Skip to content

สติปัฏฐาน ๔

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

หลับตานึกพุทโธในใจให้ใจของเราตั้งเที่ยง ตั้งมั่น ธรรมะที่อาตมาแสดงไป ธรรมะจะเข้าทางหู รู้ถึงใจ เราเพียงกระทำใจของเราไว้ กำหนดใจของเราไว้เท่านั้น ไม่ต้องส่งใจมาที่เสียงของธรรมะ ให้ธรรมะนี้เข้าทางหูและจะลงไปสู่ใจเอง 

ธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเรา ตัวเราเรียกว่าตัวธรรม จึงเรียกว่ารูปธรรมและนามธรรม รูปธรรมได้แก่ร่างกาย มีธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีแข้งขามือเท้าศีรษะอย่างนี้เรียกว่ารูปธรรม นามธรรมนั้นคือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 

เวทนาได้แก่ความเสวยสุข เสวยทุกข์ สัญญาได้แก่ความจำได้หมายรู้ สังขารได้แก่ความปรุงแต่ง วิญญาณได้แก่ความรู้สึกนึกคิด ทั้ง ๔ ประการนั้นเรียกว่านามธรรม เพราะฉะนั้นธรรมะจึงไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่ตัวของเรา

การแสวงหาธรรมะก็แสดงหาในตัวของเรานี่เอง พิจารณาอยู่ในตัวของเรานี้ในรูปธรรมและนามธรรม จนเกิดความสงบขึ้นมาในใจ ความสงบนั้นคือสงบจากอารมณ์ อารมณ์นั้นคือความนึกความคิด ความนึกความคิดอิฏฐารมณ์ เรียกว่าความนึกคิดไปในทางที่ดี อนิฏฐารมณ์คือความนึกคิดไปในทางที่ไม่ดี เรียกว่าอารมณ์เสีย หรือความนึกคิดดีก็เรียกว่าอารมณ์ดี อารมณ์ของคนก็มีอยู่สองอย่าง คืออารมณ์ดีกับอารมณ์เสีย ทั้งสองอย่างที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความฟุ้งซ่านทั้งสิ้น สิ่งที่จะทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นมานั้นคืออะไร 

สิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นมาก็คืออุปาทาน อุปาทานได้แก่ความยึดมั่น ความยึดถือที่เราพากันยึดอยู่ทุกวันนี้เรียกว่าอุปาทาน ยึดว่าเราเป็นหญิง ยึดว่าเราเป็นชาย ยึดว่าเป็นทรัพย์สมบัติ ยึดว่าเป็นเงินทองข้าวของ ยึดว่าเป็นป่าไม้ภูเขา ยึดว่าเป็นดินดอนต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไปถือเอาเหล่านั้นเรียกว่าอุปาทานคือความยึด ความยึดถือไว้ที่ใด ที่นั้นก็เรียกว่ายึดมั่น เรายึดมั่นสิ่งนั้นเป็นของเรา สิ่งนี้เป็นของเรา เรียกว่าความยึดมั่น 

เมื่อความยึดมั่นมีอยู่ที่ใด เราก็จะต้องฝังจิตของเรา คือฝังความนึกคิดไว้ที่นั่น เมื่อถึงบทถึงบาทถึงเวลา มันก็ผุดออกมาเหมือนดอกเห็ด เดี๋ยวมันออกมาสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ปรุงแต่งไป สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วก็ปรุงแต่งไป การปรุงแต่งนั้น เค้าเรียกว่าสังขาร ความปรุงแต่งของจิตนี้ไม่มีที่สิ้นสุด อยู่ดีๆก็สร้างวิมานบนอากาศ คือหมายความว่า นึกคิดว่าเราควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้ เรียกว่าสร้างวิมานไป อันนี้เรียกว่าความฟุ้งซ่าน 

สิ่งเหล่านี้เป็นภัยและเป็นอันตรายกับจิต จิตของเรานั้นเมื่อถูกความฟุ้งซ่านครอบงำ หรืออารมณ์ต่างๆครอบงำมากเข้า จิตจะสูญเสียพลังไปตามลำดับ เมื่อมีอารมณ์ดีอารมณ์เสียมากเข้า ความสูญเสียพลังของจิตนี้ก็จะมีขึ้นเรื่อยไป จนกระทั่งถึงต่ำลงไป จนกระทั่งถึงต่ำสุด จิตของเรานั้นธรรมดาๆก็พอทานไหว แต่ถ้ามันมากไป มันก็ทานไม่ไหว เมื่อทานไม่ไหวอะไรจะเกิดขึ้น คือความเศร้าหมองของใจ ใจของเราก็เกิดความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองอันนี้ที่ก่อให้เกิดความโทมนัส 

