งที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าเราเห็นความตายทุกลมหายใจเข้าออก นั่น พวกเราใครบ้างเห็นความตายทุกลมหายใจเข้าออก เห็นแต่เราเป็น เห็นแต่เราดี เห็นแต่เรามีชีวิตอยู่ตลอด เพราะสิ่งที่มันหมดไปๆนั่นเองจึงเรียกว่าตาย เพราะไม่กลับสู่ของเก่าอีกได้ ถ้าเราพิจารณาผมของเราก็ตายมาตั้งแต่เด็กๆ ก็ตัดทิ้งมาเรื่อยมา เล็บก็ตัดทิ้งเรื่อยมา ร่างกายก็หมดไปๆ จึงต้องบำรุงทุกวันๆ ถ้าหากไม่หมดไปไม่เสื่อมไป ไม่หมดไป ที่เราบำรุงไปมันจะกองใหญ่โตขนาดไหน ถ้ามันสะสมไว้ไม่เสื่อม ไม่หมดไป เพราะที่มันหมดไปเราจึงเสริมขึ้นอีก เพื่อให้มันอยู่ได้ ถ้าเราไม่กินลงไป มันหมดเหี่ยวแห้งไปจริงๆ ยิ่งอดไปนานก็เหลือแต่หนังติดกระดูก นานไปกว่านั้นอีก มันก็จะผุพังจริงๆเพราะมันมีแต่หมด มันไม่มีเกิด ไม่มีทางบำรุง 

ท่านว่าชีวิตนี้เปรียบเหมือนแสงไฟ เหมือนกับไฟเทียนถ้ามันไม่มีเชื้อ มันหมดไปตั้งแต่เราจุดทีแรก ที่เห็นสว่างต่อเนื่องกันก็เพราะมันเกิดขึ้นสมดุลย์กัน เสมอกับสิ่งที่หมดไป เรานึกว่าไฟไม่ดับ แท้จริงมันดับตั้งแต่จุดทีแรก เมื่อหมดเชื้อแล้วมันไม่มีเชื้อ ลุกขึ้นมาอีกมันก็หมดไปอีก นี่มันมีเชื้อที่มันลุกให้สม่ำเสมอที่เราไม่เห็นว่ามันดับ ชีวิตของเราก็เหมือนกัน หมดทุกลมหายใจเข้าออก หมดไปๆจริงๆ นี่พระพุทธเจ้าพระองค์จึงสลดสังเวช เบื่อหน่าย เห็นไม่จีรังยั่งยืนของอัตภาพ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด สกปรก น่าเบื่อหน่าย เหลืออดเหลือทน พิจารณาให้เห็นชัดตามความเป็นจริง จิตต้องสงบต้องสะอาด ต้องผ่องใส ถ้าพิจารณาไม่ถึงหละมันหลง แล้วมันเพลินเลื่อนลอยไปต่างๆด้วยอำนาจแห่งความหลง 

คือสติของเราที่เราฝึกยังไม่เป็นมหาสติ ยังไม่มีฐานตั้งมั่นพอที่จะระลึกให้ชัดพอ เพราะฉะนั้นต้องเพียรพยายาม สมาธิของเราก็ยังไม่มั่นพอ เมื่อสมาธิไม่มั่น ปัญญาสอดส่องก็ไม่แจ้งชัด ไม่แทงตลอด มืดทึบ ไม่ผ่องใส เลยเกิดความสงสัยไม่แน่ใจในทางธรรม ในคำสอนของพระพุทธเจ้า 

ขอเราทั้งหลายเพียรพยายามตั้งใจ พิจารณาให้เห็นจริง ความจริงมีอยู่แล้วแต่เรายังไม่กระจ่างแจ้งในจิตใจของเรา ต้องเพ่งแล้วเพ่งอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก เรียกว่า ภาวิโต พาหุลีกโต ทำให้มากเจริญให้ยิ่ง เจริญไปทำไป ทำไป มันต้องรู้แหละ มันต้องเห็น มันต้องชำนาญ ต้องฉลาด ถ้าเราไม่ลดละ ต้องสลดสังเวชต้องเบื่อหน่าย ต้องได้ความสงบ ได้ความสุข เห็นอานิสงส์ของการนับถือพระพุทธศาสนา มีศรัทธาเชื่อมั่นเพิ่มกำลังจิตใจอย่างมั่นคง เพราะฉะนั้นให้พยายามตั้งใจภาวนา สมควรแก่เวลาแล้วจึงเลิกพร้อมกัน