ความโทมมัสก็คือความเศร้าโศกเสียใจ หรือความรู้สึกว่าในใจนี้มันเต็มไปด้วยความผิดหวัง เรียกว่าโทมนัส อันที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นภาวะของจิตที่เสียกำลัง เมื่อเสียกำลังมากเข้าๆ ก็เรียกว่าสู่ไปถึงขั้นต่ำสุด เมื่อไปถึงขั้นต่ำสุดแล้ว เพราะเหตุที่เราไม่สามารถจะต้านทานอารมณ์ต่างๆไหว มันก็เลยเกิดความวิปริตของจิต ความวิปริตของจิตก็คือความเคลิ้มหรือความหลงใหล ความเคลิ้มหรือความหลงใหลเกิดขึ้นก็จะมองไปเห็นผิดเป็นชอบไปหมด ความดีก็เห็นเป็นความไม่ดี ความไม่ดีก็เห็นเป็นความดี เหล่านี้คือจิตที่ลดระดับต่ำสุดแล้ว 

เมื่อลดระดับลงไปถึงขั้นนั้น เค้าเรียกว่าจิตต่ำหรือเรียกว่าจิตทราม เมื่อถึงขั้นจิตต่ำจิตทรามนั้นก็เป็นอันว่า ใครๆก็ฉุดไม่ไหว แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตัดสะพาน คือหมายความว่าเป็น ปทปรมะ แม้จะแนะนำสั่งสอนเพียงใด เขาก็ไม่ต้องการฟัง คือพวกนี้ อะสุตัง ไม่อยากฟัง อะทัสสะนัง ไม่อยากเห็น ไม่อยากเห็นพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ไม่อยากฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ เรียกว่า อะสุตัง อะทัสสะนัง อยู่ในภาวะที่ต่ำสุด เมื่อเป็นเช่นนั้นคนจำพวกนี้สามารถสร้างบาปกรรม สามารถสร้างความชั่วคือบาปนี้ได้มาก ในสิ่งที่ไม่น่าที่จะทำได้ แต่พวกนี้ทำได้ เพราะเหตุว่าจิตนั้นได้ลงสู่ระดับต่ำแล้ว 

เมื่อพวกเราทั้งหลายได้มาพบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้มาพบธรรมะอันวิเศษ ได้มาพบ เญยยธรรม ได้มาพบ อนุตตรธรรม ที่เราพากันปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันทุกวันนี้ ต้องเข้ากันกับว่าจิตของเราไม่ได้ลงอยู่ในภาวะนั้น มีแต่ที่จะสูงขึ้นตามลำดับ ไม่ได้มีการต่ำลง มีแต่การสูงขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ผู้ที่มาปฏิบัติตามธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ได้ชื่อว่าเราได้พัฒนาจิตนี้ให้สูงขึ้นตามลำดับ จากความเป็นปุถุชน มาเป็นกัลยาณชน จากกัลยาณชนนั้นก็สูงขึ้นมาเป็นอริยชน 

ที่เราพากันปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่มีความสูง เป็นเรื่องที่มีความดี และเป็นเรื่องที่มีความประเสริฐ ทำไมจึงได้กล่าวเช่นนั้น เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเช่นนั้น บุคคลผู้ใดได้พากันมาปฏิบัติในทางธรรมะ บุคคลผู้นั้นเรากล่าวว่าเป็นผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงตรัสอย่างนี้ ที่กล่าวว่าเป็นผู้ประเสริฐนั้นเพราะอะไร เพราะว่าเป็นผู้ที่อยู่เหนือ เป็นผู้ที่มีเหตุผล เป็นผู้ที่อยู่เหนืออารมณ์ เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนและพัฒนา ย่อมจะต้องไปยืนอยู่ในเบื้องหน้า มีความเจริญเป็นสิ่งที่จะต้องมีแก่บุคคลผู้นั้น 

ความเจริญนั้นหมายถึงความเจริญในทางธรรม เพราะว่าสิ่งที่เราพากันปฏิบัตินี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ไม่สามารถจะนับว่าเป็นราคาเท่าไหร่ เราจะนับได้ไหมว่า เมื่อจิตของเรารวมไปครั้งหนึ่งนั้นจะเปรียบเทียบกันกับเงินที่เรามีอยู่นั้นเท่าไหร่ ลองเปรียบดู ถ้าเราเปรียบเงินได้แสนหนึ่ง เท่ากันกับว่าจิตรวมครั้งหนึ่ง ก็ถือว่าเราเปรียบเทียบผิดซะแล้ว เพราะว่าเงินแสนนั้นไม่สามารถที่ป้องกันนรกหรือป้องกันอบายภูมิได้ แต่จิตที่รวมไปครั้งหนึ่งนั้น สามารถที่จะป้องกันอบายภูมิได้ ผู้ที่ทำจิตรวมแม้แต่ครั้งเดียว ผู้นั้นยังถือว่ามากกว่าเงินที่นับจำนวนหลายล้าน เงินจำนวนหลายล้านนั้นจะมาเปรียบเทียบกับจิตรวมหนึ่งครั้ง 

เปรียบเทียบไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่า สิ่งที่เราทำจิตให้สงบ หรือทำให้จิตรวมแม้แต่ครั้งเดียวนั้น อันนี้จะเป็นนิสัยเมื่อเวลาเราละจากโลกอันนี้ไป จิตที่รวมไว้นี้จะเป็นนิสัยส่งผลให้บุคคลผู้นั้นมีความไปพบแสงสว่างและสามารถที่จะพัฒนาจิตได้โดยความรวดเร็ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องกล่าวถึงว่า พวกเราได้ฝึกมาเป็นเวลาหลายปี และได้ฝึกมาเป็นจำนวนเวลานับสิบๆปี หรือมากกว่านั้น จิตของเราย่อมจะต้องรวมหรือจิตของเราจะต้องสงบมากมายหลายสิบครั้ง หรือเรียกว่าหลายร้อยครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ไม่สามารถที่จะนับและไม่สามารถที่จะประมาณได้ 

เพราะเหตุนั้นการที่เราเสียสละเวลามา และการที่เราตั้งใจปฏิบัติ จึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่า เรียกว่าคุ้มค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆทั้งสิ้น เราพากันพยายามเสียสละทำกิจการงานเพื่อแสวงหาเงินทองข้าวของมา เราก็เสียสละกำลังกายกำลังใจของเรานั้นมากมายเหลือเกิน เรียกว่าบางทีทำสายตัวแทบขาด อย่างนี้เราก็ยังทำ ส่วนที่เราจะมาทำในหน้าที่ของเราที่เป็นคุณธรรมอันประเสริฐนั้น เราก็ยังทำน้อยกว่าที่เราแสวงหาการเลี้ยงชีพ หรือการแสวงหาทรัพย์สินเงินทองอีกมากมาย เพราะเหตุการที่เราพากันมาแสวงหาธรรมะนั้น เราได้เจียดเวลาส่วนเหลือที่ได้มากระทำกัน แต่บางคนนั้นไม่ได้เจียดเวลาส่วนเหลือ ได้สละเวลาทั้งสิ้นมาปฏิบัติ จึงได้ชื่อว่าผู้มีศรัทธา 

เพราะฉะนั้นการที่พวกเราได้รับผล ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราได้กระทำนั้น จึงได้ชื่อว่าเราเป็นผู้รัก คือเป็นผู้รักตัวของเรา ตัวของเรานี้เป็นที่รัก เรารักตัวของเรา เรารักอะไร เรารักตัวของเรา เราก็จะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา และชื่อว่าเราเป็นผู้รักตัวของเราโดยแท้ ส่วนที่ไม่ได้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญานั้น เขาจะกล่าวว่าเขารักตัวของเขานั้น แม้เขาจะกล่าวเพียงใด ก็ไม่ชื่อว่าเขารักตัว เขาไม่ได้รักตัวซักหน่อย มีแต่ว่าไปรักสิ่งที่เหลวไหล หรือเรียกว่าโลกมารยา โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เค้าเรียกโลกมารยา เรียกว่าโลกมารยานั้นได้ในคำที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

เอถะ ปัสสะถิมัง โลกัง 

จิตตัง ราชะระถูปะมัง

อันธพาลา วิสีทันติ

นัตถิ สังโค วิชานะตัง

ซึ่งแปลเป็นใจความว่า สูเจ้าทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้อันเต็มไปด้วยมารยา อันคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ นี้เป็นคำแปล นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ตรัสแก่พระอภัยกุมารเพื่อที่จะให้มองดูโลก ว่าโลกนี้มันเป็นอะไร 

เอถะ ปัสสะถิมัง โลกัง ลองคิดดูว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงตรัสว่าโลกนี้เป็นโลกมารยา ถ้าเราจะมองไปโดยทั่วๆไปนั้นก็สมจริงตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เพราะว่าโลกนี้ที่เรามีชีวิตอยู่นี่ คือเป็นโรงละครโรงใหญ่ โรงละครที่เรามีฉากแสดงกัน ประเดี๋ยวก็เป็นตัวพระ ประเดี๋ยวก็เป็นตัวนาง ประเดี๋ยวก็เอาหัวโขนมาใส่เป็นพระราชา ประเดี๋ยวก็เอาหัวโขนมาสวมใส่เป็นเสนาบดี เดี๋ยวก็เอาหัวโขนมาสวมใส่เป็นทหาร เป็นประชาชน เป็นคน เป็นพ่อค้า ก็สวมใส่กันไป แต่พอเลิกจากการเล่นละครแล้ว เอาหัวโขนออก มันก็เท่านั้น แต่เมื่อเวลาเอาหัวโขนใส่ เราก็พากันหลงจนกระทั่งหลงเอาจริงๆจังๆ การที่หลงโลกมารยานั้นเรียกว่าหลงหัวโขนที่เขาสวมใส่ เมื่อสวมใส่เข้าไปแล้ว ก็ไปออกท่าทางกันต่างๆนานา พวกที่เต้นก็เต้นตามกันไปสารพัดเป็นที่น่าขำ 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าน่าขำที่คนทั้งหลายพากันหลงอยู่ในโลกนี้กันหนักหนา แต่แท้ที่จริงนั้นก็คือเป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นเพียงมารยาเท่านั้น ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่า คนเรามีรึที่จะไม่ตาย ในที่สุดจะสวมหัวโขนแค่ไหน มันก็ลงจุดหนึ่งคือความตาย เสร็จสิ้นลงไปเพียงแค่นั้น เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเขาจะสวมหัวโขนใหญ่โตเพียงแค่ไหน เขาก็เอาไปไม่ได้ ในที่สุดก็ถูกเผาไฟโดยสิ้นเชิง ร่างกายของเราก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ มีแต่เถ้าถ่านเท่านั้นที่เหลืออยู่ ในที่สุดถึงที่สุดเป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงได้ทรงตรัสอธิบายถึงหนทางที่เราจะเดินไปสู่สันติสุข พระองค์ทรงตรัสว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ ความสุขที่เสมอด้วยความสงบไม่มี ความสุขที่เสมอด้วยความสงบไม่มี เป็นการตรัสที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส อันนี้พระองค์ทรงตรัสไว้เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด เพราะฉะนั้นหนทางที่ทำให้เกิดความสงบนั้นก็คือการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานนั้นคือการทำจิตให้เป็นหนึ่ง ความเป็นหนึ่งของจิตนั้นคือการเป็นสมาธิ จิตรวมนั้นคือจิตเข้าสู่ภวังค์ แล้วก็หายหวัมลงไป แล้วก็เกิดความรู้ขึ้นมาอันนึง อยู่นิ่งๆในที่นั้น เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ 

ถ้าหากว่าความอยู่นิ่งๆในที่นั้นน่ะ มันอยู่ไปได้นานก็เป็นสมาธิอุปจาระ ถ้ามันอยู่ได้เดี๋ยวเดียวมันก็เป็นสมาธิขณิกะ หรือถ้าหากว่ามันอยู่ได้อย่างนานที่สุด เรียกว่ามั่นคงที่สุดก็เรียกว่าอัปปนา ความที่เข้าไปรู้อยู่โดยที่ไม่มีอารมณ์อันใดเข้ามา คือไม่มีอารมณ์ที่จะเข้ามาก่อให้เกิดความฟุ้งซ่าน มีแต่การเข้าไปสงบอยู่อันเดียว นั่นแหละเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ การที่จิตไปเป็นสมาธิแต่ละครั้งนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงมาก เมื่อไปเป็นเช่นน้ันแล้วก็จะทำให้จิตของเรานี้ที่สูญเสียพลังไปนั้นจะเพิ่มพูนพลังขึ้น เมื่อสงบเข้าไปเช่นนี้หลายครั้งเข้า จิตนี้ก็กลับกลายเป็นจิตที่มีพลัง 

จิตที่มีพลังนั้นเค้าเรียกว่าพละ อย่างที่ท่านแสดงว่า ศรัทธาพละ วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ พละแปลว่าพล พลแปลว่ากำลัง เมื่อจิตนี้เข้าไปสงบเข้าไปเป็นสมาธิดังกล่าวแล้ว หลายครั้งเข้าก็กลับกลายเป็นพลังจิต เรียกว่าสมาธิพลัง เมื่อกลับกลายเป็นพลังจิตเช่นนี้แล้ว ก็จะกลับกลายเป็นกระแสจิต กระแสจิตนั้นเป็นกระแสที่มีความแหลมคม และเป็นกระแสที่มีความสว่างไสว และมีกระแสที่สามารถที่จะมองไปได้ทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะเป็นภูเขาที่มาบังอยู่กี่ร้อยกี่พันลูก จิตนั้นสามารถที่จะมองทะลุไปได้หมด อันนี้เรียกว่ากระแสจิต กระแสจิตนั้นถ้าหากว่าได้รับการอบรมจนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง จุดนั้นเรียกว่ากระแสที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง คือกระแสที่จุดที่ดังกล่าวนี้เป็นกระแสที่มีความชำนิและชำนาญ 

ความชำนิชำนาญในกระแสนั้นสามารถที่จะทำงานอะไรก็ได้ บางคนที่ปรากฏเห็นแสงสว่างนั้น บางทีก็เกิดแสงสว่างเราก็เห็น แต่ว่าเราจะไปทำอะไรในแสงสว่างนั้นก็ทำไม่ได้ เพราะว่ายังไม่ได้เกิดความชำนาญ ถ้าเกิดความชำนาญแล้วภายในแสงสว่างนั้นเราจะทำอะไรก็ได้ อันนั้นเรียกว่าเกิดความชำนาญ เมื่อเกิดความชำนาญในแสงสว่างนั้น คือเกิดทำอะไรก็ได้ในแสงสว่างนั้น ท่านก็ให้ทำในมหาสติปัฏฐาน 

มหาสติปัฏฐานนั้นคือการพิจารณากาย ที่ท่านแสดงว่าไว้ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ว่า กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ พิจารณากายในกาย เวทะนานุปัสสี วิหะระติ พิจารณาเวทนาในเวทนา จิตตานุปัสสนาก็เรียกว่าพิจารณาในจิต ธัมมานุปัสสนาก็เรียกว่าพิจารณาในธรรม มหาสติปัฏฐานมี ๔ ประการ เมื่อมี ๔ ประการนั้น กระแสจิตที่มีความชำนาญนั้น ท่านก็ให้เดินเข้าสู่มหาสติปัฏฐาน การเดินเข้าสู่มหาสติปัฏฐานนั้นก็เป็นสิ่งที่ง่ายมาก ถ้าหากว่าจะทำอย่างอื่นมันยาก เราก็เดินเข้าสู่มหาสติปัฏฐานซะ 

เมื่อเราเดินเข้าสู่มหาสติปัฏฐานแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่ง่าย แต่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นหลัก เพราะว่ามหาสติปัฏฐานนี้ทำบุคคลให้สำเร็จได้ ผู้เจริญมหาสติปัฏฐานนั้นอย่างช้า ๗ ปีก็ได้สำเร็จ อย่างเร็ว ๗ วันก็ได้สำเร็จ ที่ท่านกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐาน 

และการที่จะให้กระแสจิตพิจารณากายนั้นเราจะทำอย่างไร ท่านให้พิจารณากายนี้มีร่างกายของเราและร่างกายคนอื่น มองดูทีตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า เท้าถึงศีรษะ แล้วก็ลอกหนังออกไป ลอกเนื้ออกไปเห็นกระดูก ท่านเปรียบเทียบเหมือนกันกับคนที่ชำแหละโค เขาชำแหละโคแล้วเขาก็เอามีดกรีดให้หนังโคนั้นมันลอกออกไป แล้วก็ปาดเนื้อ แล้วก็อันไหนเป็นเนื้อสัน เนื้อขา อันไหนเป็นเครื่องในอะไรต่างๆ ก็ดึงกันออกมา เปรียบเทียบกับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็พิจารณากายของเราหรือกายใครก็ได้ ลอกหนังออกไปแล้วก็ลอกเนื้อออกไป แล้วก็สับออกไปเป็นชิ้นๆ เสร็จแล้ว ท่านก็ให้เหลือแต่กระดูก 

โดยคำบาลีว่า อัญเญนะ ชังฆัฏฐิกัง อัญเญนะ หะนุฏฐิกัง อัญเญนะ พาหุฏฐิกัง เป็นต้น อัญเญนะแปลว่าให้มันกระเด็นไปทางอื่น อัญเญนะ หะนุฏฐิกัง คือกระดูกคาง อัญเญนะ พาหุฏฐิกัง คือกระดูกแขน อัญเญนะ ชังฆัฏฐิกัง คือกระดูกแข้ง กระดูกต่างๆนี้ให้มันกระจัดกระจายกันทิ้งออกไป แล้วก็ให้ละลายสูญเสียไปในบรรยากาศ ไม่ให้มีอะไรเหลือ แล้วก็กลับคืนมากำหนดจิตอีกที ทำอย่างนี้อยู่บ่อยๆ เรียกว่าเจริญสติปัฏฐาน 

เมื่อทำอย่างนี้บ่อยขึ้นไปแล้ว อะไรที่จะเกิดขึ้น มันมีสิ่งเกิดขึ้นอยู่อันหนึ่งเรียกว่าญาณะ เรียกว่าญาณ ญาณนั้นคือนิพพิททาญาณย่อมจะต้องเกิดขึ้น คือถ้าเราพิจารณากายอันนี้ไปอยู่บ่อยๆ ครั้งหนึ่งก็พิจารณา สองครั้งก็พิจารณา หลายครั้งก็พิจารณา พิจารณามากเข้าๆนี้ มันจะไปถึงจุดแห่งการเพียงพอแห่งความต้องการ เหมือนกันกับต้นไม้ที่ปลูกลงไปในดิน ใส่ปุ๋ยรดน้ำ เมื่อเวลามันโตขึ้นมาแล้ว ถึงเวลาแล้วมันจะผลิดอกออกผล ฉันใดก็ดี ผู้ที่พิจารณามหาสติปัฏฐานก็เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาไปแล้ว พิจารณาไปแล้วซึ่งร่างกายอันนี้ดังกล่าวแล้วหลายครั้งเข้า ก็ไปถึงจุดหนึ่งเรียกว่า นิพพิททาญาณ คือความเบื่อหน่าย เมื่อไปถึงจุดนี้แล้วก็เรียกว่าเป็นจุดที่จะประสบใกล้ต่อที่จะประสบผลสำเร็จ 

เมื่อใกล้ที่จะประสบผลสำเร็จเช่นนี้ มันก็มีพวกมารทั้งหลายเข้ามาผจญ เค้าเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส วิปัสสนูปกิเลสนั้นมันไม่ทำให้คนไปตกนรก หรือไม่ทำให้คนเป็นบาป แต่ว่ามันทำให้เกิดความล่าช้า ท่านจึงไม่ให้ไปติด ที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลสนั้น ได้แก่ความละเอียดที่เกิดขึ้นในจิต ความสว่างไม่มีประมาณเกิดขึ้นในจิต ความอ่อนละมุนเกิดขึ้น ไม่มีประมาณในจิต เรียกว่าได้เป็นสิ่งอัศจรรย์เหลือเกิน อย่างที่เราไม่เคยพบ อย่างที่เราไม่เคยเห็น แต่ว่าเราก็ได้ไปพบ เราก็ได้ไปเห็นอย่างนี้ เราก็นึกว่านั่นคือพระนิพพาน หรือนั่นคือเป็นสิ่งที่จิตเราหลุดพ้นแล้ว หรือนั่นคือเราได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้ว อันนี้ต่างหากที่เป็นอัตตานุทิฏฐิ ทำให้บุคคลคนนั้นติดอยู่ คือทำให้บุคคลผู้นั้นติดอยู่แค่นั้นก็เลยก้าวต่อไปไม่ได้ 

ความจริงแล้ว นิพพิททาญาณหรือว่าสิ่งต่างๆอัศจรรย์ๆที่เกิดขึ้นนั้น เราก็ปล่อยวาง แล้วเราก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ผลพลอยได้ ก็ปล่อยไปตามเรื่อง ไม่ยึดถือว่าสำเร็จแล้ว ความก้าวหน้าของจิตก็จะก้าวหน้าต่อไป เมื่อก้าวหน้าต่อไปแล้วจิตนี้ก็จะถึงซึ่งพละ เรียกว่าปัญญาพลัง ปัญญาพลังนั้นคือผู้ที่มีปัญญา มีพลังแห่งปัญญา พลังแห่งปัญญาคือความเกิดขึ้นของนิพพิททาญาณนั้นนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อนับครั้งไม่ถ้วนก็ไปถึงจุดหนึ่งเค้าเรียกว่ามัคคสมังคี ไปประชุมมรรค 

เมื่อจิตถึงซึ่งมัคคสมังคีแล้ว นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเป็นขั้นที่จะได้สำเร็จ เรียกว่าพบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ จิตนั้นจะเข้าไปถึงสิ่งที่มีอยู่ เมื่อไปถึงสิ่งที่มีอยู่ปรากฏอยู่ เช่นเราทำความสำเร็จในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ความสำเร็จที่เรากระทำนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่เราเดินเข้าไปถึงเท่านั้นเอง 

มหาสติปัฏฐานก็เช่นเดียวกัน แต่การเจริญมหาสติปัฏฐานนั้นท่านก็มีข้อกฏบังคับอยู่ข้อหนึ่งว่า จะต้องมีพลังของสมาธิ การพิจารณาถึงร่างกายนี้หรือการเจริญมหาสติปัฏฐานนี้ก็ให้เจริญอยู่ในชั่วระยะ เช่นนั่งสมาธิครั้งหนึ่งก็เจริญสัก ๕ นาที ๑๐ นาทีพอสมควร แล้วเราก็ต้องหวนกลับมาทำจิตให้มีความสงบเสีย เมื่อความสงบมากพอสมควรก็พิจารณาใหม่ เมื่อพิจารณาพอสมควรก็สงบ อันนี้เค้าเรียกว่ามัชฌิมา ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลางนั้นคือหนทางพอดี จะมีความสงบก็สงบแต่พอดี จะมีการพิจารณามหาสติปัฏฐาน ก็พิจารณาแต่พอดี คือพอดีพอเหมาะซึ่งกันและกัน ถ้าทำไม่ให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือไม่ให้เป็นการปฏิบัติหนทางกลางหรือหนทางพอดี ความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้น 

ถ้าหากว่าทำแต่ความสงบอย่างเดียว จิตสงบไปสบายไปเรื่อยๆ สบายจนกระทั่งหยิกไม่รู้สึกตัวแหละ หรือว่าเข้าไปก็มิดหายไปเลยอย่างนี้อยู่อย่างนั้น ก็ตกไปสู่โมหะ อันนั้นก็เรียกว่าสมาธิมากไป หรือถ้าพิจารณากายก็พิจารณาอยู่นั่นแหละ ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ก็มากไป เรียกว่าพิจารณาสติปัฏฐานมากไปก็ตกในอยู่ในความฟุ้งซ่าน คือพิจารณากายมากไปก็ตกอยู่ในความฟุ้งซ่าน ถ้าทำความสงบมากไปก็ตกไปหาโมหะ ท่านจึงให้ทำแต่เพียงพอดี เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้ว ละลายออกหมดแล้วก็กลับมาอยู่ที่จิต เมื่อกลับมาอยู่ที่จิตพอสมควรแล้วก็พิจารณา นี่คือการทำงานของสมาธิหรือเรียกว่ามหาสติปัฏฐาน 

ข้อที่สองของมหาสติปัฏฐานคือเวทนา เวทนานี้ ทุกขเวทนานั้นไม่เป็นประการสำคัญนัก แต่สุขเวทนานี่เป็นประการสำคัญมาก อย่างที่เราไปเจอวิปัสสนูปกิเลส มีความสุข มีความสบาย มีความผ่องใสสะอาดอะไรอันนี้ แล้วเราก็ไปติดยึดมั่นอยู่ในที่นั่นว่าสำเร็จ ตรงนี้แหละที่เรียกว่าเวทนา เพราะว่าเวทนาคือความเสวยสุข เสวยทุกข์ เวลาใดเราไม่ได้สมความตั้งใจ เราก็เสียใจว่าทำไมวันนี้เราทำไม่ได้สมความตั้งใจ อันนี้ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านให้พิจารณาว่าความสุขและความทุกข์เหล่านี้ไม่อยากไปยึด ถือว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนเสีย แล้วเราก็ไม่ยึด ดีก็ช่าง ชั่วก็ช่าง เรามีหน้าที่เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราก็เจริญไป 

ในข้อที่สามคือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น จิตนั้นได้แก่ความนึกความคิด ความนึกความคิดนั้น เราจะเอาเป็นนิยายไม่ได้ เราจะเอาเป็นจริงเป็นจังหนักหนาย่อมไม่ได้ บางทีมันก็นึกถึงพระนิพพานก็ได้ บางทีมันก็นึกถึงสวรรค์ก็ได้ บางทีมันนึกถึงนรกก็ได้ บางทีมันนึกไปก็ทำให้คลุ้มคลั่ง บางทีนึกไปก็ทำให้เกิดความเอิบอิ่มอะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ทั้งสองอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ทั้งสองอย่าง ต้องพิจารณาให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ความนึกความคิดเหล่านี้ คิดเมื่อเช้าอย่างนึง คิดตอนเย็นอย่างนึง คิดเมื่อวานนี้อย่างนึง และคิดเมื่อก่อนนี่ก็อย่างนึงอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปยึดถืออยู่ในความนึกคิดแล้ว เราก็จะต้องหลง ท่านจึงให้กำจัดว่า ไม่ใช่ตัวตนเสีย 

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็ดังกล่าวแล้วว่าเป็นอารมณ์ อารมณ์นั้นดีบ้าง อารมณ์นั้นชั่วบ้าง เราก็ปล่อยตามเรื่องของมัน การที่เราจะเจริญสติปัฏฐานเกี่ยวกับธรรมารมณ์นั้นคือการปล่อยวาง ไม่ใช่เราจะไปยึดไปถือเอาอารมณ์มาเป็นเกณฑ์ ถ้าเราไปยึดถืออารมณ์มาเป็นเกณฑ์นี่ เราก็จะคลุ้มคลั่งอีกเช่นเดียวกัน ไม่ควรจะไปยึดถือ ถ้าเรายึดถือ ก็เรียกว่าเราก็ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ถ้าเราไม่ยึดถือ ก็ถือว่าเราเจริญสติปัฏฐาน 

เพราะฉะนั้นเรื่องของสติปัฏฐานนี้จึงเป็นเรื่องเปรียบประดุจชัยภูมิอย่างที่ข้าศึกจะรบกันนี่ ใครอยู่ชัยภูมิดีกว่าคนนั้นก็ชนะ ใครอยู่ที่ชัยภูมิที่เก๊กว่า คนนั้นก็แพ้ มหาสติปัฏฐานก็เปรียบประดุจชัยภูมิที่ดี เมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายได้ชัยภูมิอันนี้ ก็สามารถที่จะห้ำหั่นข้าศึกคือกิเลส ข้าศึกศัตรูคือกิเลส เราทำสงครามกับกิเลสแล้วเราก็ได้ชัยชนะ ด้วยเหตุคือมหาสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐานนี้พระพุทธเจ้าแสดงที่ กุรุรัฐ พระองค์ทรงแสดงที่กุรุรัฐนั้น ก็ทำให้บุคคลเจริญมหาสติปัฏฐานได้ผลเป็นอันมาก ถ้าเราจะศึกษาเรื่องสติปัฏฐานให้ดี เราก็ควรจะกำหนดดังที่อาตมาอธิบายมานี้เป็นเรื่องของมหาสติปัฏฐาน เรื่องของมหาสติปัฏฐานนี้สามารถที่จะทำจิตนี้ให้หลุดพ้นได้ แล้วก็เป็นหนทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หรือถูกต้องตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

ต่อไปนี้ก็สมาธิกันต่อไป